Ryl Info 10 Home Condo 1200x628

10 วิธีแก้ปัญหา ผ่อนบ้าน-ผ่อนคอนโด ไม่ไหว ?

Categories : Infographic
Tags : , , ,

ผ่อนบ้านไม่ไหว

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบมากมายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การอยู่อาศัย การทำมาหากิน และภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งทุกภาคส่วนต่างก็ได้รับผลกระทบแทบทั้งสิ้น แต่อาจจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไป

 

อย่างเรื่องการงานและรายได้ หลายคนอาจจะมีรายได้ลดลง จากระยะเวลาการทำงานลดลง หรือบางคนอาจจะได้รับผลกระทบหนัก จนถึงขั้นกับว่างงาน เพราะบริษัทเลิกจ้างหรือเลิกกิจการลงก็มีไม่น้อย แน่นอนว่าคนที่รายได้ลดลง ย่อมส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยประจำเดือนแน่นอน ยิ่งคนไหนมีภาระต้องผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดมิเนียม อาจจะผ่อนต่อไม่ไหว เริ่มมีปัญหาเงินไม่พอที่จะผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโด และบางคนจะได้รับผลกระทบหนัก จนขาดส่งติดต่อกันมาหลายเดือนแล้วก็ได้

 

อย่างไรก็ตาม​ สำหรับใครที่มีปัญหาด้านการเงิน และมีปัญหาเกี่ยวกับการผ่อนบ้านและคอนโด ต้องรีบวางแผนให้ดีตั้งแต่เนิน ๆ อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามจนเสียประวัติ ติดแบล็กลิสต์ หรือรุนแรงจนถึงขั้นถูกยึดทรัพย์ ถูกฟ้องร้องจากสถาบันการเงินเลย หากเริ่มมีปัญหาต้องวางแผนและหาทางออกตั้งแต่เนิ่น ๆ หากผ่อนบ้านไม่ไหว หรือผ่อนคอนโด ไม่ไหวแล้ว

 

วันนี้ Reviewyourliving มีแนวทางสำหรับแก้ไขปัญหา ถ้าผ่อนบ้านไม่ไหว หรือแม้แต่ผ่อนคอนโดไม่ไหวก็ตาม มาแนะนำให้ทุกคนนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละบุคคล เพราะปัจจุบันแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้กลับมาเป็นปกติ ภาวะเศรษฐกิจก็เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวเท่านั้น หลายคนจึงยังอาจจะเผชิญกับปัญหาการเงินอยู่ และหากใครผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดไม่ไหวจริง ๆ ทางออกก็มีหลายทาง ไม่ใช่แค่ให้ทางธนาคารยึดทรัพย์เท่านั้น ลองมาดูกันว่าทางออกที่ว่ามีอะไรบ้าง ​

Ryl Info 10 Home Condo 1

เก็บบ้านไว้หรือปล่อยให้โดนยึด

ก่อนอื่น เมื่อเริ่มมีปัญหาการเงิน ต้องวิเคราะห์ตัวเอง และสถานะทางการเงินของตัวเองว่า จะสามารถผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดต่อไปได้อีกกี่เดือน อย่าปล่อยให้ปัญหาสะสมจนต้องเสียประวัติ หรือเสียเครดิต เพราะจะส่งผลต่อการเจรจราต่อรองกับทางธนาคาร หากต้องการได้รับการช่วยเหลือต่าง ๆ ดังนั้น แนวทางเริ่มต้นของการแก้ปัญหา ผ่อนบ้านไม่ไหว หรือผ่อนคอนโดไม่ไหว คือ ถามตัวเองว่าจะยังต้องการบ้านหรือคอนโดที่ผ่อนอยู่หรือไม่ ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาจะแตกต่างกัน ดังนี้

1.กรณีไม่ต้องการบ้านหรือคอนโดที่ผ่อนอยู่แล้ว

สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าไม่อยากจะเก็บบ้านหรือคอนโดไว้แล้ว เพราะอาจจะมีปัญหายังว่างงานอยู่ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายสูงจนไม่สามารถผ่อนต่อไหว ไม่อยากเก็บบ้านหรือคอนโดไว้เป็นภาระด้านการเงิน ทางออกก็คงจะมีทางเลือกเดียว คือ การประกาศขายบ้านหรือคอนโดนั้น ซึ่งมี 2 วิธี ดังนี้

-ประกาศขายคอนโด หรือขายบ้านให้กับบุคคลทั่วไป

-ขายคืนให้กับธนาคาร

การขายบ้านคืนให้ธนาคาร  หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า หากเราไม่สามารถผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดกับทางธนาคารได้ไหว เรายังสามารถเอาบ้านหรือคอนโดที่เราผ่อนชำระอยู่ขายคืนให้กับธนาคารได้ ในราคาที่ผ่อนไปแล้ว แต่ทั้งนี้ การที่ธนาคารจะรับซื้อคืนหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารเป็นหลักด้วย

2.กรณียังต้องการบ้านหรือคอนโดที่ผ่อนอยู่ต่อไป

สำหรับคนที่ยังต้องการจะเก็บบ้านหรือคอนโดเอาไว้ เป็นทรัพย์สินหรือการอยู่อาศัย และพร้อมจะกลับมาผ่อนชำระให้เป็นปกติเมื่อมีรายได้ดีเหมือนเดิม อาจจะต้องใช้วิธีการเจรจากับทางธนาคารที่กู้ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ว่าจะมีวิธีอะไรบ้างที่สามารถทำได้ ซึ่งเชื่อว่าธนาคารพร้อมจะหาหนทางให้กับผู้กู้ เพราะในความจริงแล้วธนาคารไม่ได้อยากได้บ้านหรือคอนโดนั้น แต่ต้องการเงินต้นและดอกเบี้ยคืนมากกว่า  ลองมาดูว่ามีวิธีการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้าง

Ryl Info 10 Home Condo 2

1.พักชำระหนี้

วิธีการนี้ เป็นการขอหยุดชำระค่างวดผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดไว้เป็นการชั่วคราว หรือบางกรณีที่มีวิกฤติทางเศรษฐกิจ ทางธนาคารก็มักจะออกมาตรการนี้มาช่วยเหลือลูกหนี้  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน  ซึ่งแม้ว่าเราจะไม่ต้องส่งเงินค่างวดให้ทางธนาคารภายในระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด แต่ธนาคารยังคงคิดดอกเบี้ยของแต่ละงวดต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้หยุด และจะมาเรียกเก็บกับลูกหนี้ภายหลัง โดยอาจจะเรียกเก็บเงินค่างวดพร้อมดอกเบี้ยครั้งเดียว หรือเฉลี่ย ๆ เป็นงวดก็แล้วแต่เงื่อนไขของทางธนาคาร

2.ขอขำระค่าผ่อนบ้านต่ำกว่าปกติ

หากค่าผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดในแต่ละเดือนสูงเกินกว่าที่เราจะผ่อนไหว การเจรจากับธนาคารเพื่อขอประนอมหนี้ลดเงินส่งต่อเดือนลงให้เหมาะสมกับรายได้ปัจจุบัน แต่เงื่อนไขนี้ ทางธนาคารมีหลักเกณฑ์พิจารณา คือ ยอดชำระต่อเดือนต้องสูงกว่ายอดดอกเบี้ยต่อเดือนอย่างน้อย 500 บาท และการขอประนอมหนี้วิธีนี้สามารำทำได้เพียงครั้งเดียว มีกำหนดระยะเวลาการผ่อนที่ต่ำกว่าปกติได้นานไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ ผู้ขอจะต้องมีประวัติการผ่อนชำระที่ดีด้วย และเหมาะกับผู้ที่มีรายได้ประจำแต่รายได้ลดลง มากกว่าผู้ที่ไม่มีรายได้เลย

3.ขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย

ในบางช่วงบางกรณี เช่น เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือลูกหนี้อยู่ในพื้นที่ได้รับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมใหญ่ ธนาคารอาจจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ หรือลูกหนี้อาจจะเจรจากับทางธนาคาร เพื่อขอชำระค่างวดผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโด ในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่เกณฑ์การพิจารณาสำคัญก็อยู่กับแต่ละธนาคาร และลูกหนี้จะต้องมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหานั้นจริง ๆ ซึ่งวิธีนี้ธนาคารมักจะให้ผ่อนชำระได้สูงสุดไม่เกิน 12 เดือนและสามารถขอใช้วิธีนี้ได้เพียงครั้งเดียว

Ryl Info 10 Home Condo 3

4.ขยายเวลาชำระหนี้

หากเรายังพอมีรายได้เข้ามา แต่ไม่เพียงพอจะชำระค่าผ่อนบ้าน หรือผ่อนคอนโด ในจำนวนเท่าเดิมได้ การขอขยายเวลาชำระหนี้ให้ยาวออกไป ก็จะช่วยทำให้ค่าผ่อนบ้าน หรือค่าผ่อนคอนโดในแต่ละเดือนลดลงได้ หรืออาจจะเหมาะสมกับรายได้ของลูกหนี้ในเวลานั้น  ซึ่งทางธนาคารสามารถขยายระยะเวลาให้ลูกหนี้ได้นานสูงสุดถึง 30 ปี แต่ทั้งนี้อายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาการขอขยายจะต้องไม่เกิน 70 ปี ที่สำคัญหากมีค่าดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ก็ต้องชำระให้หมดก่อนด้วย

5.เปลี่ยนตัวลูกหนี้

หากเรา ผ่อนบ้านไม่ไหว หรือ ผ่อนคอนโดไม่ไหวจริง ๆ อาจจะใช้วิธีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้รายใหม่ ที่ทำสัญญาเงินกู้กับทางธนาคารแทนตัวเรา ซึ่งบุคคลที่มาเป็นลูกหนี้แทนเรานั้น อาจจะเป็นบุคคลที่เรารู้จัก หรือญาติพี่น้องกับเรา ที่มีการตกลงกันในรายละเอียดกันไว้ระหว่างเรากับคนที่จะมาเป็นลูกหนี้แทน ซึ่งเราต้องทำการแจ้งกับธนาคารเพื่อขอเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ที่สำคัญผู้ที่จะเป็นลูกหนี้แทนเราก็คงต้องมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ของแต่ละธนาคาร และการพิจารณาก็ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารด้วยว่าจะอนุมัติหรือไม่อย่างไร

6.หาคนช่วยผ่อน/ผู้กู้ร่วมเพิ่ม

นอกจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้แล้ว อีกวิธีที่จะช่วยทำให้เรายังสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้ คือ การหาคนมาช่วยผ่อน อาจจะเป็นญาติพี่น้อง พ่อ แม่ สามี ภรรยา ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน โดยเป็นการเพิ่มชื่อเข้ามาในสัญญากู้เงินในลักษณะผู้กู้ร่วมนั่นเอง โดยเกณฑ์การพิจารณาก็เป็นไปตามเงื่อนไขของทางธนาคาร ซึ่งเราต้องเตรียมเอกสารของบุคคลนั้น พร้อมกับการแจ้งกับธนาคารที่เรากู้เงินอยู่ สามารถเพิ่มชื่อผู้กู้ร่วมได้สูงสุด 2 คน

7.รีเทนชั่น/ขอลดดอกเบี้ย

วิธีนี้ อาจจะไม่เป็นที่รู้จักหรือคุ้นเคยกับคนส่วนใหญ่ เพราะเรามักจะได้ยินวิธีการรีไฟแนนซ์มากกว่า ซึ่งการรีเทนชั่น คือ วิธีการขอเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับธนาคารเดิม เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง หรือการขอลดดอกเบี้ยนั่นเอง แต่วิธีการนี้อัตราดอกเบี้ยไม่ได้ลดลงมากนัก จะอยู่ในช่วง 0.25-0.50% เท่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการรีไฟแนนซ์ อาจจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า เพราะมักจะมีโปรโมชั่นพิเศษมานำเสนอ และวิธีนี้กการพิจารณาของธนาคารก็ยังจะต้องดูคุณสมบัติ และประวัติของผู้กู้ประกอบการพิจารณาด้วย

Ryl Info 10 Home Condo 4

8.รีไฟแนนซ์

เป็นหนึ่งวิธียอดฮิตที่ใคร ๆ หลายคนมักนิยมทำ หากผ่อนชำระไปครบกำหนด 3 ปีแล้ว และเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในขณะนั้นถูกกว่าตอนแรกที่กู้ซื้อบ้านหรือคอนโดมา หรือเห็นว่าราคาบ้านหรือคอนโด ขยับเพิ่มสูงมากขึ้นซึ่งสามารถจะทำการรีไฟแนนซ์เพื่อให้มีวงเงินเหลือ หรือการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระให้นานขึ้น เพื่อให้ค่าผ่อนบ้านหรือคอนโดต่องวดลดต่ำลงให้เหมาะสมกับสถานะทางการเงินปัจจุบันของผู้กู้

9.ขอโอนบ้านให้ธนาคารชั่วคราว เพื่อซื้อคืนภายหลัง

ทางเลือกที่ยังจะทำให้เรามีบ้านหรือคอนโด แม้ว่าเราจะมีรายได้ลดหรือขาดรายได้จน ผ่อนบ้านไม่ไหว ก็คือการโอนบ้านหรือคอนโดให้กับธนาคารเป็นการชั่วคราว และจะกลับมาซื้อคืนภายหลัง ซึ่งปกติธนาคารจะรับโอนบานหรือคอนโด โดยหักนี้ในจำนวนไม่เกิน 90% ของราคาบ้านหรือคอนโด หากมีหนี้ส่วนเกินลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ให้หมดในวันโอนด้วย

 

เมื่อโอนบ้านหรือคอนโดให้ธนาคารแล้ว เรายังคงอาศัยอยู่ต่อไปได้ปกติ ซึ่งวิธีการนี้มีลักษณะเหมือนการขายฝากบ้านหรือคอนโด และเราก็เช่าบ้านหรือคอนโดของตัวเองอยู่ โดยทางธนาคารจะมีอัตราค่าเช่าคิดเป็น 0.4-0.6% ของมูลค่าบ้านหรือคอนโด และมีกำหนดการทำสัญญาเป็นรายปี เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้

10.การรวมหนี้

ลูกหนี้หลายคนอาจจะไม่ได้เป็นหนี้เฉพาะค่าผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดเท่านั้น อาจจะมีหนี้อื่น ๆ เช่น ผ่อนสินค้า บัตรเครดิต ซึ่งอาจจะทำให้แต่ละเดือนจะต้องชำระหนี้หลายทาง และรวมกันเป็นเงินจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนได้ไหว การรวมหนี้ไว้ก้อนเดียวกัน และชำระเพียงเจ้าหนี้รายเดียวก็จะช่วยทำให้อัตราการผ่อนต่อเดือนลดลง

 

วิธีการรวมหนี้ (Debt Consolidation) เป็นมาตรการล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้นำออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งหลาย ด้วยการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ที่สามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงิน และ/หรือผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้ จากเดิมที่รวมได้เฉพาะหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกันเท่านั้น

 

 

ที่มา : ธปท., DDProperty, ThinkofLiving, Home.co.th,Monneyguru

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

อัปเดตดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ บ้านและคอนโด เดือนตุลาคม 2565

อัปเดตดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน และคอนโด เดือนตุลาคม 2565

เคล็ดลับผ่อนบ้านให้หมดเร็ว ดอกเบี้ยลด หมดหนี้ไว

ผ่อนบ้านไม่ไหว ทำไงดี!

 

บทความ Infographic ล่าสุด