Tag : Money

360 ผลลัพธ์
7 ไฮไลท์แผนธุรกิจ PF-GRAND สู่เป้าหมายรายได้ 22,000 ล้าน

7 ไฮไลท์แผนธุรกิจ PF-GRAND สู่เป้าหมายรายได้ 22,000 ล้าน

กลุ่มบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค แถลงแผนธุรกิจปี 63 เดินหน้าสร้างรายได้และยอดขายกว่า  20,000 ล้าน พร้อมใช้กลยุทธ์ “Product Strategy” ผลักดันสู่เป้าหมาย  ทั้งการเปิดโปรเจ็กต์แนวราบ 12 โครงการ  การออกบ้านแบบใหม่ พัฒนาบ้านป้องกันฝุ่น PM 2.5 และเดินหน้าหั่นหนี้ 10,000 ล้าน หวังลด D/E เหลือ 1.2   นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ และ นางสาวศิริรัตน์ วงศ์วัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการเงิน บริษัท พร็อพเพอร์ตี้  เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF​ ร่วมด้วย นายวิทวัส วิภากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ นางสาววิลาวัณย์ เหลืองนาคทองดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND ร่วมกันแถลงถึงแผนธุรกิจของกลุ่มบริษัท ประจำปี 2563 โดยแผนธุรกิจในปี 2563 มี 7 ประเด็นไฮไลท์ สำคัญ คือ 1.วางเป้าหมายรายได้รวมของกลุ่มบริษัท มูลค่า 22,000 ล้านบาท เติบโต 6.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน  แบ่งเป็น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 16,400 ล้านบาท แบ่งเป็น -พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค มูลค่า 15,400 ล้านบาท รวมโครงการในประเทศญี่ปุ่น -แกรนด์ แอสเสทฯ มูลค่า 1,000 ล้านบาท ธุรกิจโรงแรม มูลค่า 3,300 ล้านบาท -โรงแรมในประเทศ 2,000 ล้านบาท -โรงแรมในญี่ปุ่น 1,300 ล้านบาท การขายที่ดินและการลงทุน 2,000 ล้านบาท ธุรกิจให้เช่า 300 ล้านบาท 2.พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค วางเป้าหมายยอดขาย 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการแนวราบ 10,000 ล้านบาท โครงการร่วมทุน 1,500 ล้านบาท โครงการคอนโดมิเนียม 6,500 ล้านบาท ในประเทศ 4,500 ล้านบาท และประเทศญี่ปุ่น 2,000 ล้านบาท 3.พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค  สร้างการเติบโตด้วย Product strategy มี 4 แนวทางสำคัญ  ได้แก่ -การเปิด 12 โครงการแนวราบ มูลค่ารวม 18,560 ล้านบาท แบ่งเป็น บ้านเดี่ยว 10 โครงการ มูลค่า 17,110 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์ 2 โครงการ มูลค่า 1,450 ล้านบาท -การเพิ่มแบบบ้านใหม่ 26 โมเดล -การเปิดตัวบ้านคอนเซ็ปต์ใหม่ Pure Air Technology หรือ “บ้านป้องกันฝุ่น PM 2.5” -การเป็นองค์สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยการการปลูกต้นไม้ใหญ่ 5,000 ต้นในโครงการต่างๆ  การติดตั้งแผงโซล่าร์ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้พลังงานสะอาดในสำนักงานและคลับเฮ้าส์ 4.แกรนด์ แอสเสทฯ วางเป้าหมายยอดขาย 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น -โครงการคอนโดฯ 2,500 ล้านบาท -โครงการวิลล่า ในจ.ระยอง 500 ล้านบาท 5.วางเป้าหมายลดหนี้ 10,000 ล้านบาท เพื่อลดอัตราหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ให้ต่ำกว่า 1.5 เท่า จากปัจจุบันมี D/E ที่ 1.7 เท่า ซึ่งหากทำได้ตามแผนที่วางไว้จะมี D/E เหลือ 1.2 เท่า โดยวางแผน -ขายหุ้นโรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน ขั้นต่ำ 40% คิดเป็นมูลค่า  2,500 ล้านบาท จากมูลค่า 6,000 ล้านบาท -การโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม ยู คิโรโระ ในประเทศญี่ปุ่น สามารถมาลดหนี้ได้ มูลค่า 1,500 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 1,700 ล้านบาท -ขายหอพักยูนิลอฟท์ และที่ดินใน จ.เชียงใหม่ มูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งวางแผนขายให้กับโรงเรียนนานาชาติ -ขายที่ดินย่านรามอินทรา มูลค่า 2,500 ล้านบาท -ขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก มูลค่า 2,500 ล้านบาท 6.พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค ไม่มีแผนเปิดโครงการคอนโดฯ โดยจะขายสต็อกเก่าที่มีอยู่ 6,800 ล้านบาทที่สร้างเสร็จแล้ว จะรับรู้รายได้ปีนี้ 4,200 ล้านบนาท โดยมียอดขายรอรับรู้รายได้ หรือ Backlog  ช่วงสิ้นปี 2562 มูลค่า  2,845 ล้านบาท  แบ่งเป็น Backlog จากโครงการคอนโดฯ  1,427 ล้านบาท ซึ่งในปี 2563 จะมีรายได้จากโครงการคอนโดฯ  2 โครงการ ได้แก่ โครงการ ไอ คอนโด กรีนสเปซ พัฒนาการ-ศรีนครินทร์ และโครงการ เมโทร สกาย วุฒากาศ และมี Backlog จากโครงการแนวราบ 1,118 ล้านบาท และเป็น Backlog จากโครงการคอนโดฯ  ยู คิโรโระ 300 ล้านบาท 7.เดินหน้าแผนพัฒนาโครงการร่วมทุนกับ 3 พันธมิตร  -ร่วมทุนกับฮ่องกงแลนด์ เพื่อพัฒนาโครงการ “เลค เลเจ้นด์” บ้านเดี่ยวระดับไฮเอนด์  2 โครงการ มูลค่ารวม 13,500 ล้านบาท -ร่วมมือกับ  ซูมิโตโม ฟอเรสทรี พัฒนาโครงการบ้านเดี่ยวในทำเลราชพฤกษ์ตัดใหม่ 2 โครงการ มูลค่า 3,900 ล้านบาท จากนอกเหนือจากคอนโดมิเนียม ไฮด์ เฮอริเทจ ทองหล่อ มูลค่าโครงการ 6,000 ล้านบาทแล้ว ในปีนี้ยังจะร่วมกัน -ร่วมทุนกับ เซกิซุย เคมิคอล พัฒนาโครงการในเพิ่มอีก 1 ทำเล  มูลค่ารวม 3,100 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีการร่วมมือกันใน 4 ทำเล   ภาพรวมการร่วมทุนของกลุ่มบริษัทขณะนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 26,500 ล้านบาท เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มบริษัท ปีที่ผ่านมาบริษัทยังประสบความสำเร็จจากโครงการ “ยู คิโรโระ” คอนโดมิเนียมในประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีรายได้เข้ามา 1,700 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการมียอดขายแล้ว 2,600 ล้านบาท หรือ 70% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด  และคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีต่อเนื่อง สามารถโอนกรรมสิทธิ์ปิดโครงการได้ภายในปีนี้  
บิ๊กอสังหาฯ มาเลเซียประกาศร่วมลงทุนโครงการ “ณ รีวา” คอนโดฯ พรีเมียม ถนนเจริญนคร มูลค่าโครงการ 1,300 ล้านบาท

บิ๊กอสังหาฯ มาเลเซียประกาศร่วมลงทุนโครงการ “ณ รีวา” คอนโดฯ พรีเมียม ถนนเจริญนคร มูลค่าโครงการ 1,300 ล้านบาท

กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากประเทศมาเลเซีย Paramount Corporation Berhad ร่วมลงทุนโครงการอสังริมทรัพย์ไทย โดยเข้าถือหุ้น 49% ในบริษัท ณวรางค์ เจริญนคร จำกัด เจ้าของโครงการ “ณ รีวา” ถนนเจริญนคร โครงการที่พักอาศัยแนวสูงระดับพรีเมียม มูลค่าโครงการ 1,300 ล้านบาท ที่กำลังเตรียมเปิดตัวโครงการภายในเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้   การพัฒนาโครงการ ณ รีวา อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ณวรางค์ เจริญนคร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ณวรางค์ แอสเซท จำกัด ถือหุ้น 51% และ Paramount Corporation Berhad ถือหุ้น 49% โดยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีพิธีฉลองความร่วมมืออย่างเป็นทางการในการลงทุนร่วมโครงการ ณ รีวา เจริญนคร ระหว่าง บริษัท ณวรางค์ แอสเซท จำกัด โดย นายอภิภู  พรหมโยธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ Paramount Corporation Berhad โดยนายเจฟเฟรย์  จิว  (Mr.Jeffrey Chew) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มพาราเมาท์ คอร์ปอเรชัน  เบอร์ฮาด ประเทศมาเลเซีย โดยระบุว่าดีลนี้เป็นข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับทั้งสองฝ่ายที่ต่างให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในประเภทที่พักอาศัยแนวสูงระดับพรีเมียมถึงไฮเอนด์ รายละเอียดโครงการ ณ รีวา เพิ่มเติม Na Reva Charoennakhon ข่าวอื่นๆ จาก NAVARANG ASSET “ณ วีรา พหลฯ-อารีย์” แอคทีฟแบบชีวิตติดเมือง “ณวรางค์ แอสเซท” กางแผน 3 ปี ผุดโปรเจ็คต์ใหม่กว่า 5,000 ล้าน จับตาราคาที่ดิน “อารีย์-พหลโยธิน” พุ่ง รับ New CBD
โกลเด้นแลนด์ กวาดรายได้และกำไร โตสวนกระแสตลาดชะลอตัว

โกลเด้นแลนด์ กวาดรายได้และกำไร โตสวนกระแสตลาดชะลอตัว

โกลเด้นแลนด์ เผยผลประกอบการปี 2562 ทำรายได้รวม 17,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% พร้อมทำกำไร  2,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3%  เหตุทุกธุรกิจเติบโตถ้วนหน้า ทั้งที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า ส่วนปี 2563 เดินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ฝ่าวิกฤตตลาดชะลอตัว   นายธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ เปิดเผยว่า บริษัทมีรายได้หลักจากการขายอสังหาริมทรัพย์รวม 15,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,268 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยประสบความสำเร็จทั้งโครงการใหม่ที่เริ่มเปิดขายและโอนในระหว่างปี 2562 รวมถึง โครงการเดิมที่ยังขาย และโอนได้อย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายบ้านนีโอโฮม ราคา 5-8 ล้านบาท มีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงยอดขายจากการขยายโครงการไปต่างจังหวัด     ในขณะที่รายได้ค่าเช่าและรายได้อื่นๆ งวด 12 เดือน (1 มกราคม 2562  – 31 ธันวาคม 2562) มีรายได้รวม 1,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากการให้เช่าในอาคารสำนักงาน  ที่บริษัทบริหารพื้นที่ มีอัตราการเช่าสูงกว่า 95% ทุกอาคาร และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจโรงแรม   ส่วนโครงการสามย่านมิตรทาวน์ที่แล้วเสร็จในปีที่ผ่านมา  ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ มีอัตราการเช่าแล้ว 95% ส่วนพื้นที่อาคารสำนักงาน มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ มีอัตราการเช่าแล้ว 75% มีผู้เช่าทยอยเข้าตกแต่ง  และส่วนที่พักอาศัย ทริปเปิ้ล วาย เรสซิเด้นซ์ มีอัตราการขายสิทธิการเช่า 75% และทริปเปิ้ล วาย โฮเทล ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 45%   “จากผลประกอบการรอบ 12 เดือน ปี 2562 ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า เรายังทำได้ดีตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากการเลือกพัฒนาโครงการบนทำเลที่มีความต้องการต่อเนื่อง และราคาสินค้าตอบโจทย์กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้า แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัยภายนอกที่กระทบกับตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะ 6 เดือนสุดท้ายของปี 2562 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มสินเชื่อ LTV”     ขณะที่ทิศทางของโครงการเชิงพาณิชย์ ตลาดอาคารสำนักงานยังไปได้ดี สะท้อนจากอัตราการเช่าพื้นที่ทุกอาคารของโกลเด้นแลนด์ และอาคารสำนักงานให้เช่าแห่งใหม่ล่าสุดในโครงการสามย่านมิตรทาวน์ มิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ ที่มียอดผู้เช่าในสัดส่วนที่สูง แม้ว่าอาคารจะเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ที่ยังคงมีผู้ใช้บริการสูงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา และมีอัตราผู้เช่าสูงตามเป้าหมาย   สำหรับภาพรวมธุรกิจในปี 2563 ในส่วนของธุรกิจที่อยู่อาศัย โกลเด้นแลนด์ได้มีการปรับกลยุทธ์ให้เติบโตอย่างระมัดระวัง ในการฝ่าภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว เช่น การบริหารค่าใช้จ่ายในการขาย รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและใช้ทรัพยากร บริษัทฯ คาดการณ์การแข่งขันในปีนี้จะยังรุนแรงเช่นเดิมโดยเฉพาะตลาดบ้านแนวราบ จากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายหันมาให้ความสำคัญกับตลาดนี้แทนที่ตลาดคอนโดมิเนียม   ส่วนธุรกิจเชิงพาณิชย์ อาคารสำนักงานที่อยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวก ติดรถไฟฟ้าจะยังได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้เช่าภาคธุรกิจต่างๆ ส่วนธุรกิจศูนย์การค้าใจกลางเมือง นอกจากร้านค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการแล้ว การจัดอีเวนท์อย่างต่อเนื่องก็จะดึงกลุ่มลูกค้าได้ดี   อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง “สามย่านมิตรทาวน์” เปิดพื้นที่ 24 ชั่วโมง ให้คนกรุงใช้ชีวิตทั้งวันทั้งคืน “กิน ดื่ม ทำงาน และออกกำลังกาย” 19 ร้านคอนเซ็ปต์ “ใหม่” ในสามย่านมิตรทาวน์ [PR News] โกลเด้นแลนด์ เปิดอาณาจักร GOLDEN EMPIRE แจ้งวัฒนะขายหมดภายใน 2 วัน เปิด 5 ไฮไลท์ “MITRTOWN OFFICE TOWER” ออฟฟิศให้เช่า พระราม 4 5 เหตุผล “โกลเด้นแลนด์” ปักหมุดเชียงรายปั้น โกลเด้น เอ็มไพร์ 2,600 ล้าน
วิธีเตรียมกู้ซื้อบ้าน สำหรับอาชีพอิสระ

วิธีเตรียมกู้ซื้อบ้าน สำหรับอาชีพอิสระ

ใครๆ ก็มีความฝันอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ตาม ซึ่งทางเลือกของการซื้อบ้านของคนส่วนใหญ่ก็จะต้องยื่นกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยกับสถาบันทางการเงิน โดยจะต้องมีหลักฐานหลายอย่างประกอบกัน เพื่อยืนยันถึงรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่มีหลักฐานเป็นสลิปเงินเดือนเข้าตรงเวลาทุกเดือน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยื่นกู้ซื้อบ้านไม่ได้นะครับ เพียงแต่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนยื่นกู้พร้อมหลักฐานให้ครบ แค่นี้รับรองว่ากู้ผ่านฉลุย! หลักฐานการเสียภาษีเงินได้ สำคัญมากเมื่อจะกู้ซื้อบ้าน หัวใจสำคัญของการยื่นกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ถ้ามีเอกสารเกี่ยวกับภาษีจะช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เพราะหลักฐานการเสียภาษีเงินได้จะเป็นตัวบอกได้ว่าเรามีรายรับทั้งปีอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่ที่เท่าไหร่ อาทิ หนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ส่วนรายได้อื่นๆ ที่ไม่ผ่านกระบวนการทางภาษีจะไม่นับว่าเป็นรายได้ จะกู้ซื้อบ้าน ต้องเตรียมBookbank ประวัติการเดินบัญชีย้อนหลังขั้นต่ำ 6 เดือน จากทุกธนาคารที่เรามี เป็นสิ่งที่ธนาคารต้องเรียกดูแน่นอนครับ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรืออาชีพอิสระ ฉะนั้นหากมีรายได้เข้าก็ควรให้ผ่านบัญชีทุกครั้ง เพื่อแสดงถึงรายได้ของเราที่มีเข้า-ออกอยู่เป็นประจำ แยกบัญชีส่วนตัว บัญชีส่วนตัวนี้ใช้เป็นเงินสำรองเพื่อแสดงให้ธนาคารเห็นว่า เรามีเงินเก็บที่เป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่ง จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทางธนาคารว่าเราจะสามารถชำระหนี้ได้แม้จะมีรายได้ต่อเดือนไม่คงที่ และยังบ่งบอกถึงวินัยทางการเงินที่ดีอีกด้วย บัญชีรายรับ-จ่าย ตรงนี้จะช่วยเป็นหลักฐานยืนยันสำหรับยอดขายของเราทั้งหมด ที่สำคัญคือควรจะเก็บใบเสร็จทุกอย่างเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จรับเงินของลูกค้า โดยแยกใบเสร็จใบหนึ่งของลูกค้า อีกใบให้เก็บเอาไว้เป็นหลักฐานกับตัวเราเอง หรือใบเสร็จเวลาเราสั่งของเข้าร้าน เอกสารการจดทะเบียนพาณิชย์  หากเรามีกิจการเป็นของตัวเองก็ควรมีการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย แม้แต่เป็นพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ก็ควรจะจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตรงนี้จะเป็นเครื่องยืนยันแหล่งที่มาของรายได้ที่แน่นอน และช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงการกู้สินเชื่อง่ายขึ้น เตรียมกู้ซื้อบ้านด้วยรูปถ่าย อะไรที่สามารถใช้เป็นหลักฐานก็ควรเก็บเอาไว้ แล้วส่งประกอบกับเอกสารตอนยื่นกู้ให้หมดครับ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่ายหน้าร้าน สต็อกของ หรือวันที่ต้องส่งของให้ลูกค้าเยอะๆ ทุกอย่างจะช่วยให้พิจารณาอนุมัติได้ง่ายขึ้น ในบางกรณีธนาคารก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปดูหน้าร้านด้วยตัวเองด้วยครับ   วิธีรวบรวมหลักฐานเหล่านี้ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ เพียงแค่ต้องใช้เวลาเตรียมตัวทำประวัติทางการเงินให้ดี รวบรวมหลักฐานสำคัญทุกอย่างเอาไว้ เพื่อยืนยันแหล่งที่มาของรายได้ สร้างความน่าเชื่อถือได้ก็สามารถกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยได้เช่นกัน รายละเอียดการเตรียมตัวกู้ซื้อบ้านเพิ่มเติม ธอส. ธนาคารออมสิน Infographic อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางเลือกซื้อคอนโด สำหรับคนงบน้อย ซื้อคอนโด มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง? กู้ไม่ผ่าน เกิดจากอะไร  
ตลาดอสังหาฯ จะไปต่ออย่างไร หลังปลดล็อค LTV หนุนตลาดโตเพิ่มแค่ 0.8%

ตลาดอสังหาฯ จะไปต่ออย่างไร หลังปลดล็อค LTV หนุนตลาดโตเพิ่มแค่ 0.8%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงการณ์ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับ ดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่แม้จะครอบคลุมถึง การกู้ซื้อ ที่อยู่อาศัยในทุกระดับราคา แต่ ธปท. ได้มุ่งผ่อนปรนให้กับการกู้ซื้อที่เป็นสัญญาที่ 1 และ 2 เป็นหลัก   สำหรับการกู้ที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่ เกิน 10 ล้านบาท ผู้กู้ซื้อบ้านในสัญญาที่ 1 สามารถกู้เงินเพิ่ม 10% เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายที่จาเป็นต่อการอยู่ อาศัย เช่น ค่าตกแต่งที่อยู่อาศัยได้ ขณะที่ผู้กู้ในสัญญาที่ 2 ที่ผ่อนหลังแรกเกิน 2 ปี (จากเดิมกาหนด ไว้ที่ 3 ปี) สามารถใช้เงินดาวน์เพียง 10% ส่วนการกู้ที่อยู่อาศัยมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปในสัญญาที่ 1 ธปท. ผ่อนปรนใช้สัดส่วนเงินดาวน์ลดลงจาก 20% เหลือ 10% ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์ LTV ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2663 เป็นต้นไป ธปท.ผ่อนปรน LTV เพราะตลาดอสังหาฯ หดตัว 4.5% Krungthai COMPASS มองว่าการหดตัวของตลาดที่อยู่อาศัย และผลประกอบการ ของผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่แย่ลง คือแรงกดดันสำคัญให้ ธปท. ต้องผ่อนปรนเกณฑ์ LTV หลังจากที่ ธปท. ได้บังคับใช้เกณฑ์ LTV ใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2562 ที่ระบุให้ผู้กู้ ตั้งแต่สัญญาที่ 2 ขึ้นไปต้องเตรียมเงินดาวน์มากขึ้น ได้ส่งผลกระทบให้ตลาดที่อยู่ อาศัยปรับตัวลงอย่างเห็นได้ชัด   โดยมูลค่าตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล หลังจาก LTV มีผลบังคับใช้ (เมษายน - ตุลาคม 2562) หดตัว 4.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 แบ่งเป็นบ้านจัดสรรที่ยังเติบโตได้ 2% ขณะที่ คอนโดมิเนียมติดลบมากถึง 12% ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลบัญชีสินเช่ือที่อยู่อาศัย ปล่อยใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี2562 จาก ธปท. จะพบว่าการหดตัวของตลาด คอนโดมิเนียมเป็นผลมาจากการกู้ยืมในสัญญาที่ 2 และ 3 ที่ติดลบสูงถึง 26% และ 41% ตามลาดับ ดีเวลลอปเปอร์กำไรวูบ 36% สภาพตลาดที่หดตัวลงก็เป็นภาพใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงผลประกอบการของ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวลงเช่นกันโดยหากนับผลประกอบการในช่วงไตรมาส ที่ 2-3 ของผู้พัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่าผู้ประกอบการมี รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์และกำไรสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2562 เท่ากับ 65,017 ล้านบาท และ 10,560 ล้านบาท หดตัว 24% และ 36% จากปีก่อน โดยเป็นการหดตัวที่ครอบคลุมทั้ง 8 ราย ด้วยผลประกอบการที่ออกมา จึงไม่น่าแปลกที่ตัวแทนของสมาคมผู้ประกอบการอสังหาฯ ในกลุ่มต่างๆ ได้เข้าไปหารือกับ กระทรวงการคลัง และส่งสัญญาณให้ธปท. ผ่อนปรนเกณฑ์ LTV อยู่บ่อยครั้ง 3 ผลกระทบจากมาตรการ LTV  Krungthai COMPASS ประเมินเป็นการเบื้องต้น (Initial Assessment) ว่าการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ของธปท. มีโอกาสที่จะส่งผลให้เกิดผลกระทบใน 3 ประเด็น ด้วยกัน คือ ประเด็นที่ 1 Sentiment ของตลาดที่อยู่อาศัยจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะหากนับตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึง ต้นปี 2563 ตลาดที่อยู่อาศัยของไทยล้วน เผชิญหน้ากับปัจจัยบวกใหญ่ๆ ถึง 3 ข่าว ตั้งแต่ 1.การออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ของรัฐบาล เช่น มาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง และ มาตรการบ้านดีมีดาวน์ ในช่วงเดือน พฤศจิกายน -ธันวาคม 2562 ต่อด้วย 2.ปลายเดือน ธันวาคม​ 2562 รัฐบาลให้ความชัดเจนเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยระบุให้ที่อยู่อาศัย นั้นเสียภาษีในอัตรา 0.02% 3.การผ่อนเกณฑ์ LTV ของธปท. ในกลางเดือน มกราคม 2563 แสดงให้เห็นว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ถึงปัญหาที่เกิด ขึ้นกับตลาดที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมา ประเด็นที่ 2 การผ่อนเกณฑ์ให้ผู้กู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท เป็นสัญญาที่ 2 ที่ผ่อนชำระสัญญา 1 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี สามารถใช้เงิน ดาวน์ 10% ได้ อาจทำให้ความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมในปี 2563 กลับมาราว 4,500 ล้านบาท จากตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2562 ที่มีโอกาสติดลบ -11% (คิดเป็น มูลค่า 31,480 ล้านบาท) แบ่งเป็นการหดตัวของผู้กู้ในสัญญา 1 ที่ -1% (1,805 ล้าน บาท) สัญญา 2 ที่ -26% (13,466 ล้านบาท) และสัญญา 3 ขึ้นไปที่ -41% (15,700 ล้านบาท) Krungthai COMPASS ประเมินว่าเหตุผลที่ทำให้การกู้ในสัญญาที่ 2 ติด ลบมาจากข้อกำหนดของเกณฑ์LTVเดิมที่ระบุให้ผู้กู้ต้องผ่อนชำระสัญญาที่1มาก่อน เป็นระยะเวลา 3 ปี ถึงจะสามารถใช้เงินดาวน์ 10% ในการกู้ซื้อสัญญาที่ 2 ได้ เกณฑ์ ดังกล่าวส่งผลผู้กู้สัญญาที่ 1 ในช่วงปี 2559-2561 มีความต้องการกู้สัญญาที่ 2 ในปี 2562 ลดลง จากข้อสรุปดังกล่าว Krungthai COMPASS ประเมินว่าการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV จาก 3 ปี ลงมาเหลือ 2 ปี นั้นอาจช่วยให้ความต้องการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยในสัญญา ที่ 2 กลับมาได้ประมาณ 1 ใน 3 จากขนาดของการหดตัวทั้งหมดในปี 2562 คิดเป็น มูลค่าเกือบ 4,500 ล้านบาท ซึ่งสามารถเป็น Upside ให้กับตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2563 ได้ราว 0.8% ประเด็นที่ 3 เงื่อนไขที่ผ่อนปรนขึ้น อาจทำให้การลงทุนระยะยาวในคอนโดมิเนียมมีความน่าสนใจมากขึ้นและอาจช่วยทดแทน Demand จากต่างประเทศ ที่ลดลงจากการแข็งค่าของเงินบาท ในปี 2562 ที่ผ่านมา Krungthai COMPASS พบว่าสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของผู้ซื้อชาวจีนซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่ง ชาวต่างชาติทั้งหมดที่ซื้อคอนโดมิเนียมในไทยหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดจาก11%ของ มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของไทยใน มกราคม 2562 เหลือ 8% ในธันวาคม 2562 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแข็งค่าเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับเงินหยวนในช่วงเวลา เดียวกัน    ได้ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาที่อยู่อาศัยในไทยปรับตัวสูงขึ้นจากวันทำ สัญญาจองโดยเฉลี่ยถึง 9% บทสรุปผลกระทบมาตรการ LTV อย่างไรก็ดี Krungthai COMPASS มองว่าการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ในครั้งนี้ อาจช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลงทุนคอนโดมิเนียมระยะยาวกลับมาให้ความสนใจ มากขึ้นเนื่องจากการลงทุนคอนโดมิเนียมในไทยที่ให้ผลตอบแทนราว 2.7-6.6%  ก็ ยังเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของการลงทุนในยุคดอกเบี้ยต่ำของคนไทย ประเด็นนี้อาจ ช่วยทดแทน demand จากต่างประเทศโดย จีนที่ลดลง Krungthai COMPASS มองว่าตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2563 จะได้รับประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะ มาตรการลดค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง ซึ่งทำให้มีโอกาสที่ตลาดจะกลับมาฟื้นตัวได้ 5.5% จากปีก่อนหน้า โดยมีการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ของธปท. เป็น Upside สำคัญที่อาจทำให้อัตราการเติบโตของตลาดเร่งขึ้นไปได้อีก 0.8%        
สิงห์ เอสเตท ลงทุนกว่า 73,000 ล้าน เดินหน้า 4 ธุรกิจหลัก สร้างรายได้ 30,000 ล้านในปี 2567

สิงห์ เอสเตท ลงทุนกว่า 73,000 ล้าน เดินหน้า 4 ธุรกิจหลัก สร้างรายได้ 30,000 ล้านในปี 2567

"สิงห์ เอสเตท" ดำเนินธุรกิจมาถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อมาจาก บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในช่วงปี 2557     โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานในธุรกิจที่อยู่อาศัย อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยพลาดจากเป้าหมายไปประมาณ 30% คาดว่าจะทำรายได้ประมาณ 7,500 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมในปี 2562 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้รวมน่าจะทำได้ 16,000 ล้านบาท   สิงห์เอสเตท ตั้งเป้าทำรายได้ 20,000 ล้าน อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 สิงห์ เอสเตท คาดว่าจะกลับสร้างการเติบโต พร้อมกับเป้าหมายการทำรายได้ 20,000 ล้านบาท ซึ่งมีแผนการดำเนินธุรกิจในกลุ่ม คือ   1.แผนการเปิดโครงการใหม่ 6 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการคอนโดมิเนียมจะมีแบรนด์ใหม่ 2 โครงการ และโครงการแนวราบจะมีแบรนด์ใหม่ 3 โครงการ และมีเป้าหมายยอดขาย 8,000 ล้านบาท พร้อมกับรับรู้รายได้จากการโอนโครงการเอส 36 จากแบ็กล็อกที่มีมูลค่า 6,000 ล้านบาท   2.ธุรกิจคอมเมอร์เชียล หรืออาคารสำนักงาน จะเน้นการพัฒนาโครงการในทำเลที่เหมาะสม โดยไม่เน้นทำเลใจกลางเมืองเป็นหลัก ส่วนธุรกิจโรงแรมยังคงขยายอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนใช้เงินลงทุนปีนี้ 5,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและซื้อกิจการในส่วนอาคารสำนักงานและโรงแรม   3.การรับรู้รายได้จากโครงการในมัลดีฟส์มูลค่า 2,000 ล้านบาท เนื่องจากโรงแรมในโครงการคอรสโร้ดส์ เฟสแรก ได้เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ   4.การขยายธุรกิจใหม่ ที่สร้างความยั่งยืนและช่วยเหลือสังคม ได้แก่ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Business)   นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้จะเป็นปีที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายรายได้ 20,000 ล้านบาท หลังจากทำตามเป้าหมาย การพัฒนาบริษัทเป็นโกลบอลคอมปานี ได้สำเร็จมา 3 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นมากมีมูลค่าสินทรัพย์ถึง 67,000 ล้านบาท และตามแผนในระยะ 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2567 สินทรัพย์น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาท   ส่วนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ มีปัจจัยที่ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ มี 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ปัญหาไข้หวัดโคโรน่า ซึ่งผลกระทบจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการแพร่ระบาด แต่คาดว่าจะมีระยะเวลาการแพร่ระบาดไม่นาน และ 2.ปัญหาการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี จะดำเนินการได้ตามแผนหรือไม่ ส่วนปัจจัยบวกสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในภาวะ ค่าเงินบาทหากอ่อนค่ากกว่านี้ ในระดับ 35 บาทต่อดอลล่าห์  จะส่งผลบวกต่อตลาดนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเข้ามาเพิ่มมากขึ้น แผน 5 ปี “สิงห์เอสเตท” ลงทุนกว่า 73,000 ล้าน 5 ปีข้างหน้า จะมุ่งขยายใน 3 แกนหลัก ได้แก่ ธุรกิจที่อยู่อาศัย ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจคอมเมอร์เชียล ด้วยงบลงทุนรวม 68,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะขยายธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจอสังหาฯ ด้วย โดยเป็นธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณการลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท รวมงบประมาณการลงทุนทั้ง 4 กลุ่มประมาณ 73,000-74,000 ล้านบาท แบ่งเป็น   1.ธุรกิจที่อยู่อาศัย เตรียมลงทุน 37,500 ล้าบาท เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย 30 โครงการ   2.ธุรกิจคอมเมอร์เชียล ซึ่งเป็นพื้นที่สำนักงานให้เช่า เตรียมลงทุน 8,500 ล้านบาท เพื่อพัฒนา 4 โครงการ ซึ่งอาจจะซื้อหรือพัฒนาขึ้นใหม่ แต่บริษัทต้องการซื้อโครงการมาพัฒนาต่ำ เนื่องจากได้รับกระแสเงินสดเข้ามาทันที แต่หากพัฒนาขึ้นใหม่ จะมีผลดีในด้านผลตอบแทนที่สูง จากปัจจุบันมีอาคารสำนักงานให้เช่า 3 อาคาร รวม 140,000 ตารางเมตร คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ตารางเมตรในอีก 5 ปีข้างหน้า   3.ธุรกิจโรงแรม เตรียมงบประมาณการลงทุน 22,000 ล้านบาท  เพื่อพัฒนาและซื้อโรงแรมมาพัฒนาต่อ 41 แห่ง ในพื้นที่ด้านการท่องเที่ยว  ตามเป้าหมายจะมีโรงแรมรวม 80 แห่ง มีจำนวนห้อง 8,000 ห้อง ภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีโรงแรม 39 แห่ง จำนวน 4,647 ห้อง   4.ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เตรียมงบประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท โดยจะร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงาน โดยร่วมกันพัฒนาธุรกิจและสร้างการเติบโต เช่น ธุรกิจพลังงานจากการกำจัดขยะ  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา “สิงห์ เอสเตท” วางเป้าหมายรายได้ 30,000 ล้าน ตามแผนในระยะ 5 ปี บริษัทวางเป้าหมายรายได้ 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจที่อยู่อาศัย 15,000 ล้านบาท ทั้งโครงการแนวราบและคอนโดฯ  ส่วนธุรกิจคอมเมอร์เชียลและโรงแรม วางเป้าหมายรายได้ 15,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน อาจจะมีรายได้ไม่มากนัก เพราะบริษัทมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ และช่วยเหลือสังคม โดยจะร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนา และสร้างการเติบโต
ทางเลือกซื้อคอนโด สำหรับคนงบน้อย

ทางเลือกซื้อคอนโด สำหรับคนงบน้อย

เชื่อว่าหลายคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะใครที่ต้องทำงานย่านใจกลางเมืองอยู่ทุกวันก็ย่อมอยากจะมีคอนโดฯ เป็นของตัวเองสักห้อง เอาแบบที่เดินทางสะดวก ใกล้รถไฟฟ้า ไม่ไกลจากออฟฟิศ แต่ติดตรงที่ราคาคอนโดสมัยนี้สามารถซื้อบ้านเดี่ยวได้เลยใช่ไหมครับ! เพียงแต่จะได้ทำเลที่ต่างกันมากทีเดียว สำหรับมนุษย์เงินเดือนงบน้อยก็ใช่ว่าจะซื้อคอนโดไม่ได้เลย เรายังมีทางเลือกที่จะสามารถเป็นเจ้าของคอนโดได้ไม่ยากเลยครับ เพียงแค่ต้องมีวิธีพิจารณากันสักหน่อยเท่านั้นเอง มองหาทำเลรอง แน่นอนครับว่า คอนโดมิเนียมใจกลางเมืองย่อมมีราคาแพงไปตามราคาที่ดิน ซึ่งทุกวันนี้ราคาแตะตารางวาหลักล้านบาทเข้าไปแล้ว สำหรับคนงบน้อยคงเอื้อมถึงยากกันสักหน่อย ถ้าอย่างนั้นก็ลองมองหาทำเลรอง ห่างออกมาจากใจกลางเมืองกันอีกนิด เป็น Low Rise เข้าซอยไปสักหน่อย เพราะเดี๋ยวนี้คอนโดมักจะมี Shuttle Bus รับ-ส่งถึงสถานีรถไฟฟ้า และการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าในปัจจุบันที่ออกไปถึงชานเมืองกันมากขึ้นแล้ว ถือว่ายังสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกด้วยรถไฟฟ้าเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะต้องเดินทางหลายสถานีกันมากขึ้น แต่ก็จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของคอนโดได้อย่างที่ต้องการนะครับ ยกตัวอย่างตามแนวรถไฟฟ้าอย่างสายสีลม ก็ลองมองหาคอนโดย่านฝั่งธนตั้งแต่สถานีวงเวียนใหญ่ออกไป ส่วนสายสุขุมวิท ก็ลองมองหาโครงการย่านสถานีอ่อนนุชออกไปจนถึงจ.สมุทรปราการ เป็นต้น เลือกธนาคารที่ให้กู้สินเชื่อได้เกินอายุ 60 ปี ทราบหรือไม่ครับว่า ปัจจุบันมีธนาคารบางแห่งเสนอเงื่อนไขการกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยได้เกินอายุ 60 ปี ไปจนถึงอายุ 70 ปี นั่นหมายความว่าเราจะได้ชำระงวดรายเดือนน้อยลง เพราะได้ระยะเวลาผ่อนที่นานมากขึ้น ทั้งนี้ธนาคารจะพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งหากจะเลือกวิธีนี้เราแนะนำว่า หากได้รับการอนุมัติให้กู้ได้เกินอายุ 60 ปี ก็ควรจะใช้วิธีโปะเงินเพิ่มในเดือนที่เราพร้อม เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระหลังเกษียณ หาผู้กู้ร่วมซื้อ คอนโด การมีผู้กู้ร่วมจะช่วยเพิ่มวงเงินในการกู้ได้มากขึ้น แต่ผู้กู้ร่วมจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับผู้กู้หลัก ตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร แต่แนะนำว่าให้เลือกผู้กู้ร่วมที่มองแล้วในอนาคตจะไม่เกิดปัญหากันเกิดขึ้นด้วยนะครับ ซื้อคอนโด แบบทิ้งดาวน์หรือมือสอง ลองหาข้อมูลคอนโดที่ใกล้จะสร้างเสร็จแล้วเริ่มให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ดูนะครับ จังหวะนี้จะมีคนขายทิ้งดาวน์กันจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว อาจเพราะกู้สินเชื่อไม่ผ่านหรือไม่พร้อมโอน เมื่อจำยอมต้องทิ้งดาวน์ก็จะมีบางคนที่ยอมขายแบบไม่บวกกำไรหรือยอมขาดทุน หรืออาจมองหาคอนโดมือสองสภาพดี ซึ่งข้อดีของคอนโดมือสองคือเราจะได้เห็นสภาพแวดล้อม การอยู่อาศัยจริง รวมถึงการบริหารจัดการของนิติบุคคล เผลอๆ จะได้ขนาดห้องที่ใหญ่มากกว่าคอนโดรุ่นใหม่ ยิ่งหากมีโครงการใหม่เกิดขึ้นในละแวกเดียวกันก็จะทำให้ได้ราคามือสองที่ถูกลง แต่สำหรับคอนโดคอนโดทิ้งดาวน์หรือมือสองแบบนี้ ต้องออกแรงทำการบ้านตามหาแล้วเทียบราคากันสักหน่อยครับ เก็บเงินซื้อคอนโดไปก่อน ไม่ต้องรีบ “ผ่อนถูกกว่าเช่า” หลายคนคงเคยได้ยินประโยคแนวนี้กันบ่อยใช่ไหมล่ะครับ เพราะมีโปรโมชั่นออกมาบอกว่าผ่อนต่อเดือนไม่กี่พันบาท ตรงนี้ต้องดูรายละเอียดกันดีๆ โดยส่วนมากแล้วราคานี้จะหมายถึงการผ่อนดาวน์ต่อเดือนขณะที่คอนโดกำลังสร้างอยู่ แต่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ จิปาถะอีกมากมาย เช่น ค่าใช้จ่ายวันโอนกรรมสิทธิ์ การเริ่มผ่อนจริงหลังจากโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ค่าส่วนกลาง ค่ากองทุน ค่าจดจำนอง ฯลฯ คิดรวมๆ แล้วก็ต้องมีเงินก้อนจำนวนหนึ่งสำรองเอาไว้อยู่ดี ฉะนั้นหากยังไม่มีเงินก้อนที่พร้อมจริงๆ ก็อย่าเพิ่งรีบร้อนซื้อคอนโดครับ ควรศึกษาข้อมูลแต่ละโครงการและโปรโมชั่นที่ออกมาให้ดีก่อนจะเริ่มมีภาระหนี้ระยะยาว     สุดท้ายการจะซื้อคอนโดสักยูนิตก็ควรจะมีเงินก้อนที่เป็นเงินเย็นเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายจุกจิกหลายอย่างที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน ที่สำคัญคือติดตามโปรโมชั่นที่เหมาะกับตัวเราให้ดี จะช่วยประหยัดไปได้หลายบาททีเดียวครับ รายละเอียดการซื้อคอนโด โดยกู้สินเชื่อได้เกินอายุ 60 ปี ธนาคารออมสิน ธอส. Infographic ที่น่าสนใจอื่นๆ โปรโมชั่นบ้าน-คอนโด เลือกอย่างไรให้คุ้ม 5 ข้อต้องรู้ก่อนจะเป็น “ผู้กู้ร่วม” กู้ไม่ผ่าน เกิดจากอะไร  
5 แนวคิดเสนาฯ​ กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตอสังหาฯ  สู้เป้าหมายยอดขาย 11,500 ล้าน

5 แนวคิดเสนาฯ​ กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตอสังหาฯ สู้เป้าหมายยอดขาย 11,500 ล้าน

“SENA” วางแผนธุรกิจปี 2020  ด้วยกลยุทธ์ “HOW TO THINK” 5 แนวคิดพิชิตตลาดอสังหาฯ  เตรียมเปิดเบื้องต้น 10 โครงการ มูลค่ารวม 7,500 ล้านบาท  พร้อมโครงการร่วมทุน กับ “ฮันคิว ฮันชิน” ต่อเนื่อง สู่พอร์ตโครงการแนบราบ​ บุกตลาดครั้งแรก ตั้งเป้ายอดขาย 11,500 ล้านบาท และยอดโอน 10,600 ล้านบาท   ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนธุรกิจปี 2020 ว่า ได้เตรียมเปิดโครงการใหม่ ทั้งหมด 10 โครงการ รวมมูลค่า 7,500 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวสูง 6 โครงการและแนวราบ 4 โครงการ ตั้งเป้ายอดขาย 11,500 ล้านบาทและเป้ารายได้ 10,600 ล้านบาท โดยวาง 5 แนวคิดหลักในการรุกธุรกิจอสังหาฯปี 2020 เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายและการเติบโตของบริษัท ภายใต้วิสัยทัศน์  “HOW TO THINK”  ได้แก่ 1.Think of Real Demand เจาะตลาดกลุ่มเรียลดีมานด์ บริษัทจะเน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก เป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ (Real Demand) คนซื้ออยู่จริง โดยใช้ฐานข้อมูลหลายส่วนมาค้นหาทำเลที่เหมาะสม ทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ต้องเลือกสถานีที่เหมาะสม โดยต้องเป็นเขตที่มีแหล่งงาน มีคนอพยพเข้ามาอยู่อาศัย ผังเมืองเหมาะสมและซัพพลายยังไม่มากเกินไป โดยเฉพาะตลาดแนวราบ กลุ่มระดับราคา 3-5 ล้านบาท และแนวสูง ระดับราคา 1- 3 ล้านบาท ยังเป็นระดับราคาที่มีความนิยมและมีกำลังซื้อที่ดี 2.Re Think SENA CORE COMPETENCY IN THE PAST ONTO THE PRESENT การนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ เข้ามาช่วยสร้างบ้านประหยัดพลังงาน การพัฒนาโครงการของเสนา ไม่ได้ตอบสนองกลุ่มลูกค้าในแบบเดิม แต่เพื่อให้เป็นไปตาทเทรนด์ของโลกในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการประหยัดพลังงาน การหาพลังงานทดแทน บริษัทจึงได้ได้พัฒนา “หมู่บ้านเสนาโซลาร์” เพราะต้องการตอบสนองความต้องการของลูกค้า มากกว่าแค่การเป็นแค่บ้านประหยัดพลังงานเท่านั้น 3.Think of SENA INNOVATION  “นวัตกรรมและเทคโนโลยี เสนาฯ ได้นำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยี เข้ามาผสมผสานกับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในหลากหลายรูปแบบ  โดยเฉพาะเรื่องของธุรกิจโซลาร์  จึงทำการติดโซลาร์ให้กับทุกโครงการของเสนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่กับการเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ ปัจจุบันมีการติดตั้งให้กับบ้านทุกหลังรวม 400 หลัง ประมาณ 1,000 กิโลวัตต์ 4.Think of SENA Experience “การสร้างประสบการณ์ที่ชัดเจนและแตกต่าง ในภาวการณ์แข่งขันปัจจุบัน จะต้องแข่งขันกันด้วนความแตกต่าง เพราะต้องยอมรับว่าท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน การแข่งขันเรื่องราคาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  ตัวแปรที่จะช่วยขับเคลื่อนภาพลักษณ์ของเสนาให้มีความชัดเจน และมีจุดต่างมากยิ่งขึ้น เสนามี “MADE FROM HER” แนวคิดหลักที่นำความคิดละเอียดหลายชั้นของผู้หญิงมาพัฒนาสินค้าและบริการ ในปีนี้สิ่งที่จะทำเพิ่มเติมคือ การแข่งขันด้านราคาหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะตลาดบ้านเรียลดีมานด์ แต่การแข่งขันด้านราคา ไม่มีความแตกต่างก็ตาย ความต่าง คือประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับจากสินค้าเรา โดยราคายังแข่งขันได้   -ให้ความสำคัญกับ Customer Journey ที่มีความแตกต่างของแต่ละเซกเม้นท์ -ปรับแบรนด์พอร์ตโฟลิโอ (Brand Portfolio) สร้างแบรนด์คอนโดใหม่ “SLASH” “SENA KITH” และแบรนด์บ้านใหม่ “SENA VILLE” “SENA VILLAGE” “SENA VELA” “SENA VIVA” เพื่อให้สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละเซ็กเมนต์ เน้นกลุ่มลูกค้า GEN Y – First Jobber -ดีไซน์เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น 360 องศาให้ทันสมัยและง่ายต่อเข้าถึงข้อมูล 5.Think of Business Model “โมเดลธุรกิจและพันธมิตรที่แข็งแกร่ง” ปัจจัยสนับสนุนหลักทุกสเต็ปต์ของการเติบโตของเสนาฯ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ คอร์ป ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ในช่วงเวลา 3 ปี ทั้งหมด 9 โครงการ และปีนี้ เสนา ฮันคิว ฮันชิน เตรียมรุกตลาด “ทาวน์โฮม” ร่วมกันเป็นครั้งแรก รวมถึงคอนโดฯ ต่ำกว่าล้านบาท และคอนโดฯ ราคา 1- 1.5 ล้านบาท พร้อมนำแนวคิด Geo fit+ จากญี่ปุ่นมาปรับใช้กับสินค้าและการบริการ นอกจากนี้มีการ จัดตั้งบริษัท ทีเค นวกิจ จำกัด บริษัทรับเหมาก่อสร้างพัฒนาคอนโดฯ โลว์ไรส์ของบริษัท เพื่อควบคุมต้นทุน และระยะเวลาก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ   เสนาฯ ร่วมกับฮันคิวฯ ทำโครงการร่วมกันมา 13 โครงการ มูลค่า 37,000 ล้านลาท วันนี้โครงการจะไม่อยู่แค่คอนโดฯ แล้ว ต้องไปสู่เรียลดีมาน์ในประเภทอื่นด้วย   อย่างไรก็ตาม ทางเสนาฯ เตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นทั้งโอกาสและวิกฤตต้องปรับตัวให้ทัน Digital Disruption ซึ่งแม้ภาพรวมตลาดอสังหาฯจะเต็มไปด้วย Perfect Storm (พายุที่สมบูรณ์แบบมากลูกหนึ่ง) แต่ด้วยกลยุทธ์ของบริษัทที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดทุกเรื่อง ศึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆตลอดเวลาเพื่อนำมาพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพันธมิตรชั้นนำที่เข้ามามีส่วนช่วยผลักดันให้บริษัทเติบโต จึงทำให้มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอนในปี 2020  
วิเคราะห์ LTV หลักเกณฑ์ใหม่ ดีต่อตลาดอสังหาฯ แค่ไหน-ใครได้ประโยชน์

วิเคราะห์ LTV หลักเกณฑ์ใหม่ ดีต่อตลาดอสังหาฯ แค่ไหน-ใครได้ประโยชน์

นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2563 เป็นต้นไป การปรับหลักเกณฑ์ LTV ใหม่ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีผลบังคับใช้  การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในครั้งนี้ ธปท. ต้องการสนับสนุนให้ประชาชาชน สามารถกู้ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงได้ง่ายขึ้น   เพราะดูเหมือนว่าหลังจากการบังคับมาตรการ LTV อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ชะลอตัวลง  แม้ภาครัฐจะออกมาตรการมาช่วยกระตุ้น  แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้ภาพรวมตลาดดีขึ้น   สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่ ของมาตรการ LTV ที่ธปท. ปรับและบังคับใช้นั้น ทางนางสาวนพมาศ ฮวบเจริญ นักวิเคราะห์อาวุโส Evonomiv Intelligenct Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำบทวิเคราะห์เรื่อง การผ่อนปรน LTV ช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยอย่างจำกัด โดยแนวราบจะได้ประโยชน์มากกว่าคอนโดมิเนียม รายละเอียดหลักเกณฑ์ LTV ใหม่    1.กลุ่มผู้กู้ซื้อบ้านสัญญาแรกราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท สามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าหลักประกัน เพื่อใช้ซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งบ้าน หรือสิ่งจำเป็นในการเข้าอยู่อาศัย โดยที่เพดาน LTV ยังคงไว้ที่ 100% ซึ่งผ่อนปรนขึ้นจากเกณฑ์ LTV เดิมที่เริ่มใช้ในเดือนเมษายน 2562  ที่วงเงินกู้สินเชื่อบ้านรวมสินเชื่อ Top-up (สินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ สินเชื่อ Top-up  หมายถึง สินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกัน เช่น เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น) ต้องไม่เกิน 100% ของมูลค่าหลักประกัน   นอกจากนี้ ธปท. ยังได้มีการผ่อนปรนเกณฑ์การคำนวณความเสี่ยงเพื่อคำนวณเงินกองทุนให้กับสินเชื่อบ้านสัญญาแรกด้วย ในกรณีให้สินเชื่อที่วงเงิน 100% ของมูลค่าบ้าน สถาบันการเงินจะคำนวณน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิตที่ 35% สำหรับวงเงินสินเชื่อบ้านสัญญาแรกที่ 100% ของมูลค่าบ้าน และหากมีการให้วงเงิน 10% เพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ก็จะใช้น้ำหนักที่ 75% เฉพาะส่วนวงเงิน 10%  แต่หากเป็นเกณฑ์เดิม สถาบันการเงินต้องมีการคำนวณน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงฯ ในวงเงินสินเชื่อทั้งหมดที่ 75%  หากสถาบันการเงิน ให้สินเชื่อในวงเงินมากกว่า 95% ของมูลค่าบ้านแนวราบ หรือ 90% ของมูลค่าคอนโดมิเนียม   รูปเกณฑ์ LTV สำหรับการกู้ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริง ถูกผ่อนปรนให้ใกล้เคียงกับเกณฑ์ LTV เดิม ในช่วงก่อนหน้าเดือนเมษายน 2562 2.กลุ่มผู้กู้ซื้อบ้านสัญญาแรกราคาเกิน 10 ล้านบาท สามารถกู้ได้ที่วงเงินสินเชื่อสูงสุดที่ 90% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย หรือวางเงินดาวน์ขั้นต่ำเพียง 10% จากเกณฑ์เดิมที่ต้องวางเงินดาวน์ 20%   3.กลุ่มผู้กู้ซื้อบ้านสัญญาสองราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ยังคงวงเงินสินเชื่อสูงสุดที่ 80-90% เหมือนเดิม แต่ปรับลดเกณฑ์การเข้าข่ายที่ได้รับ LTV ที่ 90% สำหรับการกู้ซื้อบ้านสัญญาที่ 2 จากเดิมต้องผ่อนชำระสัญญาแรกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี เป็น 2 ปี รูป ธปท.ผ่อนปรนเกณฑ์การคำนวณความเสี่ยง เพื่อคำนวณเงินกองทุนให้กับสินเชื่อบ้านสัญญาแรกราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท  บ้านแนวราบสัญญาแรก ได้ประโยชน์มากสุด บทวิเคราะห์ได้รายงานว่า ที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบ ได้รับประโยชน์จากมาตรการ  มากกว่าที่อยู่อาศัยแบบคอนโดฯ เพราะจากจำนวนบัญชีสินเชื่อปล่อยใหม่ ของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) พบว่า ผู้ที่ซื้อบ้านซึ่งเป็นสัญญาแรก หรือบ้านหลังแรกนั้น เป็นประเภทโครงการแนวราบสัดส่วน 70% เป็นคอนโดฯ สัดส่วน 30% หากถ้าพิจารณากลุ่มที่ซื้อโครงการแนวราบ ก็ยังพบว่าเป็นสัญญาแรกเกือบ 90% คนซื้อบ้านแนวราบสัญญา 2 หรือบ้านหลังที่ 2 เพียง 10%  แต่ถ้าพิจารณากลุ่มคนที่ซื้อโครงการคอนโดฯ จะพบว่าเป็นกลุ่มซื้อบ้านสัญญาแรกสัดส่วนน้อยกว่า คือ ประมาณ 75% ที่เหลืออีก 25% เป็นคนซื้อสัญญาที่สอง หรือซื้อเป็นบ้านหลังที่สองนั้นเอง อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากการปรับหลักเกณฑ์ LTV ใหม่ คือ กลุ่มที่อยู่อาศัยในตลาดราคากลาง-ล่าง เนื่องจากเพดานของวงเงินสินเชื่อของกลุ่มซื้อบ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ถูกผ่อนปรน ให้มีระดับใกล้เคียง ก่อนที่มาตรการ LTV จะบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2562 ทำให้การซื้อบ้าน ผู้กู้ไม่ต้องเตรียมเงินมากนัก เพราะกลุ่มคนกลุ่มระดับล่าง รวมถึงกลาง-ล่าง มักจะมีเงินออมในระดับต่ำ 2 เหตุผลคนซื้อบ้านสัญญาแรกได้ประโยชน์ 1.เพดานวงเงินสินเชื่อที่มากขึ้น ของการกู้ซื้อบ้านสัญญาแรก เปิดโอกาสให้ผู้กู้ในสัญญาแรก มีโอกาสได้รับเงินสินเชื่อที่มากขึ้น ซึ่งครอบคลุมไปถึงสินเชื่อที่ใช้ซื้อเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน 2.ธปท. ไม่ใช่แค่ผ่อนปรนเกณฑ์ LTV เท่านั้น แต่ยังผ่อนปรนเกณฑ์การคำนวณความเสี่ยง เพื่อคำนวณเงินกองทุนให้กับสินเชื่อบ้านสัญญาแรก ของธนาคาพาณิชย์ จึงช่วยลดต้นทุนการสำรองเงินกองทุน  ของธนาคารพาณิชย์ลงได้บ้าง ซึ่งต้นทุนที่ลดลง มีโอกาสส่งผ่านไปสู่ผู้กู้ซื้อบ้านในสัญญาแรกได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้กู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่กลุ่มผู้ซื้อมีความเสี่ยงสูง อาจจะไม่ได้รับประโยชน์นี้มากนัก ปรับเกณฑ์ LTV ใหม่ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ น้อย หากพิจารณาภาพรวมของตลาดอสังหาฯ หลังจากการปรับเกณฑ์ LTV ใหม่นั้น บทวิเคราะห์ ระบุว่า มีโอกาสค่อนข้างน้อย ที่ความต้องการที่อยู่อาศัย จะกลับไปเติบโตเหมือนก่อนที่มาตรการ LTV จะบังคับใช้เมื่อต้นเดือนเมษายน 2562 นั่นหมายความว่า การปรับเกณฑ์ LTV ใหม่ช่วงกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งสาเหตุมาจาก 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การปรับเพดาน LTV ครั้งนี้ไม่ได้มีผลต่อกลุ่มที่อยู่อาศัยสัญญากู้ที่สองขึ้นไป ช่วงก่อนที่เกณฑ์ LTV จะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2562 ในช่วงปี 2560-2561 ตลาดที่อยู่อาศัยขยายตัวดี  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวสูงของที่อยู่อาศัยสัญญากู้ที่สองขึ้นไป ซึ่งธปท. มองว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่กู้ซื้อเพื่อการเก็งกำไรหรือการลงทุนมากกว่าเพื่ออยู่จริง เนื่องจากข้อมูลของ ธปท. พบว่ามากกว่าครึ่งของผู้กู้ซื้ออาคารชุดสองสัญญาพร้อมกันมีระยะห่างระหว่างสัญญาแรกและสองไม่ถึง 1 ปี ทำให้ ธปท. ยังคงเพดาน LTV สำหรับการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาสองเช่นเดิม (โดยผ่อนปรนเฉพาะเกณฑ์การเข้าข่ายได้ LTV 90% สำหรับการกู้ซื้อบ้านสัญญาสอง ซึ่งระยะห่างระหว่างสัญญาแรกและสองลดลงเป็น 2 ปี จาก 3 ปี) 2.กำลังซื้อจากกลุ่มที่ซื้อเพื่อลงทุนและเก็งกำไรลดลง จากที่ผ่านมา กลุ่มที่ซื้อเพื่อลงทุนเป็นกลุ่มหลัก ที่ผลักดันการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัย แต่หลังจาก LTV บังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นต้นมา แนวโน้มราคาของที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะคอนโดฯ  ที่ปรับตัวลดลง  ทำให้ความน่าสนใจของตลาดที่อยู่อาศัยในด้านการลงทุนมีน้อยลง ซึ่งอีไอซีประเมินว่าการผ่อนปรนในครั้งนี้ น่าจะไม่มากพอผลักดันให้ราคาของคอนโดฯ ขยับขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากผู้ที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแนวราบมากกว่าคอนโดฯ 3.กำลังซื้อของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทั้งคนไทยและต่างชาติที่อ่อนแอ จากภาวะเศรษฐกิจทั้งไทยและเทศที่ชะลอตัวลง  ความเชื่อมั่นที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (โดยในเดือนธันวาคม 2562  ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เกี่ยวกับการซื้อบ้านหลังใหม่ ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่จัดเก็บข้อมูลในปี 2546) และภาระหนี้ของครัวเรือนที่ยังสูง รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่า 4.สถาบันการเงินยังมีแนวโน้มระมัดระวังการให้สินเชื่อของผู้กู้รายย่อย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยง ที่มีผลต่อรายได้และการจ้างงาน ซึ่งสะท้อนได้จากข้อมูลของ ธปท. เกี่ยวกับผลทดสอบภาวะวิกฤต  (Stress Test) ของภาคครัวเรือนไทย  ซึ่งพบว่าในปี 2560  สัดส่วนของครัวเรือนมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ (จากเดิมที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากในอดีต หากรายได้ของครัวเรือนปรับลดลง 20% โดยสัดส่วนของครัวเรือนที่มีความเสี่ยงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มรายได้   นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังต้องมุ่งเน้นการให้สินเชื่อสำหรับครัวเรือนอย่างมีความรับผิดชอบตามแนวทางปฏิบัติที่ ธปท.ได้ให้คำแนะนำ โดยเฉพาะการพิจารณารายได้คงเหลือของผู้กู้หลังจ่ายค่าผ่อนชำระหนี้ทุกประเภทกับสถาบันการเงินของตนเอง และผู้ให้บริการอื่น (Residual Income) ซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ   รูปสินเชื่อบ้านของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวสูงในปีที่ผ่านมา ขณะที่ธพ.ระมัดระวัง   อย่างไรก็ตาม ตลาดที่อยู่อาศัยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ที่จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เนื่องจากแนวนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ SFI เข้ามาช่วยผลักดันตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว เช่น มาตรการสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น   อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง -มาตรการ LTV ผลกระทบตกที่ใคร? -อสังหาฯ ปีหน้ายังเหนื่อย เพราะ LTV มาผิดเวลา?   -เปิดข้อมูลอินไซต์ ตลาดคอนโดฯ หลังใช้มาตรการ LTV
5 กลยุทธ์สร้างการเติบโตของกระเบื้องคอตโต้ ท่ามกลางปัจจัยลบปี 63

5 กลยุทธ์สร้างการเติบโตของกระเบื้องคอตโต้ ท่ามกลางปัจจัยลบปี 63

กระเบื้องคอตโต้ ใช้ 5 กลยุทธ์ สร้างการเติบโต 10% ท่ามกลางปัจจัยลบปี 63  ทั้งการขยายสาขา “คลังเซรามิค แฟมิลี” การบุกทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมเน้นบริหารจัดการภายใน   ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2563 ยังส่งสัญญาณว่ายังไม่ได้ฟื้นตัวดีมากนัก เพราะยังมีปัจจัยลบมากระทบมากมาย เป็นความท้าทายของการดำเนินธุรกิจภาคเอกชน หรือแม้แต่ภาครัฐบาลเอง ก็น่าจะเป็นปีแห่งความยากลำบาก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโต  ทำให้ภาคธุรกิจต้องหันกลับมามุ่งเน้นการบริหารจัดการภายใจ การเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการมุ่งเน้นลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายภายในองค์กร เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้   ในแวดวงธุรกิจธุรกิจอสังหาริมทรัพย์​ ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ที่สำคัญคงเป็นมาตรการ LTV ซึ่งกระทบตลาดอย่างหนักสุด แม้ว่าล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ออกกฎเกณฑ์ดังกล่าวออกมาใช้ จะผ่อนปรนความเข้มข้นของมาตรการ LTV ลงบ้าง แต่ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการหลายราย ส่งเสียงว่าช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น   ไม่เพียงแต่ธุรกิจอสังหาฯ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ไปเต็มๆ แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯ ก็โดนหางเลขไปกับเขาด้วย อย่างเช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เพราะถือว่าเป็นธุรกิจซึ่งเติบโตไปพร้อมกับตลาดอสังหาฯ เมื่อสภาพตลาดอสังหาฯ ชะลอตัว ธุรกิจวัสดุก็แผ่วตาม ตลาดกระเบื้องทรงตัวโดนพิษ LTV หากมาโฟกัสตลาดกระเบื้อง ที่ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 30,000-35,000 ล้านบาท ในช่วงปีที่ผ่านมาก็อยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลีง ได้รับผลกระทบจากปัญหา LTV ซึ่งทำให้การซื้อขายอสังหาฯ ลดลง รวมถึงการเปิดตัวโครงการใหม่ก็ลดลงด้วย การใช้วัสดุก่อสร้างจึงลดลงตาม แถมยังมีปัญหาเรื่องภัยแล้ง พืชผลการเกษตรตกต่ำ และปัญหากำลังซื้อ ส่งผลผู้บริโภคที่ใช้วัสดุก่อสร้างซ่อมแซมบ้านจึงลดน้อยลง   สำหรับบริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้อง ภายใต้แบรนด์ คอตโต้ (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และคัมพานา (CAMPANA) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำตลาด ที่มีส่วนแบ่งมากถึง 1 ใน 3 ก็ต้องเผชิญกับผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเยว่า  แต่แม้ว่าภาพรวมตลาดในปีนี้ ยังประเมินสถานการณ์ได้ยาก เพราะตลาดอาจจะไม่เติบโต เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจ และปัจจัยลบต่างๆ แต่สำหรับบริษัท ยังคงวางเป้าหมายสร้างการเติบโต ในอัตรา 10% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีรายได้รวม 11,074 ล้านาท ลดลงจากปี 2561 อัตรา 4%  โดยมั่นใจว่าแผนธุรกิจที่ได้วางไว้ในปีนี้จะช่วยให้สามารถสร้างรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 5 กลยุทธ์สร้างการเติบโตของกระเบื้องคอตโต้ 1.ขยายคลังเซรามิค แฟมิลี่ ในปีนี้ตั้งเป้าหมายการขยายสาขาเพิ่มไม่น้อยกว่า 15 สาขา  จากปัจจุบันเปิดแล้ว 3 สาขา ซึ่งถือเป็นโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่บริษัทได้เข้าไปร่วมกับผู้แทนการค้า เปิดพื้นที่ในร้านผู้แทนจำหน่าย เนื่องจากใช้จุดแข็งของทั้งในส่วนของผู้แทนจำหน่าย ซึ่งรู้จักกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี ขณะที่บริษัทมีสินค้าหลากหลาย และช่วยลดต้นทุนการลงทุนของบริษัทลง  โดยการเปิดคลังเซรามิค แฟมิลี่ ใช้งบลงทุนประมาณ 3-5 ล้านบาท ต่อสาขา ในขนาดพื้นที่ 1,500-2,000 ตารางเมตร แต่หากบริษัทขยายสาขาเองจะใช้งบลงทุน 6-10 ล้านบาท ปัจจุบันยังมีสาขาที่บริษัทบริหารเองอยู่ 25 เป้าหมายภายใน 3 ปี บริษัทจะขยายคลังเซรามิค แฟมิลี่ ให้ครบ 100 สาขาด้วย   ในปีที่ผ่านมา คลังเซรามิค ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกกระเบื้องเซรามิกสำหรับตลาดระดับกลางลงมา มียอดขายและการเติบโตเป็นที่น่าพอใจมาก โดยมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา   2.ออกสินค้ารับเทรนด์ “ผู้สูงวัย” การขยายตลาดในประเทศ บริษัทจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปีนี้จะเน้นการออกผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ เป็นกระเบื้องที่ไม่ลื่น และผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อการใช้งานมากขึ้น ขณะที่หากเป็นสินค้าดีไซน์ จะเน้นสินค้าซึ่งมีลวดลายเลียนแบบธรรมชาติ เนื่องจากเป็นเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน 3.ขยายการเติบโตในตลาด CLM จากภาวะตลาดในประเทศที่ยังมีปัจจัยลบ ขณะที่ตลาดต่างประเทศ เป็นตลาดมีศักยภาพและแนวโน้มการเติบโตสูง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLM ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 50% ของตลาดส่งออกในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้ 466 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ​ 18% ของรายได้รวม ปีนี้บริษัทจึงจะเน้นการทำตลาดในประเทศดังกล่าวมากขึ้น ไม่ใช่แค่การส่งสินค้าไปจำหน่ายเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นตลาดมีศักยภาพ กลุ่มลูกค้ารู้จักแบรนด์สินค้าของบริษัทและให้การยอมรับว่าเป็นสินค้าคุณภาพ ซึ่งปีนี้สัดส่วนการส่งออกอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% หากตลาดในประเทศกลับมาฟื้นตัวสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น 4.เตรียมที่ดิน 80 ไร่ขายสร้างรายได้ นอกจากธุรกิจจัดจำหน่ายกระเบื้องแล้ว บริษัทยังดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีที่ดินพร้อมจำหน่ายให้กับผู้สนใจ 80 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมหนองแค จ.สระบุรี จากจำนวนที่ดินกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งหากสามารถขายได้จะทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น  แต่ราคาที่ดินยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะขายได้เท่าไร อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขายที่ดิน 50 ไร่ คิดเป็นรายได้  203 ล้านบาท ให้กับผู้สนใจในธุรกิจสแน็ค เครื่องดื่ม และธุรกิจอาหาร เพื่อสร้างโรงงานผลิตสินค้า 5.ทุมงบ 400-500 ล้าน ลดต้นทุนเพิ่ม 1-2% นอกเหนือจาการ ขยายตลาดและดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างยอดขายและรายได้แล้ว การบริหารจัดการภายใน โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนต่างๆ ถือเป็นหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ ในการช่วยสร้างผลกำไร แม้ว่ายอดขายจะลดต่ำลง  ซึ่งในแต่ละปีบริษัทจะใช้งบลงทุนประมาณ 400-500 ล้านบาท เพื่อใช้ในด้านการบริหารลดต้นทุนภายในองค์กร การลดต้นทุนด้านพลังงาน และการบำรุงดูแลเครื่องจักร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตสูงสุดด้วย ซึ่งปีนี้บริษัทคาดว่าจะช่วยประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในองค์กรได้เพิ่มขึ้น 1-2% จากปีที่ผ่านมาสามารถประหยัดต้นทุนต่างๆ ได้ในอัตรา 3%   โดยถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมาบริษัทจะมีรายได้ลดลง แต่สามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปี 2562 บริษัทมีกำไร 168 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 158 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคา ก๊าซธรรมชาติ รวมถึงความสามารถในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ประกอบกับสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหาร การขายและการตลาดได้ตามเป้าหมาย และมีกำไรจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหนองแคเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน      
“สิงห์ เอสเตท” ลุยตลาดอสังหาฯ 63 เปิดคอนโดฯ รางน้ำ จับตลาดหมอ-นักลงทุน

“สิงห์ เอสเตท” ลุยตลาดอสังหาฯ 63 เปิดคอนโดฯ รางน้ำ จับตลาดหมอ-นักลงทุน

แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 หลายฝ่ายมีความกังวลใจว่าจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ เพราะมีหลายปัจจัยน่าเป็นห่วง และไม่ใช่แค่ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศเท่านั้น ปัญหาเศรษฐกิจในต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่เข้ามากระทบกับตลาดของบ้านเราด้วย   ถ้าดูปัญหาภายในประเทศที่เป็นตัวลดระดับความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์  คงหนีไม่พ้นการออกมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาใช้เมื่อปีที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายความเข้มงวดลงบ้าง แต่ดีเวลลอปเปอร์ส่วนใหญ่ ก็ยังเห็นว่าไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นสักเท่าไร ภาพรวมตลาดอสังหาฯ 2563 จึงอยู่ในแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง   กลุ่มตลาดที่หายไปอย่างมาก จากผลกระทบของมาตรการ LTV คือ กลุ่มนักลงทุนในตลาดคอนโดมิเนียม สิ่งที่สะท้อนผลกระทบจากมาตรการ LTV ได้อย่างชัดเจนในปีที่ผ่านมา คือ การเลื่อนหรือชะลอการเปิดตัว โครงการใหม่ จำนวนถึง 40 โครงการ ตามแผนเดิมที่ผู้ประกอบการจะเปิดตัวในปี 2562  ในปีนี้จึงประเมินกันว่า กลุ่มนักลงทุนในตลาดคอนโดฯ น่าจะลดสัดส่วนเหลือแค่ 10% จากที่เคยมีมากเกือบ 50%   สิงห์ เอสเตท ชี้ลดค่าธรรมเนียมช่วยลูกค้าประหยัด 5% นายณัฐวุฒิ มัธยมจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการพัฒนาธุรกิจพักอาศัย บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S เปิดเผยว่า แนวโน้มภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในปี 2563 ยังมองว่าไม่น่าจะดี เพราะสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดีขึ้น นอกจากปัญหาเศรษฐกิจ ยังมีปัญหาค่าเงินบาท ซึ่งส่งผลต่อตลาดลูกค้าต่างชาติ เพราะทำให้ลูกค้ามีต้นทุนซื้อสินค้าที่แพงขึ้น ขณะที่มาตรการ LTV ทำให้ตลาดนักลงทุนหายไป  แม้ว่าปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น แต่ส่งผลได้เพียงเล็กน้อย มาตรการที่มีส่วนช่วยลูกค้าได้เยอะ คือ ค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีธุรกิจเฉพาะ และค่าจดจำนอง เหมือนที่เคยใช้ในอดีตช่วยได้เยอะกว่า   โดยในอดีตที่ผ่านมา ภาครัฐเคยออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ออกมา คือ การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% การลดค่าจดทะเบียนจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดิน พร้อมอาคารหรือห้องชุด ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการลดภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3.3% เหลือ 0.1%  ซึ่งทั้ง 3 มาตรการดังกล่าว สามารถช่วยลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้ออสังหาฯ ได้ประมาณ 5%   สิงห์ เอสเตท เปิดโปรเจ็กต์รางน้ำ จับตลาดหมอ-นักลงทุน นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนแผนการเปิดโครงการใหม่ ในปีนี้กลุ่มธุรกิจพักอาศัยของบริษัท ได้วางแผนเปิด 2 โครงการใหม่ ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อม โดยดูจังหวะที่เหมาะสมในการเปิดโครงการ หากสภาพตลาดไม่เหมาะสมก็อาจจะเลื่อนกำหนดไปก่อน เนื่องจากในปีนี้มีโครงการของดีเวลลอปเปอร์ 40 โครงการซึ่งเลื่อนกำหนดเปิดในปี 2562 อาจจะมาเปิดในปี 2563 ทำให้มีซัพพลายเพิ่มขึ้นมากได้ ซึ่ง 2 โครงการดังกล่าวบริษัทอาจจะเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยวระดับราคากว่า 150 ล้านบาทด้วย ล่าสุดเปิดตัวโครงการ ดิ เอ็กซ์โทร พญาไท-รางน้ำ (The EXTRO Phayathai-Rangnam) มูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่เลื่อนกำหนดการเปิดตัวมาจากปี 2562 ถือเป็นแบรนด์ใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ ระดับลักซ์ชัวรี โดยโครงการดังกล่าวเป็นอาคารสูง 33 ชั้น ขนาด 411 ยูนิต ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ มีห้องพักอาศัย 3 แบบ ได้แก่ 1.ห้องนอน ขนาด 31.25-35 ตารางเมตร 2.ห้องนอน ขนาด 48.25-71.00 ตารางเมตร และ 3.แบบ Duplex ขนาด 82.5-111.75 ตารางเมตร เป็นต้น   โดยโครงการดิ เอ็กซ์โทรฯ  ราคาขายเริ่มต้น 200,000 บาทต่อตารางเมตร หรือมีราคาขายเฉลี่ย 235,000 บาทต่อตารางเมตร ราคาเริ่มต้นที่ 5.99 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะเปิดขายอย่างเป็นทางการในวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์นี้ โดยวางกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไทย 70% ส่วนที่เหลือจะเป็นสัดส่วนของต่างชาติ 30% และบริษัทคาดว่าจะมียอดขายของโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 50% ภายในปีนี้   “โครงการทั่วไปสัดส่วน 60% ของคนไทยที่ซื้อมักจะเป็นนักลงทุน แม้ว่าโครงการนี้จะจับกลุ่มคนไทยเป็นหลัก และเป็นผู้อยู่อาศัยจริง แต่อาจจะปล่อยเช่าเมื่อมีโอกาส เพราะได้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5% ส่วนต่างชาติที่เหลือเชื่อว่าเป็นนักลงทุนทั้งหมด”   อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้รับความสนใจจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเข้ามาเยี่ยมชมห้องตัวอย่างกว่า 300-400 ราย เบื้องต้นในรอบเปิดจองพิเศษ (Pre-Booking) จำนวน 3 ชั้น มียอดจอกแล้วกว่า 40 ยูนิต  มูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ซื้อไปแล้ว 10 ยูนิต  นอกจากนี้ ยังมีชาวต่างชาติสนใจจะซื้อเหมาชั้นอีกจำนวน 42 ยูนิต สิงห์ เอสเตท วางเป้าโตไม่ต่ำ 10% สำหรับผลประกอบการ บริษัทวางแผนเติบโตทุกปี  ในปีนี้คาดว่าน่าจะเติบโต 10% โดยจะมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 5,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่คาดว่าจะมียอดโอน 5,000 ล้านบาท  ปัจจุบันมียอดขายรอรับรู้รายได้ หรือ Backlog ประมาณ 7,500 ล้านบาท รับรู้ในปีนี้ประมาณ 5,500-6,000 ล้านบาท จากโครงการ ดิ เอส อโศก (The ESSE Asoke) โครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 36 (The Esse Sukhumvit 36) และโครงการ ดิ เอส แอท สิงห์ คอมเพล็กซ์ (The Esse at Singha Complex)    ส่วนในปี 2564 จะรับรู้รายได้จากโครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 36 ต่อเนื่อง และ โครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 43 (The Esse Sukhumvit 43) ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2564  ส่วนโครงการ ดิ เอ็กซ์โทร พญาไท-รางน้ำ จะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2565 เป็นต้นไป
สิงห์ เอสเตท ควัก 1,725 ล้าน ซื้อเมโทรโพลิส เสริมพอร์ตออฟฟิศให้เช่า

สิงห์ เอสเตท ควัก 1,725 ล้าน ซื้อเมโทรโพลิส เสริมพอร์ตออฟฟิศให้เช่า

สิงห์ เอสเตท มั่นใจธุรกิจอาคารสำนักงานใจกลางเมือง  ควักทุน 1,725 ล้าน ซื้ออาคารเมโทรโพลิส  เสริมแกร่งพอร์ทโฟลิโอพื้นที่สำนักงานให้เช่า จาก “ฟีนิกซ์ เพาเวอร์”   พร้อมต่อยอด นำอาคารเมโทรโพลิสและทรัพย์สินอื่นๆของบริษัท เข้าเพิ่มเติมในกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เอส ไพรม์ โกรท     การเข้าซื้ออาคารเมโทรโพลิส เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนที่มุ่งเพิ่มการกระจายธุรกิจไปยัง Recurring Income Business หรือธุรกิจที่สร้างรายได้สม่ำเสมอ เพื่อลดความผันผวนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เนื่องจากธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่ามีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ อีกทั้งอาคารเมโทรโพลิสยังตั้งอยู่ในทำเลที่ดีเยี่ยม ย่านพร้อมพงศ์ รวมทั้งมีแนวคิดการออกแบบและตกแต่งที่เรียบหรูลงตัว จึงสามารถเสริมการสร้างผลกำไรของบริษัทให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว     นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าซื้ออาคารเมโทรโพลิสและรับโอนสิทธิการเช่าที่ดินจาก บริษัท ฟีนิกซ์ เพาเวอร์ จำกัด ด้วยเงินลงทุน 1,725 ล้านบาท เนื่องจากมีความมั่นใจธุรกิจอาคารสำนักงานใจกลางเมือง จึงนำเอาทรัพย์ดังกล่าวมาเสริมแกร่งพอร์ทโฟลิโอพื้นที่สำนักงานให้เช่า พร้อมเตรียมแผนที่นำอาคารเมโทรโพลิสและทรัพย์สินอื่นๆของบริษัท เข้าเพิ่มเติมในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เอส ไพรม์ โกรท (SPRIME)   “อาคารเมโทรโพลิส จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ทโฟลิโอ ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่าของบริษัท ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่รวมกันถึง 120,000 ตาราเมตร ในทำเลสำคัญทั่วกรุงเทพฯ และมีแผนนำอาคารเมโทรโพลิส และทรัพย์สินอื่นๆ ของบริษัท เข้าเพิ่มเติมในกองทรัสต์ SPRIME ซึ่งมีผลตอบแทนที่สูงถึง 7% ณ ไตรมาส 3 ของปี 2562”     ทั้งนี้ อาคารเมโทรโพลิส เป็นอาคารสำนักงานให้เช่า สูง 21 ชั้น มีอัตราการเช่าเฉลี่ยประมาณ 98% ค่าเช่าตารางเมตรละประมาณ 800 บาทต่อเดือน เปิดดำเนินการเมื่อปลายปี 2558 มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดประมาณ 26,157 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนที่ดินที่เนื้อที่ 2-0-19 ไร่ ในพื้นที่ธุรกิจใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร ริมถนนสุขุมวิท ซึ่งถือเป็นทำเลที่ดีและมีความน่าสนใจ และเดินทางสะดวกโดยตั้งอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีพร้อมพงษ์ ซอยสุขุมวิท 39 รวมทั้งใกล้กับศูนย์การค้าชั้นนำ โรงแรม และสวนสาธารณะสำคัญ  
CI กางแผนธุรกิจปี 63 เปิดโครงการใหม่-ต่อยอดโครงการในเครือ เสริมทัพปั้มรายได้ สร้างความต่างรับดีมานด์ลูกค้า

CI กางแผนธุรกิจปี 63 เปิดโครงการใหม่-ต่อยอดโครงการในเครือ เสริมทัพปั้มรายได้ สร้างความต่างรับดีมานด์ลูกค้า

ชาญอิสสระ เผยภาพรวมผลการดำเนินงาน ปี 62 สามารถปิดงบได้อย่างสวยงาม แม้มีปัจจัยทางเศรษฐกิจ มาตการภาครัฐ ต่างๆ เข้ามากระทบ ชี้ปัจจัยหนุนจากการขายหน่วยลงทุนศรีพันวามูลค่ากว่า 264 ล้านบาท ช่วยดันรายได้การเติบโตในไตรมาส 4/62 เดินหน้าแผนพัฒนาธุรกิจปี 63 เปิดโครงการใหม่ทั้งในกรุงเทพ-ต่างจังหวัด พร้อมพัฒนาต่อยอดโครงการในเครือเสริมทัพ มั่นใจตลาดที่อยู่อาศัยยังมีดีมานด์ มองการแข่งขันต้องสร้างความต่าง พัฒนาสินค้าบนพื้นฐานความต้องการให้ตรงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น   นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาพรวมการดำเนินธุรกิจในปี 2562 ที่ผ่านมา เป็นปีที่เหนื่อยในส่วนของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในส่วนของการขาย และการตลาด โดยมีปัจจัยกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงมาตรการภาครัฐต่างๆ ที่ออกมา ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการชะลอการตัดสินใจซื้อ ขณะที่ในส่วนของกลุ่มลูกค้าระดับลักชัวรี่ยังถือว่าเป็นตลาดกลุ่มที่ยังมีดีมานด์ที่อยู่อาศัยที่มีความโดดเด่น ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต   ทั้งนี้ในส่วนของชาญอิสสระ แม้ว่าจะมีปัจจัยลบดังกล่าวเข้ามากระทบ แต่ก็เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวกระทบทั่วกันทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาต่างก็ต้องมีการปรับตัวทั้งในเรื่องของสินค้า การขาย การตลาด โปรโมชั่นต่างๆ ชาญอิสสระ ก็ต้องปรับกลยุทธ์ เพื่อรองรับปัจจัยลบต่างๆ ของปี 2562 อย่างไรก็ตามบริษัทสามารถมีผลประกอบการโดยสรุปปี 2562 ได้ดีจากการขายเงินลงทุนในกองทรัสต์ศรีพันวา มูลค่ากว่า 264 ล้านบาท เปิดแผนธุรกิจ ปี 63 สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2563 นี้ บริษัทเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด พร้อมพัฒนาต่อยอดโครงการในเครืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความพร้อมในการนำโรงแรมบาบา บีช คลับ หัวหิน เมนโฮเทล และโรงแรมบาบา บีช คลับ ภูเก็ต เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โรงแรม ศรีพันวา (กองทรัสต์ SRIPANWA) ในปลายปี 2563 หลังจากเมื่อปลายปี 2561 บริษัทได้นำโรงแรม บาบา บีชคลับ หัวหิน ห้องพักโรงแรม จำนวน 18 ห้องพัก เข้ากองทรัสต์ SRIPANWA ไปแล้ว มูลค่า 530  ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้กองทรัสต์นี้เติบโตจาก 4,000 ล้านบาท เป็น 6,000 ล้านบาท   ทั้งนี้ในส่วนของความคืบหน้าการพัฒนาส่วนต่อขยายโรงแรมของบริษัท ซึ่งมีทั้งในส่วนของส่วนต่อขยายโรงแรมที่ภูเก็ต และหัวหิน สำหรับส่วนต่อขยายของโรงแรมศรีพันวา ภูเก็ต คอนเวนชั่นฮอลล์ ขนาดจุ 400 คน พร้อมห้องพักแบบพูลสวีท จำนวน 24 ห้อง มูลค่าโครงการ 1,200 ล้านบาท สำหรับรองรับการจัดงานอีเว้นท์ งานประชุม งานสัมมนา งานแต่งงาน รวมถึงงานเปิดตัวสินค้าต่างๆ จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในต้นปี 2563 ออกแบบโดยบริษัทแฮบบิตา จำกัด ได้ผ่านการอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบ   ด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นเวลา 2 ปี และคาดว่าจะนำเข้ากองทรัสต์ SRIPANWA ต่อไป ขณะเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา ศรีพันวามีการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศ (X25) เพิ่มเติม เป็นแบบพูลวิลล่า 1 ห้องนอน จำนวน 4 หลัง พื้นที่ใช้สอย 150 ตารางเมตรต่อหลัง และพื้นที่ส่วนกลางกว่า 1,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นสระว่ายน้ำและพูลบาร์ มูลค่ารวม 200 ล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการเมื่อปลายธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ในส่วนของโรงแรมบาบาบีช คลับ ภูเก็ต ปัจจุบันในส่วนของโรงแรมบริเวณหน้าหาดจำนวน 16 ยูนิต ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการแล้วประมาณ 1 ปีกว่า คาดว่าจะนำเข้ากองทรัสต์ SRIPANWA ช่วงปลายปี 2563 มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท นอกจากนี้การก่อสร้างอาคารพูลวิลล่าแบบ 2 ห้องนอน จำนวน 18 ยูนิต ได้ดำเนินการแล้วเสร็จช่วงต้นปี 2562 มียอดขายแล้วบางส่วน และได้บริหารเป็นห้องพักของโรงแรมแบบพูลวิลล่าเพื่อรองรับการขายพูลวิลล่าพร้อมผลตอบแทนต่อไป ขณะเดียวกันได้ก่อสร้าง Beach Front Villa เพื่อขายจำนวน 4 หลัง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ โดยมียอดขายแล้วบางส่วน   “ภาพรวมธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ต แม้ที่ผ่านมาจะมีสัญญาณการปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา เนื่องมาจากหลายๆ ปัจจัย อาทิอุบัติเหตุจากเหตุการณ์เรือล่ม, มาตรการการยกเว้นวีซ่า ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวหายไปส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเปลี่ยนใจเดินทางไปประเทศอื่นแทน ในส่วนของศรีพันวาเอง แม้จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น แต่ก็เป็นผลกระทบทั่วทุกโรงแรมทั้งภูเก็ต ทั้งนี้ที่ผ่านมาศรีพันวามีการรับมือและปรับแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่งผลให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวไทยเดินทางมาพักศรีพันวาเพิ่มขึ้น แทนที่จากนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ยังมีการเน้นการตลาดกระจายไปยังกลุ่ม USA, UK, Japan และ HK อย่างไรก็ตามในปี 2563 เชื่อว่าตลาดนักท่องเที่ยวจีนน่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหลังจากภาครัฐอนุมัติมาตรการ “ยกเว้นวีซ่า” แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดียที่เดินทางมาไทย กำหนดให้พำนักในไทยได้ 15 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ ‪1 พ.ย. 2562 -31 ต.ค.  2563 หรือเป็นระยะเวลา 1 ปี รวมถึงมาตรการ “ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าแบบ VoA” อัตรา 2,000 บาทต่อคน ออกไปอีก 1 ปี หรือจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2563 แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 19 ประเทศ ไม่รวมจีนกับอินเดีย เพราะถือว่ายกเว้นวีซ่าให้แล้ว จะช่วยดันจีนเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 11ล้านคน โดยเชื่อว่าทั้ง 2 มาตรการด้านวีซ่า จะช่วยรักษาตลาดนักท่องเที่ยวจีนมาไทย รวมถึงขยายตลาดใหม่อย่างอินเดียให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด” นายสงกรานต์ กล่าว นายสงกรานต์ กล่าวต่อถึงภาพรวมความคืบหน้าส่วนต่อขยายโรงแรมบาบาบีช คลับ หัวหิน ว่าในส่วนของเมนโฮเทล ซึ่งเป็นอาคารสูง 12 ชั้น จำนวน 50 ห้อง ประกอบด้วยห้องจัดเลี้ยง ห้องประชุม ห้องสัมมนา ห้อง Meeting Room ห้องสปา ที่ครบครัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยมีมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการได้ปลายปี 2563 นี้ และจะเตรียมนำเข้ากองทรัสต์ SRIPANWA  ประมาณปลายปี 2563 มูลค่ากอง 1,500 ล้านบาท อีกด้วยเช่นกัน   “ในปลายปีนี้ตั้งใจนำ โรงแรมบาบาบีช คลับ หัวหิน ในส่วนของเมนโฮเทล และโรงแรมบาบา บีช คลับ ภูเก็ต ซึ่งมีมูลค่ากอง 1,500 ล้านบาท และ 500 ล้านบาท ตามลำดับเข้ากองทรัสต์ SRIPANWA ประมาณปลายปี 2563 รวม 2 กอง มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากเข้ากองแล้ว จะส่งผลให้กองทุนดังกล่าวมีมูลค่ารวมกว่า 6,000 ล้านบาท” นายสงกรานต์ กล่าว สำหรับการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมาบริษัทได้เปิด วี ไอ พี เดย์ เพื่อเผยโฉมลักชัวรี่คอนโด “ดิ อิสสระ สาทร” (The Issara Sathorn) มูลค่าโครงการกว่า 2,400 ล้านบาท ใจกลางเมืองย่านสาทร ภายใต้แนวคิด “ใช้ชีวิตอิสสระ...ให้สุดในทุกด้าน” ด้วยจุดเด่นการอยู่อาศัยที่ให้ความรู้สึกของคำว่าบ้าน ที่ผสมผสานความเป็นเมือง และความเป็นธรรมชาติอย่างกลมกลืน กับวิวโค้งน้ำเจ้าพระยาและบางกะเจ้า ราคาเริ่มต้น 4.88 ล้านบาท โดยได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โครงการจะมีการเปิดพรีเซล พร้อมเปิดให้ลูกค้าได้ชมห้องตัวอย่างในเดือนกุมภาพันธ์นี้   สำหรับปี 2562 ที่ผ่านมานอกจากซื้อที่ดินที่ถนนจันทน์แล้ว บริษัทยังทำการซื้อที่ดินติดชายหาดบริเวณเขาตะเกียบ หัวหิน เพื่อพัฒนาโครงการเป็นคอนโดมิเนี่ยม ตากอากาศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดขายในช่วงกลางปี 2563 นี้ เผยแผนธุรกิจ ทิวทะเลเอสเตท ชะอำ-หัวหิน ด้านนายดิฐวัฒน์ อิสสระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ร่วมอิสสระ จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมการดำเนินธุรกิจภายใต้อาณาจักรทิวทะเลเอสเตท ชะอำ-หัวหิน ว่ายังมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของโครงการบ้านทิวทะเล อความารีน (Aqua Marine) และบาบา บีช คลับ เรสซิเดนซ์ เฟส 1 พูลวิลล่า จำนวน 11 ยูนิต ซึ่งปัจจุบันสามารถปิดการขายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว, โครงการบ้านทิวทะเล บลูแซฟไฟร์ (Blue Sapphire) ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 90% และโครงการบลู คอนโด ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 70% ขณะที่ในส่วนของ โครงการ “บาบาบีช คลับ เรสซิเดนซ์” เฟส 2 พูลวิลล่าสุดหรู จำนวน 7 ยูนิต ราคาเริ่มต้นที่ 33.9 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่รวมกว่า 1 ไร่ ออกแบบในสไตล์นีโอโคโลเนียล โดย บริษัท แฮบบิตา จำกัด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาไปแล้วกว่า 50% โดยจะเปิดให้เข้าชมบ้านตัวอย่างได้ในเดือน เมษายน 2563 และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในช่วงกลางปี 2563 สำหรับภาพรวมของหัวหินยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ อีกทั้งยังมีแรงสนับสนุนแผนการตลาดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้มั่นใจว่าแผนการตลาดของ ททท. จะช่วยผลักดันภาพรวมการท่องเที่ยวของชะอำ-หัวหิน รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะวิลล่าในพื้นที่ท่องเที่ยวดังกล่าวนี้ให้มีความแข็งแรงและเพิ่มรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากการกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้แผนการตลาดนี้จัดขึ้นมาเพื่อช่วยในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลท่องเที่ยวสื่อสารการตลาดสร้างกระแสการเดินทางภายในประเทศ รวมถึงการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวข้ามภูมิภาคให้เข้ามายังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มากขึ้น และเพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย   “จากประสบการณ์การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด รวมไปถึงการวิเคราะห์ภาพรวมการแข่งขันของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม โรงแรม ที่ผ่านมา เราจึงมั่นใจว่าโครงการบาบาบีช คลับ เรสซิเดนซ์ เฟส 2 นี้ จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าที่ต้องการมองหาที่พักอาศัยที่มีความสงบ เป็นส่วนตัว รายล้อมด้วยธรรมชาติในการมาพักผ่อน รวมไปถึงผู้ที่ต้องการมองหาโอกาสจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว โดยมีทีมงานบริหารจากโรงแรมศรีพันวา เข้ามาช่วยบริหารจัดการด้านการลงทุนปล่อยเช่าให้กับลูกค้าอีกด้วย” นายดิฐวัฒน์ กล่าว นอกจากนี้ในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมกับ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัดเปิดสถานีบริการน้ำมัน เชลล์ หัวหินวัน (Shell Hua Hin One)  ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาจักรทิวทะเล เอสเตท กม.196 ถนนเพชรเกษม (บ่อเขม) เพื่อให้เป็นจุดพักรถและแหล่งแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของชะอำ-หัวหิน สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางผ่านไปมาได้แวะใช้บริการ นอกเหนือจากนั้นยังมีบริการล้างรถหรือ EV Charger รองรับรถยนต์รุ่นใหม่พลังงานไฟฟ้า   “สถานีบริการน้ำมันแห่งนี้มีการออกแบบภายใต้รูปแบบที่แปลกใหม่ พร้อมรองรับลูกค้าได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้เพื่อสร้างจุดสนใจ และสร้างแลนด์มาร์คให้กับผู้ที่สัญจรผ่านไปมาที่เข้ามาแวะใช้บริการ บริษัทได้นำศิลปินผู้มีชื่อเสียงอย่าง P7 ซึ่งเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงด้านงาน Art Painting มารังสรรค์ผลงาน Wall Art ภายในโครงการหัวหินวัน ด้วยลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีให้เป็นอีกหนึ่งจุดความน่าสนใจในการถ่ายภาพ และ Check In” นายดิฐวัฒน์ กล่าว อย่างไรก็ตามในปีนี้อาณาจักรทิวทะเลเอสเตทเตรียมที่จะสร้างปรากฎการณ์ครั้งใหญ่ เพื่อสร้างการรับรู้ และโชว์วิสัยทัศน์ความเป็นอาณาจักรมิกซ์ยูสเต็มรูปแบบอย่างแท้จริงให้กับลูกค้า และทุกๆ ท่านที่ผ่านมาได้เข้ามาพักผ่อน และใช้บริการต่างๆ ของโครงการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้จะเป็นอย่างไร ทางโครงการอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการสร้างปรากฎการณ์ในครั้งนี้ คาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในไตรมาส 2 ของปีนี้อย่างแน่นอน   รายละเอียดโครงการต่างๆ เพิ่มเติม ทิวทะเลเอสเตท ดิ อิสสระ สาทร โรงแรมศรีพันวา ภูเก็ต โรงแรมบาบาบีช คลับ ภูเก็ต รีวิวโครงการจากชาญอิสระ คอนโดย่านสาทร วิวคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยา THE ISSARA SATHORN พักผ่อนแบบคลูๆ ที่ “Blu ชะอำ-หัวหิน” Baan Thew Talay Cha Am-Hua Hin Blue Sapphire  
REIC เผยราคาบ้าน-คอนโดฯ ปรับเพิ่มทุกพื้นที่

REIC เผยราคาบ้าน-คอนโดฯ ปรับเพิ่มทุกพื้นที่

ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 ที่ผ่านมา อยู่ในภาวะชะลอตัว จากหลายปัจจัยลบที่มากระทบ โดยเฉพาะมาตรการ LTV  ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผน ลดปริมาณการเปิดตัวโครงการใหม่  โดยเฉพาะในส่วนของโครงการคอนโดมิเนียม บ้างก็หันไปพัฒนาโครงการแนวราบ หรือไม่ก็เป็นอสังหาฯ ที่สร้างรายได้ประจำ   นอกจากปริมาณการเปิดตัวโครงการใหม่ซึ่งลดลงแล้ว  ด้านราคาที่อยู่อาศัยก็อยู่ในสภาพไม่แตกต่าง บางโครงการผู้ประกอบการต้องปรับลดราคา หรือไม่ก็ต้องจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม สารพัด เพื่อกระตุ้นยอดขายในภาวะที่กำลังซื้อชะลอตัว  ส่วนราคาของอสังหาฯ ช่วงที่ผ่านมา อยู่ในระดับเท่าไร ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์  หรือ REIC ได้จัดทำรายงานดัชนีราคาที่อยู่อาศัย ประจำไตรมาส 4/2562 ฉบับล่าสุดออกมา เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมของตลาดอสังหาฯ   สำหรับดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 2562 พบว่า มีค่าดัชนีเท่ากับ 153.8 จุด เพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงติดต่อกัน 3 ไตรมาสตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 ขณะที่ ดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 2562  มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 127.6 จุด เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)   คอนโดฯ ปรับราคา 4.3%   ดัชนีราคาห้องชุดใหม่หรือราคาคอนโดฯ ที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 2562 มีค่าดัชนีเท่ากับ 153.8 จุด เพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงติดต่อกัน 3 ไตรมาสตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 โดยการชะลอตัวของราคาคาดว่าเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีการปรับราคาขึ้นและยังคงใช้มาตรการส่งเสริมการขายในแนวทางเดิม ที่มุ่งเน้นการให้ของแถม ส่วนลดเงินสดและการออกค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ดัชนีราคาใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าด้วยเช่นกัน (ดูตารางที่ 1 และแผนภูมิที่ 1 – 2)   -คอนโดฯ พื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 155.4 จุด เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) -ขคอนโดฯ พื้นที่ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 145.9 จุด เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของ ปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)   ดีเวลลอปเปอร์ใช้ของแถมกระตุ้นยอดขาย รายการส่งเสริมการขายในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่ 58.2% จะเร่งรัดการตัดสินใจของผู้ซื้อด้วย ของแถม เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ รองลงมา 23.9% เป็นส่วนลดเงินสด และ 17.9% จะช่วยผู้ซื้อจ่ายค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่มีต้นทุนในการโอนลดลงจากมาตรการของรัฐ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับรายการส่งเสริมการขายในไตรมาสก่อน   บ้านจัดสรร ราคาขยับ 2.7% ส่วนดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ ทั้งประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 2562  มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 127.6 จุด เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เมื่อจำแนกตามพื้นที่แล้ว พบว่า -บ้านจัดสรรในพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 126.6 จุด เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) -บ้านจัดสรรในพื้นที่ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 128.3 จุด เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน(YoY) และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) (ดูตารางที่ 1 และ แผนภูมิที่ 1 - 2)   ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ในไตรมาสนี้ผู้ประกอบการที่ส่งเสริมการขายโดยการช่วยผู้ซื้อจ่ายค่าใช้จ่ายในวัน โอนฯ และให้ส่วนลดเงินสดมีสัดส่วนมากกว่าในไตรมาส 3 ปี 2562 ราคาบ้านเดี่ยวบวกเพิ่ม 2.9% ดัชนีราคาบ้านเดี่ยว ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 2562 มีค่าดัชนีเท่ากับ 125.8 จุด เพิ่มขึ้น  2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น  0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) -บ้านเดี่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 125.2 จุด เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น  0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) -บ้านเดี่ยวในพื้นที่ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 126.0 จุด เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น  0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) (ดูตารางที่ 2 และแผนภูมิที่ 1 - 2)   ราคาทาวน์เฮ้าส์ปรับขึ้น 2.5%   ดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 129.5 จุด เพิ่มขึ้น  2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) -ทาวน์เฮ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 127.8 จุด เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) -ทาวน์เฮ้าส์ในพื้นที่ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 131.2 จุด เพิ่มขึ้น  2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน(YoY) และเพิ่มขึ้น  0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) (ดูตารางที่ 3 และ แผนภูมิที่ 1 - 2)    ดีเวลลอปเปอร์อัดโปรฯ เน้นลดค่าใช้จ่ายวันโอน รายการส่งเสริมการขายโครงการบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่  41.0% จะช่วยผู้ซื้อจ่ายค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ และ/หรือ ฟรีค่าส่วนกลาง รองลงมา  39.1% เสนอของแถม เช่น เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ปั๊มน้ำ แท้งก์น้ำ ฯลฯ และ 19.9% จะให้เป็นส่วนลดเงินสด ในขณะที่ไตรมาส 3 ปี 2562 รายการส่งเสริมการขาย ส่วนใหญ่ 45.4% จะจูงใจผู้ซื้อโดยการเสนอด้วยของแถม เช่น เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ปั๊มน้ำ แท้งก์น้ำ ฯลฯ รองลงมา 37.1% จะช่วยผู้ซื้อจ่ายค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ และ/หรือ ฟรีค่าส่วนกลาง และ  17.5% จะให้เป็นส่วนลดเงินสด      
“อนันต์” แนะ 3 ทางรอดทำธุรกิจอสังหาฯ ท่ามกลางปัจจัยลบ

“อนันต์” แนะ 3 ทางรอดทำธุรกิจอสังหาฯ ท่ามกลางปัจจัยลบ

“อนันต์ อัศวโภคิน” อดีตผู้บริหารจากค่ายแลนด์แอนด์เฮ้าส์  แนะ 3 วิธีทำธุรกิจอสังหาฯ ในปีที่มีแต่ปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน เน้นการบริหารจัดการภายในองค์กร พร้อมลดค่าใช่จ่าย เจรจาแบงก์หากมีปัญหา คาดอีก 2 ปีตลาดฟื้นตัว   นายอนันต์ อัศวโภคิน อดีตประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH และในฐานะผู้ก่อตั้งหลักสูตร The NEXT Real  (เดอะเน็กซ์ เรียล) เปิดเผยว่า สถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ ถือว่าอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดที่จับกลุ่มเป้าหมายระดับบน ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียม ส่วนตลาดระดับกลางและล่างยังพอเติบโตไปได้ เนื่องจากความต้องการบ้านยังมีอยู่ตลอดเวลา แต่ผู้บริโภคอาจจะมีปัญหาด้านกำลังซื้ออยู่บ้าง และตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบยังพอเติบโตได้ แต่ตลาดคอนโดฯ ถือว่าอยู่ในภาวะชะลอตัว   “หนี้ครัวเรือนของเรายังสูงมาก แต่ตลาดที่อยู่อาศัยยังเป็นตลาดที่มีความต้องการอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเข้าตลาดที่ถูกเรายังขายได้” อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจอสังหาฯ จะอยู่ในภาวะตลาดชะลอตัว แต่ถือว่ายังมีตัวช่วยที่เข้ามาในการดำเนินธุรกิจ ที่ถือว่าเป็นปัจจัยบวกด้วยกันถึง 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.อัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งส่งผลดีสำหรับผู้ที่มีกำลังซื้อ และมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากสถาบันการเงินให้ดอกเบี้ยต่ำมาก อัตรา 3% ใน 3 ปีแรก 2.รัฐบาลออกมาตรการมาช่วยกระตุ้นธุรกิจ 3.ราคาที่ดินเริ่มปรับลดในบางทำเล และในภาพรวมราคาไม่ปรับเพิ่ม ซึ่งจะต่อเนื่องไปถึงปี 2564 ส่งผลดีต่อต้นทุนการพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการ 4.ราคาค่าก่อสร้างไม่ปรับเพิ่ม    นายอนันต์  ยังได้แนะแนวทางในการดำเนินธุรกิจอสังหาฯ ของผู้ประกอบการ ในภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว ด้วย 3 วิธี คือ 1.ลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กร เพื่อรักษาอัตรากำไร และเน้นการบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพ 2.ปรับราคาขายสินค้าให้เหมาะสมกับตลาด และ 3.การเจรจากับสถาบันการเงิน หากมีปัญหาด้านการเงิน เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินมีสภาพคล่องสูง   “ปีนี้ให้เน้นปรับปรุงประสิทธิภาพภายในไปก่อน ช่วงตลาดไม่ดี เราอย่าพยายามฝืนตลาด และดูแลค่าใช้จ่ายภายในบริษัท ซึ่งไม่ควรมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกิน 15%” อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย และมีความสามารถในการซื้อ เพราะดีเวลลอปเปอร์มีการจัดแคมเปญ การลดราคามากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของวงจรธุรกิจ คิดว่าในระยะ 2 ปีนับจากนี้อาจจะมีโครงการใหม่เปิดตัวออกมาไม่มากนัก ต้องรอหลังจาก 2 ปีนี้ไปแล้ว คาดว่าตลาดน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เป็นปกติ     สำหรับหลักสูตร The NEXT Real ถือเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการแบ่งปันประสบการณ์จริง จากการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว เป็นเหมือนทางลัดทำให้เกิดการเรียนรู้ที่รวดเร็วกว่าวิธีเรียนแบบปกติ ที่สำคัญยังทำให้เกิด Real Estate Ecosystem ที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ช่วยให้ผู้เรียนสามารถวางแผนในการพัฒนาธุรกิจได้อย่างแม่นยำมีประสิทธิภาพ และสามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต โลกยุคใหม่หมุนเร็วขึ้น   โดยที่ผ่านมาได้เปิดอบรมให้กับผู้ประกอบการและผู้สนใจในธุรกิจอสังหาฯ ไปแล้ว 8 รุ่น ในปีนี้เป็นการเปิดเปิดรับสมัครพร้อมกัน 2 รุ่นคือ รุ่นที่ 9 เรียนทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม – มิถุนายน 2563 และรุ่นที่ 10 ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์มาแล้วทั้งเรื่องที่ควรทำและไม่ควรทำจะช่วยให้เรียนรู้ได้เร็ว ก้าวพ้นความผิดพลาด  และปรับตัวได้ทัน  
“ลลิล” ลุยตลาดอสังหาฯ 63 วางเป้าโต 13%

“ลลิล” ลุยตลาดอสังหาฯ 63 วางเป้าโต 13%

“ลลิล” กางแผนธุรกิจปี 63 เดินหน้าเปิดโครงการใหม่ 9-11 โครงการ พร้อมใช้กลยุทธ์ Digital Marketing เจาะตลาดลูกค้า 2-6 ล้าน สร้างการเติบโต 13% จากปีที่ผ่านมา สวนสภาพตลาดอสังหาฯ ชะลอตัว คาดแนวราบโตได้แค่ 2-4%   นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ 13% จากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะทำยอดขายได้ 6,200 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ 5,250 ล้านบาท ส่วนปี 2562 บริษัทน่าจะทำยอดขายได้ประมาณ ​5,000 ล้านบาท และยอดรับรู้ประมาณ ​4,640 ล้านบาท เปิดโปรเจ็กต์ใหม่ 5,500 ล้าน   สำหรับแผนธุรกิจในปี 2563 บริษัทวางแผนเปิดโครงการใหม่ 9-11 โครงการ มูลค่ารวม 5,000-5,500 ล้านบาท โดยใช้งบซื้อที่ดิน 1,100-1,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาใช้งบซื้อที่ดิน 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีที่ดินพร้อมสำหรับการพัฒนาตามแผนแล้ว 50-60% ซึ่งบริษัทจะพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯ​ และปริมณฑลเป็นหลัก ในสัดส่วน 80-90% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา   “การขยายโครงการต่างจังหวัด บริษัทรอดูแผนการลงทุนของรัฐบาล ว่าจะไปทิศทางไหน แต่แผนการพัฒนาคงไปใน 10 จังหวัดยุทธศาสตร์ที่บริษัทศึกษาไว้”   โดยฐานลูกค้าหลักของบริษัทจะเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว เพิ่งเริ่มต้นทำงานได้ประมาณ​ 3-8 ปี มีรายได้ต่อคนประมาณ 30,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเลือกซื้อบ้านเป็นหลักแรก สัดส่วนลูกค้าหลักประมาณ ​60-70% จะซื้อบ้านในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ชูกลยุทธ์ Digital Marketing เจาะใจลูกค้า นายชูรัชฎ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า แผนการตลาดในปีนี้ ยังคงใช้กลยุทธ์ Digital Marketing ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าซึ่งใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งวางแผนใช้งบประมาณด้านการตลาดไว้ 3-4% ของยอดขาย ผ่านแนวทางการทำตลาด 3 รูปแบบ ได้แก่   1.ใช้ Big Data มาวิเคราะห์ฐานข้อมูลผู้บริโภค หา Consumer Insight ใช้ทำตลาดและพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการ ปัจจุบันใช้ฐานข้อมูลทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าบริษัทกว่า 20,000 ครอบครัว แต่หากรวมฐานข้อมูลลูกค้าที่เข้าเยี่ยมชมโครงการมีจำนวนรวมกว่า 100,000 ราย   2.การใช้เครื่องมือออนไลน์ต่างๆ ทั้ง Facebook IG Line Youtube เข้าถึงกลุ่มลูกค้า   3.การทำกิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM โดยการจัดกิจกรรมให้ลูกบ้านอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมการดูภาพยนตร์ การอบรมการจัดสวน เป็นต้น   คาดอสังหาฯ แนวราบโต 2-4% สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 คาดว่าจะลดระดับความร้อนแรงลง โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม ซึ่งข้อมูลจาก CBRE ระบุว่าในปีนี้ผู้ประกอบการจะเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง 20% จากปีที่ผ่านมา ส่วนแนวโน้มตลาดอสังหาฯ แนวราบ คาดว่าจะเติบโตในอัตรา 2-4% ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลที่ออกมากระตุ้นตลาด “อสังหาฯ ไม่ได้โตด้วยตนเอง แต่โตด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแบงก์ชาติคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโต 2.8%”   โดยคาดว่าในปีนี้ภาคาการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ  จะเป็น 2 ตัวจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต และจะส่งผลดีต่อการลงทุนของภาคเอกชน
EIC วิเคราะห์ ใครคือผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

EIC วิเคราะห์ ใครคือผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

แม้ว่าจะมีการเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไปในเดือนสิงหาคม 2563 แต่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ออกมายืนยันว่า กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป     สาเหตุที่ต้องเลื่อนออกไป แทนที่จะต้องจัดเก็บภาษีท้องที่ ภาษีโรงเรือน และที่ดิน ในเดือนเมษายนของทุกปี เป็นเพราะทางองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น(อปท.) ยังดำเนินการเพื่อจัดเก็บภาษีไม่ทัน  เป็นผลให้กระทรวงมหาดไทยต้องออกประกาศเลื่อนเก็บภาษีออกไป 4 เดือน   ไม่ว่าจะจัดเก็บเมื่อไร อย่างไรก็ตามเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย ก็ต้องเสียภาษีตามกฎหมายใหม่อยู่ดี  ประเด็นสำคัญ คือ กฎหมายภาษีและสิ่งปลูกสร้าง ที่ออกมาส่งผลต่อใครมากสุด ใครจะต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินมากขึ้น และอสังหาฯ แต่ละประเภทจะต้องเสียภาษีมากน้อยแค่ไหน นี่แหละประเด็นสำคัญสุด ที่หลายคนต่างกังวลและถกเถียงกันมาโดยตลอด   ล่าสุด ทางอีไอซี หรือ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยนางสาวนพมาศ ฮวบเจริญ นักวิเคราะห์อาวุโส ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบ ต่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า ใครคือผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินที่ออกมาบังคับใช้ ฉายภาพให้เห็นกันชัดๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และเตรียมตัวควักกระเป๋าเงิน จ่ายภาษีตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับบรรดาเจ้าของอสังหาฯ ทั้งหลาย   ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ภาครัฐเตรียมจัดเก็บตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป มุ่งเน้นจัดเก็บภาษีตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยอัตราภาษีแตกต่างกันไปตามประเภทการใช้ประโยชน์ โดยตั้งแต่ปี 2563 ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยทางการจะจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ตามมูลค่าที่ดินฯ ด้วยอัตราภาษีที่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์การใช้ที่ดิน (รายละเอียดตามรูปที่ 1)   ทั้งนี้ ภาษีที่ดินฯ จะถูกนำมาใช้ทดแทนภาษีโรงเรือนและที่ดินที่มีมาตั้งแต่ปี 2475 ซึ่งจัดเก็บภาษีในอัตรา 12.5% ของรายได้ค่าเช่าที่ได้จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีบำรุงท้องที่ที่มีมาตั้งแต่ปี  2508 ซึ่งจัดเก็บภาษีตามจำนวนไร่และราคาปานกลางของที่ดิน โดยราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้ในปัจจุบันเป็นราคาปานกลางฯ ที่ใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ตั้งแต่ปี 2521-2524[1]   ทั้งนี้ ภาครัฐมีการบรรเทาภาระภาษีในส่วนที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2563-2565 โดยผู้เสียภาษีจะชำระภาษีในปี 2563 เท่ากับภาระภาษีเดิม บวกด้วย 25% ของภาระภาษีส่วนเพิ่ม ในปี 2564 จะชำระภาษีเท่ากับภาระภาษีเดิม บวกด้วย 50% ของภาระภาษีส่วนเพิ่ม ในปี 2565 จะชำระภาษีเท่ากับภาระภาษีเดิม บวกด้วย 75% ของภาระภาษีส่วนเพิ่มเสีย และในปี 2566 ผู้เสียภาษีจะเสียภาระภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ เต็มจำนวน   รูปที่ 1 : อัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยสรุป   ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของราชกิจจานุเบกษา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และศูนย์ข้อมูลกรุงเทพฯ   อย่างไรก็ตาม ทางการได้ลดหย่อนภาษีที่ดินฯ สำหรับที่ดินบางประเภทเพื่อความเหมาะสมกับเศรษฐกิจและการดำเนินกิจการของภาคธุรกิจ ซึ่งช่วยให้ผู้เสียภาษีสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น ภายหลังจากที่ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ทางการได้ทยอยประกาศกฎหมายลำดับรองออกมาหลายฉบับ โดยเฉพาะฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) ลดภาษีที่ดินฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดหย่อนภาษีที่ดินฯ สำหรับที่ดินฯ บางประเภทให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่ โดยการลดหย่อนครั้งนี้ ผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัยจะได้รับการลดค่าภาษี 90% โดยจ่ายค่าภาษีเพียง 10% ของมูลค่าภาษีเต็มจำนวน ซึ่งมีเงื่อนไขดังนี้   1.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นำมาพัฒนาเป็นอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมตามกฎหมายอาคารชุดไม่เกิน 3 ปีจากวันที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง 2.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นำมาพัฒนาเป็นโครงการจัดสรรตามกฎหมายจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 3 ปีจากวันที่ได้รับอนุญาตจัดสรร 3.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจัดสรรและอาคารชุด ก่อนวันที่ 13 มีนาคม  2562 และยังไม่ได้ขาย (สต็อก) จะได้รับการลดค่าภาษีเป็นเวลา 2 ปี คือปี 2563-2564 นอกจากนี้ ที่ดินฯ ที่เป็นอสังหาฯ รอการขาย (NPA) ของสถาบันการเงินก็ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีที่ดินฯ ด้วยเช่นกัน โดยลดค่าภาษี 90% ไม่เกิน 5 ปีจากวันที่ได้กรรมสิทธิ์ นักเก็งกำไร-สถาบัน โดนหนักสุด ผู้เก็งกำไรที่ดินและสถาบันการเงินมีโอกาสได้รับผลกระทบทางตรงจากภาระภาษีที่ดินฯ มากที่สุด ขณะที่เจ้าของบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงและลงทุน รวมถึงเจ้าของอาคารที่อยู่อาศัย/พาณิชย์ให้เช่าได้รับผลกระทบทางตรงจากภาระภาษีที่ดินค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ผลกระทบทางตรงจากภาระภาษีที่ดินฯ จะมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ของที่ดินฯ และระยะเวลาของการถือครองที่ดินฯ รวมถึงภาระภาษีเกี่ยวกับที่ดินตามกฎหมายเดิม   หากพิจารณาเฉพาะผลกระทบที่มีต่อผู้ที่ถือครองที่อยู่อาศัย รวมถึงผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย เจ้าของอาคารพาณิชย์ให้เช่า และสถาบันการเงินจะสามารถจำแนกผลกระทบเบื้องต้นออกเป็น 3 กลุ่ม (ผลกระทบอาจมีการเปลี่ยนแปลงหากกฎหมายลูกเกี่ยวกับกระบวนการจัดเก็บและการจำแนกประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับการอนุมัติของกระทรวงที่เกี่ยวข้องและประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ) ได้แก่   รูปที่ 2 : ระดับของผลกระทบจากภาระภาษีที่ดินฯ ต่อผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ผู้พัฒนาโครงการ เจ้าของอาคารพาณิชย์ให้เช่า และสถาบันการเงิน หมายเหตุ : ผลกระทบอาจมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่กฎหมายลูกทั้งหมดถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, CBRE, กรมที่ดิน และศูนย์ข้อมูลกรุงเทพฯ 1.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงจากภาษีที่ดิน ผู้ที่ซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร/สะสมความมั่งคั่ง สำหรับภาษีที่ดินฯ ในกรณีที่ดินว่างเปล่า แม้ว่าจะมีอัตราภาษีเช่นเดียวกันกับที่ดินเชิงพาณิชย์อยู่ในช่วง 0.3-0.7% แต่อัตราภาษีจะมีการเพิ่มขึ้น 0.3% ในทุก 3 ปี และอัตราภาษีรวมสูงสุดไม่เกิน 3% ซึ่งจะเป็นต้นทุนภาษีที่สูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินในแต่ละที่ว่าเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด   ทั้งนี้ หากเทียบกับราคาที่ดินในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามฐานข้อมูลของ ธปท. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 1.9% ขณะที่ต้นทุนภาษีที่ดินฯ คิดเป็น 16% ของผลได้ที่ได้จากส่วนต่างราคา หากเสียภาษีที่ดินในอัตรา 0.3% ของมูลค่าที่ดิน ซึ่งถือว่ามีผลกระทบค่อนข้างมาก   ดังนั้น กลุ่มผู้ลงทุนควรต้องพิจารณาคัดเลือกที่ดินที่มีศักยภาพในการเติบโตของราคาในอนาคตให้สูงกว่าต้นทุนภาษีที่ดิน (โดยปกติที่ดินที่มีศักยภาพมีการเติบโตของราคาในอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่จัดเก็บโดย ธปท. เช่น ที่ดินแถบถนนพหลโยธินและรามอินทราที่ราคาประเมินขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6-8% เป็นต้น) นอกจากนี้ ระหว่างที่ถือครองไม่ควรปล่อยให้เป็นที่ดินรกร้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายภาษีระหว่างที่ถือครองที่ดิน   สถาบันการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่มีทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ประเภทอสังหาฯ อยู่จำนวนมาก ทั้งนี้ผลกระทบของภาระภาษีที่ดินฯ จะแตกต่างกันไปตามพอร์ต NPA ของแต่ละสถาบันการเงิน โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก คือ สถาบันการเงินที่มี NPA ที่เป็นอสังหาฯ และถือครองมากกว่า 5 ปี ในสัดส่วนสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ เช่น โรงงาน ที่ดินเปล่า เป็นต้น นอกจากนี้ หากทรัพย์ที่ถือครองมากกว่า 5 ปีส่วนใหญ่เป็นอสังหาฯ เชิงพาณิชย์หรือที่ดินรกร้าง ภาระภาษีก็จะอยู่ในอัตราที่สูงที่ 0.3-0.7% ของมูลค่าประเมิน เทียบกับกลุ่มที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรมที่มีอัตราภาษีเพียง 0.02-0.1% และ 0.01-0.1% ตามลำดับ (จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง)   ทั้งนี้ สถาบันการเงินมีแนวโน้มที่จะขาย NPA ให้ได้ภายใน 5 ปีแรกของการถือครอง เนื่องจากสถาบันการเงินได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีที่ดินฯ โดยเสียภาษีเพียง 10% ของภาระภาษีที่ต้องจ่ายในช่วง 5 ปีแรกที่ถือครอง แต่หลังจากถือครองมากกว่า 5 ปีไปแล้ว หากสถาบันการเงินยังไม่สามารถขาย NPA ได้ ค่าใช้จ่ายทางภาษีก็จะเพิ่มขึ้น เช่น NPA ที่เป็นบ้านพร้อมที่ดินมูลค่า 10 ล้านบาท มีภาระภาษีในช่วง 5 ปีแรกอยู่ที่ปีละ 200 บาท และภาระภาษีจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2,000 บาทในปีที่ 6 เป็นต้นไป   ขณะที่ NPA ที่เป็นโรงงานมูลค่า 10 ล้านบาท มีภาระภาษีในช่วง 5 ปีแรกอยู่ที่ปีละ 3,000 บาท และภาระภาษีจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 30,000 บาทในปีที่ 6 เป็นต้นไป เป็นต้น ในระยะต่อไป สถาบันการเงินอาจระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้นจากปัจจุบันที่ระมัดระวังอยู่แล้ว แม้ว่าจะมีอสังหาฯ ค้ำประกันอยู่ก็ตาม เนื่องจากค่าใช้จ่ายภาษีที่เพิ่มขึ้นจากการกลายเป็นหนี้เสียของสินเชื่อเหล่านั้น 2.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลางจากภาษีที่ดิน   ผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โดยรวมจะได้รับผลกระทบไม่มาก หากโครงการของผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและขายได้หมดภายใน 3 ปีแรกที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรสำหรับโครงการบ้านแนวราบและใบอนุญาตก่อสร้างสำหรับโครงการคอนโดมิเนียม เนื่องจาก 1.ทางการให้สิทธิลดหย่อนภาระภาษีที่ดินฯ ในช่วง 3 ปีแรก โดยจ่ายภาษีเพียง 10% ของเม็ดเงินภาษีที่ต้องจ่ายจริง ซึ่งคิดเป็นภาระภาษีรวมกัน 3 ปีไม่ถึง 0.2% ของมูลค่าขายของโครงการ 2.ผู้ประกอบการโดยทั่วไปถือที่ดินก่อนพัฒนาโครงการ (Land bank) ประมาณ 1-2 ปี ขณะที่ที่ดินคิดเป็นต้นทุนประมาณ 20-30% ของมูลค่าขายโครงการ ทำให้ค่าใช้จ่ายภาษีที่ดินฯ จากการถือครอง Land bank มีไม่ถึง 0.5% ของมูลค่าขายของโครงการ   อย่างไรก็ตาม ภาระภาษีที่ดินฯ อาจเพิ่มสูงขึ้น หากผู้ประกอบการไม่สามารถบริหารสต็อกเหลือขายภายใน 3 ปีนับตั้งแต่ขออนุญาตจัดสรร/ก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมที่ไม่สามารถแบ่งการก่อสร้างเป็น phaseได้แบบที่อยู่อาศัยแนวราบ นอกจากนี้ ผลกระทบจากภาษีจะมีความรุนแรงมากขึ้น หากผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรายได้จนส่งผลให้อัตรากำไรต่ำและทำให้ Buffer ต่อภาระภาษีที่ดินมีน้อยลง   นอกจากนี้ ในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วง 2 ปีแรกที่เริ่มการจ่ายภาษีที่ดินฯ มีแนวโน้มที่ผู้พัฒนาโครงการจะเร่งระบายสต็อกที่ค้างอยู่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพื่อได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีที่ดินฯ สำหรับที่อยู่อาศัยเหลือขายที่มีการขอใบอนุญาตก่อสร้าง/จัดสรรก่อนวันที่ 13 มีนาคม  2562 มิเช่นนั้นผู้ประกอบการจะต้องมีค่าใช้จ่ายภาษีที่ดินฯ สูงขึ้น   ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจและการปรับตัวต่อมาตรการ LTV ของผู้ซื้อบ้าน เมื่อผู้ประกอบการต้องมาเผชิญกับภาระภาษีที่ดินฯ แม้ว่าจะคิดเป็นต้นทุนที่ไม่สูงมากนัก แต่ก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเสริมที่ทำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังการเปิดตัวใหม่มากขึ้น โดยมุ่งเน้นเปิดตัวโครงการที่มีศักยภาพมากขึ้น รวมถึงการเร่งระบายหน่วยเหลือขายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเมื่อภาษีที่ดินฯ เริ่มจัดเก็บ   เจ้าของอาคารที่อยู่อาศัย/พาณิชย์ให้เช่า เช่น หอพัก อะพาร์ตเมนต์ สำนักงานให้เช่า และพื้นที่ค้าปลีกให้เช่า เป็นต้น แม้ว่าภาษีที่ดินฯ กรณีใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์จะมีอัตราภาษีสูงกว่าเพื่อการเกษตรหรือเพื่ออยู่อาศัย แต่หากเปรียบเทียบกับภาระภาษีที่ดินใหม่ กับภาษีโรงเรือนฯ ในปัจจุบันที่อัตรา 12.5% ของรายได้ค่าเช่า จะพบว่าต้นทุนทางภาษีของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลตอบแทนจากการให้เช่า โดยอาคารให้เช่าแห่งไหนอัตราผลตอบแทนจากการให้เช่าอยู่ในระดับสูง ต้นทุนภาษีอาจปรับลดลงด้วยซ้ำ แต่หากอัตราผลตอบแทนจากการให้เช่าอยู่ในระดับต่ำ มีโอกาสที่ภาระภาษีอาจเพิ่มขึ้น กดดันผลตอบแทนสุทธิของผู้ประกอบการให้ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอาคารในพื้นที่ที่ราคาที่ดินอยู่ในระดับสูงและมีการแข่งขันสูงระหว่างผู้ประกอบการ   เช่น กรณีอาคารสำนักงานให้เช่าในพื้นที่ย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ของกรุงเทพฯ ที่มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเบื้องต้น (Gross yield) โดยเฉลี่ยประมาณ 5-9% (จากข้อมูล CBRE และมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย) โดยคิดเป็นรายได้จากค่าบริการ 50% และรายได้จากการเช่า 50% โดยรายได้ส่วนหลัง ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีโรงเรือนฯ คิดเป็น 0.3-0.6% ของมูลค่าอาคาร ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราภาษีที่ดินฯ ที่ 0.3-0.7%   รูปที่ 3 : ตัวอย่างการเปรียบเทียบภาระภาษีตามกฎหมายที่ดินเดิมกับกฎหมายที่ดินใหม่ กรณีอาคารสำนักงานให้เช่า หมายเหตุ : ผลตอบแทนเบื้องต้นจากการลงทุนเป็นอัตราเฉลี่ยในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ จากการสำรวจของ CBRE และ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CBRE, มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 3.กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ/ได้รับผลกระทบต่ำจากภาษีที่ดิน เจ้าของที่อยู่อาศัยเพื่อใช้อยู่จริง จำแนกเป็น เจ้าของบ้านหลังหลัก ซึ่งทางการได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษี โดยมีเงื่อนไขว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และมูลค่าบ้านพร้อมที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือบ้าน ไม่นับรวมที่ดินไม่เกิน 10 ล้านบาท ขณะที่บ้านพร้อมที่ดินมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาทก็มีภาระภาษีอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับฐานะหรือรายได้ของผู้ถือครอง เช่น บ้านพร้อมที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาท เสียภาษีเพียง 20,000 บาท/ปี หรือ 1,667 บาท/เดือน   เจ้าของที่อยู่อาศัยหลังที่สองขึ้นไปเพื่อใช้อยู่อาศัย (ไม่ใช่บ้านหลังหลัก) แม้ว่าภาระภาษีที่ต้องจ่ายตามภาษีที่ดินฯ จะเพิ่มขึ้นจากภาษีบำรุงท้องที่ (ซึ่งเป็นกฎหมายภาษีที่ดินเดิม) แต่เม็ดเงินภาษีที่ดินฯ ที่ต้องจ่ายยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับรายได้ของผู้ที่สามารถซื้อบ้านในมูลค่าเหล่านั้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีการบรรเทาภาระภาษีในส่วนที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีแรกที่มีการเก็บภาษีที่ดินฯ   เช่น กรณีบ้านพร้อมที่ดินราคา 10 ล้านบาทที่ไม่ใช่บ้านหลังหลัก ปัจจุบันเสียภาษีบำรุงท้องที่ปีละ 834 บาท ขณะที่ตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ เจ้าของบ้านต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 2,000 บาท (อัตราภาษีที่ดินฯ 0.02% ของมูลค่าบ้าน 10 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายไม่ถึง 0.2% ของรายได้ของผู้ที่สามารถกู้ซื้อบ้านในราคา 10 ล้านบาท (รายได้ของผู้กู้ซื้อต้องไม่น้อยกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน)   ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อปล่อยเช่าเพื่อการอยู่อาศัย/เก็งกำไร จากข้อมูลเบื้องต้นของกระทรวงการคลัง ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อปล่อยเช่าเพื่อการอยู่อาศัย/เก็งกำไร ภาระภาษีที่ต้องจ่ายตามภาษีที่ดินฯ จะเหมือนกับเจ้าของที่อยู่อาศัยหลังที่สองขึ้นไป โดยมีอัตราภาษีที่ดินฯ อยู่ที่ 0.02% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย (กรณีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท) คิดเป็นต้นทุนภาษีจากการถือครองที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับรายได้ค่าเช่าและการเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัย ดังนั้นภาษีที่ดินฯ ไม่ได้มีผลมากนักต่อความต้องการที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน (ยกเว้นในช่วงแรกที่มีการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ที่ผู้ลงทุนซื้อที่อยู่อาศัยยังไม่มั่นใจในภาระภาษีว่าจะมีมากน้อยเพียงใด)   กรณีซื้อมาเพื่อเก็งกำไร เช่น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามฐานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.7% สำหรับคอนโดมิเนียม 2.0% สำหรับทาวน์เฮาส์ และ 2.6% สำหรับบ้านเดี่ยว โดยค่าใช้จ่ายจากภาษีที่ดินฯ จะคิดเป็นประมาณ 1% ของผลตอบแทนที่ได้จากส่วนต่างราคาซื้อขาย (Capital gain yield) เฉลี่ยที่ 1.7-2.6% ต่อปี ทั้งนี้ผลกระทบจากต้นทุนภาษีที่กล่าวมามีโอกาสที่จะน้อยกว่าที่กล่าวมาข้างต้น หากผู้ลงทุนเลือกเก็งกำไรในกลุ่มที่อยู่อาศัยที่มีศักยภาพ ซึ่งราคามีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด   กรณีซื้อมาเพื่อปล่อยเช่า เช่น กรณีคอนโดมิเนียมมูลค่า 5 ล้านบาท ที่ซื้อเพื่อปล่อยเช่า/เก็งกำไร ต้องเสียภาษีที่ดินฯ ในอัตรา 0.02% ของมูลค่าคอนโดฯ หรือ 1,000 บาท/ปี (เทียบกับในปัจจุบันที่ภาระภาษีเกี่ยวกับที่ดินต่ำมาก เนื่องจากข้อบกพร่องในการจัดเก็บภาษีโรงเรือน ขณะที่ภาษีบำรุงท้องที่ก็อยู่ในอัตราต่ำมาก) คิดเป็นภาระค่าใช้จ่ายประมาณ 0.4-0.7% ของอัตราผลตอบแทนจากการให้เช่า (Gross rental yield) ที่เฉลี่ยประมาณ 3-5%   แต่หากผู้ให้เช่าที่อยู่อาศัยในกรณีตัวอย่างข้างต้น เคยต้องเสียภาษีโรงเรือนฯ จากรายได้ค่าเช่าที่ 12.5% ของรายได้ทั้งปี หรือคิดเป็น 0.4-0.6% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย การปรับเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีเป็นภาษีที่ดินฯ ที่อัตราขั้นต่ำที่ 0.02% ของมูลค่าที่อยู่อาศัยจะส่งผลด้านบวกต่อผู้ให้เช่าที่จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายภาษีลงไปได้ประมาณปีละ 17,000-30,000 บาท   รูปที่ 4 : ตัวอย่างการเปรียบเทียบภาระภาษีตามกฎหมายที่ดินเดิมกับกฎหมายที่ดินใหม่ กรณีที่อยู่อาศัยให้เช่า หมายเหตุ : ผลตอบแทนเบื้องต้นจากการลงทุนเป็นอัตราเฉลี่ยในพื้นที่กรุงเทพฯ จากการสำรวจของ Numbeo และ Global Property Guide ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ ของ Numbeo, Global Property Guide และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 2 ผลกระทบทางอ้อม นอกจากผลกระทบโดยตรง จากการต้องเสียภาษีในอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในทางอ้อมที่อาจเห็น ก็มีด้วยเช่นกัน คือ 1.ปริมาณที่ดินที่เข้าสู่ตลาดเพื่อขายอาจมีมากขึ้น 2.ส่วนต่างของราคาที่ดินที่มีศักยภาพสูงกับศักยภาพต่ำอาจมีมากขึ้น ผลจากต้นทุนภาษีที่ดินฯ ที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ผู้ถือครองที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์บางส่วนอาจทยอยขายที่ดินออกมาในตลาด โดยเฉพาะที่ดินมรดกที่ถือครองมายาวนาน ซึ่งในอดีตมีต้นทุนในการถือครองที่ดินไม่มากนัก แต่ภาษีที่ดินฯ ที่กำลังจะเริ่มจัดเก็บอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ถือครองที่ดินบางส่วนปล่อยที่ดินเข้าสู่ตลาดเพื่อซื้อขายมากขึ้น   ส่งผลให้การขยายตัวของราคาที่ดินโดยเฉลี่ยอาจมีแนวโน้มขยายตัวช้าลงไปบ้าง โดยเฉพาะที่ดินที่มีศักยภาพต่ำ (มีการเพิ่มขึ้นของราคาค่อนข้างช้า) ขณะที่ที่ดินที่มีศักยภาพ (มีการเพิ่มขึ้นของราคาค่อนข้างเร็ว) ต้นทุนภาษีที่ดินฯ แทบไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากราคาของที่ดินที่เร่งตัวไปเร็วกว่าต้นทุนภาษี ทำให้ความต้องการถือครองที่ดินดังกล่าวยังมีต่อเนื่อง ผลักดันให้ราคาที่ดินของที่ดินศักยภาพยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงต่อเนื่องได้   บทสรุป ผลกระทบจากภาษีที่ดิน ภาษีที่ดินที่กำลังจัดเก็บในปีนี้ ผลต่อทั้งผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่ออยู่จริงและเพื่อการลงทุนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งจะส่งผลกระทบไม่มากนักต่ออุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัย (ปัจจัยจากเศรษฐกิจและความระมัดระวังในการให้สินเชื่อบ้านจะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบมากกว่าภาษีที่ดินฯ)   ขณะที่ผู้พัฒนาโครงการอาจต้องมีการปรับตัวอันเกิดจากภาระภาษี โดยต้องมุ่งเน้นบริหารการขายโครงการให้เหลือหน่วยเหลือขายน้อยที่สุดภายในช่วง 3 ปีแรกที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง/จัดสรร เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ได้รับการลดหย่อนภาษีที่ดินฯ รวมถึงในช่วงปี 2563-2021 จะต้องเร่งระบายสต็อกซึ่งคงค้างมาก่อนหน้าที่ภาษีที่ดินฯ จะมีผลบังคับใช้ เช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินต้องระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้นเพื่อไม่ให้ภาระ NPA มีมาก   ดังนั้นมีโอกาสที่ในระยะยาวการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ อาจช่วยลดความเสี่ยงจากการเร่งพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการลงได้บ้าง (โดยมุ่งเน้นแต่โครงการที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง) รวมถึงการระมัดระวังมากขึ้นของผู้ให้สินเชื่อ ท้ายที่สุดก็อาจเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงภาวะอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) ลงได้บ้าง ซึ่งจะสนับสนุนให้การใช้ที่ดิน รวมถึงตลาดที่อยู่อาศัยเติบโตได้อย่างระมัดระวังและยั่งยืนมากขึ้น   หมายเหตุ [1] ราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้ในปัจจุบันจะเป็นราคาที่มีการประเมินมาตั้งแต่ปี 2521-2524  ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติกำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ปี 2529 โดยราคาดังกล่าวจะแตกต่างจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จัดทำโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งมีการปรับปรุงทุก 4 ปี
AWC ทุ่ม 26,229 ล้าน ซื้อ 12 อสัหาฯ เติมพอร์ตธุรกิจโรงแรม-บริการ

AWC ทุ่ม 26,229 ล้าน ซื้อ 12 อสัหาฯ เติมพอร์ตธุรกิจโรงแรม-บริการ

AWC ทุ่มงบ 26,229 ล้าน ซื้อโรงแรมและโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส 12 แห่ง เติมพอร์ตธุรกิจกลุ่มโรงแรมและการบริการ เสริมจำนวนห้องพักรวม 989 ห้องในทันที และอีกมากกว่า 2,500 ห้องในอนาคต สู่เป้าหมายเบอร์ 1 มีโรงแรมในไทยมากสุด 8,000 ห้องภายใน 5 ปี   นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า ได้ใช้งบประมาณการลงทุนรวมกว่า 26,229 ล้านบาท  ซื้อกิจการโรงแรมและโครงการมิกซ์ยูส 12 แห่ง เพื่อเสริมศักยภาพและความหลากหลายของพอร์ตโฟลิโอกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ และสร้างผลประกอบการอย่างก้าวกระโดดภายใน 5 ปี   สำหรับการซื้อกิจการที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์กลุ่มที่ 3 ของบริษัท ตามสัญญาซื้อขายหุ้นปี 2562  ประกอบด้วย ซึ่งประกอบด้วย โรงแรม 4 แห่งที่เปิดดำเนินการแล้ว ได้แก่ 1.โรงแรมแบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ 2.โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพ สาทร 3.โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา ในยางบีช และ 4. โรงแรมหัวหิน แมริออท รีสอร์ท และ สปา     นอกจากนี้ ยังซื้อโรงแรมและโครงการอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูส (Mixed-Use Properties) ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงหรือพัฒนา อีก 8 แห่ง รวมห้องพักกว่า 2,500 ห้อง  อาทิ AWC CENTER PATTAYA โครงการมิกซ์ยูสระดับเมกะโปรเจคใหม่ใจกลางเมืองพัทยา ประกอบด้วย โรงแรมเจดับบลิว แมริออท เดอะ พัทยา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา และ โรงแรม พัทยา แมริออท มาร์คีส์ ที่มีห้องพักรวม 1,298 ห้อง  โครงการอควอทีค  โรงแรมบันยัน ทรี จอมเทียน พัทยา  ที่จะมีห้องพักและวิลล่ารวม 150 ห้อง และโครงการที่จะพัฒนาในอนาคตต่างๆ อีกมากมาย     โรงแรมสินทรัพย์กลุ่มที่ 3 ของบริษัทฯ ที่เปิดดำเนินการแล้ว มีความโดดเด่นทั้งในแง่ของศักยภาพการดำเนินงานและที่ตั้ง โดยโรงแรมแบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ เป็นโรงแรมในระดับ Upper Upscale   ที่มีห้องพัก 303 ห้องโดยดัชนีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักทั้งหมดเมื่อเทียบกับโรงแรมในระดับเดียวกัน (RevPAR Index) สำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2562 สูงถึง 149.4%   ในขณะที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพ สาทร เป็นโรงแรมที่รองรับนักท่องเที่ยวและ  นักเดินทางเพื่อธุรกิจในระดับ Midscale ในใจกลางย่านสาทรและสีลม ที่มีห้องพักจำนวน 184 ห้อง โดยได้รับรางวัล Loved by Guests 2019 จาก Hotels.com แสดงให้เห็นถึงความพึงพอใจจากผู้เข้าพักที่มีต่อโรงแรมในระดับสูง   ส่วนโรงแรมทรัพย์สินกลุ่ม 3 ของบริษัท ที่เปิดดำเนินการแล้วนอกกรุงเทพฯ อาทิ โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา ในยางบีช เป็นรีสอร์ทริมหาด ระดับ Upper Upscale มีห้องพักและพูลวิลล่าจำนวน 180 ห้อง อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดงานแต่งงานยอดนิยม การันตีด้วยรางวัล Best International Wedding Hotels in the World 2019 จาก International Hotel Awards และมีดัชนีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักทั้งหมดเมื่อเทียบกับโรงแรมในระดับเดียวกัน  สำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2562 สูงถึงร้อยละ 145.2%     โรงแรมหัวหิน แมริออท รีสอร์ท และ สปา เป็นรีสอร์ทในระดับ Upper Upscale ที่โดดเด่นด้วยห้องพักแบบทันสมัยจำนวน 322 ห้อง พร้อมด้วยสระว่ายน้ำจำนวน 5 สระ และสระว่ายน้ำแบบ loop pool โดยได้รับรางวัล Best Luxury Resort Hotel Asia Pacific 2019 จาก International Hotel Awards และมีดัชนีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักทั้งหมดเมื่อเทียบกับโรงแรมในระดับเดียวกัน  สำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2562 สูงถึง 171.6%   “การเข้าซื้อกิจการที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินกลุ่ม 3 จะทำให้แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น เป็นเจ้าของโรงแรมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในโรงแรมระดับ Midscale ขึ้นไป”   เมื่อการพัฒนาโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จ แอสเสท เวิรด์  คอร์ปอเรชั่น จะมีโรงแรมที่เปิดให้บริการทั้งสิ้น 27 แห่ง และมีจำนวนห้องพักมากกว่า 8,500 ห้อง ที่บริหารงานโดยผู้บริหารโรงแรมชั้นนำระดับสากล อาทิ Marriott International Inc., ฮิลตัน, บันยันทรี,  มีเลีย, ไอเอชจี และโอกุระ พร้อมด้วยเครือข่ายสมาชิก Loyalty Program มากกว่า 290 ล้านสมาชิก และด้วยการพัฒนาโครงการแบบมิกซ์ยูสที่หลากหลาย  
[PR News] CRC พร้อมระดมทุนในตลาดหุ้น นำเงินขยายธุรกิจ-ชำระหนี้เงินกู้

[PR News] CRC พร้อมระดมทุนในตลาดหุ้น นำเงินขยายธุรกิจ-ชำระหนี้เงินกู้

CRC ประกาศข่าวดีรับปีใหม่ พร้อมเดินหน้าเสนอขายหุ้น IPO ครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากก.ล.ต. แบบไฟลิ่ง เตรียม 1,691 ล้านหุ้นออกขาย ระดมทุนต่อยอดธุรกิจ สร้างการเติบโต   “เซ็นทรัล รีเทล” หรือ “CRC ประกาศข่าวดีเตรียมต้อนรับปีใหม่ของทศวรรษใหม่ พร้อมเดินหน้าเสนอขายหุ้น IPO ครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) และมีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยในวันที่ 26 ธันวาคม 2562   CRC เตรียมขายหุ้น IPO 1,691 ล้านหุ้น โดย CRC ประกาศแผนเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 1,691 ล้านหุ้น โดยแบ่งออกเป็น 1. หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,331 ล้านบาทหุ้น คิดเป็น 22.1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ซึ่งหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ROBINS  ที่ตอบรับคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ผ่านการแลกหุ้น (Share Swap) และหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายและจัดสรรให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก 2. หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Hawthorn Resources Limited (ผู้ถือหุ้นเดิม) จำนวนไม่เกิน 360 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.0% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดหลัง IPO (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Option หรือ Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 169.1 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 10.0% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้ เพื่อนำเงินไปใช้ในการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน   พร้อมกันนี้ CRC ประกาศเดินหน้าทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ROBINS ที่ราคาเสนอซื้อ 66.50 บาทต่อหุ้น เพื่อแลกกับหุ้น IPO ของ CRC ตามช่วงอัตราแลกหุ้นเบื้องต้นที่ 1.39 ถึง 1.66 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ของ CRC ต่อ 1 หุ้นสามัญเดิมของ ROBINS ในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 (รวม 25 วันทำการ) โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนในการรับซื้อหลักทรัพย์ (Tender Agent) หลังจากนั้นหุ้นของ ROBINS จะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับหุ้น IPO ของ CRC เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์   วางโครงสร้างธุรกิจ 3 ปี ก่อนเข้าตลาด นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท​ เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เปิดเผยว่า ​ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คณะผู้บริหารของ CRC ซึ่งมีส่วนผสมที่ลงตัว  จากทั้งครอบครัวจิราธิวัฒน์และทีมผู้บริหารมืออาชีพ  ได้ร่วมกันวางโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลใหม่ (New Central New Retail) จนมีความพร้อมในการต้อนรับนักลงทุน ให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อต่อยอดความสำเร็จบนเวทีระดับโลกไป   โดย CRC มีรูปแบบธุรกิจค้าปลีกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการรวบรวมแบรนด์ค้าปลีกชั้นนำหลากหลายประเภท (Multi-category) ใน 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มแฟชั่น 2.กลุ่มฮาร์ดไลน์ และ3. กลุ่มฟู้ด หลากหลายรูปแบบและช่องทาง (Multi-format) ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ (Multi-market)     นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์ค้าปลีกมากมาย อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซูเปอร์สปอร์ต เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป เพาเวอร์บาย ไทวัสดุ ท็อปส์ แฟมิลี่มาร์ท โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ ในประเทศไทย รวมไปถึงบิ๊กซี/GO! เหงียนคิม ลานชีมาร์ท  ในประเทศเวียดนาม และรีนาเชนเต ห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอิตาลี   จากข้อมูลวันที่ 30 กันยายน 2562 และรายงานจาก Euromonitor International  สำหรับ CRC เป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกผ่านรูปแบบที่หลากหลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีร้านค้าทั้งหมดประมาณ 1,922 ร้านค้าใน 51 จังหวัดทั่วประเทศ  เป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์  ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอิตาลี รวมทั้งสิ้น 9 สาขา   CRC ยังเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกข้ามชาติ และค้าปลีกประเภท Hypermarket อันดับ 1 ในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับ ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในประเทศเวียดนาม ด้วยร้านค้าในรูปแบบต่าง ๆ จำนวน 133 ร้านค้า ใน 40 จังหวัด โดย CRC อยู่ในสถานะที่ดีในการจะก้าวเข้าสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกหลากหลายรูปแบบที่ประสบความสำเร็จที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในภูมิภาคอื่นๆ   “CRC ยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาแพลตฟอร์มสู่ Customer-Centric Omnichannel ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ผสมผสานจุดเด่นที่ดีที่สุดของออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกัน พร้อมการนำเสนอสินค้าและบริการแบบรู้ใจที่ตรงความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization) ผ่านการวิเคราะห์ฐานข้อมูลสมาชิก Loyalty Program ที่มีมากกว่า 28.8 ล้านรายทั่วโลก”   เตรียมนำเงินขยายสาขา-ชำระหนี้เงินกู้   วัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการขยายสาขาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงสาขาต่าง ๆ อาทิ 1. การขยายสาขาใหม่ของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน และ โรบินสัน  ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ 2. การขยายสาขาของไทวัสดุ  3. การขยายสาขาของบิ๊กซี/GO! ในประเทศเวียดนาม 4. การปรับปรุงสาขาต่าง ๆ ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ และการชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เพื่อโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมุ่งขยายความสำเร็จในระดับโลกอย่างมั่นคงในระยะยาว     โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม ทั้งนี้ CRC มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินรวมภายหลังจากหักภาษี และการจัดสรรทุนสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายและ CRC กำหนดไว้ในแต่ละปี   ผู้สนใจลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนของ CRC ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. www.sec.or.th  ส่วนผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 มีรายได้รวม 159,506 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 6,298 ล้านบาท หรือเติบโต 4.1% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า  
บทสรุปตลาดบ้าน+คอนโดฯ หลังมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ดีสุดตลาดไม่ติดลบ

บทสรุปตลาดบ้าน+คอนโดฯ หลังมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ดีสุดตลาดไม่ติดลบ

REIC ชี้ตลาดอสังหาฯ​ หลังมาตรการรัฐ กระตุ้นธุรกิจ ช่วยพยุงตลาดติดลบน้อยลง มองบวกหากฟื้นตัวทำดีได้เท่าปีที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มปี 2563 คาดการณ์โตได้ไม่เกิน 5%   ดร.วิชัย  วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปีในปี 2562 คาดว่าจะจะทำให้จำนวนยูนิตเปิดใหม่ลดลง 0.6% และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศน่าจะลดลง 2.2% เทียบกับปี 2561 จากเดิมที่ประเมินสถานการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะติดลบถึง 7.7% และ 2.7% ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่บวกภาพรวมในปีนี้อาจจะไม่ติดลบเลยก็ได้   การประเมินสถานการณ์ดังกล่าว ทางศูนย์ข้อมูลฯ ได้นำตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในไตรมาส 4 ปี 2562 คือ   มาตรการที่รัฐบาลออกมา สนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางมากขึ้น โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าธรรมเนียมการจดจำนองเหลือ 0.01% ครอบคลุมถึงบ้านในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่ออกมาวันที่ 22 ตุลาคม  2562 และโครงการ “บ้านดีมีดาวน์” ซึ่งให้การสนับสนุนเงินดาวน์ 50,000 บาท แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย   โดยตั้งแต่ออกมาตรการมากระตุ้นตลาดอสังหาฯ พบว่าได้ช่วยให้เกิดการดูดซับบ้านและคอนโดมิเนียมในตลาดได้อย่างดี  คาดว่าในครึ่งหลังของปี 2562 จะมีขายบ้านใหม่ได้ประมาณ 71,000 ยูนิต และในปี 2563 จะมีการขายบ้านใหม่ได้ถึงประมาณ 166,000 ยูนิต หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงประมาณ 20% ในแต่ละครึ่งปี และส่งผลให้จำนวนที่อยู่อาศัยในตลาดปีหน้าลดลงถึง 10% ในแต่ละครึ่งปี เมื่อเทียบกับการที่ไม่มีมาตรการ   ปี’63 ตลาดขยายตัวไม่เกิน 5%   สำหรับทิศทางตลาด ปี 2563 หลังมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ คาดว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ อัตราดอกเบี้ยขาลง และ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล  ที่ต่อเนื่องจากปลายปีนี้  แต่อาจจะมีการขยายตัวไม่เกิน 5% และโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ จะมีการเปิดตัวต่อเนื่อง  ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนใกล้เคียงกับยอดการเปิดตัวในปี 2562   “ผู้ประกอบการยังต้องให้ความสำคัญ กับการบริหารสินค้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จรอการขาย เพื่อไม่ให้มีสินค้าค้างอยู่มากเกินไป และยังต้องระมัดระวังการเปิดตัวโครงการใหม่ ที่มากจนตลาดไม่สามารถดูดซับไม่ทัน เพราะแม้ว่ากำลังซื้อจะมี แต่มีอยู่ไม่มากเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน”     อสังหาฯ กทม.-ปริมณฑล สต็อกลด 6.7%   สำหรับสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ​ และปริมณฑล  ข้อมูลถึงสิ้นปี 2561 พบว่า มีที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมจำนวน 153,895 ยูนิต มูลค่า 651,293 ล้านบาท แบ่งออกเป็น โครงการบ้านจัดสรร 87,263 ยูนิต มูลค่า 393,996 ล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียม  66,632 ยูนิต มูลค่า 257,297 ล้านบาท  จำนวนยูนิตเหลือขายคอนโดฯ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ มากถึง 67.8% ส่วนจังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัดมีสัดส่วนรวมกันเพียง 32.2% ของยูนิตเหลือขายทั้งหมด   ศูนย์ข้อมูลฯ ประเมินว่า จำนวนยูนิตเหลือขายในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล  ถึงสิ้นปี 2562 มีประมาณ 149,000 ยูนิต และคาดว่าถึงสิ้นปี 2563 จะมีประมาณ 139,000 ยูนิต ลดลงจากปี 2562 ในอัตรา 6.7% การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่ และจะช่วยให้จำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมในตลาดถูกดูดซับออกไป   จนสามารถปรับสมดุลให้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 138,720 ยูนิตได้   ต่างจังหวัดเร่งโอนบ้าน+คอนโดฯ สต็อกลด 20%   สำหรับตลาดอสังหาฯ ในภูมิภาคพื้นที่ 20 จังหวัดหลัก ศูนย์ข้อมูลฯ ได้ทำการสำรวจเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี ปีละ 2 รอบ ได้แก่ ประกอบด้วย ภาคตะวันออก มี 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ภาคใต้ มี 4 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สงขลา นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ภาคเหนือ มี 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก และพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี และมหาสารคาม  ภาคกลาง มี 2 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี  ภาคตะวันตก มี 2 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี โดยประเมินสถานการณ์ว่าถึงสิ้นปี 2562  หลังมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ จะมีจำนวนยูนิตเหลือขายประมาณ 109,000 ยูนิต และถึงสิ้นปี 2563 คาดว่าจะมีประมาณ 87,000 ยูนิต ลดลง 20.1% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ของรัฐบาลเช่นกัน  ซึ่งจะมีการดูดซับที่อยู่อาศัยเหลือขายในตลาดออกไป จนสามารถปรับสมดุลให้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่มีจำนวนเหลือขายเฉลี่ย 106,790 ยูนิตได้            
3 ข้อต้องคิดก่อนรีไฟแนนซ์

3 ข้อต้องคิดก่อนรีไฟแนนซ์

ผ่อนบ้านเหลือกันอีกกี่ปีครับ? แล้วที่ผ่านมาเสียดอกเบี้ยไปเท่าไรกันแล้ว? เป็นเรื่องที่คนผ่อนบ้านต้องคิดหนักกันแน่นอน ซึ่งทางออกสำหรับใครหลายคนคือการยื่นรีไฟแนนซ์ เพื่อลดภาระเหล่านี้ลง   การรีไฟแนนซ์ คือ การกู้เงินก้อนใหม่ไปชำระหนี้ยอดเดิมที่มีอยู่ ทำให้การผ่อนต่อเดือนน้อยลง โดยขยายระยะเวลากู้ออกไป แต่สาเหตุของการยื่นรีไฟแนนซ์ นั่นคือขอลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงตามโปรโมชั่นที่มีอยู่ของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ สถาบันการเงินบางแห่งยังยื่นข้อเสนอเพิ่มเงินกู้ให้อีก หากมูลค่าบ้านในการประเมินครั้งใหม่สูงกว่ายอดหนี้เดิมที่มี แต่ก่อนจะตัดสินใจวางแผนรีไฟแนนซ์ ก็ควรพิจารณาให้รอบคอบ ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ ก่อนจะดำเนินการเรื่องรีไฟแนนซ์ ต้องตระหนักก่อนครับว่าเราจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอะไรบ้าง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม ค่าใช้จ่ายให้กับสถาบันการเงินเดิม  ซึ่งจะเป็นค่าปรับกรณีไถ่ถอนหลักประกันก่อนกำหนด โดยทั่วไปมักกำหนดระยะเวลาห้ามไถ่ถอนไม่เกิน 3 ปีนับจากวันเริ่มกู้ และมักมีค่าปรับประมาณ 2-3% ของยอดหนี้ ฉะนั้นให้ระมัดระวังเรื่องของระยะเวลาสัญญาให้ดีนะครับ หากจะทำการรีไฟแนนซ์ก็ลองยื่นเรื่องก่อนครบกำหนดสัญญาสัก 2-3 เดือน เพื่อย้ายสถาบันการเงินตามกำหนดเวลาได้พอดี   ค่าใช้จ่ายให้กับสถาบันการเงินใหม่ ได้แก่ ค่าประเมินมูลค่าหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fix Rate) เบี้ยประกันอัคคีภัย แต่หากกรมธรรม์เดิมยังมีความคุ้มครองก็สามารถแจ้งโอนผลประโยชน์จากที่เดิม เพื่อยกผลประโยชน์ให้สถาบันการเงินแห่งใหม่ได้ ค่าใช้จ่ายกรมที่ดิน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง 1% และค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ ผลประโยชน์ที่ได้เพิ่ม แม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังนิยมที่จะยื่นรีไฟแนนซ์ เพราะหากมองในระยะยาวแล้วสามารถประหยัดทั้งเงินและเวลาได้มากกว่า เช่น หากมียอดหนี้ที่ต้องการโอน 1 ล้านบาท ปัจจุบันเสียอัตราดอกเบี้ยที่ 7.13% ต่อปี ขณะที่สถาบันการเงินแห่งใหม่เสนออัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี เท่ากับ 3.45% ต่อปี คิดเป็นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ 3.68% ต่อปี หรือสามารถประหยัดดอกเบี้ยในช่วง 3 ปี ได้ถึง 108,253 บาท (คิดแบบลดต้นลดดอกเบี้ย) เงื่อนไขอื่นๆ  นอกจากเรื่องของค่าใช้จ่าย และประโยชน์ที่เราจะได้รับหลังยื่นรีไฟแนนซ์แล้ว ก็จะมีเงื่อนไขอื่นตามมาอีก อาทิ หากมีแผนที่จะขายบ้านในช่วง 3 ปีหลังรีไฟแนนซ์ อาจมีค่าปรับในการปิดบัญชีก่อนกำหนดเพิ่มอีก 2-3% ของวงเงินกู้ พิจารณายอดหนี้และระยะเวลาการผ่อนชำระที่เหลือ เช่น หากยอดหนี้คงเหลือไม่มากนัก ระยะเวลาการผ่อนเหลืออีกแค่ 1-2 ปี หรืออาจมีเงินโบนัสมาปิดหนี้ก่อนกำหนด การรีไฟแนนซ์อาจเป็นทางเลือกที่ได้ไม่คุ้มเสีย พิจารณาเงื่อนไขอื่น เช่น สถาบันการเงินบางแห่งมีเงื่อนไขให้ผ่อนค่างวดได้ไม่เกิน 2 เท่าของยอดผ่อนปกติ หรือมีค่าปรับกรณีชำระหนี้ก่อนกำหนด เท่ากับว่าหากมีเงินสดก็ไม่สามารถลดยอดหนี้ได้ในระยะเวลาที่ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่   อย่างไรก็ตามแนะนำว่าให้ศึกษาสัญญาของสถาบันการเงินทั้งที่เดิม และที่จะยื่นรีไฟแนนซ์เปรียบเทียบกันให้ละเอียดรอบคอบ เพราะการรีไฟแนนซ์ที่ดีควรดูช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วยจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด  รายละเอียดการรีไฟแนนซ์ ของธนาคารต่างๆ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารยูโอบี ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์  ธนาคารออมสิน    
สรุปข่าวอสังหาฯ รอบสัปดาห์ วันที่ 1-8 ธันวาคม 2562

สรุปข่าวอสังหาฯ รอบสัปดาห์ วันที่ 1-8 ธันวาคม 2562

หลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการ “บ้านดีมีดาวน์”  ในวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  ด้วยการสนับสนุนเงินแคชแบ็ค (Cash Back) เพื่อลดภาระผ่อนดาวน์ จำนวน 50,000 บาท ให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้     โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.บ้านดีมีดาวน์.com  ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 เวลา 8.00 น. จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563  และจะต้องได้รับการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินและจดจำนองตั้งแต่วันที่27 พฤศจิกายน 2562 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563   โอกาสดีๆ แบบนี้ บรรดาดีเวลลอปเปอร์ ทั้งค่ายเล็กค่ายน้อย ย่อมไม่พลาดโอกาส ใช้เป็นจังหวะที่ดีในการจัดแคมเปญการตลาด กระตุ้นยอดขาย โดยขนบ้านและคอนโดมิเนียมในสต็อกออกมาร่วมแคมเปญกันแทบทุกราย อาทิ แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ ขน 9 โครงการ 370 ยูนิต มูลค่า 830 ล้านบาท ทั้งบ้านและคอนโดฯ มาจัดแคมเปญร่วมกับโครงการบ้านดีมีดาวน์ และแอล.พี.เอ็น.ฯ ยังเติมเงินให้อีก 50,000 บาท (อ่านข่าวเพิ่มเติม)   บริษัท มั่นคง เคหะการ จำกัด (มหาชน) ก็ขานรับนโยบาย คัดโครงการทั้งทาวน์โฮม บ้านแฝด บ้านเดี่ยว 10 โครงการ กว่า 300 ยูนิต เข้าร่วม แถมด้วยสิทธิพิเศษต่างๆ อาทิ  ฟรีค่ามิเตอร์น้ำ – มิเตอร์ไฟ, ฟรีค่าส่วนกลาง 3 ปี, เฟอร์นิเจอร์ห้องนอนใหญ่ 1 ชุด, เครื่องปรับอากาศห้องนอนใหญ่ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก  5 รายการ เป็นต้น (อ่านข่าวเพิ่มเติม)   นอกเหนือจากความเคลื่อนไหว การจัดแคมเปญของดีเวลลอปเปอร์ กับโครงการภาครัฐแล้ว ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาวงการอสังหาริมทรัพย์ มีความเคลื่อนไหวอะไรบ้าง มาอัพเดทกันได้เลย   “ซิซซา” ลุยอสังหาฯ เพื่อการลงทุน การันตีผลตอบแทน 6% วินแดม โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จับมือพันธมิตร ซิซซา กรุ๊ป  รุกตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ภายใต้แบรนด์ “วินแดม แกรนด์” (Wyndham Grand) เน้นเจาะตลาดพรีเมียม ด้วยสินค้าระดับลักซูรี่ ตามหัวเมืองท่องเที่ยว พร้อมยกระดับโครงการ “วินแดม แกรนด์ ในหาน บีช ภูเก็ต”     นายอรรถนพ พันธุกำเหนิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิซซา กรุ๊ป จำกัด  เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์จะชะลอตัวลง แต่อสังหาริมทรัพย์ในหัวเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตกลับยังมีความต้องการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ รวมถึงคนไทยที่เข้ามาซื้อในลักษณะเพื่อการลงทุน จนทำให้ตลาดอสังหาฯในรูปแบบการการันตีผลตอบแทน หรือ Investment Property มีความต้องการสูงเห็นได้จากจำนวนโครงการแบบ Investment Property ที่เพิ่มมากขึ้นในจังหวัดภูเก็ต   ในระยะหลายปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการในภูเก็ตจึงหันมาพัฒนาสินค้าในลักษณะ Investment Property จำนวนมาก จนทำให้การแข่งขันสูง และซิซซา กรุ๊ป ได้เล็งเห็นทิศทางของตลาด จึงได้ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ WYNDHAM Hotels and Resorts ซึ่งเป็นกลุ่มโรงแรมรีสอร์ทที่มีจำนวนสาขาในเครือมากที่สุดของโลก ที่จะพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในตลาดระดับบน และโครงการล่าสุดของบริษัทก็ได้รับการยกระดับขึ้นเป็น วินแดม แกรนด์ ในหาน บีช ภูเก็ต (WYNDHAM Grand Nai Harn Beach Phuket)  (อ่านข่าวเพิ่มเติม)   “ฮาบิแทท กรุ๊ป” ปั้นโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส 4,500 ล้าน   “ฮาบิแทท กรุ๊ป” เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มุ่งเน้นทำตลาด อสังหาฯ เพื่อการลงทุน โดยมองแนวโน้มตลาดในปีหน้าว่ายัง เติบโตแต่ไม่หวือหวา ซึ่งแผนธุรกิจของบริษัทในปีหน้า ยังคงชูกลยุทธ์  "ไลฟ์สไตล์ อินเวสเม้นท์” พร้อมกับเตรียมเปิดโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส 4,500 ล้าน  นอกจากนั้นยังมุ่งหน้าทำตลาดในต่างประเทศ  ด้วยการผนึกพันธมิตร ลีสต์ กรุ๊ป ญี่ปุ่น รุกขยายตลาดใหม่จับลูกค้าต่างชาติเพิ่ม ทั้ง ญี่ปุ่น ไต้หวัน ตะวันออกกลางและยุโรป ทดแทนตลาดจีน และฮ่องกง     นายชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 คาดว่าจะไม่เติบโตจากปีนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562  ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ และค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อได้รับผลกระทบ ขณะที่ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธนาคารยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากกว่าระดับปกติ และยังมีปัจจัยเรื่องนโยบายการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV)   แม้จะมีปัจจัยบวกอยู่บ้างจากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นตลาด ประกาศลดค่าธรรมเนียมการโอน และการจดจำนองให้เหลือเพียง 0.01% ของราคาประเมินไปจนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 และยังมีโครงการบ้านดีมีดาวน์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ แต่ภาพรวมตลาดอสังหาฯ น่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว หรือใกล้เคียงกับปี 2562 (อ่านข่าวเพิ่มเติม)   เสนาฯ​ เลื่อน9โปรเจ็กต์หมื่นล้านเปิดตัวปี63 ปีนี้สถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ไม่เอื้ออำนวยให้ดีเวลลอปเปอร์รุกตลาดมากนัก จากช่วงต้นปีที่ได้ประกาศธุรกิจ พอเอาเข้าจริงกลับไม่เป็นไปตามแผน หลายๆ บริษัทปรับแผนธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดในปัจจุบัน อย่างเสนาฯ เลื่อน 9 โปรเจ็กต์ มูลค่านับหมื่นล้านไปเปิดตัวใหม่ในปีหน้า   แม้ว่า 3 ไตรมาสแรกของปี ยังโกยรายได้และกำไรเติบโต  ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่วนในไตรมาสสุดท้ายได้เปิดตัว 3 โครงการแนวราบ–แนวสูง เพื่อผลักดันยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้     นางสาวอธิกา บุญรอดชู ผู้อำนวยการ สายงานจัดสรรเงินทุนและการลงทุน บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA  เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4 บริษัทมีแผนการเปิดโครงการใหม่ 3 โครงการทั้งโครงการบ้านและคอนโดมิเนียม  รวมมูลค่าโครงการราว 2,977 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการ เสนา แกรนด์ โฮม รามอินทรา กม. 8 ม, โครงการเสนา วิลล์ ลำลูกกา คลอง 6 และล่าสุด เปิดโครงการเสนา- อาศุ พระราม 9  คอนโดมิเนียมแบรนด์ใหม่ ซึ่งทั้งหมดได้เปิดขายแล้ว   สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ บริษัทวางแผนเปิดโครงการทั้งหมด 20 โครงการ รวมมูลค่า 18,779 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์อสังหาฯ ที่ชะลอตัว และปัจจัยลบต่างๆ ทำให้บริษัทต้องบริษัทได้เลื่อนการเปิดโครงการใหม่ไปในปีหน้า ซึ่งช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ได้เปิดตัวโครงการใหม่แล้ว 8 โครงการมูลค่า 5,411 ล้านบาท และเลื่อนเปิดตัวโครงการใหม่ 9  โครงการในปี 2563 มูลค่า 10,391 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีที่ดินเตรียมพร้อมการพัฒนาไว้ทั้งหมดแล้ว (อ่านข่าวเพิ่มเติม)   แมกโนเลียฯ จับมือ ททท.-RSTA จัดงานแสดงแสงสีเสียง   เข้าสู่ช่วงโค้งท้ายของปีแล้ว ตอนนี้สถานที่หลายแห่งเริ่มเตรียมพื้นที่เฉลิมฉลอง รับเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันแล้ว อย่างแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น หรือ MQDC ได้จับมือกับ ททท. และสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ จัดงาน “Beautiful Bangkok 2020” งานแสดงแสงสีเสียงบริเวณอาคาร โครงการแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด ซึ่งเตรียมเปิดแสดงรอบปฐมฤกษ์วันที่ 16 ธันวาคมนี้     นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA)  เตรียมประกาศความพร้อมการจัดงาน “Beautiful Bangkok 2020” การแสดงแสงสีเสียง ด้วยการเนรมิตอาคารโครงการแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด ให้สวยงาม   โดยในปีนี้ใช้ชื่อการแสดงว่า “Beautiful Bangkok 2020: A Blossom of Happiness” ซึ่งมาพร้อมกับกิจกรรมอีกมากมาย บริเวณลานหน้าโครงการแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี  โดยจะเปิดการแสดงรอบปฐมฤกษ์วันที่ 16 ธันวาคม 2562 นี้ และจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 (อ่านข่าวเพิ่มเติม)      
กู้ไม่ผ่าน เกิดจากอะไร

กู้ไม่ผ่าน เกิดจากอะไร

ภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ แถมตัวเลขหนี้ครัวเรือนก็สูง ทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อยากขึ้นตามไปด้วย หลายคนจึงประสบปัญหา "กู้ไม่ผ่าน" ซึ่งเดี๋ยวนี้หลายธนาคารก็มักไม่บอกสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดปัญหาที่จุดไหนกันแน่ถึงกู้ไม่ผ่าน แต่สำหรับ Infographic นี้เราจะมาบอกกันครับว่า เหตุผลที่กู้ไม่ผ่านเกิดมาจากอะไร เพื่อให้ได้เตรียมตัวก่อนยื่นขอสินเชื่อ เคยมีประวัติค้างชำระหนี้ ทุกสถาบันการเงินจะมีความเข้มงวดมากในการตรวจสอบประวัติทางการเงินผ่านเครดิตบูโร ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายอะไรก็แล้วแต่ เช่น ผ่อนรถ บัตรเครดิต ฯลฯ หากเคยมีประวัติชำระล่าช้า ค้างชำระ หรือมีหนี้สินเกิน 5 บัญชีขึ้นไป จุดนี้เป็นสาเหตุทำให้ธนาคารปฏิเสธสินเชื่อมากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสีย หรือที่เรียกกันว่า NPL ขึ้นในอนาคต ความสามารถในการชำระหนี้ จากข้อที่แล้ว หากเราสามารถจัดการค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเราได้เป็นอย่างดี ตรงเวลา สม่ำเสมอ แต่บางครั้งก็ยังกู้ไม่ผ่าน สาเหตุอาจจะมาจากการที่เรามีภาระค่าใช้จ่ายมากเกินกว่า 40% ของรายได้ในแต่ละเดือน ก็มีโอกาสสูงมากที่ธนาคารจะปฏิเสธสินเชื่อด้วยเช่นกัน  มีชื่อเป็นคนค้ำประกันหรือกู้ร่วมอยู่ ลองสำรวจดูครับว่า เราเคยไปเซ็นค้ำประกันให้ใครไว้หรือมีชื่อเป็นผู้กู้ร่วมกับใครหรือไม่ แล้วตรวจสอบให้ดีว่าผู้ที่เราเซ็นให้หรือใช้ชื่อเราไปกู้ร่วมด้วยมีประวัติการผ่อนชำระที่ดีหรือไม่ เพราะหากคนกู้มีประวัติการชำระไม่ดี หรือเกิดเบี้ยวหนี้ขึ้นมา ประวัติทางการเงินของเราจะพลอยเสียไปด้วย ทำให้กู้ไม่ผ่านได้  ไม่มีเงินเก็บ เรื่องการเดินบัญชีของเราในทุกๆ เดือน ธนาคารก็จะตรวจสอบเช่นกันครับ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินหมุนเข้าทุกเดือนเป็นประจำก็จะได้เปรียบหน่อย แต่ธนาคารก็จะพิจารณาอีกว่าเราพอมีเงินก็บสักก้อนที่เป็นเงินเย็นสำรองไว้บ้างหรือไม่ ซึ่งถ้าเราใช้จนหมดทุกเดือนก็เสี่ยงที่จะกู้ไม่ผ่านด้วยเช่นกัน สำหรับคนที่ไม่ได้มีเงินเดือนประจำ ก็แนะนำว่าพยายามเอาเงินเข้า-ออก ผ่านบัญชีอยู่เป็นประจำ ให้การเดินบัญชีไม่นิ่งจนเกินไป และธนาคารสามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น   ทั้งนี้หากธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ เราสามารถยื่นเรื่องขอเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรได้ครับ จะได้ทราบจุดบกพร่องแล้วนำไปแก้ไขแล้วยื่นกู้ใหม่อีกครั้ง ขั้นต่ำคือหลังจาก 6 เดือนหลังจากยื่นกู้ไม่ผ่าน แต่พอเห็นสาเหตุอย่างนี้แล้ว เราก็สามารถเตรียมตัวให้ดีก่อนยื่นกู้สินเชื่อ ซึ่งเราจะนำ Infographic มาฝากกันต่อในโอกาสถัดไปครับ    
มั่นคงฯ เพิ่มทุน 1,000 ล้าน ตั้งบริษัทย่อยลุยธุรกิจโรงงานให้เช่า  

มั่นคงฯ เพิ่มทุน 1,000 ล้าน ตั้งบริษัทย่อยลุยธุรกิจโรงงานให้เช่า  

มั่นคงฯ เดินหน้าแผนธุรกิจ 5 ปี เพิ่มสัดส่วนธุรกิจเช่าและบริการ 50% เพิ่มทุน 1,000 ล้าน​ ตั้งบริษัทในเครือ “พรอสเพค รีท แมเนจเมนท์” มุ่งขยายธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า ภายใต้ชื่อ “โครงการบางกอก ฟรี เทรด โซน” พร้อมจัดตั้งกองทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาฯ     ตามแผนระยะ 5 ปี บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน)  ต้องการเพิ่มสัดส่วนกำไรในธุรกิจเพื่อเช่าและบริการ ให้ขึ้นมาเท่ากับธุรกิจพัฒนาเพื่อขาย หรือสัดส่วน 50% จากปัจจุบันรายได้และกำไรหลักมาจากธุรกิจพัฒนาเพื่อขาย ทำให้บริษัทมองหาโอกาสและเพิ่มพอร์ตธุรกิจเช่าและบริการให้มากขึ้น ในปีที่ผ่านมาบริษัทจึงได้ลงทุนถือหุ้น 100%  จัดตั้งบริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ (PD) เพื่อพัฒนาโครงการบางกอก ฟรี เทรด โซน (Bangkok Free Trade Zone : BFTZ) ซึ่งเป็นโรงงานให้เช่าที่ตั้งอยู่บนถนนบางนาตราด กม.23  ถือเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ สามารถเชื่อมโยงฐาน การผลิตในการขนส่งสินค้าทั้งทางบกทางอากาศและทางทะเล  เนื่องจากอยู่ใกล้กรุงเทพฯ และนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง อาทิ นิคมอุตสาหกรรมบางพลี และนิคมอุตสาหกรรมบางปู   ภายในโครงการประกอบด้วยอาคารคลังสินค้าและอาคารโรงงาน บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่เพื่อการเช่า (Leasable Area) 700 ไร่ และพื้นที่เพื่อการสาธารณูปโภค อาทิ ถนนสาธารณะ โรงบำบัดน้ำเสีย และส่วนการรักษาความปลอดภัยภายในโครงการ ฯลฯ อีก 300 ไร่  โครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่สีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า) จากปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้โครงการ BFTZ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อัตราการเช่าพื้นที่อยู่ที่ประมาณกว่า 90% โดยกลุ่มผู้เช่าหลักคือ ญี่ปุ่น มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 34% นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK  เปิดเผยว่า โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 อัตรารายได้จากค่าเช่าเติบโตถึง 30% และมีอัตราผู้เช่ากว่า 90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 จากพื้นที่เช่ากว่า 150,000 ตารางเมตร ปัจจุบันบริษัทฯ มีการก่อสร้างโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าเพิ่มเติมอีก 70,000 ตารางเมตร  ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563  โดยคาดว่าจะสามารถพัฒนาโครงการเต็มพื้นที่ประมาณ  280,000 ตารางเมตร  ภายในสิ้นปี 2563   จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของ พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท จึงได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ บริษัท พรอสเพค รีท แมเนจเมนท์ จํากัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว จะถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจของ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน)     นอกจากการอนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อยแล้ว ล่าสุดได้ออกหุ้นกู้มูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 1,650 ล้านบาท อายุ 3 ปี 11 เดือน 19 วัน ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2566 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.75%  ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ ซึ่งสามารถจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท โดยพร้อมเสนอขายในวันที่ 2 – 11 ธันวาคม 2562