6618775b B2bd 462b B07a 076b46250904

8 วิธีเอาตัวรอด เมื่อเกิดไฟไหม้

Categories : Infographic
Tags : ,
  • ต้องยอมรับว่า ภัยพิบัติ อย่างอัคคีภัย หรือไฟไหม้ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก  แม้ว่าจะเป็นภัยที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เราก็สามารถจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ได้ หรือหากเกิดไฟไหม้ขึ้นต้องรีบระงับหรือดับไฟไม่ให้ลุกลาม ซึ่งแนวทางเบื้องต้น เมื่อเกิดไฟไหม้หรือต้องตกอยู่ในสถาการณ์ดังกล่าว

 

สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ การตั้งสติ ต้องไม่ตื่นตระหนกไปกับเหตุการณ์  เพราะการมีสติจะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกวิธี  นอกจากนี้ เราลองมาดูวิธีการเอาตัวรอด หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ หรือหากยังไม่เกิดเหตุการณ์ขึ้น เราก็ควรจะเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

 

Ryl Info Fire (3)

1.เตรียมเบอร์โทร.สายด่วน

เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ คงต้องประเมินก่อนว่าไฟไหม้ดังกล่าว ต้นเพลิงเกิดจากอะไร  หากเป็นเพลิงไหม้จากกระดาษ ไม้ หรือวัสดุติดไฟธรรมดา เราสามารถใช้น้ำดับไฟได้ปกติ แต่หากเป็นไฟไหม้ที่เกิดจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟ น้ำมัน หรือก๊าซหุงต้ม ต้องใช้นำยาเคมีดับเพลิงเท่านั้น

 

แต่หากไม่สามารถดับไฟได้ สิ่งที่ต้องรีบทำ คือ การโทรศัพท์หาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือช่วยดับไฟได้  เช่น  โทร. 191 แจ้งเหตุด่วน-เหตุร้ายทุกชนิด โทร. 199 แจ้งอัคคีภัย   โทร. 1669  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 192 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นต้น โดยเบอร์โทรศัพท์เหล่านี้ ควรเก็บไว้ในโทรศัพท์ หรือจดไว้ในสมุด หรือติดไว้บริเวณที่สามารถเห็นได้ชัดเจน เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้ใช้งานได้รวดเร็ว

2.เรียนรู้วิธีรับมือภัยพิบัติ

เราควรจะทำการศึกษาและเรียนรู้ วิธีการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือไฟไหม้ ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้ง่าย ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่การเข้ารับการฝึกอบรม ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีความรู้ความเข้าใจในวิธีการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้อย่างถูกต้อง เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติก็จะทำให้เราสามารถเอาตัวรอดได้ และยังอาจจะช่วยเหลือคนที่เรารักได้อีกด้วย

3.เตรียมถังดับเพลิงให้พร้อมใช้งาน

แม้ว่าเราไม่คาดหวังว่าจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ แต่การเตรียมความพร้อมไว้ ถือเป็นวิธีการที่ดีและถูกต้อง ดังนั้น ถังดับเพลิงจึงควรมีไว้ใช้งานประจำบ้านหรืออาคาร และต้องติดตั้งอยู่ในจุดที่สามารถหยิบมาใช้งานได้สะดวก อุปกรณ์ถังดับเพลิงต้องอยู่ในสภาพที่ดี มีคุณภาพ และต้องใช้งานได้จริงด้วย จึงควรเลือกซื้ออุปกรณ์ที่ได้รับรองมาตรฐาน และจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้

4.เตรียมอุปกรณ์ป้องกันขณะหนีออกจากอาคาร  

นอกเหนือจากถังดับเพลิงที่ต้องมีแล้ว บางครั้งเราอาจจะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้ถังดับเพลิงได้ เราจึงควรมีอุปกรณ์ป้องกันไฟอื่น ๆ ขณะที่หนีออกจากอาคารด้วย  เช่น ผ้าหนาๆ ไฟฉาย นกหวีด หน้ากากป้องกันควัน เป็นต้น  และต้องหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าวว่าพร้อมสำหรับใช้งานอยู่เสมอ

5.เตรียมสิ่งของที่จำเป็นสำหรับการอพยพ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ในสถานที่พักอาศัยของเรา หรือแม้แต่บ้านใกล้เคียง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เราไม่สามารถกลับเข้าไปใช้พื้นที่บ้านของเราได้ จึงควรจัดเตรียมอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น ใส่กระเป๋าเอาไว้ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้หยิบออกจากบ้านได้ทันท่วงที  สิ่งของที่ควรจัดไว้ในกระเป๋า  ได้แก่ อาหารที่สามารถรับประทานได้เลย น้ำดื่ม วิทยุพกพาพร้อมถ่านสำรอง ไฟฉายหรือเทียนไขพร้อมไม้ขีด ยา อุปกรณ์ปฐมพยาบาล อุปกรณ์สำหรับชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าขนหนู สบู่ แปรงสีฟัน ผ้าห่ม เชือก เสื้อผ้า เสื้อกันฝน ร่ม ถุงมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่อของ หมวกกันน็อก มีด ที่เปิดกระป๋อง ที่เปิดขวดถุงพลาสติก ผ้ายาง สมุด ปากกา และที่สำคัญคือเงินสด สมุดบัญชีธนาคาร บัตรประกันสุขภาพ ใบขับขี่ สำเนาทะเบียนบ้าน

6.ตรวจสอบอุปกรณ์-เครื่องไฟฟ้า ให้พร้อมใช้งาน

อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ควรจะตรวจสอบให้พร้อมใช้งาน และอยู่ในสภาพที่ดี เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นแหล่งกำหนดไฟได้ หากอุปกรณ์ชำรุด หรือลัดวงจรขึ้นมา ที่สำคัญควรถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังการใช้งาน หรือพวกเตาแก๊ซ ต้องตรวจสอบให้ดีทั้งก่อนใช้งานและหลังใช้งาน ส่วนวัสดุอุปกรณ์ ที่มีความไวไฟ ก็ควรเก็บไว้ในสถานที่ห่างไกลความร้อน หรือแสงอาทิตย์ เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมาได้

7.ศึกษาพื้นที่-สภาพแวดล้อมรอบ ๆ บ้าน

บริเวณที่เราอยู่อาศัย หรือแม้แต่สถานที่ทำงาน เราควรสำรวจและทำความรู้จักเส้นทางให้ดีว่า มีเส้นทางใดบ้าง เพื่อหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด เราจะได้ใช้เป็นเส้นทางหนีออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ คงต้องสำรวจบริเวณโดยรอบด้วยว่าเราอยู่ใกล้กับสถานที่เสี่ยงภัยอะไรบ้าง เช่น โรงงานเคมี หรือโรงงานที่ใช้วัตถุไวไฟ ปั๊มแก๊ซ เป็นต้น เพราะการสำรวจพื้นที่โดยรอบ จะทำให้เราไม่อยู่ในความประมาท และทำให้เราตื่นตัวอยู่เสมอ

8.วิธีหนีออกจากอาคารที่เพลิงไหม้

วิธีหนีออกจากอาคารที่เพลิงไหม้  ก่อนอื่นต้องตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก  ในกรณีที่ไฟไหม้นอกห้อง ให้ค่อยๆ ใช้มือสัมผัสบริเวณผนังหรือลูกบิดประตู ถ้ามีความร้อนสูงแสดงว่าเกิดเพลิงไหม้บริเวณใกล้ๆ ห้ามเปิดประตูออกไป ควรปิดประตูให้สนิท ใช้ผ้าหนาๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันสามารถเข้าไปได้ เช่น ขอบประตู ช่องลม ขอบหน้าต่าง จะทำให้เพลิงลุกลามช้าลง ถ้าลูกบิดไม่ร้อนให้เปิดประตู ค่อยๆ เดินออกไปอย่างช้า ๆ สังเกตรายละเอียดรอบตัวให้ดี และรีบเดินไปยังเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัยในทันที

 

การออกจากอาคารให้ใช้บันไดหนีไฟภายนอกอาคาร ห้ามใช้ลิฟต์อย่างเด็ดขาด เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ไฟฟ้าจะดับ คุณอาจติดค้างอยู่ในลิฟต์ และทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาต่อมาจากการสูดดมควันไฟเข้าไป หากยังหาทางออกไม่ได้ ไม่แนะนำให้เข้าไปอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดอับภายในอาคารซึ่งยากต่อการช่วยเหลือ เช่น ห้องน้ำ ห้องใต้ดิน ดาดฟ้า เป็นต้น เพราะแม้อาจจะปลอดภัยในช่วงแรก แต่น้ำในห้องน้ำหรือน้ำจากท่อประปาอาจไม่เพียงพอต่อการดับไฟ และเมื่อหนีออกมาจากอาคารที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ได้แล้ว ห้ามกลับไปยังอาคารที่เกิดเหตุอีกเด็ดขาด

 

 

แหล่งข้อมูล : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, adayBULLETIN ,คู่มือประชาชนในการเตรียมตัวให้รอดปลอดภัยพิบัติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย

บทความ Infographic ล่าสุด