Aged Society

4 เทรนด์ที่อยู่อาศัยมาแรง ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย

ในปี 2564 นี้ ถือว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) แล้ว เพราะข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ  ระบุว่า​ ประเทศไทยมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ ​(United Nations:UN) ที่ได้แบ่งระดับ​การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่

 

1.ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า  10% ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ

 

2.ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

 

3.ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า  20% ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่  โดยประเทศไทยคาดว่าจะเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ ในปี ​2574

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมผู้สูงอายุ ในไทยมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ คงเป็นเพราะปัจจุบันรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้อยู่ภายใต้บริบทและปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น หรือมีบุตรลดลง เปลี่ยนรูปแบบจากครอบครัวขยายในอดีตเป็นครอบครัวเดี่ยวอย่างชัดเจน

 

การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของสังคมผู้สูงอายุได้ทำให้เกิดโอกาสทางการตลาด  สำหรับการเจาะกลุ่มผู้บริโภคสูงวัย (Silver Age) เหล่านี้  ด้วยกำลังซื้อที่มีสูง  เพราะเป็นผลมาจากการบริหารจัดการรายได้ ตลอดชีวิตการทำงานผ่านการออมทรัพย์และลงทุนต่าง ๆ ประกอบกับแนวคิดการใช้ชีวิตที่มีความทันสมัย และรู้จักใช้เทคโนโลยีเป็นประจำ ไม่ลังเลที่จะใช้เงินเก็บมาซื้อความสุขและดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์ต่าง ๆ ไม่แพ้วัยรุ่นเช่นกัน จนทำให้หลายธุรกิจหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์เพื่อดึงดูดกำลังซื้อของคนสูงวัยมากขึ้น

เทรนด์ที่อยู่อาศัยมาแรง ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย

ไม่เพียงแต่สินค้าและบริการ ที่เป็นของใช้ในการดำรงชีวิต หรือสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปเท่านั้น สินค้าที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าสูง ซึ่งตลอดทั้งชีวิตอาจจะซื้อได้เพียง 1 ครั้ง หรืออย่างมากแค่ 2 ครั้งเท่านั้น สำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือแม้แต่ห้องชุดคอนโดมิเนียม ต่างก็มองว่า กลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ คือ กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดสำคัญที่คือโอกาสทางการตลาด สร้างรายได้และเม็ดเงินมหาศาล จึงหันมาจับตลาดกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ ด้วยการพัฒนารูปแบบของบ้าน หรือห้อง รวมถึงโครงการ ที่ให้การใช้ชีวิตและการอยู่อาศัยภายในบ้านของผู้สูงอายุ พักอาศัยได้อย่างมีความสุข สุขภาพดี และปลอดภัย

Aged Society 2

โดยข้อมูลจากดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้รายงานถึงเทรนด์ที่อยู่อาศัยที่น่าสนใจ และเป็นที่น่าจับตามองสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการคนวัยนี้ ที่ไม่ได้มองหาบ้านเพื่ออยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรองรับการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างครบครัน ว่ามี 4 เทรนด์สำคัญ

1.เทรนด์สุขภาพมาแรง

สุขภาพกายที่ดีต้องมาพร้อมความสบายใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เห็นคุณค่าของการมีสุขภาพดีมาเป็นอันดับต้น ๆ แน่นอนว่านอกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการออกกำลังกายจะเป็นปัจจัยสำคัญแล้ว ที่อยู่อาศัยก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่มีบทบาทในการสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีให้ผู้สูงอายุเช่นกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาอยู่ด้วยในแต่ละวันมากที่สุด

 

ดังนั้นการเลือกโครงการฯ ที่มีการออกแบบภายใต้แนวคิด สร้างสรรค์สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้ผู้อยู่อาศัย (Health & wellness residence) คำนึงถึงการใช้งานจริง ทั้งการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในให้รองรับผู้สูงอายุที่ต้องการเดินออกกำลังกายภายในบริเวณบ้านของตน มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับออกกำลังกายและพื้นที่สีเขียวที่มอบความร่มรื่นพร้อมรองรับการทำกิจกรรมด้านสุขภาพอื่น ๆ ในชุมชน

 

นอกจากนี้ปัจจุบันผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้หันมาร่วมมือกับโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสุขภาพเพื่อเพิ่มบริการดูแลสุขภาพหรือบริการทางการแพทย์ไว้ในโครงการฯ ด้วย เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์การสร้างสรรค์สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีได้อย่างน่าสนใจ และเป็นตัวเลือกที่ควรพิจารณาสำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ

2.Home Solutions เพื่อการอยู่อาศัยที่สะดวก-ปลอดภัย

แนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการฯ หันมาให้ความสนใจและพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น มีโครงการฯ ที่ออกแบบให้เป็นบ้านสำหรับผู้สูงอายุด้วยความเข้าใจที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบห้องนอนผู้สูงอายุให้มีความเป็นส่วนตัวและอากาศถ่ายเทสะดวก หรือนำนวัตกรรม Home Solutions ต่าง ๆ มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในบ้านได้ราบรื่น และช่วยป้องกันอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน เช่น ปูพื้นด้วยวัสดุลดแรงกระแทก (Shock Absorption Floor) เพื่อช่วยลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุหกล้ม

 

การออกแบบราวจับในห้องน้ำ ราวบันไดทั้งสองข้าง หรือพื้นต่างระดับในบ้านเพื่อทรงตัวและเดินได้มั่นคงขึ้น ทำทางลาดสำหรับรถเข็นในการเข้าสู่ตัวบ้าน หรือออกแบบให้ประตูห้องน้ำเปิดออกมาด้านนอก ในกรณีที่มีคนล้มขวางประตูด้านใน ซึ่งรายละเอียดในการออกแบบที่มีพื้นฐานเพื่อตอบโจทย์ผู้อาศัยอย่างแท้จริงนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างมั่นใจและสบายใจมากขึ้นแล้ว แน่นอนว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวก็จะสามารถใช้ชีวิตในบ้านนี้อย่างปลอดภัยเช่นกัน

3.ระบบบ้านอัจฉริยะ ปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี

นอกจากเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคนยุคนี้ในหลากหลายด้านแล้ว ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยอีกด้วย เห็นได้จากการเติบโตของเทรนด์บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยสามารถควบคุมการทำงานระบบต่าง ๆ ของบ้านผ่านการสั่งงานด้วยเสียงหรือจากแอปพลิเคชั่น ซึ่งยกระดับความปลอดภัยให้ที่อยู่อาศัย เช่น กลอนประตูดิจิทัล (Digital Door Lock) หรือการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่รองรับการรับชมภาพออนไลน์และดูย้อนหลังได้ผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยให้ผู้สูงอายุที่ห่วงใยในทรัพย์สินและติดบ้านคลายความกังวลเมื่อต้องห่างจากบ้านได้

 

นอกจากนี้ระบบบ้านอัจฉริยะยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักมีอาการหลงลืมก็สามารถเลือกควบคุมการเปิด-ปิดไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน/คอนโดฯ ผ่านสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา แม้ทำธุระอยู่ข้างนอกก็สามารถกดเช็กดูระบบไฟเพื่อความชัวร์ได้ทันที

4.เป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย ต่อยอดการลงทุนได้ในอนาคต

ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุไม่ได้เน้นไปที่การอยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไม่ใช่การมีบ้านหลังแรก แต่มีการวางแผนระยะยาวด้วยการมองหาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของครอบครัว พร้อมทั้งมีศักยภาพที่ต่อยอดไปสู่การลงทุนได้ในอนาคต เนื่องจากที่อยู่อาศัยถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีความต้องการในตลาดไม่น้อย

Aged Society 4

ข้อมูลจากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study เผยว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผู้สูงอายุในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจากบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นจะสนใจที่ชื่อเสียงของบริษัทมาเป็นอันดับแรก 58% ตามมาด้วยผลงานของผู้พัฒนาฯ ในโครงการที่ผ่านมา 56% และคุณภาพของงานตกแต่งภายในที่ผู้พัฒนาฯ มอบให้ 55% ซึ่งชื่อเสียงที่ดีของผู้พัฒนาฯ ย่อมส่งผลด้านบวกที่ช่วยให้การประกาศขาย/เช่าในอนาคตง่ายขึ้น ต่างจากกรณีของผู้บริโภคที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเป็นหลักจึงพิจารณาจากคุณภาพของงานตกแต่งภายในที่ได้จากผู้พัฒนาฯ มาเป็นอันดับแรก (68%) อย่างไรก็ดี แม้ไม่ใช่เพื่อการขาย ผู้สูงอายุก็ยังมีทางเลือกในการปล่อยเช่าบ้าน/คอนโดฯ เพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องแทน

 

ปัจจุบันเทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุแพร่หลายมากขึ้น ทั้งการเปิดตัวโครงการอสังหาฯ ที่เจาะกลุ่มนี้โดยเฉพาะ หรือการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ให้เลือกนำไปปรับใช้กับบ้านเดิมที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ธนาคารได้มีการนำเสนอ “Reverse mortgage หรือสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นของตนเองแต่ไม่ต้องการขายบ้านทันที เพราะยังต้องใช้อยู่อาศัยและต้องการมีรายได้รายเดือนเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

 

หลักการทำงานจะมีรูปแบบเหมือนการทยอยขายบ้านให้กับธนาคาร ซึ่งธนาคารจะตีมูลค่าบ้านพร้อมกับประเมินอายุเฉลี่ยของผู้กู้แล้วจะทยอยจ่ายเงินค่าบ้านให้เป็นรายเดือน โดยผู้กู้ก็ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังนั้นและยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้จนกระทั่งผู้กู้นั้นเสียชีวิตหรือตัดสินใจขายบ้านไปก่อน ซึ่งหลังครบกำหนดตามสัญญา บ้านก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ตอบโจทย์ความต้องการมีบ้านของผู้สูงอายุพร้อมทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี

Aged Society 3

5 เหตุผลผู้สูงอายุ ซื้อบ้านใหม่

ผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อจำนวนมาก ต้องการมีชีวิตในช่วงเวลาที่เหลืออย่างมีคุณภาพ จึงเลือกที่หาสิ่งที่ดีและทำให้ชีวิตตนเองมีความสุข ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีภาระจากบุตรหลาน หรือเพื่อต้องการให้รางวัลกับชีวิตของตนเอง หลังจากใช้เวลาทำงานและสะสมรายได้จนมีกำลังจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับความเจริญของเมืองที่มีมากขึ้น ระบบการคมนาคมขนส่ง ซึ่งถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเกิดขึ้นของระบบรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ล้วนเป็นปัจจัยทำให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุง่ายมากขึ้น และสะดวกสบายมากกว่าในอดีต การเลือกซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือการเปลี่ยนบ้านหลังใหม่ในช่วงวัยผู้สูงอายุ จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ยิ่งปัจจุบันสถาบันการเงินบางแห่งมีแคมเปญการปล่อยกู้สำหรับผู้สูงอายุ ยิ่งทำให้การซื้อบ้านในวัยหลังเกษียณเป็นเรื่องง่าย

 

อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อบ้านหลังใหม่ ของผู้บริโภคชาวไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คงเกิดจากหลายเหตุผลและหลายปัจจัย  ซึ่งข้อมูลจากผลสำรวจพบว่ามี 5 เหตุผลที่ผู้สูงอายุให้ความสำคัญและใช้เป็นเกณฑ์ในการติดสินใจเลือกซื้อที่อยู่ใหม่ ได้แก่

 

1.ความต้องการพื้นที่ส่วนตัว สัดส่วนมากถึง 44%

2.ความต้องการไปอยู่อาศัยในทำเล หรือบรรยากาศใหม่ 31%

3.ต้องการความสะดวกที่มากขึ้น เช่น อยู่ใกล้โรงพยาบาล ที่ทำงาน โรงเรียน ฯลฯ  26%

4.ซื้อเพื่อลงทุน 26% เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีประสบการณ์และวางแผนการเงินและการใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ จึงให้ความสำคัญในเรื่องการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนระยะยาวมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ

5.เป็นการซื้อบ้านเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับสมาชิกในครอบครัว 15%

Aged Society 5

นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการใช้พิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย คือ การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ และความปลอดภัยของทำเล โดยมีสัดส่วนที่เท่ากันอยู่ที่ 53% ตามมาด้วยทำเลที่ตั้ง 49% และโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรอบทำเลที่ 49% เท่ากัน

 

เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเน้นมองหาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น โดยไม่ละเลยความปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันตามไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างและการอยู่อาศัยได้อย่างสบายใจด้วยตนเอง ไม่เป็นภาระผู้อื่น

 

หลายคนอาจมีภาพจำว่าคนสูงวัยไม่คุ้นเคยกับการท่องโลกออนไลน์เท่าวัยอื่นในยุคดิจิทัล แต่ที่จริงแล้วผู้สูงอายุเรียนรู้ในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เห็นได้ชัดเจนจากพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจเรื่องซื้อที่อยู่อาศัย โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางยอดนิยมในการค้นหาข้อมูลในประชากรกลุุ่มนี้ถึง 62% ตามมาด้วยเว็บไซต์ของโครงการ 56% และเว็บพอร์ทัลด้านอสังหาฯ 47% เนื่องจากเป็นช่องทางที่สะดวก ช่วยให้ค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็วและหลากหลายมากพอที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาภายใต้การใช้วิจารณญาณและกรอบประสบการณ์ที่มี โดยมีเพียง 16% เท่านั้นที่จะเลือกปรึกษาและหาข้อมูลเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง และครอบครัว

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด