Tag : News

2376 ผลลัพธ์
สรุปผลงานบิ๊กอสังหาฯ ปี 2562 ทำรายได้รวมกว่า 2.77 แสนล้าน

สรุปผลงานบิ๊กอสังหาฯ ปี 2562 ทำรายได้รวมกว่า 2.77 แสนล้าน

รอบปี 2562 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับเลยว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย ต้องเผชิญภาวะชะลอตัวอย่างชัดเจน จากปัจจัยลบสำคัญ คือ ผลกระทบจากมาตรการ LTV ที่มาซ้ำเติมกับภาวะกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ชะลอตัวลง เพราะภาพโดยรวมไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลก หรือเศรษฐกิจไทย ต่างก็มีปัญหามาก่อนหน้านี้ เมื่อกำลังซื้อมีจำกัด มาเจอกับการเข้มงวดจากการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และวงเงินการปล่อยกู้ที่ลดลง ตลาดอสังหาฯ จึงได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ   จากการสำรวจผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯ ที่จะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ประมาณ 30 บริษัท ซึ่งดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาฯ ประเภทที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือคอนโดมิเนียม พบว่ารายได้เมื่อสิ้นปี 2562 ต่างได้รับผลกระทบ ตัวเลขรายได้และกำไรต่างลดลงจากปี 2561 ส่วนใหญ่เหตุผลมาจาก ลูกค้าไม่สามารถกู้เงินซื้อบ้านได้  เพราะมีข้อจำกัดเรื่อง LTV แม้ลูกค้าที่มีความสามารถในการซื้อ แต่ความมั่นใจก็ลดลง จึงชะลอแผนการซื้อที่อยู่อาศัยไปก่อน ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการเอง ยังชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไปก่อน และบางรายก็ลดจำนวนโครงการที่เปิดใหม่ในปีที่ผ่านมาด้วย 30 ดีเวลลอปเปอร์ทำรายได้ลด 4.07% หากดูตัวเลขจากการสำรวจข้อมูลในปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการอสังหาฯ 30 รายหลัก มีรายได้จากการพัฒนาอสังหาฯ ซึ่งเป็นประเภทที่อยู่อาศัย มีรายได้รวมกว่า 277,810 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 4.07% ซึ่งมีรายได้รวม 289,607 ล้านบานท ขณะที่กำไรในส่วนที่บริษัทได้รับมีมูลค่ารวม  50,144 ล้านบาท ลดลง 6.37% จากปีก่อนหน้าที่มีกำไร 53,558 ล้านบาท แต่หากพิจาณาจากรายได้รวมทั้งหมด ของผู้ประกอบการอสังหาฯ ในปีที่ผ่านมา จะพบว่า มีรายได้เติบโตเล็กน้อย ประมาณ 1.49% จากรายได้รวมจำนวน 332,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 327,766.65 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 50,438 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยในอัตรา 0.51% จากปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิรวม 50,698 ล้านบาท   เหตุผลที่บริษัทอสังหาฯ ส่วนใหญ่ยังทำรายได้รวมเพิ่มขึ้น และกำไรลดลงเล็กน้อย ซึ่งเรียกได้ว่ายังรักษาความสามารถในการทำกำไรได้ดี ในภาวะและสถานการณ์ที่มีแต่ปัจจัยลบนั้น เป็นเพราะการขยายพอร์ตธุรกิจไปสูตลาดอสังหาฯ ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้จำกัดตัวเองไว้แต่เฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดสำนักงานให้เช่า ศูนย์การค้า โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ธุรกิจบริการ คลังสินค้า หรือแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหลายธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง แถมยังเป็นธุรกิจทำกำไรได้ดีกว่าธุรกิจที่อยู่อาศัยด้วยซ้ำ ดีเวลลอปเปอร์ Top10 ครองตลาดกว่า 73% ถ้าพิจารณาบรรดาผู้ประกอบการรายใหญ่ 10 อันดับแรก ยังพบว่าเป็นผู้ประกอการที่สามารถสร้างรายได้จากธุรกิจอสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัยได้ระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไป และยังเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ครองส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากกว่า 73% อีกด้วย โดยกลุ่มพฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) ยังคงเป็นแชมป์ทำรายได้สูงสุดถึง 39,885.21 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลง 11.17% จากปีก่อนหน้าที่ทำได้ 44,900.70 ล้านบาทก็ตาม โดยกลุ่มออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ Top10 ที่ทำรายได้น้อยสุดด้วยรายได้ 12,278.60 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 15.5% ที่ทำรายได้ 14.523.10 ล้านบาท   หากมาดูการเปลี่ยนแปลงของรายได้จากธุรกิจอสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัย 7 ใน 10 บริษัท มีรายได้ลดลงทั้งหมด ที่ลดลงมาก็คือ กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) ลดงถึง 17.57%  รายได้ที่ทำได้ในปี 2561 จำนวน 30,513.63 ล้านบาท ลดลงเหลือ 25,15137 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่มีรายได้ลดลงเพียงเล็กน้อย คือ กลุ่มศุภาลัย (SPALI) ที่มีรายได้จากการขายอสังหาฯ เพื่อที่อยู่อาศัยดลง 7.85% จากปี 2561 มีรายได้ 25,203.08 ล้านบาท เหลือ 25,151.37 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา   ขณะที่ดีเวลลอปเปอร์ซึ่งติด Top10 สามารถฝ่าปัจจัยลบ สร้างยอดขายเติบโตได้ดี คือ กลุ่มโนเบิล ดีเวลลอปเปอร์ (NOBLE) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจาก การรับรุ้รายได้จากการขายที่ดินรอการพัฒนา มูลค่า 8,680.7 ล้านบาท รวมถึงการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาฯ จำนวน 210 ล้านบาท ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นรายได้จากการขายที่พิเศษขึ้นมา หากหักรายการพิเศษนี้ออกไป กลุ่มโนเบิลฯ จะมีรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งคงไม่ได้ติดอันดับ Top10 แต่ยังคงมีรายได้เติบโตจากปีที่ผ่านมา ซึ่งทำได้ประมาณ 4,974.20 ล้านบาท   ส่วนอีก 2 บริษัทที่สามารถสร้างรายได้จากการขายเติบโต คือ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (GOLD) ที่ทำรายได้ในช่วง ปี 2562 (มกราคาถึงธันวาคม 2562) จำนวน 15,299.99 ล้านบาท เติบโต 9.02% จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 14,034.33 ล้านบาท และอีกบริษัท คือ กลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค (PF) ที่สามารถสร้างการเติบโตได้ 5.01% ด้วยรายได้ 16,367.10 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าทำได้ 15,586.60 ล้านบาท   Top10 โกยกำไรกว่า 4 หมื่นล้าน สำหรับปีที่ผ่านมาบิ๊กดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ ยังคงความสามารถในการทำกำไรในส่วนของบริษัท ได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดย 10 บริษัทรายใหญ่ทำกำไรในส่วนของบริษัทได้มากถึง 40,088.45 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเพียง 2.76% จากปี 2561 ที่ทำได้จำนวน 41,224.19 ล้านบาท บริษัทที่ทำกำไรได้สูงสุด และแตะระดับหมื่นล้านบาทนั้น ยังคงเป็นบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ฯ ที่มีกำไร 10,024.90 ล้านบาท ลดลง 4.30% จากปีก่อนหน้าทำได้ 10,475.42 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่กำไรลดลงมากสุด คือ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (QH) โดยกำไรลดลง 24.86% จากกำไรในปี 2561 จำนวน 3,797.85 ล้านบาท เหลือจำนวน 2,853.86 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา แม้บริษัทส่วนใหญ่จะกำไรลดลง แต่ยังพบว่ากลุ่ม Top10 มี 3 บริษัทที่กำไรเติบโต คือ บริษัท โนเบิลฯ มีกำไรเติบโต 211.18% จากกำไรจำนวน 986.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 3,071.21 ล้านบาท. ซึ่งเป็นผลจากการขายรายการพิเศษนั่นเอง ส่วนอีก 2 บริษัทที่มีกำไรเติบโต คือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) มีกำไรเติบโต 16.93% จากกำไร 2,045.97 ล้านบาท ในปี 2561  เพิ่มขึ้นเป็น 2,392.44 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และบริษัท แผ่นดินทองฯ เป็นอีกหนึ่งบริษัทในกลุ่ม Top10 ที่มีกำไร โดยกำไร 2,093.92 ล้านบาท เติบโต 7.27% จากปี 2561 ซึ่งมีกำไร 1,951.97 ล้านบาท 3 บริษัทกำไรเติบโตเกิน 100% ส่วนภาพรวมในรอบปี 2562 บริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 30 บริษัท สามารถทำกำไรในส่วนของบริษัทรวม  50,144.63 ล้านบาท ลดลง 6.37% จากปี 2561 ที่ทำกำไรได้ 53,558.26 ล้านบาท โดยบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม Top10 มีกำไรเติบโตโดดเด่น มี 3 บริษัท  คือ  บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) (RML)  มีกำไรเติบโต 228.30% จากกำไรในปี 2561 จำนวน 17.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 79.30 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และบริษัท ชาญอิสสระดีเวล็อปเนท์ จำกัด (มหาชน) (CI) ซึ่งทำกำไรเติบโตถึง 228.39% จากกำไรจำนวน 82.4 ล้านบาท ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 270.59 ล้านบาท เป็นผลจากการโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการต่างๆ ที่เปิดขายมาก่อนหน้า   ส่วนอีกบริษัทที่มีกำไรเติบโตโดดเด่น ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะสามารถผลิกฟื้นธุรกิจจากขาดทุนมาเป็นกำไร คือ บริษัท เอเวอร์แลนด์ จำกัด (มหาชน) (EVER)  ที่สามารถผลิกจากการขาดทุนในปี 2561 จำนวน  340.86 ล้านบาท มาเป็นกำไรได้ 323.84 ล้านบาท หรือเติบโตถึง 195% ซึ่งเป็นผลมาจาก การโอนกรรมสิทธิ์โครงการต่างๆ อาทิ  เดอะโพลิแทน รีฟ เฟส 1 และโครงการทาวน์โฮม แบรนด์เอเวอร์ ซิติ้ สุขสวัสดิ์ 30-พุทธบูชา โครงการเอเวอร ซิตี้ ศรีนครินทร์-หนามแดง และโครงการมายโอม อเวนิว เป็นต้น ถือว่าทำผลงานได้ดีที่สุดในรอบ 7 ปีเลยทีเดียว   บทสรุป ของปี 2562 ที่ผ่านมา คงเห็นภาพได้ชัดเจนว่า ตลาดอสังหาฯ​ ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ และน่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงปี 2563 ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ เกิดปัญหาไวรัสโควิด-19 อีกด้วย เชื่อว่าตลาดอสังหาฯ ปีนี้ ก็คงชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน แต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องวัดผลกันอีกครั้งในช่วงสิ้นปี                        
วิลล่า คุณาลัย เตรียมปั้นโปรเจ็กต์ บุกพื้นที่รังสิต-บางขุนเทียน

วิลล่า คุณาลัย เตรียมปั้นโปรเจ็กต์ บุกพื้นที่รังสิต-บางขุนเทียน

วิลล่า คุณาลัย เดินแผนปี 63 เปิด 2 โปรเจ็กต์ใหม่ พร้อมเตรียมขยายตลาดไปยังทำเลใหม่ นอกพื้นที่บางบัวทอง  เล็งรังสิต-บางขุนเทียน ปักหมุดบ้านแนวราบราคา 2-5 ล้าน จับตลาดเรียลดีมานด์ ปั้นรายได้โต 20%     หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อปลายปีที่ผ่านมา “วิลล่า คุณาลัย” หรือ KUN ได้เดินแผนธุรกิจต่อเนื่อง ในปีนี้วางแผนขยายตลาด ด้วยการกระจายพื้นที่ไปยังทำเลอื่น ตามแผนที่ได้ประกาศไว้ว่าจะขยายการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้ครอบคลุมทั้ง  4 ทิศของกรุงเทพฯ   สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ วางแนวทางไว้ ดังนี้ 1.เปิดโครงการใหม่ 2 โครงการ มูลค่า 2,300 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการคุณาลัย บีกินส์ 2 ทาวน์โฮม จำนวน 363 ยูนิต มูลค่าโครงการ 800 ล้านบาท จะเปิดขายในช่วงไตรมาส 2 และ 2.โครงการคุณาลัย จอย 2  ประเภทบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด จำนวน 411 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท เปิดขายในไตรมาส 3   2.บริษัทวางแผนเปิดโครงการในพื้นที่โซนเหนือ ย่านรังสิต หรือโซนใต้ ย่านบางขุนเทียน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและการตลาด โดยบริษัทยังคงโฟกัสตลาดบ้านแนวราบ ระดับราคา 2-5 ล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนได้ในไตรมาส 2 และเปิดตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้าย   3.แผนธุรกิจปีนี้ บริษัทคาดว่าจะส่งผลให้สามารถรายได้เติบโต 20% หลัก จากปีที่ผ่านมามีรายได้กว่า 652.67 ล้านบาท มีกำไรกว่า 56 ล้านบาท   4.บริษัทมียอดขายรอโอน (Backog) เพื่อผลักดันให้ได้รายได้ตามเป้าหมาย มูลค่า 140 ล้านบาท ที่จะรับรู้รายได้ภายในปี 2563 และมีสินค้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและขาย รวมมูลค่ากว่า 900 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า นางประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 มีการแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการตลาด การลด แลก แจก แถม ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาฯ จะเข้มาแข่งขันในตลาดบ้านแนวราบมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ เนื่องจากเป็นตลาดเรียลดีมานด์ และสถานการณ์ตลาดปีนี้ที่มีปัจจัยกระทบมากในตลาดคอนโดมิเนียม   อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมา ยังเห็นแนวโน้มการเติบโตที่ดีในกลุ่มตลาดบ้านแนวราบ ซึ่งกลยุทธ์ของบริษัทจะเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิม ในพื้นที่บางบัวทอง เพื่อป้องกันการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ ขณะที่พื้นที่ฉะเชิงเทรา จะมุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
5 ปัจจัยหนุนทำเลเตาปูน สู่ย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่

5 ปัจจัยหนุนทำเลเตาปูน สู่ย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่

ถ้าพูดถึงทำเลที่มีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมหนาแน่น  นอกจากทำเลพื้นที่ย่านใจกลางเมือง หรือ ย่านใจกลางธุรกิจ อีกทำเลที่มีการพัฒนาคอนโดฯ​ อย่างหนาแน่น ก็คงเป็นทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ทั้งเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต  เพราะคนจะเลือกที่อยู่ทำเลไหน การเดินทางต้องมีความสะดวกสบายด้วย ซึ่งเรื่องของความสะดวกในการเดินทาง ถือเป็นตัวตัดสินใจอันดับแรกๆ ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยเลยก็ว่าได้   สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งมีการพัฒนาโครงการคอนโดฯ หนาแน่นแห่งหนึ่ง คงเป็นทำเลเตาปูน บริเวณรถไฟฟ้าสถานีเตาปูน อินเตอร์เชนจ์ ต่อเนื่องไปถึงสถานีบางโพ ยิ่งเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จากสถานีเตาปูน-ท่าพระ ได้เริ่มทดลองวิ่งแล้ว ทำเลนี้น่าสนใจและเป็นที่จับตามอง ดีเวลลอปเปอร์หลายราย มองว่าทำเลนี้ในอนาคตจะถูกพัฒนาและกลายเป็นย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่ จากปัจจัยบวกหลายประการ   หากพิจารณาถึงเหตุผลตอกย้ำทำเลเตาปูน คือ ย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่ในอนาคตนั้น  คงจะมาจากเหตุผลสำคัญ 5 ประการ คือ 1.การพัฒนาโครงการ “สถานีกลางบางซื่อ” สถานีกลางบางซื่อ เป็นโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายสำคัญเพื่อใช้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ และรถไฟฟ้า ซึ่งมีการริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2553 โดยขณะนั้นสถานีกลางบางซื่อ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ซึ่งเดิมกำหนดให้มีโครงสร้างสถานีจำนวน 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นรถไฟทางไกล และชั้นสำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยาย   ต่อมาในปี  2557 รัฐบาล คสช. และกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการต่อมา จากก่อนหน้าโครงการล่าช้าเพราะมีการปรับแบบก่อสร้างมาโดยตลอดเวลา  ซึ่งแบบสถานีกลางบางซื่อใหม่ที่ถูกปรับขึ้น ล่าสุด จะประกอบด้วย ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.000 เมตร ประกอบด้วยรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร ประกอบด้วย รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  (Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือ และรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวนสายละ 2 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 10 ชานชาลา (ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย)   ความสำคัญของสถานีกลางบางซื่อ คือ การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งระบบรางที่เชื่อมโยงการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง จากกรุงเทพฯ สู่ภูมิภาค และภายในเขตกรุงเทพฯ​ และปริมณฑลเอง  ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถานีกลางบางซื่อจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักให้พื้นโดยรอบกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ ที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการอยู่อาศัย เพราะคาดว่าสถานีกลางบางซื่อจะมีผู้ใช้บริการ หมุนเวียนต่อวันมากถึง 200,000 คนเลยทีเดียว 2.จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสี “น้ำเงิน-ม่วง” นับตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีม่วง เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในช่วงปี 2560 ทำเลเตาปูน ก็ได้รับความสนใจจากบรรดาดีเวลลอปเปอร์อย่างต่อเนื่อง หลายรายเข้ามาปักหมุดขึ้นโครงการ  นับตั้งแต่รู้ข่าวว่าจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าด้วยซ้ำ และเมื่อมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง มาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บริเวณสถานีเตาปูน อินเตอร์เชนจ์ ทำเลเตาปูน จึงกลายเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟฟ้า ทั้งสองสีอย่างมีนัยสำคัญต่อการเดินทางของคนในกรุงเทพฯ และจังหวัดนนทบุรี   ที่สำคัญ การเริ่มเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ ตั้งแต่ปลายปี 2562 แม้จะเป็นช่วงเวลา 10.00-16.00 น. ก่อนจะขยายระยะเวลาให้บริการเป็น 06.00-24.00 น. ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะยังไม่ได้จัดเก็บค่าโดยสาร และจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันที่ 30 มีนาคม 2563 นี้  ทำเลเตาปูนจึงถือเป็นจุดเชื่อมต่อของการเดินทาง  ซึ่งทำให้คนมีความสะดวก ไม่ว่าจะไปทางทิศตะวันออก หรือไปทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ 3.การเดินทางครบเชื่อมโยงทั้งระบบ “ราง-รถ-เรือ” นอกจากย่านเตาปูน จะเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงแล้ว ในอนาคต ยังมีการพัฒนาระบบคมนาคม เชื่อมโยงระหว่างกันทั้งระบบราง รถ และเรือ  ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ทำเลเตาปูน  จะกลายเป็นทำเลย่านใจกลางธุรกิจแห่งใหม่ในอนาคตได้ไม่ยาก ซึ่งแผนการพัฒนาระบบคมนาคม ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ -การพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เส้นทาง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ นอกจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ (สถานีคลองบางไผ่) ซึ่งเชื่อมโยงคนจากจังหวัดนนทบุรีเข้าสู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ได้สะดวกสบายแล้วรถไฟฟ้าสายสีม่วง ยังมีแผนพัฒนาเส้นทางต่อเนื่องจากสถานีเตาปูน อินเตอร์เชนจ์ คือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท   แนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน–ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า สถานีเตาปูน อินเตอร์เชนจ์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหารผ่านแยกเกียกกาย ผ่านแยกบางกระบือ, แยกศรีย่าน เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน โครงข่ายในเมือง ช่วงบางบำหรุ–มักกะสันเข้าสู่ถนนสามเสนผ่านอาคารรัฐสภาใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ถนนราชดำเนินกลาง เลียบคลองรอบกรุงไปเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้มที่สถานีผ่านฟ้าลีลาศ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มช่วงหัวลำโพง–มหาชัยที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ และรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ที่สถานีวงเวียนใหญ่ ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ จากนั้นแนวเส้นทางจะเปลี่ยนยกระดับวิ่งไปตามกลางถนนสุขสวัสดิ์ ข้ามสะพานข้ามแยกพระราม 2 ผ่านสามแยกพระประแดงและสิ้นสุดที่ครุใน   -การพัฒนาท่าเรือบางโพ โฉมใหม่ เดิมบริเวณบางโพ มีท่าเรือบางโพคอยให้บริการอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ได้หยุดการใช้งานไป เพราะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน  หลังจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ผู้ดูแลและรับผิดชอบโดยตรง จึงวางแผนปรับปรุงท่าเรือให้สอดรับกับระบบรถไฟฟ้า  และบริการประชาชนให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้แบบครบวงจร  ทั้งทางถนน ระบบราง และทางเรือ   โดยกรมเจ้าท่าได้เตรียมขอจัดสรรงบประมาณปี 2564- 2565 ปรับปรุงท่าเรือบางโพ  ประกอบด้วยงาน 3 ส่วน คือการปรับปรุงและก่อสร้างท่าเทียบเรือ พร้อมโป๊ะเทียบเรือ ขนาด 6x12 เมตร จำนวน 2 ตัว การก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสารรูปแบบไทยประยุกต์ 1 หลัง และลานหลังท่าเรือขนาด 200 ตารางเมตร  ซึ่งคาดว่าน่าจะดำเนินการก่อสร้างและแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการได้ในเดือนมิถุนายนปี 2565  ท่าเรือบางโพจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ผลักดันให้ทำเลเตาปูนได้รับความสนใจมากขึ้น -การพัฒนาถนน เพิ่มช่องทางการเดินรถ ในช่วงปี 2565 บริเวณใกล้เคียงกับทำเลเตาปูน ยังจะมีการขยายถนนช่วงสามเสน-ประชาราษฎร์สาย 1 ขยายถนนทหาร เป็น 8  ช่องจารจร การสร้างถนนใหม่ ขนานกับถนนสามเสนเดิม ต่อเนื่องจากถนนกรุงเทพ-นนทบุรี บริเวณแยกเตาปูนไปบรรจบกับถนนพิชัย ซึ่งเป็นแนวเส้นทางเดียวกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ซึ่งจะทำให้ในอนาคตทำเลเตาปูน มีโครงข่ายของถนนเชื่อมโยงไปยังทำเลหรือพื้นที่อื่นๆ ได้มากมาย เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับคนในพื้นที่ หรือผู้ที่ต้องเดินทางเข้ามาในทำเลเตาปูน 4.แหล่งงาน สำคัญทั้งรัฐและเอกชน ทำเลเตาปูน ที่ผ่านมา อาจจะไม่ใช่ย่านใจกลางธุรกิจหนาแน่น เมื่อเปรียบเทียบกับย่านธุรกิจในทำเลอื่นๆ เพราะทำเลนี้ เป็นทำเลของการพักอาศัย ที่มีบ้านเรือนของคนกระจายอยู่ทั่วไป และเป็นแหล่งการค้าเก่าแก่ อย่างตลาดไม้บางโพ แหล่งค้าไม้และอุปกรณ์ ซึ่งอยู่มาอย่างยาวนาน  แต่ขณะเดียวกันย่านเตาปูน ก็มีสำนักงานเก่าแก่ ซึ่งก่อตั้งบริษัทมานานนับ 100 ปี อย่างเครือซีเมนต์ไทย  สำนักงานใหญ่ ซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นแหล่งงานสำคัญ ใกล้กับย่านเตาปูนเลยก็ว่าได้   ในอนาคตย่านเตาปูน จะกลายเป็นทำเลใกล้กับแหล่งงานขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน  เพราะปัจจุบันมีโครงการและหน่วยงาน ที่เปิดให้บริการและกำลังจะเปิดบริการในอนาคต  ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภาแห่งใหม่  สถานีกลางบางซื่อ  ศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อ และสำนักงานเขตบางซื่อ นี่ยังไม่นับรวมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลต่างๆ ที่ตั้งอยู่โดยรอบของทำเลเตาปูนอีกมากมายด้วย 5.ชุมชนเก่าสู่โลกการค้ายุคใหม่ ย่านเตาปูน มีตลาดเก่าแก่ที่อยู่ในพื้นที่ คือ ถนนสายไม้ ซึ่งอยู่ในซอยประชานฤมิตร  แหล่งรวมของสินค้าประเภทไม้ เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์  ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป หากนึกถึงหรือต้องการจะซื้อสินค้าประเภทไม้  มักจะต้องเดินทางมาที่ซอยประชานฤมิตร  บรรดาร้านค้าไม้และสินค้าประเภทไม้ ในซอยประชานฤมิตร คาดว่าจะอยู่คู่กับทำเลเตาปูนมายาวนานมากว่า 50 ปี   แต่จากการพัฒนาของระบบคมนาคม โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งทำให้การเดินทางสะดวกสบาย เกิดแหล่งชุมชนที่พักอาศัยใหม่เพิ่มขึ้น  ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกออกมารองรับ  อย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ศูนย์การค้า หรือช้อปปิ้งมอลล์ เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ของคนอยู่ในทำเลนั้น ต้องใช้บริการเพื่อซื้อสินค้าใช้หรือบริโภค   ตอนนี้ทำเลเตาปูนมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นแล้ว คือ ศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อ (Gateway at Bangsue) ที่บริษัท แอสเสท เวิรด์ รีเทล จำกัด ในเครือของ แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น ได้ลงทุน 4,000 ล้านบาท พัฒนาโครการขึ้นมาบนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ รองรับการมาของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง จุดเชื่อมต่อสำคัญของทำเลเตาปูน ซึ่งศูนย์การค้าเกตเวย์ แอท บางซื่อเปิดให้บริการมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561   อนาคตไม่นานจากนี้ คนที่อยู่ในทำเลเตาปูน ยังจะมีแหล่งช้อปปิ้งใหม่ ซึ่งอยู่ในบริเวณสถานีกลางบางซื่อ เพราะภายในโครงการนอกจากจะเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางคมนาคมต่างๆ แล้ว ยังมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะมีร้านค้าต่างๆ เปิดให้บริการด้วย ส่วนจะมีร้านค้าอะไรบ้างนั้น อดใจรออีกไม่นานคงได้เห็นกัน   และนี่คงเป็น 5 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ทำเลเตาปูน มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ในอนาคต หากโครงการต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนพัฒนาออกมาแล้วเสร็จ  โฉมหน้าของย่านเตาปูน รวมถึงทำเลใกล้เคียงคงเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันอย่างมาก
สิงห์ เอสเตท ได้ยอดขายบ้านและคอนโดฯ ดันรายได้รวมปี 62 พุ่งกว่า 1.2 หมื่นล้าน

สิงห์ เอสเตท ได้ยอดขายบ้านและคอนโดฯ ดันรายได้รวมปี 62 พุ่งกว่า 1.2 หมื่นล้าน

สิงห์ เอสเตท เผยผลประกอบการปี 62 เติบโตสูงต่อเนื่อง ทำรายได้รวมโต 63% จำนวนกว่า12,275 ล้าน หลังจากยอดขายบ้านและคอนโดฯ สูงขึ้น 104% ขณะที่สร้างกำไรสุทธิราว 1,200 ล้าน   นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ “S” เปิดเผย ถึงผลการดำเนินงานประจำปี 2562 ว่า สิงห์ เอสเตท มีรายได้รวมทั้งสิ้น 12,275 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ประกอบด้วยบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียมรวม 7,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104% รายได้จากการให้เช่าและบริการ 4,805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% และรายได้จากการขายสินค้า 85 ล้านบาท ลดลง 32%   โดยรายได้จากการให้เช่าและบริการ ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจโรงแรม 3,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48%จากปีก่อน เนื่องจากการรับรู้รายได้เต็มปีของโรงแรมภายใต้แบรนด์ Outrigger จำนวน 6 แห่ง ที่บริษัทฯ ซื้อกิจการเข้ามาเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 และการเปิดโรงแรมใหม่ 2 แห่งในโครงการ CROSSROADS (ครอสโร้ดส์) ที่มัลดีฟส์  ขณะเดียวกัน รายได้จากการเช่าพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้น 13% เป็น 759 ล้านบาท จากการเปิดอาคารสิงห์ คอมเพล็กซ์ ช่วงปลายปี 2561 สิงห์ เอสเตท มีกำไรขั้นต้นจากการดำเนินงาน 5,033 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% จากปี 2561 และอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับปี 2562 เท่ากับ 41% ลดลงจาก 43% ในปี 2561 เป็นผลจากธุรกิจโรงแรมที่อัตรากำไรในช่วงแรกของโรงแรมในโครงการ CROSSROADS ที่มัลดีฟส์ ยังไม่สูงนัก เนื่องจากการเปิดธุรกิจโรงแรมใหม่ซึ่งปกติอัตรากำไรขั้นต้นจะค่อยๆ สูงขึ้นตามลำดับ และใช้เวลาในการดำเนินธุรกิจประมาณ 2-3 ปี จึงจะเห็นอัตรากำไรสำหรับการดำเนินกิจการในระยะยาว   ในขณะที่สิงห์ เอสเตท มีกำไรสุทธิในปี 2562 เท่ากับ 1,209 ล้านบาท ลดลง 16% เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลง ดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขยายกิจการและภาษีสูงขึ้นจากการโอนโครงการที่อยู่อาศัยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ได้คืนเงินกู้เพื่อซื้อกิจการโรงแรม Outrigger จำนวน 5,357.8 ล้านบาท จากการเพิ่มทุนได้สำเร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ส่งผลให้หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยของบริษัทฯ ลดลง   “ปี 2562 เป็นปีที่ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของสิงห์ เอสเตท เติบโตมากกว่าเท่าตัว ถึงแม้ว่าสภาวะตลาดอสังหาฯ โดยรวมยังคงเผชิญความท้าทายในหลายๆ ด้าน บริษัทเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการ ดิ เอส แอท สิงห์ คอมเพล็กซ์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และโอนโครงการ ดิ เอส อโศก และบันยันทรี เรสซิเดนซ์ ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ที่พัฒนาโดยบริษัทในเครืออย่าง เนอวานา ไดอิ ได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย นอกจากนี้เรายังมี Backlog ที่จะโอนในปี 2563 มากกว่า 6,000 ล้านบาท” ส่วนธุรกิจโรงแรมทั้งหมดของบริษัทอยู่ภายใต้การบริหารงานของ SHR ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสิงห์ เอสเตท สามารถระดมทุนจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial public offering) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562   SHR ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีการลงทุนในโรงแรม 39 แห่ง มีจำนวนห้องพัก 4,647 ห้อง ครอบคลุม 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มัลดีฟส์ ฟิจิ มอริเชียส และสหราชอาณาจักร โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมที่บริหารเองในปี 2562 เท่ากับ 72% กลุ่มโรงแรม Outrigger 78% โรงแรมในสหราชอาณาจักร 70% และโรงแรมในโครงการ CROSSROADS 34% และรายได้ต่อห้องพักต่อคืน (Revenue per available rooms) ของโรงแรมที่บริหารเองในปี 2562 เท่ากับ 5,591 บาท กลุ่มโรงแรม Outrigger 4,691 บาท โรงแรมในสหราชอาณาจักร 1,851 บาท และโรงแรมในโครงการ CROSSROADS 4,262 บาท   เมื่อปลายปี 2562 SHR ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับบริษัท Wai Eco World Developer Pte Ltd (WEWD)  กลุ่มธุรกิจใหญ่จากประเทศเมียนมาร์ที่ดำเนินธุรกิจหลากหลาย อาทิ อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม อาหารและเครื่องดื่ม และเหมืองแร่ เพื่อพัฒนาไลฟสไตล์รีสอร์ทระดับไฮเอนด์ (High-end Lifestyle Resort) บนเกาะ 3 ในโครงการ CROSSROADS ประเทศมัลดีฟส์ โดยรีสอร์ทแห่งใหม่นี้จะมีห้องพักในรูปแบบวิลล่า 80 ห้อง ระดับราคา 900-1,000 เหรียญสหรัฐต่อคืน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 และเปิดดำเนินการในปี 2565 ทั้งนี้การจำหน่ายหุ้น 50% ของบริษัท Prime Location Management 3 Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนได้แล้วเสร็จไปเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2563 การได้พันธมิตรที่ดีอย่าง WEWD มาเสริมความแข็งแกร่งทั้งในด้านธุรกิจและด้านการเงินในครั้งนี้ ทำให้เรามั่นใจว่าโครงการ CROSSROADS  ประเทศมัลดีฟส์ เกาะ 3 จะประสบความสำเร็จและเปิดดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน   นอกจากนี้ บริษัท ได้รับโอนสิทธิการเช่าที่ดินและเข้าซื้ออาคารสำนักงานเมโทรโพลิส บริเวณใกล้กับสถานี BTS พร้อมพงษ์ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 26,157 ตารางเมตร มูลค่า 1,725 ล้านบาท เมื่อต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา และมีความประสงค์จะขายสิทธิการเช่าที่ดินและอาคารดังกล่าวให้กองทรัสต์ S Prime Growth Leasehold Real Estate Trust (SPRIME) ในลำดับถัดไป   “ปี 2563 ถือเป็นก้าวสำคัญของสิงห์ เอสเตท ที่จะต่อยอดการเติบโตจากฐานธุรกิจในรูปแบบ Global Holding Company อย่างสมบรูณ์แบบ นอกเหนือจากการลงทุนขยายธุรกิจในทุกมิติอย่างยั่งยืนแล้ว (Sustainable Growth)สิงห์ เอสเตท จะเริ่มพัฒนาธุรกิจใหม่อย่างพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ที่จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลกและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม”     ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 สิงห์ เอสเตท มีสินทรัพย์รวม 67,681 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,751 ล้านบาท จากสิ้นปี 2561 แบ่งเป็น สินทรัพย์หมุนเวียน 24,087 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 43,594 ล้านบาท ในส่วนของหนี้สินรวม มีมูลค่า 40,085 ล้านบาท โดยมีอัตราหนี้สินทีมีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่เพียง 0.77 เท่า ด้วยอัตราหนี้สินที่ต่ำเช่นนี้ ถือได้ว่าบริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง   ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2562 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 อนุมัติการนำเสนอการจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.045 บาทต่อหุ้น จากกำไรสุทธิของผลประกอบการระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2562 โดยมีกำหนด Record Date วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ซึ่งมติการจ่ายเงินปันผลนี้ จะต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2563 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2563  
“โฮมโปร” ฝ่าปัจจัยลบปี 62 สร้างรายได้รวมกว่า 6 หมื่นล้าน

“โฮมโปร” ฝ่าปัจจัยลบปี 62 สร้างรายได้รวมกว่า 6 หมื่นล้าน

โฮมโปร ฝ่าปัจจัยลบปี 62 ทำรารายได้รวมโตได้เล็กน้อยแค่ 2.08% แต่ทำกำไรได้กว่า  6,176.59 ล้านบาท หลังหันปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานภายใน และขยายสาขาต่อเนื่อง แม้ได้รับผลกระทบรอบด้านจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อหดตัว   นายคุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย ประจำปี 2562 ว่า บริษัทและบริษัทย่อยยังคงมีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวมจำนวน 67,423.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.08%  และมีกำไรสุทธิจำนวน 6,176.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.05% จากปีก่อนหน้า ปัจจัยที่ทำให้บริษัทมีผลประกอบการเติบโต เป็นเพราะรายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ซึ่งเป็นรายได้ที่ประกอบไปด้วยรายได้จากการขายสินค้า และรายได้จากการให้บริการลูกค้า Home Service รวมจำนวน 63,046.23 ล้านบาท มารเติบโต 1.77% หรือเพิ่มขึ้น 1,094.91 ล้านบาท  เป็นผลมาจากการเติบโตเล็กน้อยของยอดขายสาขาเดิมของธุรกิจโฮมโปร ในขณะที่ยอดขายสาขาเดิมของธุรกิจเมกา โฮม อยู่ในระดับทรงตัว รวมถึงยอดขายสาขาใหม่ทั้งธุรกิจโฮมโปร และเมกา โฮม รวมถึงรายได้จากค่าบริการ “Home Service”   สำหรับยอดขายสาขาเดิมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เติบโตสูงจากกลุ่มสินค้าปรับปรุงคุณภาพอากาศ เนื่องด้วยสภาพอากาศที่มีมลภาวะสูงผิดปกติ และกลุ่มสินค้าเครื่องทำความเย็นจากสภาพอากาศที่ร้อนต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตาม ยอดขายสาขาในครึ่งปีหลังยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยนั้นมีประสิทธิภาพการดำเนินงานดีขึ้น เป็นผลจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านต่างๆ   นอกจากนี้ โฮมโปร ยังมีรายได้ค่าเช่า จำนวน 2,207.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 232.02 ล้านบาท หรือ 11.75% เป็นผลมาจากรายได้ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้ามาร์เกต วิลเลจ และพื้นที่ให้เช่าสาขาใหม่ของโฮมโปรและเมกา โฮม  ส่วนของรายได้อื่นปีที่ผ่านมาของโฮมโปรมีจำนวน 2,170.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.03 ล้านบาท หรือ 2.21% โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้ส่งเสริมการขายร่วมกับคู่ค้า ดอกเบี้ยรับ และรายได้เบ็ดเตล็ด สำหรับกำไรขั้นต้นกำไรขั้นต้นจากการขายสินค้าและการให้บริการลูกค้า Home Service ปีที่ผ่านมามีจำนวนรวม 16,331.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 542.11 ล้านบาท หรือ 3.43% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นต่อยอดขายเพิ่มขึ้นจาก 25.49% ในปีก่อน มาอยู่ที่ 25.90% โดยเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนของส่วนผสมสินค้ามีไว้เพื่อขายทั้งกลุ่มสินค้าทั่วไป และกลุ่มสินค้า Direct Sourcing รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพวางแผนการจัดซื้อสินค้าของธุรกิจโฮมโปร เมกา โฮม และโฮมโปรที่ประเทศมาเลเซีย แม้ว่าบริษัทฯ มีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นก็ตาม   ในปี 2562 บริษัทเปิดสาขาโฮมโปรทั้งหมด 2 แห่งที่จรัญสนิทวงศ์และมุกดาหาร และเปิดสาขาโฮมโปรเอส 1 แห่งที่ สามย่าน มิตรทาวน์ และได้มีการเปิดสาขาเมกา โฮม ทั้งหมด 2 แห่งที่บ้านฉาง จังหวัดระยอง  และบางนา-ตราด ส่งผลให้สิ้นปี 2562 มีสาขาโฮมโปร 84 สาขา โฮมโปรเอส 9 สาขา เมกาโฮม 14 สาขา และโฮมโปรที่ประเทศมาเลเซีย 6 สาขา ส่งผลให้ สิ้นปี 2562 บริษัทมีสาขาโฮมโปร 84 สาขาโฮมโปรเอส 9 สาขา เมกาโฮม 14 สาขา และโฮมโปรที่ประเทศมาเลเซีย 6 สาขา   นายคุณวุฒิ กล่าวต่อไปอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เป็นผลมาจากการชะลอตัวของปริมาณการค้าโลกและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่สำคัญจากการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงทั่วโลก ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเช่นกัน เนื่องมาจากอัตราการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก   นอกจากนั้นกำลังซื้อของผู้บริโภคยังได้รับผลกระทบจากระดับหนี้สินภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเองก็ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดน้อยลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก แม้ว่ารัฐบาลจะได้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังด้วยมาตรการต่างๆ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการชิมช้อปใช้ เป็นต้น แต่เศรษฐกิจในภาพรวมยังคงไม่เอื้ออำนวยต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเท่าที่ควร  
ริสแลนด์ ลุยเปิด 4 โปรเจ็กต์กว่า 3 หมื่นล้าน ไม่หวั่นไวรัสโควิด 

ริสแลนด์ ลุยเปิด 4 โปรเจ็กต์กว่า 3 หมื่นล้าน ไม่หวั่นไวรัสโควิด 

ริสแลนด์ ประเทศไทย เดินหน้าปั้น 4 โปรเจ็กต์ใหม่กว่า 30,000 ล้าน ไม่หวั่นปัจจัยลบรอบด้าน มั่นใจเงินทุนหนา สามารถทำตลาดได้ต่อเนื่องจนกว่าไวรัสโควิด-19 จะแก้ไขได้ วางเป้าลุยตลาดไทยสร้างการเติบโตปีละ 50%   นายเนี่ย ซงเชียน  ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการขายและการตลาด ประจำภูมิภาคไทย บริษัท ริสแลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ได้เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ 4 โครงการมูลค่ารวมกว่า 30,400 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดเนียม 2 โครงการ และโครงการ Mixed use 2 โครงการ โดยมุ่งเน้นเปิดโครงการในทำเลที่มีศักยภาพ การคมนาคมสะดวกสบาย ในระดับราคาที่เอื้อมถึง ตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการอย่างแท้จริง   สำหรับโครงการคอนโดฯ ที่เปิดตัวในปีนี้ ได้แก่ 1. โครงการ คลาวด์ เรสซิเดนซ์ สุขุมวิท 23 มูลค่ากว่า 3,600 ล้านบาท เป็นคอนโดฯ  High Rise ตกแต่งพร้อมอยู่ 1 อาคาร สูง 43 ชั้น มีห้องชุดรวม 372 ยูนิต มีห้องพัก 5 รูปแบบ  ได้แก่  ขนาด 1 ห้องนอนขนาด 29 - 30 ตารางเมตร ขนาด 1 ห้องนอน เอ๊กซ์ตร้าขนาด 41 - 43 ตารางเมตร ขนาด 2 ห้องนอนขนาด 57 - 60 ตารางเมตร ขนาดดับเบิ้ลสเปซขนาด 47 - 95 ตารางเมตร และเพนท์เฮ้าส์ ขนาด 79 - 99 ตารางเมตร โครงการตั้งอยู่ใจในซอยสุขุมวิท 23  ซึ่งจะเปิดขายอย่างเป็นทางการ (FIRST CALL) ในวันที่ 20 – 21 มีนาคม 2563 นี้ นอกจานี้ ยังเตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดฯ อีก 1 โครงการในช่วงไตรมาส 3 คือ โครงการ เดอะ ลิฟวิน รามคำแหง (The Livin Ramkhamhaeng) มูลค่า 5,000 ล้านบาท จำนวน 1,938 ยูนิต ส่วนโครงการมิกซ์ยูสที่เตรียมเปิดในปีนี้ ได้แก่ 1.สกาย ไรส์ อเวนิว (Sky Rise Avenue) โครงการคอนโดฯ 7 อาคาร รวม 3,000 ยูนิต และพื้นที่ออฟฟิศให้เช่า 4 ชั้นขนาด 2,000 ตารางเมตร โดยจะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 เฟส ซึ่งเฟสแรกจะเปิดตัวก่อน 1,000 ยูนิต  ในช่วงไตรมาส 2   ขณะที่ในไตรมาสที่ 4 บริษัทเตรียมเปิดตัวโครงารมิกซ์ยูสอีก 1 โครงการ มูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท  ในจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยที่พักอาศัยประเภทคอนโดฯ และวิลล่า ซึ่งจะใช้เชนโรงแรมมาบริหาร หรือแบรนด์เด็ดเรสซิเดนซ์ ซึ่งเฟสแรกจะเปิดตัวที่อยู่อาศัยจำนวน 650 ยูนิต  มูลค่า 5,800 ล้านบาท   นายเนี่ย กล่าวอีกว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2563 นี้ ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายๆด้าน ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระดับโลก จากสงครามการค้าที่ส่งผลไปยังหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่อง และการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังซ้ำเติมให้เศรฐกิจยิ่งซบเซา แต่แผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง  เพราะมีความมั่นใจในสถานะการเงินของบริษัท  ที่สามารถรองรับสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยได้นาน  จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย   สำหรับปีผ่านมา ริสแลนด์ ประเทศไทย เปิดตัวโครงการไป 2 โครงการ ได้แก่ คลาวด์ ทองหล่อ-เพชรบุรี ปัจจุบันปิดการขายไปได้แล้วกว่า 50% และโครงการ The LIVIN เพรชเกษม ซึ่งมียอดจองจากการเปิดขาย เฟสแรกมูลค่ารวม 750 ล้านบาท และสามารถขายไปได้มากถึง 700 ล้านบาท ทำให้ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 2 โครงการรวมกว่า 2,400 ล้านบาท   ปัจจุบัน ริสแลนด์ มีโครงการอสังหาฯ อยู่ใน 7 ประเทศ รวม 15 โครงการ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ อินเดีย อังกฤษ เวียดนาม และประเทศไทย รวมมูลค่าโครงการทั่วโลกประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยในปี 2563 นี้ ริสแลนด์ตั้งเป้ารายได้จากทั่วโลก เพิ่มขึ้น 50%  โดยใช้กลยุทธ์ "Think Global, Act Local” ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “Be the Change, Create the Future” กล้าที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะสร้างอนาคตด้วยการลองผิดลองถูก ล้มเร็วลุกเร็ว เรียนรู้จากอดีต และนำมาแก้ไข เพื่อพัฒนาอนาคต   ด้านนางสาวมณีกานต์ อิสรีย์โกศล ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การตลาดและสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร ประจำภูมิภาคไทย บริษัท ริสแลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดคอนโดฯ ในโซนสุขุมวิท  ที่มีราคามากกว่ายูนิตละ 5 ล้านบาท มีการเปิดขายใหม่จำนวน 8,795 ยูนิต ปรับตัวลดลงจากปี 2561 ที่มีการเปิดขายอยู่ที่ 19,691 ยูนิต มียูนิตคงค้างลดลงจากปี 2561 ในอัตรา 3% ในปี 2563 นี้คาดการณ์ว่า ตลาดคอนโดมิฯ ระดับราคายูนิตละ 5 ล้านบาทขึ้นไป จะมีสัดส่วนในตลาดอยู่ที่ 17% เท่ากับปี 2561  แสดงให้เห็นว่าภาพรวมตลาดคอนโดฯ ลักซ์ชัวรี ยังคงไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทำเลอโศก ที่ยังมีอัตราการดูดซับของตลาดกว่า 82% และมีโครงการใหม่ที่เข้ามาในตลาดน้อยลง ทำให้คอนโดฯ ในกลุ่มนี้มีการตอบรับที่ค่อนข้างดี   ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเพื่อการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง แต่การซื้อเพื่อการลงทุนลดลงพอสมควร และในช่วง 1-2 ปีนี้ กลุ่มนักลงทุนนักเก็งกำไรได้หายไปจากตลาดบางส่วน จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโลก และนโยบายของภาครัฐที่ส่งผลกระทบทางตรงกับลูกค้ากลุ่มนี้   ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุในช่วง 25-35 ปี จะมีพฤติกรรมชอบและเลือกซื้อคอนโดฯ ใจกลางเมือง ที่มีการออกแบบที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งนิยมพักอาศัยอยู่ใจกลางเมือง ส่งผลให้คอนโดฯ ลักซ์ชัวรี ในเขตกลางเมือง กลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย   นอกจากนี้ จากการท่องเที่ยวไทยที่มีการขยายตัวสูง ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ที่หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้ในช่วง 3 ถึง 5 ปีที่ผ่านมา มียอดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากกว่า 30 ล้านคนต่อปี ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจและซื้อที่อยู่อาศัยในบ้านเราจำนวนไม่น้อย โดยมีเม็ดเงินต่อปีประมาณ 37,561 ล้านบาทในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่นับการซื้อเพื่อการลงทุน เก็งกำไร รวมถึงการซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่าในรูปแบบอื่นๆ  
ออริจิ้น ทรานฟอร์ม แตก 6 บริษัทเพื่อเติบโต

ออริจิ้น ทรานฟอร์ม แตก 6 บริษัทเพื่อเติบโต

“ออริจิ้น” เข้าสู่ยุคทรานฟอร์ม แตก 6 บริษัทย่อยปั้นรายได้ พร้อมเปิดรับพันธมิตรทุกรูปแบบ เตรียมแผนเปิด 14 โครงการใหม่มูลค่า 20,000 ล้าน สร้างยอดขาย 21,500 ล้าน และรายได้ 16,000 ล้าน   นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ว่า ในวาระก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 บริษัทได้วางวิสัยทัศน์ระยะยาวในการปรับเปลี่ยนบริษัทให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมรับมือทุกสภาวะความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยในปีนี้วางแนวทางปีนี้จะเป็นทศวรรษแห่งการปฏิรูป (The Decade of Transformation) ปฏิรูปองค์กรสู่ลักษณะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ปรับเปลี่ยนออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ โดยแตกบริษัทย่อยออกมา 6 กลุ่มบริษัท เพื่อเดินหน้าใน 6 ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย 1.บริษัท ออริจิ้น คอนโดมิเนียม จำกัด  ดำเนินธุรกิจพัฒนาคอนโดมิเนียมกลุ่มสมาร์ทคอนโด มีแบรนด์หลักคือ ดิ ออริจิ้น (The Origin) 2.บริษัท พาร์ค ลักชัวรี่ จำกัด  ดำเนินธุรกิจพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่ มีแบรนด์หลักคือ ไนท์บริดจ์ (KnightsBridge) และพาร์ค ออริจิ้น (PARK ORIGIN) 3.บริษัท บริทาเนีย จำกัด  ดำเนินธุรกิจพัฒนาบ้านจัดสรร มีแบรนด์หลักคือ บริทาเนีย (Britania) 4.บริษัท ออริจิ้น อีอีซี จำกัด   ดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในแถบเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 5.บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด  ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง (Recurring Income Business) เช่น โรงแรม พื้นที่ค้าปลีก สำนักงานให้เช่า โครงการมิกซ์ยูส 6.บริษัท พรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์สมัยใหม่ครบวงจร วางลยุทธ์ “Open for Growth, Open Platform” การเติบโตในปีนี้ “ออริจิ้น” วางกลยุทธ์ “Open for Growth, Open Platform” เพื่อสร้างการเติบโต ด้วยการเปิดรับพันธมิตรทางธุรกิจในหลากหลายรูปแบบ  เข้ามาร่วมธุรกิจกับบริษัทในทุกกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกรที่สนใจเข้าร่วมทุน (JV Partner) เจ้าของที่ดิน  ผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบริการและอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มซัพพลายเออร์ต่างๆ   ล่าสุด บริษัทได้เซ็นต์ MOU ร่วมทุนกับพันธมิตรใหม่จากประเทศเกาหลีใต้ คือ GS E&C (GS Engineering and Construction corporation) เพื่อพัฒนาคอนโดฯ 2 โครงการ ได้แก่ The Origin ลาดพร้าว 111 มูลค่า 1,900 ล้านบาท และ Knightsbridge Space พระราม 4 มูลค่า 2,300 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดตัวได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้   สำหรับแผนธุรกิจในปี 2563 บริษัทจะให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภายในองค์กร สร้างรากฐานการเติบโตของทุกประเภทธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจัยภายนอก เปิด 14 โปรเจ็กต์รับมือ “ไวรัสโควิค” แผนกการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ เตรียมพัฒนา 14 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท เป็นโครงการคอนโดฯ 4 โครงการ มูลค่า 7,900 ล้านบาท เป็นโครงการสมาร์ทคอนโดฯ แบรนด์ดิ ออริจิ้น 2 โครงการ มูลค่ารวม 4,200 ล้านบาท โครงการลักชัวรี่คอนโดฯ 1 โครงการ มูลค่ารวม 2,300 ล้านบาท และโครงการบ้านจัดสรร 10 โครงการ มูลค่ารวม 12,100 ล้านบาท  ภายใต้แบรนด์บริทาเนีย และอีก 3 แบรนด์ใหม่ คือ แบรนด์แกรนด์บริทาเนีย, ไบรตัน และเบลกราเวีย นอกจานี้ยังมีโครงการกลุ่มอีอีซีอีก 1 โครงการ มูลค่ารวม 1,400 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์เดอะ แฮมป์ตัน (The Hampton) ในศรีราชา ถ้าหากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แก้ไขได้เร็ว และสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น บริษัทพร้อมเปิดตัวโครงการคอนโดฯ เพิ่มอีก 4 โครงการ ส่วนเป้าหมายรายได้ในปีนี้คาดว่าบริษัทจะทำได้ 16,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 14,122 ล้านบาท (อ่านข่าวผลประกอบการปี 2562) วางเป้าหมายยอดโอน 14,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดขาย 21,500 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา ทำยอดขายได้ 28,942 ล้านบาท ในปีนี้บริษัทวางงบลงทุนไว้ที่ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบซื้อที่ดินและเช่า สำหรับธุรกิจโรงแรมจำนวน 7,000 ล้านบาท และอีก 8,000 ล้านบาท ใช้สำหรับการก่อสร้าง ปัจจุบันรายได้จารขาย ลดลง จากสัดส่วน 90% เหลือ 85% ในอีก 5 ปีข้างหน้า รายได้อื่นๆ  เช่น รายได้จากการเช่า การบริการ โดยรวมน่าจะมีสัดส่วน 30% เหลือรายได้จากกขายสัดส่วน 70%    
“รอแยลเฮ้าส์” จับตลาด New Gen ปูทางสร้างยอดขาย 1,000 ล้าน ​

“รอแยลเฮ้าส์” จับตลาด New Gen ปูทางสร้างยอดขาย 1,000 ล้าน ​

“รอแยลเฮ้าส์” ขยายฐานลูกค้า New Gen หวังเป็นบริษัทรับสร้างบ้านรายแรกที่ครองใจและเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน วาง 4 กำลังกลับยุทธ์สร้างารเติบโต เพิ่มยอดขาย 10% สู่เป้าหมาย 1,000 ล้าน           นายโกศล โควิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอแยลเฮ้าส์ จำกัด  เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ว่า ได้วางเป้าหมายยอดขาย 1,000 ล้านบาท เติบโต 10% จากปี 2562 ที่ผ่านมามียอดขาย 900 ล้านบาท สอดคล้องกับภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2562 ที่มีการปรับฐาน หลังจากที่ปี 2561 ทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจมีการเติบโตในอัตราที่สูงกว่าปกติ   ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมียอดขายอยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม เนื่องจากในปี 2563 ยังมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกหลายประการที่อาจกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค อาทิ ไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งระบบ   ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขยายฐานลูกค้าและสร้างความยั่งยืนพร้อมรับมือทุกสภาวะเศรษฐกิจ บริษัทจึงได้มีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.ผลิต Social Content สร้างสื่อการตลาดสมัยใหม่โดย New Gen เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึง New Gen เผยแพร่ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) สร้างการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันมีผู้สนใจ Viral Clip ของรอแยลเฮ้าส์จำนวนมาก   2.ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย (Waste) ในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการก่อสร้างบ้าน เพื่อให้เกิดกระบวนการสร้างบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เริ่มต้นจากการเลือกใช้ใช้วัสดุที่เป็น Green Product อาทิ Easy Truss การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก CPAC ในการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้   3.การออกแบบให้โดนใจ New Gen ที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนาแบบบ้านหลายแบบให้โดนใจ New Gen อาทิ แบบบ้านสไตล์ Modern Tropical แบบบ้านสไตล์ Modern Japanese แบบบ้าน Modern Loft ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในงานรับสร้างบ้าน Focus 2020 ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 7 เมืองทองธานี วันที่ 12-15 มี.ค.นี้ บริษัทยังเตรียมเปิดตัวแบบบ้านใหม่ต่อยอดฐานลูกค้า New Gen อย่างต่อเนื่อง คือ แบบบ้าน โมเดิร์น มินิมอลิสต์ (Modern Minimalist) จำนวน 4 แบบ ตั้งแต่รหัส RH-MD 2171 จนถึง RH-MD 2174 โดยแบบบ้านทั้ง 4 แบบคำนึงถึงความเรียบง่าย ลดทอนหรือทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นภายในบ้านลง ให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นที่เป็นประโยชน์จริงๆ มีขนาดพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 136-423 ตร.ม. ในราคาเพียง 3-5 ล้านบาท สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยตลาดกลุ่ม New Gen หรือผู้บริโภคอายุราว 25-39 ปี ยังคงเป็นตลาดใหม่ที่รอแยลเฮ้าส์ให้ความสำคัญ  เป็นตลาดที่ยังไม่มีบริษัทรับสร้างบ้านรายใดเข้าไปครองใจ หากบริษัทสามารถสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) และสร้างการจดจำแบรนด์ (Brand Recognition) เข้าไปครองใจตลาดกลุ่มนี้ได้ก่อนเป็นรายแรก จะเป็นการขยายฐานลูกค้าที่ช่วยให้บริษัทเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน และแตกต่างจากภาพรวมผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่แข่งขันกันสูงในตลาดรับสร้างบ้านสำหรับผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป   ตลาด New Gen อาจไม่ใช่ตลาดที่สร้างยอดขาย หรือมีสัดส่วนที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจรับสร้างบ้านมากนักในระยะสั้น แต่ตลาด New Gen คือตลาดแห่งอนาคต คนกลุ่มนี้จะเปลี่ยนสถานะจากเพียงแค่ผู้สนใจ กลายเป็นกำลังซื้อคุณภาพในระยะยาว เป็นตลาดที่เราสามารถเติบโตไปพร้อมกัน   4.รักษาฐานลูกค้าเดิม นำแบบบ้านของบริษัทซึ่งประกอบด้วยแบบบ้านหลากสไตล์รวมกว่า 150 แบบ เดินหน้ารักษาฐานลูกค้าเดิมที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เพื่อให้รอแยลเฮ้าส์เติบโตไปได้พร้อมกับทุกกลุ่ม ทุกเจเนอเรชั่น โดยในปีนี้ บริษัทจะยังคงเดินหน้าออกบูธทั้งในนามส่วนตัวและร่วมกับงานมหกรรมสำคัญต่างๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด อาทิ ชลบุรี นครราชสีมา อุบลราชธานี เพื่อให้ผู้ที่ต้องการสร้างบ้าน สามารถเข้าถึงรอแยลเฮ้าส์ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี จากการที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทตัดสินใจสร้างบ้านด้วยเงินสด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณ 77% สะท้อนว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีเงินเก็บและเงินทุนสำรองอยู่แล้ว ประกอบกับบริษัทมีผลงานสร้างบ้านคุณภาพทั้งเพื่อคน     รุ่นใหม่และคนรุ่นเดิมเป็นที่ประจักษ์มาแล้วจำนวนมาก อาทิ การสร้างบ้านและคลินิกหรูให้แก่ หมอสอง-นพ.นพรัตน์   รัตนวราห การสร้างบ้านให้แก่ศิลปิน เอก-สุดเขต จึงเจริญ นักร้องนำวง Season Five จึงเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ต่างๆ จะไม่กระทบต่อธุรกิจมากนัก   สำหรับบริษัทดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านมานานกว่า 30 ปี ภายใต้สโลแกน “สร้างบ้านด้วยสมอง” มีสาขาอยู่ทั่วประเทศแล้วมากกว่า 12 สาขา สร้างบ้านมาแล้วมากกว่า 5,000 หลัง ปัจจุบันดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านครอบคลุมหลายเซ็กเมนท์ ตั้งแต่ระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท ระดับ 5-10 ล้านบาท ระดับ 10-20 ล้านบาท และระดับมากกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมไปถึงระดับมากกว่า 100 ล้านบาท  
โกลเด้นแลนด์ ต่อยอดอาณาจักร โกลเด้น เอ็มไพร์ เชียงราย พร้อมเปิดอีก 2 โครงการที่เชียงใหม่และชลบุรี

โกลเด้นแลนด์ ต่อยอดอาณาจักร โกลเด้น เอ็มไพร์ เชียงราย พร้อมเปิดอีก 2 โครงการที่เชียงใหม่และชลบุรี

โกลเด้นแลนด์ ยกโมเดลของกรุงเทพฯ ต่อยอดอาณาจักร “โกลเด้น เอ็มไพร์ (GOLDEN EMPIRE)” ชูจุดเด่นทะเลสาบแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในเชียงราย ตั้งบนทำเลศักยภาพใกล้สนามบินและติดบิ๊กซี พร้อมเปิดโครงการใหม่ทั้งทาวน์โฮม นีโอโฮม และบ้านเดี่ยวภายในโกลเด้น เอ็มไพร์ เพื่อตอบรับกลุ่มลูกค้าได้ครอบคลุม และเตรียมเปิดอีก 2 โครงการในปีนี้ที่เชียงใหม่และชลบุรี คุณอภิชาติ เฮงวาณิชย์ กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาโครงการต่างจังหวัด บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ดีเวลลอปเม้นท์จากัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ กล่าวว่า "โกลเด้นเอ็มไพร์เป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่ารวมประมาณ 2,600 ล้านบาท โดยยกโมเดลในรูปแบบอาณาจักร ที่ประสบความสำเร็จจากกรุงเทพฯ มาไว้บนทำเลศักยภาพของจังหวัดเชียงราย ริมถนนพหลโยธินและถนนใกล้สนามบิน ติดกับบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ ชูจุดเด่นทะเลสาบขนาดใหญ่แห่งแรกในเชียงราย พร้อมสวนพักผ่อนกว่า 20 ไร่ นำร่องโครงการแรกคือโกลเด้นทาวน์ โฮม 2 ชั้น ในระดับราคาประมาณ 1.7-3 ล้านบาท เปิดจองเมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา เพียง 2 วันแรกที่เปิดจองกวาดยอดขายไป กว่า 500 ล้านบาท บริษัทจึงเดินหน้าต่อยอดพัฒนาโครงการต่อไปชื่อว่า โกลเด้น วิลเลจ ในรูปบ้านเดี่ยว และ นีโอโฮม บ้านแฝดราคา 3.69-10 ล้านบาท จำนวนรวม 98 หลัง มูลค่ารวม 480 ล้านบาท โดยได้เปิดจองอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลตอบรับเกินคาด มียอดจองกว่า 320 ล้านบาท" เตรียมเปิดอีก 2 โครงการท่ีเชียงใหม่และชลบุรี คุณอภิชาติ กล่าวว่า แม้เพิ่งเริ่มทำตลาดต่างจังหวัดเมื่อกลางปี 2560 จนถึงปัจจุบันมีโครงการในต่างจังหวัดรวม 8 โครงการ มูลค่า รวมประมาณ 6,900 ล้านบาท โดยในปี 2562 ได้เปิดโครงการใหม่ถึง 6 โครงการ ทั้งยังสามารถขายหมดทั้งโครงการภายในวันเปิดจอง เช่นโครงการที่พัทยาใต้ เป็นต้น   สำหรับปี 2563 ยังคงใช้กลยุทธ์ปักธงขยายตลาดหัวเมืองต่างจังหวัด เน้นพัฒนาโครงการที่อยู่บนทำเลศักยภาพ ใกล้เมือง มีสิ่งอำนวยความสะดวก ในราคาที่แข่งขันได้ โดยแผนเปิดโครงการเพิ่มอีก 2 แห่ง ที่จังหวัดชลบุรี อ่างศิลา และจังหวัดเชียงใหม่ ย่านกาดรวมโชค เป็น “ทาวน์โฮม ในทำเลคอนโด” ขนาด 37 ไร่ จำนวน 398 ยูนิต มูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นที่ผ่านมา   “ในปีที่ผ่านมา เฉพาะตลาดต่างจังหวัดมียอดรับรู้รายได้อยู่ที่ 973 ล้านบาท และปีนี้ตั้งเป้ารับรู้รายได้ไว้ที่ 2,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 126% แม้ตลาดต่างจังหวัดจะมีความหวือหวาไม่มาก แต่ยังคงมีความต้องการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง การที่ก้าวเข้าสู่ตลาดต่างจังหวัดและได้ผลตอบรับที่ดีนับว่าเป็นที่น่าพอใจ และพร้อมเดินหน้าต่อไปอย่างรอบคอบและมั่นคง” คุณอภิชาติกล่าวโดยสรุป ข่าวอื่นจาก Goldenland โกลเด้นแลนด์ ชู Classic Model ฝ่าวิกฤตอสังหาฯ โกลเด้นแลนด์ กวาดรายได้และกำไร โตสวนกระแสตลาดชะลอตัว 5 เหตุผล “โกลเด้นแลนด์” ปักหมุดเชียงรายปั้น โกลเด้น เอ็มไพร์ 2,600 ล้าน
แสนสิริ เปิดโปรเจ็กต์ใหม่ ปั้นยอดขายโต 40%

แสนสิริ เปิดโปรเจ็กต์ใหม่ ปั้นยอดขายโต 40%

แสนสิริ เปิดโปรเจ็กต์ใหม่ 24,000 ล้าน หวังสร้างยอดขายโต 40% มุ่งจับตลาดกำลังซื้อระดับกลางลงล่าง กลุ่มราคา 1.5-5 ล้าน ปั้นรายได้ 24,000 ล้าน ไม่หวั่นลูกค้าจีน 2,000 ล้าน ยกเลิกซื้อคอนโดฯ เหตุได้เงินดาวน์ตุนไว้แล้ว 30% พร้อมนำกลับมาขายใหม่ทำกำไร   นายวันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ว่า แสนสิริวางแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 18 โครงการ รวมมูลค่า 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 6 โครงการ มูลค่ารวม 8,800 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 6 โครงการ มูลค่ารวม 8,600 ล้านบาท และทาวน์โฮม และมิกซ์ โปรเจกต์ 6 โครงการ มูลค่ารวม 6,600 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในเซกเมนต์ Medium และ Affordable เป็นหลัก หรือระดับราคา 1.5-5 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงง่ายในกลยุทธ์ด้านการวางราคาขาย ขณะเดียวก็ยังคงขยายฐานลูกค้าในเซกเมนต์ Luxury และ Super Luxury  ด้วยคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ภายใต้ Sansiri Luxury Collection อาทิ 98 ไวร์เลส, เดอะ โมนูเมนต์ ทองหล่อ, คุณ บาย ยู และบ้านแสนสิริ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขาย 29,000 ล้านบาทในปี 2563 เติบโตขึ้น 40% จากปีก่อนที่มียอดขาย 21,000 ล้านบาท รวมทั้งวางเป้าหมายการโอนไว้ 33,000 ล้านบาท นอกจากนี้ แสนสิริยังมียอดขายรอโอนรองรับการเติบโตระยะยาวในอีก 4 ปี อีกถึง 47,500 ล้านบาท ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แสนสิริได้เป็นอย่างดี และเสริมความแข็งแกร่งในทุกสภาวะเศรษฐกิจ ตั้งเป้ายอดขาย 63 โต 40% โดยบริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายในปีนี้มูลค่า 29,000 ล้านบาท เติบโต 40% จากปีก่อนที่มียอดขาย 21,000 ล้านบาท วางเป้าหมายการโอน 33,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามียอดโอน 31,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทยังมียอดขายรอโอน 47,500 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนไปอีก 4 ปีข้างหน้า แบ่งรับรู้รายได้ภายในปีนี้ 24,000 ล้านบาทในจำนวนนี้เป็นของบริษัทร่วมทุน 14,000 ล้านบาท เป็นของแสนสิริ 10,000 ล้านบาท   ยอดขายกว่า 62% ของปี 2562 มาจากความสำเร็จของยอดขายแนวราบในปีที่ผ่านมา อาทิ แบรนด์ทาวน์โฮม ‘สิริ เพลส’, แบรนด์บ้านเดี่ยว ‘บุราสิริ’, ‘คณาสิริ’ ราชพฤกษ์-346 และ ‘เศรษฐสิริ’ จรัญฯ – ปิ่นเกล้า 2 ขณะที่กลุ่มคอนโดมิเนียม ได้รับการตอบรับที่ดีจากการโอนคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จพร้อมโอน อาทิ เดอะ ไลน์ สุขุมวิท 101,  เดอะ ไลน์ พหล-ประดิพัทธ์, เดอะ เบส สุขุมวิท 50, เดอะ เบส เพชรเกษม, ทากะ เฮาส์, ดีคอนโด แคมปัส โดม รังสิต และดีคอนโด หาดใหญ่ วางยุทธศาสตร์ “Made for Life…Made for Everyone” ด้านนายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทได้วางยุทธศาสตร์ “Made for Life…Made for Everyone” เพื่อสร้างภาพแบรนด์ที่จับต้องง่ายขึ้น และเป็น “แบรนด์ที่ทุกคนเข้าถึงได้” โดยได้กำหนดกลยุทธ์สำคัญที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกเซกเมนต์ ได้แก่ การเดินหน้ามุ่งพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยคุณภาพ ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลาย โฟกัสในตลาดกลุ่มใหญ่ที่มีดีมานด์  ด้วยการพัฒนาโครงการ ภายใต้แบรนด์ดีคอนโด, เดอะเบส, สิริ เพลส, อณาสิริและสราญสิริ รวมทั้งขยายการพัฒนาโครงการไปในย่าน Community ใกล้เมืองในราคาเข้าถึงง่าย  ตลอดจนพัฒนาโครงการไปในทำเลใหม่ๆ อาทิ ทำเลย่านสุวรรณภูมิด้วย สราญสิริ ศรีวารี และการเข้าไปยังทำเลป่าคลอก ภูเก็ต ของแบรนด์อณาสิริ ส่วนคอนโดมิเนียม แสนสิริมีการเตรียมส่งมอบโครงการคอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ 8 โครงการ ในปีนี้ ได้แก่ ดีคอนโด ริน เชียงใหม่, ดีคอนโด บลิซ ศรีราชา, เดอะ เบส เซ็นทรัล ภูเก็ต, เดอะ เบส สะพานใหม่,เอ็กซ์ที เอกมัย, เอ็กซ์ที  ห้วยขวาง, คาวะ เฮาส์ และลา ฮาบาน่า หัวหิน” โดยมียอดขายแล้ว 60% จากมูลค่าโครงการรวม 24,000 ล้านบาท  ในปีนี้แสนสิริยังมีการขยายารลงทุน ในโรงงานพรีคาสต์ เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยจะเปิดตัวโรงงานพรีคาสต์แห่งที่ 3 และ 4  ซึ่งจะส่งผลให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 700,000 ตารางเมตรต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1,200,000 ตารางเมตร  รองรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยจาก 2,000 ยูนิต เพิ่มขึ้นเป็น 3,500 ยูนิต ไม่ห่วงชาวจีนยกเลิก ตุนเงินดาวน์แล้ว 30% สำหรับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะลูกค้าชาวจีน บริษัทได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ เกิดเหตุการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งทำให้ยอดขายของกลุ่มลูกค้าต่างชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายที่เคยทำได้กว่า 10,000 ล้านบาท ในปี 2561 ลดลงเหลือประมาณ 3,000 ล้านบาท ในปี 2562 ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าชาวจีนประมาณ 50%   ปัจจุบันบริษัทมีกลุ่มลูกค้าชาวจีนประมาณ 500 ราย ซื้อคอนโดฯ คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท ใน 8 โครงการ ที่จะเริ่มก่อสร้างแล้วเสร็จและโอนในปีนี้ โดยโครงการแรกจะเริ่มโอนในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งหากปัญหาไวรัสโควิค-19 ไม่ยุติ หรือยังมีผลกระทบต่อเนื่อง บริษัทมีแนวทางในการผ่อนปรนการโอน อาจจะเป็นการยืดระยะเวลาออกไป แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้าชาวจีนไม่น่าจะเป็นปัญหา หากทำการยกเลิกเนื่องจากมีการวางเงินดาวน์สูงในอัตรา 30% หากลูกค้ายกเลิก บริษัทยังมีรายได้และสามารถนำกลับมาขายใหม่ได้  
ORI สร้างยอดขายปี 2562 เติบโตกว่า 29,000 ล้านบาท

ORI สร้างยอดขายปี 2562 เติบโตกว่า 29,000 ล้านบาท

ออริจิ้น สร้างผลงานปี 62 คว้ากำไรสุทธิ 3,027 ล้านบาท หลังเปิดโครงการไป 20 โครงการ มูลค่ากว่า 24,200 ล้านบาท พร้อมกวาดยอดขายกว่า 29,000 ล้าน สูงกว่าเป้าหมาย ตุนแบ็คล็อกกว่า 41,000 ล้านสร้างรายได้ต่อเนื่องใน 3 ปี    นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI   เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 จะถือเป็นช่วงปรับฐาน แต่บริษัทยังคงความสามารถในการรักษาระดับกำไรและอัตราการทำกำไรไว้ได้ดี โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,027 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนความสามารถในการบริหารต้นทุนขายได้ดี ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 43.5% รวมถึงการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จนสามารถทำอัตรากำไรสุทธิได้ถึง 21.4% ซึ่งถือเป็นอัตรากำไรที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับภาพรวมของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเผชิญมรสุมสงครามราคาในภาวะตลาดอสังหาฯหดตัว   ด้วยความตั้งใจของทีมงาน ผนวกกับการปรับกลยุทธ์และการวางแผนงาน เลือกเจาะตลาดลูกค้าได้ถูกกลุ่ม ทำให้บริษัทสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาขายไม่แพง มีความสามารถสู้กับตลาดในภาวการณ์แข่งขันที่สูง จนทำให้สร้างยอดขายในโครงการที่เปิดใหม่ในปีที่ผ่านมาเฉลี่ยสูงถึงกว่า 76% ขณะเดียวกัน ด้วยคุณภาพของโครงการภายใต้แบรนด์ต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจ และยังคงทยอยโอนกรรมสิทธิ์ สร้างทั้งรายได้และกำไรกลับเข้าสู่บริษัทอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผลการขยายธุรกิจใหม่ในส่วนรายได้จากธุรกิจบ้านจัดสรรที่เติบโตจากปี 2561 กว่า 200% ทำให้มี Contribution ในผลประกอบการ ปี 2562 ราว 1,500 ล้านบาท หรือ 11% ของรายได้รวม   รวมถึงการกระจายความเสี่ยงในการสร้างธุรกิจบริการในกลุ่มบริษัท พรีโม ที่เติบโตกว่า 30% และรุกคืบขยายไปสู่ธุรกิจสร้างรายได้ประจำ หรือ Recurring income ที่สามารถสร้างโรงแรมใหม่ ในทำเลทองอย่าง ทองหล่อ และ ศรีราชา เสร็จก่อนกำหนดในปี 2562 ที่ผ่านมา และจะเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในไตรมาส 2 ปีนี้   ทั้งนี้ ในปี 2562 บริษัทเปิดตัวโครงการใหม่ไปทั้งสิ้น 20 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 24,200 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้าน 4 โครงการ มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท และโครงการคอนโดมิเนียม 16 โครงการ มูลค่ารวม 18,200 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทมียอดขายในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 28,942 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 14,122 ล้านบาท ตุนแบ็คล็อก 3 ปี 41,000 ล้านสร้างรายได้ นายพีระพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปี 2563 บริษัทมั่นใจว่าจะยังคงสามารถรักษาประสิทธิภาพของอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิได้ในระดับเดิม โดยในปี 2563 บริษัทมีโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่หลายโครงการที่มีแผนรับรู้รายได้ต่อเนื่อง และที่จะทยอยสร้างเสร็จและรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการไนท์บริดจ์ ไพรม์ สาทร มูลค่าโครงการ 3,900 ล้านบาท โครงการไนท์บริดจ์ ไพรม์ รัชโยธิน มูลค่าโครงการ 1,680 ล้านบาท โครงการไนท์บริดจ์ ไพรม์ อ่อนนุช มูลค่าโครงการ 2,600 ล้านบาท โครงการไนท์บริดจ์ คอลลาจ รามคำแหง มูลค่าโครงการกว่า 2,054 ล้านบาท โครงการไนท์บริดจ์ สเปซ รัชโยธิน มูลค่าโครงการกว่า 2,700 ล้านบาท และโครงการไนท์บริดจ์ เกษตรโซไซตี้ มูลค่าโครงการกว่า 1,300 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีแบ็คล็อกพร้อมทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่องกว่า 3 ปีสูงถึงกว่า 41,000 ล้านบาท   นอกจากนี้ บริษัทจะเริ่มมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจโรงแรมที่เปิดให้บริการในปี 2563 จำนวน 2 โรงแรมได้แก่ ได้แก่ โรงแรมสเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก ทองหล่อ และโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีทส์ ศรีราชา แหลมฉบัง รวม 650 ห้องพัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มพอร์ตการรับรู้รายได้ให้แก่บริษัท ผนึกพันธมิตรสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจ ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2562 กลุ่มธุรกิจโรงแรมได้จับมือกับพันธมิตรใหม่ โดย บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด ได้เข้าร่วมทุนกับพันธมิตรรายใหม่ชื่อ CI:Z Limited Liability Partnership ซึ่งเป็นนักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่น โดยการขายหุ้น บริษัท วัน สุขุมวิท 59 จำกัด ซึ่งจะพัฒนาโครงการ Intercontinental Bangkok Thonglor ร่วมกันต่อไป   ทั้งนี้บริษัทยังคงมองเห็นโอกาสในการเติบโตจากธุรกิจหลัก รวมทั้งในธุรกิจใหม่ๆ และยังเปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ มาร่วมทุนและร่วมขับเคลื่อนแพลทฟอร์มในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัท โดยบริษัทจะเปิดเผยแผนธุรกิจประจำปี 2563 ของทุกกลุ่มบริษัทในเครือในวันที่ 4 มี.ค.นี้   ในปี 2562 บริษัท มีการร่วมทุนกับพันธมิตรเดิม และ พันธมิตรใหม่เพิ่มเติม อันได้แก่  1.บริษัท โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ จํากัด เพื่อพัฒนาโครงการ “พาร์ค ออริจิ้น จุฬา-สามย่าน” 2.บริษัท เอสคอน เจแปน (ประเทศไทย) จํากัด เพื่อพัฒนาโครงการ “ไนท์บริดจ์ สุขุมวิท-เทพารักษ์” 3.บริษัท ดุสิตธานี จํากัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาโครงการ “เดอะ แฮมป์ตัน ศรีราชา บาย ออริจิ้น แอนด์ ดุสิต” และ 4.CI:Z Limited Liability Partnership จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาโรงแรมระดับไฮเอนด์ต่อไป ทุกกลุ่มบริษัทในเครือจะยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทในปีนี้ ทั้งกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมอย่างธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย ไปจนถึงธุรกิจใหม่ๆ อย่างธุรกิจที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง ธุรกิจบริการ เพื่อสร้างความยั่งยืนกลับมาสู่บริษัท   นายพีระพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติเห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญจ่ายปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทรอบหกเดือนหลัง ของปี 2562 ในอัตรา 0.29 บาทต่อหุ้น หรือ คิดเป็น Dividend Yield กว่า 9% จากราคาปิดเมื่อวานนี้ เป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้นไม่เกิน 711.33 ล้านบาท โดยบริษัทจะจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด โดยกำหนดในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) และกำหนดจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 29 พฤษภาคม​ 2563  
CPN โชว์ผลงานปี 62  ทำกำไรได้กว่า 1.1 หมื่นล้าน 

CPN โชว์ผลงานปี 62  ทำกำไรได้กว่า 1.1 หมื่นล้าน 

CPN ประกาศผลประกอบการปี 2562 รายได้รวม 38,403 ล้านบาท เติบโต 9% จากปีก่อน และทำกำไรสุทธิ 11,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน และเตรียมจ่ายเงินปันผล 1.30 บาทต่อหุ้น  พร้อมเดินหน้าสร้างรายได้ตามแผน 5 ปี เติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี นางสาวนภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บัญชี และบริหารความเสี่ยง  บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา แม้ว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ผลประกอบการของ CPN ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 38,403 ล้านบาท โต 9% และกำไรสุทธิ 11,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากการเติบโตของธุรกิจศูนย์การค้าเป็นหลัก ประกอบกับบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ  สำหรับอัตราการเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าช่วงสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 93%  ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างรายได้ จากทั้งศูนย์การค้าใหม่ การปรับปรุงศูนย์การค้าที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว และการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น  ตามแผนการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (mixed-use)  จาผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา บริษัทยังพร้อมจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 1.30 บาทด้วย   สำหรับเหตุการณ์สำคัญในปี 2562 บริษัทได้เปิดให้บริการเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ ศูนย์การค้าในต่างประเทศแห่งแรกของ CPN ในเดือนมีนาคม และการเปิดตัวโซนลักชูรี่ของเซ็นทรัล ภูเก็ต ที่รวบรวมแบรนด์หรูชั้นนำระดับโลกไว้ รวมทั้งเปิดให้บริการแอทแทรคชั่นระดับโลก "ไตรภูมิ มหัศจรรย์สามโลก"  ธีมพาร์ครูปแบบ 3 มิติอินเตอร์แอ็กทีฟแห่งแรกของโลก และ “AQUARIA Phuket” พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งภายในยังมี Andasi ร้านอาหารใต้น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกและบาร์ใต้น้ำแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการเซ็นทรัล วิลเลจ โครงการรีเทลรูปแบบลักชูรี่เอาท์เล็ตระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย บนทำเลที่ดีที่สุดใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ รองรับทั้งลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งมีการจับมือพันธมิตรระดับโลกอย่างบริษัท Mitsubishi Estate Asia Pte. Ltd. (MEA) เข้าร่วมทุนโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ผ่านการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด ในสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 30% และ CPN 70% เพื่อร่วมกันพัฒนาเซ็นทรัล วิลเลจ ให้ขึ้นแท่นเอาท์เล็ตเบอร์หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   ปัจจุบันบริษัทบริหารจัดการศูนย์การค้า 34 แห่ง มีพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวม 1.8 ล้านตารางเมตร  (อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล   15 โครงการ, ต่างจังหวัด 18 โครงการ และในมาเลเซีย 1 โครงการ) ศูนย์อาหาร 30 แห่ง อาคารสำนักงาน 7 อาคาร โรงแรม 2 แห่ง โครงการที่พักอาศัยอีก 10 โครงการ ประกอบด้วยคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ ESCENT, ESCENT  VILLE และ ESCENT PARK VILLE  ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินซึ่งติดศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนา ได้แก่ โครงการ ESCENT เชียงใหม่ ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา และอุบลราชธานี ESCENT VILLE เชียงใหม่ เชียงราย และ ESCENT PARK VILLE เชียงใหม่ รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ได้แก่ “ฟิล พหล 34” (PHYLL PAHOL 34) และมีโครงการบ้านเดี่ยวแห่งแรกของเซ็นทรัลพัฒนา คือ “นิยาม บรมราชชนนี” ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้เซ็นทรัลพัฒนา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLAND ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนทำเลศักยภาพสูงในกรุงเทพฯอีกด้วย     สำหรับโครงการมิกซ์ยูสที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา อยุธยา ที่จะเชิดชูความเรืองรองและย้อนรอยความเจริญรุ่งเรืองของเมืองอยุธยา ผลักดันอยุธยาให้เป็น Top destination เมืองท่องเที่ยวของโลก (กำหนดเปิดปี 2564) เซ็นทรัลพลาซา ศรีราชา ในคอนเซ็ปต์ ‘Living Green in Smart City of EEC Center’ ให้คนศรีราชาได้หลบหลีกจากความวุ่นวายมาผ่อนคลายในบรรยากาศธรรมชาติ และจะเสริมให้ศรีราชาเป็น MICE Hub ของ EEC Center ในอนาคต (กำหนดเปิดปี 2564) เซ็นทรัลพลาซา จันทบุรี ศูนย์การค้า format ใหม่ภายใต้แนวคิด ‘The Shining Gem of EEC plus 2’ ที่จะเป็น The Best Modern Living Area ที่แรกที่ดีที่สุดในจันทบุรี (กำหนดเปิดปี 2565) และโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่ร่วมพัฒนากับบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) บนทำเลทอง “Super Core CBD” ในกรุงเทพฯ โดยจะทยอยเปิดให้บริการในปี 2565 เป็นต้นไป นอกจากนี้ เซ็นทรัลพัฒนา อยู่ระหว่างเตรียมแผนการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสภายใต้ GLAND ในกรุงเทพฯ โดยคาดว่าจะสรุปได้ในปี 2563   บริษัทตั้งเป้าหมายทางธุรกิจในระยะ 5 ปี (ปี 2563-2567) ที่จะมีรายได้เติบโตในอัตราเฉลี่ย (CAGR) ประมาณ 12% ต่อปี โดยบริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางการขยายธุรกิจในรูปแบบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mixed-use Development) การพัฒนาศูนย์การค้าใหม่ การปรับปรุงสินทรัพย์ที่มีอยู่เพื่อเพิ่มมูลค่า การพัฒนาโครงการที่พักอาศัย รวมทั้งศึกษาโอกาสการลงทุนธุรกิจใหม่ในรูปแบบอื่น การเข้าซื้อกิจการ และการลงทุนในต่างประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ มาเลเซีย และเวียดนาม เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกและเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
THG ได้ “รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง-จิณณ์ เวลบีอิ้ง” หนุนรายได้เติบโต 16%

THG ได้ “รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง-จิณณ์ เวลบีอิ้ง” หนุนรายได้เติบโต 16%

ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG โชว์ผลงานปี 2562 ทำรายได้รวมเติบโต 16% จำนวน 8,232 ล้าน และกำไรเพิ่มขึ้น 33%  หลังเปิดให้บริการโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง พร้อมกับเริ่มโอนห้องโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้      นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG  เปิดเผยถึงภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2562 ว่า บริษัทมีการเติบโตที่ดีท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยมีรายได้รวม 8,232 ล้านบาท เติบโต 16% จากปี 2561 ที่มีรายได้รวม 7,094 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% เทียบกับปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 348 ล้านบาท ทั้งนี้ หากไม่นับรวมกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนในบริษัท โรงพยาบาลราชธานี จํากัด (มหาชน) ที่เกิดขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2562 บริษัท ยังมีกำไรสุทธิ 311 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้า 10% ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2562 ยังเติบโตในระดับที่น่าพอใจ โดยมีรายได้รวม 2,116 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,883 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 82 ล้านบาท เติบโต 272% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 22 ล้านบาท   สำหรับการเติบโตของผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมามีปัจจัยหลักจาก 1. ผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลที่เปิดตัวใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีบริการระดับ 6 ดาว มีศูนย์การรักษาเฉพาะทาง พร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน มีผู้มารับบริการจำนวนมาก จนถึงจุดที่เริ่มมีกำไรในไตรมาส 3 ปี 2562 ซึ่งเร็วกว่าแผนงานที่วางไว้ และ 2. รับรู้รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในโครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ (Jin Wellbeing County) รวม 88 ยูนิตในปีที่ผ่านมา ในปี 2562 ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานโดยรวมของเรายังเติบโตได้ดี ด้วยโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่มีคนไข้ให้การตอบรับดี มีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก จนเริ่มมีกำไรได้เร็วกว่าเป้าหมาย เราจึงเตรียมพร้อมเพื่อการขยายเพิ่มเติมรองรับการเติบโต โดยล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เพิ่งเปิดบริการศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้นอีก 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์หัวใจ ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ จิณณ์ เวลเนส คลินิก และศูนย์ศัลยกรรมความงามและผิวหนัง อีกทั้งยังมีแผนจะขยายความสามารถให้บริการคนไข้ในด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีผลตอบรับที่ดีและช่วยเพิ่มปริมาณคนไข้ที่เข้าใช้บริการ   อีกส่วนหนึ่งคือการโอนห้องพักอาศัยในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ก็มีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ในปีที่ผ่านมาเช่นกัน และในปี 2563 คาดว่าโครงการจะได้รับความสนใจมากขึ้นด้วยความพร้อมให้บริการดูแลผู้สูงวัยและผู้ป่วยอัลไซเมอร์จากโรงพยาบาลธนบุรีบูรณา ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และสถาบันจิณณ์ เวลเนส ซึ่งเตรียมเปิดบริการเป็นลำดับต่อไป จากผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติเตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติจ่ายเงินปันผล จากกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมงวดครึ่งปีหลัง 2562 (หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล) ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท รวมเป็นเงิน 254.72 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับที่บริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก 2562 ไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท คาดว่าบริษัทจะจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2562 ในอัตรารวมหุ้นละ 0.40 บาท ทั้งนี้การจ่ายเงินปันผลดังกล่าว จะต้องขออนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ต่อไป  
14 คำถามกับ AP เดินกลยุทธ์เติบโตอย่างไร ให้ได้รายได้  40,550 ล้าน

14 คำถามกับ AP เดินกลยุทธ์เติบโตอย่างไร ให้ได้รายได้  40,550 ล้าน

เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป วางเป้าหมายการเติบโตในปี 2563 ด้านรายได้ 40,550 ล้านบาท กับการเปิดตัวโครงการในปีนี้ 37 โครงการ รวมมูลค่า 47,150 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 33 โครงการ มูลค่า 35,050 ล้านบา และคอนโดมิเนียม 4 โครงการ มูลค่า 12,100 ล้านบาท ถือเป็นความท้าทาย ท่ามกลางบรรยากาศทางการตลาด ซึ่งล้วนแต่มีปัจจัยฉุดให้ไม่เติบโต และต้องทำงานกันอย่างยากลำบาก   นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป หรือ AP ได้ไขข้อสงสัยและตอบคำถาม 14 ข้อ เพื่อให้เห็นภาพรวมของบริษัทที่จะมุ่งหน้าไป และแนวทางที่จะทำให้บริษัทสามารถเติบโตต่อไปได้ คำถามที่ 1 วิเคราะห์ภาพรวมตลาด อสังหาริมทรัพย์ปี 2020 และการรับมือกับความท้าทาย ? ปีนี้เป็นปีท้าทายมากๆ ไม่ว่าจะธุรกิจอะไรก็ตาม สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ เราก็ได้รับผลกระทบจากกวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ เยอะมาก และเป็นปีที่ทดสอบเราจริงๆ ด้วยวิสัยทัศน์ และด้วยวิธีการปรับปรุงองค์กร ทุกครั้งเมื่อธุรกิจเริ่มจะช้าลง ใช้โอกาสในการปรับปรุงองค์กร การนำเอา AP Value หรือค่านิยมใหม่ๆ เข้ามา  ก็จะเป็นหนึ่งที่ทำให้เราแข็งแรงขึ้น ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาเราอ่อนแอนะ เราแข็งแรงบ้างแล้ว แต่การไปต่อในอนาคตเราต้องปรับปรุงตัวอย่างมาก   ธุรกิจแนวราบเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูง ในการที่จะทำเราเตรียมตัวเรื่องพวกนี้ค่อนข้างดี การพัฒนาระบบ ECOSYSTEM โคซิสเต็ม ตั้งแต่การนำเอาเทคโนโลยี และการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เชื่อว่าจะทำให้เราผ่านปีนี้ไปได้ คำถามที่ 2 รายได้รวม ปี 2019 เท่าไหร่ 3 ภาคธุรกิจใหม่ที่เปิดตัวขึ้นมา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (SEAC-CLAYMORE-VARRI) ได้เริ่มสร้างรายได้แล้วหรือยัง ? ปีที่แล้วเรามีรายได้ 32,452 ล้านบาท จากเป้าหมายที่วางไว้ 35,700 ล้านบาท เราทำไปได้ 91% ของเป้าที่วางไว้ ด้วยความท้าทายปีที่แล้ว   ซึ่งถือว่าเราทำได้ดีมาก 56% เป็นแนวราบ 18,145 ล้านบาท  แนวสูงอีก 40% มูลค่า 12,877 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ เซอร์วิส ไม่ว่าจะเป็น บางกอกซิตี้สมาร์ท ที่ทำเรื่องรีเซล มีมูลค่า 1100 ล้านบาท เซอร์วิสเป็นส่วนหนึ่งเริ่มโชว์ขึ้นมา ปีที่แล้วมีสัดส่วนอยู่ 4% ปีนี้ ของรายได้รวมทั้งหมด และปีต่อไปน่าจะเห็นเพิ่มมากขึ้น   3 ธุรกิจที่เปิดตัวขึ้นมา มีรายได้แล้วสำหรับแต่ละธุรกิจ แต่รายได้ยังไม่กลับเข้ามาที่เอพี เพราะยังขาดทุนอยู่ เรื่องอินโนเวชั่น ต้องใช้เวลา SEAC ปีนี้เริ่มเข้าสู่โหมดไม่ขาดทุนแล้ว และอีก 2 ปีข้างหน้าจะเป็นรายได้กลับเข้ามาหาเอพี ส่วน CLAYMORE น่าจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เริ่มเอาออกสู่ตลาด แต่ปีแรกยังคงไม่มีกำไร ยังขาดทุนอยู่ แต่อีกสัก 2 ปีข้างหน้าจะมีรายได้กลับมาหาเอพี   SEAC เราทำขึ้นมาได้รับความสนใจจากองค์กรหลายองค์กร ไม่ใช่องค์กรที่อยากเข้ามาเรียนรู้ หลายองค์กรอยากเป็น Share Holder ด้วยซ้ำ คำถามที่ 3 ปัจจุบัน เอพีมี Backlog เท่าไหร่ แบ่งการรับรู้อย่างไร ? เรามี Backlog อยู่ 51987 ล้าน ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นแนวราบ 8,300 ล้านบาท รับรู้รายได้หมด เทียบยอดรับรู้รายได้ทั้งหมดของแนวราบ 21,000 ล้านบาท ประมาณ​ 40% ที่เหลือเป็นการเปิดโครงการใหม่ ส่วนแนวสูง เรามี Backlog โอนปีนี้  16560 ล้านบาท  เทียบรายได้ที่ตั้งใจ 18,000 เรามีพร้อมโอนแล้ว 90% แนวสูงก็พร้อมจะโอน แต่อาจจะมียกเลิก ซึ่งมีแค่ 15% แต่เราก็มีโครงการที่พร้อมขายพร้อมโอน เรื่องนี้เราไม่ค่อยห่วงเท่าไร คำถามที่ 4 ปีนี้ Developer ส่วนใหญ่ ปรับแผนบุกตลาดแนวราบ เอพีมีแผนรับมืออย่างไร ? ปีนี้เป็นปีแห่งแนวราบ ทุกคนเข้ามา สิ่งที่เราจะรับมือกับคู่แข่งที่จะเข้ามาในตลาดมากขึ้น ประสบการณ์ที่ทำมา 2 ปี ได้ลองผิดลองถูกมา แม้ว่าเราจะทำแนวราบมานาน  แต่วิธีการทำสมัยใหม่ เรามีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด และได้ทดลองมา 2 ปี เราเชื่อว่าวันนี้ มิกซ์องค์ประกอบ ที่ทำให้ลูกค้ามาซื้อบ้านเอพีได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสเปซ​ ที่อยู่อาศัย การทำเรื่องราคา การพัฒนาคุณภาพ และการมีเซอร์วิส การเอาบางกอกซิตี้สมาร์ท เข้าไปจับ หรือการเอาอินโนเวชั่นไปจับ ทุกวันนี้ถูกเอาไปใช้ในโครงการแนวราบทุกโครงการ   และจะเป็นปีแรกที่เราไปทดสอบตลาดต่างจังหวัด เพราะมีหลายจังหวัดมีศักยภาพ เมื่อ 5 ปีที่แล้วไปแนวสูง ปีนี้ไปแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์  บ้านแฝด จังหวัดแรกที่ไป คือ  นครศรีธรรมราช เหมือนเป็นเมืองรองแต่มีศักยภาพมาก มีเศรษฐีเยอะ คำถามที่ 5 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เอพีได้เปิดตัวไปแล้วกี่โครงการ ผลตอบรับเป็นอย่างไร ? เราเปิดบ้านเดี่ยวไป 4 โครงการ ทาวน์เฮ้าส์ไป 7 ช่วง 8 สัปดาห์ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ มียอดขายเฉลี่ยต่อสัปดาห์ 200-300 ล้านบาท ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์  2563 มียอดขายแล้ว 4,230 ล้านบาท เป็นแนวราบ 3,493 ล้านบาท ถ้าเทียบกับปีที่แล้วก็ยังสูสี ทั้งๆ ที่สถานการณ์ปีนี้เลวร้ายมาก ปีที่แล้วลูกค้าอยากซื้อก็ต้องรีบโอน แต่ปีนี้ไม่ใช่ แม้กระทั้งคอนโดฯ  ไม่ได้โครงการเปิดใหม่ แต่เรายังขายได้  737 ล้านบาน  ในช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ไม่มีโครงการใหม่เปิด ขายสัปดาห์ละ 70-80 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อยทีเดียว ถ้าเราทำโปรดักส์ ถูก ราคาถูก การทำตลาดได้ถูกต้อง ยังถือว่าได้ผลลัพท์ที่ดี  ยังมีดีมานด์ในตลาด คำถามที่ 6 ปีนี้เอพีเปิดตัวคอนโดลดลงหรือไม่ ทางพันธมิตรญี่ปุ่น Concern เรื่องการลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ ? คอนโดฯ เราเปิดปีละ 4-6 โครงการอยู่แล้ว ปีนี้เราเปิด 4 โครงการ ถ้าถามเรื่องการคอนเซิร์นของพันธมิตรญี่ปุ่น เราต้องมองว่า พันธมิตรเรา บริษัทมิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป (MEC)  เป็นมืออาชีพในการพัฒนาอสังหาฯ​ ในญี่ปุ่น เขามีความเข้าใจในการทำธุรกิจอสังหาฯ​ มันมีขึ้นมีลง เขาคุยเสมอว่าเขาเข้าใจ ว่าอะไรบ้างมีผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ แต่ความมั่นใจของเขา ไม่ได้อยู่ที่สภาพแวดล้อม หรือเรื่องเศรษฐกิจที่ทำให้ลดตัวลง แต่มันอยู่ที่การบริหารจัดการภายใน   ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ทำงานมา เราทำให้เขาเห็นถึงความมั่นใจ การทำงานของเรา ไม่ว่าจะเรื่องระบบ ความเชื่อถือเชื่อมั่น และที่สำคัญ คือ แผนงานของเรา แผนการเปิดตัวคอนโดฯ มีการผ่อนหนักผ่อนเบา โอกาสมาก็เปิดเยอะ โอกาสน้อยก็เปิดน้อย แล้วจะเห็นว่าการได้มาซึ่งการรับรู้รายได้ มันต้องบาลานซ์ให้คงที่อยู่ตลอด อาจจะมีลดบ้างเพิ่มบ้าง แต่เรามีการทำให้มีการรับรู้รายได้อยู่ตลอดเวลา  อย่างปีที่แล้วก็เริ่มมีการรับรู้รายได้ของโครงการที่สร้างเสร็จ ปีนี้ก็จะมีอีก แล้วปีนี้จะเปิดตัวถึง 4 โครงการ ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ แต่การเปิดโครงการเป็นการรับรู้รายได้ อีก 2-3 ปีข้างหน้า เรามีระยะเวลาการขาย   เราไม่ได้มองว่าเปิดมาแล้วต้องขายหมด เช่น เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมามีการเปิดตัว เราก็ได้รับผลประโยชน์ในปีนี้ ด้วยแผนการ วิธีการการทำงาน ความเชื่อมั่นที่เราปฏิบัติกับเขา  เราไม่มีการหมกเม็ด เราเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด เขาอยากรู้อะไร เราตอบเขาหมด เรามีการพบปะผู้บริหารอยู่ตลอดเวลา ทำให้ญี่ปุ่นมีความมั่นใจในศักยภาพของตลาดเมืองไทย เพราะอย่างไรก็ตามมันมีวงจรของการขายไม่คงที แต่การรับรู้รายได้มีอย่างต่อเนื่อง คำถามที่ 7 งบซื้อที่ดินปี 2020 เท่าไหร่ ใช้ไปแล้วเท่าไหร่ และโครงการต่างจังหวัด มีที่ดินครบแล้วหรือยัง ? ปีนี้ เรามีงบซื้อที่ดิน 8,500 ล้านบาท สำหรับการซื้อที่ดิน เราใช้ไป 700 ล้านบาท เป็นการพัฒนาแนวราบเสียเยอะ ส่วนต่างจังหัดที่จบไป คือ ที่นครศรีธรรมราช ส่วนที่เหลือ ก็อยู่ระหว่างการจัดซื้อ และการตัดสินใจ ว่าเราจะไปจังหวัดไหนต่อ คำถามที่ 8 AP มี Stock สินค้า พร้อมขายพร้อมอยู่กี่โครงการ และมีแผนการขายอย่างไร ท่ามกลางกำลังซื้อหดตัว ? องค์รวมยอดขายหดตัวอยู่แล้ว แต่มาดูรายเซ็กเมนต์แนวราบยังไปได้ แต่เรายังเห็นการเติบโตอยู่ ส่วนเรื่องสต็อก แนวราบแทบไม่มีสต็อกเลย ซื้อมาโอนไป ส่วนแนวสูง มีสต็อกเหลืออยู่ โครงการพร้อมขาย พร้อมโอน 3,200 ล้านบาท ถ้าเทียบจากอัตราการขาย 70-80 ล้านต่อสัปดาห์ ถ้าไม่มีอะไรที่เลวร้ายไปกว่านี้ สต็อกนี้ไม่เป็นปัญหาในการที่เราจะเคลียร์ได้ คำถามที่ 9สถานการณ์ลูกค้าต่างประเทศ เป็นอย่างไร มีปัญหาเรื่องการโอนคอนโดหรือไม่ ? ถ้าบอกลูกค้าต่างประเทศไม่มีปัญหา มันคงไม่ใช่ เป็นปัญหาแน่ๆ แต่เราอยู่ที่การบริหารจัดการมากกว่า ปีที่แล้ว ไลฟ์ วิทยุ ที่มีลูกค้าต่างชาติเข้ามา เราโอนไปได้ 180 ยูนิต เกือบ 200 ยูนิตในเดือนเดียว มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง ที่จะบริหารลูกค้าต่างชาติ ประการแร  เริ่มจากการขาย เรามีการบริหารจัดการขาย ผ่านบางกอกซิตี้สมาร์ท 2. กระบวนการจะส่งมอบ อย่างไลฟ์ วิทยุ เราตั้งเป้าให้ลูกค้าโอนเร็วที่สุด เพราะลูกค้าอาจจะเปลี่ยนใจได้ จึงทำเรื่อง Zero defect  ซึ่งเราทำได้ถึง 90% ลูกค้าเข้ามาตรวจ ถ้าต้องการแก้งาน เราแก้งานให้จบในวันนั้นแล้วโอนเลย มันเป็นสิ่งที่กระบวนการจัดการการโอน เพื่อส่งมอบสินค้าอย่างมีคุณภาพ ส่งผลให้การโอนไลฟ์วิทยุ ภายในเดือนธันวาคมเราทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้  และ 3.การกลับไปบางกอกซิตี้สมาร์ท การบริหารลูกค้า ติดตามลูกค้า การปรับเอาห้องของลูกค้าไปขายต่อ ซึ่งก็ขายได้ดี มันอยู่ที่องค์ประกอบในการแก้ไขปัญหา มันมีปัญหาแหละ ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวมาอย่างดี คำถามที่ 10 งบประมาณในการลงทุนเรื่อง BIM และ BIM ช่วยลดต้นทุนการก่อสร้างได้เท่าไหร่ มีผลต่อราคาขายหรือไม่ ? BIM ลงทุนไปเกือบ 20 ล้านบาท ทั้งในเรื่องของการพัฒนากระบวนการ การยอมรับของคน การพัฒนาศักยภาพของคน รวมถึงการซื้อซอฟท์แวร์ต่างๆ แน่นอนว่า เรามองเป้าหมายใหญ่กว่านั้น เป็นการส่งมอบคุณภาพของสินค้าให้กับลูกค้า และในมุมของดีเวลลอปเปอร์ นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว ยังมองเรื่องการบริหารจัดการเรื่องราคาขาย ที่ผ่านมา ที่ดินก็ราคาขึ้น ค่าก่อสร้างก็ราคาขึ้น ทำไมเรายังทำราคาขายให้อยู่ในการแข่งขันที่ดี   เราพยายามเมนเทนราคาของเราไม่ให้เกิน 200,000 บาทต่อตารางเมตร อยู่แสนต้นๆ ถึงแสนปลายๆ เราก็ทำได้ไม่ว่าราคาที่ดินจะเป็นเท่าไร แน่นอนว่า ราคาที่ดินไม่สูงเกินไป หรือในอดีตที่ดินราคา 200,000-300,000 บาท มาวันนี้ 600,000-700,000 บาท เราก็ต้องทำราคาให้ได้ให้อยู่ในราคานี้  ราคาที่ดินและค่าก่อสร้างมันขึ้นมาก แต่รายได้ของคนไม่ได้ขึ้นไปตามนั้น BIM มีส่วนช่วย ทำให้ลูกค้าได้ราคาที่ดี ลูกค้าสามารถได้ของมีคุณภาพ สิ่งที่เราเอาบินมาลดต้นทุน เราเอากลับไปให้ลูกค้า ในเชิงรูปแบบของราคา เราลดต้นทุน คือ Crack detection  เราต้องไปแก้งาน ยกตัวอย่าง ไลฟ์พระราม 9 เราลดต้นทุนไปได้ 70-80 ล้านบาท จากการไม่ต้องไปทุบคาน ไม่ต้องแก้คาน การเดินงานใหม่ เป็นต้นทุนที่ซ่อนอยู่ ที่เราจ่ายออกไปง่ายมาก ในการแก้งาน แต่การแก้ในซอฟแวร์ต้นทุนไม่มี และเป็นการประหยัดเวลาด้วย การลด Crack detection การลดเวลาการก่อสร้างลง เป็นการประหยัดต้นทุน   การก่อสร้างถ้าโอนเร็วขึ้นสักเดือน เราสามารถประหยัดไปได้เกือบ 10 ล้านบาท เพราะเป็นต้นทุนทางด้านไฟแนนซ์ เรื่องการกู้ แต่พวกนี้เรามีประสบการณ์มากขึ้น เราลดต้นทุนได้ ก็จะถูกส่งกลับไปให้ลูกค้าในเชิงราคา มันสร้าง Competitiveness ให้กับ เอพี ลูกค้าก็ได้ราคาที่ดี คุณภาพที่ดี เทคโนโลยีที่ Implement ทุกวันนี้มันต้องทำให้ดีขึ้น  แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นยาก การเปลี่ยนแปลงให้คนมาทำ BIM ไม่ง่าย เราใช้เวลามา 2 ปีแล้ว  การประสบความสำเร็จของเราที่ทำได้ขนาดนี้  อาจจะทำได้แค่ 50% เหลืออีก 50% ที่เราต้องทำงานต่อไป คำถามที่ 11 ธุรกิจการศึกษา ปีที่ผ่านมา ผลตอบรับเป็นยังไง ทำไมถึงพัฒนาหลักสูตรสำหรับเด็ก ธุรกิจการศึกษา ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่เราเข้ามาทำจริงจัง แล้วมีการเปิดตัว YOUR NET U  เราจะเห็นว่า เราได้รับการตอบรับจากองค์กรดีมาก องค์กรใหญ่ๆ มีการมุ่งมันพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กรของตัวเอง เพราะทุกคนรู้ว่าตัวเองต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับ Digital disrupt ที่เกิดขึ้น การพัฒนาศักยภาพของคนวันนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ Functional skill แต่เป็น Soft skill เป็น เรื่องของ Mindset เรื่องของความคิด เราจะเห็นว่าทุกองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก   เราทำ YOUR NET U  จะเห็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบจาก Digital disrupt  คือ กลุ่มสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี คนเหล่านี้หันมาสนใจการศึกษา การเพิ่มพูนความรู้ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตนเองมาก พนักงานในองค์กรยังไม่เห็นความจำเป็นของเรื่องพวกนี้มาก เพราะยังใช้ชีวิตสะดวกสบาย ทำงานไป ได้เงินเดือน มีโบนัส ​แต่ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จะมีผลกระทบกับพนักงานแรงๆ จะเห็นการปิดตัว ของหลายบริษัท การลดคนงาน  คนจะอยู่ในโหมด Survival จะเกิดขึ้นทันที การเอาตัวรอด ซึ่ง คือ การเรียนรู้ ธุรกิจการศึกษาเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพมากๆ   ส่วนทำไมเราถึงพัฒนาสำหรับเด็ก ต้องยอมรับว่า เราเห็น gap ของการทำงาน ของเด็กจบใหม่ก็เยอะ เด็กจบใหม่ตกงานก็เยอะ บริษัทอยากได้คนทำงานก็เยอะ แต่สองอันนี้ไม่ชนกัน สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ คนไม่ได้มี passion ในสิ่งที่ตนเองเรียนมา และไม่สามารถเอาความรู้เหล่านั้นมาใช้เต็มศักยภาพที่เป็น แต่ถ้ามองถอยหลังกลับไป มันเกิดจากตอนเอ็นซ์ฯ ก่อนสอบเข้ามหาลัย คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตัว จะเอ็นซ์ฯ ไปตามเทรนด์ที่เกิดขึ้น เด็กผู้ชายต้องเอ็นซ์ฯ วิศวะ สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราจะพัฒนาระบบการศึกษา หรือพัฒนาคน ต้องพัฒนาตั้งแต่ก่อนเอ็นซ์ฯ เราเลยหลักสูตรขึ้นมา เป็นการพัฒนาวิธีคิด พัฒนา mindset ให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คำถามที่ 12 ปัจจุบัน Platform ’SMART WORLD’ มีผู้ใช้จำนวนเท่าไร มีโครงการนอกเครือเอพีหรือไม่ คิดเป็นสัดส่วนเท่าไร ได้รับผลตอบรับจากผู้ใช้อย่างไรบ้าง ? บางกอกซิตี้ สมาร์ท  เราดูแลลูกบ้าน 58,000 ครอบครัว วันนี้ มีคนดาวน์โหลดไปแล้ว 40,000 เราเชื่อว่าต้องทำให้ครบ ให้คนมีโอกาสใช้งาน สิ่งที่ต้องทำมากขึ้น คือ engagement กับแอพพลิเคชั่น ยังต่ำ 10-15%  เป้าหมายของเราทำอย่างไรให้คน ใช้แอพทุกวันเหมือนเปิดเฟสบุ๊ค ไลน์​เป็นความท้าทายของคนทำ SMART WORLD แต่เรายังเชื่อมั่นว่า เราจะทำได้ ถ้าเราใส่องค์ประกอบที่ถูกต้องลงไป คำถามที่ 13 ทำไมทาง Claymore ถึงโฟกัสเรื่อง Health และ Ageing เป็นการศึกษาของเรา เทรนด์ของโลกนี้ เป็น Health และ Ageing กลับไปมองที่คน คนแก่มากขึ้น เด็กน้อยลง และคนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากเรามีมลภาวะ ทางอากาศ การกิน เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นเทรนด์ในอนาคต  เรื่อง Ageing เราพัฒนาเพื่อบริการคน 70-80 ปี ก็จริง แต่เราไม่ได้มองว่าจะเซอร์วิสคนเหล่านี้ เราหาอินไซด์ เราจะไปหาจากคนก่อนเกษียณ  เพราะคนเหล่านี้ จะใช้เซอร์วิสเราจริงๆ ในอนาคต คนปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็น Gen baby boomer บ้าง Gen X บ้าง ซึ่งยังมีครอบครัว แต่วันนี้สิ่งที่เราพบ Ageing ไปอยู่คนเดียวเยอะมาก เราเป็นลูกหลาน Gen X Gen Y อยากดูแลพ่อแม่ แต่เป็นความอยากหรือแค่ความฝัน เพราะลำพัง แค่เอาตัวเองให้รอดไปวันๆ ก็ลำบากจะแย่อยู่แล้ว สิ่งที่เรากลับไปคิดว่ามีอะไรบ้างจะช่วงเรื่องพวกนี้บ้าง   ส่วนเรื่อง Health  ทุกคนมีความฝันเรื่องการมีสุขภาพดี ทุกคนมีความฝันว่าตัวเองมีซิคแพก รู้สึกว่าตัวเองมีแคลอรี่ไม่เกิน แต่พอไปตรวจร่างกายแล้วจะรู้สึกว่าฉันต้องออกกำลังกายทุกที แต่พอผ่านไปสักเดือนก็เลิกแล้ว มันเป็นไซเคิล เพราะอุปสรรคมันเยอะเหลือเกิน เราจะเข้าไปแก้ไขทำอย่างไรให้ตรงนี้มันง่ายขึ้น ให้เขามีสุขภาพดีได้ง่ายขึ้น คำถามที่  14 ความคาดหวังของพันธกิจ EMPOWER LIVING คืออะไร ? นวัตกรรมวันนี้มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอพูดถึงนวัตกรรม ไม่ใช่แค่รีโมทเปิดไฟได้ เรื่องพวกนี้มันธรรมดาไปแล้ว แต่ในอนาคตจะทำอย่างไร บ้านวันนี้มีวิธีคิดใหม่ เราก็ไม่รู้ในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรออกมาบ้าง  แต่เราจะทำอย่างไร ให้บ้านมันถูกปรับแต่งได้ง่ายขึ้น มันถูกเอาไปใช้ปลั๊กอินได้มากขึ้น ถ้าทำให้บ้านมีระบบปลั๊กอิน  เพราะเราคงไม่สามารถไปรื้อบ้านสร้างใหม่ได้ตลอดเวลา  ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยที่เป็นมันน่าจะตอบโจทย์ลูกบ้านมากเลย          
“เซ็นทรัล รีเทล” ปิดยอดรายได้กว่า 2 แสนล้าน เตรียมอีก 18,000 ล้าน ขยายสาขาเพิ่ม

“เซ็นทรัล รีเทล” ปิดยอดรายได้กว่า 2 แสนล้าน เตรียมอีก 18,000 ล้าน ขยายสาขาเพิ่ม

เซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC เดินหน้าลงทุน 18,000 ล้าน ลุยขยายสาขาใน 3 ประเทศ ต่อยอดธุรกิจ หลังโกยรายได้ปี 62 กว่า 222,737 ล้านบาท ทำกำไร 12,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.3%   นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เปิดเผยว่า ในปี 2563 นี้ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยงบลงทุน 18,000 ล้านบาท  ไม่รวมการควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งมีแผนขยายธุรกิจในแต่ละประเทศ คือ -ประเทศไทย ขยายสาขาใหม่ อาทิ โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ 3 แห่ง, ไทวัสดุ 7 แห่ง และบ้านแอนด์ บียอนด์ 3 แห่ง พร้อมกับการขยายสาขาของกลุ่มฟู้ด และร้านค้าเฉพาะทาง เป็นต้น -ประเทศเวียดนาม ขยายสาขาใหม่ของบิ๊กซี / โก! อีก 6 แห่ง และปรับโฉมใหม่อีก 4 แห่ง พร้อมขยายธุรกิจ Non-Food อาทิ LookKool, Kubo, SuperSports เป็นต้น -ประเทศอิตาลี ปรับโฉมใหม่สาขาฟลอเรนซ์ และกรุงโรม เน้นย้ำความเป็นผู้นำด้านไลฟ์สไตล์ลักชูรี่ นายญนน์  กล่าวว่า ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลก และไทยจะมีความไม่แน่นอนหลายอย่างในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัว, โรคระบาดโควิด-19, จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ถดถอย เซ็นทรัล รีเทลเองก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน และดำเนินธุรกิจ เฝ้าติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด และใช้เทคโนโลยี มาช่วยในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ   ด้วยแพลตฟอร์มของเราที่เป็น Multi-Category และ Multi-Format  ทำให้เรามีความยืดหยุ่น และปรับตัวได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ที่ผันผวนเช่นนี้ โดยเราใช้เป็นข้อได้เปรียบ และเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าถึงลูกค้า และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับลูกค้าได้ตลอดเวลา บนแพลตฟอร์มออมนิแชแนลที่แข็งแรง ซึ่งพิสูจน์ได้จากยอดขายของออมนิแชแนลที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2562 ถึง 56% โดยในปีนี้เราคาดว่ายอดขายผ่านออมนิแชแนลแพลตฟอร์มจะเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 10% ของยอดขายทั้งหมดของเซ็นทรัล รีเทล   สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 222,737 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 16,117 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า ที่จำนวน 206,620 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.8% และมีกำไรจารดำเนินงาน จำนวน 11,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,254 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 11.3%  โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจเหงียนคิมเข้ามาเป็นส่วน หนึ่งของบริษัท ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เงินชดเชยจากการประกันภัยกรณีเพลิงไหม้ที่ห้างสรรพสินค้าเซน จำนวน 3,283 ล้านบาท  การเติบโตของธุรกิจฮาร์ดไลน์ ธุรกิจ ฟู้ดในเวียดนาม และธุรกิจแฟชั่นในประเทศ ตามลำดับ    
รพ.ลาดพร้าว เดินแผนปั้นรายได้ บุกตลาดคนไข้อาหรับ-CLMV

รพ.ลาดพร้าว เดินแผนปั้นรายได้ บุกตลาดคนไข้อาหรับ-CLMV

LPH ประกาศงบปี 62 ทำรายได้ 1,596.83 ล้าน มีกำไรสุทธิ 110.49 ล้าน พร้อมเปิดแผนปี 63 ตั้งธงรายได้โต 20-25%  เตรียมรุกคนไข้ชาวอาหรับ-CLMV  เดินหน้าตลาด Check-Up และประกันสังคมจากเพิ่มเงินเหมาจ่าย เสริมรายได้   ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว  จำกัด (มหาชน) หรือ LPH  เปิดเผยถึงผลประกอบการปี 2562 ว่า มีรายได้รวม 1,596.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.51% จากปี 2561 โดยมีรายได้จากการรักษาคนไข้ทั่วไปเติบโตขึ้น 11.55%  ขณะที่รายได้จากการรักษาพยาบาลโครงการประกันสังคมลดลง 13.28%  จากการบันทึกรายการผลกระทบคลาดเคลื่อน ในการคำนวณค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ที่ปรับค่าตามวันนอนในอดีต ตามที่ได้รับแจ้งสำนักงานประกันสังคม   ส่งผลให้บริษัทต้องปรับปรุงรายการได้รับค่าบริการทางการแพทย์กรณีผู้ป่วยในด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง (DRG) สุทธิสำหรับปี 2556 และ 2558 จำนวน 14.92 ล้านบาท และ 18.81 ล้านบาท ตามลำดับ รวมถึงรายได้ภาระเสี่ยงงวดปี 2561 จำนวน 8.46 ล้านบาท และการลดลงของรายได้อื่นจำนวนรวม  47.79 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากความแตกต่างของรายการผลกระทบจากกำไรจากรายการจำหน่ายทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะในปี 2561 นอกจากนี้ ยังส่งผลให้บริษัท และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ จำนวน 110.49 ล้านบาท ลดลง 46.46 ล้านบาท หรือลดลง 29.60% จากงวดปีก่อนหน้าที่มีกำไร 156.95 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักจากผลกระทบในการบันทึกบัญชีรายการปรับลดค่าบริการทางการแพทย์ และความคลาดเคลื่อนในการคำนวณค่า ในอดีตตามที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคม   อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น และสะท้อนความเชื่อมั่นการเติบโตของธุรกิจในอนาคต  ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท  มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ในอัตรา 92.47% จากผลประกอบการกำไรสุทธิประจำปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.125 บาท  โดยบริษัท ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.075 บาท คงเหลือการจ่ายเงินปันผลอีกในอัตราหุ้นละ 0.050 บาท กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 30 เมษายน  2563 วันที่จ่ายปันผล 22 พฤษภาคม 2563   สำหรับแผนธุรกิจปี 2563 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 25-30% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากประกันสังคมที่ได้รับเงินเหมาจ่ายและอื่น ๆ เพิ่มขึ้นประมาณ 10% และจากผู้ป่วยเงินสดที่คาดว่าจะเติบโตได้กว่า 30% นอกจากนี้ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์  (Excellent Center)  ได้เปิดให้บริการครบทั้ง 10 ศูนย์ คาดว่าจะมีผู้ป่วยทั่วไปเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้รายได้ในส่วนนี้จะเติบโตราว 20-30%   บริษัทยังมองโอกาสขยายสัดส่วนฐานคนไข้ต่างชาติ อาทิ คนไข้ชาวอาหรับ กลุ่ม CLMV ซึ่งโรงพยาบาลได้รับผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้มาดูแลโดยเฉพาะ จึงเชื่อว่าจะมีโอกาสเพิ่มคนไข้กลุ่มดังกล่าวได้ จากปัจจุบัน  มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติเพียงเล็กน้อย รวมถึงปีนี้ จะปรับระบบการรักษาพยาบาลและการดูแลคนไข้ที่เป็นคนไทยให้เสมือนคนไข้ต่างชาติ โดยจัดทำโครงการ “โรงพยาบาลคุณภาพ คู่คุณธรรม” ทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลและระบบการให้บริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานสากล โดยสัดส่วนรายได้ปีนี้ยังคงเดิมแบ่งเป็น ผู้ป่วยประเภทเงินสด 60% และรายได้จากผู้ป่วยประกันสังคม 40%   อีกทั้งยังอยู่ระหว่างพิจารณาการลงทุนก่อสร้างอาคารใหม่ จำนวน 3 อาคาร ในพื้นที่โรงพยาบาลลาดพร้าวเดิม โดยอาคารแรกจะเป็นอาคารจอดรถอัจฉริยะ 400 คัน อาคารที่ 2 เป็นโรงพยาบาลด้านตา และอาคารที่ 3 เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านหัวใจ ปอด และไต ซึ่งขณะนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างเตรียมผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาดูแลในส่วนนี้ คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 งบลงประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนแผนการลงทุนโรงพยาบาลลาดพร้าวลำลูกกา อาจจะชะลอการลงทุนไปก่อน เพื่อพิจารณาปัจจัยภายนอกรอบด้าน ทั้งความสามารถในการใช้บริการ ภาพรวมเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง   ส่วนการเข้าลงทุนในโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตรวจสุขภาพ คือโรงพยาบาลเอเชีย บริษัทถือหุ้น 50% เปิดดำเนินการแล้ว โดยมีเป้าหมายรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทในปี 2563 นี้และโรงพยาบาลเอเชีย อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง อยู่ในระหว่างก่อสร้างคาดว่าจะเปิดดำเนินการก่อน 60 เตียง ภายในปี 2563   สำหรับแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของบริษัทในเครือ คือ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (AMARC) ยังคงเดินหน้าตามแผน โดยงบปี 2562 มีกำไรที่ดี และในปี 2563 ตั้งเป้ากำไรเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน จากงานที่เราสามารถรับได้ และยังมีงานเกษตรอาหาร ในส่วนมาตรฐานที่เราขออยู่อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นในปีหน้าก็จะเป็นปีที่ทำให้รายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้น  และในส่วนของภาครัฐมีการส่งงานมาให้บริษัท ตรวจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลดำเนินงานบริษัท AMARC ในปี 2562  มีรายได้ 197.75 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.02% มีผลกำไรสูงประมาณ 15% ของรายได้   อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีพันธมิตรต่างชาติระดับโลกเข้ามาเจรจาขอเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ  หากมีการตกลงข้อเสนอกันได้  จะเป็นผลดีทำให้ AMARC ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ก่อนเตรียมตัวขยายการลงทุน โดยมีแผนนำหุ้นเข้าตลาด mai ปลายปี 2563 และ AMARC วางเป้าหมายจะเป็น “Excellence Lab”
มั่นคงฯ ปิดปี 62 โชว์ผลงานธุรกิจ “เช่า-บริการ” โต 27%

มั่นคงฯ ปิดปี 62 โชว์ผลงานธุรกิจ “เช่า-บริการ” โต 27%

มั่นคงฯ แจงผลการดำเนินงานปี 2562  สร้างรายได้ธุรกิจเพื่อเช่าและบริการ โต 27%  ขณะที่ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ชะลอตัว หลังโดนผลกระทบจาก LTV ทำรายได้ลดลง 5.2% แต่ยังคง ทำรายได้รวม 4,438.11 ล้าน มีกำไรสุทธิกว่า 177 ล้าน   นายสุเทพ วงศ์วรเศรษฐ ประธานกรรมการ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK เปิดเผยถึงผลประกอบการปี 2562 ว่า บริษัทและบริษัทย่อยสามารถทำรายได้รวมจากการขายและบริการได้ถึง 4,438.11 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายจำนวน 3,936.77 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจเพื่อเช่าและบริการ  จำนวน 501.34 ล้านบาท เติบโต 27% จากปีที่ 2561 บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิ 177.45 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.16 บาท ซึ่งตลอดช่วงระยะ 4 ปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างรายได้ระยะยาว โดยสามารถเพิ่มสัดส่วนกำไรขั้นต้นจากธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการ ต่อรายได้จากการดำเนินการในทุกธุรกิจเป็น 25.8% ในปี 2562 จากสัดส่วน 4.5% เมื่อสิ้นปี 2558   ในปี 2562  บริษัทมีรายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เป็นจำนวน 3,936.77 ล้านบาท ลดลงเพียงเล็กน้อยจากปี 2561 จำนวน 216.16 ล้านบาท หรือ 5.2%  ปัจจัยมาจากผลกระทบของธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่า จะเป็นความเข้มงวดของ LTV ซึ่งผลกระทบดังกล่าวส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี บริษัทมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้า เพื่อผ่อนคลายผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว เช่น ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดเตรียมข้อมูลทางการเงินอย่างรัดกุม การยื่นขออนุมัติเครดิตเบื้องต้น (Pre Approve) และให้ลูกค้าเช็คเครดิตบูโรกับธนาคารพาณิชย์ก่อนทำการเปิด  ใบจอง   นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีได้มีมาตรการกระตุ้นของภาครัฐเรื่องการลดค่าธรรมเนียม จดทะเบียนการโอน และค่าจดทะเบียนการจำนองสำหรับบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีสินค้าที่อยู่ในระดับราคานี้  หลายโครงการ อีกทั้งลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทกว่า 70% เป็นลูกค้าที่ไม่ติดภาระสัญญากู้เงินที่อยู่อาศัย จึงทำให้บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับรายได้จากการขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา   ในส่วนของรายได้จากธุรกิจให้เช่าและบริการ ในปี 2562 มีรายได้ถึง 501.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึง 107.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27% โดยรายได้หลักมาจากโครงการบางกอกฟรีเทรดโซน ของ บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด จำนวน 291.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 78.53 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 36.81% ซึ่งโครงการบางกอกฟรีเทรดโซนสามารถขยายสัดส่วนพื้นที่ให้เช่าเพิ่มขึ้นเป็น 193,872 ตารางเมตร ส่วนธุรกิจสนามกอล์ฟและบริหารอสังหาริมทรัพย์ มีรายได้ 119.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.52 ล้านบาท คิดเป็น 9.63% นอกจากนี้ยังมีรายได้มาจาก โครงการพาร์คคอร์ท สุขุมวิท 77 และ บริษัท ยัวร์ส พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด   นายสุเทพ กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานในแต่ละธุรกิจของกลุ่มบริษัท ถึงแม้ว่ารายได้หลักจากธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ จะชะลอตัวลดลง เนื่องจากผลกระทบในหลายปัจจัยในปีที่ผ่านมา แต่บริษัทก็ยังสามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินงานทำให้สามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้มากกว่า 30% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า รวมถึงได้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่เป็นระบบและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
บทสรุป AWC ปี 62 กำไรพุ่ง109% ชู 5 กลยุทธ์ไปต่อในปี 2020

บทสรุป AWC ปี 62 กำไรพุ่ง109% ชู 5 กลยุทธ์ไปต่อในปี 2020

แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทยที่มุ่งเน้นตอบสนอง ไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร เปิดผลประกอบการประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ 1,040 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 109% และในไตรมาส 4 ปี 2562 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 482 ล้านบาท เติบโต 140% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พร้อมเดินหน้าธุรกิจในปี 2563 ด้วย 5 กลยุทธ์หลัก มุ่งมั่นสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่าให้กับ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย พร้อมยกระดับเศรษฐกิจของประเทศแบบองค์รวม บทสรุปผลงาน AWC ปี 2562 นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า ในปี  2562 ที่ผ่านมาเป็นปีที่สำคัญของบริษัท นอกจากความสำเร็จจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ผลการดำเนินงานของทุกกลุ่มธุรกิจก็มีอัตรา   การเติบโตที่แข็งแกร่งเป็นที่น่าพอใจ   บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,040 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 109% โดยมีกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน  เติบโต 8.4% ซึ่งกำไรจากการดำเนินงานของสินทรัพย์ดำเนินงาน  แบ่งสัดส่วนเป็นโรงแรมและการบริการ (Hospitality) 45% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประกอบกิจการการค้า (Retail) 22% และธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office)  33% รายได้จากพอร์ทโฟลิโอสินทรัพย์ดำเนินงาน  เติบโต 3.4% (อ่านเพิ่มเติม...แผนพัฒนาอสังหาฯ​ เพื่อการพาณิชย์)   ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา เกิดจากกลยุทธ์ของบริษัท ที่มุ่งเน้นการเติบโต การปรับปรุงตำแหน่งทางธุรกิจของสินทรัพย์ที่มีอยู่ การพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ และการปรับกลยุทธ์พอร์ทการลงทุนเพื่อเน้นผลตอบแทนให้ได้ตามเป้าหมาย   สำหรับผลการดำเนินงาน ของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในปี 2562 กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงาน เพิ่มขึ้น 1.3% โดยรายได้หลักเพิ่มขึ้นจากโรงแรม กลุ่มไมซ์ที่เพิ่มขึ้น 6.8% โดยโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ที่อยู่ในช่วงการดำเนินงานเริ่มต้น (Ramp up) มีรายได้เติบโต 13.9% และมีกำไรจากการดำเนินงานเติบโต 26% ทั้งนี้บริษัท มีรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) สูงกว่าอุตสาหกรรมโรงแรมโดยรวม โดยมีดัชนีชี้วัด (RGI Index) เท่ากับ 108   กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial) มีรายได้จากสินทรัพย์ดำเนินงาน  เพิ่มขึ้น 7.7% จากความสำเร็จในการเปิดตัว 2 โครงการใหม่ ได้แก่ เกทเวย์ แอท บางซื่อ ที่มีรายได้เติบโต 1,037% และกำไรจากการดำเนินงานสูงขึ้น 225%  และ ลาซาล อเวนิว ที่มีรายได้เติบโต 175% และกำไรจากการดำเนินงานสูงขึ้นถึง 9,245% ประกอบกับธุรกิจอาคารสำนักงานมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การให้เช่าพื้นที่ให้รองรับความต้องการของลูกค้าและธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตรา 6% (ไม่รวมผลการดำเนินงานของสินทรัพย์ที่บริษัทจำหน่ายออกจากกลุ่มในระหว่างปี 2561) และด้วยกลยุทธ์ของบริษัทที่เน้นประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งการจัดซื้อจำนวนมากส่งผลให้การเติบโตของอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้สำหรับพอร์ตทรัพย์สินดำเนินงาน สูงขึ้นจาก 48 % เป็น 51%   ขณะที่สินทรัพย์รวมของบริษัทเติบโต 17.3% หนี้สินรวมของบริษัทลดลงร้อยละ 50.7% จากการนำเงินจากการเพิ่มทุนบางส่วนมาใช้ในการบริหารสภาพคล่องและจ่ายชำระคืนเงินกู้และเตรียมการลงทุนในทรัพย์สินกลุ่ม 3 (บริษัทได้เข้าซื้อสินทรัพย์กลุ่ม 3 ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 26,229.5 ล้านบาท) ทำให้บริษัทมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยพิจารณาได้จากอัตราหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงเหลือ 0.4 เท่า 5 กลยุทธ์ “BUILDING A BETTER FUTURE 2020” ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของ AWC บริษัทได้กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ได้แก่ การสร้างตอบแทนต่อส่วนทุนที่คุ้มค่า การสร้างความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืน และการเป็นองค์กรที่น่าชื่นชมและเชื่อถือ โดยดำเนินงานผ่านกลยุทธ์หลัก 5 ข้อ  ของ AWC สำหรับปี 2563 คือ 1.เติบโตก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง (Growth-Led Strategy) มุ่งเน้นให้โครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามแผนการเติบโตของบริษัทมีศักยภาพที่จะสร้างการเติบโตที่ชัดเจนให้บริษัท โดยมีแผนจัดสรรเงินทุนมากกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาทั้งโครงการโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์มากกว่า 12 โครงการ ซึ่งจะเพิ่มจำนวนห้องพักในโรงแรมเป็น 8,506 ห้อง และเพิ่มพื้นที่เช่าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าเป็น 415,481 ตารางเมตร ภายในปี 2024 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาบริษัท ยังได้ซื้อโรงแรมเข้าในพอร์ตเพิ่มอีก 4 แห่ง ด้วยมูลค่า 26,000 ล้านบาท ทำให้ภายในสิ้นปีนี้AWC มีโรงแรมภายใต้การบริหารงานทั้งสิ้น 17 แห่ง (อ่านข่าว...แผนซื้ออสังหา 12 แห่งเข้าเติมพอร์ต) 2.มุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มรายได้ระดับกลางถึงสูง (Middle to High Income Customer Segment) บริษัทมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน อันได้แก่ ลูกค้าและนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ระดับกลาง ถึงสูง และนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ ที่มีอัตราการเติบโตและอัตราส่วนกำไรต่อรายได้สูง 3.สร้างความแข็งแกร่งร่วมกับพันธมิตรระดับโลก (Global and Unique Partners) เพื่อสร้างและขยายเครือข่ายพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ ในการแบ่งปันความชำนาญและมาตรฐานการดำเนินงานให้อยู่ในระดับสากล อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ จากระบบจัดจำหน่ายทั่วโลก (Global Distribution Channel) โปรแกรมสมาชิก (Loyalty Program) กว่า 300 ล้านสมาชิกของผู้บริหารโรงแรม และเพิ่มตัวเลือกแบรนด์ที่หลากหลายให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามากขึ้น 4.เป็นผู้นำตลาด สร้างประสบการณ์ใหม่ให้วงการ (New Benchmark) ด้วยการสร้างสรรค์โครงการขนาดใหญ่และมีจุดดึงดูดเพื่อสร้างขีดการแข่งขันและเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กับประเทศ โดยโครงการของบริษัทมีจุดเด่นที่เป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับวงการหรือจุดหมาย การท่องเที่ยวนั้น ๆ อาทิ การส่งเสริมความแข็งแกร่งและยกระดับอุตสากรรมไมซ์ให้กับ ประเทศไทย การดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านเครือข่ายระดับโลกที่แข็งแกร่ง และการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้จุดหมายปลายทางที่โครงการของ AWC เปิดดำเนินการ 5.พัฒนาและดำเนินธุรกิจเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อคุณค่าองค์รวม (Synergy & Sustainability) การสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ ด้วยการจัดทำแผนงานเพื่อความยั่งยืนในมิติต่างๆ ทั้งในด้านการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนจากหน่วยงานต่างๆ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนตอบสนองนโยบาย “การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน” ของบริษัทผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิแอสเสท เวิรด์  เพื่อการกุศล (Asset World Foundation for Charity) และ The Gallery วิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้คือการเดินหน้าสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่าให้กับบริษัท นักลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมไทยแบบองค์รวม ปรับโฉม 7 รีเทลสู่ “F&B Destination”   กลุ่มธุรกิจรีเทลของ AWC ในปีนี้ ได้วางแผนปรับปรุง และรีแบรนด์ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีด้วยกัน 7 แห่ง ที่จะถูกรีโพสิชั่นนิ่งใหม่  ได้แก่ ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า 3 แห่ง ได้ก่ สาขางามวงศ์วาน ประตูน้ำ และเชียงใหม่ ศูนย์การค้าเกทเวย์ เอกมัย เกทเวย์ แอท บางซื่อ โครงการตะวันนา บางกะปิ และโครงการที่อยู่ด้านข้างอีก 1 แห่ง   สำหรับโครงการทั้งหมด จะมุ่งเน้นในเรื่องความเป็นไลฟ์สไตล์เพิ่มมากขึ้น ด้วยการเพิ่มพื้นที่อาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) ขณะที่จะลดสัดส่วนร้านค้าอื่นลง อย่างเช่น ศูนย์การค้าพันธุ์พลาซ่า ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของสินค้าไอที จะกลายเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในศูนย์การค้าเท่านั้น เช่น สาขางามวงศ์วาน จะเพิ่มพื้นที่ส่วนของอาหารมากขึ้น โดยวางคอนเซ็ปต์เป็นศูนย์รวมอาหารที่มีชื่อเสียง และร้านสตรีทฟู้ดที่ได้รับความนิยม เป็นต้น   ขณะที่ศูนย์การค้าเกทเวย์ เอกมัย จะทำการปรับโฉมใหม่ เป็นศูนย์กลางสินค้าจากต่างประเทศทั่วโลก ภายใต้แนวคิด “Gate way to the world” เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเลือกซื้อสินค้าของต่างชาติ และยังคงเน้นเรื่องอาหาร เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบัน ส่วนตะวันนาจะเพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์ และไลฟ์สไตล์เข้าไปเช่นกัน ส่วนที่ดินใกล้กับโครงการตะวันนา จะทำเป็นศูนย์จำหน่ายอาหารสด และมีบริการมี Chief Table ไว้คอยบริการ ลดค่าเช่า 25% ช่วยร้านค้าเอเชียทีค รับมือไวรัสโควิด-19 ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย AWC มีความห่วงใย และได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้ออกมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลความปลอดภัย เรื่องสุขอนามัยภายในโครงการ โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตรโรงแรมชั้นนำต่าง ๆ ในการออกนโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมในการยกเลิกเข้าพักในโรงแรมและการยกเลิกหรือเลื่อนการจัดประชุม โดยพิจารณาความเหมาะสมในช่วงเวลาที่เดินทางและประเทศต้นทาง   ส่วนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า บริษัทจะมอบส่วนลดค่าเช่าตามสถานการณ์ผลกระทบด้านจำนวนลูกค้าและเศรษฐกิจของแต่ละโครงการเดือนต่อเดือน และพิจารณามอบความช่วยเหลือเพิ่มตามความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และจะร่วมยืนหยัดรับมือทุกปัญหาเพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์ยากลำบากนี้ไปด้วยกันอย่างดีที่สุด   โดยบริษัทพิจารณาลดค่าเช่าให้กับผู้เช่าที่ศูนย์การค้าเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ (อ่านเพิ่มเติม...แผนพัฒนาเอเชียทีค สู่เมกะโปรเจ็กต์) ในอัตรา 25% โดยมีผลในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนผู้เช่าในศูนย์การค้าอื่นๆ จะพิจารณาตามผลกระทบที่ได้รับ ซึ่งประเมินว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว  
ถอดกลยุทธ์ “เอสซี แอสเสท” ใช้ความยืดหยุ่น สร้างพอร์ตธุรกิจให้เติบโต พร้อมเพิ่มรายได้ประจำ

ถอดกลยุทธ์ “เอสซี แอสเสท” ใช้ความยืดหยุ่น สร้างพอร์ตธุรกิจให้เติบโต พร้อมเพิ่มรายได้ประจำ

ปีที่ผ่านมาภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ต้องเผชิญกับปัจจัยลบมากมาย ส่งผลให้ภาพรวมของการเปิดโคงการใหม่ลดลง 20% ยอดขายลดลง 23% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนปีนี้ปัจจัยลบต่างๆ ยังมีต่อเนื่อง แถมยังมีปัญหาใหม่เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า ไวรัสโคโรนา ตัวเลขจีดีพีซึ่งมีโอกาสต่ำกว่า 2 ทำให้ไม่สามารถประเมินสถานการณ์ตลาดได้ว่าจะเป็นอย่างไร   สำหรับบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แม้ว่าปีที่ผ่านมาสามารถสร้างการเติบโต และทำนิวไฮด์ได้หลายตัวเลข  ไม่ว่าจะเป็นรายได้ และกำไรโดยมีรายได้รวม 17,787 ล้านบาท เติบโต 15%  มีกำไรสุทธิ 2,026 ล้านบาท  เติบโต 13% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ “เอสซี แอสเสท” สามารถทำกำไรได้มากกว่า   2,000 ล้านบาท แต่การดำเนินธุรกิจต่อไปนับจากนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย และมีความท้าทายหลายเรื่อง ซึ่งกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างการเติบโตต่อไป คือ “ความยืดหยุ่น” หรือ Resilient ชูกลยุทธ์ “ความยืดหยุ่น” สู้ความยุ่งเหยิง เพื่อความยั่งยืน นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า กลยุทธ์ในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและไม่แน่นอน “เอสซี แอสเสท” ใช้กลยุทธ์ความยืดหยุ่น หรือ  Resilient เพื่อความยั่งยืน พร้อมปรับตัว และมองโอกาสหา S-curve ให้บริษัทสำหรับการเติบโตระยะยาว โดยขับเคลื่อนใน  2 เรื่องหลัก  คือ “Resilient Portfolio” กับ “Resilient People” แนวทาง Resilient Portfolio ที่จะสร้างการเติบโต แบ่งเป็น 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.For Sale เน้นโปรเจ็กต์แนวราบ ในปี 2562 ที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตของบ้านเดี่ยวทุกระดับราคา  และยังสามารถสร้างส่วนแบ่งตลาดได้เป็น อันดับ 1 กลุ่มบ้านราคา 20-50 ล้านบาท และ อันดับ 3 ของบ้านเดี่ยวทุกระดับราคา แผนธุรกิจในปีนี้ จึงเน้นการเพิ่มการเติบโตของแนวราบ โดยเพิ่มสัดส่วนของแนวราบราคาน้อยกว่า 10 ล้านบาท จาก 40%  เป็น 50% ในปี 3 ปีนี้ 2.For Rent เสริมพอร์ตรายได้ประจำ “เอสซี แอสเสท” จะกระจายความเสี่ยงและเพิ่มพอร์ตรายได้ประจำ (recurring income) ให้มากขึ้น โดยวางสัดส่วนให้มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นในอนาคตมากกว่า 20% ผ่านธุรกิจโรงแรม ออฟฟิศ และอพาร์ทเม้นท์ ในต่างประเทศโดยได้จัดตั้งบริษัท เอสซี เอ็กซ์เพดิชั่น จำกัด (SC Expedition) เพื่อพัฒนาธุรกิจโรงแรมกลุ่มตลาดระดับ 3-4 ดาว (mid-to-upscale) รองรับนักท่องเที่ยวทั้งต่างประเทศและในไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตนเอง หรือ FIT (Free Individual Travelers) ที่ชอบท่องเที่ยวด้วยตนเองและกำลังเติบโต   บริษัทวางแผนลงทุนโรงแรมภายในปี 2566 จะมีโรงแรม 5 แห่ง รวม 1,000 ห้อง โดยปีนี้จะเปิดแห่งแรกที่ย่านราชวัตร ขนาด 70-80 ห้อง ใช้เงินลงทุนประมาณ​ 100 ล้านบาท ส่วนปีหน้าจะลงทุนเปิดที่ทำเลรัชดา  ส่วนปีต่อไปจะเปิดที่ทำเลสุขุมวิท วิภาวดี และพัทยา ซึ่งบริษัทจะใช้แบรนด์ของตนเอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา   นอกจากนี้ ยังจัดตั้ง บริษัท เอสซี อัลฟ่า อินคอร์ปอเรชั่น (SC Alpha Inc.) เพื่อลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา  ซึ่งจากปัจจัยและโอกาสของตลาด อพาร์ทเม้นท์ในบอสตันที่มีศักยภาพพร้อมเติบโต จึงได้ทำสัญญาซื้อและบริหารอาคาร ที่ 244 Hanover Street & 20 Parmenter Street ในเมืองบอสตัน รัฐ แมสซาชูเซตส์  มูลค่า 24.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ ซึ่งจะมีการลงทุนพัฒนาอพาร์ทเม้นท์อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทวางงบลงทุนแต่ละปี 30 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 900 ล้านบาท 3.หา S-curve ใหม่สร้างรายได้จาก Living Solutions  นอกจาก รายได้จากการขายและรายได้ประจำแล้ว “เอสซี แอสเสท” ยังมองหาโอกาสในการสร้างรายได้จากธุรกิจที่เป็น S-curve ใหม่ๆ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากโมเดลธุรกิจ Living Solutions บนการพัฒนา platform  โดยได้เตรียมเปิดตัว  RueJai Club ไว้ดูแลลูกค้า ซึ่งเป็นวิถีของโลกยุคใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งมอบ solutions ให้กับลูกค้าทุกๆ บ้าน ด้วยโมเดลช่วยเรื่องบ้าน จัดการเรื่องชีวิต  ประกอบด้วยแพ็กเกจบริการรายครั้งหรือรายเดือน  สำหรับอำนวยความสะดวกทุกสิ่งที่เกี่ยวกับบ้าน ได้แก่ แม่บ้าน, ทำสวน , ล้างแอร์ เป็นต้น พร้อม solutions ที่มากกว่า  ได้แก่ บริการส่งน้ำ ,ส่งแก็ส , ตัดผม, ซักรีด , ประกันภัย, อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่นๆ  อีกมากมายที่จะร่วมกับบริษัทพาร์ทเนอร์ชั้นนำในอนาคต   นายณัฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนแนวทาง “Resilient People” การให้ความสำคัญกับบุคลากร ที่เป็นหัวใจของความสำเร็จขององค์กร  บริษัทได้นำวัฒนธรรมองค์กรชื่อ #SKYDIVE ภายใต้ค่านิยม (core values) 4 ประการคือ care, courage, collaboration, continuous improvement  โดยทั้งหมดเป็นส่วนผสมที่ลงตัว เปิดโอกาสให้กล้าคิดและทำอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรให้สอดคล้องต่อการเป็น Living Solutions Provider แผน "เอสซี แอสเสท" เปิด 13 โปรเจ็กต์ 16,000 ล้าน สำหรับแผนธุรกิจในปี 2563 บริษัทตั้งเป้ารายได้ที่ 17,800 ล้านบาท และ ยอดขาย 18,000 ล้านบาท  โดยการเติบโตของรายได้และยอดขาย มาจากโครงการเปิดขายทั้งหมด 64 โครงการมูลค่ารวมกว่า 58,300 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 51 โครงการ มูลค่ารวม 42,300 ล้านบาท พร้อมกับการเปิด 13 โครงการใหม่ มูลค่า 16,000 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 12 โครงการใหม่ มูลค่า 12,500 ล้านบาท มีทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮมซีรีย์ใหม่ทุกระดับราคา  เริ่มต้น 2-50 ล้านบาท ทำเลวิภาวดี พระราม 5 , แจ้งวัฒนะ, พระราม 9, พัฒนาการ , บางนา-อ่อนนุช   โดยเตรียมเปิดโครงการแรก วี คอมพาวด์  ติวานนท์-รังสิต ในเดือนมี.ค.นี้ ส่วนโครงการคอนโดมิเนียม ปีนี้เปิดเพียง 1 โครงการ ได้แก่ โครงการ The Crest Park Residences คอนโดฯระดับลัชัวรี่ พัฒนาภายใต้บริษัท เอสซี เอ็นเอ็นอาร์ วัน  จำกัด(SC NNR1 Co.,Ltd.) ที่บริษัทร่วมทุนกับ Nishitetsu Group ยักษ์ใหญ่และผู้นำในภูมิภาคคิวชูของประเทศญี่ปุ่น  บนทำเลห้าแยกลาดพร้าว เพียง 75 เมตร ถึง MRT พหลโยธิน ขนาดพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ จำนวน 429 ยูนิต มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท กำหนดเปิดขายในไตรมาส 2 ของปีนี้ หรือประมาณเดือนพฤษภาคมนี้ มีราคาเฉลี่ยกว่า 200,000-250,000 บาทต่อตารางเมตร หรือราคาเริ่มต้น 5.9 ล้านบาท
“ซีคอน” รีแบรนด์ครั้งที่ 4  จับตลาดคนรุ่นใหม่ สร้างยอดขาย 1,480 ล้าน

“ซีคอน” รีแบรนด์ครั้งที่ 4 จับตลาดคนรุ่นใหม่ สร้างยอดขาย 1,480 ล้าน

ซีคอน รีแบรนด์ครั้งที่ 4 รอบ 59 ปี หวังเข้าถึงฐานกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ วาง 2 กลยุทธ์สร้างยอดขาย 1,480 ล้าน เท่ากับปี 62 หลังภาพรวมตลาดเจอปัจจัยลบต่อเนื่อง มั่นใจได้ยอดตามเป้าหมาย แค่ 2 เดือนโกยยอดขายแล้ว 140 ล้าน   นายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด เปิดถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2563 ว่า ได้รีแบรนด์บริษัทหม่อีกครั้ง เพื่อปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมกับปรับรูปแบบของโลโก้ใหม่ ให้เหลือแค่คำว่า ซีคอน (SEACON) จากเดิมที่ใช้ชื่อแบรนด์ ซีคอน โฮม (SEACON Home) ซึ่งถือว่าเป็นการรีแบรนด์ครั้งที่ 4 ในรอบ 59 ปีที่ผ่านมา จากปี 2562 ได้ยกเลิก 2 แบรนด์ที่อยู่ในเครือออกไป คือ คอมแพค (Compact) และบัดเจ็ท (Budget) เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่รู้จักแบรนด์ซีคอนมากกว่า และเป็นการบริหารงานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เดิมบริษัทใช้แบรนด์ เอสซี คอนสตัคชั่น ย่อมาจาก เซาท์อีสเอเชีย คอนสตรัคชั่น  ต่อมาเป็นแบรนด์ซีคอน แล้วมาเป็นแบรนด์ซีคอนโฮม พร้อมกับมีอีก 2 แบรนด์ลูก ส่วนปีที่ผ่านมาได้ยกเลิก 2 แบรนด์ เหลือแค่ซีคอน โฮม เพราะคนรู้จักมากกว่า แม้จะสร้างบ้านในแบรนด์บัดเจ็ท นอกจากการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ในปีนี้ บริษัทยังวาง 2 แนวทางเพื่อทำตลาดสร้างการเติบโตในปีนี้ คือ 1.การใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์และทำตลาดแบบครบวงจร หรือ Above the line    2.การจัดกิจกรรมการตลาด ด้วยการออกงานอีเวนต์ หรือ Below the line จำนวน 6 ครั้งแต่ปี ซึ่งสามารถช่ววยสร้างยอดขายกลับมาได้ 500-600 ล้านบาท อาทิ งานรับสร้างบ้าน งานบ้นและสวน และงานสถาปนิก เป็นต้น นายมนู กล่าวว่า จากแนวทางการทำตลาดในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้ 1,480 ล้านบาท เท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งมียอดขาย 1,480 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ในอัตรา 14% เนื่องจาก ปีนี้มีปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการเติบโตของสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ซึ่งยอดขายปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นการรับสร้างบ้านกลุ่มราคา 3-6 ล้านบาท สัดส่วน 61.25% กลุ่มราคา 6-10 ล้านบาท สัดส่วน  13.75%  และกลุ่มราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปสัดส่วน  25%   ปีนี้เดิมจะตั้งเป้ายอดขาย 1,600 ล้านบาท แต่เจอสถานการณ์ไขหวัด เลยตั้งเป้าเท่ากับปีที่ผ่านมา สำหรับภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปี 2562 ที่ผ่านมามีมูลค่า 12,500 ล้านบาท  เติบโต 5% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 12,000 ล้านบาท ตลาดบ้านที่ได้รับความนิยมในการสร้างมากที่สุดจะเป็นกลุ่มระดับรา 2-5 ล้านบาท ส่วนในปีนี้ภาพรวมตลาดสร้างบ้านยังประเมินตลาดได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยลบมาก โดยเฉพาะไวรัสโคโรนาซึ่งยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาได้เมื่อไร ปีที่ผ่านมาบริษัทตั้งเป้ายอดขาย 1,600 ล้านบาท แต่ทำได้ 1,480 ล้านบาท แม้ว่าจะพลาดเป้าหมายแต่ยังเติบโต 14% และมีส่วนแบ่งตลาด 12% ส่วนแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทลงทุน 20 ล้านบาท ในการย้ายสาขาแจ้งวัฒนะเข้ามายังพื้นที่แถวงามวงศ์วาน พร้อมกับสร้างบ้านตัวอย่าง โดยปัจจุบันบริษัทมีสาขารวม 4 แห่ง ซึ่งแผนการขยายสาขาในปีนี้ จะดูสภาพตลาดและความเหมาะสม ปัจจุบันมีลูกค้าต่างจังหวัดใช้บริการรับสร้างบ้านของบริษัท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% โดยฐานลูกค้าหลักเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น ชลบุรี ระยอง เป็นต้น นายมนู กล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทยังได้จัดทำหมายเลขโทรศัพท์ 4 ตัว เพื่อให้ลูกค้าจดจำและเข้าถึงบริษัทได้ง่ายขณะเดียวกันยังได้จัดทำกิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM ด้วยการจัดทำ SEACON Privileges เพื่อให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้าของบริษัทซึ่งมีอยู่กว่า 10,000 ราย ในการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเฟอร์นิเจอร์ในราคาพิเศษ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตรเข้าร่วมแล้วกว่า 10 ราย อาทิ เอสบี เฟอร์นิเจอร์ บุญถาวร แกรนด์โฮม เป็นต้น   แม้ปีนี้จะมีปัจจัยลบ แต่ช่วง 2 เดือนแรก มียอดสั่งรับสร้างบ้าน 140 ล้านบาทแล้ว มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จึงเชื่อว่าน่าจะทำยอดขายได้ตามเป้าหมาย และยังมียอดขายรอรับรู้รายได้อีก 700 ล้านบาท     
คนไทยแห่จองสิทธิเช่าบ้านราคาพิเศษ “บ้านดีทั่วไทย” กว่า 17,000  ราย

คนไทยแห่จองสิทธิเช่าบ้านราคาพิเศษ “บ้านดีทั่วไทย” กว่า 17,000  ราย

การเคหะ เดินหน้ามอบสัญญาเช่า “บ้านถูกทั่วไทย” ราคาเริ่มต้น 999 บาท จำนวน 10,000 ยูนิต หลังเปิดจองผ่านออนไลน์ คนไทยแห่จองกว่า 17,000 ราย  พร้อมจัดงาน “บ้านของเรา ก้าวไปด้วยกัน” อัดโปรชั่นหนุนคนรายได้น้อย ให้มีที่อยู่   นับตั้งแต่การเคหะแห่งชาติ ได้เปิดโครงการ “เช่าทั่วไทย” ด้วยการให้ประชาชนได้สิทธิเช่าบ้านราคาพิเศษ เริ่มต้น 999 บาท ซึ่งให้ประชาชนได้เริ่มจองสิทธิผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม – 30 มิถุนายน 2563 โดยนับตั้งเปิดให้จองจนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนสนใจจองสิทธิเช่าดังกล่าวกว่า 17,000 ราย   ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานมอบสัญญาเช่าบ้านราคาพิเศษ ชุดแรก จำนวน 50 ราย จากโครงการร่มเกล้า 2 และโครงการลาดกระบัง 2 ให้กับประชาชนที่สนใจจองไปแล้ว  และในวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2563 ตั้งแต่เวลา 08.30-18.00 น. สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ สำนักงานเคหะนครหลวง และสำนักงานเคหะจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศที่มีโครงการเปิดให้เช่า ได้เดินหน้ามอบสัญญาเช่าบ้านราคาพิเศษ พร้อมกันทั่วประเทศ ในงาน “บ้านของเรา ก้าวไปด้วยกัน”   โดยมีจำนวนบ้านเข้าร่วมในโครงการจำนวน 10,000 หน่วยทั่วประเทศ แบ่งเป็น โครงการที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จำนวน 6,500 หน่วย ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และโครงการในเขตภูมิภาค จำนวน 3,500 หน่วย อาทิ เชียงใหม่ ลำปาง ภูเก็ต หาดใหญ่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา บุรีรัมย์ หนองคาย อยุธยา สระบุรี เป็นต้น   ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติ (กคช.) มีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมมากว่า 47 ปี และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายภารกิจที่ตั้งไว้ ในปี 2563 ทาง การเคหะแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนภายใต้แคมเปญ “บ้านถูกทั่วไทย”   สำหรับโครงการ “เช่าทั่วไทย” มีกรอบระยะเวลาการทำสัญญาเช่ากับการเคหะแห่งชาติเป็นระยะเวลา 1 ปี และต่อสัญญาเช่าทุกปี โดยผู้ลงทะเบียนจองสิทธิ "บ้านเช่า" จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 1.เป็นผู้มีสัญชาติไทย และบรรลุนิติภาวะแล้ว 2.มีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 40,000 บาทต่อเดือน 3.ไม่เป็นคู่สัญญาเช่ากับการเคหะแห่งชาติ และไม่มีหนี้ค้างชำระ ทั้งนี้หากผู้เช่ามีความประสงค์จะซื้อในภายหลัง สามารถเปลี่ยนมาเป็นซื้อได้ตามเงื่อนไขที่              การเคหะแห่งชาติกำหนด ในงานยังมีโปรโมชั่นสุดพิเศษ “Shock Price” ลดราคาบ้านจำนวน 35 โครงการ ให้กับผู้ที่สนใจซื้อเป็นของตนเอง โดยราคาเริ่มต้นแค่เพียง 250,000 บาท สูงสุดที่ราคา 420,000 บาท โดยผู้สนใจวางเงินจองเพียง 1,000 บาท กู้ได้สูงสุด 100% หรือผ่อนบ้านกับการเคหะแห่งชาติในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ฟรีค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ และ ฟรีมุ้งลวด-เหล็กดัด (เฉพาะโครงการอาคารชุดชั้น 4 – 5) สำหรับประชาชนที่โอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองบ้านการเคหะฯ ตามมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ ของรัฐบาล ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 มีสิทธิ์ลุ้นรับของรางวัลต่างๆ มากมาย ทั้งนี้ ภายในงานยังได้มีการทำพิธีมอบสัญญาเช่าโครงการบ้านเช่าราคาพิเศษให้แก่ผู้ได้สิทธิ์ จำนวน 10 ราย โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาเป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งมอบสัญญาเช่าดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อย การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ในฐานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  มีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นองค์กรหลักด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย ซึ่งได้พัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศแล้วกว่า 7 แสนหน่วย พร้อมทั้งขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยในโครงการเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) โดยมีเป้าหมายที่จะดูแลประชาชนที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยประมาณ 2.27 ล้านครัวเรือน พร้อมดำเนินการควบคู่ไปกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ.2559-2568)        
พฤกษาวาง 5 กลยุทธ์ ลุยปัจจัยลบ สร้างยอดขาย 38,000 ล้าน

พฤกษาวาง 5 กลยุทธ์ ลุยปัจจัยลบ สร้างยอดขาย 38,000 ล้าน

พฤกษา ชู 5 กลยุทธ์ ฝ่าวิกฤตปัจจัยลบรักษาผู้นำตลาด เดินหน้าเปิดโครงการใหม่ 30 โครงการ มูลค่า 36,000 ล้าน สร้างยอดขาย 38,000 ล้าน และรายได้ 40,000 ล้าน พร้อมรุกรายได้การขายแผ่นพรีคาสท์ให้ผู้รับเหมาและดีเวลลอปเปอร์รายอื่น อีก 3 ปีหวังทำยอดเสริมรายได้ 500 ล้าน ขณะที่เลื่อนเปิดโรงพยาบาลวิมุตไปปี 2564    ปี 2562 ที่ผ่านมา ตลาดดอสังหาริมทรัพย์ ต่างเผชิญกับปัจจัยลบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะการค้าโลก ค่าเงินบาทแข็งค่า กำลังซื้อ หนี้ครัวเรือน และมาตรการ LTV ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ  ซึ่งติดลบไปถึง 24% ในด้านมูลค่าที่เหลือ 387,300 ล้านบาท จำนวนยูนิตลดลง 20% เหลือ 96,893 ยูนิต มูลค่าการโอนเหลือ 409,191 ล้านบาท ซึ่งติดลบไป ปัจจุบันมีสินค้าคงเหลือในตลาด 209,107 ยูนิต หรือเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2561   ภาพรวมตลาดในปีนี้ ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา  แถมด้วยปัญหาไวรัสโคโรน่า ที่ส่งผลต่อภาวะตลาดของกลุ่มลูกค้าชาวจีน ซึ่งชะลอตัวลงและอาจจะไม่โอนกรรมสิทธิ์ จากการซื้อสินค้าก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ผู้ประกอบการต่างเป็นกังวล และพยายามปรับตัว รวมถึงหากลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตในปี 2563 พฤกษา เปิด 30 โครงการ 36,000 ล้าน นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี  2563 ว่า เตรียมเปิดโครงการใหม่รวม 30 โครงการ มูลค่า 36,000 ล้านบาท แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 18 โครงการ บ้านเดี่ยว 6 โครงการ คอนโดมิเนียมกลุ่มแวลู 4 โครงการ และคอนโดมิเนียมกลุ่มพรีเมียม 2 โครงการ ซึ่งจะเน้นทำเลที่มีศักยภาพ  และมีความต้องการซื้อจริง โดยจะเปิดขายในช่วงจังหวะที่เหมาะสม   โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขาย 38,000 ล้านบาท เติบโต 6% จากปีที่ผ่านมา และรายได้รวม 40,000  ล้านบาท ใกล้เคียงกับผลงานดำเนินงานปีที่แล้ว  ซึ่งมียอดขาย 35,601 ล้านบาท รายได้ 39,885 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,359 ล้านบาท  จากปีที่ผ่านมาเปิดตัวโครงการทั้งสิ้น 36 โครงการ มูลค่า  41,170 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากมีการเลื่อนบางโครงการมาเปิดในปีนี้  แต่ถือว่าผลการดำเนินงานยังเป็นที่น่าพึงพอใจ  เนื่องจากปีที่ผ่านมามีปัจจัยลบมากมาย โดยรวมถือว่ายังเป็นที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากปีที่ผ่านมามีปัจจัยที่เหนือการควบคุมไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย รวมถึงมาตรการ LTV ที่ทำให้ตลาดหดตัวลง ไม่ห่วงจีนหาย-พร้อมเปิดโปรเจ็กต์เพิ่ม ที่ผ่านมาพฤกษา มีกลุ่มลูกค้าจีนที่ซื้อโครงการต่างๆ ของพฤกษา มูลค่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าลูกค้าจีนจะกลับมาโอนกรรมสิทธิ์  แต่อาจจะต้องภายหลังจากไวรัสหยุดการระบาดแล้ว อาจจะเป็นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยบริษัทไม่ได้มีความกังวลกับกลุ่มลูกค้าชาวจีน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่วางเงินดาวน์ 20-30%   นางสุพัตรา กล่าวเพิ่มว่า หากสถานการณ์ตลาดฟื้นตัวเป็นปกติ หรือมีสัญญาณที่ดีขึ้น บริษัทพร้อมเปิดโครงการเพิ่ม เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ทั้งโครงการบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดฯ  ส่วนปีนี้ได้เตรียมใช้งบซื้อที่ดิน 2,000 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 5-6 แปลง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาใช้งบซื้อที่ดิน 1,700 ล้านบาท ในการซื้อที่ดิน 8 แปลง วาง 5 กลยุทธ์พฤกษา ฝ่าวิกฤตอสังหา สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางปัจจัยลบในปีนี้  บริษัทมุ่งเน้นสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวให้เติบโตอย่างมั่นคง ภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่   1.Strengthen Core Business รักษาฐานกลุ่มธุรกิจหลักของพฤกษา ออกแบบสินค้า ฟังก์ชั่นและ IOT รองรับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในแต่ละเซ็กเมนต์ และพร้อมขยายเซ็กเมนต์ไปกลุ่มบนมากขึ้น ที่ผ่านมาพฤกษาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการเปิดขายโครงการบ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี่   โดยมีอัตราการขาย (Take up rate) มากกว่า 50% ในปีนี้จึงมีแผนเปิดโครงการ “เดอะ ปาล์ม” อีก 2 โครงการบนทำเลศักยภาพ เพื่อเจาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากขึ้น รวมถึงทาวน์เฮาส์ที่จะขยายไปยังเซ็กเมนต์ 3-5 ล้านมากขึ้นภายใต้แบรนด์พฤกษาวิลล์และเดอะคอนเนค พร้อมใช้แบรนด์พาทิโอ ขยายตลาดเจาะกลุ่มทาวน์เฮาส์ระดับลักชัวรี่   นอกจากนี้ บริษัทมีการเพิ่มทีมขายและทีมตรวจสอบเครดิตลูกค้า หรือ “Credit smile”  เพื่อให้สามารถขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้ เนื่องจากปีที่ผ่านมาลูกค้าพฤกษา มีอัตราการปฎิเสธสินเชื่อสูงถึง 12% เฉพาะไตรมาสสุดท้ายสูงถึง 39%   ในปีนี้จะขยายฐานตลาดไปยังกลุ่มบนเพิ่มมากขึ้น เช่น ทาวน์เฮ้าส์ระดับราคา 3-5 ล้าน บ้านเดียวราคา 5-10 ล้าน2.Innovation and Data Tech เพิ่มช่องทางการขายในรูปแบบใหม่ ตอบโจทย์ลูกค้าให้ครบในทุกมิติ และพัฒนา Data Science ในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้าพร้อมทั้งนำเสนอ Solution ที่ตอบโจทย์ รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถของ Digital Marketing ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3.Asset Management เน้นขายโครงการในสต็อก (inventory) โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม และเลือกเปิดขายโครงการใหม่เฉพาะทำเลที่มีศักยภาพในช่วงเวลาเหมาะสมกับสภาพตลาด ควบคุมการก่อสร้างและวัสดุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงกลยุทธ์ในการเลือกซื้อที่ดิน 4.Recurring Income สร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการผลิตแผ่นคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปเพื่อขายให้กับหน่วยงานภายนอก พฤกษามีโรงงานที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดและใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับพฤกษาอย่างต่อเนื่องโดยจะเริ่มดำเนินการในปีนี้  ซึ่งเบื้องต้นจะขายชิ้นส่วนพรีคาสท์ให้กับกลุ่มผู้รับเหมา ดีเวลลอปเปอร์ต่างๆ ที่อยู่ระหว่างเจรจา 4-5 ราย คาดว่าจะทำรายได้ปีแรกไม่เกิน 100 ล้านบาท และภายใน 3 ปีจะทำรายได้ 500 ล้านบาท   ในขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลวิมุต การก่อสร้างยังเป็นไปตามแผนคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนพฤษภาคม 2564  ซึ่งปีนี้ใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการ 4,900 ล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 90% 5.Bottom Line การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้กำไรสูงขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีการ Optimize ดีไซน์ของตัวบ้านให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในแต่ละเซ็กต์เมนต์ รวมถึงเพิ่มการใช้ Digital Marketing ให้มากขึ้น สัดส่วน 40% จากปีที่ผ่านมาใช้ 20% เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด  ในด้านการขายและเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ปัจจุบันบริษัทมียอดรอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่าสูงถึง 29,000  ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ 10,900 ล้านบาท ที่เหลือจะทยอยรับรู้ใน 2-3 ปีข้างหน้า ในปีนี้บริษัทมีมติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 1.55 บาท โดยจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.60 บาท เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 จึงคงเหลือจ่ายเงินปันผลในรอบนี้ในอัตราหุ้นละ 0.95 บาท โดยจะนำเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในที่ 29 เมษายน 2563 และกำหนดจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563  
สัมมากร สวนกระแสตลาด ทำรายได้ปี’62 สูงสุดในรอบ 50 ปี

สัมมากร สวนกระแสตลาด ทำรายได้ปี’62 สูงสุดในรอบ 50 ปี

สัมมากร เผยผลการดำเนินงานปี 2562 สามารถทำรายได้สูงสุดในรอบ 50 ปี กวาดรายได้รวมกว่า 2,300 ล้านบาท เติบโตถึง 65% ทั้งกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่น ขณะที่แผนปี 2563 พร้อมเปิดตัวอีก 5 โครงการใหม่ มูลค่ากว่า 3,700 ล้านบาท   นายณพน เจนธรรมนุกูล รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) หรือ SAMCO เปิดเผยถึงผลการดำเนินธุรกิจในปี 2562 ว่า บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,302.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 908.15 ล้านบาท หรือคิดเป็น 65.13% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,394.30 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  696.99 ล้านบาท โตขึ้นจากปีก่อน 63.03% และรายได้จากการให้เช่า รายได้ค่าบริการ และรายได้อื่น 211.16 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73.21% โดยปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่มีความท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับ บริษัท สัมมากรฯ เนื่องด้วยเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างชะลอตัว อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศไทย อีกทั้งมาตรการภาครัฐที่คุมเข้มอสังหาฯ มากยิ่งขึ้น แต่บริษัทฯ ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ปีที่ผ่านมาบริษัทมีผลประกอบการโดดเด่นที่สุดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากแผนการพัฒนาองค์กรที่วางแผนไว้ตั้งแต่ปีก่อนหน้า ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น  ประกอบกับความทุ่มเทของทีมงานและการใส่ใจในการพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพตรงใจลูกค้า สำหรับในปี 2563 บริษัทมีเป้าหมายที่จะโตต่อเนื่องในแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยตั้งเป้าเปิดตัวโครงการใหม่ 5 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 3,700 ล้านบาท และจะพยายามรักษาเป้ารายได้ของปี 2563 ให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายณพน กล่าวว่า  ในปีนี้บริษัทมุ่งเน้นการเติบโตของธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรและพนักงาน เนื่องจากบริษัทกำลังอยู่ในช่วงที่กำลังจะเติบโต (Growth Stage) สิ่งที่จำเป็น คือ การสร้างทีม ที่แข็งแรงและมี Platform ต่างๆ เข้ามารองรับ เพื่อพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยให้ชีวิตการทำงานของพนักงานดีขึ้นด้วย
เอสซี แอสเสท ทำนิวไฮรายได้และกำไรปี 2562

เอสซี แอสเสท ทำนิวไฮรายได้และกำไรปี 2562

เอสซี ประกาศความสำเร็จปี 62  ผลการดำเนินงานทำนิวไฮทั้งรายได้และกำไรสุทธิ  มีรายได้รวม  17,787 ล้าน เติบโต 15%  จากสถิติใหม่ของรายได้โครงการแนวราบ  หนุนกำไรสุทธิ  2,026 ล้าน เตรียมเสนอปันผลหุ้นละ 0.19 บาท   นายอรรถพล สฤษฎิพันธาวาทย์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านสนับสนุนองค์กร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2562 ที่ผ่านมา ว่า บริษัทมีรายได้รวม 17,787 ล้านบาท เติบโต 15% จากปี 2561 แบ่งเป็น รายได้จากการดำเนินงาน 17,637 ล้านบาท เติบโต 14%  เป็นรายได้จากการขายสัดส่วน 95% และรายได้จากค่าเช่าและบริการสัดส่วน 5% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,026 ล้านบาท เติบโต 13% นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการขาย 16,771 ล้านบาท เติบโต 15% มาจากรายได้จากโครงการแนวราบ 11,260 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 67% ซึ่งเป็นสถิติใหม่ด้วยจุดแข็งของบ้านโครงการของเอสซีที่ มีครอบคลุมทุกระดับราคาและมีการตอบรับที่ดี  ส่วนอีก 33% ที่เหลือมาจากโครงการแนวสูง 5,511 ล้านบาท เติบโต 45% จากปีก่อนหน้า   โดยในปี 2562 บริษัทมียอดขายรวมเท่ากับ 14,425 ล้านบาท จากโครงการที่เปิดขายรวมทั้งสิ้น 55 โครงการ มูลค่ารวม 56,200 ล้านบาท มียอดขายรอโอน หรือ Backlog รวม 7,388 ล้านบาทที่พร้อมโอนในปีนี้ 65% และอีก 35% จะโอนในปี 2564-2565   ปี 2562 บริษัทมีผลการดำเนินงานเติบโต สามารถทำสถิติใหม่ทั้งรายได้ และกำไรสุทธิ นายอรรถพล  กล่าวอีกว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 62 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์ 45,083 ล้านบาท และหนี้สินรวม 27,526 ล้านบาท โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้น 17,557 ล้านบาท คิดเป็นราคาตามบัญชีต่อหุ้น เท่ากับ 4.20 บาท และมีกำไรต่อหุ้น เท่ากับ 0.4848 บาท ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มีมติเห็นชอบให้บริษัทจ่ายเงินปันผลประจำปี 2562 ในอัตรา 0.19 บาทต่อหุ้น โดยจะนำเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 23 เมษายน 2563 ต่อไป