ปีนี้ดูเหมือนว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์เจอมรสุมหลายเรื่อง ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลทำให้คนส่วนใหญ่ชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย เพราะต้องใช้เงินเยอะ ยังมีเรื่องของการออกมาตรการสกัดนักเก็งกำไร หรือนักลงทุน อย่างมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา ก็น่าจะเป็นผลทำให้ตลาดอสังหาฯ ปีนี้ชะลอตัวลง แต่จะมากน้อยแค่ไหนคงต้องรอให้สิ้นสุดปีนี้ไปก่อน แต่หากมาดูสถานการณ์ปัจจุบันภายหลังจากใช้มาตรการ LTV ไปแล้ว ว่ามีผลเป็นอย่างไรบ้างนั้น ก็น่าจะประเมินภาพรวมตลอดทั้งปีของตลาดอสังหาฯ 2562 ได้ไม่ยากนัก ซึ่งเรื่องนี้ ทางสำนักวิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย ได้รายงานผลการวิจัยตลาดอสังหาฯ หลังใช้มาตรการ LTV เอาไว้ เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงทิศทางของธุรกิจในปีนี้ โดยดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักวิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า หลังเกณฑ์การใช้มาตรการ LTV พบว่ามูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม มีมูลค่า 67,300 ล้านบาท ติดลบ 16% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น คอนโดฯ มูลค่า 29,800 ล้านบาท ติดลบ 27% และที่อยู่อาศัยแนวราบมูลค่า 37,500 ล้านบาท ติดลบ 4% ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการโอนอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังเติบโตในอัตรา 5% มีมูลค่า 200,200 ล้านบาท ตลาดคอนโดฯ ติดลบ 2% มีมูลค่า 87,500 ล้านบาท แต่แนวราบเติบโต 11% มีมูลค่า 112,700 ล้านบาท ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายประเมินเอาไว้ และสอดคล้องกับตัวเลขของธปท. ที่ออกมาระบุถึงการขอวงเงินสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในสัญญาที่ 2 สำหรับคอนโดฯ ลดลง 25% แต่ถ้าเป็นตลาดแนวราบยังโต 3% เป็นเพราะตลาดบ้านแนวราบเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงมากกว่า “มาตรการที่ออกมาก็ได้ดั่งใจแบงก์ชาติ เพราะกู้ซื้อบ้านสัญญา 1 โต แต่กดดีมานด์สัญญา 2 เพราะความกลัวว่าสัญญา 2 จะทำให้ราคาเติบโตเร็วเกินไป ก่อหนี้ครัวเรือนสูงเกินไป” ส่วนยอดขายหรือพรีเซลล์ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มียูนิตเปิดขายใหม่ราว 51,500 ยูนิต แบ่งเป็นคอนโดฯ33,000 ยูนิต และแนวราบ 18,500 ยูนิต โดยคอนโดฯ สามารถขายได้ 11,850 ยูนิต คิดเป็น 36% ของยูนิตเปิดใหม่ ขณะที่แนวราบสามารถขายได้ราว 3,300 ยูนิต คิดเป็น 18% ของยูนิตเปิดใหม่ โดยในภาพรวมปีนี้สำนักวิจัย Krungthai Compass ประเมินว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑล จะมีมูลค่า 510,000 ล้านบาท หดตัว 10% ซึ่งที่อยู่อาศัยแนวราบหดตัว 4% ขณะที่คอนโดมิเนียมมีโอกาสติดลบ 20% บ้านแฝด โตสวนตลาดติดลบ
ท่ามกลางภาวะตลาดอสังหาฯ ที่ชะลอตัว ยอดขายหรือ พรีเซลล์ลดต่ำ ซึ่งตลาดคอนโดฯ พรีเซลล์ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมามียอดลดลง 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมียอดพรีเซลล์ 68% ขณะที่แนวราบพรีเซลล์ก็ลดลง ด้วยเช่นกันจาก 35% มาเป็น 17% ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แต่ตลาดที่ถือว่าเป็น “พระเอก” ทำผลงานออกมาโดดเด่นในปีนี้ คือ กลุ่มบ้านแฝด เพราะมีตัวเลขเติบโตสวนตลาดที่อยู่อาศัยอื่นๆ ช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา มีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านแฝดเติบโต 9% สูงกว่าตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวม 2 เท่า บ้านแฝด จึงมีส่วนช่วยพยุงตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบไว้ไม่ให้ลดลงมาก โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้รับความนิยมมากขึ้น มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านแฝดเติบโต 30% ขณะที่ทาวเฮ้าส์ขยายตัว 7% บ้านเดี่ยวและตึกแถวอยู่ในภาวะหดตัว ปัจจุบันบ้านแฝดมีมูลค่าการโอนสัดส่วน 8% จากภาพรวมของตลาดบ้านแนวราบ ที่คาดว่าปีนี้น่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 9% ส่วนบ้านเดี่ยวมีสัดส่วน 45% และทาวน์เฮ้าส์มีสัดส่วน 37% ซึ่งทั้งสองประเภทอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่กลุ่มอาคารพาณิชย์หรือตึกแถว สัดส่วนโอนกรรมสิทธิ์ลดลงเหลือ 10% จากปีที่แล้วมี 11%
4 เหตุผลคนเลือกซื้อ “บ้านแฝด”
สิ่งที่ทำให้บ้านแฝดได้รับความนิยมจากลูกค้า น่าจะมาจากการตอบโจทย์ความต้องการของการอยู่อาศัยได้มากขึ้น ท่ามกลางภาวะตลาดที่นับวันมีแต่ราคาปรับตัวสูงขึ้น สำหรับเหตุผลที่คนเลือกซื้อบ้านแฝดเพื่ออยู่อาศัยมากขึ้นนั้น มาจาก 4 เหตุผลสำคัญ คือ 1.ถูกกว่าบ้านเดี่ยวแต่ฟังก์ชั่นแทบไม่ต่าง เมื่อพิจารณาจากฟังก์ชั่นและราคา บ้านแฝดคุ้มค่าในราคาที่จับต้องได้ง่ายกว่าบ้านเดี่ยว ราคาบ้านแฝดเริ่มต้นเฉลี่ย 2.5 ล้านบาท ส่วนบ้านเดี่ยวและคอนโดฯ เริ่มต้น 4.2 ล้านบาท ขณะที่ฟังก์ชั่นของบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดแทบไม่ต่างกัน เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้างทำให้ฟังก์ชั่นบ้านไม่แตกต่างกันแล้ว แถมบ้านแฝดมีหน้าตาคล้ายบ้านเดี่ยวมากขึ้น จากเดิมก่อสร้างบ้านให้มีผนังติดกัน ตามข้อกฎหมายก็เปลี่ยนมาใช้เป็นโครงสร้างใต้ดินติดกันแทน 2.ใช้เงินดาวน์น้อยกว่าคอนโดฯ เมื่อราคาบ้านถูกกว่า ทำให้การดาวน์บ้านก็ต่ำลงด้วย ระยะเวลาการเก็บเงินเพื่อดาวน์บ้านก็น้อยลง เมื่อเทียบกับบ้านเดี่ยวและคอนโดฯ บ้านแฝดใช้ระยะเวลาน้อยกว่าถึง 3 เท่า 3.อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากรถไฟฟ้า ในราคาที่คุ้มค่า ด้วยการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าออกไปมากขึ้น ทำให้การพัฒนาโครงการตามแนวรถไฟฟ้ามีมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในรูปแบบของการพัฒนาก็ต้องมี “บ้านแฝด” 4.ตัวเลือกที่มีมากและคุณภาพที่ดีขึ้น ปัจจุบันบ้านแฝดมีตัวเลือกที่มากขึ้นและคุณภาพที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หันมาพัฒนาบ้านแฝดมากขึ้น เพราะในต้นทุนที่ดินเท่ากัน การพัฒนาบ้านแฝดเมื่อเทียบกับบ้านเดี่ยวแล้ว จะได้ความคุ้มค่าของโครงการมากกว่า ที่ผ่านมาดีเวลลอปเปอร์มีการพัฒนาบ้านแฝดปีละ 3,500-4,000 ยูนิตต่อปี ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,500-7,500 ยูนิต หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 18% 10 ทำเลทอง บ้านแฝด
ด้านนายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ผู้ร่วมทำงานวิจัย เปิดเผยว่า บ้านแฝดราคา 3-5 ล้านบาท มียูนิตพร้อมขายมากที่สุด โดยมีจำนวนพร้อมขายมากถึง 12,000 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 60% ขณะที่ราคา 2-3 ล้านบาท มีสัดส่วน 20% และราคา 5-10 ล้านบาท มีสัดส่วน 14% ตามลำดับ ซึ่งการเลือกซื้อบ้านแฝดควรเลือกที่อยู่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเป็นพื้นที่ศักยภาพ ที่ราคาขายต่อของบ้านในอนาคตจะไม่ถูกกดดัน จากการให้ส่วนลดหรือการจัด Marketing Campaign เพื่อระบายสต๊อก ซึ่งสะท้อนจากการมียูนิตเหลือขายต่ำและใช้ระยะเวลาค่อนข้างสั้นในการขายหมด สำหรับพื้นที่ศักยภาพสำหรับการซื้อบ้านแฝด ประเมินว่ามี 10 ทำเลที่มีความโดดเด่นเหนือพื้นที่อื่นๆ โดยแบ่งตามระดับราคา กลุ่มราคา 2-3 ล้านบาท มี 2 ทำเล ได้แก่ พื้นที่พระราม 2-เพชรเกษม ย่านเอกชัย-บางบอน และพื้นที่มีนบุรี-สุวินทวงศ์ ย่านนิมิตรใหม่ กลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท มี 4 ทำเลได้แก่ พื้นที่ติวานนท์ ย่านติวานนท์-นวลฉวี พื้นที่มีนบุรี-สุวินทวงศ์ ย่านหทัยราษฎร์ และหนองจอก พื้นที่พระราม 2-เพชรเกษม ย่านวงแหวน-เพชรเกษม และพระราม 2 กม.1-10 และพื้นที่กรุงเทพฯตะวันออก ย่านลาดกระบัง กลุ่มราคา 5-10 ล้านบาท มี 4 ทำเลได้แก่ พื้นที่รังสิต-ปทุมธานี ย่านคลอง 1-7 พื้นที่รัชดา-ลาดพร้าว ย่านโชคชัย 4 พื้นที่พระราม 2-เพชรเกษม ย่านวงแหวน-เพชรเกษม และพื้นที่ติวานนท์ ย่านสรงประภา