Tag : News

2376 ผลลัพธ์
ความเชื่อมั่นค้าปลีกไทยดิ่งหนักโควิด-19 ทำกำลังซื้อหาย 25%

ความเชื่อมั่นค้าปลีกไทยดิ่งหนักโควิด-19 ทำกำลังซื้อหาย 25%

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ “ดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีก” เดือนมกรา 64 ดิ่งหนัก กระทบทุกพื้นที่ ทุกประเภทร้านค้า แต่กลุ่มร้านวัสดุก่อสร้างรับอานิสงค์ work from home คนแต่งบ้านเพิ่ม  ผู้ประกอบการแนะรัฐเเร่งคลอดมาตรการเยียวยากระตุ้นมู้ดจับจ่าย   นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลผลของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนมกราคม 2564 (รอบการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 19-26 มกราคม 2564) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการสำรวจเป็นรายเดือน พบว่า  ปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเพิ่มขึ้น แม้จะเริ่มมีข่าวดีด้านวัคซีน แต่ยังคงต้องใช้เวลาในการวัดผลประสิทธิภาพการรักษา ยกเว้นร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่มีปัจจัยหนุนจากการที่คนใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น พร้อมเสนอรัฐบาลเร่งเครื่องปล่อยมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ กระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมมากขึ้น เชื่อว่าความมั่นใจจะค่อยๆ ฟื้นตัวในระยะต่อไป ผู้ประกอบการหวังอีก3เดือนตลาดฟื้น ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือนมกราคม 2564 ลดลงทันทีอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม และเป็นการปรับลดลง จากความอ่อนไหวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19ระลอกใหม่ แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการเข้มข้นเพียง 28 จังหวัด ดัชนีความเชื่อมั่นก็ยังคงปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก ที่ภาครัฐมีมาตรการ Lock Down ทั้งประเทศ   อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ มองว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น รวมทั้งหวังว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นน่าจะมีทิศทางเดียวกับดัชนีเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2563 ทางด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาค ปรับลดลงจากเดือนธันวาคมในทุกภูมิภาค สะท้อนถึงสภาวะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งได้รับผลกระทบจาก super spreader ที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพ และปริมณฑล ที่มีอาณาเขตต่อเนื่องจากจังหวัดสมุทรสาคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มการบริโภคที่ขยายตัวได้ปานกลาง เนื่องจากประชากรส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายจากอุตสาหกรรมสู่ภูมิลำเนา ผสานกับแรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนสภาพคล่องและการใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยประคับประคองการบริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ   ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ มองว่า แนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเช่นกัน เนื่องจากมั่นใจว่าภาครัฐมีบทเรียนจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อไตรมาสที่สอง 2563 และคาดหวังว่าคงต้องมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐเช่นที่ผ่านมา ร้านวัสดุได้อานิสงค์ WFH ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ จำแนกตามประเภทร้านค้าปลีกเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคมและเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกประเภทของร้านค้าปลีกลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบของมาตรการภาครัฐที่ประกาศปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารในเวลา 21.00 น.   อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้มาตรการการทำงานจากบ้าน (WFH) ทำให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ซ่อมบำรุง เฟอร์นิเจอร์ กลับมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นสวนทางกลับดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าปลีกอื่นๆ   สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการประเภท ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ในเดือนมกราคม มีความเชื่อมั่นดีขึ้นสวนทางกับทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าประเภทอื่นๆ ที่ลดลงอย่างรุนแรง สะท้อนได้ว่าร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับวิถี New Normal ทำงานจากที่บ้าน (WFH) ทำให้มีความนิยมในการปรับภูมิทัศน์ภายในที่อยู่อาศัย ประกอบกับช่วงจัดซื้อจัดจ้างงบประมาณก่อสร้างภาครัฐ และวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างมีการปรับราคาที่สูงขึ้น อาทิ เหล็ก ปูนซีเมนต์ ไม้อัดต่างๆ จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นในธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ จึงดีกว่ากลุ่มอื่นๆ ห้าง-ซูเปอร์ ขาดความเชื่อมั่น ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า มีความวิตกต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม 2564 ที่ลดลงอย่างทันที ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 หรือลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งอย่างชัดเจน ในขณะที่ในเดือนธันวาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 สำหรับแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ายังคงมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยกลาง สะท้อนว่าผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ามีความมั่นใจว่าภาครัฐต้องมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วง 3 เดือนข้างหน้า   สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีกประเภท ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และ ร้านสะดวกซื้อ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม ลดลงมากและรวดเร็ว จากที่ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนธันวาคมยังอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงอย่างมาก เมื่อเทียบดัชนีประเภทร้านค้าทั้งสามประเภท ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต รู้สึกวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มากกว่าผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต   อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตกลับมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น สูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนของผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเล็กน้อย แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อยู่มาก สะท้อนถึงผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อไม่มีความมั่นใจในมาตรการภาครัฐที่ผ่านมา อาทิเช่น โครงการคนละครึ่ง ซึ่งร้านค้าสะดวกซื้อไม่ได้รับประโยชน์เลย   ผลจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ประเภทร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม มีความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมีนัยยะชัดเจน มากกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ค่อนข้างมาก และเมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นในเดือนธันวาคม 2563 ก็ยังลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะร้านอาหารมักเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดเวลาการให้บริการและจำนวนการให้บริการแต่ละรอบที่ลดลงจากมาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing   อีกทั้ง ผู้ประกอบร้านอาหารและเครื่องดื่มที่กรอกแบบสอบถามเป็นการบริหารแบบเชนสโตร์ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ปริมาณการสัญจรยังอยู่ระดับที่ลดต่ำลงมาก ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นผู้ประกอบการร้านอาหารภัตตาคาร เครื่องดื่ม ในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็ดีขึ้นกว่าเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ภาครัฐน่าจะควบคุมด้วยมาตรการที่เข้มข้นได้ดี   สมาคมฯ คาดการว่า การฟื้นตัวในระยะข้างหน้าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทธุรกิจค้าปลีก ที่สำคัญ หากการระบาดของโควิด-19 กินระยะเวลายาวนานขึ้น ความแตกต่างของการฟื้นตัวนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น 7 มุมมองผู้ประกอบการ จากผลกระทบโควิด-19 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบทำให้บรรดาร้านค้าประเภทต่าง ๆ ต้องปิดตัวลงในหลายพื้นที่ หรือแม้แต่พื้นที่ที่ไม่ได้ปิดตัวลง แต่มาตรการและการรณรงค์ให้เว้นระยะห่างทางสังคม ก็ส่งผลให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยน้อยกว่าปกติ ทำให้เกิดผลกระทบต่อร้านค้าประเภทต่าง ๆ ​ซึ่งผู้ประกอบการได้มีมุมมองและประเด็นสำคัญที่นำเสนอ เพื่อให้ภาครัฐหามาตรการออกมากระตุ้นตลาดโดยเร็วที่สุด ดังนี้   1.ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบด้านยอดขาย ที่ลดลง 10-30%   2.ผู้ประกอบการกล่าวว่า ด้วยยอดขายที่หายไปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อต้นปีที่แล้วจนมาระลอกใหม่เมื่อต้นปีนี้ สภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 6 เดือน หากไม่มีมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงเป้า   3.ผู้ประกอบการกว่า 80% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงมากว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2563   4.หากเปรียบเทียบยอดขายจากมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" เมื่อช่วงสิ้นปี 2563 (วงเงิน 30,000 บาท) เมื่อเทียบกับมาตรการช้อปช่วยชาติ (วงเงิน 15,000 บาท) ในปี 2561-2562 ผู้ประกอบการ 55% ตอบว่า มียอดขายเท่าเดิมและน้อยกว่าเดิม ขณะที่ผู้ประกอบการ 43% ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นไม่ถึง 25% และมีเพียง 2% ที่ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 25%   5.ผู้ประกอบการกว่า 90% อยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เข้าร่วมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ โครงการคนละครึ่ง   6.ผู้ประกอบการเสนอแนะให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน ด้วยมาตรการภาษีลดภาระค่าใช้จ่าย และ สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แก่ผู้ประกอบการโดยเร็ว เนื่องจากด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 6 เดือน   7.ผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐประกาศการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร เป็นการเฉพาะก่อน    
ซีบีอาร์อี แนะใช้ยาแรงฟื้นตลาดบ้าน-คอนโด  ขยายฐานราคา0-15ล.รับมาตรการรัฐ

ซีบีอาร์อี แนะใช้ยาแรงฟื้นตลาดบ้าน-คอนโด ขยายฐานราคา0-15ล.รับมาตรการรัฐ

ซีบีอาร์อี คาดตลาดอสังหาฯ ไทยปี 64 แต่ละธุรกิจฟื้นตัวแตกต่างกัน  จากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น มีความท้าทายจากความผันผวนของโรคโควิด-19  ตลาดโลจิสติกส์ขึ้นแท่นนำ ขณะที่ตลาดอาคารสำนักงานต้องเตรียมรับมือกับซัพพลายใหม่จำนวนมาก ส่วนตลาดโรงแรมและพื้นที่ค้าปลีกจะฟื้นตัวช้าสุด แนะภาครัฐอัดยาแรงในตลาดที่อยู่อาศัย ขยายฐานกลุ่มบ้าน-คอนโด ราคาตั้งแต่ 0-15 ล้านให้ได้รับอานิสงค์ พร้อมปลดล็อกขายลิสโฮลด์ขายบ้าน-ที่ดินได้ถึง 60 ปี ตลาดที่พักอาศัย : ปรับสมดุลราคา ซีบีอาร์อีเชื่อว่าตลาดที่พักอาศัยโดยรวมในกรุงเทพฯ จะยังคงชะลอตัวในปี 2564 และมีความเสี่ยงเนื่องจากโควิด-19 รอบใหม่ ได้ทำให้ผู้ซื้อชาวไทยและชาวต่างชาติใช้เวลาในการตัดสินใจนานขึ้น   การเปิดตัวโครงการใหม่จะมีไม่มากนักโดยจะเป็นโครงการในย่านรอบนอกใจกลางเมือง (มิดทาวน์) และชานเมือง เพราะราคาที่ดินยังอยู่ในระดับราคาที่พัฒนาได้และทำให้ราคาขายเริ่มมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น   ในปี 2564 ผู้พัฒนาโครงการจะยังให้ความสำคัญกับยูนิตที่แล้วเสร็จแต่ยังเหลือขายที่มีอยู่ในมือ แต่ขณะเดียวกันก็มองหาโอกาสใหม่ในทำเลใหม่ๆ และให้ความสำคัญกับสภาพคล่องทางการเงินด้วย   ตลาดที่พักอาศัยแนวราบจะเป็นตลาดหลักสำหรับการพัฒนาโครงการใหม่ๆ เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการต้องการลดความเสี่ยง   ขณะที่ความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมยังคงมีอยู่แต่มีงบประมาณที่น้อยลง   นอกจากนี้ผู้พัฒนาโครงการจะเปลี่ยนไปพัฒนาโครงการที่มีขนาดเล็กลง เพื่อลดขนาดการลงทุน และทำให้ผ่านเกณฑ์การอนุมัติเงินทุนจากธนาคารได้ง่ายขึ้น   นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า  จากธุรกรรมซื้อขายที่ผ่านซีบีอาร์อีในปี 2563 พบว่าตลาดที่พักอาศัยระดับลักซ์ชัวรี่ที่เป็นกลุ่มเฉพาะยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมากจากทั้งลูกค้าที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองและนักลงทุน โดยเฉพาะที่พักอาศัยที่บริหารโดยเครือโรงแรมและบ้านหรู แต่ลูกค้าใช้ระยะเวลาการตัดสินใจนานขึ้น   เป็นที่น่าสังเกตว่ายูนิตขนาดใหญ่ในตลาดระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่ซึ่งยอดขายชะลอตัวในอดีตกลับมามียอดขายมากขึ้นในปีที่ผ่านมา  นักลงทุนต่างชาติที่สนใจลงทุนในไทย โดยเฉพาะชาวจีน ยังคงให้ความสนใจตลาดในทุกระดับ แต่ยอดขายจากลูกค้ากลุ่มนี้จะกลับมาก็ต่อเมื่อสามารถเดินทางเข้ามาไทยได้ โปรโมชั่นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพจากรัฐบาลยังคงมีความจำเป็นสำหรับการดึงดูดผู้ซื้อต่างชาติ  ซีบีอาร์อีคาดหวังว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลออกมาอีกโดยควรจะครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยตลาดในปีนี้   โดยเห็นว่ามาตรการที่จะช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยได้ดี คือ การขยายฐานระดับราคาที่อยู่อาศัย ให้ครอบคลุมมากขึ้น จากปัจจุบันที่ให้เฉพาะระดับบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท เห็นว่าควรขยายฐานราคาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 0 บาทไปจนถึง 15 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มที่อยู่อาศัยแบบสิทธิการเช่า หรือ ลิสโฮลด์นั้นควรขยายระยะเวลาให้เช่านานถึง 60 ปี เพื่อกระตุ้นตลาดในกลุ่มชาวต่างชาติให้เข้ามาซื้ออสังหาฯ​ ไทยเพิ่มมากขึ้น​ สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ได้ คือ นโยบายของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันมาตรการยังกระจัดกระจายและยังไม่อิมแพคมากพอ ตลาดอาคารสำนักงาน: ปรับเปลี่ยนอนาคตของสถานที่ทำงาน ซีบีอาร์อีมองเห็นว่าองค์กรต่างๆ กำลังคิดทบทวนเรื่องการออกแบบสถานที่ทำงานและวิธีการใช้พื้นที่ เนื่องจากการให้พนักงานเป็นศูนย์กลางและการทำงานแบบไฮบริดหรือการใช้พื้นที่สำนักงานรูปแบบเดิมควบคู่ไปกับการผสมผสานระหว่างการใช้พื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นกับการทำงานระยะไกลจะเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับหน้าที่และลักษณะเฉพาะของแต่ละบริษัทและแต่ละหน่วยธุรกิจ นางสาวรุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ หัวหน้าแผนกพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า สำหรับอนาคตของตลาดอาคารสำนักงาน ความกังวลที่สำคัญประการหนึ่งของซีบีอาร์อีคือจำนวนซัพพลายใหม่ที่จะเพิ่มเข้าสู่ตลาด  โดยในปี 2564 มีพื้นที่สำนักงานที่คาดว่าจะแล้วเสร็จจำนวน 334,000 ตารางเมตร  ซึ่งจะทำให้พื้นที่สำนักงานทั้งหมดในกรุงเทพฯ ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 9.49 ล้านตารางเมตร   ในสภาวะตลาดที่ไม่แน่นอนเช่นนี้  ซีบีอาร์อีได้เห็นว่าเจ้าของอาคารมีการเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จของอาคารเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขัน  นอกจากนี้ยังคาดว่าค่าเช่าโดยรวมในตลาดจะอยู่ในระดับทรงตัว  และตลาดจะเปลี่ยนไปสู่การเป็นตลาดของผู้เช่าโดยเฉพาะผู้เช่ารายใหญ่ที่ใช้พื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่ ตลาดพื้นที่ค้าปลีก: พฤติกรรมเปลี่ยนส่งผลให้ต้องปฏิรูป ธุรกิจค้าปลีกของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และส่งผลให้ในปี 2563 ยอดผู้ใช้บริการลดลงอย่างมากและความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ลดลงเช่นกัน   ซีบีอาร์อีเห็นว่าเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกได้มีการทบทวนโครงการที่มีการวางแผนไว้ รวมถึงแผนการลงทุน  ซึ่งจะมีการเสนอสัญญาเช่าที่ยืดหยุ่นมากขึ้นให้กับผู้เช่าและจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ภายในพื้นที่ศูนย์การค้า    ในทางกลับกัน ผู้ค้าปลีกจะลดขนาดและปรับรูปแบบพื้นที่เช่าเพื่อลดค่าใช้จ่ายและทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น  ธนาคารต่างกำลังย้ายไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์และต้องการพื้นที่สาขาน้อยลง   ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะให้ความสำคัญกับบริการส่งอาหารมากขึ้น และร้านขายสินค้าแฟชั่นจะมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลายมากขึ้น   นอกจากการเปลี่ยนสถานะการเช่าจากแบบถาวรมาเป็นแบบชั่วคราวแล้ว ผู้เช่าจะพัฒนาให้เป็นร้านค้ารูปแบบที่เล็กลง เช่น ป๊อปอัปสโตร์ เพื่อรักษาผลกำไรในช่วงที่สถานการณ์ไม่แน่นอนเช่นนี้   ตลาดโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์: เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าพักและผู้เช่า ตลาดโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในกรุงเทพฯ คือหนึ่งในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยลดลงจาก 40 ล้านคนในปี 2562 ไปเป็นต่ำกว่า 7 ล้านคนในปี 2563 ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะกลับคืนสู่ระดับเดียวกับปี 2562 ได้ในปี 2565 โดยต้องขึ้นอยู่กับความสำเร็จของวัคซีนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทยอย่างจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และอินเดีย   นายรัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย  กล่าวว่า “ในขณะเดียวกัน  เจ้าของโรงแรมและผู้บริหารจัดการโรงแรมถูกบังคับให้มุ่งเน้นไปที่ตลาดท่องเที่ยวในประเทศ โดยอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศแต่เพียงอย่างเดียวเพื่อให้อยู่รอด   ซีบีอาร์อีเห็นว่าโรงแรมต่างๆ ได้หาหนทางใหม่ๆ ในการดำเนินงานและทำการตลาด ตั้งแต่แพ็กเกจการทำงานจากโรงแรม (Work From Hotel) แพ็กเกจการเข้าพักแบบ Staycation (การพักผ่อนในสถานที่ใกล้ๆ) ไปจนถึงข้อเสนอพิเศษสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้เข้าพัก    โรงแรมบางแห่งอาจเลือกที่จะเปิดให้บริการเป็นบางส่วนหรือเปิดเฉพาะร้านอาหารและเครื่องดื่ม  โดยอาศัยช่วงเวลาที่มีผู้เข้าใช้บริการน้อยเป็นการทดลองเปิดให้บริการ และพยายามให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานน้อยที่สุด” ตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์: ความต้องการสะสมถูกขัดขวางด้วยการห้ามเดินทาง นายอาดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดโลจิสติกส์ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการแพร่ระบาด เนื่องจากโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคไทยปรับตัวเข้าสู่อี-คอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งผลักดันให้เกิดความต้องการพื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ารุ่นใหม่ (Modern Logistics Property - MLP) ในประเทศไทย   พื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ารุ่นใหม่มากกว่า 400,000 ตร.ม. ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าสู่ตลาดภายในปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบสร้างขึ้นตามความต้องการเฉพาะ (Built-to-Suit)   สำหรับด้านซัพพลายเชน  ผู้ผลิตในจีนหลายรายพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า  นักลงทุนเริ่มให้ความสนใจซื้อโรงงานมากกว่าเช่าโรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถควบคุมดูแลสถานที่ได้มากขึ้น  ในขณะที่ผู้พัฒนาโรงงานหลายรายชะลอการสร้างโรงงานสำเร็จรูป (Ready-Built Factory - RBF) แบบสร้างเสร็จก่อนขาย   ตลาดการลงทุน: ทบทวนพอร์ตและกลยุทธ์การลงทุน โควิด-19 ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเป็นตลาดของผู้เช่าและผู้ซื้อมากขึ้น โดยผู้เช่าจะมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นโดยอสังหาริมทรัพย์จะถูกนำออกมาขายมากขึ้น  เนื่องจากเจ้าของพื้นที่และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องการถือเงินสด  ซีบีอาร์อีเชื่อว่าเรื่องนี้อาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาอสังหาริมทรัพย์ที่ยอมลดราคา แต่ความคาดหวังที่แตกต่างกันระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อจะยังคงเป็นปัญหาสำคัญ  ราคาที่ดินจะอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลมากขึ้นเพราะราคาที่ดินโดยรวมในทำเลชั้นนำยังไม่เปลี่ยนแปลง  อย่างไรก็ตาม ราคาที่ดินในย่านรอบนอกใจกลางเมืองและชานเมืองโดยรวมลดลง ยกเว้นบางพื้นที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามการขยายเส้นทางระบบขนส่งมวลชนและการขยายถนนในพื้นที่   นางกุลวดี สว่างศรี หัวหน้าแผนกการลงทุนและที่ดิน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวสรุปว่า เจ้าของพื้นที่และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ในเชิงรุกเพื่อรักษารายได้และบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ   การลงทุนแต่ละครั้งจะได้รับการประเมินหลายครั้งเพื่อทำความเข้าใจกับการแทรกแซงจากคู่แข่ง รวมถึงความต้องการของผู้เช่านั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และช่วงเวลานี้เหมาะสมที่จะลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ที่มีอยู่หรือขายออก      
2 กลยุทธ์เอาตัวรอด “เฟรเซอร์ส” ในภาวะตลาดออฟฟิศให้เช่าดีมานด์หายกว่า 50%

2 กลยุทธ์เอาตัวรอด “เฟรเซอร์ส” ในภาวะตลาดออฟฟิศให้เช่าดีมานด์หายกว่า 50%

ตลาดออฟฟิศให้เช่าปี 63 ดีมานด์หายกว่า 50% แต่ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล ประเทศไทย”  ยังคงรักษาอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยสูงกว่า 90% ในทุกอาคาร หลังใช้ 2 กลยุทธ์สำคัญ ทั้งการรักษาฐานผู้เช่าปัจจุบัน  และจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณ ปรับลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น     นายวิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า  ปี 2563 เป็นปีที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นครั้งแรก ซึ่งส่งผลกระทบเป็นกว้าง สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชยกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม พื้นที่จัดประชุมสัมมนา และศูนย์การค้า  ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาทบทวนและปรับรูปแบบการให้บริการ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้   “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่บริษัทฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากมีพอร์ตอาคารสำนักงานกว่า 209,000 ตร.ม. โดยสิ่งที่บริษัทฯ ทำตลอดปีที่ผ่านมา คือ การบริหารจัดการทรัพยากรและต้นทุนภายใน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนเตรียมความพร้อม เพื่อจะรับมือกับความท้าทายและความไม่แน่นอนต่าง ๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต” ส่วนภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานปี 2563 ที่ผ่านมา มีความต้องการเช่าหรือขยายพื้นที่สำนักงานรวมลดลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับ 1-2 ปีก่อน (2561-2562) แต่ในส่วนของบริษัทยังคงรักษาอัตราการเช่าได้เฉลี่ยสูงกว่า 90% ซึ่งเป็นผลมาจากทุกอาคารของบริษัท​เป็นอาคารคุณภาพเกรด A ตั้งอยู่ในศูนย์กลางเศรษฐกิจ อาทิ เพลินจิต สาทร พระราม 4 และสามย่าน และมีกลยุทธ์ในการเลือกผู้เช่าที่กระจายสัดส่วนในหลายธุรกิจ ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเท่านั้น   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทยังไม่ได้รับสัญญาณการขอลดพื้นที่หรือยกเลิกการเช่า แต่บริษัทฯ ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบ หากเกิดการลดพื้นที่ของผู้เช่าและธุรกิจซึ่งเป็นผู้เช่าของบริษัท   นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทมีการปรับรูปแบบการดำเนินงาน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.รักษาฐานผู้เช่าปัจจุบัน เน้นสร้างความสัมพันธ์ และสร้างความเชื่อมั่นในด้านการให้บริการกับผู้เช่า บริษัทดำเนินการรักษาฐานผู้เช่า ด้วยการจัดลำดับค่าใช้จ่าย เพื่อดูแลผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม โดยมีการเข้าไปพูดคุยกับผู้เช่าทุกรายเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย และมาตรการต่าง ๆ ที่ทางบริษัทบริหารจัดการ เพื่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพทางการเงินของผู้เช่าอย่างใกล้ชิด นอกเหนือจากนี้บริษัทไม่คิดค่าเช่าและค่าบริการในธุรกิจที่ถูกสั่งปิดตามประกาศจากภาครัฐ และมีการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม 2.จัดลำดับความสำคัญของงบประมาณ ปรับลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น และเพิ่มงบประมาณด้านความปลอดภัย บริษัทลดงบประมาณด้านการตลาดและเพิ่มงบประมาณด้านการดูแลสุขภาพและความปลอดภัย โดยงดเว้นการจัดกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มคน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ลดความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ และนำงบประมาณดังกล่าวมาเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัย อาทิ การลงทุนในอุปกรณ์เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ การฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกสัปดาห์ และเพิ่มความถี่การทำความสะอาดจุดสัมผัสทั้งหมดทุกชั่วโมง  ทั้งนี้บริษัทไม่มีนโยบายลดพนักงาน แม้จะมีบางโซนหรือบางพื้นที่ถูกภาครัฐประกาศให้ปิดกิจการในช่วงล็อคดาวน์ ปัจจุบัน เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล ประเทศไทย มีพื้นที่สำนักงานที่อยู่ภายใต้การดูแล รวมทั้งสิ้น 5 อาคาร ได้แก่ อาคารมิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ อาคารโกลเด้นแลนด์ และภายใต้ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์โกลเด้นเวนเจอร์ (GVREIT) ได้แก่ อาคารสาทรสแควร์ และอาคารปาร์คเวนเชอร์ คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 209,000 ตารางเมตร มีพนักงานของบริษัทฯ ผู้เช่าชั้นนำในประเทศไทยและต่างประเทศกระจายในหลากหลายธุรกิจซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่า 20,000 คนต่อวัน        
[PR News] เพอร์เฟค จับมือ 2 บริษัทประกันภัย มอบประกันให้ลูกค้า-ลูกบ้าน

[PR News] เพอร์เฟค จับมือ 2 บริษัทประกันภัย มอบประกันให้ลูกค้า-ลูกบ้าน

พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ใส่ใจสุขภาพผู้อยู่อาศัยต่อเนื่อง ล่าสุดร่วมกับ วิริยะประกันภัย มอบประกันสุขภาพ  และอุบัติเหตุความคุ้มครองสูงสุด 700,000 บาทแก่ผู้ซื้อบ้าน พร้อมร่วมกับ ทิพยประกันภัย   มอบประกันภัยไวรัสโคโรนาคุ้มครองสูงสุด100,000 บาท ให้แก่ลูกบ้าน เริ่ม ก.พ. นี้      นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เทรนด์สุขภาพเป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจอย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน  ทั้งมลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงโควิด -19 ทำให้คนหันมาสนใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้นกว่าเดิม ที่ผ่านมา พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ตระหนักดีถึงการพัฒนาสินค้าและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ อาทิ การพัฒนาบ้านนวัตกรรมอากาศบริสุทธิ์ที่สามารถป้องกันปัญหาเรื่องฝุ่น  PM 2.5 ด้วยเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น การติดตั้งเครื่องปรับอากาศภายในบ้านที่สามารถกรองฝุ่น  PM 2.5 เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี   ล่าสุด บริษัทยังมีสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพมอบให้ทั้งลูกค้าและลูกบ้าน โดยร่วมกับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) คุณวินน์  วโรตมะกุล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Non Motor ด้านประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุ มอบประกันภัยสุขภาพและประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล Viriyah Healthcare by BDMS ให้แก่ลูกค้าที่จองซื้อบ้านหรือคอนโดของพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ทุกโครงการ (ยกเว้น เลค เลเจ้นด์ และ อยู่รวยคอนโด) ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.นี้ เป็นต้นไป ด้วยผลประโยชน์ความคุ้มครองแบบเหมาจ่ายต่อปีสูงสุด 700,000 บาท ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล อาทิ กรณีนอนพักรักษาในโรงพยาบาล กรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยเข้ารับการรักษาได้จากกลุ่มโรงพยาบาลในเครือข่าย BDMS ที่มีอยู่ทั่วประเทศ และคุ้มครองรวมถึงกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ รวมจำนวน 2,000 กรมธรรม์ คิดเป็นวงเงินคุ้มครองสูงถึง 1,400 ล้านบาท   พร้อมกันนี้ยังร่วมกับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดย คุณณฐินี ธนะรัชต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคล และ คุณณาศิส ประเสริฐสกุล     ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารการลงทุน มอบความคุ้มครองตามแผนประกันภัยไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 วงเงินคุ้มครองสูงสุด 100,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี ให้แก่ลูกบ้านที่ได้ชำระ     ค่าสาธารณูปโภคให้กับบริษัทตลอดปี 63 ที่ผ่านมา รวมถึงลูกบ้านที่ได้แนะนำเพื่อนเพื่อการจองซื้อบ้าน ในโครงการของพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค รวมจำนวน 7,000 กรมธรรม์ คิดเป็นวงเงินคุ้มครองทั้งสิ้น  700 ล้านบาท ทั้งนี้ จากความร่วมมือระหว่าง พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค วิริยะประกันภัย และ ทิพยประกันภัย เพื่อสร้างความอุ่นใจแทนความห่วงใยและใส่ใจในเรื่องสุขภาพ พร้อมกับเพิ่มความมั่นใจในการดำเนินชีวิตประจำวันให้กับทั้งลูกค้าและลูกบ้านได้มากยิ่งขึ้น
New Normal ตลาดออฟฟิศให้เช่า ใช้พื้นที่น้อยแต่ยืดหยุ่นสูง

New Normal ตลาดออฟฟิศให้เช่า ใช้พื้นที่น้อยแต่ยืดหยุ่นสูง

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการทำงานที่หันมาใช้วิธีทำงานจากที่บ้าน (work from home) กันมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายรูปแบบต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือในการทำงาน เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม และลดการได้รับเชื้อโรค ทั้งจากการเดินทางและการพบปะผู้คน   คำถามที่เกิดขึ้น คือ เมื่อสถานการณ์และรูปแบบการทำงานเป็นแบบนี้ แล้วพื้นที่สำนักงานยังมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพราะทุกคนสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา และก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจให้บริการพื้นที่สำนักงานให้เช่า ก็มีทิศทางเติบโตที่ดี มีผู้ประกอบการจำนวนมาก หันมาพัฒนาพื้นที่เพื่อเตรียมรองรับกับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต โควิด-19 พ่นพิษ ความต้องการใช้ออฟฟิศลดลง ล่าสุด นายภัทรพล ยุทธศักดิ์นุกูล นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอรายงานเรื่อง New Normal ของตลาดสำนักงานให้เช่า จากผลกระทบของโควิด-19 เพื่อให้เห็นภาพรวมของตลาดสำนักงาน ที่มีปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตและเทรนด์ในอนาคต โดยรายงานของ EIC ระบุว่า โควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการพื้นที่สำนักงานเปลี่ยนแปลงไปในมิติสำคัญ 2 ด้าน คือ 1.ความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าที่ลดลง สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ ความต้องการ (Demand) พื้นที่สำนักงานให้เช่าลดลงนั้น เกิดจากจำนวนบริษัทที่ลดลง เพราะมีการปิดกิจการที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ การเปิดธุรกิจใหม่ก็มีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน และหลายบริษัทมีนโยบาย work from home ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานลดลง และอาจกลายเป็น new normal ของหลายบริษัทในอนาคต 2.ความต้องการพื้นที่สำนักงานรูปแบบใหม่ ความต้องการพื้นที่สำนักงานจะปรับเปลี่ยนไปสู่สำนักงานรูปแบบใหม่อย่างเช่น flexible space ที่ต้องตอบสนอง เทรนด์การทำงานแบบใหม่ที่ต้องการความคล่องตัวและมีความยืดหยุ่นทำให้สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้สอยได้ตามความต้องการ ธุรกิจไปต่อไม่ไหว ปิดกิจการพุ่งกว่า 2 หมื่นราย​ โควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำนวนมากประสบปัญหาจนมีแนวโน้มการปิดกิจการเพิ่มขึ้น ขณะที่การเปิดกิจการใหม่มีแนวโน้มลดลง นำไปสู่การชะลอตัวของอุปสงค์ต่อพื้นที่สำนักงาน   วิกฤติ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 บริษัทต่าง ๆ เริ่มกลับไปดำเนินงานที่สำนักงานภายหลังคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่ในช่วงปลายปี 2563 ได้มีการระบาดรอบใหม่ส่งผลให้หลายบริษัทจำเป็นต้องกลับไปอยู่ในภาวะใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์อีกครั้ง   ทั้งนี้ สภาพเศรษฐกิจที่หดตัวลงอย่างมากส่งผลให้หลายธุรกิจประสบปัญหา จนต้องมีการปรับลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการดำเนินงาน ปรับลดจำนวนพนักงาน ปรับลดพื้นที่เช่า ตลอดจนปิดกิจการในท้ายที่สุด ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากและเป็นผู้เช่าสำคัญของธุรกิจสำนักงาน คือ ธุรกิจในภาคบริการ ซึ่งเป็นสัดส่วนราว 85% ของธุรกิจทั้งหมดในไทย   จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (รูปที่ 1) พบว่า จำนวนบริษัทในภาคบริการที่ปิดกิจการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากข้อมูลล่าสุดในปี 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ​มาอยู่ที่ 21,440 ราย ขณะที่จำนวนธุรกิจบริการที่เริ่มกิจการใหม่ กลับหดตัวลดลง 12% จากปีก่อนหน้า ​จากระดับเฉลี่ยที่มีการเพิ่มขึ้นราว 4% ต่อปีในช่วงปี 2557-2562 ส่งผลให้จำนวนบริษัทที่ดำเนินการอยู่โดยรวม มีแนวโน้มลดลงและนำไปสู่การชะลอตัวของความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่า   ไม่เพียงแค่ภาคธุรกิจในประเทศเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันความต้องการจากบริษัทต่างชาติก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน สะท้อนจากจำนวนชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน (aliens work permit) ในกรุงเทพฯ ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงประมาณ ​9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ​ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอตัวของการลงทุนของบริษัทต่างชาติ ที่เป็นหนึ่งในผู้เช่าหลักของพื้นที่สำนักงานโดยเฉพาะพื้นที่เกรด A   นอกจากนี้  จากบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการคาดการณ์แนวโน้ม การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของทั้งโลก (Global foreign direct investment) ของ UNCTAD คาดว่าในปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของทั้งโลกอาจลดลงประมาณ​ 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ​และในปี 2564 จะลดลงต่อเนื่องราว 5-10% จากปีก่อนหน้า​และเริ่มกลับมาฟื้นตัวในปี 2565 หลังล็อกดาวน์ หลายธุรกิจให้ work from home ต่อ นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังส่งผลให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาสู่การ work from home ซึ่งบางบริษัทมีการปรับใช้รูปแบบการทำงานที่บ้านอย่างต่อเนื่องในระยะยาว   ในการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2563 ส่งผลให้หลายบริษัทจำเป็นที่จะต้องกลับไปใช้นโยบายในการ work from home อีกครั้ง ส่งผลให้การเดินทางไปทำงานเริ่มหดตัวอีกครั้งหนึ่ง เห็นได้จาก Google mobility index ของไทย (รูปที่ 2) ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดง traffic ของการเดินทางไปยังสถานที่ประเภทต่าง ๆ ของผู้ใช้บริการ Google พบว่า ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ การเดินทางไปที่ทำงานลดลงอย่างมาก แม้ว่าภายหลังคลายล็อกดาวน์ จะมีแนวโน้มที่ traffic ของการไปทำงานจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังคงน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19  โดยลดน้อยลงประมาณ 10%-20% จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุดปีใหม่ ส่งผลให้แนวโน้มที่กำลังฟื้นตัวขึ้น เริ่มกลับไปหดตัวอีกครั้ง   ทั้งนี้ ในระยะต่อไป บริษัทหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบาย work from home ต่อในระยะยาว หรือมีการปรับตัวโดยการลดวัน/เวลาในการเข้าทำงานในแต่ละสัปดาห์ลง เนื่องจากสามารถลดต้นทุนดำเนินธุรกิจได้ดี อีกทั้ง พนักงานยังได้รับความสะดวกมากขึ้นจากการลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น จากผลสำรวจของ Gartner เกี่ยวกับการรับมือกับ โควิด-19 ของ CFO (CFO Actions in Response to covid-19) จากผู้บริหารมากกว่า 15,000 บริษัททั่วโลกรวมถึงไทย (รูปที่ 3) พบว่า ภายหลังจากสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย บริษัททั่วโลกราว 74% ยังคงมีนโยบายให้พนักงานอย่างน้อย 5% สามารถที่จะทำงานจากที่บ้านได้ต่อไป  ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานมีแนวโน้มชะลอลง อนาคตพื้นที่ออฟฟิศต้องการ flexible space แม้ว่าพนักงานบริษัทมีความต้องการที่จะใช้เวลาทำงาน จากทั้งออฟฟิศและบ้าน แต่พื้นที่สำนักงานยังคงจำเป็นต่อการทำงาน แต่รูปแบบของสำนักงานอาจต้องปรับเปลี่ยนไป โดย flexible space เป็นรูปแบบหนึ่งที่ตอบสนองเทรนด์การทำงานในอนาคต   จากผลสำรวจของ CBRE เกี่ยวกับรูปแบบสำนักงานในอนาคต (The Future of the Office Survey) จากพนักงานออฟฟิศ 10,000 คน จากหลายประเทศทั่วโลก  ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป อินเดีย และเอเชียตะวันออก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย พบว่า ภายหลังจากเหตุการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย 28% ของพนักงานออฟฟิศต้องการทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลา ขณะที่ 67% ของพนักงานออฟฟิศต้องการใช้เวลาทำงานจากทั้งออฟฟิศและบ้าน ส่งผลให้พื้นที่สำนักงานยังมีความจำเป็นอยู่บางส่วน แต่รูปแบบของพื้นที่สำนักงานจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไป เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานในอนาคต   โดยบริษัทส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับพื้นที่สำนักงานเพื่อตอบโจทย์องค์กร 3 ด้านคือ 1.การสร้างความร่วมมือ นวัตกรรม และประสิทธิภาพในการทำงาน 2.ความสามารถในการสะท้อนภาพลักษณ์และวัฒนธรรมขององค์กร 3.สถานที่สำหรับพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์   ดังนั้น รูปแบบการใช้งานของพื้นที่สำนักงานอาจเปลี่ยนไป พนักงานทุกคนอาจไม่ต้องการโต๊ะทำงานประจำอีกต่อไป อาจต้องการเพียงพื้นที่นั่งทำงานร่วมกันเป็นทีมหรือมุมทำงานส่วนตัว ห้องประชุมอาจต้องมีเทคโนโลยีที่สามารถรองรับได้ทั้งพนักงานที่เข้าประชุมที่สำนักงานและผ่านทางช่องทางออนไลน์   จากผลสำรวจของ CBRE ยังพบว่า 56% ของบริษัทที่มีการสำรวจจะใช้พื้นที่สำนักงานที่เป็นรูปแบบ flexible space ในอนาคต เนื่องจากเป็นรูปแบบที่มีความคล่องตัวสูงและพื้นที่ใช้งานค่อนข้างหลากหลาย โดยอาจมีทั้งพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการทำงานเป็นทีม หรือพื้นที่ส่วนตัวสำหรับผู้ที่ต้องการสมาธิ   ทั้งนี้ ความหมายโดยกว้างของ flexible space คือ พื้นที่สำนักงานที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้สอยได้ตามความต้องการในการใช้งาน โดย flexible space มักประกอบไปด้วยพื้นที่ทำงาน อุปกรณ์สำนักงาน สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ อีกทั้ง ระยะเวลาในการทำสัญญายังสั้นกว่าสำนักงานทั่วไป   flexible space จะครอบคลุมรูปแบบพื้นที่สำนักงาน ดังนี้ 1.สำนักงานสำเร็จรูป (serviced offices) คือพื้นที่สำนักงานให้เช่าพร้อมเฟอร์นิเจอร์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยผู้เช่ามักเป็นองค์กรหรือธุรกิจที่เริ่มตั้งใหม่หรืออยู่ในช่วงขยายกิจการ เนื่องจากสำนักงานลักษณะนี้มีเงื่อนไขและสัญญาเช่าที่ยืดหยุ่นมากกว่าพื้นที่สำนักงานให้เช่าทั่วไป 2.Co-working spaces เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถเข้าใช้บริการได้ทั้งแบบส่วนบุคคลและแบบกลุ่ม และใช้พื้นที่ร่วมกันได้หลายกลุ่มในเวลาเดียวกัน พื้นที่นี้จะเน้นการแบ่งปันและสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เช่าผ่านการจัดกิจกรรมของ community manager ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและตอบสนองความต้องการของผู้เข้าใช้บริการพื้นที่ ส่งผลให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนกว่าสำนักงานสำเร็จรูป ตลาดออฟฟิศ 64 ซึมต่อเนื่อง แนวโน้มการชะลอตัวของภาคธุรกิจและเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ ส่งผลให้ตลาดสำนักงานให้เช่าในกรุงเทพฯ ปี 2564 มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องอีกเล็กน้อยจากในปี 2563   เนื่องจากผลจากการระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19 โดย EIC คาดว่าการชะลอตัวของตลาดในปี 2564 มาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.พื้นที่ให้เช่าได้ ในกรุงเทพฯ ลดลง 0.5% -1.0% พื้นที่สำนักงานให้เช่าได้ (occupied space) ในกรุงเทพฯ ในปี 2564 มีแนวโน้มชะลอตัวลงอีกเล็กน้อย โดยพื้นที่ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พื้นที่แถบนอกศูนย์กลางทางธุรกิจ (Non CBD) ทั้งนี้ผลจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้แผนการขยายหรืออัปเกรดพื้นที่สำนักงานต่าง ๆ ในปี 2563 ถูกเลื่อนออกไป   สำหรับแนวโน้มในปี 2564 ภาพรวมของพื้นที่ให้เช่าได้จะชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะลดลง 0.5% -1.0% (รูปที่ 4) โดยความต้องการพื้นที่เช่าจะลดลงจากการปิดกิจการหรือลดพื้นที่เช่า  อย่างไรก็ดี พื้นที่เช่าส่วนหนึ่งจะถูกชดเชยด้วยความต้องการพื้นที่เช่า จากในบางกลุ่มธุรกิจที่ยังมีความต้องการขยายพื้นที่ ได้แก่ ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ   นอกจากนี้ หลายโครงการที่จะเปิดตัวในปี 2564 มีกลุ่มผู้เช่าแล้วบางส่วนจากที่มีทำสัญญาไว้ล่วงหน้า ประกอบกับเจ้าของโครงการมีแนวโน้มที่จะตั้งราคาค่าเช่าให้ต่ำลง เพื่อดึงดูดผู้เช่าเข้าสู่โครงการ อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และยังมีความเปราะบางทำให้หลายภาคธุรกิจยังต้องระมัดระวังในการขยายกิจการ ส่งผลให้อัตราเติบโตของความต้องการต่อพื้นที่สำนักงานต่ำกว่าในอดีต   โดยพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พื้นที่แถบย่านนอกศูนย์กลางทางธุรกิจ (Non CBD) ที่มีบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นผู้เช่าอยู่เป็นสัดส่วนมากกว่าย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ (CBD) เนื่องจากธุรกิจกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่  ส่งผลให้ต้องปรับตัวมากเพื่อให้สามารถอยู่รอดในภาวะวิกฤติ โดยหลายบริษัทต้องมีการลดจำนวนพนักงานหรือบางกิจการอาจต้องปิดดำเนินการส่งผลให้ความต้องการปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก 2.อัตราค่าเช่า ต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิด โควิด-19 อัตราค่าเช่าปี 2564 มีแนวโน้มปรับลดลงอีกเล็กน้อย และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิด โควิด-19 จากความต้องการที่ชะลอตัว ในขณะเดียวกันกับที่มีจำนวนพื้นที่ใหม่เข้ามาในตลาดซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการปรับขึ้นของค่าเช่า   ในช่วงที่ 4-5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสำนักงานให้เช่ายังมีรายได้เติบโตดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราค่าเช่า ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.5% ต่อปีในช่วงปี 2558-2562 จากอัตราการเช่าที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจาก โควิด-19 ทำให้ความต้องการมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงมาก   โดยอัตราค่าเช่าเฉลี่ยในกรุงเทพฯ ในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว โดยจะเห็นผลกระทบค่อนข้างชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2 จากนโยบายล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งผู้ประกอบการให้เช่าสำนักงานหลายแห่ง  ได้ลดหย่อนค่าเช่าเพื่อช่วยเหลือผู้เช่าในโครงการที่ได้รับผลกระทบ​  และหลายรายยังคงลดหย่อนค่าเช่า​ต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายปี 2563   สำหรับปี 2564 คาดว่าอัตราค่าเช่าจะลดลงอีกเล็กน้อย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกครั้ง  จากการระบาดรอบใหม่  ขณะที่จำนวนในพื้นที่ให้เช่ายังมีแนวโน้มชะลอตัว  จากจำนวนพื้นที่ให้เช่าใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นถึงราว 334,000 ตารางเมตรในปี 2564 (รูปที่ 5) ส่งผลให้ค่าเช่าไม่สามารถเติบโตได้ดีนัก   ในระยะกลาง จำนวนพื้นที่สำนักงานแห่งใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก จะกดดันให้เกิดภาวะจำนวนพื้นที่ส่วนเกิน ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราการเช่าปรับตัวลดลง พื้นที่ใหม่เข้าตลาดอีกกว่า 4.58 แสนตร.ม. เนื่องจากในช่วงปี 2565-2566  จำนวนพื้นที่สำนักงานใหม่ ที่เข้าสู่ตลาดจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 458,000 ตารางเมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2558-2562  ถึงประมาณ​ 3 เท่า (รูปที่ 5) โดยเฉพาะสำนักงานเกรด A ในพื้นที่ CBD ที่มีสัดส่วนของพื้นที่ใหม่ถึง 55% ของพื้นที่ใหม่ทั้งหมด   สำหรับสำนักงานเกรด B แม้ว่าจะมีพื้นที่ใหม่ไม่มากนัก แต่คาดว่าสำนักงานเกรด B จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับสำนักงานเกรด A เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้หลายโครงการมีพื้นที่ว่างมากขึ้น ทำให้เจ้าของพื้นที่มีแนวโน้มปรับลดค่าเช่าลง เพื่อดึงดูดผู้เช่าใหม่ให้เข้าสู่โครงการ และลดภาระการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น   โดยเฉพาะโครงการที่เปิดให้บริการมานานหรืออยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในทำเลทอง (prime location) ขณะที่ความต้องการในระยะกลางแม้ว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่คาดว่าความต้องการในพื้นที่ให้เช่ายังคงเติบโตไม่ทันกับจำนวนพื้นที่ที่เข้ามาใหม่ ส่งผลให้อัตราการให้เช่า (occupancy rate) โดยรวม  มีแนวโน้มปรับลดลงจนอาจต่ำกว่าระดับ 85% ในช่วงปี 2565-2566 และจะเป็นปัจจัยกดดันการปรับค่าเช่าในระยะต่อไป แนวโน้มความต้องการพื้นที่สำนักงานที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจสำนักงานให้เช่าต้องปรับตัว อย่างเช่น การปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สำนักงานให้เหมาะสมกับผู้เช่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานพื้นที่ รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน   แนวโน้มพื้นที่สำนักงานที่จะตอบโจทย์หลัง โควิด-19 นอกเหนือจาก  ต้องมีมาตรการเพื่อรักษาความสะอาดและความปลอดภัยแล้ว การให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนและออกแบบพื้นที่สำนักงาน ให้ตอบโจทย์ความต้องการ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการพื้นที่ให้เช่าต้องปรับตัว โดยเจ้าของพื้นที่อาจมีการสำรวจความต้องการของผู้เช่า และพิจารณาปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งาน  ตลอดจนการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน เทรนด์อนาคตพื้นที่ออฟฟิศต้องยืดหยุ่น จากผลสำรวจของ CBRE เกี่ยวกับลักษณะของพื้นที่สำนักงานในอนาคต ที่พนักงานองค์กรต้องการจากหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย (รูปที่ 6) พบว่า  ปัจจัยสำคัญที่พนักงานส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการใช้งานพื้นที่สำนักงาน 3 อันดับแรกคือ 1.พื้นที่สำนักงานที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน 2.การมีห้องประชุมส่วนกลาง (shared meeting space) 3.คุณภาพของอากาศภายในอาคาร   จากผลสำรวจของ CBRE ยังพบว่า ในอนาคตสัดส่วนของสำนักงานที่มีที่นั่งประจำเป็นหลักมีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น (จาก 57% ก่อนเกิด โควิด-19) ส่วนอีก 90% ที่เหลือมีการใช้พื้นที่แบบยืดหยุ่น  (รูปที่ 7) สะท้อนถึงความต้องการพื้นที่สำนักงานในรูปแบบ flexible space มากขึ้น นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ภายในพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในอาคารยังเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ตัวอย่างของเทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชัน ที่มีการนำเอามาใช้ในพื้นที่สำนักงานมากขึ้น ได้แก่ แอปพลิเคชันสำหรับยืนยันตัวตนผู้เช่าใช้บริการ เทคโนโลยี touchless ต่าง ๆ ตั้งแต่การเข้า-ออกอาคารไปจนถึงภายในสำนักงาน การจองห้องประชุมผ่านมือถือ การสั่งงานอุปกรณ์ด้วยเสียง ตลอดจนอุปกรณ์ทำความสะอาดอัตโนมัติ หรือเครื่องมือช่วยในการติดต่อทางไกล (รูปที่ 8)   นอกจากนี้ การออกแบบพื้นที่ทำงานและพื้นที่รองรับการให้บริการต่าง ๆ ภายในโครงการอย่างครบวงจร จะช่วยตอบโจทย์เทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ แม้ว่าการระบาดของ โควิด-19 ในระยะต่อไป จะปรับตัวดีขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ แต่รูปแบบการทำงานที่รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลยังน่าจะเป็นเทรนด์ที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ให้ความสำคัญมากขึ้น ส่งผลให้ในอนาคตการวางแผนผัง (layout) ของออฟฟิศจะต้องมีการออกแบบ และปรับปรุงเพื่อลดความหนาแน่นของพนักงาน รวมถึงจุดที่มีโอกาสหนาแน่นสูง อาทิ ล็อบบี้ ลิฟต์ ห้องน้ำ   นอกจากนี้ อาจปรับปรุงพื้นที่สำนักงานในโครงการ เพื่อรองรับการให้บริการ flexible space ไม่ว่าจะเป็น serviced office หรือ co-working space ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถตอบสนองรูปแบบการทำงานในอนาคต ที่พนักงานบริษัทเริ่มใช้เวลาที่สำนักงานน้อยลงได้ดี อีกทั้ง การออกแบบพื้นที่ใช้ประโยชน์ภายในโครงการ  จะต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของพนักงาน นอกเหนือจากการออกแบบพื้นที่สำหรับการทำงานที่ตอบโจทย์เทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ โดยอาจเน้นเพิ่มพื้นที่สนับสนุนต่าง ๆ อย่างครบวงจร อาทิ การเพิ่มพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย หรือการจัดหาร้านอาหารเพื่อสุขภาพไว้ในโครงการ นับเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้เช่ามีความต้องการเช่าพื้นที่มากขึ้น    
เรียลแอสเสท ปั้น 4 โปรเจ็กต์ สร้างยอดโต 15%

เรียลแอสเสท ปั้น 4 โปรเจ็กต์ สร้างยอดโต 15%

เรียลแอสเสท เดินหน้าเปิด 4 โปรเจ็กต์ใหม่ สร้างยอดขาย 2,350 ล้าน  โต 15%  รับปี 64 วางเป้าหมายรายได้สู่ 4,000 ล้าน ในอีก 3 ปี หลังเทคโอเวอร์โปรเจ็กต จากอารียามาลุยต่อ   นายบดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า  ได้วางแผนพัฒนาโครงการใหม่ในปีนี้จำนวน 4 โครงการ มูลค่ารวม 4,660 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการแนวราบ จำนวน 3 โครงการ มูลค่ารวม 2,510 ล้านบาท ได้แก่ 1.สตอรี่ส์ บางนา - สุวรรณภูมิ 2.สตอรี่ส์ รังสิต - วงแหวน  3.วิรัณยา บางนา - วงแหวน และ โครงการคอนโดมิเนียม มูลค่า 2,150 ล้านบาท  จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการ “เดอะ สเตจ มายด์สเคป รัชดา - ห้วยขวาง” (THE STAGE Mindscape Ratchada – Huai Khwang)   นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เทกโอเวอร์ มาจาก บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ภายใต้แบรนด์ “MEGA Space 1&2” เป็นคอนโดไฮไรส์ จำนวน 2 อาคาร รวม 2,329 ยูนิต มูลค่าโครงการ 4,300 ล้านบาท ในปี 2564 คาดว่า บริษัทจะสามารถสร้างยอดขายจำนวน 2,350 ล้านบาท  เติบโตขึ้น 15% จากปีก่อนที่มียอดขาย 2,050 ล้านบาท และจากการเทคโอเวอร์จะสามารถทำให้บริษัทโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยตั้งเป้าว่าในปี 2567 จะสามารถสร้างรายได้แตะ 4,000 ล้านบาท และมี Backlog ทั้งหมด 5,660  ล้านบาทระหว่างปี 2564-2567   นายบดินทร์ธร กล่าวอีกว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  มีการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงจาก​ปี 2562  ซึ่งผู้ประกอบการมีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจและเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียม ส่งผลให้สต๊อกคงค้างในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลดลง  รวมทั้งกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติลดลงจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้ และกลุ่มนักลงทุนที่ชะลอการลงทุน เพื่อรอดูความชัดเจนของสถานการณ์ ปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ ไม่เติบโต ผลกระทบดังกล่าวยังคงต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2564 ทำให้บริษัทพิจารณาถึงความรอบคอบในการดำเนินงานเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทบทวนแผนงานรายเดือนและรักษากระแสเงินสดสร้างความมั่นคงของการดำเนินธุรกิจ สำหรับแนวโน้มในปี 2564  ทางบริษัทฯยังคงมั่นใจในทำเลและสินค้าของโครงการที่จะเปิดใหม่ในปีนี้ เน้นฐานลูกค้าเรียลดีมานด์เป็นหลัก มุ่งการทำวิจัยตลาดอสังหาฯศึกษาถึงข้อมูลและพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า เพิ่อให้สินค้าออกมา ตรงตามความต้องการมากที่สุด เน้นกลยุทธ์การตลาดในด้านราคามากขึ้น  ชูราคาเป็นจุดขาย เนื่องจากสภาวะความคิด และพฤติกรรมของลูกค้า ณ ปัจจุบันต้องการความคุ้มค่าในราคาที่จับต้องได้  
สีนิปปอนเพนต์ วางเป้าโต 20% ลุยตลาดสีท่ามกลางโควิด-19

สีนิปปอนเพนต์ วางเป้าโต 20% ลุยตลาดสีท่ามกลางโควิด-19

นิปปอนเพนต์ เปิดเกมรุกปี 64 หวังเติบโต 20% ท่ามกลางตลาดสีทาบ้าน 25,000 ล้าน แนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ลุยหน้าแคมเปญการตลาดครบวงจร พร้อมสร้างการรับรู้สู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ​    นายวัชระ ศิริฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสีนิปปอนเพนต์ในประเทศไทย  เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจสีทาบ้านและอาคารใน ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่หากสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น คาดว่าตลาดจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 นี้ ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดสีทาบ้านและอาคารลดลงประมาณ 5-10% จากมูลค่าตลาดประมาณ 25,000 ล้านบาท ส่วนความต้องการใช้งานคาดว่าจะลดลง 15%   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในภาพรวมตลาดจะมีการหดตัวลง แต่ยังพบว่ากลุ่มสีเพื่อสุขภาพและสุขภาวะที่ดี  ยังคงมีอัตราการเติบโตขยายตัวที่ดี คาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 1,000-1,500 ล้านบาท เห็นได้จากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์สี air care ของบริษัทที่ได้รับการตอบรับที่ดี สำหรับการเติบโตในปี 2564 คาดว่าบริษัทจะสร้างการเติบโตได้ประมาณ 20% จากปีที่ผ่านมา ภายใต้การประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน และแนวโน้มการนำเอาวัคซีนเข้ามาใช้ แต่หากสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน บริษัทคาดหวังว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้มากกว่า 20% โดยบริษัทวางแผนธุรกิจในปีนี้ด้วยการจัดกิจกรรมการตลาดแบบครบวงจร รวมถึงกลยุทธ์การทำตลาดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การขยายตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่   "ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสีทาบ้านหรือสีทาอาคาร มีทั้งการเกิดรอยด่าง สีซีด สีลอกล่อน ซึ่ง มาจากหลายสาเหตุ ขณะที่บางคนมองแต่ความสวยงาม แต่เมื่อใช้งานผ่านไปเพียง 3-4 ปี เริ่มเกิดปัญหา นิปปอนเพนต์ จะนำนวัตกรรมต่างๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ปลอดภัยในยุคโควิดที่กำลังระบาดระลอกใหม่นี้"   ขณะที่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการโครงการต่างต้องการเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง พร้อมมองหา "เทคโนโลยีใหม่" มาเป็นตัวช่วยเสริมให้การทำงานเร็วขึ้น  ลดการใช้แรงงานคน ลดต้นทุน แต่คงประสิทธิภาพของงานได้ดี ทำให้ส่งมอบงานได้เร็วยิ่งขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของนิปปอนเพนต์ที่โฟกัสกลุ่มลูกค้า B2B ต่อเนื่อง รวมถึงมุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความสำคัญของการเลือกใช้สีและ วัสดุเคลือบผิวที่มีคุณภาพ และขั้นตอน การทำงานที่ถูกต้อง ล่าสุด บริษัทเปิดตัแคมเปญ  “เครื่องสำอางเพื่อบ้านคุณ” ซึ่งเป็นการต่อยอดจากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ​เพื่อตอกย้ำความเป็น The Coatings Expert ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และบริษัทฯ ยังมีเป้าประสงค์ที่ต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างแท้จริงให้ผู้บริโภค ว่าสีและวัสดุเคลือบผิวแต่ละชนิด แต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน การเลือกสี การใช้สี การเตรียมสี ก็แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพพื้นผิวของผนังหรือวัสดุนั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีและมีคุณภาพ ผ่านแคมเปญโฆษณา “เครื่องสำอางเพื่อบ้านคุณ” ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราว ของการแต่งเติมบ้านให้ยังคงความสวยสด งดงาม แม้เวลาจะผ่านไป โดยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์เป็นหลัก   ​
ศุภาลัย วาง 4 กลยุทธ์ ทำรายได้ New High 28,000 ล้านบาท

ศุภาลัย วาง 4 กลยุทธ์ ทำรายได้ New High 28,000 ล้านบาท

ศุภาลัย วาง 4 กลยุทธ์ ปูทางสร้างรายได้ในปี 64 จำนวน 28,000 ล้าน New High สูงสุดในรอบ 32 ปี ทั้งโอน 4 โปรเจ็กต์ยักษ์ ปั้นแบรนด์ใหม่ ลุยตลาดแนวราบ และเปิดตัวแอป “ศุภาลัย สบาย” มัดใจลูกค้า   แม้ว่าในปี 2564 จะยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจยังไม่กลับมาเติบโตเป็นปกติ แต่การเติบโตของการ “ศุภาลัย” ในปีนี้  ยังคงคาดหวังว่าจะปรับตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา และน่าจะสร้างรายได้เติบโตแบบ New High ด้วยรายได้ถึง 28,000 ล้านบาท ท่ามกลางกำลังซื้อที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ สภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ยังคงชะลอตัวลง   นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2564 จำนวน 28,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้จะสูงสุดในรอบ 32 ปีนับจากดำเนินธุรกิจมาและเป้าหมายยอดขาย 27,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 9% จากปีที่ผ่านมาทำได้ 24,376 ล้านบาท ศุภาลัยวาง 4 กลยุทธ์ทำรายได้ New High   สำหรับเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ศุภาลัย มั่นใจว่าจะสร้างสถิติรายได้สูงสุด แม้ว่าภาวะตลาดอสังหาฯ จะยังไม่กลับมาฟื้นตัวเป็นปกตินั้น เป็นเพราะเหตุผลสำคัญ 4 เรื่อง คือ 1.รายได้จาก 4 โปรเจ็กต์ยักษ์ พร้อมโอน ในปี 2564 จะมีโครงการขนาดใหญ่ สร้างเสร็จพร้อมโอน ทำให้มีรายได้เข้ามาอย่างชัดเจน หลังจากเปิดตัวขายในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ อาทิ ​  -ศุภาลัยพรีเมียร์ เจริญนคร มูลค่า 2,990 ล้านบาท ถือเป็นโครงการที่สร้างกระแส talk of the town ในช่วงเปิดตัวโครงการ เพราะมีลูกค้านับร้อยรายมาต่อแถวเพื่อจอง  และสามารถปิดการขายได้ภายในวันแรกของการเปิดตัว ด้วยศักยภาพของทำเลติดสายรถไฟฟ้าสายสีทอง  และห่างจากศูนย์การค้าไอคอนสยามเพียง 1 สถานีเท่านั้น -ศุภาลัย ริเวอร์แกรนด์ มูลค่า 6,800 ล้านบาท   เป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่มีที่จอดรถมากถึง 130% ทำให้ได้รับความสนใจ ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 73% -ศุภาลัย เวอรันดา ภาษีเจริญ มูลค่า 4,500 ล้านบาท โครงการตั้งอยู่ห่างจากรถไฟฟ้าที่เปิดใช้บริการแล้ว เพียง 100 เมตร ทำให้ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้า ปัจจุบันมียอดขายขายแล้ว 87% -ศุภาลัย ออเรนทัล สุขุมวิท 39 มูลค่า 10,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่เริ่มโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 แต่จะมาโอนกรรมสิทธิ์จำนวนมากต่อเนื่องมาในปีนี้ 2.เปิด 31 โปรเจ็กต์ 34,000 ล้านบาท แผนธุรกิจในปี 2564 ศุภาลัยวางแผนเปิดตัว 31 โครงการ มูลค่า 34,000 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 27 โครงการ ในกรุงเทพฯ 11 โครงการ ต่างจังหวัด 16 โครงการ และคอนโดมิเนียม 4 โครงการ อยู่ในกรุงเทพฯ 3 โครงการ ต่างจังหวัด 1 โครงการ และวางงบประมาณการจัดซื้อที่ดิน 8,000 ล้านบาท โดยเฉพาะโครงการแนวราบที่จะเป็นโครงการที่สามารถรับรู้รายได้ภายในปีนี้ เพราะเป็นสินค้าสร้างเสร็จพร้อมขาย และโอนกรรมสิทธิ์ได้ทันที โดยเชื่อว่าตลาดอสังหาฯ แนวราบยังเติบโตได้ดี แม้ว่าในภาพรวมตลาดอสังหาฯ จะได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ปีที่ผ่านมาทั้งตลาดคอนโดมิเนียม และแนวราบติดลบทั้งหมด แต่สำหรับศุภาลัยยังสามารถสร้างการเติบโตในตลาดแนวราบได้ 16-17% 3.ปั้นแบรนด์ใหม่ บุกตลาด 3-5 ล้าน ในปีนี้ ศุภาลัย วางแผนพัฒนาแบรนด์สินค้าใหม่ออกมาทำตลาด ในกลุ่มระดับราคา 3-5 ล้านบาท เพื่อทำตลาดกลุ่มลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมกับการพัฒนาแบบบ้านใหม่ และฟังก์ชั่นบ้านในรูปแบบใหม่ เพื่อขยายตลาดและตอบสนองความต้องการของตลาดที่หลากหลายมากขึ้น และทำให้ได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นด้วย 4.เปิดตัวแอพ “ศุภาลัยสบาย” อีกหนึ่งกลยุทธ์การสร้างความสำเร็จของศุภาลัยในปี 2564 คือ การนำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ในการบริหารและดำเนินธุรกิจ ด้วยการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นใหม่ “ศุภาลัย สบาย” (Supalai Sabai) เพื่อให้บริการกับกลุ่มลูกค้าของศุภาลัยแบบครบวงจร ตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาเป็นลูกค้า ในการเลือกซื้อสินค้า จนถึงเป็นลูกค้า และบริการหลังการขายทั้งหมด คาดว่าจะเปิดตัวได้ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้   นอกจากนี้ ศุภาลัย ยังวางกลยุทธ์การดำเนิน​ธุรกิจในปี 2564 ด้วยการบริหารงานภายในองค์กรด้วย​การนำหลักการทำงานแบบ Agile มาปรับใช้ภายในองค์กร เพื่อพัฒนาสินค้า และบริการ ขององค์กรได้อย่างรวดเร็ว และการส่งเสริมด้าน Waste management ในกระบวนการก่อสร้าง โดยกำหนดแนวทางการทำงานเพื่อลดปริมาณความสูญเสียของวัสดุก่อสร้างได้อย่างเหมาะสม และสามารถจัดการกับเศษวัสดุก่อสร้างให้เกิดมูลค่าสูงสุด รวมทั้งลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหญ่ ที่มีความน่าเชื่อถือ และเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  
โควิดทุบ SMEs ธุรกิจบริการ-ท่องเที่ยว รายได้หาย 27,000 ล้าน

โควิดทุบ SMEs ธุรกิจบริการ-ท่องเที่ยว รายได้หาย 27,000 ล้าน

โควิดระลอกใหม่ อัดธุรกิจ SMEs อ่วม แรงงานในภาคการค้าบริการและท่องเที่ยวโดนกว่า 1.3 ล้านราย จ้างงานกว่า 6.1 ล้านคน ทำรายได้ลด 27,000 ล้าน แนะรัฐพยุงกลุ่ม SMEs นิติบุคคลที่ความช่วยเหลือไม่ยังครอบคลุมกว่า 1.1 แสนราย จ้างงาน 2.5 ล้านคน ประคองธุรกิจผ่านช่วงไตรมาสแรก   การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมปี 2563 สะเทือนไปถึงภาคธุรกิจที่เปราะบาง มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตามระดับพื้นที่ควบคุมที่รัฐใช้จึงเป็นทางออกที่ช่วยลดผลกระทบไม่ให้เหมือนกับมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนเมษายน 2563 อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายและท่องเที่ยวที่แผ่วลง ส่งผลกระทบธุรกิจ SMEs ในภาคการค้า บริการและท่องเที่ยวกว่า 1.3 ล้านรายและจ้างงานกว่า 6.1 ล้านคน   แม้ว่าในตอนนี้ภาครัฐจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยการกระตุ้นการจับจ่ายผ่านโครงการ “เราชนะ” และ โครงการ "คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นการช่วยเหลือ Micro SMEs ในส่วนที่เป็นร้านค้าย่อย และกลุ่มคนทำงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกลุ่ม SMEs ที่เป็นนิติบุคคลและอยู่ในระบบภาษี ซึ่งมีจำนวนอยู่ 110,000 ราย และจ้างงานกว่า 2.5 ล้านคน รายได้ SMEs การค้าบริการ-ท่องเที่ยว ลดกว่า 27,000 ล. ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics  คาดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะทำให้รายได้ของธุรกิจ SMEs ภาคการค้าบริการและท่องเที่ยวทั่วประเทศรวมลดลงกว่า 27,000  ล้านบาท โดยจะมีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบถึง 1.3 ล้านราย มีการจ้างงานรวมกันกว่าอยู่ 6.1 ล้านคน เมื่อแยกพิจารณาตามพื้นที่มาตรการควบคุมการระบาด พบว่ากลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด รายได้จะลดลงประมาณ 22,000 ล้านบาท มี SMEs ที่ได้รับผลกระทบราว 5.7 แสนราย มีการจ้างงานกว่า 3.4 ล้านคน ในขณะที่กลุ่มพื้นที่ควบคุมจะลดลง 2,700  ล้านบาท และเฝ้าระวังสูง ลดลง  2,200 ล้านบาท และมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบกว่า 2 แสนราย และ 5.7 แสนราย ตามลำดับ   จากโครงสร้างธุรกิจ พบข้อสังเกตว่าในพื้นที่ควบคุมสูงสุด กลุ่ม SMEs นิติบุคคลที่อยู่ในภาคการค้าบริการและท่องเที่ยว มีบทบาทสำคัญในการจ้างงานถึง 1.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 55% ของการจ้างงาน SMEs ในพื้นที่ ส่วนกลุ่มพื้นที่ควบคุมและเฝ้าระวัง กลุ่มธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลมีสัดส่วน 20-27% ของการจ้างงานเท่านั้น ธุรกิจเสื้อผ้าสูญรายได้ 5,000 ล้าน ธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ร้านค้าปลีกเสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ด โรงแรงที่พัก และร้านอาหาร ภาพรวมธุรกิจ SMEs ในภาคการค้าบริการและท่องเที่ยวที่ถูกกระทบจากการระบาดในไตรมาสแรกของปี TMB Analytics ประเมินว่าธุรกิจที่จะถูกกระทบหนักสุด คือ ธุรกิจร้านขายปลีกเสื้อผ้า รายได้ลดลงกว่า 5,000 ล้านบาท รองลงมา คือ ร้านค้าเบ็ดเตล็ด รายได้ลดลง 4,700 ล้านบาท   สาเหตุที่ธุรกิจ ร้านค้าปลีกเสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ดได้รับผลกระทบมากลำดับต้น ๆ เนื่องจากมีผู้ประกอบจำนวนการมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับธุรกิจโรงแรม/ที่พัก รายได้ลดลง 3,800 ล้านบาท และธุรกิจร้านอาหาร รายได้ลดลง ​2,700 ล้านบาท   เมื่อเจาะลึกลงไปในธุรกิจ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล พบว่าร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป มีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดถึง 46,000 ราย มีการจ้างงาน 330,000 คน  รองลงเป็นร้านขายปลีกเสื้อผ้ามีธุรกิจอยู่ 11,000 รายจ้างงานอยู่ที่ 64,000 คน  ตามด้วยกลุ่มร้านอาหารและโรงแรมที่พัก มีจำนวนธุรกิจ 10,000 ราย และ 7,000 รายตามลำดับ มีการจ้างงานรวมกันกว่า 290,000 คน SMEs ชลบุรีโดนหนักสุด เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวได้กระจายตัวไปทั่วประเทศ แต่ระดับความรุนแรงของผลกระทบกลับกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเป็นกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ที่เศรษฐกิจพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวและบริการอยู่มาก โดยประเมินว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ จังหวัดชลบุรี ซึ่งคาดว่า SMEs จะมีรายได้ลดลง 6,200 ล้านบาท และมีการจ้างงาน 2.46 แสนคน ได้รับผลกระทบมากเพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนภาคท่องเที่ยวอยู่ถึง 48% ของมูลค่าการค้าและท่องเที่ยวรวมกัน   รองลงมาคือ กรุงเทพมหานคร รายได้จะลดลง 5,000 ล้านบาท แม้ว่าจะเป็นจังหวัดขนาดใหญ่กว่าชลบุรี แต่มีสัดส่วนภาคท่องเที่ยวน้อยกว่าโดยอยู่ที่ 37.6% ส่วนลำดับรองลงไป เป็นจังหวัดสมุทรปราการ ลดลง 1,380 ล้านบาท ประจวบคีรีขันธ์ ลดลง 1,130 ล้านบาท และสุราษฎร์ธานี 1,080 ล้านบาท   โดยสรุป มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่วนใหญ่ครอบคลุมกลุ่ม SMEs รายย่อยเป็นหลัก จึงยังขาดมาตรการช่วยเหลือให้กับกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่เป็นนิติบุคคล เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้มีการแข่งขันสูงกับธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องยื่นมือช่วยเหลือ SMEs กลุ่มนี้ให้มากขึ้น เช่น เพิ่มการเข้าถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่าย ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานบางส่วนเพื่อลดต้นทุนให้ธุรกิจรักษาการจ้างงานไว้ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงผู้ประกอบการ SMEs และแรงงานให้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน  
4 มุมคิดชาว Millennials ต่อตลาดอสังหาฯ ไทยในช่วงโควิด-19

4 มุมคิดชาว Millennials ต่อตลาดอสังหาฯ ไทยในช่วงโควิด-19

เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19  จึงทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก หรือไม่ก็ต้องปรับแผนรับมือ งัดสารพัดกลยุทธ์ออกมา เพื่อสร้างยอดขายและการเติบโต ตลาดบ้านและคอนโดมิเนียมก็เช่นเดียวกัน จากที่ยอดขายดี ๆ ก็ต้องสะดุดลง เพราะคนไม่มั่นใจว่า จะมีเงินมาจ่ายค่าผ่อนหนี้ธนาคารหรือไม่ เพราะการงานและอาชีพของตนจะไม่รู้จะยังมั่นคงนานแค่ไหน แม้ว่าความต้องการซื้อบ้านหรือคอนโดจะยังมีอยู่มากก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่ม Millennials  หรือ Gen Y (ผู้ที่เกิดช่วงปี พ.ศ. 2527 – 2539) ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน หรือเริ่มต้นสร้างครอบครัว   ผู้บริโภคกลุ่ม Millennials นับว่ามีความสำคัญ และได้กลายมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในศตวรรษที่ 21 ด้วยพื้นฐานการเติบโตมากับโลกดิจิทัลจึงเรียนรู้และรับเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว และนำมาพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ตลอดเวลา นอกจากนั้นยังตัดสินใจรวดเร็ว จึงทำให้คนกลุ่มนี้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ หรือการดำเนินชีวิต อีกทั้งยังเป็นวัยที่เต็มไปด้วยไฟในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตและอยู่ในช่วงสร้างฐานะให้มั่นคง จึงทำให้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการใช้จ่ายสูงและคาดว่าจะเป็นกำลังซื้อสำคัญในอนาคตไปอีกหลายปี จากข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 (ฉบับปรับปรุง) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ในปีนี้ประชากรไทยในช่วงอายุ 25-39 ปี จะมีจำนวนถึง 13.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 31.53% ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมด (ช่วงอายุ 15-59 ปี) กว่า 43 ล้านคน จึงทำให้หลายธุรกิจจับตามองและช่วงชิงกำลังซื้อจากคนกลุ่มนี้มากขึ้น   แน่นอนว่าเมื่อชาว Millennials เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในสายตาของหลากหลายธุรกิจ ย่อมถูกดึงดูดให้ใช้จ่ายสนองความต้องการด้านต่าง ๆ เสมอ และกลายเป็นอีกช่วงวัยที่เริ่มมีภาระหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สินที่มีราคาสูงโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยเมื่อเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย ภาคธุรกิจและผู้บริโภคต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม รวมทั้งกลุ่ม Millennials ด้วยเช่นกัน   บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ได้เปิดเผยข้อมูลอัปเดต ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย พบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มีการสร้างหนี้มากที่สุด คือ กลุ่ม Millennials  หรือ Gen Y โดยมีหนี้สินรวมกันถึง 4 ล้านล้านบาท คิดเป็นหนี้เสีย (NPL) คงค้าง 270,000 ล้านบาท เมื่อพิจารณาเรื่องสินเชื่อบ้านที่อนุมัติใหม่ในช่วงเวลานั้นจำนวน 80,494 สัญญา พบว่าเป็นของกลุ่ม Millennials หรือ Gen Y มากที่สุดถึง 64% และเป็นที่น่ากังวลในเรื่องปัญหาค้างชำระในอนาคต สะท้อนให้เห็นถึงสภาพคล่องในการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ และเริ่มส่งสัญญาณเตือนให้เห็นปัญหาการวางแผนด้านการเงิน แม้จะมีกำลังซื้อสูงก็ตาม   ข้อมูลจากดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) ยังรายงานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ฉบับล่าสุด เจาะลึกมุมมองด้านการวางแผนการใช้จ่ายของกลุ่ม Millennials และความต้องการด้านที่อยู่อาศัยท่ามกลางความท้าทายทั้งด้านการเงินและการงานจากสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางและสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ว่าส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของชาว Millennials ในตลาดอสังหาฯ มากน้อยเพียงใด 4 มุมคิด มนุษย์กลุ่ม Millennials โดยผลสำรวจพบ 4 มุมมองซึ่งประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.อยากใช้จ่ายหลากหลาย แต่ครอบครัวต้องมาก่อน เมื่อพูดถึงการวางแผนการใช้จ่ายใน 1 ปีข้างหน้าของผู้บริโภคกลุ่ม Millennials นั้น ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญไปที่การใช้จ่ายภายในครอบครัวถึง 74% สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้และดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัวของคนวัยนี้ อย่างไรก็ตาม ชาว Millennials ยังคงมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองอยู่ไม่น้อยแม้จะยังไม่มีความพร้อมด้านการเงินในตอนนี้ โดย 59% เผยว่ามีความตั้งใจออมเงินเพื่อวางแผนซื้อบ้านในอนาคต ในขณะที่ 46% ระบุว่าอยากออกไปท่องเที่ยวในวันหยุด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ปัจจุบันทำให้ทุกคนจำเป็นต้องเก็บตัวอยู่บ้าน และชะลอแผนท่องเที่ยวออกไป เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และหยุดการแพร่ระบาดในประเทศ 2.เตรียมความพร้อม หวังซื้อบ้านหลังแรกตอน 31 ปี เมื่อพิจารณาในด้านการครอบครองอสังหาฯ ในปัจจุบัน พบว่ายังมีสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน โดยผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่ม Millennials มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองแล้วถึง 57% ในขณะที่อีก 43% ยังไม่ได้เป็นเจ้าของอสังหาฯ ใด ๆ ซึ่ง 2 ใน 3 ของผู้บริโภคกลุ่มนี้ (66%) เผยว่า พวกเขาได้วางแผนที่จะซื้อบ้านหลังแรกเมื่ออายุ 31 ปีขึ้นไป ซึ่งน่าจะเป็นช่วงวัยที่มีความพร้อมมากพอทั้งด้านหน้าที่การงานที่มั่นคงและสถานะทางการเงินที่เหมาะสมเมื่อต้องเป็นหนี้ก้อนใหญ่มากกว่าตอนนี้ 3.สถานะทางการเงินสั่นคลอน อุปสรรคหลักของการมีบ้าน กลุ่ม Millennials ยอมรับว่าปัญหาทางการเงินจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในตอนนี้ถือเป็นอุปสรรคหลัก ๆ ที่ทำให้พวกเขายังไม่มีแผนย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ โดย 1 ใน 2 ของกลุ่มนี้ (50%) เผยว่า ยังไม่มีเงินออมมากพอที่จะไปเช่าหรือซื้อบ้านเป็นของตนเอง ในขณะที่ 41% ต้องการที่จะอยู่บ้านเดิมเพื่อดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิด ตามมาด้วยกลุ่มที่ไม่คิดจะย้ายออกเพราะยังไม่ได้แต่งงาน 33% และตั้งใจจะรับช่วงต่อบ้านเดิมจากพ่อแม่อยู่แล้ว 33% จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้ออสังหาฯ เป็นของตัวเองในตอนนี้ 4.การเช่าโดนใจ ตอบโจทย์ที่อยู่อาศัยแบบไร้ข้อผูกมัดระยะยาว ด้วยข้อจำกัดทางการเงินจากปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้ชาว Millennials  94% ตัดสินใจเช่าแทนการซื้อที่อยู่อาศัยในตอนนี้ เนื่องจากมองว่าการเช่าบ้าน/คอนโดฯ จะมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการซื้ออสังหาฯ ซึ่งต้องมีความพร้อมทางการเงินในระดับหนึ่งจึงจะได้รับการอนุมัติสินเชื่อ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงเลือกเก็บเงินก้อนที่มีสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉินและหันไปเลือกเช่าอสังหาฯ ในรูปแบบที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยแทน นอกจากนี้การมีสถานภาพโสดอยู่ตัวคนเดียวก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้การเช่าที่อยู่อาศัยได้รับความนิยมมากกว่าการซื้อเช่นกัน แม้ผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากหลายปัจจัยในตอนนี้ จะทำให้แผนบริหารจัดการเงินของชาว Millennials ต้องสะดุดลงหรือชะลอการใช้จ่ายในเรื่องที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วนออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังคงเป็นกำลังซื้อที่สำคัญในหลายอุตสาหกรรมในระยะยาว เพียงแต่รอดูสัญญาณบวกของสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อหาเวลาที่เหมาะสมในการออกมาใช้จ่ายแทน   ดังจะเห็นได้จากการวางแผนใช้จ่ายในอนาคตที่ผู้บริโภคกลุ่ม Millennials  ยังคงให้ความสำคัญไปยังสิ่งที่จำเป็นมาก่อนความต้องการส่วนตัว ด้วยการวางแผนบริหารจัดการการเงินที่รอบคอบนี้เชื่อว่าจะช่วยให้กลุ่ม Millennials สามารถปรับพฤติกรรมและปรับเปลี่ยนแผนการใช้จ่ายที่มีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที และกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในอนาคตแน่นอน    
ศุภาลัย วางเป้ารายได้ 5,350 ล้าน จาก 7 โปรเจ็กต์ในออสเตรเลีย

ศุภาลัย วางเป้ารายได้ 5,350 ล้าน จาก 7 โปรเจ็กต์ในออสเตรเลีย

นโยบายกระจายความเสี่ยง สร้างรายได้ให้ “ศุภาลัย” กว่า 1,983 ล้าน จากโปรเจ็กต์ในออสเตรเลีย ปี 64 เดินหน้าปั้นรายได้จาก 7 โปรเจ็กต์ขายดี หวังสร้างรายได้เพิ่มกว่า 5,350 ล้าน ​   ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถทำยอดขายจากการร่วมลงทุน พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศออสเตรเลีย ได้จำนวน 1,983 ล้านบาท คิดเป็น 7.5% ของยอดขายรวมในประเทศไทยของบริษัทฯ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย แม้จะเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ซึ่งนโยบายการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มศักยภาพการเติบโตของศุภาลัยนั้น นับว่าได้ผลดี   ส่วนในปี 2564 นี้ บริษัทน่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้เพิ่มเป็น 5,350 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 19% ของเป้าการขายรวมในประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะออสเตรเลียเป็นประเทศใหญ่ ที่มีความมั่นคง ประกอบกับรัฐบาลออสเตรเลีย สร้างแรงจูงใจที่ส่งเสริมการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่แรงกว่าประเทศไทยมาก  ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลของออสเตรเลีย มีงบประมาณช่วยผู้ซื้อบ้านรายละ 40,000 เหรียญออสเตรเลีย หรือประมาณ 930,000 บาท   ส่วนดร.ประศาสน์ ตั้งมติธรรม กรรมการที่ปรึกษา  ซึ่งรับผิดชอบดูแลโครงการลงทุนต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันศุภาลัยเข้าไปลงทุนในประเทศออสเตรเลียแล้วจำนวน 11 โครงการ ได้แก่ Balmoral Quay, Officer, Greenvale, Gen Fyansford, Eden’s Crossing, Whole Green, Narangba, Ballarat Street, Eglinton, Madora Bay และ Katalia  โดยมีการเติบโตด้านยอดขายอย่างต่อเนื่อง   ในปี 2564 บริษัทมีแผนการขายโครงการของศุภาลัยในออสเตรเลีย ที่ได้รับความสนใจจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง 7 โครงการ ดังนี้   1.โครงการ Balmoral Quay เป็นโครงการที่อยู่อาศัยโดดเด่นริมทะเล ที่ขนาบด้วยสวนสาธารณะ  ทั้งซ้าย-ขวา มีทั้งที่อยู่อาศัยแบบทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม และที่จอดเรือสำราญ 300 ลำ โดยโครงการได้เปิดขายไปประมาณครึ่งหนึ่ง และมีลูกค้าย้ายเข้าอยู่แล้วบางส่วน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างงานสาธารณูปโภค ก่อสร้างตัวอาคารในเฟสสุดท้าย 2.โครงการ Officer เป็นโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ อยู่ทิศตะวันออกของ Melbourne ที่ร่วมทุนกับ Satterley ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดใน Australia เป็นโครงการที่มีสถานีรถไฟฟ้า ถึง 2 แห่ง ท้ายของโครงการ มีโรงเรียน ศูนย์สันทนาการ ศูนย์การค้าฯ เปิดขายตั้งแต่ปี 2557 และสามารถทำยอดขายได้ดีอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ปี 2561 - 2562 ก็สามารถสร้างผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยม (Best Performer) ปัจจุบันโครงการใกล้ดำเนินการแล้วเสร็จ และคาดว่าจะมีสินค้าสามารถขายได้ถึงช่วงปลาย  ปี 2565 โดยมีอัตราการขายของโครงการ จำนวน 12 แปลงต่อเดือน รวมเป็นยอดขายและยอดสัญญา จำนวน 180 แปลงในปี 2564 3.โครงการ Greenvale   เป็นโครงการที่ร่วมทุนกับ Satterley เช่นกัน ทำเลตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของ Melbourne และเป็นแหล่งทำเลที่ราคาที่ดินค่อนข้างสูง ทำให้อัตราการขายไม่ได้สูงเท่า Officer แต่สามารถสร้างยอดขายได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราการขายจะอยู่ที่ 10 แปลงต่อเดือน  สาเหตุที่ยอดขายโดยรวมไม่สูง เนื่องจากที่ดิน Neighborhood 4 ยังไม่มีผังเมืองรองรับ ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้าในการเปิดขายประมาณ 3 เดือน 4.โครงการ Whole Green เป็นโครงการร่วมทุนกับ Peet ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนอสังหาฯ ที่เก่าแก่ที่สุดในออสเตรเลีย โครงการตั้งอยู่ทางตะวันตกของ Melbourne ห่างไปประมาณ 30 กม. ซึ่งเป็นบริเวณที่มีโครงการอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากระดับราคาที่ดินไม่สูงมากนัก อีกทั้งถือว่าไม่ไกลจากตัวเมือง Melbourne คาดว่ายอดขาย/ยอดสัญญาจะอยู่ที่ 100 แปลง ในปี 2564 5.โครงการ Gen Fyansford เป็นโครงการจัดสรรที่ดินบนทำเลที่เป็นเหมืองหินปูนเดิม ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเมือง Geelong ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของ Melbourne ปัจจุบันกำลังเปิดขายเฟสที่ 9.1 และ 9.2 จากที่โครงการมีทั้งหมด 9 เฟส และขายหมดไปแล้ว 3 เฟส 6.โครงการ Ballarat Street เป็นอพาร์ทเม้นท์ทำเลดี ตั้งอยู่ที่ Brunswick ห่างจาก Melbourne ไปทางเหนือประมาณ 6 กม. เปิดขายอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2564 นี้  โดยช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ ​ 7.โครงการ Katalia เป็นการร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม Stockland บริษัทจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์  ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศออสเตรเลีย โดยเริ่มเปิดขายในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประมาณการขายอยู่ที่ 10 แปลงต่อเดือน  ไตรมาส 4 ของปี 2563 นั้น ได้รับผลตอบรับที่ดีเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยสามารถทำยอดขายอยู่ที่ 20 แปลงต่อเดือน โครงการนี้อยู่ทางเหนือของ Melbourne ห่างออกไปประมาณ 50 กม. และที่ดินราคาถูก เหมาะสมสำหรับครอบครัวที่ซื้อบ้านเป็นหลังแรก ด้วยเป้าการขายของโครงการและชื่อเสียงของกลุ่ม Stockland จะสามารถสร้างยอดขายและยอดสัญญาในปี 2564 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 240 แปลง สำหรับโครงการต่าง ๆ ดังกล่าว บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วนโดยรวมเฉลี่ยประมาณ 50% เมื่อพิจารณาจากประมาณการยอดขายโครงการทั้งหมดแต่ละโครงการ ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท คาดว่าจะทำให้มียอดสัญญาจากโครงการทั้งหมดในประเทศออสเตรเลีย เฉพาะส่วนของศุภาลัย เป็นจำนวนเงินประมาณ 226 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 5,350 ล้านบาท        
“Affordable Housing” คำตอบของคนกรุง​ ในวันที่เงินเดือนโตไม่ทันราคาอสังหาฯ ​

“Affordable Housing” คำตอบของคนกรุง​ ในวันที่เงินเดือนโตไม่ทันราคาอสังหาฯ ​

หลายคนคงเคยตั้งเป้าหมายว่าในวันนึง เมื่อมีรายได้สูงมากพอ จะหาซื้อคอนโดมิเนียม หรือบ้านใจกลางเมืองที่ตนเองใฝ่ฝัน เพื่อจะได้อยู่ใกล้เมืองมากขึ้น เพื่อให้เดินทางได้สะดวกสบาย และใกล้แหล่งความเจริญต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ธนาคาร โรงพยาบาล หรือโรงเรียนที่มีคุณภาพ เพื่อความสะดวกของคนในครอบครัว แต่ความเป็นจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อระดับเงินเดือนของคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่นั้น เพิ่มขึ้นไม่ทันกับราคาที่พักอาศัยในเมือง ที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งพวกเค้าวาดฝันว่าอยากจะมีโอกาศอยู่อาศัยได้ในระยะยาว   ทางออกในการอยากเป็นเจ้าของที่พักอาศัยของตัวเองนั้น ก็ต้องเลือกโครงการที่ห่างไกลออกจากตัวเมือง เมื่อมีความต้องการที่พักอาศัยในลักษณะแบบนี้มากขึ้น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เลือกที่จะตั้งโครงการแบบกระจัดกระจาย และห่างไกลจากระบบขนส่งสาธารณะหลัก เพื่อให้คนกลุ่มนี้ซื้อที่พักอาศัยในราคาย่อมเยาว์ขึ้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเมืองกระจัดกระจาย (Urban sprawl) เพิ่มมากขึ้นตาม รวมทั้งยังทำให้ต้นทุนค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าเดินทาง สูงขึ้นมากในคนกลุ่มนี้ คนกรุงเทพฯไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองได้ ในปัจจุบัน “คนกรุงเทพส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองได้” จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและการเคหะแห่งชาติ ในปี 2563 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของคนกรุงเทพฯ นั้นอยู่ที่ 37,750 บาทต่อเดือน โดยหากคิดตามความสามารถในการกู้คนกลุ่มนี้จะสามารถกู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท (คิดเทียบเงินเดือนกับวงเงินที่จะสามารถกู้ได้ โดยคิดที่ 40% ระยะสัญญา 30 ปี และไม่มีภาระทางการเงินอื่น ๆ) ซึ่ง งบประมาณดังกล่าว คนกลุ่มนี้จะสามารถซื้อคอนโดในเขตปทุมวันได้เพียงแค่ 8 ตารางเมตร จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกรุงเทพฯ กว่า 50% ไม่มีกรรมสิทธิในที่อยู่อาศัย และมีแนวโน้มที่จำนวนจะสูงขึ้นต่อเนื่องในทุกปี เพราะ “ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตเร็วกว่ารายได้ต่อครัวเรือน”   ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบกับคนกรุงเทพฯ ในทุกระดับรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่มีความมั่นคงและความแน่นอนในอาชีพการงานและรายได้ และส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บสำรองไว้ในยามฉุกเฉิน ในหลายๆ ประเทศ จึงมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เพื่อให้อัตราการถือครองที่อยู่อาศัยสูงขึ้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งสะท้อนการลดปัญหาสังคมในเรื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัยได้   สำหรับประเทศไทยนั้น ภาครัฐได้เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว ด้วยการออกนโยบายเพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนหันมาลงทุน พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น ด้วยการเพิ่มสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อลดภาระให้กับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษี การให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือมาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio Bonus :FAR Bonus) ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556   แต่อย่างไรก็ตาม มาตราการดังกล่าว ยังไม่สามารถดึงดูดภาคเอกชนให้ร่วมลงทุนได้มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการได้ โดยเฉพาะมาตรการการจัดให้มีหรือพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยภายในพื้นที่โครงการ (Affordable Housing) จนถึงปัจจุบัน โครงการที่เข้าร่วมมาตรการ FAR Bonus เลือกทำเพียงมาตรการเดียวเท่านั้น ที่มีต้นทุนน้อยที่สุดและไม่ส่งผลกระทบกับโครงการ นั่นคือ มาตรการการจัดให้มีพื้นที่รับน้ำในแปลงที่ดิน ทั้งหมดนี้ทำให้โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก สวนทางกับความต้องการของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องการอยู่อาศัยในเขตเมืองกันมากขึ้น “วัฒนา-จตุจักร” ควรเพิ่ม Affordable Housing มากขึ้น ที่มา: ข้อมูลจากการเคหะแห่งชาติและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563   จากข้อมูลรายงาน การคาดประมาณความต้องการของที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ที่จัดทำโดยการเคหะแห่งชาติ มีการคาดประมาณว่าเฉพาะในปี 2564 ความต้องการที่อยู่อาศัยของจำนวนครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,972 ครัวเรือน โดยเขตที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยของครัวเรือนของคนกลุ่มดังกล่าวมากที่สุดคือ เขตจตุจักร จำนวน 166 ครัวเรือน รองลงมา คือ เขตบางเขน จำนวน 166 ครับเรือน และเขตบางกะปิ จำนวน 163 ครัวเรือน ตามลำดับ   เมื่อเปรียบเทียบข้อมูล ระหว่างระดับความต้องการที่อยู่อาศัย ของจำนวนครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย (Real demand) กับความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย ของครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (Affordability) พบว่า เขตวัฒนา​และเขตจตุจักร เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการ Affordable Housing มากที่สุด ทั้งในด้านอุปสงค์ (Demand) และด้านการเพิ่มโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมือง ที่มีราคาตลาดสูงกว่าความสามารถในการซื้อของคนกลุ่มดังกล่าว นอกจากนั้น โครงการในเขตเมืองเหล่านี้ ยังสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็น -การเข้าถึงบริการสาธารณะได้ง่ายขึ้น -ลดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง -เพิ่มความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เป็นต้น ถ้าภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาโครงการ (Joint development) หรือสนับสนุนให้ภาคเอกชนพัฒนาโครงการที่พักอาศัยสำหรับคนทุกระดับรายได้ (Affordable housing) มากขึ้น ภายใต้แผนพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสอยู่อาศัยภายในเมือง จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ รวมทั้งช่วยเพิ่มอัตราการถือครองกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ สูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนแนวความคิดการพัฒนาเมืองสมัยใหม่อย่างยั่งยืน ที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Development)”       บทความโดย -นายภาวิน ศิริพงษ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – MRE (รุ่น 19) -ดร.พรรัตน์ พงษ์ประเสริฐ อาจารย์ประจำ ภาควิชาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์      
แอสเซทไวส์ พร้อมขาย IPO หลังก.ล.ต.อนุมัติให้ระดมทุน 206 ล้านหุ้น

แอสเซทไวส์ พร้อมขาย IPO หลังก.ล.ต.อนุมัติให้ระดมทุน 206 ล้านหุ้น

แอสเซทไวส์  ยิ้มรับ ก.ล.ต. อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้น ASW เล็งหาจังหวะความพร้อมดีเดย์ขายหุ้น IPO ชี้ 9 เดือนแรกปี 63 ทำกำไรกว่า 886 ล้าน ขณะที่ปี 64 ได้โปรเจ็กต์พร้อมโอนหนุนรายได้เติบโต    นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASW ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้แนวคิด “ความสุขที่ออกแบบมาเพื่อคุณ” (We Build Happiness) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับอนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทฯ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม เพื่อเสนอขายหุ้น IPO และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตามแผนที่วางไว้ หลังจากเตรียมตัวมากว่า 3 ปี   ทั้งนี้ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน  ได้มีการเตรียมความพร้อม และอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอขายหุ้น IPO ASW และที่ปรึกษาทางการเงิน อยู่ระหว่างติดตามดูแนวโน้มเศรษฐกิจ และบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น รวมถึงพิจารณาความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ  หากสถานการณ์โดยรวม มีความชัดเจนมากขึ้น บริษัทฯ ก็พร้อมเดินหน้าเสนอขายหุ้นไอพีโอและพร้อมเข้าจดทะเบียนใน SET ได้อย่างแน่นอน  ASW มีแผนจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 206 ล้านหุ้น คิดเป็น 27.07% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชําระแล้วทั้งหมดหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยกลุ่มบริษัท ASW มีบริษัทย่อยทั้งหมด 15 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักคือ ธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ทั้งโครงการอาคารชุดที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียม และโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทแนวราบ ได้แก่ บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมและโฮมออฟฟิศ จำนวน 12 บริษัท และบริษัทย่อยอีก 3 บริษัท ประกอบธุรกิจอื่น ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่า, ธุรกิจรับฝากขายฝากเช่า   สำหรับภาพรวมของผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2563 ที่ผ่านมา  ASW มีรายได้จากการขายและบริการรวม  2,176.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันจากปีก่อนที่ทำได้  1,779.30 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มบริษัทมีกำไรสุทธิ 307.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 110.51 % จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้  146.00  ล้านบาท  โดยกลุ่มบริษัทมีกำไรขั้นต้นเท่ากับ 886.20 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ 40.72%   ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส​4 ปี 2563 บริษัทฯ ได้มีการเปิดขายโครงการโดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการบนทำเลศักยภาพที่มีความต้องการอยู่อาศัยจริงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการโมดิซ ราห์ม รามคำแหง (Modiz Rhyme Ramkhamhaeng) ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้ารามคำแหง ซึ่งเป็นทำเลที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี (อ่านข่าวเพิ่มเติม...“แอสเซทไวส์” แบ่งเฟสขาย “โมดิซ ไรห์ม รามคำแหง” รับมือโควิด-19)   นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาทำเลในกลุ่มตลาดบลู โอเชี่ยน เนื่องจากมีกำลังซื้อที่มีสัญญาณดีต่อเนื่อง เช่น โครงการโมดิซ ลอนซ์ (Modiz Launch)  ทำเลย่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า และโครงการทาวน์โฮมแนวคิดใหม่ “บ้านภูริปุรี คอร์ทยาร์ด – พัฒนาการ” (Baan Puripuri Courtyard - Pattanakarn) โครงการทาวน์โฮมที่มีดีไซน์ Private Courtyard ใจกลางบ้านในระดับราคา 14.2 – 22 ล้านบาท  ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บ้านภูริ ปุรี โฮลดิ้ง จำกัด ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างโอนกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่องไปในปี 2564 เช่น  โครงการแอทโมซ รัชดา - ห้วยขวาง (Atmoz Ratchada - Hauikwang) (อ่านรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม....แอสเซทไวส์ เปิดตัว “แอทโมซ รัชดา-ห้วยขวาง”)  และโครงการเคฟ ทาวน์ สเปซ (Kave Town Space) ซึ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียมใกล้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ  โดยโครงการต่าง ๆ จะสนับสนุนให้ผลประกอบการในปีนี้เติบโตได้เป็นอย่างดี   ในช่วงไตรมาส 1/2564 บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าการเปิดขายโครงการอย่างต่อเนื่องในทำเลศักยภาพที่รองรับการขยายของเมืองและระบบคมนาคมเส้นทางใหม่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการด้านการอยู่อาศัยของลูกค้าอย่างแท้จริง
พิษโควิด-19 ระรอกใหม่ กดดันดัชนีราคาอสังหาฯ ลดต่อเนื่อง​

พิษโควิด-19 ระรอกใหม่ กดดันดัชนีราคาอสังหาฯ ลดต่อเนื่อง​

รอบปี 2563 ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ คือ การจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ชนิดเป็นสงครามราคาชนิดแบบไม่เคยเห็นมาก่อน ราคาอสังหาฯ โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม ลดต่ำลงมากในรอบหลายปี เรียกได้ว่าบางโครงการนำยูนิตเหลือขายมาลดราคาชนิดแทบไม่มีกำไรกันเลยทีเดียว   ส่วนราคาอสังหาฯ ในรอบปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างนั้น ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ได้จัดทำรายงานดัชนีราคาที่อยู่อาศัยใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ประจำไตรมาส 4 ปี 2563 เพื่อสะท้อนภาพของราคาอสังหาฯ ในช่วงที่ผ่านมา ภายใต้ภาวการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19   REIC รายงานว่า ภาพรวมของดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายลดลงต่อเนื่อง 3 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 และ ดัชนีราคาคอนโดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2563 ที่อยู่อาศัยทั้ง 2 ประเภทยังคงมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 โดยเป็นผลมาการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ กระทบความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ ทำให้ผู้ประกอบการจำต้องจัดแคมเปญส่วนลดราคาขาย  ทั้งราคาขายและของแถมต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย บ้านจัดสรรลดเล็กน้อย 0.2% ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า  ดัชนีราคาที่อยู่อาศัย ไตรมาส 4 ปี 2563 ลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 2563  มีค่าดัชนีเท่ากับ 127.8 จุด โดยดัชนีราคาบ้านจัดสรรลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 ซึ่งค่าดัชนีติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นต้นมา เป็นผลมาจากการลดราคาและจัดรายการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อเร่งรัดการตัดสินใจของผู้ซื้อในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 กลับเพิ่มขึ้น​ 0.2% ซึ่งสะท้อนว่า ในภาพรวมของตลาดบ้านจัดสรรมีจุดสูงสุดของราคาที่ไตรมาส 2 ปี 2563 และมีการปรับราคาลงมาอย่างต่อเนื่อง   ส่วนดัชนีราคาบ้านเดี่ยว ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 2563 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 126.0 จุด มีการปรับลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 แต่มีราคาเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน   ขณะที่ดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์มีค่าเท่ากับ 129.7 จุด มีทิศทางเดียวกับดัชนีราคาบ้านเดี่ยว คือ ลดลง​ 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แต่มีราคาเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  เช่นกัน สำหรับรายการส่งเสริมการขายบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในไตรมาสนี้ พบว่าส่วนใหญ่ 41.6% เป็นของแถม เช่น เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ปั๊มน้ำ แท้งก์น้ำ ฯลฯ รองลงมา 33.0% เป็นส่วนลดค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ และ/หรือ ฟรีค่าส่วนกลาง และ 25.4% เป็นส่วนลดเงินสด ราคาคอนโดไตรมาส 4 ลดลง 0.8% สำหรับ ดัชนีราคาคอนโดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ไตรมาส 4 ปี 2563 ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล พบว่ามีค่าดัชนีเท่ากับ 151.9 จุด ลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวติดลบติดต่อกัน 4 ไตรมาส นับตั้งแต่มีการล็อกดาวน์ทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2563 และยังเป็นไตรมาสแรกที่ดัชนีราคาลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า(YoY) ซึ่งลดลงถึง 1.2% สะท้อนว่า ในภาพรวมของตลาดคอนโดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายมีจุดสูงสุดของราคาที่ไตรมาส 4 ปี 2562 และมีการปรับราคาลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลที่กำลังซื้อหดตัวทั้งผู้ซื้อชาวไทยในกลุ่มนักลงทุนและชาวต่างชาติที่ติดปัญหาจาก โควิด-19 ประกอบกับจำนวนคอนโดที่เหลือขายที่ทยอยสร้างเสร็จจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นพอสมควร ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องจัดแคมเปญลดราคาขายและจัดโปรโมชั่นเพื่อเร่งรัดการตัดสินใจของผู้ซื้ออย่างต่อเนื่อง   ทั้งนี้ ดัชนีราคาคอนโดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ในไตรมาส 4 ปี 2563 นี้ เมื่อพิจารณาแยกตามพื้นที่ พบว่ากรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 153.3 จุด ลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และลดลง 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และขณะที่ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 144.8 จุด ลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) เช่นกัน สำหรับรายการส่งเสริมการขายคอนโดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในไตรมาสนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ 43.8% เป็นส่วนลดเงิน รองลงมา 38.4% เป็นของแถม เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ และ 17.8% เป็นส่วนลดค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์   ดร.วิชัย  กล่าวว่า ที่อยู่อาศัยที่เหลือขายที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ศูนย์ข้อมูลได้สำรวจ ณ สิ้นครึ่งแรกของปี 2563 ซึ่งเป็นบ้านจัดสรรที่มีอยู่ประมาณ  27,907 ยูนิต​ และอาคารชุดที่มีประมาณ 34,481 ยูนิต และส่วนหนึ่งจะทยอยสร้างเสร็จออกมาเป็น inventory ของผู้ประกอบการในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอยู่ในภาวะที่อาจมีกำลังซื้อและความมั่นใจลดลง น่าจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผู้ประกอบการยังคงมีการใช้มาตรการลดราคาและส่วนลดของแถมมากระตุ้นตลาดอยู่อย่างต่อเนื่อง   เนื่องจากส่วนหนึ่งผู้ประกอบการจะมีภาระด้านต้นทุนที่ลดลงจากความช่วยเหลือของรัฐบาลในเรื่องภาษีที่ดินฯ และการยืดระยะเวลาในการใช้ราคาประเมินฯ ใหม่ออกไป อีกทั้งการออกแคมเปญยังเป็นการสอดรับกับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของรัฐในการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่จะมีขึ้นและขยายเพดานไปครอบคลุมบ้านราคาสูงกว่า 3 ล้านบาทอีกด้วย "การประสานมือของภาครัฐและเอกชนเช่นนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการซื้อที่อยู่อาศัยในตลาดได้ดี  เพราะประชาชนจะสามารถซื้อบ้านในราคาไม่แพง และค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ก็น้อย นับเป็นโอกาสดีสำหรับคนไทยที่ต้องการมีบ้านนะครับ  สำหรับผู้ประกอบการคงต้องอดทน การขยายโครงการใหม่ๆ จะต้องสอดคล้องความต้องการของกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัย และต้องมีการบริหารสภาพคล่องที่ดี ผมเชื่อว่า การดำเนินการเช่นนี้จะช่วยให้เราจะผ่านวิกฤตนี้ได้อย่างดีด้วยกัน"            
จับตาตลาดอสังหาฯ 3 จังหวัดท่องเที่ยวท่ามกลางโควิด-19 ระลอกใหม่

จับตาตลาดอสังหาฯ 3 จังหวัดท่องเที่ยวท่ามกลางโควิด-19 ระลอกใหม่

หลังจากหลายฝ่ายตั้งความหวังไว้ว่าปี 2564 น่าจะเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ที่เศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัว และขับเคลื่อนธุรกิจทุกภาคส่วนให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง เมื่อมีสัญญาณบวกจากการพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 และแผนการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย และสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจทุกภาคส่วน แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้ทำให้ทั้งประเทศต้องปรับแผนใหม่อีกรอบแบบไม่ทันตั้งตัว   ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น เมื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มกลับมาในช่วงแรก ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต่างขนโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมออกมาเพื่อกระตุ้นกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง พร้อมวางแผนเปิดตัวโครงการต่าง ๆ มาเจาะกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นผู้อยู่อาศัยจริง (Real Demand) เพิ่มขึ้นในปี 2564 แม้การแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้จะทำให้แผนธุรกิจต้องสะดุดไปบ้าง แต่คาดว่าสถานการณ์จะไม่หยุดชะงักกินระยะเวลายาวนานเหมือนรอบที่ผ่านมา   นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยว่า ​การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ ที่ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ปีนี้ ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องปรับแผนเพื่อรับมือ จากที่เคยคาดการณ์ว่าปี 2564 จะเป็นปีปรับสมดุลของตลาดอสังหาฯ ทั้งในแง่ของราคาและอุปทาน และจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่การแพร่ระบาดระลอกใหม่อาจส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวนานขึ้น แม้ตอนนี้จะยังไม่สามารถประเมินผลกระทบ ที่มีต่อการเติบโตในตลาดได้ชัดเจน เนื่องจากมีระยะเวลาที่สั้นเกินไป แต่เชื่อว่าจากประสบการณ์ตรงที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ นักลงทุน และผู้บริโภครับมือการแพร่ระบาดในปีที่ผ่านมา จะทำให้สามารถปรับตัวและจัดการกับสถานการณ์ครั้งนี้ได้ดีขึ้น ผนวกกับการที่วัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังจะเข้าไทยเร็ว ๆ นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ เมืองท่องเที่ยวกระทบหนัก หลังเจอโควิดระลอกใหม่ แม้ว่าทิศทางการขับเคลื่อนตลาดอสังหาฯ ของผู้ประกอบการจะยังโฟกัสกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงหรือกลุ่ม Real Demand มากขึ้น โดยภาพรวมตลาดอสังหาฯ มีสัญญาณดีขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563 ที่ผ่านมา จากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty)  เปิดเผยข้อมูลว่า ดัชนีราคาอสังหาฯ ในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส (นับจากช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2562) ถือเป็นสัญญาณชีพของภาคอสังหาฯ ที่เริ่มกระเตื้องขึ้น   โดยภาพรวมเกือบทุกจังหวัดมีการกระเตื้องขึ้นของดัชนีราคาและจำนวนอุปทาน ซึ่งการรุกหัวเมืองต่างจังหวัดยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากยังมีกลุ่ม Real Demand ที่มีกำลังซื้อในพื้นที่อยู่ และที่ดินต่างจังหวัดก็มีราคาต่ำกว่าในกรุงเทพฯ จึงเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองและลงทุน เพื่อสร้างแต้มต่อทางธุรกิจในอนาคตได้ ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดที่ยังเป็น “Blue Ocean” ผนวกกับปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบคมนาคม และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ แหล่งงานในนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนการมีห้างสรรพสินค้าเพื่อดึงดูดกำลังซื้อผู้บริโภคในพื้นที่ ล้วนช่วยอำนวยความสะดวกให้การดำรงชีวิตในต่างจังหวัดสะดวกสบายยิ่งขึ้น   นอกจากความต้องการที่อยู่อาศัยจากกลุ่ม Real Demand ในพื้นที่แล้ว ยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการซื้ออสังหาฯ ในจังหวัดท่องเที่ยวไว้เป็นบ้านพักตากอากาศกับครอบครัว หลีกหนีความวุ่นวายจากการทำงาน หรือซื้อเพื่อลงทุนเก็บไว้ปล่อยเช่าสร้างผลตอบแทนในอนาคตอีกด้วย จับตา ­3 จังหวัดท่องเที่ยวท่ามกลางโควิด-19 แต่ก็เหมือนเป็นภาพฝันค้าง หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ตลาดอสังหาฯ ที่เคยมีแนวโน้มไปได้ดีกลับชะงักลงอีกรอบ โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบก่อนเป็นอันดับแรก ๆ ทั้งที่ช่วงปลายปีควรจะเป็นช่วงที่ตลาดท่องเที่ยวกลับมาบูมอีกครั้งหลังจากอั้นมาจากช่วงล็อกดาวน์ โดยพบว่า ใน 3 จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญได้รับผลกระทบในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของการท่องเที่ยว และตลาดอสังหาฯ ภูเก็ต ดัชนีอุปทานเพิ่มขึ้น 18% ประเด็นผลกระทบจากโควิด-19 ต่อตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดภูเก็ต -หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบแรกในไทย ตลาดอสังหาฯ ในภูเก็ตเริ่มกลับมาส่งสัญญาณฟื้นตัวอีกครั้งหลังคลายล็อกดาวน์ พร้อมทั้งได้แรงหนุนที่ดีจากการท่องเที่ยวของคนไทยที่เลือกเดินทางมาภูเก็ตมากขึ้นในช่วงที่ปิดประเทศ รวมถึงสัญญาณของภาครัฐที่เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาในภูเก็ตได้อีกครั้ง แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ยังเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งล้วนส่งผลให้มีการเติบโตในตลาดอสังหาฯ อีกครั้ง   โดยภูเก็ตได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการระบาดระลอกใหม่ เนื่องจากยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนัก (3 ราย ณ วันที่ 15 มกราคม 2564) ดัชนีราคาอสังหาฯ ในภาพรวมยังคงเพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากบ้านเดี่ยวที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นถึง 3% และคอนโดฯ เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน สะท้อนให้เห็นความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีทิศทางเติบโต   -ในขณะที่ดัชนีอุปทานเพิ่มขึ้นถึง 18% จากไตรมาสก่อนเช่นกัน โดยอยู่ในอำเภอกะทู้ อำเภอเมืองภูเก็ต และอำเภอถลางในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน รูปแบบที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนมากที่สุดในภูเก็ตคือ คอนโดมิเนียม คิดเป็นสัดส่วน 56% ของอุปทานทั้งหมดในจังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอกะทู้   -เมื่อพิจารณาจำนวนอุปทานตามระดับราคา พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับราคา 5-10 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดฯ และบ้านเดี่ยวส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 5-10 ล้านบาท และทาวน์เฮ้าส์อยู่ในระดับราคา 3-5 ล้านบาท ชลบุรี ราคาอสังหาฯ ลดลง 10% ประเด็นผลกระทบจากโควิด-19 ต่อตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดชลบุรี -ชลบุรีเป็นอีกหนึ่งจังหวัดท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหลังจากคลายล็อกดาวน์ ซึ่งได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาดีขึ้น ทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่กลับมาเดินหน้าอีกครั้ง รวมไปถึงการพัฒนาระบบคมนาคมและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ   แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ดัชนีอุปทานและราคาอสังหาฯ กลับปรับลดลงอย่างมากจากไตรมาสก่อน คาดว่าเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ชลบุรีกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยพบว่า ดัชนีราคาอสังหาฯ ในภาพรวมลดลง 10% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 จากที่เคยเพิ่มขึ้น 5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเกือบทุกทำเลมีดัชนีราคาลดลง ยกเว้นอำเภอเมืองชลบุรี ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 6% และอำเภอศรีราชาเพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน   -ดัชนีอุปทานลดลงอย่างมากถึง 70% จากไตรมาสก่อน โดยอุปทานส่วนใหญ่ถึง 70% อยู่ในอำเภอบางละมุง รูปแบบที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ คอนโดฯ  มีจำนวนถึง 64% ของอุปทานทั้งหมดในจังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอบางละมุงเช่นกัน   -หากแบ่งจำนวนอุปทานตามระดับราคา พบว่า ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับราคา 1-3 ล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับราคา 1-3 ล้านบาท และบ้านเดี่ยวอยู่ที่ระดับราคา 5-10 ล้านบาท ซัพพลายเชียงใหม่เพิ่มขึ้น 8% ประเด็นผลกระทบจากโควิด-19 ต่อตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดเชียงใหม่ -เชียงใหม่ เป็นจังหวัดท่องเที่ยวทางภาคเหนือที่แม้จะมีสัญญาณดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ซึ่งตลาดอสังหาฯ ได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมต่าง ๆ แต่ในช่วงปลายปีที่มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่า ดัชนีราคาอสังหาฯ ในภาพรวมลดลง 7% จากไตรมาสก่อน ถือเป็นดัชนีราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ไตรมาส (ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562) โดยดัชนีราคาลดลงทุกรูปแบบที่อยู่อาศัยในเกือบทุกทำเล เช่น อำเภอเมืองเชียงใหม่ลดลง 3% และลดลงมากที่สุดในอำเภอพร้าว ลดลงถึง 35% ยกเว้นในอำเภอแม่แตง และอำเภอแม่วัง เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 23% และ 22% ตามลำดับ   -ในขณะที่ดัชนีอุปทานมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน โดยส่วนใหญ่ถึง 43% อยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ รูปแบบที่อยู่อาศัยที่มีจำนวนมากที่สุดในเชียงใหม่คือ บ้านเดี่ยว มีจำนวนถึง 66% ของอุปทานทั้งหมดในจังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอสันทราย   -หากแบ่งจำนวนอุปทานตามระดับราคา พบว่า ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับราคา 1-3 ล้านบาท โดยคอนโดฯ บ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับราคา 1-3 ล้านบาททั้งหมด          
5 วัคซีนฟื้นเศรษฐกิจไทย เร่งฟื้นธุรกิจค้าปลีกหลังสูญรายได้ 5 แสนล.

5 วัคซีนฟื้นเศรษฐกิจไทย เร่งฟื้นธุรกิจค้าปลีกหลังสูญรายได้ 5 แสนล.

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้าอย่างมาก  โดยสมาคมผูค้าปลีกไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายกว่า 500,000 ล้านบาทและคาดว่า ดัชนีค้าปลีก ในไตรมาสแรกของปี 2564 ยังคงติดลบราว 7-8 %  สมาคมผู้ค้าปลีกไทยขอภาครัฐวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเร่งด่วนเพื่อลดอัตราการว่างงานและเพิ่มอัตราการจ้างงานใหม่    โดยเสนอภาครัฐทดลอง เพิ่มทางเลือกการจ้างงาน เป็นรายชั่วโมง จัดเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก ในกลุ่มธุรกิจ E-Commerce และควบคุม  E-Commerce ในการไม่ขายสินค้าด้วยราคาต่ำกว่าทุน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อ SME ไทย และระบบค้าปลีกไทยโดยรวม นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจค้าปลีกไทยถือเป็นฐานรากสำคัญของระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ เนื่องจาก เป็นระบบที่ครอบคลุมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ ซึ่งมีผู้ประกอบการในห่วงโซ่ค้าปลีกรวมทั้งหมดในระบบ 1.3 ล้านราย และมีการสร้างงานโดยตรงกว่า 6.2 ล้านราย   เมื่อค้าปลีกถูกผลกระทบ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ดัชนีค้าปลีกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ปี 2563 ลดลงจาก ปี 2562 จาก 2.8 % มาเป็นติดลบ 12.0 % ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ติดลบถึงสองหลัก (ตามตารางดัชนีค้าปลีก สมาคมผู้ค้าปลีกไทย 2020 ที่แนบ)  จึงทำให้เกิดผลเสียหายในวงกว้าง เกิดอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รายได้ลดลง หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น SME ทยอยปิดตัวลง กำลังซื้อหดหาย จึงจำเป็นต้องเร่งเยียวยาในระบบค้าปลีก ให้เกิดขึ้นได้จริง ต่อเนื่อง และดำเนินการทันที โดยเสนอ 5 มาตรการวัคซีนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการเกิดขึ้นได้จริงอย่างต่อเนื่องและทันที 1. ภาครัฐทดลองเพิ่มทางเลือกสำหรับอัตราค่าจ้างแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นการลดอัตราการว่างงาน และเพิ่มการจ้างงานใหม่ในภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ โดยการจ้างงานประจำจะยังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่เพิ่มอัตราการจ้างงานแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นทางเลือก และสอดรับการให้บริการช่วงพีคของวันในแต่ละช่วงให้เกิดประสิทธิภาพการบริการลูกค้าสูงสุด ภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการคาดว่าจะสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้ทันทีไม่น้อยกว่า 52,000 อัตรา และ เพิ่มได้ถึง 200,000 อัตราในระยะยาว 2. ภาครัฐควรช่วยเหลือ SME โดยให้มีการปล่อยสินเชื่อ (Soft Loan) ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันออกมาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ SME และ เกษตรกร ทำให้เข้าถึงสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยอัตราพิเศษ โดยสมาคมฯ ขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาการให้สินเชื่อพิเศษนี้โดยผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก ซึ่งสามารถเข้าถึง SME เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 400,000 ราย ได้โดยตรงและอย่างรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยแพลตฟอร์มค้าปลีกนี้ ธนาคารจะได้รับการชำระหนี้อย่างตรงเวลาและครบถ้วน เป็นการลดภาระหนี้สูญของธนาคารอีกด้วย 3. ภาครัฐต้องเร่งพิจารณาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ซื้อขายผ่าน E-Commerce/E-Marketplace ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จากข้อมูล ETDA มูลค่า  E-Commerce มีมูลค่าราว 300,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน มีการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน ไม่มีมาตรการเรื่องการเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก ทำให้ SME ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่ง SME ไทยมีการเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มจำนวนตั้งแต่บาทแรก ถือว่าเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade) และจะสร้างความเสียหายให้กับระบบค้าปลีกไทยในระยะยาว 4. ภาครัฐต้องหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยมุ่งไปยังกลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับกลางถึงสูงกว่า 8 ล้านราย เพื่อผันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยมาตรการ ลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ ทั้งนี้จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อเหล่านี้ ซึ่งคุ้นเคยกับการเดินทางไปต่างประเทศ และช้อปปิ้งสินค้าปลอดภาษี ยังมีความต้องการที่จะซื้อสินค้าแบรนด์ต่างๆ ทำให้ต้องหาซื้อสินค้าผ่านทาง Cross Borders หรือ Grey Market   โดยทางสมาคมฯ เสนอให้กระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงนี้ โดยเฉพาะสินค้าไลฟ์สไตล์นำเข้า ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ในไทยสูงถึง 30% ซึ่งสูงที่สุดใน 15 ประเทศในแถบเอเชีย ทำให้คนหันไปซื้อสินค้าที่ต่างประเทศแทน จึงเสนอให้ทดลองปรับลดภาษีนำเข้าชั่วคราวตามประเภทสินค้า เป็นแบบขั้นบันได เช่น ลดจากเดิม 30% เป็น 20% 15% และ 10% เพื่อให้มีส่วนต่างของอัตราภาษีและไม่เกิดผลกระทบกับแบรนด์ไทย ซึ่งจะสามารถสร้างเงินสะพัดได้กว่า 20,000 ล้านบาท ต่อไตรมาส 5.ภาครัฐควรพิจารณาอนุญาตให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่หลากหลาย และราคาต่ำได้มากขึ้น จากงานวิจัย พบว่า สินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อหาเป็นประจำส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคไม่กี่ชนิด อาทิ ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาล ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงผู้ผลิตสินค้ารายเล็กอื่นๆ การเปิดให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้บัตรแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตสินค้าในวงกว้างมากขึ้น ทั้งเกษตรกร ชุมชน และ ผู้ประกอบการ SME นายญนน์ กล่าวอีกว่า สมาคมค้าปลีกไทยมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับและให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศและพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างสูงสุดกับรัฐบาลเพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ผมเชื่อว่าการร่วมมือของทุกภาคส่วนจะเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกันได้อย่างดีที่สุด
PF ผนึกพันธมิตรต่างชาติ สร้างรายได้ 9,000 ล้าน

PF ผนึกพันธมิตรต่างชาติ สร้างรายได้ 9,000 ล้าน

กลุ่มพันธมิตรต่างชาติ ดันรายได้กลุ่ม “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค”  คาดปี 2564 รายได้เพิ่มขึ้นจากโครงการร่วมทุน รวม 9,000 ล้าน จี้ภาครัฐใช้งบ 20,000 ล้าน ฉีดวัคซีนให้เร็ว กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว      นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้  เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF เปิดเผยว่า ปีนี้ธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเชื่อว่าจะกลับมาฟื้นตัว หลังจากผ่านการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง สำหรับกลุ่มบริษัท ยอดขายและรายได้ในปีนี้จะกลับมาเติบโต โดยเฉพาะการดำเนินงานตามแผนสร้างการเติบโต  จากการผนึกพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งต่างประเทศและในประเทศ ผสานจุดแข็งการร่วมลงทุนต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ด้านสุขภาพหรือเฮลท์แคร์เพิ่มเติม ปีนี้ กลุ่มบริษัทคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉพาะจากโครงการร่วมทุนรวม 9,000 ล้านบาท โดยจะมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการคอนโดมิเนียมไฮด์ เฮอริเทจ ทองหล่อ ภายใต้การร่วมทุนกับ “ซูมิโตโม ฟอเรสทรี” จำนวน 2,000 ล้านบาท โครงการบ้านเดี่ยวระดับไฮเอนด์ “เลค เลเจ้นด์” ร่วมทุนกับ “ฮ่องกง แลนด์” ใน 2 ทำเล คือแจ้งวัฒนะ และ บางนา-สุวรรณภูมิ จำนวน 1,000 ล้านบาท รวมทั้ง โครงการบ้านเดี่ยวอีก 1,000 ล้านบาท จากการร่วมทุนทั้งกับ “เซกิซุย เคมิคอล” ใน 5 ทำเล และ “ซูมิโตโม ฟอเรสทรี” ซึ่งปีนี้จะมีการเปิดโครงการใหม่เพิ่มเติมด้วย โดยแผนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ร่วมทุนของกลุ่มบริษัทขณะนี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 29,650 ล้านบาท   นอกจากโครงการร่วมทุนกับพันธมิตรต่างประเทศ กลุ่มบริษัทโดย บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ยังได้ขยายไปยังธุรกิจการผลิตและส่งออกถุงมือยาง โดยร่วมลงทุนกับ บริษัท วัฒนชัย รับเบอร์เมท จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตและจำหน่ายถุงมือยางที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกไปทั่วโลก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานผลิตถุงมือยาง ในนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเริ่มก่อสร้างไปเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา กำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะดำเนินการผลิตได้ทันที คาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจใหม่นี้อีก 5,000 ล้านบาท จากความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกที่เพิ่มขึ้นและยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก หากมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เร็ว ธุรกิจและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็ว สิ่งที่อยากฝากให้ภาครัฐพิจารณาเพิ่มเติม คือ ควรลงทุน 20,000 ล้านบาท ในการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชากรในเมืองท่องเที่ยวหลัก อาทิ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ สมุย ชลบุรี ระยอง และอื่นๆ  รวมถึงกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเป็นกลุ่มแรก ๆ  เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องอาศัยรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นรายได้หลัก โดยมีสัดส่วนถึง 17% ของ GDP ในขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2563 ที่ผ่านมา รายได้จากภาคท่องเที่ยวลดลง 1.93 ล้านล้านบาท หรือติดลบ 71.75% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 นอกจากนี้ การท่องเที่ยวยังมีบทบาทสำคัญต่อการจ้างงาน ซึ่งการจ้างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการมีอยู่ถึง 4,393,294 คน หรือ 11.16% ของการจ้างงานทั้งหมด ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวเร็ว หากธุรกิจการท่องเที่ยวฟื้นตัว และภาพรวมของธุรกิจอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็จะดีไปด้วย
REIC คาดตลาดอสังหาฯ ปี 64 แย่สุดทั่วประเทศติดลบ 20%

REIC คาดตลาดอสังหาฯ ปี 64 แย่สุดทั่วประเทศติดลบ 20%

เริ่มต้นปี 2564 ที่มีข่าวการประกาศแผนธุรกิจ ของบรรดาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายราย ซึ่งเป็นการประกาศแผนการลงทุน ที่ยังคงเป็นปกติ ขณะที่บางรายมีแผนการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังมีอยู่ และยังไม่ได้เริ่มใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค แต่ในภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว มีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น และการนำเอาวัคซีนมาใช้จริงก็มีความชัดเจนมากกว่าปีที่ผ่านมา    ปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว คงเป็นสาเหตุที่ช่วยสร้างความมั่นใจ ให้กับบรรดาผู้ประกอบการอสังหาฯ  ทั้งหลาย ว่าภาวะเศรษฐกิจคงจะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ ช่วงปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าแม้จะมีสถาการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่จากการทำตลาด และการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตลาดอสังหาฯ ก็ยังไปได้ดี ผู้ประกอบการหลายรายสามารถทำยอดขายและรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง   ความมั่นใจของผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาฯ  จึงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับรายงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC)  ที่ระบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ​ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 (Current Situation Index) มีภาวะความเชื่อมั่นดีขึ้น   โดยมีดัชนีเท่ากับ 46.3%  เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ­ของปี 2563  ที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 42.8% แต่ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับต่ำกว่า 50% ติดต่อกัน 7 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศใช้มาตรการ LTV ได้สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการฯยังคงขาดความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย   ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ รายงานอีกว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ผู้ประกอบการฯ ที่ดำเนินการสำรวจในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งยังไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่​ มีค่าเท่ากับ​ 54.4% ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีอยู่ที่  52.9%  สูงกว่าค่ากลางที่มีค่าดัชนี 50.0% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบขณะนั้นเริ่มมีความหวังต่อการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง   แต่อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ คาดว่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ  ใน 6 เดือนแรกของปี 2564 ปรับตัวลดลงกว่าผลที่สำรวจข้างต้นได้   ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ในไตรมาส 4 ปี 2563 ผู้ประกอบการยังคงขาดความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย แม้ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาพรวมได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง  แต่จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์​ (Llisted Companies) มีค่าดัชนีเท่ากับ 49.2% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 43.1%  ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มซึ่งไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (Non-listed Companies) กลับมีค่าดัชนีเท่ากับ 42.1% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 42.4%   ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า กลุ่มผู้ประกอบการ Listed Companies จะมีระดับความเชื่อมั่นที่สูงกว่า 50% ในด้าน ยอดขาย การจ้างงาน และการเปิดตัวโครงการใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies ไม่มีความเชื่อมั่นด้านใดเลยที่เกินกว่า 50% ซึ่งสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า กลุ่มผู้ประกอบการ Listed Companies จะเป็นผู้บทบาทหลักในการลงทุนและการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล  (ดูตารางที่ 1 และแผนภูมิที่ 1) ดีเวลลอปเปอร์มองบวก ก่อนเกิดโควิด-19 รอบใหม่  ดร.วิชัย  กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) มีค่าเท่ากับ 54.4% ที่เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสก่อนหน้า แสดงเห็นว่าในภาพรวมผู้ประกอบการมีมุมมองเชิงบวกสำหรับธุรกิจพัฒนาที่อยุ่อาศัยในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งคาดว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะนำมาใช้อย่างกว้างขวางและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากขึ้น แต่จะเห็นได้ชัดว่า มุมมองเชิงบวกเช่นนี้ เป็นผลมาจากกลุ่มผู้ประกอบการ Listed Companies ที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ  59.7% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.0%   แต่สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ Non-listed Companies มีค่าดัชนีเพียง  46.5% แม้จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อยที่ระดับ 45.2 แต่ได้แสดงให้เห็นได้ว่ากลุ่มผู้ประกอบการ Non-listed Companies ยังคงขาดความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2564 ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการฯ Listed Companies มีความเชื่อมั่นมากขึ้นชัดเจนในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านยอดขาย การลงทุน และการเปิดตัวโครงการใหม่ (ดูตารางที่ 2 และแผนภูมิที่ 2) การสำรวจความเชื่อมั่นฯ นี้ ดำเนินการในช่วงปลายปี 2563 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ดังนั้นจึงคาดได้ว่า ในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในไตรมาสแรก ปี 2563 นี้ ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการคงจะปรับลดลงจากการสำรวจช่วงปลายปีอย่างแน่นอน โดยเห็นว่า ผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการเปิดขายโครงการใหม่ เพื่อลดจำนวนอุปทานเหลือขายที่ยังมีอยู่มากในตลาด และรอดูผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง โควิด-19 ทำตลาดอสังหาฯ แย่สุดติดลบ 20% อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากช่วงการสำรวจ ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ​ประเมินว่า การเปิดตัวปี 2564 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีจำนวนประมาณ 89,000 ยูนิต แบ่งเป็นแนวสูง 36,000 -37,000 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 30-40% และแนวราบ 52,000 ยูนิต แต่ถ้าโควิด-19 ยืดเยื้ออาจจะลดลงอีก 10,000 ยูนิต เหลือ 79,000 ยูนิต เท่ากับปีนี้จะอยู่ระหว่าง 79,000 -89,000 หน่วย สูงกว่าปี 2563 ที่เปิดรวม 71,500 ยูนิต แม้ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องเปิดตัวโครงการใหม่ เพราะสต็อกพร่องลงจากปีก่อน   โดยมีการคาดการณ์ผ่านการจำลองหลายสถานการณ์ (Scenario) เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงภาพรวมแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับดีที่สุด (best) คือ ตลาดจะโต 5-10% ระดับกลาง (base) ตลาดทรงตัวบวกลบไม่เกิน 0.5% และระดับแย่ที่สุด (worst) ติดลบ 10% เท่ากับปี 2563 เท่ากับภาพรวมตลาดทั่วประเทศลดลงถึง 20% ซึ่งรุนแรงพอควร เพราะต่ำสุดในรอบ 5 ปี ใกล้เคียงกับช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มีความเป็นไปได้ว่าปี 2564 จะติดลบถึง 10 % ซึ่งเป็นจุดที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะปีนี้กำลังซื้อที่อั้นอยู่อาจมีไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภคได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้ต่อเนื่องมานาน ส่งผลให้ดีมานด์ใหม่ของที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบรุนแรง  
แลนด์แอนด์เฮ้าส์ เดินหน้าลงทุน 11,000 ล.พร้อมระดมทุนผ่านหุ้นกู้ 12,000 ล.​

แลนด์แอนด์เฮ้าส์ เดินหน้าลงทุน 11,000 ล.พร้อมระดมทุนผ่านหุ้นกู้ 12,000 ล.​

แม้ว่าปี 2564 จะยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ธุรกิจยังคงต้องเดินหน้าต่อ เพื่อสร้างการเติบโตและผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น โดยบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์  จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในดีเวลลอปเปอร์ที่ยังคงเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารงานของ นายนพร สุนทรจิตต์เจริญ  ประธานคณะกรรมการบริษัท และ​นายอดิศร ธนนันท์นราพูล  กรรมการผู้จัดการ   โดยแผนธุรกิจของ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ในปีนี้ ประกอบไปด้วย 1.เตรียมงบลงทุนไว้ทั้งหมดประมาณ 11,000 ล้านบาท สำหรับการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประมาณ 6,000 ล้านบาท และงบลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่าอีกจำนวน 5,000 ล้านบาท   แผนการลงทุนในการซื้อที่ดินเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต บริษัทจะพิจารณาทำเลที่สามารถนำมาพัฒนาโครงการได้ทันทีและมีศักยภาพที่ดี  ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล  และต่างจังหวัด   โดยปี 2563  ที่ผ่านมา บริษัทมีการลงทุนประมาณ 6,800 ล้านบาท  แบ่งเป็นรายจ่ายในการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย 4,600 ล้านบาท และรายจ่ายในการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่า มูลค่ารวม 2,200  ล้านบาท  ประกอบด้วย การลงทุนในการพัฒนาโครงการ Shopping Mall  - Terminal  21   จำนวน    900  ล้านบาท  และการลงทุนในธุรกิจโรงแรมและอพาร์ทเมนต์  จำนวน 1,300  ล้านบาท   2.บริษัทมีแผนพัฒนา 12 โครงการ มูลค่ารวม 20,660 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ที่เปิดโครงการใหม่  16  โครงการ มูลค่าโครงการรวม 28,620  ล้านบาท แผนการพัฒนาโครงการในปีนี้ แบ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยว 5 โครงการ มูลค่า 12,730 ล้านบาท โครงการทาวน์โฮมและบ้านแฝด 7 โครงการ มูลค่า 6,950 ล้านบาท (มี 2 โครงการที่มีทั้งโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมอยู่ในโครงการเดียวกัน) และคอนโดมิเนียม 2 โครงการ มูลค่า 980 ล้านบาท ซึ่งมีการพัฒนาโครงการคอนโดในจังหวัดเชียงใหม่ 1 โครงการมูลค่า 160 ล้านบาท   โดยในช่วงต้นปี 2564 บริษัทมีโครงการที่เปิดดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น  75   โครงการ  เป็นโครงการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  45  โครงการ  และต่างจังหวัด   30  โครงการ   3.วางแผนออกหุ้นกู้อีกจำนวน 12,000 ล้านบาท จากปี 2563 ซึ่งออกหุ้นกู้ มูลค่ารวม 8,400 ล้านบาท  ระยะเวลา 2-3 ปี  อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.29% ต่อปี   4.ตั้งเป้าหมายแผนการดำเนินงานในปี 2564 ด้วยยอดขาย (Booking)  28,000  ล้านบาท  และเป้าหมายรับรู้รายได้จากยอดโอนกรรมสิทธิ์  30,000 ล้านบาท มีราคาเฉลี่ยต่อยูนิต เท่ากับ 7.0 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2563 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยต่อยูนิต  7.5  ล้านบาท   สัดส่วนของยอดขาย ในปี 2564   พิจารณาตามมูลค่า  จำแนกตามประเภทที่อยู่อาศัย มีสัดส่วน บ้านเดี่ยวและบ้านแฝด  78% , ทาวน์เฮ้าส์  13% และคอนโด  9%   จากแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ  ในปี 2564  คาดว่า ณ  สิ้นปี  2564  บริษัทฯ จะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเมื่อสิ้นปี 2563  โดยจะมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยลดลงกว่าระดับเฉลี่ย ณ สิ้นปี 2563  เล็กน้อย   ส่วนบริษัทในเครือในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา มีการพัฒนาโครงการใหม่ ได้แก่ บริษัท LHMH  ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการอีก 1  โครงการ คือ  โครงการ Grande Centre Point  Lumpini   บนที่ดิน 6-2-73.5  ไร่ ในรูปแบบ Mixed Use  ประกอบด้วย โรงแรม จำนวน 512 ห้อง อาคารสำนักงาน  13,000 ตารางเมตร  มูลค่าการลงทุน 4,830  ล้านบาท แล้วเสร็จประมาณ Q1/2567   บริษัท LH USA ได้ขายโครงการอพาร์ทเมนท์  The Mode Residence  ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา  ให้กับบุคคลที่ไม่มีความสัมพันธ์กับบริษัท ในราคา 80.05 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย ประมาณ  2,415 ล้านบาท  โดยมีกำไรก่อนภาษีประมาณ  13.77 ล้านเหรียญสหรัฐ  หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ  416 ล้านบาท        
โควิด-19 ทุบตลาดคอนโด 64  ราคาเฉลี่ยต่ำกว่า 1.26 แสน/ตร.ม.

โควิด-19 ทุบตลาดคอนโด 64 ราคาเฉลี่ยต่ำกว่า 1.26 แสน/ตร.ม.

แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์  แต่ดูเหมือนว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ เพราะผู้ประกอบการปรับตัวและปรับแผนธุรกิจออกมารองรับ ทั้งการชะลอและเลื่อนเปิดโครงการออกไป การจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาด หรือแม้แต่การหันไปบุกตลาดบ้านแนวราบแทน ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้   แต่สำหรับปี 2564 ที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่ และดูแนวโน้มจะยังคงอยู่ตลอดไป กับคนในยุคปัจจุบันซึ่งต้องปรับตัวรับกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัยทางสาธารณสุข แม้ว่าจะมีข่าวดีเรื่องการนำเอาวัคซีนมาใช้บ้างแล้วในหลายประเทศ และประเทศไทยคงได้มีโอกาสได้รับวัคซีนในเร็ว ๆ นี้ แต่ดูเหมือนว่าตลาดอสังหาฯ​ ของไทยในปีนี้ ก็ยังไม่ได้กลับมาเป็นปกติ ผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังในการเปิดตัวโครการใหม่ และเฝ้าจับตามองดูสถานการณ์ เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างไม่ประมาท   ล่าสุด บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ได้ทำการวิเคราะห์และประเมินภาพของตลาดคอนโดสำหรับปี 2564 ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด จากการมองย้อนไปยังบทเรียนของตลาดอสังหาฯ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ในรอบปีที่ผ่านมา 5 แนวโน้มตลาดคอนโด ปี 2564 1.อุปทานใหม่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ อุปทานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 33,000 - 38,000 ยูนิต ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากโครงการที่ชะลอการพัฒนาไปในปี 2563  และโครงการที่ผู้ประกอบการซื้อที่ดิน และประกาศแผนพัฒนาไว้แล้ว ซึ่งรวมกันมากกว่า 16,000 ยูนิต โดยโครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น น่าจะเป็นโครงการขนาดเล็ก และมีราคาขายที่ต่ำลง 2.อุปสงค์จะฟื้นตัวหลังไตรมาส 2 คาดว่าในครึ่งปีแรกของปี 2564 ความต้องการซื้อคอนโดยังคงอยู่ในระดับต่ำ หากไตรมาสที่ 3 เริ่มมีการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว น่าจะเห็นความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้น  ความต้องการซื้อจะยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2563 คือ ในระดับ 30,000 - 35,000 ยูนิต ซึ่งจากตัวเลขประมาณการดังกล่าว ทำให้อัตราการขายรวมน่าจะคงอยู่ที่ 93% เท่ากับปี 2563 แต่ระดับราคาเฉลี่ยประมาณ​ 126,000 บาทต่อตารางเมตร น่าจะยังปรับลดลงอีก สืบเนื่องจากการลดราคาของโครงการที่สร้างเสร็จ และโครงการใหม่ที่พัฒนาสำหรับตลาดระดับกลางเพิ่มขึ้น 3.ราคาขายยังคง ทรงตัว หรือ ลดลง โดยในปี 2563 มีราคาขายเฉลี่ย 126,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปีที่มีระดับราคาขาย 140,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นผลจากการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ของผู้ประกอบการเพื่อต้องการระบายสินค้าในมือ และต้องการกระแสเงินสดเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งแนวโน้มราคาของปีนี้ และต่อเนื่องไปในอีก 2 ปีข้างหน้าไม่น่าจะเห็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปีนี้อาจจะปรับลดลงประมาณ 5% เพราะผู้ประกอบการยังต้องจัดรายการส่งเสริมการขาย แต่เป็นการลดราคาในระยะสั้น ๆ ส่วนในปีต่อไปราคาอาจจะปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 2-3% 4.ตลาดคอนโดมือสอง ชะลอตัว เนื่องจากปริมาณคอนโดที่ยังเหลืออยู่ในตลาด ประกอบกับโครงการใหม่ที่กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปีนี้ ส่งผลให้ราคาของคอนโดใหม่เมื่อเทียบกับราคาคอนโดมือสอง มีราคาไม่แตกต่างกันมากนัก  เพราะผู้ประกอบการลดราคาลงมา และปริมาณคอนโดที่มีจำนวนมาก ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกในการซื้อคอนโด ทำให้ตลาดคอนโดมือสองไม่หวือหวาเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา   นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าหลักสำคัญของตลาดคอนโดไทย คือ กลุ่มชาวต่างชาติ ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาซื้อคอนโดในไทยได้ แม้ว่าผู้ประกอบการจะพยายามขายด้วยระบบออนไลน์  แต่การซื้อขายยังคงเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย จึงเป็นผลทำให้ตลาดมือสอง ค่อนข้างชะลอตัวลง  คาดว่าน่าจะมีโอกาสได้เห็นการกลับมาของต่างชาติในช่วงหลังไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ 5.ตลาดแนวราบจะเป็นที่นิยมมากขึ้น จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ผู้คนต้องการอยู่อาศัยในบ้านที่มีพื้นที่มากขึ้น เพื่อใช้สำหรับการทำงานจากที่บ้าน หรือการเรียนออนไลน์ ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกจะซื้อบ้านแนวราบมากกว่าคอนโด ซึ่งมีพื้นที่จำกัด แม้ว่าทำเลของบ้านแนวราบจะอยู่นอกเมืองออกไป แต่ระดับราคาอยู่ใกล้เคียงกับคอนโดในเมือง ทำให้ความนิยมของคนยุคโควิด-19 เลือกจะซื้อบ้านแนวราบมากขึ้น เพราะเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และเชื่อว่าในปีนี้ทิศทางยังเป็นไปในลักษณะดังกล่าวด้วย 6 แนวโน้มธุรกิจที่อยู่อาศัยปี 2564 ในการทำธุรกิจอสังหาฯ ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยกระตุ้นสำคัญด้วยกัน 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.ผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นสำคัญ 2.เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตมากขึ้น 3.การที่ประเทศไทยกำลังเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ   ดังนั้น กลยุทธ์การทำธุรกิจอสังหาฯ จึงต้องปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อยู่กับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในทุกระยะ แต่การปรับตัวที่รวดเร็ว ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในเชิงกลยุทธ์ ที่ส่งผลไปถึงราคาขาย หรือ การปรับตัวโดยการเลือกทำเลในการพัฒนาโครงการ ทั้งนี้ สินค้าที่เน้นการลงทุน ต้องเลือกทำเลที่ดีจริง  หรือรอให้ตลาดท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง  และวัคซีนที่เริ่มใช้งานได้ น่าจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและการบินเริ่มกลับมา   อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์​และภาพรวมตลาด คาดว่าแนวโน้มของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 น่าจะเป็นไปใน 6 ทิศทางดังนี้ 1.รอดูความเคลื่อนไหวของตลาด จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีการนำเอาวัคซีนมาใช้ได้ผลจริงเมื่อไร และจะสามารถเปิดประเทศ ให้มีการเดินทางได้เมื่อไร ส่งผลให้ผู้ประกอบการเฝ้าระวัง และจับดูภาวะตลาด รวมถึงสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว 2.ให้ความสำคัญในเรื่องของราคา ช่วงปีที่ผ่านมา จะพบว่าตลาดหลักของธุรกิจอสังหาฯ คือ ตลาดภายในประเทศ​ เป็นกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และที่อยู่อาศัยยังสามารถขายได้ โดยเฉพาะโครงการที่มีการจัดโปรโมชั่น และมีการลดราคาลงมา สอดคล้องกับกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภค แสดงให้เห็นว่า ระดับราคาเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรก ที่ผู้บริโภคใช้เป็นตัวตัดสินใจในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย แนวโน้มอสังหาฯ ในปีนี้ “ราคา” จึงยังเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะโครงการที่พร้อมเข้าอยู่ ซึ่งระดับราคาที่ผู้บริโภคยังสามารถซื้อได้ หากเป็นคอนโดจะอยู่ในระดับราคา 1-5 ล้านบาท บ้านเดี่ยว ระดับราคา 5-10 ล้านบาท และทาวน์เฮ้าส์​ระดับราคา 3-5 ล้านบาท 3.มีรายได้สม่ำเสมอ การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในปีนี้ สิ่งสำคัญที่ช่วยให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ คือ การบริหารกระแสเงินสด เพื่อทำให้ธุรกิจเกิดสภาพคล่อง จึงยังคงเห็นการจัดโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นยอดขาย รวมถึง การพัฒนาโครงการออกมาเพื่อจับตลาดและตอบสนองความต้องการลูกค้าคนไทยเป็นหลัก 4.ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สำหรับการพัฒนาโครงการ นอกเหนือจากมีระดับราคาที่คนไทยสามารถซื้อได้ เรื่องของทำเลในการพัฒนา อาจจะไม่จำเป็นต้องติดรถไฟฟ้า แต่เป็นทำเลที่เดินทางสะดวก ซึ่งยังไม่มีใครพัฒนาเป็นตลาด Blue ocean และเป็นแหล่งชุมชน 5.ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยจริง การพัฒนาโครงการจะต้องคำนึงการอยู่อาศัยจริง การใช้พื้นที่เพื่อการใช้ชีวิตในบ้าน รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา และสอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติใหม่ ซึ่งเน้นความเป็นส่วนตัวมากขึ้น 6.กองทุนตลาดเงินจะช่วยกระตุ้นการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ตลาดการเงินในปัจจุบัน ยังถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยด้านการลงทุนของผู้ประกอบการ เพราะว่า ตลาดการเงินโลก ตลาดหุ้น ยังมีแนวโน้มขาขึ้น ที่ผู้ประกอบการสามารถทำกำไรจากตลาดเหล่านั้น และนำเงินมาใช้ในการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึง ภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในอัตราต่ำทำให้เป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน และการซื้ออสังหาฯ ของกลุ่มลูกค้า   ขณะเดียวกัน ความชัดเจนในด้านการใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค มีมากขึ้นและจะมีการนำเอามาใช้จริงในเร็ว ๆ นี้ ยังเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นตลาด และความมั่นใจของประชาชนทั่วไปด้วย  นอกจากนี้ ภาครัฐอาจจะมีมาตรการออกมาช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ  เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เช่น การลดภาษีที่ดินในอัตรา 90% ตลาดคอนโด 63 ปรับตัวมากสุดรอบ 10 ปี นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดคอนโดมีการปรับตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งสาเหตุหลักมีอยู่  2 ประการ คือ การชะลอตัวของตลาดจากกำลังซื้อที่ลดลงต่อเนื่องจากปี 2562 ผนวกกับสถานการณ์โควิด–19 ทั้งนี้ พบว่าปี 2563 มีคอนโดเกิดขึ้นใหม่เพียง 20,100 ยูนิต จาก 64 โครงการ คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 39% จากอัตราการเพิ่มเฉลี่ยคอนโดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ 51,000 ยูนิตต่อปี การเพิ่มขึ้นของคอนโดฯ อีก 20,100 ยูนิตนี้ ส่งผลให้คอนโดมิเนียมมียูนิตสะสมในตลาดทั้งสิ้น 674,100 ยูนิต ส่วนสาเหตุการชะลอตัวของอุปทานใหม่ในตลาด ส่วนหนึ่งมาจากโครงการที่เลื่อนการเปิดตัว หรือหยุดโครงการไปถึง 5,800 ยูนิต 18 โครงการ  คิดเป็น 29% ของคอนโดในตลาดที่เปิดใหม่ปี 2563   จุดเปลี่ยนสำคัญในตลาดในแง่ของอุปทาน คือ ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาคอนโดมิเนียมในระดับราคาที่จับต้องได้สำหรับคนไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ต่อเนื่องจากปี 2562 โดยสัดส่วนคอนโดมิเนียมระดับกลาง (mid market) และซิตี้คอนโดมีถึง 60% และตลาดใหม่คอนโดราคาย่อมเยาบนทำเลนอกเมือง (affordable market) ที่มีระดับราคาต่ำกว่า 1  ล้านบาท  หรือต่ำกว่า 50,000 บาทต่อตารางเมตร มีจำนวนถึง 3,600 ยูนิต คิดเป็น 18% ของอุปทานใหม่ในปี 2563 เลยทีเดียว ในขณะเดียวกันลดสัดส่วนคอนโดในระดับไฮเอนด์และลักชัวรี่ลงเป็นอย่างมาก เหลือเพียง 22% ของคอนโดฯ ใหม่ในตลาดทั้งหมด   ทั้งนี้ การพัฒนาสินค้าคอนโดฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น มีผลโดยตรงกับทำเล โดยในช่วงปีที่ผ่านมา มีคอนโดตลาดใหม่เกิดขึ้นในบริเวณรอบนอกเมือง หรือปริมณฑลที่มีรถไฟฟ้าเข้าถึง ขยายไกลออกจากใจกลางเมือง ทั้งฝั่งเมืองตะวันออก และทางเหนือของกรุงเทพ โดยมีจำนวนยูนิตมากถึง 4,400 ยูนิต โดยสัดส่วนคอนโดมิเนียมในทำเลใหม่นี้ คิดเป็น 21% ของ คอนโดใหม่ทั้งหมดในตลาด สำหรับตลาดรอบใจกลางเมืองนั้น อุปทานที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ยังเป็นบริเวณสุขุมวิทตอนปลาย คิดเป็นประมาณ 20% ของจำนวนคอนโดมิเนียมใหม่ในตลาด ในทางตรงกันข้ามตลาดใจกลางเมืองบริเวณสาทร หลังสวน และสุขุมวิทตอนต้น มีคอนโดใหม่เกิดขึ้นเพียง 11% หรือประมาณ 2,250 ยูนิตเท่านั้น   เมื่อพิจารณาในด้านยอดขายพบว่า ในปี 2563 ยอดขายคอนโดมิเนียมในตลาดกรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 32,800 ยูนิต โดยแบ่งเป็นยอดขายจากห้องชุดที่เปิดใหม่ในปี 2563 จำนวน 9,100 ยูนิต (คิดเป็นยอดขายเฉลี่ยของห้องชุดที่เปิดใหม่อยู่ที่ 45%) และห้องชุดที่เปิดขายก่อนปี 2563  มียอดขายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 23,700 ยูนิต ทั้งนี้ ยอดขายที่สูงกว่าอุปทานใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราขายรวมในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 93% สำหรับผู้ซื้อส่วนใหญ่ จะเป็นผู้บริโภคที่ซื้อคอนโดเพื่ออยู่อาศัยเอง ผู้ซื้อเพื่อการลงทุนมีในสัดส่วนที่ไม่มาก และการเก็งกำไรแทบจะหายไปจากตลาดอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่กระตุ้นยอดขาย คือ การลดราคาของผู้ประกอบการนั่นเอง   สำหรับราคาขายคอนโดนั้น มีการปรับตัวลดลงตั้งแต่ครึ่งปีแรกในอัตรา 16% และปรับลดลงอีก 4% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ไตรมาสที่ 4 มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบราคาที่ลดลงตลอดทั้งปี พบว่าราคาคอนโดในตลาดลดลงถึง 11% จาก 141,800 บาทต่อตารางเมตรในปี 2562 เป็น 126,900 บาทต่อตารางเมตรในปี 2563 โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาปรับลดลงนั้น มาจากการที่ผู้ประกอบการลดราคาเพื่อระบายสต๊อก และโครงการใหม่ ๆ ที่เปิดตัวเป็นโครงการระดับกลาง และ Affordable Condo ที่ตอบรับกับความสามารถในการซื้อส่วนใหญ่ของคนกรุงเทพฯ มากขึ้นนั่นเอง  
พีดีเฮ้าส์ ปรับแผนธุรกิจสู้โควิด -19  เปิด 2 สาขาเมืองรอง-​ลุยตลาดออนไลน์

พีดีเฮ้าส์ ปรับแผนธุรกิจสู้โควิด -19 เปิด 2 สาขาเมืองรอง-​ลุยตลาดออนไลน์

พีดีเฮ้าส์ ประเมินสถานการณ์รับสร้างบ้านต้นปี 2564 งานหนัก หลังเจอพิษโควิด-19 ระลอกใหม่ ฉุดกำลังซื้อ คาดภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านไตรมาสแรกชะลอตัว เร่งเดินหน้าปรับตัวสร้างความแตกต่าง พร้อมนำนวัตกรรมใหม่ PD Fresh Airflow ป้องกันฝุ่น PM 2.5 เพื่อคุณภาพการอยู่อาศัยเอาใจลูกค้ารักสุขภาพ ล่าสุดลุยเปิด 2 สาขาใหม่ พิจิตร และ นครนายก เจาะดีมานด์ต่างจังหวัดหวัง   นายพิศาล ธรรมวิเศษ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด หรือศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ เปิดเผยว่า  สถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 นี้ มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน ยังคงรอดูทิศทางเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ของรัฐบาล  ภายหลังจากสถานการณ์ที่โควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ ในพื้นที่หลายจังหวัด และบางจังหวัดต้องประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด  และเข้มงวดการเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชน อันเป็นการป้องกันการแพร่ระบาด สถานการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบและทำให้การตัดสินใจปลูกสร้างบ้าน ของผู้บริโภคต้องยืดระยะเวลาออกไป แม้ว่าความต้องการของผู้บริโภค ที่ต้องการใช้บริการกับบริษัทรับสร้างบ้าน ยังมีอยู่มากพอสมควรก็ตาม นอกจากนี้ ยังส่งผลทำให้บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ต้องล่าช้าออกไปด้วยเช่นกัน ถือเป็นผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้าน และผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าสถานการณ์รอบนี้นับเป็นความยากลำบาก หากผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้ จะต้องเดือดร้อนและอยู่รอดยาก​   สำหรับ “ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป” ในฐานะบริษัทรับสร้างมืออาชีพที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือและอยู่ในธุรกิจนี้มานานกว่า 30 ปี บริหารจัดการภายใต้ระบบแฟรนไชส์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์  ที่มีมาตรฐานเดียวกันได้มีการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ พร้อมกับได้วางกลยุทธ์การตลาด ให้สอดคล้องกับความต้องการ และกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย   โดยในไตรมาสแรกนี้บริษัทฯ จะยังคงให้ความสำคัญกับตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเมืองรองในแถบภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออก  เนื่องจากประเมินว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของบริษัทฯ​ ยังมีความต้องการรับสร้างบ้านอยู่จำนวนมาก   “เหตุผลที่ปีนี้ บริษัทฯ หันมาเจาะตลาดเมืองรองนั้น สืบเนื่องจากปีที่ผ่านมา พบว่ามีกลุ่มลูกค้าเฉพาะ (Niche Market) ที่มีกำลังซื้อสูงและต้องการสร้างบ้านพร้อมตกแต่งภายใน จากจังหวัดใกล้เคียงที่บริษัทฯ มีสาขาตั้งอยู่ในจังหวัดเศรษฐกิจหลักแล้ว เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยเฉพาะกลุ่มราคาบ้าน 10 ล้านบาทขึ้นไป มีอัตราการเติบโตสวนทางกับภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านที่ชะลอตัว จึงน่าจะเป็นโอกาสดีหากว่าบริษัทฯ สามารถขยายการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ได้มากขึ้น เพื่อเป็นการเข้าถึงและอำนวยความสะดวกกับกลุ่มลูกค้าเฉพาะดังกล่าว”   ล่าสุด บริษัทฯ​ ได้เปิดตัวศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ 2 สาขาใหม่ในพื้นที่เมืองรอง ได้แก่ สาขาจังหวัดพิจิตรและนครนายก เพื่อรองรับความต้องการและกำลังซื้อผู้บริโภคที่ต้องการเลือกใช้บริการกับบริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพที่น่าเชื่อถือ   ด้าน นางสาวถิรพร สุวรรณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท พีดี เฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะผู้บริหารสิทธิ์ระบบแฟรนไชส์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ มีแนวโน้มทำให้ตลาดรับสร้างบ้านโดยรวมชะลอตัวลง ในส่วนของพีดีเฮ้าส์ได้มีการปรับแผนการตลาดใหม่ โดยผ่านช่องทางโซเซียลมีเดีย (Social Media) ในทุกช่องทาง เพื่อจะสื่อสารและเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น   รวมถึงการมุ่งเน้นบริการสร้างบ้านแบบครบวงจร การนำเสนอวัสดุอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานและคุณภาพแตกต่าง การขยายสาขาใหม่ให้ครอบคลุมพื้นที่บริการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อผู้บริโภคไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มใด ๆ พร้อมทั้งออกแบบบ้านใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่ชื่นชอบความลักซูรี่ ซึ่งเร็ว ๆ นี้เตรียมเปิดตัวแบบบ้านหรูขนาดพื้นที่ใช้สอย 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป ในราคาค่าก่อสร้างเริ่มต้น 20 ล้านบาท ภายใต้แนวคิดการสร้างบ้านอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นางสาวถิรพร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจุดยืนเรื่องการสร้างบ้านอนุรักษ์พลังงานฯ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว  พีดีเฮ้าส์ยังเพิ่มจุดขายในเรื่องสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในบ้านอีกด้วย ล่าสุดได้นำนวัตกรรมการควบคุมคุณภาพอากาศภายในบ้านที่เรียกว่า PD Fresh Airflow หรือ “ระบบสร้างอากาศบริสุทธิ์และป้องกันฝุ่น PM2.5” ซึ่งระบบดังกล่าวจะเป็นการถ่ายเทหรือดึงอากาศจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในบ้าน ผ่านการกรองจากอุปกรณ์นำอากาศเข้าที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่น PM2.5 เพื่อจะสร้างอากาศบริสุทธิ์และควบคุมเมื่ออากาศภายในบ้านเริ่มมีมลพิษหรือคุณภาพต่ำลง   ในส่วนอากาศที่เป็นมลพิษก็จะมีอุปกรณ์นำอากาศออก เพื่อจะทำให้อากาศภายในบ้านบริสุทธิ์และดีต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยเหมาะ กับผู้อยู่อาศัยที่มีปัญหาโรคภูมิแพ้และระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่ต้องการสร้างบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สภาพอากาศมีควัน พิษและฝุ่นควันเกินจากค่ามาตรฐานอากาศปกติอยู่เสมอ ๆ เช่น พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดในภาคเหนือ สำหรับลูกค้าที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ 25 สาขาใกล้บ้านได้ทุกวันทำการ
ทำความรู้จัก 4 เทรนด์ที่อยู่อาศัยปี 2021

ทำความรู้จัก 4 เทรนด์ที่อยู่อาศัยปี 2021

นับตั้งแต่เกิดโรคระบาด “ไวรัสโควิด-19” วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ รวมถึงการทำงาน การดำเนินธุรกิจของคนยุคปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไป ต่างต้องอยู่ภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ หรือ New Normal ซึ่งต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และอยู่ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข ที่เน้นความสะอาดปลอดภัย จากการได้รับเชื้อโรค ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การลดการสัมผัส และการล้างมือให้สะอาดหลังการสัมผัสกับสิ่งของ   ไม่เพียงแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้วิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก่อนหน้าแล้ว จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของคน แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือ Digital Disruption   จากการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ส่งผลทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวให้ทัน และต้องสนองตอบความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ก็ไม่ได้แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ ต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกัน  ​เพราะไลฟ์สไตล์ ความต้องการ และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม 4 เทรนด์ที่อยู่อาศัยปี 2021  การจะพัฒนาสินค้าและบริการ ออกมารองรับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป นักการตลาดหรือดีเวลลอปเปอร์ คงต้องวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น  เทรนด์การอยู่อาศัย รวมถึงการก่อสร้างในปี 2021 คงจะแตกต่างจากอดีต ซึ่ง SCG ได้วิเคราะห์เทรนด์การก่อสร้างและที่อยู่อาศัย 2021 ซึ่งพบว่ามี 4 เรื่องที่จะเข้ามามีอิทธิพล และเกิดการเปลี่ยนแปลง 1.Digital Transformation คือการนำเอาดิจิทัล เทคโนโลยี มาปรับใช้กับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นหนึ่งตัวแปรการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากคนส่วนใหญ่ได้ให้เวลาและเรียนรู้การใช้งานเครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ (New Normal) ที่ทุกคนต้องทำไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันโปรแกรมการประชุมออนไลน์ เข้ามาอำนวยความสะดวกแทนการเดินทางมาประชุมในรูปแบบเก่า หรือ การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ  เป็นต้น ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย และง่าย แบบ Anywhere Anytime ของคนทุกเพศ ทุกวัย 2.การใส่ใจกับพื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น ผู้คนหันมาให้ความสำคัญ ใส่ใจกับพื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น  เทรนด์นี้เกิดขึ้นจากช่วงล็อคดาวน์ เมื่อคนอยู่บ้านกันมากกว่าที่เคย จะเห็นได้ว่า มีการปรับปรุงตกแต่งบ้านให้น่าอยู่และรองรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ว่าโลกจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด “ที่อยู่อาศัย” ก็ยังคงเป็นปัจจัยพื้นฐานสําคัญ และเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด 3.Well-Being เทรนด์สุขอนามัยที่ขาดไม่ได้ เทรนด์การอยู่อาศัยซึ่งเป็นตัวแปรที่สาม คือ  Well-Being โลกกำลังตื่นตัวในเรื่องของสุขอนามัยกันมากขึ้น เทรนด์ที่กําลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทุกเพศทุกวัย และเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง จากวิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ทำให้มองเห็นการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นเรื่องที่สำคัญและให้ความสนใจกับสิ่งรอบตัว ไปพร้อม ๆ กับการที่มีบ้านที่ดี มีความปลอดภัย   ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังต้องปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) สอดคล้องกับพฤติกรรมการเลือกและใส่ใจกับความปลอดภัยเป็นเรื่องแรก ทั้งการอาศัยอยู่ภายในบ้าน รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมตัวเอง และสมาชิกในบ้าน สู่การเป็นผู้สูงวัยในอนาคต 4.Circular Economy และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม จากสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างรับมือกับการสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของโลกเรา ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงานกันมากขึ้น หรือแม้แต่เรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นสิ่งที่มนุษย์เราเริ่มหันมามองสิ่งรอบตัว จนเกิดคำถามที่ว่า เมื่อโลกเปลี่ยน ถึงเวลาที่ต้องหันกลับมามองที่ตัวเราเอง ว่าที่ผ่านมาดูแลโลกนี้ดีเพียงพอหรือยัง? นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ธุรกิจ เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง แสดงความเห็นว่า  เมื่อเกิดไวรัสโควิด-19 แล้ว เกิดคำถามขึ้นมากมายตามมาว่า ที่ผ่านมาเราดูแลโลกนี้ดีเพียงพอไหม เพราะต้องยอมรับหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้น ก็เกิดจากผลกระทบของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป คนจะกลับมาตระหนักเหมือนกันว่าเราดูแลตัวเราเองแล้ว เราดูแลโลกไปด้วยไหม ซึ่งจริง ๆ แล้ว เรื่องเทรนด์ กระแสนิยม รวมถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้น อาทิ การดูแลสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน การใส่ใจด้านสุขอนามัย คงต้องมองย้อนกลับมามองถึงการใช้ชีวิต และ รอบ ๆ ตัว ว่าเราจะดูแลต่อจากนี้อย่างไร สำหรับผมมองว่าทั้ง 4 ข้อข้างต้นก็เป็นเทรนด์ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในก่อนหน้านี้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันช่วยให้มันชัดเจนขึ้น และช่วยเร่งความเร็วมากขึ้น Smart Living ตอบโจทย์ การอยู่อาศัยปี 2021 นอกจากนี้  ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนผ่าน ได้ยกระดับความต้องการพื้นฐานทางกายภาพของมนุษย์สู่ความเป็นดิจิทัล โดยการผนวกเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกสบายในทุกมิติ ส่งผลให้ภาพของ Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ ชัดเจนมากขึ้น นำไปสู่การใช้ชีวิตในรูปแบบ Smart Living ที่เชื่อมต่อทุกประสบการณ์ด้วยเทคโนโลยี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ในฐานะองค์กรต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มที่เกิดขึ้น ทั้งด้านพฤติกรรม ความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต สุขอนามัย   ขณะที่นายชูโชค ศิวะคุณากร Managing Director บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่าง คือการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในสายงานก่อสร้าง และขาดแคลนในเชิงของคุณภาพและทักษะของงานก่อสร้างที่มีความหลากหลาย ซึ่งต้องเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาต้าควบคู่ อย่างเช่นการพัฒนาแรงงานฝีมือช่าง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอีกด้านหนึ่ง โดยเมื่อก่อนนี้นึกถึงแค่งานโครงสร้าง อาคาร แต่ปัจจุบันมันต้องมองทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ปัญหาเรื่องฝุ่นละออง เรื่องการจัดการน้ำ ซึ่งมันจะเชื่อมโยงในภาคการอุปโภค บริโภค ทั้งในเชิงของการเกษตร และอุตสาหกรรม   “ตัวกำหนดทิศทางสำคัญในการขับเคลื่อนแวดวงการก่อสร้าง คือความเบ็ดเสร็จ ครบวงจรและรวดเร็ว ทั้งรูปแบบของการใช้งานตัวอาคาร และโครงสร้าง ทั้งการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานบนโครงสร้างเดิมให้มีความหลากหลาย หรือเป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการใช้งานโครงสร้างเดิมให้ต่างออกไป รวมถึงการรีโนเวทปรับปรุงอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเพื่อตอบโจทย์สูงสุด” จากความต้องการความเบ็ดเสร็จและรวดเร็ว ทำให้เกิดแนวทางการก่อสร้างแนวใหม่ คือ Smart Construction ซึ่งจะช่วยจัดการกับการออกแบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่ล้าสมัย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังปรับให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ให้มีความเป็น Smart Building มากยิ่งขึ้น   นายชูโชค ศิวะคุณากร ทิ้งท้ายว่า ความน่าสนใจอีกข้อที่ก่อตัวขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง คือ Networking การสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลร่วมกัน แชร์ Resource หรือแม้แต่ Knowledge แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทั้งกลุ่มเจ้าของโครงการและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในแวดวงการก่อสร้าง ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจและภาพรวม เพิ่มทักษะงานก่อสร้าง ภายใต้ Ecosystem เดียวกัน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น  
เอพี ไทยแลนด์ เตรียมขึ้นเบอร์ 1 ผู้นำอสังหาฯ ปี 63 

เอพี ไทยแลนด์ เตรียมขึ้นเบอร์ 1 ผู้นำอสังหาฯ ปี 63 

เอพี ประกาศความสำเร็จก้าวข้ามผ่านวิกฤตมาได้อย่างสวยงาม มุ่งสู่การเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรม คาดยอดโอนรวมปี 63 สูงถึงประมาณ 46,000 ล้านบาท โตกว่า 40% จากปี 2562 เชื่อจะเป็นยอดโอนที่มากที่สุดในตลาด       นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในรอบปี 2563 คาดว่าจะทำยอดโอนรวมเกือบ 46,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ 40,550 ล้านบาท หรือโตกว่า 40% จากปี 2562 และคาดว่าน่าจะเป็นยอดโอนที่มากที่สุดในตลาด พร้อมคาดการณ์ผลกำไรรวมทั้งปี 63 จะเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ ผลการดำเนินงานดังกล่าว มาจากความสำเร็จในการส่งมอบสินค้า ทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของบริษัท และสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา และมั่นใจว่าเอพี ไทยแลนด์จะสามารถมุ่งสู่การเป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมอสังหาฯ ไทย นายวิทการ กล่าวอีกว่า  ความสำเร็จของบริษัท เกิดจากความพร้อมของพนักงานในองค์กรกว่า 2,000 คน ในการตั้งรับกับการปรับตัวที่รวดเร็วจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ตลอดจนความเข้มแข็งในการทำงานโดยมองไปที่เป้าหมาย EMPOWER LIVING เดียวกัน ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการกระแสเงินสดที่รัดกุม ส่งผลให้บริษัท สามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตมาได้อย่างมั่งคง สร้างผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกไตรมาส   ทั้งนี้ อีกหนึ่งคีย์ซัคเซสสำคัญนอกเหนือจากการมีทีมงานที่แข็งแกร่งแล้ว นั่นคือแผนการบริหารจัดการภายในองค์กรที่ดำเนินควบคู่ไปกับการบริหารจัดการพอร์ตสินค้าที่นำมาซึ่งการตอบรับที่ดีจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมานอกจากความสำเร็จในการขายและโอนกรรมสิทธิ์สินค้าในกลุ่มธุรกิจแนวราบแล้วนั้น บริษัท  ยังได้รับการตอบรับที่ดีมากจากการโอนสินค้ากลุ่มคอนโดมิเนียม โดยมี LIFE ลาดพร้าว LIFE อโศก-พระราม 9 LIFE วัน ไวร์เลส และ Aspire อโศก-รัชดา เป็นคีย์สำคัญ ทั้งนี้ปี 2563 ที่ผ่านมาบริษัทฯ เปิดตัวโครงการใหม่ทั้งสิ้น 40 โครงการ รวมมูลค่า 45,020 ล้านบาท เป็นบ้านเดี่ยว 18 โครงการ มูลค่า 20,860  ล้านบาท ทาวน์โฮม 18 โครงการ มูลค่า 18,530 ล้านบาท และโครงการในต่างจังหวัด 3 โครงการ มูลค่า 2,430 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 1 โครงการ มูลค่า 3,200 ล้านบาท   บริษัทยังคงดำเนินแผนธุรกิจด้วยความรัดกุม ควบคู่ไปกับความพร้อมที่จะปรับตัวอย่างรวดเร็ว ด้วย  การบริหารจัดการกระแสเงินสด ภายใต้พันธกิจใหญ่ขององค์กร “EMPOWER LIVING” ที่พร้อมเติมเต็มทุกเป้าหมายของชีวิต ด้วยนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีคุณค่าและมีความหมาย
อสังหาปี 64  ไปต่ออย่างไร ? ในวิกฤติไวรัสโควิด-19

อสังหาปี 64  ไปต่ออย่างไร ? ในวิกฤติไวรัสโควิด-19

สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่ค่อนข้างเหน็ดเหนื่อย สำหรับผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องเผชิญกับปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ช่วงครึ่งปีหลังส่งสัญญาณดี จากการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างได้ผล แต่สถานการณ์กลับมารุนแรงอีกครั้งช่วงปลายปี และลุกลามมาถึงปี 2564 ซึ่งสถานการณ์รุนแรงกว่าครั้งแรกด้วยซ้ำ   ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจต้องอยู่ในภาวะชะลอตัวอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นปัจจัยลบอย่างหนักในทุกธุรกิจ รวมถึงธุรกิจอสังหาฯ ด้วย ความหวังสำคัญของการฟื้นเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ คงขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาด และการนำเอาวัคซีนมาใช้ได้อย่างเป็นผล หลังจากนั้นรัฐบาลคงต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ภาพรวมเศรษฐกิจคงเริ่มฟื้นตัวตาม   ในส่วนของธุรกิจอสังหาฯ ปี 2564 จะมีทิศทางเป็นอย่างไร ท่ามกลางปัจจัยลบสำคัญเช่นนี้ แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ทำบทวิเคราะห์คาดการณ์ภาพรวมธุรกิจในปี 2564 และมองย้อนกลับไปในปี 2563 ว่ามีสถานการณ์ภาพรวมตลาดเป็นอย่างไรบ้าง แนวโน้มตลาดคอนโดปี ​2564 -คาดว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกที่จะเลื่อนการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ออกไป  เน้นการพัฒนาโครงการแนวราบทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดยุทธศาสตร์ที่ยังคงมีกำลังซื้อ แต่อาจมีผู้ประกอบการรายใหญ่บางราย เปิดตัวโครงการใหม่บ้างในบางทำเล -คาดการณ์ปี 2564 จะมีจำนวนเปิดตัวคอนโดใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่เกิน 20,000 ยูนิตเท่านั้น หรือปรับตัวลดลง 7.6% จากปีก่อนหน้า   -ในปี 2564 คาดว่าจะมีคอนโดที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกกว่า 35,000 ยูนิต ในส่วนนี้จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการ  หากเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเรียกลูกค้าเข้ามาโอนกรรมสิทธิ์จะเกิดยูนิตหลุดโอนมากน้อยเพียงใด และหากยูนิตเหล่านี้มีการทิ้งโอนกันเป็นจำนวนมากในภาวะที่ตลาดชะลอตัว จะเป็นอีกปัญหาที่สำคัญที่ผู้พัฒนาจะต้องนำยูนิตเหล่านี้กลับมาขายใหม่ในตลาดอีกครั้ง หรืออย่างที่เราเห็นผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะนำยูนิตเหล่านี้กลับมาขายใหม่ในการลดราคาขายลงถูกว่าในช่วง Pre-sale ก่อนหน้าด้วยซ้ำ เพื่อกระตุ้นความสนใจของกลุ่มลูกให้เพิ่มขึ้น และกระตุ้นยอดโอนกรรมสิทธิ์เพื่อการรับรู้รายได้และดึงเงินเข้ามาในบริษัทให้มากที่สุดซึ่งจะส่งผลให้เราจะเห็นสงครามราคาในตลาดคอนโดมิเนียมอย่างต่อเนื่องในปี 2564   -ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกพัฒนาโครงการคอนโดในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอกมากขึ้น หรือในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเฉพาะช่วงรามคำแหง – ลำสาลี  รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยเฉพาะบริเวณถนนลาดพร้าวและศรีนครินทร์ และรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยเฉพาะถนนรามอินทรา หรือแม้กระทั้งแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง จะเป็นพื้นที่ที่คาดการณ์จะมีการเปิดตัวโครงการคอนโดคึกคักขึ้นในปี 2564   -ผู้ประกอบการพัฒนาคอนโดในพื้นที่ใจกลางเมืองน้อยลง เนื่องจากยังมีจำนวนคอนโดรอการขายในตลาดจำนวนมาก  จากการเปิดตัวอย่างคึกคักในช่วง 4-5 ปีก่อนหน้า บวกกับราคาที่ดินที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง -ราคาคอนโด 50,001 - 100,000 บาทต่อตารางเมตร เป็นเซกต์เมนต์ ที่น่าจับตามองในปี 2564 เนื่องจากเป็นราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ในภาวะที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ตามมาด้วยราคา 100,001 - 150,000 บาทต่อตารางเมตร และระดับราคาต่ำกว่า 50,000 บาทต่อตารางเมตร   -ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์บางราย ยังคงมีแผนพัฒนาโครงการคอนโดในช่วงราคาขายเฉลี่ยต่ำกว่า 50,000 บาทต่อตารางเมตร ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมฯ และปริมณฑล เพื่อดึงดูดกำลังซื้อในกลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์ และกลุ่มนักลงทุนที่เน้นการซื้อเพื่อการปล่อยเช่าในปี 2564   -โครงการคอนโดที่มีราคา มากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตรขึ้นไป จะมีการพัฒนาน้อยลง เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกลุ่มลูกค้าจำกัด และกำลังซื้อต่างชาติยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ผู้ประกอบการจะเลือกพัฒนาเฉพาะในทำเลที่มั่นใจว่ามีกำลังซื้อเท่านั้น เช่น ย่านทองหล่อ แนวโน้มตลาดบ้านแนวราบปี 2564 -ตลาดแนวราบ คาดว่าจะยังคงเป็นตลาดดาวเด่นของภาคอสังหาฯ ในปี 2564 ที่ผู้พัฒนาจะยังคงเดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดยุทศาสตร์สำคัญ ​ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ที่อยู่อาศัยยังคงเป็นปัจจัย 4 ที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ​คาดว่ายอดขายตลาดแนวราบในปี 2564 ​​ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ -ทำเลเด่นในการพัฒนาโครงการแนวราบ คือ พื้นที่ในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก โดยเฉพาะย่านบางนา  วงแหวนกาญจนาภิเษก ร่มกล้า กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ รวมทั้งจังหวัดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ประเด็นจับตาท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 -กำลังซื้อต่างชาติในภาคอสังหาฯ คาดการณ์ว่าจะยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2564 เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้มองว่าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับการก่อหนี้ก้อนใหญ่ แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ​ทั้งจากภาครัฐและเอกชนก็ตาม   -การขายอสังหาฯในปี 2564 อุปสรรคที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นในเรื่องของกำลังซื้อที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เรียกหลายฝ่ายมองว่าอยู่ในช่วงขาลงทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก  กำลังซื้อในช่วงวัยทำงาน หรือวัยกลางคนที่เคยเป็นกำลังซื้อหลักของภาคอสังหาฯ รู้สึกไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังคงกลัวการถูกเลิกจ้าง ตกงาน หรือแม้กระทั้งการปรับลดเงินเดือนลง ส่งผลให้ไม่อยากสร้างหนี้ก้อนใหญ่และภาวะผูกพันระยะยาวในช่วงนี้ จึงเลือกที่จะชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาฯออกไป   -ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลที่สุดยังคงเป็น ความกังวลในเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 2  ที่จะส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศล็อกดาวน์ประเทศอีกรอบ เหมือนกับประเทศในกลุ่มยุโรปและอเมริกาที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้งเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19   -ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญที่สุดสำหรับภาคอสังหาฯ คือวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จะพร้อมใช้งานได้เมื่อใด ซึ่งหากวัคซีนดังกล่าวสามารถใช้งานได้จริงภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่สุด นอกเหนือจากมาตรากระตุ้นอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทางรอดอสังหาฯ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 -ผู้พัฒนาควรหันมาเน้นจับกลุ่มลูกค้าภายในประเทศ เพื่อดึงดูดกำลังซื้อในกลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์ และกลุ่มนักลงทุนที่เน้นการซื้อเพื่อการปล่อยเช่าในช่วงระดับราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ในภาวะที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวในปี 2564   -ส่วนลูกค้าต่างชาติควรเพิ่มช่องทางการขาย ผ่านแพลตฟอร์มเอเจนท์ต่าง ๆ หรือช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสการขายอีกช่องทางในภาวะที่กำลังซื้อต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้   -ผู้ประกอบการควรระมัดระวังในการกำหนดราคาขาย ซึ่งหากเปิดตัวโครงการขายใหม่ราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าราคาตลาด อาจส่งผลให้โครงการไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อเท่าที่ควร   การกำหนดราคาขายที่น่าสนใจ นักลงทุนยังทำกำไรได้ และผู้ซื้อสามารถเข้าถึงได้ คาดว่าผู้ประกอบการหลายรายยังคงเลือกใช้เป็น Key Success Factor  เพื่อกระตุ้นความสนใจ และตัดสินใจซื้อได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว  ในภาวะที่ตลาดชะลอตัว และกำลังซื้อส่วนใหญ่ยังคงให้ความสนใจกับโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จที่นำมาลดราคา   เนื่องจากราคาที่น่าสนใจ และเป็นโครงการที่ลูกค้าสามารถเห็นห้องจริงที่จะซื้อ รวมถึงมีโปรโมชั่นอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการนำมาดึงดูดความสนใจ ซึ่งถือว่าโปรโมชั่นเหล่านี้สามารถดึงดูดใจให้ผู้ซื้อเกิดความสนใจกันเป็นจำนวนมาก ส่งอาจส่งผลให้หลายโครงการที่ก่อสร้างเสร็จสามารถปิดการขายลงได้ 100% ในปีนี้   -ผู้พัฒนาควรปรับลดแผนการเปิดตัวโครงการคอนโดลง เพื่อใช้เวลานี้ในการระบายสต็อกที่ยังคงค้างในตลาดก่อน เพื่อให้ตลาดกลับสู่ภาวะสมดุลเร็วขึ้น เน้นหาพื้นที่ใหม่ ๆ ในการพัฒนาโครงการแนวราบเพื่อจับกลุ่มกำลังซื้อเรียลดีมานด์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดยุทธศาสตร์อื่น ๆ ที่สำคัญ