Ryl Info Cost Pay 1200x628

อัปเดต ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน และคอนโด 2566 มีอะไรบ้าง?

Categories : Infographic
Tags : , , ,

ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน

ใครวางแผนจะซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียม ปี 2566 นี้ รู้หรือเปล่าว่าต้องเตรียมงบประมาณอะไรบ้าง เป็น ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียมบ้าง เพราะปีนี้รัฐบาลมีมาตรการช่วยลดหย่อนค่าธรรม

สำหรับกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วด้วย แต่ค่าลดหย่อนก็มีปรับเปลี่ยนไปบ้าง ลองมาอัปเดตกันดูว่า ถ้าจะซื้อบ้านหรือคอนโดในปีนี้ จะต้องเตรียม ค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และไว้เท่าไร

Ryl Info Cost Pay

1.เงินจองและทำสัญญา

ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน  อย่างแรกเลยก็ต้องเตรียมเงินจอง และเงินทำสัญญา ซึ่งเงินส่วนนี้อาจจะไม่มากนัก ทั่ว ๆ ไปเงินจองก็อยู่ที่ 5,000-10,000 บาท และมีเงินทำสัญญาอีกก้อนหนึ่ง ก็หลักไม่กี่หมื่นเท่านั้น ขึ้นอยู่กับราคาบ้านที่เราจะซื้อด้วย

2.เงินดาวน์ 10-20%

เงินดาวน์ใน 10-20% ของราคาบ้าน แต่ส่วนนี้อาจจะไม่ต้องเตรียมเป็นเงินก้อนไว้ทั้งหมด เพราะโครงการมักจะให้ผ่อนเป็นงวด ๆ ได้ ตามระยะเวลาก่อนที่บ้านหรือคอนโดจะพร้อมโอน แต่ผู้ซื้อก็ควรเตรียมเงินก้อนไว้ เพราะมักจะมีเงินดาวน์ที่เป็นก้อนใหญ่ ๆ หรือที่เรียกว่างวดบอลลูน ที่ต้องใช้เงินดาวน์มากกว่าผ่อนงวดปกติ รวมถึง บางครั้งในงวดสุดท้ายของการผ่อนดาวน์มักจะเป็นเงินก้อน ที่เป็นเงินจำนวนมากเพื่อให้ได้เงินดาวน์ 10-20% ของราคาบ้านหรือคอนโด ซึ่งมักจะเป็นการผ่อนดาวน์ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือโครงการใกล้จะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมโอน

3.ค่าใช้จ่ายขอสินเชื่อธนาคาร

สำหรับใครที่มีความสามารถในการซื้อบ้านหรือคอนโด ด้วยเงินสดไม่ต้องกู้ธนาคาร ค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อธนาคารก็จะไม่มี แต่คนส่วนใหญ่มักจะกู้เงินธนาคารมากกว่า จึงต้องมีการเตรียมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ ยกเว้นว่าทางโครงการหรือทางธนาคาร มีการจัดแคมเปญยกเว้นค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้กับลูกค้า ​โดยค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ที่เกี่ยวกับการขอสินเชื่อมีดังนี้

  • ค่าธรรมเนียมยื่นกู้ แล้วแต่ธนาคารเป็นคนกำหนด
  • ค่าประเมินหลักทรัพย์ เริ่มต้น 3,210 บาท
  • ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้

4.ค่าเบี้ยประกันภัย

ในการขอสินเชื่อกับทางธนาคาร สิ่งหนึ่งที่มักจะเป็น ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน ตามมา คือ ค่าประกันอัคคีภัย และค่าประกันภัยพิบัติ ซึ่งธนาคารจะบังคับให้ลูกค้าทำไว้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดเหตุไฟไหม้ หรือภัยพิบัติกับตัวบ้านหรือคอนโด เพราะถือว่าทรัพย์สินดังกล่าวยังเป็นของธนาคาร เนื่องจากเราเอาบ้านหรือคอนโด ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ไว้นั่นเอง ​

 

ส่วนค่าประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ลูกค้าเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ ซึ่งหากทำประกันชีวิต ก็มักจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าการไม่ทำ

5.ค่าจดจำนอง 0.01% ของราคาประเมิน

โดยปกติค่าจดจำนอง จะมีอัตราการจัดเก็บอยู่ที่ 1% แต่ในปีนี้รัฐบาลได้มีมาตรการที่ออกมาช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่ต้องการมีบ้านพักอาศัย จึงลดอัตราค่าจดจำนองเหลือเพียง 0.01% เท่านั้น

6.ค่าธรรมเนียมการโอน 1% ของราคาประเมิน

ส่วนค่าธรรมเนียมการโอน ก็เป็นอีกหนึ่ง ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน หรือคอนโด ที่ผู้ซื้อต้องเสีย แต่ก็มีข่าวดีที่รัฐบาลช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้สำหรับปี 2566 จากที่ต้องเสีย 2% ก็เหลือเพียง 1% แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะลดมากกว่านี้ คือ ลดให้เหลือ 0.01% เท่านั้น แต่ถือว่าค่าธรรมเนียมการโอนปีนี้ลดไปตั้ง 50% เลยทีเดียว

7.ค่ามิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้า  

สำหรับการอยู่บ้านใหม่ ก็ต้องมีการติดตั้งมิเตอร์น้ำประปา และไฟฟ้า แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ผู้ประกอบการก็มักใจดี จัดแคมเปญช่วยออกให้กับผู้ซื้อ แต่สำหรับใครที่ไปซื้อโครงการที่ไม่ได้มีแคมเปญตรงนี้ไว้ ก็ต้องเตรียมเงินในส่วนนี้ไว้ด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์และพื้นที่ว่าอยู่ในเขตนครหลวง หรือส่วนภูมิภาค ซึ่งค่าใช้จ่ายแตกต่างกันเล็กน้อย

8.ค่าส่วนกลาง-เงินกองทุน

อีกค่าใช้จ่ายหนึ่งที่ผู้ซื้อจะต้องแบกรับไปตลอดการอยู่อาศัยก็คือ ค่าส่วนกลาง ที่ต้องจ่ายทุกเดือน แต่ส่วนใหญ่มักจัดเก็บเป็นรายปี ขึ้นอยู่กับระดับความหรู พรีเมียม หรือการจัดพื้นที่ส่วนกลางของโครงการ ให้กับลูกบ้าน ราคาก็จะแตกต่างกันไป และก็แตกต่างตามขนาดพื้นที่ของบ้านและคอนโดด้วย นอกจากนี้ ยังต้องมีเงินก้อนอีกจำนวนหนึ่ง ที่ต้องจ่ายคือ เงินกองทุน สำหรับโครงการเอาไว้จัดตั้งนิติบุคคล เพื่อดูแลความเรียบร้อยของหมู่บ้านหรือคอนโด

9.ค่าตรวจบ้าน 2,000-9,000 บาท

ก่อนจะรับมอบบ้าน หรือโอนบ้าน ผู้ซื้อก็ต้องตรวจบ้าน ดูความเรียบร้อยของงานก่อสร้าง และสเป็ควัสดุหรือตัวบ้านให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาที่ผู้ขายบอกเราไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้เราจำเป็นต้องตรวจบ้านก่อน ซึ่งหากใครมีความรู้ หรือพอจะตรวจบ้านหรือคอนโดเองได้ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็ไม่ต้องมี แต่บางครั้งเพื่อความมั่นใจ และมีการตรวจอย่างละเอียด ผู้ซื้อก็มักจะจ้างบริษัทหรือผู้ที่รับงานตรวจบ้านมาดำเนินการให้ ซึ่งค่าใช้จ่ายก็มักจะขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่เหมือนกัน สำหรับคอนโดราคาก็จะถูกกว่าบ้าน เพราะรายการที่ต้องตรวจมีน้อยกว่านั่นเอง

10.ค่าตกแต่ง ของใช้ และเฟอร์นิเจอร์

การอยู่อาศัยในบ้านหรือคอนโด ต่อให้ทางโครงกาตกแต่งจนสามารถเข้าอยู่ได้ แต่ส่วนใหญ่คนอยู่อาศัยก็ต้องมีการตกแต่ง หรือไม่ก็ซื้อของใช้ เฟอร์นิเจอร์ที่ชอบ เข้ามาไว้ในบ้าน ทำให้ต้องเตรียมงบประมาณส่วนนี้ไว้ด้วย จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความชอบและความต้องการของคนซื้อเลย เพราะเฟอร์นิเจอร์และของใช้มีหลากหลายชนิด หลายเกรด และคุณภาพ

 

ทั้งหมดนี้ ก็เป็น ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน​ ที่ผู้ซื้อบ้านต้องเตรียม และคำนวณให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งหลายรายการก็สามารถปรับเปลี่ยน หรือยืดหยุ่นได้ ตามความต้องการเพราะเป็นรายการที่เพิ่มขึ้นมา แต่หลาย ๆ รายการก็เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นที่จะต้องจ่ายก่อนที่เราจะเข้าอยู่ อย่างไรก็ต้องวางแผนให้ดี หรืออาจจะปรึกษากับทางฝ่ายสินเชื่อของธนาคารต่าง ๆ ก็ได้ ให้ช่วยคำนวณค่าใช้จ่าย และประเมินความสามารถในการกู้เงินของเราว่าจะได้วงเงินมากน้อยแค่ไหน เราจะได้วางแผนการเงินได้ถูกต้อง

 

ที่มา – กรมที่ดิน, ธอส, ธนาคารกสิกร

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

อัปเดตดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน และคอนโด เดือนมกราคม 2566 แบงก์ไหนให้ดอกต่ำสุด

บทความ Infographic ล่าสุด