Infographic Should Know Before Co Borrower 1

5 ข้อต้องรู้ก่อนจะเป็น “ผู้กู้ร่วม”

Categories : Infographic
Tags : , ,

เวลาเราจะกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่เกิดกู้คนเดียวไม่ผ่านหรือรายได้ไม่พอ ทางออกที่นิยมใช้กันมากที่สุดนั่นคือการหา “ผู้กู้ร่วม” เพื่อเพิ่มความสามารถในการผ่อนชำระ แต่ก่อนจะหาผู้กู้ร่วมหรือถูกขอให้เป็นผู้กู้ร่วมก็ตาม จะมีข้อที่ควรพิจารณา 5 ข้อสำคัญที่ต้องตระหนักให้รอบคอบ ดังนี้ครับ

Infographic Should Know Before Co Borrower 3

คุณสมบัติของผู้กู้ร่วม

ผู้กู้ร่วม จะต้องมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกัน เช่น นามสกุลเดียวกัน เป็นสามี-ภรรยากัน เป็นต้น และมีเงื่อนไขอื่นๆ แล้วแต่ธนาคาร

ภาระหนี้ผ่อนหารเฉลี่ย

เมื่อไรก็ตามที่เราอยู่ในสถานะ “ผู้กู้ร่วม” เต็มตัว นั่นหมายความว่าเราจะเป็นลูกหนี้ที่มีภาระร่วมด้วยเช่นกันกับผู้กู้หลัก แม้ว่าในความเป็นจริง เราจะเป็นผู้ช่วยผ่อนชำระด้วยหรือไม่ก็ตาม และแน่นอนว่าในอนาคต หากผู้กู้ร่วมต้องการขอสินเชื่อครั้งใหม่ การกู้ร่วมตรงนี้ก็จะถูกนำไปพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ด้วย เช่น การกู้สินเชื่อครั้งนี้มีการผ่อนชำระเดือนละ 12,000 บาท เท่ากับว่าผู้กู้หลักกับผู้กู้ร่วมจะรับภาระคนละ 6,000 บาท ถ้าไปขอสินเชื่อครั้งใหม่ธนาคารจะมองว่าความสามารถในการผ่อนมีน้อยลง

ประวัติผ่อนชำระเช่นเดียวกัน

เมื่อเรากู้ร่วมไปแล้ว ประวัติการผ่อนชำระก็จะเป็นไปตามผู้กู้หลักตามไปด้วย ซึ่งหากมีการผ่อนชำระล่าช้า หรือไม่สามารถชำระหนี้ได้จนค้างชำระ ประวัติการผ่อนต่างๆ เหล่านี้ก็จะแสดงในเครดิตบูโรของผู้กู้ร่วมด้วย ส่งผลอย่างมากต่อการขอสินเชื่อครั้งใหม่ในอนาคต

กรรมสิทธิ์ในหลักประกันร่วมกัน

กรณีของการกู้ร่วมโดยทั่วไปทำได้ 2 แบบ คือ ใส่ชื่อคนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ กับ ใส่ชื่อผู้กู้ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่อย่าลืมว่าหากในอนาคตต้องการจะขายบ้าน ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ทุกคนเสียก่อน

สิทธิประโยชน์ด้านลดหย่อนภาษี

ดอกเบี้ยบ้านจากการกู้ร่วมสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีภาษี สำหรับกรณีของการกู้ร่วมให้หารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ เช่น ดอกเบี้ยบ้านทั้งปีอยู่ที่ 90,000 บาท จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้คนละ 45,000 บาท แต่หากดอกเบี้ยเกิน 100,000 บาท จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้จะอยู่ที่ 100,000 บาทเท่านั้น นั่นหมายความว่าสามารถใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านได้คนละ 50,000 บาท จะแบ่งเองว่าฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้

 

จะเห็นได้ว่าการที่จะเป็นผู้กู้ร่วมเต็มตัวนั้น ไม่ใช่แค่เซ็นเพื่อให้ยื่นกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านหรือเพิ่มวงเงินเท่านั้น แต่ต้องมองไปถึงอนาคตด้วยครับ เพราะส่งผลต่อเครดิตบูโรของเราเต็มๆ ไม่ต่างจากเป็นผู้กู้หลักเลย ถ้าหาผู้กู้ร่วมได้แล้ว ก็อย่าลืมดูเนื้อหาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกู้สินเชื่อต่อไปจาก Infographic อื่นๆ ของเราด้วยนะครับ

 

เคล็ด (ไม่) ลับ เลือกธนาคารกู้ซื้อบ้าน

เคล็ดลับผ่อนบ้านให้หมดเร็ว ดอกเบี้ยลด หมดหนี้ไว

 

บทความ Infographic ล่าสุด