Tag : SpecialScoop

144 ผลลัพธ์
5 ความท้าทายอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในปี 65

5 ความท้าทายอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในปี 65

ภาคการก่อสร้าง ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ไม่เพียงขนาดอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ ที่มูลค่าคิดเป็นสัดส่วนราว 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเท่านั้น  สามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศได้ราว 200,000 บาท/คน/ปี  ในอุตสาหกรรมยังนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น ๆ อีกจำนวนมาก และมีแรงงานที่เกี่ยวข้องมากมาย   แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับภาคการก่อสร้างไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่ผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้น มีมากน้อยแค่ไหน และทิศทางจากนี้จ ภาคการก่อสร้างจะเป็นไปในทิศทางใด EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ทำการวิเคราะห์และประเมินอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยช่วงที่เหลือของปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 เพื่อสะท้อนให้มองเห็นอุปสรรคและโอกาสที่จะเกิดขึ้น   EIC คาดมูลค่าการก่อสร้างภาครัฐปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 806,000 ล้านบาท ขยายตัว 6% จากปีที่ผ่านมา และ​เป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี2563 ที่ขยายตัว 5% จากปี 2562   โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าของโครงการเมกะโปรเจกต์ อย่างไรก็ดี การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้าง รวมถึงการดำเนินกิจกรรมก่อสร้างภายใต้มาตรการ Bubble and seal สร้างแรงกดดันต่อภาคก่อสร้างในช่วงที่เหลือของปี การก่อสร้างภาครัฐครึ่งปีแรกโต 17% -ครึ่งปีแรกปี 2564 มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐอยู่ที่ 438,295 ล้านบาท เติบโต 17% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2563 โดยเป็นผลจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.จากความคืบหน้าของโครงการเมกะโปรเจกต์ ทั้งโครงการที่เพิ่งเริ่มก่อสร้างในปีนี้ และโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมาจากในอดีต -การเริ่มก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3  โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก เฟส 1 โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ รันเวย์ที่ 3  -โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมาจากในอดีต และมีความคืบหน้า เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี สายบางปะอิน-นครราชสีมา 2.งบประมาณ 4 หน่วยงานหลัก เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า งบประมาณในปี 2564 ของหน่วยงานหลักที่ลงทุนภาคก่อสร้าง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า และ​มูลค่าการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2564  ที่อยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  ส่งผลให้มีเม็ดเงินทยอยเข้าสู่การก่อสร้างภาครัฐอย่างต่อเนื่องและตเติบโตในอัตรา 17% สำหรับงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 ของ 4 หน่วยงานหลักที่ลงทุนภาคก่อสร้าง ได้แก่ -กรมทางหลวง ได้รับงบประมาณกว่า 126,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%​ ใช้ก่อสร้าง ปรับปรุงทางหลวงและสะพาน -กรมชลประทาน ได้รับงบประมาณกว่า 74,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น​ 9%​ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ก่อสร้างขยายพื้นที่ชลประทาน -กรมทางหลวงชนบท ได้รับงบประมาณกว่า 49,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% -กรมโยธาธิการและผังเมือง  ได้รับงบประมาณกว่า 29,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%   มูลค่าการเบิกจ่ายงบลงทุนในเดือนกรกฎาคม 2564  ลดลงมาอยู่ที่ 33,966 ล้านบาท ลดลง​ 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีคำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงการก่อสร้างภาครัฐในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหยุดชะงัก   มีแนวโน้มมูลค่าการก่อสร้างภาครัฐครึ่งปีหลังปี 2564 คาดว่าหดตัวลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะในช่วง​ครึ่งหลังของปี 2563 มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐยังขยายตัวในอัตราสูงถึง 11%  จากการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ฐานในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง การก่อสร้างภาคเอกชนปี 64 ลดลง 7% EIC คาดว่ามูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2564 มีประมาณ 514,000 ล้านบาท ลดลง ​7% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยเป็นการปรับลดลงทั้งในส่วนของการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย และเชิงพาณิชย์ -จำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปีนี้​อยู่ที่ 57,300 ยูนิต ลดลง​ 12% ลดลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งปี 2563 ที่ผ่านมา​จำนวน​ที่อยู่อาศัยขายได้อยู่ที่ 65,279 ยูนิต​ ลดลง 35%​ จากปี 2562 นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี เ และตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 การระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงขึ้น สร้างแรงกดดันให้หน่วยที่อยู่อาศัยขายได้ในปีนี้​ไม่สามารถฟื้นตัวได้ สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยยังต้องเน้นการระบายสต็อก และเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่อย่างระมัดระวัง โดยผู้ประกอบการยังชะลอเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ออกไปในช่วงที่เหลือของปีนี้   -EIC คาดว่า จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2564 อยู่ที่ 47,000 ยูนิต ลดลง​ 36% จากปี 2563  หดตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2563  เพราะผู้ประกอบการเน้นการระบายสต็อก และเปิดโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง ซึ่งชะลอการเปิดโครงการใหม่ออกไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยปีที่ผ่านมามีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่อยู่ที่ 73,043 ยูนิต​​ ลดลง ​39% จากปี 2562   -ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยเช่นกัน โดยการปิดกิจการของภาคธุรกิจ และมาตรการให้พนักงานทำงานที่บ้าน ทำให้ภาคธุรกิจยกเลิกหรือลดการเช่าพื้นที่อาคารสำนักงาน ส่งผลให้การขออนุญาตก่อสร้างอาคารสำนักงานยังหดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 การขออนุญาตก่อสร้างพื้นที่ค้าปลีกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 สามารถฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำมากในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ที่หดตัว  47% (YTD) แต่ยังถือว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น โดยอัตราการเช่าพื้นที่ลดลงมาก รวมถึงผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นค่าเช่าได้   เนื่องจากที่ผ่านมาพื้นที่ค้าปลีกได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อกดาวน์  โดยสามารถเปิดบริการเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารแบบซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรี่ ทำให้ผู้เช่าพื้นที่บริเวณอื่น ๆ ที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าเช่าได้ยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ไป แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายคำสั่งล็อกดาวน์ให้พื้นที่ค้าปลีกเปิดให้บริการได้แล้วก็ตาม แต่ผู้ประกอบการยังมีความท้าทายจาก​จากความนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ที่อาจทำให้การเดินทางมาซื้อสินค้าที่หน้าร้านลดลง ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดการเดินทางมาซื้อสินค้าที่หน้าร้านต่อไป   สำหรับในปีหน้า มูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนจะยังมีแนวโน้มทรงตัว  เนื่องจากยังเผชิญความท้าทายจากภาคอสังหาฯ ​ที่ฟื้นตัวได้ช้า ทั้งภาคธุรกิจยังคงมาตรการให้พนักงานทำงานที่บ้าน สลับกับการเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ รวมถึงความนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ​เชิงพาณิชย์ มีแนวโน้มชะลอหรือทบทวนการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ขณะที่ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มพัฒนาโครงการขนาดเล็กลง เพื่อให้สามารถปิดการขายได้รวดเร็ว แนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างปี 65 EIC คาดว่ามูลค่าการก่อสร้างภาครัฐในปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 858,000 ล้านบาท เติบโต​  6% เมื่อเทียบจากปีนี้ ​ โดยเป็นผลมา 1.จากการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ ที่มีความต่อเนื่องและคืบหน้าจากที่ผ่านมา เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3  โครงการเมืองการบินภาคตะวันออก เฟส 1 โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ รันเวย์ที่ 3 2.การเริ่มประมูลและเริ่มก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ใหม่ ๆ ทั้งโครงการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง โครงการขยายสนามบิน และโครงการทางถนน จะทำให้มีเม็ดเงินทยอยเข้าสู่ภาคก่อสร้างภาครัฐ ในปี 2565 อย่างต่อเนื่องเช่นกัน   แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาการประมูลและลงนามสัญญาโครงการใหม่ ๆ ที่อาจมีความล่าช้า และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของมูลค่าการก่อสร้างภาครัฐในปี 2565 ได้เช่นกัน 5 ความท้าทายธุรกิจก่อสร้างปี 65 1.งบภาครัฐลดลง ในปีงบประมาณ 2565 หน่วยงานหลักที่ลงทุนภาคก่อสร้าง มีการลดงบประมาณลงในบางหน่วยงาน ​โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมทางหลวงชนบท ที่หดตัวจากปีก่อนหน้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้โครงการก่อสร้างในภูมิภาค มีแนวโน้มชะลอหรือหยุดชะงักไป ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กสูญเสียโอกาสในการเข้าประมูลและก่อสร้างโครงการขนาดกลางและเล็กในภูมิภาคตามมา  ทั้งนี้ งบประมาณของหน่วยงานหลักที่ลงทุนภาคก่อสร้าง ได้แก่ กรมทางหลวง หดตัว -8%YoY  และกรมทางหลวงชนบท ลดลง -5%YoY  2.ภาวะต้นทุนราคาเหล็กสูง โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนทำให้ความต้องการใช้เหล็กยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีนี้ ​ ต้นทุนสินแร่เหล็กที่มีแนวโน้มลดลงจากปริมาณการผลิตจากสหรัฐอเมริกา และบราซิลที่เพิ่มสูงขึ้น จะช่วยบรรเทาความร้อนแรงของราคาเหล็กจีนลงได้ส่วนหนึ่ง ซึ่ง EIC คาดว่า ในปีหน้าราคาเหล็กทรงยาวจีนจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 733 บาท/ตัน จากในปีนี้อยู่ที่ 785 บาท/ตัน อย่างไรก็ดี ระดับราคาดังกล่าว ยังถือว่ายังอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีตที่ราว 500-600 บาท/ตัน โดยราคาเหล็กทรงยาวจีนที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงนี้ ส่งผลให้ราคาเหล็กไทยจะยังอยู่ในระดับสูงตามไปด้วย 3.ขาดแรงงาน-ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น คำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติ และแรงงานต่างจังหวัด ออกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล และยังไม่กลับเข้าพื้นที่ได้ทั้งหมด ขณะที่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการภาครัฐ ต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างให้ทันตามกำหนดการส่งมอบงานในช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายนนี้ ​ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของปีงบประมาณ​ 2564  ทำให้ผู้ประกอบการเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนแรงงานพุ่งสูงขึ้น ซึ่งปัญหานี้อาจจะต่อเนื่องไปถึงปี 2565 อีกด้วย   นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุยังทำให้จำนวนแรงงานในภาคก่อสร้างมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานอายุ 15-40 ปี ที่ในปี 2557  คิดเป็นสัดส่วน 48% ของจำนวนแรงงานในภาคก่อสร้างโดยรวม ค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ 45% ของจำนวนแรงงานในภาคก่อสร้างโดยรวมในปี 2563 อีกทั้ง ค่าจ้างแรงงานพื้นฐานของภาคก่อสร้างยังอยู่ในระดับต่ำกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ โดยค่าจ้างแรงงานพื้นฐานของภาคก่อสร้างในปี 2563 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7,529 บาท/เดือน ขณะที่ค่าจ้างแรงงานพื้นฐานของภาคธุรกิจอื่น ๆ อย่างค้าส่ง/ค้าปลีก การผลิต และโรงแรม/ร้านอาหารจะอยู่ในระดับสูงกว่า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8,499 บาท/เดือน 8,845 บาท/เดือน และ 9,034 บาท/เดือน ตามลำดับ   กล่าวได้ว่าค่าจ้างแรงงานพื้นฐานของภาคก่อสร้างที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคก่อสร้างเผชิญสถานการณ์การไหลออกของแรงงานไปยังภาคธุรกิจอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสัดส่วนแรงงานอายุน้อยในภาคก่อสร้างที่ค่อย ๆ ลดลงจากเทรนด์การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ท่ามกลางความต้องการใช้แรงงานพื้นฐานอย่างเข้มข้นของภาคก่อสร้าง ทำให้ภาคก่อสร้างยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมาก โดยในปีนี้จำนวนแรงงานต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของจำนวนแรงงานในภาคก่อสร้างทั้งหมด 4.การเปลี่ยนแบบก่อสร้าง จากวิถี New normal ผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด​-19 ทำให้เกิดรูปแบบการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New normal) ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องติดตามแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำมาสู่การปรับรูปแบบการก่อสร้างให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตผู้บริโภค และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะตลาดที่อยู่อาศัย ที่มีความนิยมซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบ และการก่อสร้างก็จะต้องตอบโจทย์แนวโน้มที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น   อีกทั้ง มาตรการให้พนักงานทำงานที่บ้านสลับกับการเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ จะทำให้รูปแบบการก่อสร้างอาคารสำนักงานเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มุ่งเน้นพื้นที่สำหรับที่นั่งทำงานประจำของพนักงาน ไปสู่การปรับที่นั่งทำงานของพนักงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการขยายพื้นที่ส่วนกลาง รวมถึงการให้ความสำคัญกับระบบติดต่อสื่อสารมากขึ้น เพื่อรองรับการทำงานแบบ remote work   แม้แต่พื้นที่ค้าปลีก ที่อาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างให้มีสัดส่วนของพื้นที่ outdoor มากขึ้น นอกจากนี้ เทรนด์สิ่งปลูกสร้างยุคใหม่ ยังต้องให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี อย่างระบบอัตโนมัติ และเซ็นเซอร์มาใช้มากขึ้น เพื่อลดการสัมผัส ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างการก่อสร้างอาคารหรือที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน และการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 5.Productivity ต่ำ-พึ่งพาแรงงาน ภาคก่อสร้างคิดเป็นสัดส่วนราว 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ แรงงานก่อสร้างสามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศได้ราว 200,000 บาท/คน/ปี แต่จะพบว่า การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในปัจจุบันยังไม่สามารถปรับตัวดีขึ้นจากในอดีตได้มากนัก   ภาคก่อสร้างยังเป็นภาคธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานพื้นฐานอย่างเข้มข้น ขณะที่การนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับ productivity ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเป็นผลมาจากการกระจายงานก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่มีกิจกรรมและขั้นตอนการทำงานที่หลากหลายไปยังผู้รับเหมาช่วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่ยังขาดองค์ความรู้และเงินทุนในการเข้าถึงเทคโนโลยีก่อสร้าง ทำให้การใช้เทคโนโลยีส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการขนาดกลางบางส่วนเท่านั้น   อีกทั้ง ในช่วงที่ผ่านมา แม้ภาคก่อสร้างจะเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงาน แต่ก็ยังสามารถพึ่งพาแรงงานต่างชาติได้ จึงยังไม่มีความจำเป็นหรือมีแรงจูงใจในการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับ productivity หรือทดแทนแรงงานมากนักทั้งนี้ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีในภาคก่อสร้างส่วนใหญ่จะเป็นการนำมาใช้เฉพาะในบางขั้นตอนเท่านั้น เช่น ขั้นตอนการก่อสร้างแบบสำเร็จรูป อย่าง Prefabrication และ Modular การบริหารจัดการโครงการก่อสร้างที่มีการใช้ Building Information Modeling (BIM) และ Enterprise Resource Planning (ERP) โดยการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ยังจำกัด ในผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการขนาดกลางบางส่วนเท่านั้น ขณะที่เมื่อพิจารณา supply chain ของภาคก่อสร้าง จะพบว่ามีขั้นตอนและกิจกรรมการทำงานที่หลากหลาย ตั้งแต่การจัดหาวัสดุก่อสร้าง การสำรวจพื้นที่การก่อสร้าง การส่งมอบงาน ไปจนถึงการบริการดูแลรักษาระบบต่าง ๆ หลังการส่งมอบงาน EIC มองว่า การนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น จะช่วยเพิ่ม productivity ภาคก่อสร้าง โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่และกลาง ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้และเงินทุนในการเข้าถึงเทคโนโลยีก่อสร้าง อาจขยายการใช้เทคโนโลยีจากที่ใช้เฉพาะขั้นตอนการก่อสร้าง และบริหารจัดการโครงการก่อสร้างเป็นหลัก ไปสู่การใช้เทคโนโลยีตลอด supply chain ตั้งแต่จัดหาวัสดุก่อสร้าง สำรวจพื้นที่ ส่งมอบงาน ไปจนถึงบริการดูแลรักษาระบบต่าง ๆ หลังการส่งมอบงาน ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กอาจเริ่มต้นจากการใช้ BIM และ ERP ก่อน   นอกจากนี้ ภาครัฐอาจเข้ามามีบทบาทสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีก่อสร้างผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีก่อสร้าง การลดภาษีนำเข้าเทคโนโลยีก่อสร้าง การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนด้านเทคโนโลยีก่อสร้าง การสนับสนุนเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยการนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้อย่างแพร่หลายจะสามารถลดการใช้แรงงานพื้นฐาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถ upskill แรงงานพื้นฐานให้ไปทำงานที่ทักษะสูงขึ้นแทน ทั้งงานควบคุมเทคโนโลยี และงานที่ใช้ฝีมือ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับ productivity แรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของผู้ประกอบการในระยะยาว 4 กลยุทธ์รับมือการก่อสร้างชะลอตัวปี 65 1.การหันมารับงานก่อสร้างภาครัฐ รวมถึงร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnerships : PPP) มากขึ้นโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ได้รับแรงกดดันจากภาคอสังหาฯ ฟื้นตัวได้ช้า   2.การให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพขององค์กร เพื่อให้สามารถเข้าร่วมประมูลงานก่อสร้างภาครัฐได้อย่างหลากหลาย   3.ผู้ประกอบการที่เน้นการรับงานภาคเอกชนเป็นหลัก อาจต้องปรับกลยุทธ์หันไปรับงานประเภทรีโนเวท โดยยังมีโอกาสจากการที่ผู้ประกอบการโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์บางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ค้าปลีก มีการรีโนเวทพื้นที่เพื่อรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจ หากการระบาดของไวรัสโควิด-19 บรรเทาลง   4.การหันมาเป็นผู้รับเหมาช่วงงานก่อสร้างภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวได้ช้าของภาคอสังหาฯ ​เช่นกัน   บทความต้นฉบับ
10 บิ๊กอสังหาฯ กวาดยอดขายบ้านและคอนโด ไตรมาส 2 กว่า 51,650 ล้าน

10 บิ๊กอสังหาฯ กวาดยอดขายบ้านและคอนโด ไตรมาส 2 กว่า 51,650 ล้าน

10 บิ๊กอสังหาฯ ยังกวาดยอขายบ้านและคอนโดไตรมาส 2 กว่า 51,650 ล้าน ​ขณะที่ทำรายได้ 6เดือนแรกโต9.78% รายได้รวมQ2โต131% ส่วน6เดือนแรกโกยรายได้กว่า 1.12 แสนล้าน ดูเหมือนว่าแม้บ้านเราจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาต่อเนื่องกว่าหนึ่งปี และได้ส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในวงกว้าง แต่ผลการดำเนินงานของดีเวลลอปเปอร์พัฒนาที่อยู่อาศัย ที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังคงรักษาสร้างยอดขายและรายได้เอาไว้ได้ แม้ว่าบางบริษัทอาจจะทำผลงานได้ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ก็ถือว่าภายใต้สถานการณ์ความยากลำบากของการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจ ผลงานที่ยังรักษาเอาไว้ได้ทำให้มองเห็นว่า ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และบางบริษัททำผลงานได้ดีและโดดเด่นด้วย 10 บิ๊กกวาดยอดขายบ้าน-คอนโดกว่า5หมื่นล้าน สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา หากวัดยอดขายเฉพาะธุรกิจที่อยู่อาศัย ประเภทบ้าน ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ไม่รวมรายได้อื่น ๆ เช่น รายได้จากค่าบริหาร รายได้ธุรกิจโรงแรม รายได้จากดอกเบี้ย เป็นต้น  จะพบว่า 10 รายใหญ่มียอดขายกลุ่มบ้านและคอนโด รวมกว่า 51,650.15 ล้านบาท เติบโต 3.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขาย 49,894.74 ล้านบาท   โดยบริษัทที่สร้างยอดขายกลุ่มบ้านและคอนโดมากที่สุด ยังเป็นบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่ทำยอดขายไปว่า 8,465.05 ล้านบาท เติบโต 17.08% จากไตรมาส 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมียอดขาย 7,230.21 ล้านบาท ซึ่งอาจจะเป็นเพราะในช่วงไตรมาสที่ 2 ปีที่แล้ว ได้เริ่มมีมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ ต้องกักตัวอยู่บ้าน และผู้ประกอบการต้องหากลยุทธ์มาเพิ่มยอดขาย   แม้ว่าส่วนผู้ประกอบการใหญ่ยังคงทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น แต่มี 4 บริษัทที่ทำยอดขายลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ทำยอดขายบ้านและคอนโดลดลงมากที่สุดถึง 29.88% รองลงมาเป็นบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยอดขายกลุ่มบ้านและคอนโดลดลง 25.05% ตามมาด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ลดลง 14.32% และบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ลดลง 0.1% (รายละเอียดตามตารางประกอบ) ยอดขายบ้าน-คอนโด6เดือนแรกโต9.78% หากดูเฉพาะยอดขายบ้านในช่วง 6 เดือนแรก ยังคงมีทิศทางเป็นบวก สามารถทำยอดขายได้เติบโต 9.78% มีมูลค่ากว่า 102,384.51 ล้านบาท โดยบมจ.เอพีฯ ทำยอดขายได้สูงสุดถึง 16,714.52 ล้านบาท แซงหน้าบมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่ทำยอดขายได้ 15,605.25 ล้านบาท   แม้ส่วนใหญ่จะทำยอดขายในช่วง 6 เดือนแรกได้เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่มี 3 บริษัทที่ทำยอดขายได้ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ได้แก่ บมจ.เฟรเซอร์สฯ ทำผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ได้ 9,163.34 ล้านบาท ลดง 17.76% รองลงมาเป็น บมจ.แสนสิริ ที่ยอดขายลดลงไป 15.44% และบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ที่ยอดขายลดลง 13.72% รายได้รวมQ2โต131%            แต่หากดูผลประกอบการโดยรวมทุกธุรกิจที่ดีเวลลอปเปอร์ดำเนินงานอยู่นั้น จะพบว่าช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 10 ดีเวลลอปเปอร์สามารถสร้างรายได้รวมทุกธุรกิจได้เติบโตถึง 131.66%  หรือมีมูลค่า 55,876.45 ล้านบาท และสามารถทำกำไรได้ถึง 7,728.40 ล้านบาท เติบโตถึง 524.69 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพราะไตรมาส 2 ปีที่แล้ว ธุรกิจอสังหาฯ ได้รับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 มากที่สุด เป็นช่วงเวลาที่หลายบริษัทมียอดขายต่ำที่สุดของปี   โดยรายได้รวมของไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีบมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่ยังคงทำรายได้รวมสูงที่สุด คือ 9,153.21 ล้านบาท และยังทำกำไรได้สูงสุดเช่นกันด้วยมูลค่า 1,869.52 ล้านบาท แต่พบว่ามี 3 บริษัทที่ทำรายได้รวมลดลง ได้แก่ บมจ.แสนสิริ มีรายได้รวมลดลงมากที่สุดถึง 28.37% ตามมาด้วยบมจ.เฟรเซอร์ส ลดลง 22.12% และบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ลดลง 12.13% 6เดือนแรกโกยรายได้กว่า 1.12 แสนล้าน แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเพิ่มระดับความรุนแรงมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยศักยภาพและความสามารถในการทำธุรกิจของกลุ่มดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ 10 รายของกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ก็ยังทำให้ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ สามารถทำรายได้จากการดำเนินธุรกิจไปถึง 112,218.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7.91% แม้ว่าจะมีหลายบริษัทที่รายได้รวมอาจจะลดลงจากปีที่ผ่านมาบ้าง เพราะธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มที่อยู่อาศัย ได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจโรงแรม หรือธุรกิจออฟฟิศให้เช่า เป็นต้น   โดยพบว่ามี 4 บริษัทที่รายได้รวมลดลง ซึ่งลดลงมากที่สุด คือ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ที่ลดลง 21.75% ซึ่งส่วนหนึ่งบริษัทมีธุรกิจโรงแรมที่ปีนี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก รองลงมาเป็นบมจ.แสนสิริ ที่ลดลงไป 16.25% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามมาด้วยบมจ.เฟรเซอร์สฯ ที่มีรายได้รวมลดลง 16.18% และบมจ.พฤกษา ที่รายได้รวมลดลง 0.82%   แต่ในภาพรวมแล้วทุกบริษัทยังคงรักษาอัตราการทำกำไรไว้ได้ดี ส่วนใหญ่จะมีกำไรเติบโต ยกเว้นบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ที่ยังคงขาดทุนโดยาดทุนถึง 339.33 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 107.58% และบมจ.พฤกษา แม้ทำกำไรได้แต่อัตรากำไรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.79%  
อัพเดท ตลาดอสังหาฯ ไทยครึ่งปีแรก  เปิดใหม่ลด18%สต็อกกว่า2.2แสนยูนิต

อัพเดท ตลาดอสังหาฯ ไทยครึ่งปีแรก เปิดใหม่ลด18%สต็อกกว่า2.2แสนยูนิต

ถึงเวลานี้เราได้เดินทางมาเกินครึ่งปี 2564 แล้ว แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงไปเลย จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน รวมถึงผู้เสียชีวิตยังคงสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้หลายธุรกิจยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้   ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน ผ่านมากว่าครึ่งปีแล้ว ธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบไม่ต่างธุรกิจอื่น ๆ การเปิดตัวโครงการใหม่ลดน้อยลงจนแทบจะไม่มีให้เห็น ส่วนใหญ่ยังคงเน้นการระบายสต็อกสินค้าที่มีอยู่ในมือ และขายโครงการเก่าที่เปิดตัวไปก่อนหน้า โปรโมชั่นส่งเสริมการขายยังคงแนวทางหลักที่ดีเวลลอปเปอร์ใช้ เพื่อสร้างยอดขาย ในภาวะที่กำลังซื้อชะลอตัว   โดยบทสรุปของการเปิดตัวในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเป็นอย่างไรนั้น  ทางบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ LPN ได้ทำบทสรุปออกมาให้เห็นถึงภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ​ ครึ่งปีแรกเยูนิตปิดใหม่ลดลง 18% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนทั้งหมด 23,551 ยูนิต ลดลง 18% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 130,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 จำนวนยูนิตการเปิดตัวลดลง แต่มูลค่าสูงขึ้นเนื่องจากมีการเปิดตัวโครงการ The Forestias  ซึ่งเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงถึง 45,000 ล้านบาท ของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในไตรมาสสองของปี 2564  ทำให้มูลค่าการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยรวมในครึ่งแรกของปี 2564 สูง เมื่อเทียบกับจำนวนยูนิตที่เปิดที่ลดลง   จากยูนิตเปิดตัวทั้งหมด 23,551 ยูนิต เป็นการเปิดตัวโครงการอาคารชุด (คอนโดมิเนียม) จำนวน 9,235 ยูนิต เพิ่มขึ้น 4% มูลค่า 55,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 มีอัตราขายได้เฉลี่ย 29% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่าน เนื่องจากในปี 2563 มีการประกาศบังคับใช้มาตรการด้านสินเชื่อ Loan to Value:LTV เป็นครั้งแรกจึงเกิดแรงกดดันต่อการตัดสินใจซื้อ บวกกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถานบันการเงินที่เพิ่มมากขึ้น   ในขณะที่การเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563 แต่ยังคงมีจำนวนยูนิตและมูลค่าที่มากกว่าอาคารชุด คิดเป็นสัดส่วน 61% ของยูนิตเปิดตัวทั้งหมด โดยมีการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยจำนวน 14,316 ยูนิต มูลค่า 74,435 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 หดตัว 28% และ 18% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แม้การเปิดตัวจะหดตัวลงแต่บ้านพักอาศัยยังมีอัตราขายได้เฉลี่ย 13% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราขายได้ในปี 2563   โดยโครงการบ้านพักอาศัย ประเภททาวน์เฮ้าส์ เป็นรูปแบบบ้านที่ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้ต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น คำนึงถึงระยะห่างทางสังคมกันมากขึ้น การมองหาที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้อย่างทาวน์เฮ้าส์จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้ โดยมีการเปิดตัวโครงการทาวน์เฮ้าส์ใหม่เป็นจำนวน 8,568 ยูนิต มูลค่า 25,267 ล้านบาท หดตัว 35% และ 33% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563  มีอัตราขายได้เฉลี่ย 14%   ประเภทบ้านเดี่ยว มีจำนวนยูนิตเปิดตัวใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จำนวน 2,984 ยูนิต มูลค่า 33,499 ล้านบาท หดตัว 31% และ 16% ตามลำดับ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีอัตราขายได้เฉลี่ย 11% ซึ่งสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563  เนื่องด้วยเป็นสินค้าที่มีราคาขายค่อนข้างสูง และสถานการณ์เศรษฐกิจอาจไม่ได้มีผลกระทบกับกลุ่มลูกค้าในระดับนี้มากนัก   ประเภทบ้านแฝด เป็นรูปแบบบ้านที่ได้รับความสนใจมากขึ้น มีอัตราขายได้เฉลี่ย 12% ด้วยรูปแบบบ้านที่ถูกพัฒนาให้ใกล้เคียงกับบ้านเดี่ยว บวกกับราคาขายเฉลี่ย 5-8 ล้านบาท จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยในครึ่งปีแรกเปิดตัวใหม่เป็นจำนวน 2,764 ยูนิต มูลค่า 15,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% และ 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา คอนโดต่ำกว่า 3 ล้านยังครองตลาด จากการศึกษาพบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 คอนโดในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท (Affordable Price) มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 70% จากยูนิตที่ขายได้ของคอนโดทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับราคาที่ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มหันมาเปิด​แบรนด์ใหม่หรือพัฒนาโครงการระดับราคานี้มากขึ้น ขณะที่ตลาดบ้านพักอาศัยอย่างทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝดมีแนวโน้มที่ระดับราคาขายทรงตัว จากสภาวะตลาดและสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวในปัจจุบัน แต่ระดับราคาของบ้านเดี่ยวมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น จากการพัฒนาโครงการมูลค่าสูงบนพื้นที่โครงการขนาดเล็กหรือขนาดกลาง โดยมีจำนวนยูนิตในโครงการไม่มากนัก ซึ่งกลุ่มลูกค้าระดับราคานี้เป็นผู้อยู่อาศัยจริง (Real Demand) ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจมากนัก   ในขณะที่ทำเลในเขตปริมณฑล รอบกรุงเทพฯ ​ อย่าง ทำเลรังสิต ปทุมธานี และบางนา สมุทรปราการ เป็นทำเลที่ถูกพัฒนาเป็นโครงการบ้านพักอาศัยจำนวนมาก เนื่องจากเป็นทำเลที่สามารถเดินทางได้สะดวกทั้งถนนสายหลัก ทางหลวงพิเศษหรือถนนวงแหวนรอบนอก ทำให้เดินทางเข้า-ออกสู่ใจกลางเมืองหรือศูนย์กลางธุรกิจได้ง่าย แม้กระทั่งการเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในทำเล รวมถึงปัจจัยด้านราคาที่ดินที่ยังสามารถพัฒนาโครงการเพื่อทำราคาขายไม่เกิน 5 ล้านบาทได้อยู่ แต่จากเหตุการณ์การระเบิดของโรงงานอุตสาหกรรมย่านกิ่งแก้วในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อาจทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อทำเลที่อยู่อาศัยใกล้กับพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างบางนานั้นยากขึ้น ใช้เวลาระบายสต็อกกว่า 2 ปีจึงจะหมด ผลจากสถานการณ์การเปิดตัวโครงการใหม่ที่หดตัวลง บวกกับอัตราการขายได้เฉลี่ยที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 “ลุมพินี วิสดอม” คาดว่ายูนิตคงค้างในตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีแนวโน้มทรงตัวจากสิ้นปี 2563 โดยมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 222,000 ยูนิต อาจต้องใช้เวลาในการขายประมาณ 51 เดือนเพื่อระบายยูนิตคงค้างทั้งหมด ซึ่งแบ่งออกเป็นยูนิตคงค้างประเภทคอนโดประมาณ 85,300 ยูนิต หดตัวลงจากสิ้นปีที่ผ่านมาประมาณ 6% จากการชะลอแผนและเลื่อนเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563   ในขณะที่ยูนิตคงค้างของบ้านพักอาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ประมาณ 4% เป็นจำนวนประมาณ 136,700 ยูนิต ผลจากการที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาเน้นพัฒนาบ้านพักอาศัยมากกว่าคอนโด เพื่อตอบรับกับความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่และมีความเป็นส่วนตัว(Privacy) มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 และแนวโน้มที่ต้องทำงานที่บ้าน(Work from home) มากขึ้น นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ LPN  เปิดเผยว่า การเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในไตรมาสสองของปี 2564 ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ เลื่อนแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ ประกอบกับการที่ภาครัฐ ได้เริ่มมีการออกมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการประเมินสถานการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ ในช่วงครึ่งปีหลัง อาทิ มาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างในเดือนกรกฏาคม ที่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยได้ตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาเหล็ก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น  นอกเหนือจากความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่อาจจะยืดเยื้อจากไตรมาส 3 ไปจนถึงไตรมาส 4   ดังนั้น จำนวนยูนิตคงค้างที่อยู่ในตลาดจึงมีแนวโน้มคงที่ จากอัตราการระบายเฉลี่ยลดลง ผนวกกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราการว่างงานสูงแตะระดับ 2 ล้านกว่าคน ภาระหนี้ครัวเรือนแตะระดับ 90%  ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง แหล่งเงินทุนอย่างสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ 40-50% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในตลาด และการตัดสินใจเปิดตัวโครงการใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ด้วย บทสรุปตลาดปี 64 ตลาดหดตัวต่อ สำหรับแนวโน้มตลาดอสังหาฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งแรกของปี  เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาฯ มีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่  หลังจากที่เลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่หลายโครงการในช่วงครึ่งแรก  และหากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการ​ ทยอยเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ทำให้คาดว่าปีนี้ ​จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 52,000-60,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 265,000-300,000 ล้านบาท หรือหดตัวประมาณ 5% ถึงขยายตัว 8% ในปี 2564 เทียบกับปี 2563   แต่ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ภายในปี 2564 นี้ คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัย ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีจำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวใหม่อยู่ที่ประมาณ 45,000-52,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 225,000-265,000 ล้านบาท หรือหดตัว 5% ถึง 20% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันจากปี 2563   ถ้ารัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดได้ในไตรมาส 3 สามารถเร่งนำเข้าและฉีดวัคซีนได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ  ภาคการส่งออกและภาคการผลิต ยังคงสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐสามารถดำเนินการได้ตามแผน  อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในอัตราต่ำ อาจทำให้สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
สำรวจตลาดคอนโดพัทยาปี 64 เหลือสะสมกว่า 1.18 แสนยูนิต

สำรวจตลาดคอนโดพัทยาปี 64 เหลือสะสมกว่า 1.18 แสนยูนิต

คอนโด เมืองพัทยาสต็อกบานทะลุ 1.18 แสนยูนิต คาดใช้เวลากว่า 3 ปีระบายหมดหากเศรษฐกิจฟื้นตัว ไม่มีโครงการใหม่เพิ่ม ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี ขายได้แค่พันกว่ายูนิต แม้ราคาปรับลดลง เหตุกลุ่มลูกค้าที่ซื้อมีจำกัด แค่คนไทยซื้อเป็นบ้านหลัง 2 แนวโน้มตลาดชะลอตัว ดีเวลลอปเปอร์ไม่มั่นใจเปิดโครงการใหม่   ตลาดที่อยู่อาศัย อย่างคอนโดมิเนียม นอกจากจะถูกพัฒนาในพื้นที่หลักอย่าง จังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ตามจังหวัดหัวเมืองด้านการท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และพัทยา ก็ถือว่าเป็นตลาดสำคัญของที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดด้วย เพราะสามารถพัฒนาและขายให้กับกลุ่มลูกค้า ได้ทั้งกลุ่มผู้ใช้อยู่อาศัยจริง ซึ่งเป็นได้ทั้งคนในพื้นทีหรือคนต่างพื้นที่ แต่เข้ามาทำงานในพื้นที่นั้น ๆ และกลุ่มชาวต่างชาติที่ซื้อไว้เพื่อการพักผ่อน รวมถึงกลุ่มนักลงทุนซื้อไว้สำหรับการปล่อยเช่าให้ลูกค้าประเภทต่าง ๆ ด้วย   บรรดาเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของตลาดคอนโด คือ เมืองพัทยา เพราะมีกลุ่มลูกค้าหลากหลายประเทศที่สามารถเป็นลูกค้าของคอนโดได้ เป็นเมืองที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งงานสำคัญ เมืองเศรษฐกิจ และเมืองการท่องเที่ยว   แต่จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้กลุ่มชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อตลาดคอนโดในพัทยา เพราะชาวต่างชาติเป็นกลุ่มลูกค้าหลักสำคัญของคอนโดเมืองพัทยา ไม่แพ้กับกลุ่มลูกค้าคนไทยเลย   ข้อมูลล่าสุด ของบริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด รายงานว่า  ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงสิ้นเดือนพฤษาคม 2564 ที่ผ่านมา  ตลาดพัทยาสามารถขายคอนโดได้ใหม่เพียง 1,032 ยูนิตเท่านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 25% ของปี 2563 ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลัก คือ คนไทยที่อยู่ในจังหวัดกรุงเทพฯ โดยซื้อไว้เป็นบ้านพักหลังที่ 2 ซึ่งกลุ่มลูกค้านี้ มีแนวโน้มลงลงอย่างต่อเนื่อง   นายณัฎฐา คหาปนะ รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสำนักงานไนท์แฟรงค์ ภูเก็ต บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด  เปิดเผยว่า ​สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ยังคงระบาดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ตลาดคอนโดในเมืองพัทยาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก และช่วงนี้ไม่มีกำลังซื้อหลักจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศ ส่วนนักลงทุนในประเทศก็ชะลอการซื้อคอนโดเพื่อรอดูสถานการณ์ ทำให้การขายคอนโดยิ่งชะลอตัว ความน่ากังวลของผู้ประกอบการ นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาด คือ กลุ่มคนที่ซื้อคอนโดเก็บไว้ก็ทยอยปล่อยขายคอนโดมือสองมากขึ้น ทำให้คอนโดที่สร้างเสร็จและเปิดขายใหม่ยังคงมีสต็อกค้างอยู่ในตลาด แม้จะมีการเสนอโปรโมชั่นหลายอย่างหรือลดราคาขายแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถระบายสต็อกออกได้ เป็นเหตุให้การขายคอนโดในพัทยาในปีนี้เป็นเรื่องยากและท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการ ซัพพลายสะสมกว่า 1.18 แสนยูนิต คอนโดในเมืองพัทยาตั้งแต่ก่อนปี 2553 จนถึง เดือนพฤษภาคม  2564 มีจำนวนยูนิตสะสมทั้งสิ้น 118,026 ยูนิต ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ไม่มีคอนโดเปิดขายใหม่ จากการสำรวจพบว่า คอนโดโดยส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณจอมเทียน คิดเป็นสัดส่วน 44% รองลงมาได้แก่บริเวณเขาพระตำหนัก คิดเป็นสัดส่วน 17% บริเวณเซ็นทรัลพัทยาสัดส่วน 10%  บริเวณพัทยาใต้ สัดส่วน 9%  และบริเวณวงอมาตย์ สัดส่วน 6%  ขณะที่บริเวณนาจอมเทียน คิดเป็นสัดสวน 8%  และพัทยาเหนือคิดเป็น 5%  ส่วนบริเวณหาดบางเสร่คิดเป็นสัดส่วน 1%  เท่านั้น สถานการณ์ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิค-19 กลุ่มผู้ซื้อคอนโดในพัทยาส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนซึ่งเป็นนักลงทุนที่มาซื้อคอนโดในพัทยาเพื่อการลงทุนเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มผู้ซื้อหลักเหลือเพียงคนไทยที่มาจากกรุงเทพฯ มาซื้อเพื่อเป็นบ้านพักหลังที่ 2 เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ส่งผลให้กำลังซื้อในพัทยาลดลงอย่างชัดเจน ยอดขายสะสมจนถึง ณ เดือนพฤษภาคม ปี 2564 คอนโด ในพัทยาขายไปทั้งสิ้น 98,998 ยูนิต จากจำนวนทั้งหมด 118,026 ยูนิต คิดเป็นอัตราการขายรวม 83.9%  โดยอัตราการขายเพิ่มขึ้น 0.9%  นับจากปี 2563 อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูล พบว่า จำนวนยูนิตขายใน 5 เดือนแรกของปีนี้​ มีจำนวน ขายได้ใหม่เพียง 1,032 ยูนิต เท่านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 25%  ของจำนวนยูนิตขายในปี 2563 โดยมีสาเหตุหลักมาจากลุ่มผู้ซื้อหลักที่เป็นชาวต่างชาติหายไปเป็นศูนย์และยังไม่กลับมา อีกทั้งกลุ่มผู้ซื้อชาวไทยที่เหลืออยู่ก็มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ   โดย ณ เดือนพฤษภาคม ปี 2564 คอนโดในพัทยามีจำนวนเหลือขายอยู่ที่ประมาณ 19,000 ยูนิต ซึ่งคาดว่าหากไม่มีคอนโดใหม่เกิดขึ้น ทำให้ยูนิตเหลือขายน่าจะใช้เวลาขายอีกประมาณ 3 ปีหากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ วงศ์อมาตย์ทำเลคอนโดขายดี บริเวณที่มีอัตราการขายสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ วงศ์อมาตย์ มีอัตราการขายสูงสุดในอัตรา 94%  รองลงมาคือพัทยาเหนือและเซ็นทรัลพัทยาโดยมีอัตราการขายที่  93%  และ 88%  ตามลำดับ ขณะที่บริเวณเขาพระตำหนักมีอัตราการขายเทียบเท่ากับบริเวณเซ็นทรัลพัทยา   ส่วนบริเวณจอมเทียนเป็นบริเวณที่มีจำนวนยูนิตเหลือขายมากที่สุด โดยมีจำนวนยูนิตเหลือขายอยู่ที่ 7,474 ยูนิต เพราะเนื่องจากพื้นที่นี้เป็นบริเวณที่ยังมีพื้นที่เหลือให้พัฒนาได้อีกค่อนข้างเยอะและโครงการใหม่ๆ ส่วนใหญ่ก็เปิดในบริเวณนี้ ในขณะที่บางโครงการที่เปิดขายอยู่เดิม แต่ไม่สามารถไปต่อได้ จำเป็นต้องหยุดการขายหรือขายโครงการต่อให้นายทุนอื่นเข้ามาปรับรูปแบบและบริหารโครงการแทน คอนโดวิวทะเลราคาลด9.7% ราคาขายเฉลี่ยของคอนโดในพัทยาทุกพื้นที่ ณ เดือน พฤษภาคมปีนี้ หากเป็นคอนโดที่เห็นวิวทะเลมีระดับราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 111,039 บาทต่อตารางเมตร ปรับตัวลดลง 9.7% จากปี 2563 ที่มีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 123,090 บาทต่อตารางเมตร ส่วนราคาขายคอนโดที่เห็นวิวทะเลบางส่วน มีระดับราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 69,154 บาทต่อตารางเมตร ปรับตัวลดลง 13% จากปี 2563 ​ ที่มีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 79,570 บาทต่อตารางเมตร ทั้งนี้คอนโดที่ไม่เห็นวิวทะเลมีระดับราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 66,921 บาทต่อตารางเมตร ปรับตัวลดลง 13.2% จากปี 2563 ที่มีราคาขายอยู่ที่ 77,116 บาทต่อตารางเมตร ดีเวลลอปเปอร์ชะลอขึ้นโครงการใหม่ จากการสำรวจสถานการณ์ตลาดคอนโดพัทยา พบว่ายังมียูนิตเหลือขายจำนวนมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ อีกทั้งกลุ่มผู้ซื้อไทยก็ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ถึงแม้ว่ายอดผลิตวัคซีนจะมีมากกว่า 12,000 ล้านโดสภายในปีนี้ ซึ่งเพียงพอที่จะฉีดให้แก่ประชากรทั้งโลกกว่า 75%  แต่ในไทยการฉีดวัคซีนให้ประชากรยังทำได้อย่างจำกัด   สภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ายังไม่ปรับตัวดีขึ้นอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการในพัทยาส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนท้องถิ่น จึงเลือกที่จะชะลอตัวการเปิดโครงการและการพัฒนาพื้นที่ว่างไปก่อน แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้ประกอบเอกชนรายใหญ่บางส่วนเข้าไปลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เช่น ไอคอนสยาม ซึ่งมีแผนจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นาจอมเทียน เนื่องจากมองเห็นช่องทางการเติบโตในอนาคต ตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทย หรือ Eastern Economic Corridor: EEC ที่รัฐบาลผลักดันในช่วงที่ผ่านมา   ด้านการท่องเที่ยวทางภาครัฐก็มีแผนนำร่องเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวแบบจำกัดพื้นที่ และมีโครงการสนับสนุนให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยาขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักและอาจจะต้องใช้เวลาฟื้นตัว 2-3 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะแต่ละประเทศก็ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศตัวเองก่อนแล้วจึงค่อยไปท่องเที่ยวประเทศอื่น ณ เวลานั้นการเดินทางเข้ามาของต่างชาติก็จะกลับมาเหมือนปกติ    
เปิดอินไซต์ 3 ปัจจัยเลือกซื้อบ้าน ตอบโจทย์วิถีชีวิต New Normal

เปิดอินไซต์ 3 ปัจจัยเลือกซื้อบ้าน ตอบโจทย์วิถีชีวิต New Normal

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้วิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากมาย ที่เห็นชัดเจนคือ การดูแลตนเอง ภายใต้มาตรฐานด้านการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น การสวมใส่หน้ากากอนามัย  การล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ การเว้นระยะห่างทางสังคม และการลดไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือแออัด รวมถึง การหันมาทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) มากขึ้น   สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะยังไม่ยุติลง  แต่เชื่อว่าวิถีชีวิตของคนในอนาคตข้างหน้า คงไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก เพราะเราต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับโควิด-19 ให้ได้  เมื่อวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป เรื่องของการอยู่อาศัยก็ต้องปรับตัวตาม เพื่อรองรับกับวิถีชีวิตปกติใหม่ดังกล่าว ซึ่งบรรดาดีเวลลอปเปอร์ คงต้องหันมาพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้ตอบโจทย์กับความต้องการและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของคนส่วนใหญ่ด้วย   โดยผลวิจัยจาก บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.พื้นที่ใช้สอยและวัสดุ (Function & Material) 2.การออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัย (Health) และ 3.เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย (Smart Living Technology) 3 ปัจจัยผู้บริโภคเลือกซื้อบ้านรับวิถี New Normal 1.พื้นที่ใช้สอยและวัสดุในแบบ Multifunctional Space   หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากบ้านเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อการพักผ่อนและทำกิจกรรมส่วนตัว ไปสู่การใช้บ้านเป็นทั้งที่ทำงานและสถานที่พักผ่อนไปพร้อมกัน เมื่อผู้คนต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้การออกแบบพื้นที่อยู่อาศัย ต้องมีพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่น  สามารถปรับเปลี่ยนการใช้สอยในพื้นที่ได้ในแบบ Multifunctional Space อาทิ การแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านด้วยผนังทึบอาจต้องปรับเปลี่ยนเป็นผนังที่สามารถเปิดเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ภายในที่อยู่อาศัย โดยการใช้บานเลื่อนหรือบานเฟี้ยม นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านความยืดหยุ่นของพื้นที่ใช้สอยแล้ว ยังทำให้ที่อยู่อาศัยดูโปร่ง และมีการไหลเวียนอากาศที่ดี เพื่อตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคต ในขณะเดียวกันการเลือกใช้วัสดุต่างๆ จำเป็นที่จะต้องเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม การระบายอากาศที่ดี มีปริมาณแสงธรรมชาติทเข้ามาภายในพื้นที่ใช้สอยได้อย่างเหมาะสม ​เช่น พื้นที่ครัวโดยเฉพาะครัวไทย ที่ต้องใช้วัสดุที่เช็ดทำความสะอาดได้ง่าย กันน้ำได้ดี และระบายอากาศได้ง่าย หรือพื้นที่อ่านหนังสือ-พื้นที่นั่งเล่นที่ต้องการปริมาณแสงธรรมชาติมากกว่าห้องนอน เป็นต้น 2.การออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัย (Health) จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทำให้ประชาชนตระหนักและหันมาดูแลสุขภาพตัวเองกันมากขึ้น การออกแบบที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องคำนึงถึงสุขอนามัยที่ดี โดยใช้นวัตกรรมการออกแบบที่ส่งเสริมคุณภาพทางด้านสุขอนามัยภายในที่อยู่อาศัย เช่น ระบบช่วยลดไวรัสและแบคทีเรียภายในอากาศ โดยใช้ประจุบวกและลบ ซึ่งมีประสิทธิภาพการกำจัดได้ถึง 99% ระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศภายในบ้าน ที่ช่วยทำให้อากาศถ่ายเทแม้จะปิดประตูหน้าต่างอยู่ก็ตาม รวมถึงนวัตกรรมทางด้านวัสดุที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ เช่น สีทาบ้าน Low VOCs ซึ่งได้รับการรับรองว่ามีการปล่อยสาร VOCs หรือสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระดับต่ำ หรือลามิเนตที่ป้องกันแบคทีเรียและไวรัส เป็นต้น นอกจากนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในเรื่องสุขอนามัยแล้ว พื้นที่สีเขียวภายในบ้านเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมสุขภาพทางด้านจิตใจให้แก่ผู้อยู่อาศัย ดังนั้นการออกแบบที่อยู่อาศัยจึงควรมีพื้นที่สวนเล็กๆ ภายในบริเวณบ้าน หรือมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ที่ระเบียงที่สามารถมองเห็นได้จากภายในห้อง 3.เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย (Smart Living Technology) เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย (Smart Living Technology) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ กับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย เพราะช่วยสร้างความสะดวกสบายและ ความปลอดภัยในการอยู่อาศัย   เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย ได้เข้ามาช่วยในเรื่องของความสะดวกสบาย เช่น การพัฒนา Smart Residence มีการนำเทคโนโลยี Home Automation เชื่อมต่อเข้ากับระบบสั่งการต่าง ๆ ทั้งทางเสียง หรือ  แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อควบคุมการทำงานของระบบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในที่พักอาศัย เช่น  การเปิด-ปิดไฟ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อาทิ โทรทัศน์ เครื่องเสียง ปลั๊กไฟ การปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ และ การควบคุมแสงสว่างและอุณหภูมิภายในบ้าน เป็นต้น รวมถึงการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตกับอุปกรณ์สั่งการด้วยเสียง ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่การตรวจสอบสภาพการจราจรก่อนออกจากบ้านได้เพียงแค่การถามอุปกรณ์นั้น   นอกจากนี้ การพัฒนา Smart Residence ต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยในรูปแบบของ Smart Residence ต้องนำนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาความร้อนภายในที่อยู่อาศัย เช่น ระบบ Fresh Air Intake ที่จะการถ่ายเทอากาศและระบายความร้อนออกจากตัวบ้านด้วยการนำอากาศใหม่เข้ามาในบ้านผ่านช่องระบายอากาศ และดึงความร้อนจากภายในตัวบ้านขึ้นไปยังช่องใต้หลังคาด้วยระบบระบายอากาศฝ้าเพดาน และระบายออกสู่นอกตัวบ้านผ่านระบบระบายความร้อนในช่องใต้หลังคา นอกจากระบบ Fresh Air Intake แล้ว การใช้วัสดุ เช่น กระจก อิฐก่อผนัง หลังคา หรือฉนวนกันร้อนที่ได้คุณภาพก็ยังช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานภายในบ้านได้อีกด้วย   เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย   ที่เข้ามาช่วยด้านความปลอดภัย อาทิ​​ กล้องวงจรปิด ระบบเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว เซนเซอร์ที่ประตู-หน้าต่าง Digital Door Lock เป็นต้น โดยที่อุปกรณ์ต่างๆจะสามารถควบคุมได้ผ่านแอปพลิเคชั่น หรือ Home Automation ภายในบ้าน และเมื่อเกิดเหตุก็จะส่งสัญญาณเตือนมาที่โทรศัพท์ของผู้ใช้งาน นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน)  กล่าวถึงแนวโน้มการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันว่า หลังการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019   ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้มีการพัฒนาการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของประชาชนภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ ซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิตในปัจจุบัน (Now Normal) โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย การออกแบบพื้นที่ใช้สอยและวัสดุ (Function & Material) ที่ตอบโจทย์กับการอยู่อาศัยและเป็นมิตรกับชีวิตและสิ่งแวดล้อม, การออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัย (Health) และ การนำนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยี Internet of Thinks (IoTs) และอุปกรณ์อัจฉริยะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญเพื่อตอบโจทย์การอยู่อาศัยที่สะดวกสบายและปลอดภัย มากยิ่งขึ้น สินค้า Smart Home มูลค่ากว่า 2,500 ล้าน โดยจากการประเมินของ IDC สถาบันวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐฯ ระบุว่า จำนวนอุปกรณ์ Smart Residence ของโลก มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย  31% ต่อปี จากจำนวน 644 ล้านเครื่องในปี 2561 จะเพิ่มเป็น 1,300 ล้านเครื่องในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า เท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี ขณะที่ A.T. Kearney ระบุว่า มูลค่าตลาดของ Smart Residence ทั่วโลกจะอยู่ที่  263,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 8.4 ล้านล้านบาทในปี 2568 โดยผลการศึกษายระบุว่า Smart Residence  ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ 2 หมวดหลักๆ คืออุปกรณ์ที่เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัย   ขณะที่ บริษัท เมสเซ่ แฟรงก์เฟิร์ตนิว เอร่า บิซิเนส มีเดีย จำกัด ศึกษาการเติบโตของตลาด Smart Residence ในประเทศไทยระบุว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ Smart Home ของประเทศไทยในปี 2559 มีมูลค่า 645 ล้านบาท และเพิ่มมากกว่าเท่าตัวในปี 2563 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 40% ต่อปี โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ Smart Residence เพื่อการดูแลผู้สูงอายุ เติบโตสูงสุด 60% และผลิตภัณฑ์ Smart Home เพื่อการรักษาความปลอดภัยจะเติบโตเป็นอันดับสองคือ 45% ต่อปี   จากผลการสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทั่วโลกให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยเข้ามาใช้ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยในรูปแบบของบ้านอัจฉริยะหรือ Smart Residence มากขึ้นรวมทั้งพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่มีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้การอยู่อาศัยมีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น  
“เอสซี แอสเสท” ปล่อยแคมเปญ Home is Everything ปูทางสู่เบอร์ 1  ตลาดบ้านเดี่ยว

“เอสซี แอสเสท” ปล่อยแคมเปญ Home is Everything ปูทางสู่เบอร์ 1 ตลาดบ้านเดี่ยว

ในการดำเนินธุรกิจภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมายในการเลือกซื้อหรือใช้บริการจากสินค้าต่าง ๆ การสร้างแบรนด์  จึงมีความสำคัญและจำเป็นอยากมาก  เพราะการสร้างแบรนด์ไม่ได้ทำหน้าที่ แค่ให้ลูกค้าจดจำได้ว่า แบรนด์นี้เป็นใคร นำเสนอสินค้าอะไร และแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร เท่านั้น    แต่การสร้างแบรนด์มีเป้าหมายใหญ่กว่า และมักจะมุ่งไปสู่เป้าหมาย  ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรักในแบรนด์  (Brand Love) หรือความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty)  ให้แบรนด์นั้นเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค  และผู้บริโภคนึกถึงแบรนด์นั้นเป็นอันดับแรก หากต้องการเลือกซื้อหรือใช้บริการ และยังบอกต่อแบรนด์นั้นให้กับบุคคลรอบข้างด้วย  รวมถึงหากเกิดภาวะวิกฤตหรือปัญหา ผู้บริโภคพร้อมจะออกมาปกป้องหรือเป็นกระบอกเสียงในการแก้ไขแทนเจ้าของแบรนด์ด้วย​   ดังนั้น การสร้างแบรนด์ จึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของนักการตลาด  และเจ้าของสินค้าหรือบริการ ที่ต้องสร้างแบรนด์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้บริโภคยังระลึกถึง และจดจำแบรนด์ได้อยู่ตลอดเวลา สำคัญไปกว่านั้น นักการตลาดจะต้องสร้างแบรนด์ให้ไปถึงขั้นเกิด Brand Love และ Brand Loyalty ในใจผู้บริโภค เพราะไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อยอดขายสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่ยังจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับสินค้าหรือบริการนั้นได้ด้วย เพราะผู้บริโภคจะเกิดการซื้อซ้ำ หรือไม่ก็บอกต่อความดีงามของแบรนด์กับคนรอบข้างของเขา   ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งพัฒนาสินค้าประเภทที่อยู่อาศัยออกมาขาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือคอนโดมิเนียม การสร้างแบรนด์ก็นับเป็นเรื่องสำคัญ ไม่น้อยไปกว่าธุรกิจอื่น ๆ และไม่น้อยไปกว่ากลยุทธ์ทางการตลาดอื่น ๆ ด้วย เพราะถือว่าบ้านเป็นสินค้ามีมูลค่าสูง ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจจะเลือกซื้อได้เพียง 1 ครั้งในชีวิตนี้ หรืออย่างมาก 2 ครั้งก็ตาม แต่การทำให้ผู้บริโภครักในแบรนด์ จะทำให้เกิดการ “บอกต่อ” และทำให้แบรนด์นั้นมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความเชื่อถือ ซึ่งมีพลังในทางการตลาด ไม่แพ้กลยุทธ์อื่นเลย เอสซี ปล่อยแคมเปญ “Home is Everything”   บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จึงมุ่งสร้างแบรนด์ของตนเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้า ให้ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 ที่ต้องสร้างที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุค New Normal แต่ขณะเดียวกันต้องสร้างแบรนด์ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน ซึ่งสร้างแบรนด์มาอย่างต่อเนื่อง คือ บริษัท เอสซี แอสเซท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุด ปล่อยแคมเปญใหญ่ประจำปี “Home is Everything”  ออกมาตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดบ้านเดี่ยว โดยมีการจัดทำโฆษณาชุดใหม่ผ่านกลยุทธ์มิวสิคมาร์เก็ตติ้ง ด้วยการนำเอาเพลง Home เวอร์ชั่นพิเศษจาก บอย โกสิยพงษ์  เพื่อนำความรู้สึกที่ดีจากภายในบ้านส่งมอบกำลังใจให้ทุกคน   นางสาวโฉมชฎา กุลดิลก หัวหน้าสายงานกลยุทธ์แบรนด์องค์กร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด  (มหาชน)  หรือ SC เปิดเผยว่า บริษัทจะจัดทำแคมเปญการตลาด เพื่อสื่อสารแบรนด์ เอสซี แอสเสท และแคมเปญส่งเสริมการขายประจำทุกปี โดยมีการทำวิจัยกลุ่ม (Focus group) เพื่อค้นหาความต้องการของผู้บริโภค และนำมาจัดทำเป็นแคมเปญการตลาด ซึ่งปีนี้ใช้แคมเปญ Home is Everything   ตลอดระยะเวลาที่ เอสซี แอสเสท ทำโฟกัสกรุ๊ป เพื่อค้นหาอินไซด์ความต้องการของกลุ่มลูกค้า ด้วยคำถามที่ว่า ‘บ้านมีความหมายอย่างไรกับคุณ?’ ทุก ๆ การวิจัยก็มักจะพบว่ามีผู้ตอบคำถาม 2-3 คน ที่ไม่สามารถอธิบายออกมาได้ด้วยคำพูด ว่าบ้านมีความหมายต่อเขาอย่างไร แต่จะตอบว่าบ้านมีความหมายต่อเขาเหมือนกับเนื้อเพลง Home คือ ....ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย ต้นไม้ใหญ่ แก้วน้ำ จานชาม บันได โคมไฟที่สวยงาม... คำตอบเหล่านี้ทาง เอสซี แอสเสท ได้รับมาอย่างต่อเนื่องตลอด 7-8  ปีที่ได้ทำวิจัย ซึ่งในมุมของเอสซี แอสเสท มองว่าเพลงนี้มีความหมายและอธิบายความของคำว่า บ้าน ได้เป็นอย่างดีที่สุด ทำให้ที่ผ่านมายังไม่ได้นำเพลงนี้มาใช้ในการเล่าเรื่องราวของบ้านในมุมของแอสซี แอสเสท จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่กักตัวอยู่ภายในบ้านมากขึ้น และพื้นที่ของบ้านถูกใช้ไปในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมากกว่าแค่การอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ หรือการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) กลายเป็นว่า ปัจจุบันบ้านคือทุกสิ่งของการใช้ชีวิต จึงเป็นที่มาของแคมเปญ Home is Everything Music marketing ช่วยลูกค้าจดจำแบรนด์ แคมเปญการตลาดที่ผ่านมาของ เอสซี แอสเสท จะมีการนำเอาเพลงมาใช้เป็นส่วนประกอบของแคมเปญเสมอ โดยมีทั้งการทำเพลงใหม่หรือไม่ก็ใช้เพลงที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว เพลงมันทำงานกับความรู้สึก การทำแคมเปญเป็นการสร้าง awareness และการเห็น เพลงเมื่อเห็นทำให้เกิดความรู้สึก ในช่วงปี 2562  เอสซี แอสเสท เคยทำแคมเปญ “Homes for All Birds” บ้านสบาย…สบาย สำหรับทุกคน โดยหยิบ 5 บทเพลงฮิตของคนทุกเพศ ทุกวัย คือเพลง คนไม่มีแฟน, ซ่อมได้, เล่าสู่กันฟัง, หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ และสบาย สบาย  มาบอกเรื่องราวของ บ้านอยู่สบายไร้กังวล (Worry-Free Home) ในแบบฉบับเอสซี แอสเสท  เป็นการนำเอาเพลงมาเล่าเรื่องและขายของแบบตรง ๆ ปรากฏว่าคนชอบ เพราะเพลงเพราะและยังเห็นสินค้าที่ทำให้คนรื่นรมย์ เป็นแคมเปญที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนทำให้กลุ่มลูกค้าสนใจเข้ามาดูโครงการ   นางสาวโฉมชฎา กล่าวอีกว่า หลังจากทำแคมเปญเสร็จก็จะมีการทำวิจัยผลตอบรับเป็นอย่างไร ซึ่งคนดูแคมเปญลักษณะดังกล่าวแล้วเกิดความรู้สึกอยากมาเยี่ยมชมโครงการ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกนำมาต่อยอดและเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Home is Everything ด้วย เพราะ Music Marketing ช่วยในเรื่องการจดจำได้ดีกว่า และแคมเปญนี้เป็นการทำตลาดกับกลุ่มเป้าหมายแมส ไม่เฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายของเอสซี แอสเสทเท่านั้น ทำให้ไม่ได้เน้นให้คนสนใจมาซื้อบ้านเอสซี แอสเสทในขณะนั้น เพราะไม่ได้เอาเรื่องความต้องการซื้อมาเล่า ขณะที่ที่แคมเปญการขายจะมุ่งเน้นวัตถุประสงค์เฉพาะเรื่อง ​ แคมเปญนี้ อยากสร้างความรู้สึกของคน และมีกำลังใจที่เกิดจากบ้านของเขา บ้านคือที่สร้างพลังของเขาอย่างดี โรดแมพ 2 ปี​ เบอร์ 1 ตลาดบ้านเดี่ยว ในภาพใหญ่แล้ว เอสซี แอสเสท มีเป้าหมายการเดินทางไปสู่ความเป็นผู้นำเบอร์ 1 ในตลาดบ้านทุกระดับราคา จากผลงานในปีที่ผ่านมาสามารถรักษาตำแหน่ง Top 3 ไว้ได้ โดยสลับอันดับระหว่างเบอร์​ 2 และเบอร์ 3 แต่หากโฟกัสเฉพาะตลาดบ้านระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ช่วงไตรมาสแรก เอสซี แอสเซท ประสบความสำเร็จกับส่วนแบ่งการตลาดที่มาเป็นเบอร์ 1 แล้ว โจทย์ใญ่ที่ต้องเดินต่อไป คือ นำพาบ้านในทุกระดับราคาขึ้นเป็นเบอร์ 1 ให้ได้ภายในระยะเวลา 2 ปีนับจากนี้ ตามโจทย์ที่ นายนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้มอบให้กับพนักงานไว้   ในอดีตเอสซี แอสเสท แทบจะไม่มีบ้านระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งตลาดบ้านเดี่ยวหลักจึงอยู่ที่ระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป และทำได้ดีจนเป็นผู้นำตลาด แต่ขณะที่ตลาดมีความต้องการบ้านระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทมากขึ้น ประกอบกับแนวคิด home for all  ที่เอสซี แอสเสท มีการพัฒนาบ้านขายที่เหมาะกับทุกกลุ่มเป้าหมาย ในระยะหลังเอสซี แอสเสท จึงหันมามุ่งเน้นพัฒนาบ้านระดับราคาขายต่ำกว่า 5 ล้านบาทเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยภาพจำของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ซึ่งเห็นว่าบ้านเอสซี แอสเสท มีราคาสูง การสร้างการรับรู้ว่ามีบ้านระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท จึงถึงเป็นความท้าทายหนึ่งของเอสซี แอสเสท ในปีนี้ นายณัฏฐกิตติ์ ศิริรัตน์    Head of Marketing เอสซี แอสเซท กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนนี้ เอสซี แอสเสทตั้งเป้ายอดขาย 4,000 ล้านบาท จากแคมเปญนี้ ซึ่งในช่วงที่ขายดีบริษัทจะมียอดขายประมาณไตรมาสละ 4,500-4,600 ล้านบาท  โดยมีโครงการบ้านเดี่ยว 38 โครงการ และทาวน์โฮม 6 โครงการ พร้อมเข้าร่วมแคมเปญในครั้งนี้  ซึ่งยอดขายตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมียอดขายกว่า 70% ของเป้าหมายยอดขายทั้งปีแล้ว โดยยอดขายเฉพาะช่วงครึ่งปีแรกสามารถสร้างการเติบโตได้ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา   ปัจจุบันเอสซี แอสเสท สามารถเกาะกลุ่มผู้นำตลาดบ้านเดี่ยวทุกระดับราคาติดอันดับ Top3 ซึ่งปี 2563 มีส่วนแบ่งตลาดบ้านเดี่ยวอยู่ในอันดับที่ 3 ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกเอสซี แอสเสท สามารถครองตำแหน่งผู้นำตลาดบ้านเดี่ยวระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ด้วยส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 แต่หากเป็นตลาดบ้านเดี่ยวในทุกระดับราคาจะมีส่วนแบ่งอยู่ในอันดับ 2-3 แล้วแต่ช่วงเวลา ​ โรดแมพ ภายใน 2 ปีนี้ เอสซี แอสเซท ตั้งเป้าเป็นแบรนด์บ้านเดี่ยวอันดับ 1 โควิด-19 คนต้องการพื้นที่ใหญ่อยู่อาศัย​ สำหรับกลุ่มที่มาซื้อบ้านเอสซี แอสเสท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัวขยาย หรือต้องการใช้ชีวิตเยอะขึ้น คนที่เคยอยู่บ้านที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ก็ขยับขยาย คนต้องการพื้นที่เยอะขึ้นเราได้คนกลุ่มนี้เยอะ ส่วนคนที่เดิมตั้งใจจะซื้อคอนโดแล้วเปลี่ยนมาซื้อบ้านเลยมีสัดส่วนไม่ถึง 10%   ปัจจัยสำคัญของการเลือกซื้อบ้านในยุคโควิด-19 หากตัดเรื่องของทำเลที่ตั้งออกไป จะพบว่าอันดับ 1 คือ ความต้องการใช้พื้นที่ของบ้านเยอะขึ้น รองลงมาเป็นความต้องการพักอาศัยในสังคมที่ดี เป็นแบรนด์สินค้าที่สามารถดูแลลูกบ้านได้เป็นอย่างดี และยังพบว่า หลังจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คนส่วนใหญ่ มีความต้องการใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ต้องการพื้นที่ที่เป็นส่วนตัว และการอาศัยอยู่กับคนในบ้านที่มีความหลากหลาย เพราะทุกคนกลับมาอยู่อาศัยในบ้านมากขึ้น ใช้เวลาร่วมกันนานขึ้น   จากผลการวิจัยพบข้อมูล 4 อย่าง ได้แก่ 1.ความต้องการพื้นที่ธรรมชาติเยอะขึ้น 2.การอยู่อาศัยที่สะดวกสบาย Comfortable living 3.การปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ตามความต้องการ Flexible space 4.การอยู่อาศัยในบ้านประหยัดพลังงาน Energy saving
ส่องตลาที่อยู่อาศัยภาคอีสาน​ 5 จังหวัด  เหลือขายกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท บ้านจัดสรรยังน่าห่วง

ส่องตลาที่อยู่อาศัยภาคอีสาน​ 5 จังหวัด เหลือขายกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท บ้านจัดสรรยังน่าห่วง

สำรวจตลาดอสังหาฯ 5 จังหวัดภาคอีสาน สต็อกเหลือขายกว่า 43,000 ล้าน ตลาดน่าห่วงเป็นกลุ่มบ้านจัดสรร  ขณะที่ขายได้ใหม่ช่วงปลายปีได้แค่ 3,585 ล้าน   ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า จากการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดมหาสารคาม ในช่วงครึ่งหลังปี 2563  พบว่ามีจำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขาย ทั้งหมด 297 โครงการ จำนวน 13,500 ยูนิต มูลค่ารวม 47,535 ล้านบาท   โดยจำนวนทั้งหมด แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 250 โครงการ 10,620 ยูนิต มูลค่า 40,361 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด (คอนโดมิเนียม) จำนวน 47 โครงการ  2,880 ยูนิต มูลค่า 7,174 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวมียูนิตเหลือขายจำนวน 12,365 ยูนิต รวมมูลค่ายูนิตเหลือขาย 43,350 ล้านบาท  และในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่จำนวน 1,135 ยูนิต รวมมูลค่า 3,585 ล้านบาท โคราชบ้านเหลือขายปลายปี 63 กว่า 4,000 ยูนิต สำหรับภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยระหว่างการขายในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา มีอัตราลดลง 10.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 6,161 ยูนิต ในจำนวนดังกล่าวเป็นโครงการบ้านจัดสรร 4,480 ยูนิต สัดส่วน 72.7% เป็นโครงการคอนโด​ 1,681 ยูนิต สัดส่วน​ 27.3% และเป็นโครงการเปิดขายใหม่ในครึ่งหลังปี 2563 เพียง 607 ยูนิต มีอัตราลดลง 53.0% จากช่วงเดียวกันของปี 2562  มียูนิตขายได้ใหม่จำนวน 495 ยูนิต ซึ่งการขายได้ใหม่นี้มีอัตราลดลง 18.6% ​ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียูนิตเหลือขายสะสมจำนวน  5,666 ยูนิต หรือลดลง  9.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562เมื่อจำแนกตามราคาพบว่ายูนิตเหลือขายส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท โดยมีจำนวน 2,191 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน  38.7% ของยูนิตเหลือขายทั้งหมด ขณะที่ยูนิตขายได้ใหม่มากที่สุดก็ยังคงอยู่ในช่วงราคา  2.01-3.00 ล้านบาท โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 234 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 47.3%  สำหรับยูนิตเหลือขายในครึ่งหลัง ปี 2563 ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นโครงการบ้านจัดสรรจำนวนทั้งสิ้น 4,069 ยูนิต จากจำนวนยูนิตเหลือขาย 5,666 ยูนิต หรือคิดเป็นสัดส่วน 71.8% ของยูนิตเหลือขายทั้งหมด ปี 64 โคราชเปิดขายใหม่กว่า 5,000 ลบ. สำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมาในปี 2564 ภาพรวมตลาดยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ผลจากโควิด-19 ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทำให้ตลาดทั้งปี 2564 มีภาวะชะลอตัวเช่นเดียวกับปี 2563 คาดการณ์ว่าช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ จะมียูนิตเปิดใหม่ลดลง 24.7% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ​และ ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จะเพิ่มขึ้น 45.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา   ส่วนยูนิตเปิดใหม่รวมปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 1,684 ยูนิต มูลค่า 5,352 ล้านบาท ส่วนยูนิตขายได้ใหม่ในครึ่งปีแรกปีนี้ คาดว่าลดลง  34.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่าน​ และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น​91.5% เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังปีที่ผ่านมา   ขณะที่ยูนิตขายได้ใหม่ปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 1,793 ยูนิต มูลค่า 5,711 ล้านบาท มียูนิตเหลือขาย ช่วงสิ้นปี 2564 จะมีประมาณ 6,770 ยูนิต มูลค่า 24,278 ล้านบาท และการโอนกรรมสิทธิ์ ในปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวนยูนิตประมาณ 6,141 ยูนิต ลดลง 26.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 10,627 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 38.4% ขอนแก่นมียูนิตเหลือขายพุ่งกว่า 82% สำหรับจังหวัดขอนแก่น ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยระหว่างการขายมีอัตราลดลง 1.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 3,974 ยูนิต ในจำนวนดังกล่าวเป็นโครงการบ้านจัดสรร 3,270 ยูนิต สัดส่วน 82.3% เป็นโครงการคอนโด 704 ยูนิต สัดส่วน​ 17.7% และเป็นโครงการเปิดขายใหม่ในครึ่งหลังปี 2563 เพียง 411 ยูนิต มีอัตราลดลง 45.1% จากช่วงเดียวกันของปี 2562  มียูนิตขายได้ใหม่จำนวน 346 ยูนิต ซึ่งการขายได้ใหม่ลดลง 20.5% ​เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน   โดยมียูนิตเหลือขายสะสมจำนวน 3,628 ยูนิต  เพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562เมื่อจำแนกตามราคาพบว่ายูนิตเหลือขายส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท โดยมีจำนวน 1,393 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน  38.4% ของยูนิตเหลือขายทั้งหมด ขณะที่ยูนิตขายได้ใหม่มากที่สุดก็ยังคงอยู่ในช่วงราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 127 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 36.7%   สำหรับยูนิตเหลือขายในครึ่งหลังปี 2563 ในจังหวัดขอนแก่น เป็นโครงการบ้านจัดสรรจำนวนทั้งสิ้น  3,003 ยูนิต จากจำนวนยูนิตเหลือขาย 3,628 ยูนิต หรือคิดเป็นสัดส่วน  82.8% ของยูนิตเหลือขายทั้งหมด คาดปี 64 ขอนแก่น เหลือขายกว่า 12,000 ลบ. สำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดขอนแก่น ปี 2564 คาดว่าช่วงครึ่งปีแรกนี้ มียูนิตเปิดใหม่ต่ำกว่าครึ่งปีแรกของปี 2563 ในอัตรา​ 21.5% และช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่ายูนิตเปิดใหม่จะเพิ่มขึ้น 25.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า  ซึ่งยูนิตเปิดใหม่รวมในปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 982 ยูนิต มูลค่า 3,117 ล้านบาท   ส่วนยูนิตขายได้ใหม่ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ลดลง 39.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้น 77.5% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา  โดยยูนิตขายได้รวมปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 1,156 ยูนิต มูลค่า 3,310 ล้านบาท มียูนิตเหลือขาย ณ สิ้นปี 2564 จะมีประมาณ 3,573 ยูนิต มูลค่า 12,062 ล้านบาท  ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ คาดว่าจะมีจำนวนยูนิตประมาณ 4,997 ยูนิต ลดลง 20% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 7,613 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 34.3% สิ้นปี 63 จ.อุดรฯ มีสินค้าเหลือขาย 1,360 ยูนิต​ ด้านภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยระหว่างการขายจังหวัดอุดรธานี พบว่ามีอัตราลดลง 13.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,503 ยูนิต ในจำนวนดังกล่าวเป็นโครงการบ้านจัดสรร 1,379 ยูนิต สัดส่วน 91.7% เป็นโครงการคอนโด 124 ยูนิต สัดส่วน 8.3% และเป็นโครงการเปิดขายใหม่ในครึ่งหลังปี 2563 จำนวน เพียง 69 ยูนิต ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการบ้านจัดสรร และมีจำนวนลดลง 57.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 สำหรับยูนิตขายได้ใหม่ มีจำนวน 143 ยูนิต ซึ่งการขายได้ใหม่นี้มีอัตราลดลง 19.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน   โดยมียูนิตเหลือขายสะสมจำนวน 1,360 ยูนิต  ลดลง 12.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เมื่อจำแนกตามราคาพบว่ายูนิตเหลือขายส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท โดยมีจำนวน 533 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 39.2% ของยูนิตเหลือขายทั้งหมด ขณะที่ยูนิตขายได้ใหม่มากที่สุดก็ยังคงอยู่ในช่วงราคา 1.01-1.50 ล้านบาท โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 70 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 49%   สำหรับยูนิตเหลือขายในครึ่งหลัง ปี 2563 ในจังหวัดอุดรธานี เป็นโครงการบ้านจัดสรรจำนวนทั้งสิ้น 1,242 ยูนิต จากจำนวนยูนิตเหลือขาย 1,360 ยูนิต หรือคิดเป็นสัดส่วน 91.3%  ปี 64 บ้านเหลือขายขยับเพิ่มเป็น 1,735 ยูนิต สำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดอุดรธานี ปี 2564 ประมาณการณ์ช่วงครึ่งปีแรก ยูนิตเปิดใหม่จะต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนในอัตรา​ 8.0% และช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้น​ 87.0% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา ​ยูนิตเปิดใหม่รวมปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 255 ยูนิต มูลค่า 1,504 ล้านบาท ยูนิตขายได้ใหม่ในครึ่งปีแรกขายได้ลดลง 32.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ​ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ​60.8% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยปีนี้คาดว่ามียูนิตขายได้รวม​ 432 ยูนิต มูลค่า 1,289 ล้านบาท และมียูนิตเหลือขาย ณ สิ้นปี 2564 จะมีประมาณ 1,753 ยูนิต มูลค่า 6,936 ล้านบาท ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 2,855 ยูนิต ลดลง 8.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 4,726 ล้านบาท ลดลง 10.4%​จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปลายปี 63 อุบลฯ ขายบ้านใหม่ได้แค่ 57 ยูนิต ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยระหว่างการขายจังหวัดอุบลราชธานี พบว่ามีอัตราลดลง 22.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน​ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,129 ยูนิต ในจำนวนดังกล่าวเป็นโครงการบ้านจัดสรร 894 ยูนิต  คิดเป็นสัดส่วน​ 79.2% เป็นโครงการคอนโด​ 235 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน​ 20.8% และเป็นโครงการเปิดขายใหม่ในครึ่งหลังปี 2563 เพียง 168 ยูนิต มีอัตราเพิ่มขึ้น 130.1% จากช่วงเดียวกันของปี 2562  ยูนิตขายได้ใหม่จำนวน 112 ยูนิต ลดลง 44.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา   โดยมียูนิตเหลือขายสะสมจำนวน 1,017 ยูนิต  ลดลง 19.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เมื่อจำแนกตามราคาพบว่ายูนิตเหลือขายส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท โดยมีจำนวน 432 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 42.5% ของยูนิตเหลือขายทั้งหมด ขณะที่ยูนิตขายได้ใหม่มากที่สุดก็ยังคงอยู่ในช่วงราคา 2.01-3.00 ล้านบาท โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 57 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 50.9%  ขณะที่ยูนิตเหลือขายในครึ่งหลัง ปี 2563 ในจังหวัดอุบลราชธานี  เป็นโครงการบ้านจัดสรรจำนวนทั้งสิ้น 796 ยูนิต จากจำนวนยูนิตเหลือขาย 1,017 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 78.3% ปี 64 คาดจ.อุบลฯ ขายได้แค่ 1,080 ลบ. สำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2564  คาดการณ์ว่าช่วงครึ่งปีแรก​ ยูนิตเปิดใหม่จะลดลง 42.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และช่วงครึ่งหลังปีนี้ ​จะลดลง​ 16.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ​ ยูนิตเปิดใหม่รวมปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 270 ยูนิต มูลค่า 868 ล้านบาท และในส่วนยูนิตขายได้ใหม่ครึ่งปีแรก​ ขายได้จะต่ำว่าครึ่งปีแรกปีที่แล้วอัตรา​​ 31.5% ส่วนครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้น 77.7% จากช่วงครึ่งหลังปีที่แล้ว ​ ยูนิตขายได้รวมปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 375 ยูนิต มูลค่า 1,080 ล้านบาท มียูนิตเหลือขาย ณ สิ้นปี 2564 จะมีประมาณ 1,530 ยูนิต มูลค่า 4,295 ล้านบาท ด้านการโอนกรรมสิทธิ์คาดว่าในปี 2564 จะมีจำนวนยูนิตประมาณ 2,448 ยูนิต ลดลง 30.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า​ และคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2,894 ล้านบาท ลดลง 48.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มหาสารคาม สต็อกบ้านเพิ่ม 4% ส่วนภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยระหว่างการขายจังหวัดมหาสารคาม มีอัตราลดลง 2.9% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 733 ยูนิต ในจำนวนดังกล่าวเป็นโครงการบ้านจัดสรร 597 ยูนิต สัดส่วน​ 81.4% เป็นโครงการอาคารชุด 136 ยูนิต สัดส่วน 18.6% และเป็นโครงการเปิดขายใหม่ในครึ่งหลังปี 2563 เพียง 51 ยูนิต มีอัตราลดลง 42.7% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ยูนิตขายได้ใหม่จำนวน 39 ยูนิต มีอัตราลดลง 55.7% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมียูนิตเหลือขายสะสมจำนวน 694 ยูนิต เพิ่มขึ้น 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เมื่อจำแนกตามราคาพบว่ายูนิตเหลือขายส่วนใหญ่อยู่ในช่วงระดับราคา 1.01-1.50 ล้านบาท โดยมีจำนวน 161 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน  23.2% ของยูนิตเหลือขายทั้งหมด ขณะที่ยูนิตขายได้ใหม่มากที่สุดก็ยังคงอยู่ในช่วงราคา 1.01-1.50 ล้านบาท โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 19 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน  48.7%   สำหรับยูนิตเหลือขายในครึ่งหลัง ปี 2563 ในจังหวัดมหาสารคามเป็นโครงการบ้านจัดสรรจำนวนทั้งสิ้น 567 ยูนิต จากจำนวนยูนิตเหลือขาย 694 ยูนิต หรือคิดเป็น  81.7% มหาสารคาม ปี 64 ขายบ้านใหม่ได้ 413 ลบ. สำหรับทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดมหาสารคาม ปี 2564 ประมาณการณ์ช่วงครึ่งปีแรก มียูนิตเปิดใหม่จะต่ำกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมาในอัตรา​ 2.8 และครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้น​ 60.8% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว​ โดยยูนิตเปิดใหม่รวมปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 152 ยูนิต มูลค่า 284 ล้านบาท และในส่วนยูนิตขายได้ใหม่ครึ่งปีแรก​ ขายได้จะต่ำว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 ในอัตรา​ 35.2%  ส่วนครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้น ​97.4%  ยูนิตขายได้รวมปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวน 145 ยูนิต มูลค่า 413 ล้านบาท ยูนิตเหลือขาย ณ สิ้นปี 2564 จะมีประมาณ 873 ยูนิต มูลค่า 2,550 ล้านบาท ด้านการโอนกรรมสิทธิ์คาดว่าในปี 2564 จะมีจำนวนยูนิตประมาณ 1,210 ยูนิต เพิ่มขึ้น 2.6%​ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า  และคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 17.9%  
1 ปีโควิด-19 สะเทือนไทย แต่ที่อยู่อาศัยไม่แผ่ว  คนไทยยังอยากมีบ้าน การซื้อ-เช่ายังเติบโต

1 ปีโควิด-19 สะเทือนไทย แต่ที่อยู่อาศัยไม่แผ่ว คนไทยยังอยากมีบ้าน การซื้อ-เช่ายังเติบโต

ครบ 1 ปีหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ที่การเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยหยุดชะงักในช่วงแรกแต่ก็ยังมีแนวโน้มโต สะท้อนจากความต้องการของผู้บริโภคที่แม้จะได้รับผลกระทบทางการเงินจากวิกฤติครั้งนี้ แต่ยังมองหาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ ชี้ยังเป็นโอกาสทองของนักลงทุนและผู้ซื้อที่มีความพร้อม หวังต่อยอดการลงทุนในระยะยาว คาดการแข่งขันในตลาดจะกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายหลังระดมฉีดวัคซีนครอบคลุมทั่วประเทศ   นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยว่า ข้อมูลจาก​ DDproperty Thailand Property Market Index ฉบับล่าสุด รายงานว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 190 จุด จาก 197 จุด หรือลดลง 4% จากไตรมาสก่อนหน้า ถือเป็นดัชนีราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 15 ไตรมาส (นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2560) โดยมีการปรับตัวลดลงถึง 7% ในรอบปีที่ผ่านมา ในขณะที่ดัชนีอุปทานในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 399 จุด จาก 363 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 10% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มถึง 19% ในรอบปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ มีการเปิดตัวโครงการใหม่เข้าสู่ตลาด และผู้บริโภคที่มีสินค้าอยู่ในมือเริ่มนำสินค้าออกขาย แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดฯ รอบล่าสุด ทำให้อัตราการดูดซับไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ จำนวนที่อยู่อาศัยในตลาดจึงแปรผันตามสถานการณ์ปัจจุบัน   ตลอดหนึ่งปีของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ความต้องการซื้อและเช่าในตลาดอสังหาฯ ยังมีอยู่ไม่น้อย เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการระบาดฯ รอบแรกในปีที่แล้ว  ซึ่งตอนนั้นทุกภาคส่วนล้วนไม่มีประสบการณ์ในการรับมือวิกฤติแบบนี้มาก่อน  เทรนด์ที่เห็นได้ชัดคือผู้บริโภคหันมาพิจารณาเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก และแถบชานเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทำเลแนวรถไฟฟ้าสายใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้หรือมีแผนเปิดใช้บริการในอนาคตอันใกล้ ประกอบกับผู้บริโภคต้อง Work From Home ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ต้องกระจุกตัวอยู่ใกล้แหล่งงานย่านใจกลางเมือง   แม้ดัชนีอุปทานในกรุงเทพฯ จะเพิ่มขึ้นถึง 19% ในรอบปีที่ผ่านมาสวนทางกับอัตราดูดซับที่น้อยลง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับปกติเมื่อพิจารณาตามสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ที่มีความไม่แน่นอนสูง ผู้บริโภคยังมีความกังวลใจในการใช้จ่าย จึงพยายามรักษาเสถียรภาพทางการเงินไว้ นอกจากนี้  จากผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง "วัคซีนเข็มแรก ความต้องการถ้วนหน้า" ของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 87.9% ต้องการให้คนไทยทุกคนได้รับวัคซีนเข็มแรกก่อน ตามมาด้วยต้องการให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนกระจายวัคซีนครอบคลุมคนที่ต้องการทุกพื้นที่เร่งด่วนที่สุด 86.8% จะเห็นได้ว่าแผนการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมยังคงเป็นเป้าหมายอันดับต้น ๆ ที่คนไทยต้องการ เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่มองว่ากุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตอนนี้ คือแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้ คาดการณ์ว่าเมื่อมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั่วประเทศ  และรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ได้แล้ว ผู้พัฒนาอสังหาฯ ก็พร้อมจะกลับมาเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค และเชื่อว่าตลาดอสังหาฯ จะกลับมาคึกคักอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี ครบ 1 ปีโควิด ความต้องการอสังหาฯ ยังไม่แผ่ว รายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ฉบับล่าสุด  ยังเปิดเผยถึง ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ทั่วไทย หลังต้องเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (เปรียบเทียบระหว่างเดือนเมษายน 2563 และเดือนเมษายน 2564) ระบุว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยยังเติบโตต่อเนื่อง แม้ผู้บริโภคจะชะลอการใช้จ่ายก็ตาม -เมืองหลวงยังไม่สิ้นมนต์ขลัง ความต้องการซื้อ-เช่าโตกว่าเท่าตัว ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ ในรอบ 1 ปีตั้งแต่เกิดการล็อกดาวน์มาจนถึงการแพร่ระบาดฯ ระลอกล่าสุด พบว่า ผู้บริโภคยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ความต้องการเช่าและซื้อเติบโตกว่าเท่าตัว โดย “เขตยานนาวา” เป็นทำเลมาแรงที่สุดในกรุงเทพฯ ได้รับความสนใจซื้อเพิ่มขึ้นในรอบปีสูงสุดถึง 215% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่เป็นทำเลที่อยู่ใจกลางเมือง ครอบคลุมแนวถนนพระราม 3 ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตทั้งจากการที่เป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ และมีโครงการพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ซื้อที่มีความพร้อมสามารถซื้อเก็บไว้ในช่วงนี้เพื่อนำไปทำกำไรในอนาคตเมื่อเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ตามมาด้วยเขตธนบุรีเพิ่มขึ้น 137% มีนบุรีเพิ่มขึ้น 132% จอมทองเพิ่มขึ้น 114% และบางแคเพิ่มขึ้น 113% ซึ่งล้วนเป็นทำเลที่ไม่ได้อยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ (CBD) สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อที่อยู่อาศัยแถบพื้นที่รอบนอกมากขึ้น โดยเลือกพิจารณาความคุ้มค่าของราคากับขนาดที่อยู่อาศัยที่จะได้รับ เนื่องจากยังเป็นทำเลที่สามารถเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า และระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ   ส่วนทำเลยอดนิยมของผู้เช่าในรอบปีที่มีการแพร่ระบาดฯ นั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ย่านใจกลางเมืองเป็นหลักและมีอัตราเติบโตไม่แพ้กัน โดย “เขตปทุมวัน” ได้รับความสนใจเช่าเพิ่มขึ้นในรอบปีสูงสุดถึง 193% เนื่องจากผลกระทบของสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวและวิกฤติโควิด-19 ที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานศึกษาอยู่ในย่านดังกล่าวหันมาเช่าที่อยู่อาศัยแทนการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ที่มีราคาสูง เพราะสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีความไม่แน่นอน การสำรองเงินสดไว้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ในขณะที่ทำเลอื่น ๆ ที่มีความต้องการเช่าสูงไม่แพ้กัน ได้แก่ เขตบางคอแหลม (+188%) เขตบึงกุ่ม (+185%) จตุจักร (+159%) และเขตบางซื่อ (+150%) -ตลาดเช่าโตต่อเนื่อง ครองใจคนหาบ้านในเขตปริมณฑล ภาพรวมความเคลื่อนไหวของตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาครในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานั้น เทรนด์การเช่าที่อยู่อาศัยได้รับความนิยมอย่างสูง โดยบางพื้นที่มีการเติบโตกว่าความสนใจซื้อมากกว่าเท่าตัว อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ความสนใจซื้อและเช่าที่อยู่อาศัยในจังหวัดปริมณฑลมีการเติบโตเป็นบวกในรอบปีที่ผ่านมา คือเทรนด์การ Work From Home ที่หลายองค์กรใช้ในช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดฯ และคาดว่าหลายองค์กรจะยังคง Work From Home ต่อเนื่องแม้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้คนทำงานไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาในการเดินทางมาทำงานใจกลางเมือง จึงมีการย้ายกลับไปอาศัยที่ภูมิลำเนาเดิมหรือหันไปเลือกซื้อ/เช่าอสังหาฯ ในจังหวัดปริมณฑลที่มีราคาย่อมเยากว่า   ทำเลมาแรงที่ได้รับความสนใจเช่ามากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพิ่มขึ้นถึง 151% ด้านอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพิ่มขึ้น 168% ส่วนทำเลยอดนิยมของผู้เช่าในจังหวัดสมุทรปราการจะอยู่ในอำเภอเมือง โดยเพิ่มสูงถึง 216% ในขณะที่อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาครถือเป็นทำเลที่น่าจับตามอง เนื่องจากได้รับความสนใจเช่าเพิ่มสูงถึง 650% เติบโตสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ 4 จังหวัดปริมณฑลอื่น ๆ   ทำเลที่ได้รับความสนใจซื้อมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพิ่มขึ้นถึง 73% ด้านจังหวัดปทุมธานีนั้นพื้นที่อำเภอคลองหลวงมีผู้สนใจซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 74% ส่วนอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการมีความสนใจซื้อเพิ่มขึ้นถึง 74% เช่นกัน และอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ยังคงมาแรงครองความนิยมสูงสุด มีความสนใจซื้อเพิ่มขึ้นถึง 88% -โอกาสทองเลือกเป็นเจ้าของอสังหาฯ หัวเมืองท่องเที่ยว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ที่หนักหน่วง ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการปิดประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่ขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ แน่นอนว่าตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน ซ้ำร้ายการเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 ในหลายหัวเมืองท่องเที่ยวส่งผลให้ความสนใจเช่าลดลง แต่ในวิกฤติยังมีโอกาสเมื่อดัชนีราคาอสังหาฯ ที่ปรับตัวลดลงช่วยผลักดันให้ความสนใจซื้อเติบโตสูงขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต ระยอง และประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากผู้บริโภคและนักลงทุนมองเห็นโอกาสในการเป็นเจ้าของอสังหาฯ ในทำเลเหล่านี้ซึ่งถือว่ามีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอนาคต มีเพียงพัทยาที่มีทิศทางการเติบโตต่างจากจังหวัดท่องเที่ยวอื่น โดยมีความสนใจเช่าที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 106% มากกว่าความสนใจซื้อที่เพิ่มขึ้นเพียง 70%   เมื่อพิจารณาจากความสนใจซื้อที่เพิ่มขึ้นในรอบ 1 ปีที่มีการแพร่ระบาดฯ พบว่า อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นถึง 128% อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพิ่มขึ้น 164% อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีความสนใจซื้อเพิ่มขึ้นถึง 174% ในขณะที่อำเภอหัวหินยังเป็นทำเลที่ดึงดูดความสนใจซื้อในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้มากที่สุดถึง 96%   ด้านความสนใจเช่าแม้จะเติบโตน้อยกว่าซื้อ แต่ถือว่ายังมีทิศทางเติบโตเป็นบวกทั้งหมด โดยอําเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับความสนใจเช่าเพิ่มขึ้น 74% อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพิ่มขึ้น 17% อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เพิ่มขึ้น 60% และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพิ่มขึ้น 48%   “จะเห็นได้ว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบต่อทุกคน ทุกองค์กร ธุรกิจทุกแขนงทั่วประเทศทำให้เกิดภาวะชะงักงันไปตาม ๆ กัน แต่อย่างไรก็ตามมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐออกมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับทุกภาคส่วนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสำคัญที่สุดคือด้านสาธารณสุขก็ส่งผลเชิงจิตวิทยาต่อผู้บริโภคในด้านความมั่นใจ แม้ว่าภาพรวมจะยังไม่มีกลไกใดที่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าอาจมีการสะดุดหรือล้มลุกคลุกคลานในบางจังหวะ แต่ทุกคนยังมีความหวังที่จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ให้ก้าวต่อไป”      
3 ทำเลศักยภาพและโอกาสในการลงทุนที่อยู่อาศัย “จรัญฯ-แจ้งวัฒนะ-ลาดพร้าว 101”

3 ทำเลศักยภาพและโอกาสในการลงทุนที่อยู่อาศัย “จรัญฯ-แจ้งวัฒนะ-ลาดพร้าว 101”

เปิดศักยภาพและโอกาสการลงทุนอสังหาฯ ใน 3 ทำเลเติบโตสูง ​“จรัญฯ-แจ้งวัฒนะ-ลาดพร้าว 101” ได้อานิสงค์รถไฟฟ้า ช่วยผลักดันราคาและความต้องการอสังหาฯ  ย่านจรัญสนิทวงศ์ ได้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เปิดโอกาสการลงทุนเติบโต 8% ขณะที่แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด ราคาที่ดินพุ่งกว่า 12.5% ส่วนทำเลลาดพร้าว 101 มีรถไฟฟ้าพัฒนาโดยรอบ และการเปลี่ยนสีผังเมืองผลักดันความเจริญ   ​นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) เปิดเผยถึงผลการสำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยใน 3 ทำเลประกอบด้วย “จรัญสนิทวงศ์-แจ้งวัฒนะ-ลาดพร้าว 101” ว่า เป็น 3 ทำเลที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วน ส่งผลให้ระดับราคาที่ดินใน 3 ทำเลมีการปรับตัวขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 10% ต่อปี ในขณะที่ระดับราคาที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามระดับราคาที่ดินที่ขยับสูงขึ้นทั้งที่อยู่อาศัยเก่าและใหม่  จรัญสนิทวงศ์  "สายสีน้ำเงิน" ดันราคาคอนโด จากผลการสำรวจพบว่า   ทำเล “จรัญสนิทวงศ์” เป็นพื้นที่มีแนวโน้มการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรูปแบบคอนโดมิเนียมเป็นหลัก โดยเฉพาะโซนติดรถไฟฟ้า โดยในปี 2563 คอนโดในย่านจรัญฯ มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (capital gain) จากการซื้อมาและขายออกไปเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี โดยระดับราคาคอนโดในทำเลนี้มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000-120,000 บาท/ตารางเมตร ซึ่งเป็นราคาที่ปรับขึ้น 20% จากปี 2560 และราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการขยายของเมืองตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยปัจจุบันมีจำนวนอาคารชุดเหลือขายในทำเลจรัญฯ 965 ยูนิต​ มีอัตราการขายเฉลี่ย 5% ต่อเดือน โดยมีระดับราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 89,700 บาทต่อตารางเมตร หรือประมาณ 2.8 ล้านบาทต่อยูนิต ในขณะเดียวกัน ความต้องการเช่าที่พักอาศัยในย่านนี้ก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีตก่อนรถไฟฟ้าสีน้ำเงินจะแล้วเสร็จ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งงานทางการแพทย์อย่างโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลธนบุรี และโรงพยาบาลยันฮี ทำให้มีกลุ่มผู้เช่าที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องการที่พักอาศัยใกล้ที่ทำงานเป็นจำนวนมาก ราคาเช่าเฉลี่ยในย่านจรัญสนิทวงศ์อยู่ที่ 350 บาท/ตร.ม./เดือน โดยราคาเช่าห้องขนาด 30-35 ตร.ม.เฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 บาท/เดือน ห้อง Studio type เฉลี่ยที่ 6,000-8,500 บาท/เดือน และมี Rental Yield ที่ 5% ต่อปี แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด ที่ดินพุ่ง 12.5% ส่วนทำเล “แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด” เป็นทำเลที่มีอัตราการเติบโตของโครงการใหม่โดยเฉลี่ย 100% - 250% ต่อปี  จากผลการสำรวจของทีมวิจัย พบว่า ณ สิ้นปี  2563 ทำเลแจ้งวัฒนะมีซัพพลายสะสมอยู่ที่ 10,325  ยูนิต​ โดยคิดเป็นบ้านพักอาศัย 15% และ คอนโด 85%  มีอัตราการขายของบ้านพักอาศัยอยู่ที่ 3.1%ต่อเดือน และอัตราการขายคอนโด​ในทำเลอยู่ที่ 5% ต่อเดือน สูงกว่าอัตราการขายของบ้านพักอาศัยเฉลี่ยในนนทบุรีซึ่งอยู่ที่ 2.8% ต่อเดือน  และอัตราการขายคอนโด​ในทำเลอยู่ที่ 4%ต่อเดือน   การเติบโตของการพัฒนาที่อยู่อาศัยในทำเลนี้ ทำให้ระดับราคาที่ดินในย่าน “แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด” มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาประเมินที่ดินสูงขึ้นเฉลี่ย 12.5% ต่อปี  ทำให้ระดับราคาที่อยู่อาศัยในทำเลนี้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15-20% ต่อปี โดยเฉพาะราคาบ้านพักอาศัยย่านแจ้งวัฒนะ-เมืองทองธานี ที่เพิ่มขึ้นถึง 20%  ต่อปี โดยในด้านของตลาดมือสองมีอัตราผลตอบแทนของการลงทุน (capital gain) อยู่ที่ 7-8% ต่อปี  และมีราคาให้เช่าอยู่ที่ 28,000-35,000 บาท คาดว่าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีชมพูเปิดใช้งาน จะยิ่งส่งเสริมให้ทำเลแจ้งวัฒนะเป็นทำเลที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้นและราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบ้านพักอาศัยเปิดตัวใหม่ในทำเลแจ้งวัฒนะมีหลายระดับราคา ตั้งแต่บ้านทาวโฮมในราคาเริ่มต้น 2 ล้านบาท จนถึง บ้านเดี่ยวราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป จึงถือว่าเป็นทำเลที่มีบ้านพักอาศัยให้เลือกอย่างหลากหลาย ทำให้บ้านพักอาศัยในทำเล แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ดเหมาะสำหรับ ผู้ที่มองหาบ้านพักอาศัยในทำเลศักยภาพที่เดินทางสะดวกใกล้แหล่งงานและสถานศึกษา มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ และมีศักยภาพในการลงทุน ลาดพร้าวได้รถไฟ 4 สีดันการพัฒนา ในขณะที่การพัฒนารถไฟฟ้าทั้งหมด 4 สาย ที่ล้อมรอบพื้นที่ “ลาดพร้าว 101-โพธิ์แก้ว” ทั้งสายสีเหลือง, สีส้ม, สีเทา และสีน้ำตาล ปัจจุบัน สายสีเหลือง และสายสีส้มกำลังดำเนินการก่อสร้างและมีกำหนดเปิดใช้งานได้ภายในปี 2565 และปี 2567 ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางเชื่อมต่อไปได้ทั่วทั้งกรุงเทพฯ สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น ทำให้ทำเล   “ลาดพร้าว 101 – โพธิ์แก้ว” เป็นหนึ่งในทำเลศักยภาพทางโซนเหนือของกรุงเทพฯ โดยปัจจุบันในทำเลนี้มี บ้านพักอาศัยเปิดขายใหม่อยู่ทั้งหมด 14 โครงการ แบ่งเป็นรูปแบบบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด 7 โครงการ ราคาขายต่อยูนิตมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป มียูนิต​เหลือขายคิดเป็นสัดส่วน 16% ของยูนิตที่เปิดขายอยู่ทั้งหมด โดยมีอัตราการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ต่อเดือน   อีกรูปแบบคือ ทาวน์โฮม อีกจำนวน 7 โครงการ มียูนิตเหลือขายคิดเป็นสัดส่วน 22% ของยูนิตที่เปิดขายอยู่ทั้งหมด โดยราคาขายเฉลี่ยต่อยูนิตแบ่งออกเป็น 3 ช่วงราคา ได้แก่ 3-5 ล้านบาท, 5-10 ล้านบาท และมากกว่า 10 ล้านบาท โดยมีอัตราการขายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 7% 3% และ 4% ตามลำดับ ในขณะที่จำนวนเหลือขายในทำเลนี้มีประมาณ 420 ยูนิต ทำให้คาดว่าจะสามารถระบายยูนิตเหลือขายได้ภายใน 3 ปี   ในขณะที่ตลาดบ้านพักอาศัยมือสองในย่านมีราคาขายเริ่มต้นที่ 8 ล้านบาท สำหรับบ้านเดี่ยว อัตราค่าเช่าเริ่มต้น 35,000-120,000 บาทต่อเดือน ส่วนทาวน์โฮม 2 ชั้น ราคาขายเริ่มต้นที่ 2 ล้านบาท ทาวน์โฮม 3 ชั้น เริ่มต้นต่ำสุดที่ 3.70 ล้านบาท และสูงสุดถึง 6.50 ล้านบาท อัตราค่าเช่าเริ่มต้น 18,000-45,000 บาทต่อเดือน โดยขึ้นอยู่กับสภาพหรืออายุการใช้งานของบ้าน พื้นที่ใช้สอย และที่ตั้งห่างจากถนนหลักมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอัตราค่าเช่านั้นใกล้เคียงกับอัตราการผ่อนชำระในกรณีซื้อเอง ทำให้โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เป็นที่น่าสนใจและคุ้มค่าสำหรับผู้ที่มองหาที่อยู่อาศัยมากกว่า ร่างผังเมืองใหม่ดันราคาพุ่ง ในขณะเดียวกัน ร่างผังเมืองใหม่ที่จะประกาศใช้ในเร็วนี้ ได้มีการปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ “ลาดพร้าว 101-โพธิ์แก้ว” จากพื้นที่สีเหลือง เป็นพื้นที่สีส้ม คือ ประเภทพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ทำให้สามารถพัฒนาที่ดินได้เพิ่มมากขึ้นจาก FAR 3:1 – OSR 10% เป็น FAR 3.5:1 – OSR 8.5% และสามารถพัฒนาโครงการคอนโดขนาดน้อยกว่า 10,000 ตารางเมตร หรือพื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางเมตรได้ โดยที่เหล่าผู้พัฒนารายใหญ่ยังมีที่ดินผืนใหญ่รอพัฒนาในบริเวณรอบ ๆ ย่านนี้อีกจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ราคาที่ดินในย่านมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีก จากปัจจุบันราคาซื้อขายที่ดินในย่านนี้ต่ำสุดอยู่ที่ราคา 50,000 บาท/ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินบริเวณกลางซอยลาดพร้าว 101 และราคาสูงสุดอยู่ที่ 130,000 บาท/ตารางวา ในตำแหน่งที่ดินที่ใกล้ถนนประเสริฐมนูญกิจหรือถนนลาดพร้าว   “การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ทำให้เมืองขยายจากพื้นที่เศรษฐกิจเดิมอย่างย่านสุขุมวิท เพลินจิต สาทร ไปสู่ย่านเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งทั้ง 3 ทำเล  ถือเป็นย่านธุรกิจใหม่ที่กระจายออกมาจากศูนย์กลางเศรษฐกิจเดิม จึงเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนของผู้ประกอบการ และผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่จับต้องได้และเดินทางได้สะดวก”  
ให้ต่างชาติซื้อบ้านอย่างไร ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ไทย

ให้ต่างชาติซื้อบ้านอย่างไร ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ไทย

นับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว ที่รัฐบาลมีนโยบายการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น “บ้านหลังที่สอง” ของชาวต่างชาติ  ด้วยการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ของไทย (Freehold) และ/หรือเช่าระยะยาว (Leasehold) ให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งกลุ่มที่ต้องการเข้ามาซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สิน กลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศ หรือแม้แต่กลุ่มผู้เกษียณอายุแล้ว ให้เข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังในการใช้จ่ายเงินสูงจากเงินบำนาญ มีเงินเก็บออม และมีประกันสุขภาพจากรัฐสวัสดิการ   โดยรัฐบาลจะมีการแก้กฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คนต่างชาติมาซื้อ และ/หรือเช่าระยะยาวอสังหาฯ  ได้สะดวกขึ้น ผ่านแนวทางเชิงนโยบาย 3 เรื่องหลัก ๆ คือ 1.ขยายเพดานสัดส่วนกรรมสิทธิ์ซื้อห้องชุด เป็น 70-80% จากปัจจุบัน 49% 2.ปลดล็อกต่างชาติซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ระดับราคา 10-15 ล้านบาทขึ้นไป   3.กำหนดให้นักลงทุนต่างชาติทำสัญญาเช่าได้สูงสุด 30 ปี จะมีการขยายเพิ่มเป็น 50 ปี และต่อได้อีก 40 ปี ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นยูนิตงานกลางข้อมูลด้านอสังหาฯของประเทศไทย ที่มีฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยมากที่สุดและน่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบัน ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่สะท้อนภาวะของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติ (Freehold) และข้อมูลการเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาวของคนต่างชาติ (Leasehold) มาสรุปภาวะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นเงื่อนไขสิ่งที่เกิดขึ้น ให้ต่างชาติซื้อคอนโดสัดส่วน 80% จำเป็นในบางพื้นที่ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ​จากข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด (คอนโดมิเนียม) ทั่วประเทศ พบว่า ในช่วงปี 2561 – 2563 มีชาวต่างชาติ​โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด 3 ปีสะสมรวมประมาณ 34,651 ยูนิต  มูลค่า 145,577 ล้านบาท​ หรือเฉลี่ยมียอดโอนกรรมสิทธิ์ปีละ 11,550 ยูนิต  มูลค่า 48,526 ล้านบาท ​​   โดยยังพบว่า ทำเลที่ชาวต่างชาติมียูนิตโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด อยู่ใน 5 จังหวัด ดังนี้ คือ จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ซึ่งทั้ง 5 จังหวัด มีสัดส่วนคอนโดที่โอนกรรมสิทธิ์รวมกันถึง 96.2% ยูนิตโอนกรรมสิทธิ์คอนโด​ของคนต่างชาติทั้งประเทศ  จังหวัดชลบุรีที่มีสัดส่วนโอนกรรมสิทธิ์คอนโดสูงสุด 30.3% รองลงมาคือ เชียงใหม่ 18.5%,  ภูเก็ต 17.0%, กรุงเทพฯ 7.8% และสมุทรปราการ 6.3% สำหรับจังหวัดอื่นที่ไม่ได้ยกขึ้นมาแสดง มีสัดส่วนในยูนิตกรรมสิทธิ์ห้องชุดน้อยมากอย่างไม่มีนัยสำคัญ แต่ในภาพรวมสัดส่วนในยูนิตกรรมสิทธิ์คอนโดของคนต่างชาติทั้งประเทศ ในช่วงปี 2561 – 2563 มีเพียง 9.0% หรือมีสัดส่วนมูลค่าเท่ากับ 14.7%​ เท่านั้น ขณะเดียวกันหากมองในด้านราคาคอนโดที่ต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์  จะพบว่า  ราคาคอนโดที่คนต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด จะมีระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยมีสัดส่วน 77.6%  แต่สัดส่วนในการเป็นเจ้าของคอนโดมีเพียง 7.7% เท่านั้น  แต่ขณะที่คอนโดในราคาเกินกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งมียูนิตที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รวมกันเพียง 22.4% กลับมีสัดส่วนการเป็นเจ้าของในยูนิตคอนโดนสูงกว่า โดยมีประมาณ 20.0% ข้อมูลข้างต้นได้สะท้อนประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นสำคัญ คือ   1.ในช่วงที่ผ่านมาชาวต่างชาติมีความสนใจที่จะซื้อห้องชุดในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองศูนย์กลางทางภูมิภาค เมืองขนาดใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว   2.ในภาพรวมอัตราส่วนยูนิตที่เป็นเจ้าของคอนโด​ ของคนต่างชาติน่าจะยังต่ำกว่า 49% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่อาจมีคอนโดในบางพื้นที่ อาจเป็นที่ต้องการของคนต่างชาติมาก จึงทำให้มีความต้องการเป็นเจ้าของคอนโดมากกว่า 49% ตามที่กฎหมายกำหนด ​   3.คอนโดที่คนต่างชาติซื้อส่วนใหญ่ซื้อในระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นระดับที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของคนไทยส่วนใหญ่ แต่ด้วยคอนโดประเภทนี้ มีจำนวนมากในตลาด จึงทำให้สัดส่วนยูนิตที่ต่างชาติเป็นเจ้าของมีไม่ถึง 10% ขณะที่ระดับราคาเกินกว่า 5 ล้านบาท มีสัดส่วนประมาณ 20% ส่งผลให้ในโดยภาพรวมทุกระดับราคาของคอนโด  ชาวต่างชาติยังเป็นเจ้าของคอนโดในสัดส่วนยังต่ำกว่า 49% ตามที่กฎหมายกำหนด จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เห็นข้อสังเกตได้ว่า การขยายสัดส่วนในยูนิตกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับคนต่างชาติ ให้สามารถมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ได้มากกว่า 49% นั้น อาจจะมีความจำเป็นเพียงในบางพื้นที่เท่านั้น และระดับราคาที่ควรส่งเสริมให้เพิ่มสัดส่วนให้สูงขึ้นควรเป็นห้องชุดระดับราคามากกว่า 5 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้ห้องชุดระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทถูกซื้อไปโดยคนต่างชาติมากเกินควร นอกจากนี้ หากมีการเพิ่มสัดส่วนในกรรมสิทธิ์คอนโดสำหรับคนต่างชาติให้มากกว่า 49% แล้ว ควรคำนึงถึงการใช้ชีวิตของคนไทยในคอนโด​ ให้สอดคล้องตามบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของไทย โดยผ่านการกำหนดสิทธิในการโหวต (Voting Right) ในนิติบุคคลคอนโดของเจ้าของร่วม ที่ควรให้ชาวต่างชาติมีสิทธิในการโหวตน้อยกว่าเจ้าของร่วมที่เป็นคนไทย แนะให้สิทธิ์ต่างชาติซื้อบ้าน-ที่ดินเกิน 15 ล้าน สำหรับแนวทางเชิงนโยบายในเรื่องการเปิดให้คนต่างชาติ สามารถซื้อและมีกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินนั้น ในปัจจุบันยังไม่ปรากฏข้อมูลที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากกฎหมายยังคงจำกัดสิทธิของคนต่างชาติในการถือครองกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินอย่างมาก แต่ยังมีข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการว่า คนต่างชาติบางรายมีการใช้ตัวแทน (Nominee) ในการถือครองกรรมสิทธิ์แทน หรือ อาจถือในนามนิติบุคคลที่มีชาวต่างชาติถือหุ้นอยู่   ดังนั้น หากประเทศไทยเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามามีกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินแล้ว ก็คาดว่าน่าจะมีคนต่างชาติที่ต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพอสมควร เนื่องจากราคาบ้านและที่ดินในประเทศไทยยังคงมีราคาต่ำกว่าในหลายประเทศมาก และบางประเทศกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของรัฐ   ทั้งนี้ อาจต้องพิจารณากำหนดให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินในบ้านที่มีราคาสูงกว่า 15 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากในปัจจุบันผู้ซื้อชาวไทยส่วนใหญ่ประมาณ 90% เป็นบ้านจัดสรรในระดับราคาไม่เกิน 15 ล้านบาท ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในเรื่องของราคาบ้านปรับตัวขึ้นเร็วเกินไป ขยายระยะเวลาเช่า 90 ปีดึงชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ควรการกำหนดสิทธิในการโหวต ของคนต่างชาติในนิติบุคคลบ้านจัดสรร ให้มีได้ไม่เกิน 49% เพื่อให้เจ้าของร่วมที่เป็นคนไทย สามารถมีสิทธิในการกำหนดกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในชุมชนให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมตามบริบทของสังคมไทย   อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาคนต่างชาติ ยังมีรูปแบบการครอบครองที่อยู่อาศัย ทั้งคอนโด​ บ้านและที่ดินในประเทศไทย ด้วยการมีสิทธิ์ในการครอบครองที่อยู่อาศัย แบบการทำสัญญาเช่าระยะยาว หรือ  Leasehold ซึ่งตามกฎหมายที่ดินปัจจุบันกำหนดให้สามารถเช่าได้ไม่เกิน 30 ปี และสามารถต่ออายุได้รอบละ 30 ปี แต่ในทางปฏิบัติมักมีการทำสัญญาต่ออายุไว้เลยอีก 2 รอบ รวมเป็น 90 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีคนต่างชาติที่ให้ความสนใจในรูปแบบนี้มีจำนวนไม่มากนัก ดังจะเห็นได้ว่าชาวต่างชาติที่มีการทำสัญญาเช่าระยะยาวในระหว่างปี 2561 – 2563 สะสมรวมทั้งหมด 1,483 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 5,390 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 494 ยูนิต มูลค่า 1,797 ล้านบาท   โดยแบ่งเป็นคอนโดจำนวน 1,280 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 4,503 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 427 ยูนิต มูลค่า 1,501 ล้านบาท บ้านและที่ดิน 203 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 888 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 68 ยูนิต มูลค่า 296 ล้านบาท ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ตลาดการเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาวในช่วงที่ผ่านมาจึงมีขนาดเล็กมาก ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 93.4% อยู่ในเมืองท่องเที่ยว คือ ภูเก็ต 78.8% ชลบุรี 10.3% และเชียงใหม่ 6.3%   ขณะที่สัญชาติของคนต่างชาติที่เข้ามาเช่าระยะยาว ที่โดดเด่นมี 2 สัญชาติ คือ รัสเซีย ที่มีสัดส่วนการเช่าถึง 43.2% ของการเช่าทั้งหมด และ จีน มีสัดส่วนการเช่าถึง 23.5% ของการเช่าของคนต่างชาติทั้งหมด ซึ่งนิยมเช่าคอนโดมากกว่าประเภทแนวราบ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ตลาดการเช่าระยะยาวปัจจุบันยังมีขนาดเล็กมาก ซึ่งอาจเป็นผลจากระยะเวลาในการให้เช่ามีเพียง 30 ปี และสามารถต่อคราวละ 30 ปี อาจยังไม่จูงใจให้คนต่างชาติเข้ามาเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาวในประเทศไทย ดังนั้น หากขยายเวลาเช่าระยะยาวออกเป็น 50 ปี และต่อได้อีก 40 ปี ก็น่าจะสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจของต่างชาติมากขึ้น และถือเป็น Lifetime Tenant หรือ สิทธิ์ในการอยู่อาศัยต้นในชั่วชีวิตของคนเช่า เพราะชาวต่างชาติอาจกังวลว่าการต่อสัญญาอาจมีความไม่แน่นอนในการปรับราคาขึ้นของที่ดิน หรือ การเปลี่ยนแปลเงื่อนไขการเช่า หรือ เจ้าของต้องการใช้ที่ดินในลักษณะอื่น เป็นต้น ฉะนั้น ถ้าชาวต่างชาติสามารถเช่าได้ถึง 90 ปี ด้วยการการทำสัญญา 2 ครั้ง แทนที่จะเป็น 3 ครั้ง เท่ากับสามารถลดความเสี่ยงไปได้ 1 ใน 3 เร่งแก้โควิด-19 กระตุ้นตลาดต่างชาติ จากข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้น ถ้านโยบายเหล่านี้สามารถทำได้จริง ก็จะเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมาก เพราะเป็นนโยบายที่สามารถสร้างความต้องการ (Demand) ใหม่ ๆ จากต่างประเทศ แต่เนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต่างชาติในปัจจุบัน ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเพียงประมาณ 10% ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทั้งหมด และยังมีอุปสรรคในการขยายฐานจำนวนลูกค้ากลุ่มนี้ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ชาวต่างชาติอาจขาดแรงจูงใจในการซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งคาดว่านโยบายนี้จะช่วยสร้างแรงซื้อที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ ซึ่งเป็นเหมือนนโยบายเสริมในการช่วยฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยนโยบายเหล่านี้อาจไม่ได้ส่งผลบวกอย่างเป็นรูปธรรมทันที แต่น่าจะส่งผลในเชิง Sentiment และการวางแผนทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในอนาคตได้อย่างดี   การดำเนินนโยบายเหล่านี้จะต้องชัดเจนในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะแก้ไขด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมถึงการกำหนดไทม์ไลน์สำหรับดำเนินการให้ชัดเจน โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในความสำเร็จของนโยบายนี้คือ การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสามารถเร่งเปิดประเทศเพื่อรับชาวต่างชาติเข้าประเทศให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจการค้า การประชุมสัมมนา การจัดนิทรรศการ และการท่องเที่ยว เพื่อให้อสังหาริมทรัพย์ของไทยได้รับสนใจคนต่างชาติดังเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของสิ่งเหล่านี้ในภูมิภาคอาเซียนนี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนไทยยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอยู่มาก การขยายสิทธิ์ในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยให้แก่คนต่างชาติ ทั้งการเพิ่มอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดให้กับคนต่างชาติ หรือ การอนุญาตให้คนต่างชาติสามารถมีกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดิน หรือ การขยายเวลาเช่าระยะยาวออกเป็น 50 ปี และต่อ 40 ปี นั้น จึงควรจะต้องพิจารณาในจุดที่มีความเหมาะสม โดยอาจพิจารณากำหนดให้มีการขยายสิทธิ์ในการครอบครองที่อยู่อาศัยให้แก่คนต่างชาติในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ศูนย์กลางธุรกิจและพาณิชยกรรม เช่น กรุงเทพฯ EEC เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น และ ที่อยู่อาศัยในระดับราคา เกินกว่า 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่มีกระทบน้อยมากต่อผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย          
REIC เปิด 5 ทำเลราคาที่ดินยังพุ่งสูง​​ ท่ามกลางโควิด-19 ระรอกใหม่

REIC เปิด 5 ทำเลราคาที่ดินยังพุ่งสูง​​ ท่ามกลางโควิด-19 ระรอกใหม่

รอบปีที่ผ่านมา ดีเวลลอปเปอร์อสังหาริมทรัพย์ มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก เพราะความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การซื้อที่ดินใหม่เพื่อนำมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยลดลงตามไปด้วย รวมถึงชะลอแผนการสะสมที่ดินเพื่อเตรียมไว้พัฒนาโครงการในอนาคต  โดยหันมาพัฒนาโครงการบนที่ดินเดิมที่ซื้อไว้ก่อนแล้ว ​   เมื่อความต้องการซื้อที่ดินชะลอตัวลง ทำให้ประเมินกันว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินอาจจะมีการปรับลดราคาลง ตามหลักดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งพบว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในช่วงไตรมาส 3 หลังเกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 จนนำมาสู่การล็อกดาวน์ประเทศในช่วงไตรมาส 2 นั้น พบว่าดัชนีราคาที่ดินเปล่ามีการขยายตัวเพียง 0.7% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวถึง 5.2% และขยายตัวในอัตรา 21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน   อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในไตรมาส 4 มีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะสถาการณ์แพร่ระบาดเริ่มปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังต่ำกว่าช่วงที่ผ่านมาในอดีตก็ตาม โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเป็น 7.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 แต่มีค่าดัชนีลดลงเท่ากับ 17.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาที่ดินลดต่ำลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี​ สำหรับปี 2564 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง ได้ส่งผลกระทบทำให้ค่าดัชนีราคาที่ดินได้รับผลกระทบ และมีอัตราการขยายตัวต่ำสุด นับตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2559 โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานว่า ค่าดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี 2564 มีค่าดัชนีเท่ากับ 326.2 จุด หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ยังเพิ่มขึ้นเพียง 11.2% แต่เริ่มเห็นสัญญาณราคาที่ดินเริ่มลดลง ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2559 – 2563) ที่มีค่าดัชนี 17.7% ต่อไตรมาส   นอกจากนี้  เมื่อเปรียบเทียบกับค่าดัชนีราคาที่ดินในไตรมาสก่อนหน้า  พบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2564 มีค่าดัชนีลดลงติดลบ 2.2% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรก ตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำดัชนีราคาที่ดินเปล่าของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2555 ด้วย   ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ​ ศูนย์ข้อมูลฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ได้เห็นภาวการณ์ชะลอตัว และการปรับลดลงของราคาที่ดิน เป็นไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ภาวการณ์ลดลงของดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ยังถูกสะท้อนถึงความต้องการซื้อขายที่ดินเปล่าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ที่มีจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงถึง 13.3% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้มีการปรับตัว โดยอาจมีการซื้อที่ดินสะสมไว้น้อยลง และมีการซื้อที่ดินใหม่เมื่อต้องใช้ในการพัฒนา ​มากกว่าที่จะซื้อมาเก็บไว้รอการพัฒนาในอนาคต 5 ทำเลราคาดินปรับตัวสูง แต่อย่างไรก็ตาม  ยังพบว่า มีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาเพิ่มขึ้นมากในไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นที่ดินในทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า โดยพบ 5 ทำเลแนวรถไฟฟ้าที่ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ 1.แนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทำเลที่มีการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดของดัชนีราคาที่ดินก่อนการพัฒนา คือ ที่ดินในทำเลแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑล สาย 4) ที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น  38.3% เป็นที่ดินโซนตะวันตกของกรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) ที่เปิดให้บริการแล้ว 2.แนวรถไฟฟ้าสายสีทอง-น้ำเงิน-ส้ม  ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) ที่เพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อเดือนธันวาคม 2563 และสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) และ สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) ที่เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต  โดยทั้ง 3 โครงการมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น  35.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) 3.แนวรถไฟฟ้าสีส้ม ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่มีความคืบหน้าการก่อสร้างโดยรวมอยู่ที่ 79.44% (ณ มีนาคม 2564) มีอัตราขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 35.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ดัชนีราคานี้ทำให้เห็นว่าราคาที่ดินโซนตะวันตก และโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ มีราคาเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสนี้ 4.แนว MRT ที่ดินตามแนว MRT ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว และ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต โดยทั้ง 2 โครงการ มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) 5.แนว BTS สายสุขุมวิท  ทำเลที่ดิน BTS สายสุขุมวิท ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 34.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)    
4 เทรนด์ที่อยู่อาศัยมาแรง ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย

4 เทรนด์ที่อยู่อาศัยมาแรง ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย

ในปี 2564 นี้ ถือว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) แล้ว เพราะข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ  ระบุว่า​ ประเทศไทยมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ ​(United Nations:UN) ที่ได้แบ่งระดับ​การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่   1.ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า  10% ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ   2.ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์   3.ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า  20% ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่  โดยประเทศไทยคาดว่าจะเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ ในปี ​2574   ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมผู้สูงอายุ ในไทยมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ คงเป็นเพราะปัจจุบันรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้อยู่ภายใต้บริบทและปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น หรือมีบุตรลดลง เปลี่ยนรูปแบบจากครอบครัวขยายในอดีตเป็นครอบครัวเดี่ยวอย่างชัดเจน   การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของสังคมผู้สูงอายุได้ทำให้เกิดโอกาสทางการตลาด  สำหรับการเจาะกลุ่มผู้บริโภคสูงวัย (Silver Age) เหล่านี้  ด้วยกำลังซื้อที่มีสูง  เพราะเป็นผลมาจากการบริหารจัดการรายได้ ตลอดชีวิตการทำงานผ่านการออมทรัพย์และลงทุนต่าง ๆ ประกอบกับแนวคิดการใช้ชีวิตที่มีความทันสมัย และรู้จักใช้เทคโนโลยีเป็นประจำ ไม่ลังเลที่จะใช้เงินเก็บมาซื้อความสุขและดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์ต่าง ๆ ไม่แพ้วัยรุ่นเช่นกัน จนทำให้หลายธุรกิจหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์เพื่อดึงดูดกำลังซื้อของคนสูงวัยมากขึ้น เทรนด์ที่อยู่อาศัยมาแรง ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย ไม่เพียงแต่สินค้าและบริการ ที่เป็นของใช้ในการดำรงชีวิต หรือสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปเท่านั้น สินค้าที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าสูง ซึ่งตลอดทั้งชีวิตอาจจะซื้อได้เพียง 1 ครั้ง หรืออย่างมากแค่ 2 ครั้งเท่านั้น สำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือแม้แต่ห้องชุดคอนโดมิเนียม ต่างก็มองว่า กลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ คือ กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดสำคัญที่คือโอกาสทางการตลาด สร้างรายได้และเม็ดเงินมหาศาล จึงหันมาจับตลาดกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ ด้วยการพัฒนารูปแบบของบ้าน หรือห้อง รวมถึงโครงการ ที่ให้การใช้ชีวิตและการอยู่อาศัยภายในบ้านของผู้สูงอายุ พักอาศัยได้อย่างมีความสุข สุขภาพดี และปลอดภัย โดยข้อมูลจากดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้รายงานถึงเทรนด์ที่อยู่อาศัยที่น่าสนใจ และเป็นที่น่าจับตามองสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการคนวัยนี้ ที่ไม่ได้มองหาบ้านเพื่ออยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรองรับการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างครบครัน ว่ามี 4 เทรนด์สำคัญ 1.เทรนด์สุขภาพมาแรง สุขภาพกายที่ดีต้องมาพร้อมความสบายใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เห็นคุณค่าของการมีสุขภาพดีมาเป็นอันดับต้น ๆ แน่นอนว่านอกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการออกกำลังกายจะเป็นปัจจัยสำคัญแล้ว ที่อยู่อาศัยก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่มีบทบาทในการสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีให้ผู้สูงอายุเช่นกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาอยู่ด้วยในแต่ละวันมากที่สุด   ดังนั้นการเลือกโครงการฯ ที่มีการออกแบบภายใต้แนวคิด สร้างสรรค์สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้ผู้อยู่อาศัย (Health & wellness residence) คำนึงถึงการใช้งานจริง ทั้งการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในให้รองรับผู้สูงอายุที่ต้องการเดินออกกำลังกายภายในบริเวณบ้านของตน มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับออกกำลังกายและพื้นที่สีเขียวที่มอบความร่มรื่นพร้อมรองรับการทำกิจกรรมด้านสุขภาพอื่น ๆ ในชุมชน   นอกจากนี้ปัจจุบันผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้หันมาร่วมมือกับโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสุขภาพเพื่อเพิ่มบริการดูแลสุขภาพหรือบริการทางการแพทย์ไว้ในโครงการฯ ด้วย เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์การสร้างสรรค์สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีได้อย่างน่าสนใจ และเป็นตัวเลือกที่ควรพิจารณาสำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ 2.Home Solutions เพื่อการอยู่อาศัยที่สะดวก-ปลอดภัย แนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการฯ หันมาให้ความสนใจและพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น มีโครงการฯ ที่ออกแบบให้เป็นบ้านสำหรับผู้สูงอายุด้วยความเข้าใจที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบห้องนอนผู้สูงอายุให้มีความเป็นส่วนตัวและอากาศถ่ายเทสะดวก หรือนำนวัตกรรม Home Solutions ต่าง ๆ มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในบ้านได้ราบรื่น และช่วยป้องกันอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน เช่น ปูพื้นด้วยวัสดุลดแรงกระแทก (Shock Absorption Floor) เพื่อช่วยลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุหกล้ม   การออกแบบราวจับในห้องน้ำ ราวบันไดทั้งสองข้าง หรือพื้นต่างระดับในบ้านเพื่อทรงตัวและเดินได้มั่นคงขึ้น ทำทางลาดสำหรับรถเข็นในการเข้าสู่ตัวบ้าน หรือออกแบบให้ประตูห้องน้ำเปิดออกมาด้านนอก ในกรณีที่มีคนล้มขวางประตูด้านใน ซึ่งรายละเอียดในการออกแบบที่มีพื้นฐานเพื่อตอบโจทย์ผู้อาศัยอย่างแท้จริงนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างมั่นใจและสบายใจมากขึ้นแล้ว แน่นอนว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวก็จะสามารถใช้ชีวิตในบ้านนี้อย่างปลอดภัยเช่นกัน 3.ระบบบ้านอัจฉริยะ ปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี นอกจากเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคนยุคนี้ในหลากหลายด้านแล้ว ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยอีกด้วย เห็นได้จากการเติบโตของเทรนด์บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยสามารถควบคุมการทำงานระบบต่าง ๆ ของบ้านผ่านการสั่งงานด้วยเสียงหรือจากแอปพลิเคชั่น ซึ่งยกระดับความปลอดภัยให้ที่อยู่อาศัย เช่น กลอนประตูดิจิทัล (Digital Door Lock) หรือการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่รองรับการรับชมภาพออนไลน์และดูย้อนหลังได้ผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยให้ผู้สูงอายุที่ห่วงใยในทรัพย์สินและติดบ้านคลายความกังวลเมื่อต้องห่างจากบ้านได้   นอกจากนี้ระบบบ้านอัจฉริยะยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักมีอาการหลงลืมก็สามารถเลือกควบคุมการเปิด-ปิดไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน/คอนโดฯ ผ่านสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา แม้ทำธุระอยู่ข้างนอกก็สามารถกดเช็กดูระบบไฟเพื่อความชัวร์ได้ทันที 4.เป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย ต่อยอดการลงทุนได้ในอนาคต ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุไม่ได้เน้นไปที่การอยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไม่ใช่การมีบ้านหลังแรก แต่มีการวางแผนระยะยาวด้วยการมองหาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของครอบครัว พร้อมทั้งมีศักยภาพที่ต่อยอดไปสู่การลงทุนได้ในอนาคต เนื่องจากที่อยู่อาศัยถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีความต้องการในตลาดไม่น้อย ข้อมูลจากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study เผยว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผู้สูงอายุในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจากบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นจะสนใจที่ชื่อเสียงของบริษัทมาเป็นอันดับแรก 58% ตามมาด้วยผลงานของผู้พัฒนาฯ ในโครงการที่ผ่านมา 56% และคุณภาพของงานตกแต่งภายในที่ผู้พัฒนาฯ มอบให้ 55% ซึ่งชื่อเสียงที่ดีของผู้พัฒนาฯ ย่อมส่งผลด้านบวกที่ช่วยให้การประกาศขาย/เช่าในอนาคตง่ายขึ้น ต่างจากกรณีของผู้บริโภคที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเป็นหลักจึงพิจารณาจากคุณภาพของงานตกแต่งภายในที่ได้จากผู้พัฒนาฯ มาเป็นอันดับแรก (68%) อย่างไรก็ดี แม้ไม่ใช่เพื่อการขาย ผู้สูงอายุก็ยังมีทางเลือกในการปล่อยเช่าบ้าน/คอนโดฯ เพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องแทน   ปัจจุบันเทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุแพร่หลายมากขึ้น ทั้งการเปิดตัวโครงการอสังหาฯ ที่เจาะกลุ่มนี้โดยเฉพาะ หรือการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ให้เลือกนำไปปรับใช้กับบ้านเดิมที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ธนาคารได้มีการนำเสนอ “Reverse mortgage หรือสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นของตนเองแต่ไม่ต้องการขายบ้านทันที เพราะยังต้องใช้อยู่อาศัยและต้องการมีรายได้รายเดือนเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน   หลักการทำงานจะมีรูปแบบเหมือนการทยอยขายบ้านให้กับธนาคาร ซึ่งธนาคารจะตีมูลค่าบ้านพร้อมกับประเมินอายุเฉลี่ยของผู้กู้แล้วจะทยอยจ่ายเงินค่าบ้านให้เป็นรายเดือน โดยผู้กู้ก็ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังนั้นและยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้จนกระทั่งผู้กู้นั้นเสียชีวิตหรือตัดสินใจขายบ้านไปก่อน ซึ่งหลังครบกำหนดตามสัญญา บ้านก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ตอบโจทย์ความต้องการมีบ้านของผู้สูงอายุพร้อมทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี 5 เหตุผลผู้สูงอายุ ซื้อบ้านใหม่ ผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อจำนวนมาก ต้องการมีชีวิตในช่วงเวลาที่เหลืออย่างมีคุณภาพ จึงเลือกที่หาสิ่งที่ดีและทำให้ชีวิตตนเองมีความสุข ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีภาระจากบุตรหลาน หรือเพื่อต้องการให้รางวัลกับชีวิตของตนเอง หลังจากใช้เวลาทำงานและสะสมรายได้จนมีกำลังจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับความเจริญของเมืองที่มีมากขึ้น ระบบการคมนาคมขนส่ง ซึ่งถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเกิดขึ้นของระบบรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ล้วนเป็นปัจจัยทำให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุง่ายมากขึ้น และสะดวกสบายมากกว่าในอดีต การเลือกซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือการเปลี่ยนบ้านหลังใหม่ในช่วงวัยผู้สูงอายุ จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ยิ่งปัจจุบันสถาบันการเงินบางแห่งมีแคมเปญการปล่อยกู้สำหรับผู้สูงอายุ ยิ่งทำให้การซื้อบ้านในวัยหลังเกษียณเป็นเรื่องง่าย   อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อบ้านหลังใหม่ ของผู้บริโภคชาวไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คงเกิดจากหลายเหตุผลและหลายปัจจัย  ซึ่งข้อมูลจากผลสำรวจพบว่ามี 5 เหตุผลที่ผู้สูงอายุให้ความสำคัญและใช้เป็นเกณฑ์ในการติดสินใจเลือกซื้อที่อยู่ใหม่ ได้แก่   1.ความต้องการพื้นที่ส่วนตัว สัดส่วนมากถึง 44% 2.ความต้องการไปอยู่อาศัยในทำเล หรือบรรยากาศใหม่ 31% 3.ต้องการความสะดวกที่มากขึ้น เช่น อยู่ใกล้โรงพยาบาล ที่ทำงาน โรงเรียน ฯลฯ  26% 4.ซื้อเพื่อลงทุน 26% เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีประสบการณ์และวางแผนการเงินและการใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ จึงให้ความสำคัญในเรื่องการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนระยะยาวมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ 5.เป็นการซื้อบ้านเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับสมาชิกในครอบครัว 15% นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการใช้พิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย คือ การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ และความปลอดภัยของทำเล โดยมีสัดส่วนที่เท่ากันอยู่ที่ 53% ตามมาด้วยทำเลที่ตั้ง 49% และโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรอบทำเลที่ 49% เท่ากัน   เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเน้นมองหาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น โดยไม่ละเลยความปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันตามไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างและการอยู่อาศัยได้อย่างสบายใจด้วยตนเอง ไม่เป็นภาระผู้อื่น   หลายคนอาจมีภาพจำว่าคนสูงวัยไม่คุ้นเคยกับการท่องโลกออนไลน์เท่าวัยอื่นในยุคดิจิทัล แต่ที่จริงแล้วผู้สูงอายุเรียนรู้ในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เห็นได้ชัดเจนจากพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจเรื่องซื้อที่อยู่อาศัย โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางยอดนิยมในการค้นหาข้อมูลในประชากรกลุุ่มนี้ถึง 62% ตามมาด้วยเว็บไซต์ของโครงการ 56% และเว็บพอร์ทัลด้านอสังหาฯ 47% เนื่องจากเป็นช่องทางที่สะดวก ช่วยให้ค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็วและหลากหลายมากพอที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาภายใต้การใช้วิจารณญาณและกรอบประสบการณ์ที่มี โดยมีเพียง 16% เท่านั้นที่จะเลือกปรึกษาและหาข้อมูลเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง และครอบครัว
เช็คให้ชัวร์ !! ซื้อบ้านใหม่ vs สร้างบ้านเอง แบบไหนเหมาะกับคุณ?

เช็คให้ชัวร์ !! ซื้อบ้านใหม่ vs สร้างบ้านเอง แบบไหนเหมาะกับคุณ?

การมีบ้านเป็นของตัวเองถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายและความภาคภูมิใจในชีวิตของผู้บริโภคส่วนใหญ่ นอกจากจะมีคุณค่าทางจิตใจ เมื่อสร้างครอบครัวแล้ว การได้พักผ่อนในบ้านที่เพียบพร้อมโดนใจยังเปรียบเสมือนเป็นรางวัลตอบแทนจากการทำงาน นอกจากนี้อสังหาริมทรัพย์ถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสามารถต่อยอดในอนาคตได้นอกเหนือจากการอยู่อาศัยอีกด้วย    แม้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันจะส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ ยังคงชะลอการใช้จ่ายเพื่อรอดูสถานการณ์ในอนาคต แต่ถือว่ายังพอมีสัญญาณบวกให้เห็น จากข้อมูลเรื่องดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาของกระทรวงพาณิชย์ ที่พบว่า  มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 47.5 จากระดับ 45.5 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต (ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 40.2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ระดับ 52.3) แสดงให้เห็นแนวโน้มกำลังซื้อของผู้บริโภคที่คาดว่าจะกลับมาในไม่ช้าเมื่อเศรษฐกิจปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขนาดและทำเล ปัจจัยเลือกซื้อบ้านคนยุคปัจจุบัน ข้อมูลจากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัย โดยพิจารณาจากเรื่องเหล่านี้ -ขนาดที่อยู่อาศัยให้ความสำคัญ 48% -สิ่งอำนวยความสะดวก 44% -ความคุ้มค่าในการใช้จ่าย โดยพิจารณาจากราคาเฉลี่ยต่อพื้นที่ใช้สอย 38%   ในขณะที่ปัจจัยภายนอกโครงการที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ -ทำเลที่ตั้งให้ความสำคัญ 54% -ความสะดวกสบายจากการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ 50% -ความปลอดภัยในโครงการ 45% จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ ยังคงให้ความสนใจไปที่การตอบโจทย์การอยู่อาศัยที่ครบครันเป็นหลัก มากกว่าความสวยงาม โดยเฉพาะเรื่องทำเลที่ตั้ง และระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นสองอันดับแรกที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญสูงสุด ซื้อบ้านใหม่ vs  สร้างบ้านเอง​ อย่างไหนเหมาะกับคุณ อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญในการอยู่อาศัยไม่แพ้กัน คือ ความปลอดภัยของที่อยู่อาศัย แม้เหตุผลที่หลายคนตัดสินใจเลือกซื้อบ้านใหม่จากโครงการบ้านจัดสรรเพราะต้องการความครบครันพร้อมอยู่อาศัยอย่างเบ็ดเสร็จ และประหยัดเวลาในการใช้ชีวิตหลาย ๆ ด้าน แต่ต้องไม่ลืมว่า “การเลือกซื้อบ้านใหม่” นั้น ผู้อยู่อาศัยจริงไม่ได้มีบทบาทในการวางระบบความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้าง แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าบ้านใหม่ที่ซื้อมาตอบโจทย์การอยู่อาศัยได้เพียงพอ ในขณะที่การจะตัดสินใจ “สร้างบ้านเอง” ก็มีความกังวลในเรื่องการควบคุมคุณภาพการก่อสร้างและการประสานงานกับผู้รับเหมา แล้วการมีบ้านหลังใหม่ในรูปแบบไหนที่เหมาะกับคุณมากกว่า   ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์  ได้นำเสนอข้อควรพิจารณาระหว่างการ “ซื้อบ้านใหม่” และ “สร้างบ้านเอง” เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคที่ต้องการมีบ้านสามารถตัดสินใจเลือกบ้านที่ตรงใจและครอบคลุมทุกความต้องการของคนในครอบครัวได้มากที่สุด ข้อดี การซื้อบ้านใหม่  -ได้บ้านใหม่พร้อมเข้าอยู่ ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายกว่า การเลือกซื้อบ้านในโครงการใหม่จะมีราคาที่แน่นอน ซึ่งเป็นราคาที่ทางโครงการได้คำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าบริหารจัดการต่าง ๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการขายและการตลาด ดังนั้นบ้านจัดสรรจึงค่อนข้างมีราคาที่ชัดเจนพอสมควร ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถวางแผนงบประมาณเพิ่มเติมในส่วนการตกแต่งภายในหรือค่าเฟอร์นิเจอร์ได้ง่ายขึ้น ต่างจากการสร้างบ้านเองที่ต้องมีการวางแผนค่าใช้จ่ายตั้งแต่ขั้นตอนการจ้างสถาปนิกเขียนแบบ จนกระทั่งการเลือกผู้รับเหมา นอกจากนี้ข้อดีของการซื้อบ้านจากผู้พัฒนาอสังหาฯ คือ เจ้าของบ้านไม่ต้องเหนื่อยมาลงแรงเองในขั้นตอนการก่อสร้างหรือคุมงาน ปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบของผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้โดยตรง -ยื่นขอสินเชื่อได้ง่ายกว่า มาพร้อมโปรฯ ดึงดูดใจ การยื่นขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านในโครงการใหม่มักมีข้อเสนอที่ดึงดูดความสนใจมากกว่า เนื่องจากผู้พัฒนาอสังหาฯ มักจะมีการจับมือกับพันธมิตรที่เป็นธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ ในการจัดทำโปรโมชั่น/แคมเปญการตลาดมานำเสนออย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นยอดขายและดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภคให้กลับมา เมื่อผนวกกับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญไปที่การซื้อบ้านใหม่จากผู้พัฒนาอสังหาฯ เท่านั้น จึงทำให้การซื้อบ้านใหม่ในโครงการต่าง ๆ เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจยิ่งขึ้นในช่วงนี้ มีความสะดวกสบายในขั้นตอนการดำเนินธุรกรรมและยื่นเอกสารขอสินเชื่อต่าง ๆ ซึ่งมีโอกาสกู้ได้วงเงินที่สูงกว่าด้วย -พื้นที่ส่วนกลางตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ อุ่นใจด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบให้รองรับการทำกิจกรรมที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยทุก Generation ทั้งในด้านการพบปะสังสรรค์หรือเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโซนพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะเน้นใกล้ชิดธรรมชาติที่นอกจากจะได้ความร่มรื่นจากต้นไม้แล้วยังช่วยกรองมลพิษอีกด้วย หรือการมีห้องฟิตเนส สระว่ายน้ำ และพื้นที่ออกกำลังกายกลางแจ้งเพื่อสร้างสุขภาพที่ยั่งยืน นอกจากนี้ โครงการหมู่บ้านจัดสรรยังมีระบบดูแลรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่คอยตรวจตราความสงบเรียบร้อย คัดกรองและบันทึกข้อมูลการเข้า-ออกของบุคคลภายนอก และมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วบริเวณโครงการ ซึ่งช่วยให้ลูกบ้านมีความมั่นใจเมื่ออยู่อาศัยหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้านมากขึ้น ข้อเสีย การซื้อบ้านใหม่  -ขยับขยายพื้นที่ลำบาก บ้านจัดสรรในโครงการต่าง ๆ มักจะมีการออกแบบแปลนบ้านมาตรฐานไว้อยู่แล้ว และในโครงการหนึ่งมักจะมีเพียงไม่กี่รูปแบบให้เลือก แน่นอนว่าย่อมไม่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยของทุกครอบครัวได้อย่างครบถ้วน เพราะไม่ได้ออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้งานจริงของครอบครัวนั้น ๆ โดยเฉพาะ นอกจากนี้เมื่อมีแผนขยายครอบครัวในอนาคตหากคิดจะขยับขยายหรือต่อเติมพื้นที่ใช้สอยเพิ่มก็เป็นเรื่องที่ลำบากและต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะที่ดินมีพื้นที่จำกัดและการต่อเติมต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิของเพื่อนบ้าน รวมทั้งต้องตรวจสอบข้อตกลง/ข้อกำหนดของโครงการบ้านจัดสรรที่ได้บัญญัติไว้อีกด้วย เช่น ห้ามตกแต่ง ต่อเติม ขยายรั้วนอกที่ดิน หรือทาสีฉูดฉาดภายในระยะเวลาที่กำหนด -วัดดวงกับนิติบุคคล และเพื่อนบ้านในอนาคต โครงการบ้านจัดสรรจะมีนิติบุคคลเป็นตัวแทนหมู่บ้านคอยจัดประชุมตามวาระต่าง ๆ รักษาความสงบเรียบร้อยในการใช้งานทรัพย์สินส่วนกลาง และควบคุมการบังคับใช้กฎระเบียบของสมาชิกในหมู่บ้านเพื่อสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข จึงถือว่ามีบทบาทสำคัญและส่งผลต่อการอยู่อาศัยไม่น้อย หากเป็นโครงการอสังหาฯ จากผู้ประกอบการรายกลางหรือรายเล็กอาจมีการคัดเลือกทีมนิติบุคคลจากผู้อยู่อาศัยขึ้นมาเป็นตัวแทนในการดูแลบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ แทนลูกบ้าน ซึ่งอาจจะไม่มีประสบการณ์บริการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบได้เทียบเท่าบริษัทรับบริหารนิติบุคคลมืออาชีพแน่นอน   นอกจากนี้ การเลือกซื้อบ้านใหม่ในโครงการบ้านจัดสรรจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเพื่อนบ้านที่ย้ายเข้ามาใหม่จะมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างไร หากต้องเผชิญปัญหากระทบกระทั่งระหว่างเพื่อนบ้านที่ไม่สามารถตกลงกันได้ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวไม่น้อย ถ้านิติบุคคลไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาให้จบด้วยดีได้ ก็เป็นอีกความท้าทายที่หลายคนไม่อยากเผชิญแน่นอน ข้อดี การสร้างบ้านเอง -ได้บ้านตรงตามอุดมคติ ออกแบบได้ในสไตล์ที่ถูกใจ การสร้างบ้านเองช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีความผูกพันกับบ้านและเพิ่มความภูมิใจเมื่อเป็นเจ้าของมากขึ้น เนื่องจากได้มีส่วนร่วมด้วยตนเองตั้งแต่การออกแบบบ้านในฝันออกมาเป็นรูปเป็นร่างเพื่อให้สถาปนิกเขียนแบบแปลน การเลือกออกแบบในสไตล์ที่ชอบ การคัดสรรวัสดุที่ใช้ รวมไปถึงเลือกผู้รับเหมาด้วยตัวเอง สามารถวางแผนตกแต่งในสไตล์ที่ชอบได้ตั้งแต่แรก ซึ่งจะลดปัญหาค่าใช้จ่ายในการรีโนเวทที่ตามมาในภายหลังได้ นอกจากผู้บริโภคที่สนใจสร้างบ้านเองจะได้บ้านใหม่ตรงตามที่วาดฝันและแน่นอนว่าบ้านนี้จะตอบโจทย์การอยู่อาศัยและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของสมาชิกในครอบครัวได้ครบถ้วนที่สุด -ได้บ้านในทำเลที่โดนใจ ท่ามกลางเพื่อนบ้านที่รู้ใจ ทำเลที่ตั้งของที่อยู่อาศัยมีผลต่อการตัดสินใจซื้อไม่น้อย แม้หลายโครงการบ้านจัดสรรจะมีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันแต่หากอยู่ในทำเลที่ไม่ดี เดินทางไม่สะดวกก็ถือว่าไม่ตอบโจทย์มากพอ เมื่อเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่มีการพัฒนาความเจริญในหลายด้านย่อมทำให้ทำเลทองบางแห่งมีราคาสูงตามไปด้วย หรือทำเลที่ดีบางแห่งอาจมีขนาดพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะพัฒนาเป็นโครงการอสังหาฯ ขนาดใหญ่ ดังนั้นการที่ผู้บริโภคเลือกที่จะซื้อที่ดินในทำเลที่ดีและเป็นมงคลตามความเชื่อมาเก็บไว้ก่อนที่จะดำเนินการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในอนาคตจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากที่ดินจะมีมูลค่าเพิ่มเรื่อย ๆ แม้จะเก็บไว้เป็นเวลานาน นอกจากนี้การสร้างบ้านในที่ดินตนเองทำให้รู้ว่าเพื่อนบ้านของเราเป็นใครบ้าง มีอุปนิสัยหรือประกอบอาชีพอะไร เพื่อประเมินสถานการณ์เบื้องต้นที่อาจเกิดขึ้นเมื่อย้ายเข้ามาอยู่อาศัย หรือหากใครมีที่ดินเปล่าในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านญาติพี่น้องก็ถือเป็นข้อดี เพราะเมื่อก่อสร้างบ้านในที่ดินนั้นก็จะยิ่งเพิ่มความสบายใจและอุ่นใจ เมื่อได้อาศัยท่ามกลางเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยกัน -ควบคุมคุณภาพบ้าน อัพเกรดความปลอดภัยได้ตามใจสั่ง การเลือกสร้างบ้านเองนั้นผู้บริโภคจะสามารถเลือกวัสดุที่ใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้บ้านได้ด้วยตนเองได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่งานโครงสร้างจนถึงงานสถาปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุที่มีค่าการต้านทานความร้อนสูง มีคุณสมบัติทนไฟ หรือเสริมระบบป้องกันปลวก เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาหรือเหตุไม่คาดฝันในอนาคต แม้แต่บ้านที่อยู่ในทำเลที่มีความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ก็สามารถเลือกใช้การก่อสร้างแบบใหม่ที่ช่วยให้บ้านแข็งแรงยิ่งขึ้นและทนต่อการเกิดแผ่นดินไหวได้อีกด้วย นอกจากนี้ผู้อยู่อาศัยยังเลือกใช้เทคโนโลยีมาช่วยวางระบบความปลอดภัยในบ้านผ่านการติดตั้งกล้องวงจรปิด ระบบดักจับควัน ระบบดักจับการเคลื่อนไหวในบ้านเพิ่มเติมได้ แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามระดับความปลอดภัยที่ได้รับเพิ่ม แต่จะช่วยให้เจ้าของบ้านอุ่นใจว่าได้เสริมเกราะป้องกันให้บ้านปลอดภัยและสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติและการโจรกรรมที่ไม่คาดคิดได้ดีขึ้นอีกระดับ ข้อเสีย การสร้างบ้านเอง -เสี่ยงดวงกับผู้รับเหมา ต้องมีความรู้เรื่องก่อสร้าง การจ้างผู้รับเหมาถือเป็นความท้าทายอันดับต้น ๆ ของคนสร้างบ้าน เพราะไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่างานที่ได้จะออกมามีคุณภาพตามที่คิดหรือไม่ เนื่องจากการอ่านรีวิวสร้างบ้านตามสื่อต่าง ๆ อาจไม่สามารถนำมาวัดผลหน้างานจริงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเมื่อเกิดปัญหาจุกจิกระหว่างการก่อสร้าง เจ้าของบ้านจะเรียกร้องให้ช่างแก้ไขได้มากน้อยเพียงใด หากเจ้าของบ้านไม่มีความรู้เลยก็อาจเสียเปรียบหรือโดนหลอกโกงสเปกวัสดุได้ง่าย ๆ งานที่ได้อาจไม่มีคุณภาพมากเพียงพอเท่าราคาที่เสียไป ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรหมั่นศึกษาหาความรู้พื้นฐานเรื่องการก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นแนวทางในตรวจเช็กเอกสาร สเปกวัสดุ ตรวจสอบค่าใช้จ่ายในเอกสารแสดงรายการวัสดุและค่าใช้จ่าย (Bill of Quantities หรือ BOQ) เพื่อป้องกันการเสียรู้ให้ผู้รับเหมาในเบื้องต้น และต้องตกลงรายละเอียดงานและสัญญาว่าจ้างให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดในภายหลัง -เสี่ยงงบบานปลาย ต้องวางแผนการเงินอย่างดี การเลือกสร้างบ้านเองนั้นแม้จะได้บ้านที่ถูกใจมากกว่า แต่แน่นอนว่าย่อมแลกกับการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นทั้งในส่วนค่าที่ดิน ค่าออกแบบแปลน ค่าสถาปนิก ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงผู้รับเหมา รวมถึงค่าตกแต่งเพื่อความสวยงาม หากผู้บริโภคไม่มีประสบการณ์ในการรับมือปัญหาเหล่านี้ หรือไม่มีการวางแผนทางการเงินที่รัดกุมเพียงพออาจนำไปสู่ปัญหางบบานปลาย คุมค่าใช้จ่ายไม่อยู่ เนื่องจากค่าวัสดุอุปกรณ์มีการปรับเปลี่ยนตามเกรดและอาจมีการเบิกค่าใช้จ่ายที่ผู้รับเหมาไม่ได้แจ้งล่วงหน้า หากไม่กำหนดเพดานค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนหรือสำรองเงินไว้เพียงพอ อาจเกิดปัญหาในภายหลังได้ ดังนั้น การเลือกทำบัญชีรายรับ–รายจ่ายเพื่อบันทึกค่าใช้จ่ายทั้งหมดตั้งแต่วางแผนมีบ้านจนเริ่มก่อสร้าง และอัพเดตงบประมาณที่ตั้งไว้ตลอดเพื่อประมาณการค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้ดีขึ้น   อย่างไรก็ตาม การมีบ้านเป็นของตัวเองนั้นไม่ว่าจะเลือกซื้อบ้านใหม่หรือสร้างบ้านเอง ผู้บริโภคต้องคำนึงเสมอว่าความต้องการของผู้อยู่อาศัยคือสิ่งสำคัญที่สุด แต่ต้องไม่ลืมว่าการพิจารณางบประมาณที่มีให้เหมาะสมกับการซื้อหรือสร้างบ้านก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน     ภาพประกอบ
ยอดโอนคอนโดต่างชาติปี 63 ต่ำสุดรอบ 3 ปี  ปิดตัวเลขแค่ 8,285 ยูนิต

ยอดโอนคอนโดต่างชาติปี 63 ต่ำสุดรอบ 3 ปี ปิดตัวเลขแค่ 8,285 ยูนิต

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เคยมีส่วนสำคัญ ต่อการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ในกลุ่มตลาดคอนโดมิเนียมไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทย ที่บางโครงการมียอดซื้อขายจนเต็มโควตาสัดส่วน 49% ของโครงการ แต่ปัจจุบันตัวเลขหดหายจนเป็นศูนย์ในบางโครงการ เพราะไม่สามารถเดินทางเข้ามาซื้อขายได้ ส่วนโครงการที่ซื้อไปก่อนหน้าก็ยังคงชะลอการโอนกรรมสิทธิ์ออกไปก่อน   โควิด-19 ทำยอดโอนลดลงกว่า 61% ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์คอนโด (คอนโดมิเนียม) ของคนต่างชาติ ทั่วประเทศปี 2563 ที่ผ่านมา​ พบว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดคอนโด​ที่ขายให้กับคนต่างชาติ  เนื่องจากได้มีการล็อกดาวน์การเดินทางเข้า-ออกประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดของคนต่างชาติ ทำให้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวในส่วนของการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดเพียง 1,162 ยูนิต โดยลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562  อัตรา 61.1% และมีมูลค่าลดลงเหลือ 5,073 ล้านบาท หรือลดลง 54.3%   ต่อมา ในไตรมาสที่ 3-4 สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยเป็นผลมาจากความพยายามแก้ปัญหาของผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อชาวต่างชาติสามารถทำการรับโอนกรรมสิทธิ์คอนโดที่สร้างเสร็จพร้อมโอนได้ โดยเพิ่มเป็น 1,885 ยูนิต มูลค่ารวม 9,381 ล้านบาทในไตรมาส 3 และจำนวน 2,592 ยูนิต มูลค่ารวม 12,730 ล้านบาท ในไตรมาสสุดท้าย ส่งผลให้ทั้งปี 2563 มีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดของคนต่างชาติทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 8,285 ยูนิต มูลค่า 37,716 ล้านบาท  โดยจำนวนยูนิตต่ำกว่าปี 2562  35.3% และมูลค่าลดลง 25.5%   แผนภูมิแสดงจำนวนยูนิตและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดของคนต่างชาติทั่วประเทศ รายไตรมาส   ที่มา :     กรมที่ดิน รวบรวมประมวลผลโดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์   แผนภูมิแสดงจำนวนยูนิตและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดของคนต่างชาติทั่วประเทศ รายปี ที่มา : กรมที่ดิน รวบรวมประมวลผลโดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สัดส่วนต่างชาติต่ำสุดในรอบ 3 ปีเหลือ 6.8% ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดของคนต่างชาติ เทียบกับคนไทย พบว่า ในปี 2561 คนต่างชาติเคยมีสัดส่วนการโอนกรมมสิทธิ์คิดเป็น 10.1% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด และมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 16.3% ของมูลค่าทั้งหมด ต่อมาในปี 2562 มีสัดส่วนลดลงเหลือ 9.9% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด และ 15.5% ของมูลค่าทั้งหมด และมีสัดส่วนต่ำสุด เหลือเพียง 6.8% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด และ 12.1% ของมูลค่าทั้งหมดในปี 2563   ระดับราคาคอนโดที่คนต่างชาติมีการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2561 – 2563) ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท และราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท โดยทั้งสองระดับราคาจะมีสัดส่วนจำนวนยูนิตใกล้เคียงกันคือ 23.2% และ 23.0% ตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณาด้านมูลค่าการโอน พบว่า คอนโดระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาท จะมีสัดส่วนมูลค่าสูงสุดถึง 28.5%   สัดส่วนจำนวนยูนิตและมูลค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (ปี 2561 – 2563) แยกตามระดับราคาคอนโด ที่มา : กรมที่ดิน รวบรวมประมวลผลโดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กทม.เมืองหลักต่างชาติซื้อคอนโด จังหวัดที่มีจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดของคนต่างชาติมากที่สุดในปี 2563 ใน 10 ลำดับแรก ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนยูนิตรวมกันมากถึง  99.7% และมีสัดส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์รวมกันมากถึง  99.8% ส่วนที่เหลืออีก 20 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนยูนิตเพียง 0.3% และสัดส่วนมูลค่ารวมกัน 0.2% 3 จังหวัดแรกที่มีการโอนกรรมสิทธ์ของคนต่างชาติมากที่สุด ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนยูนิตมากถึง 57.1% และมีสัดส่วนมูลค่าการโอนมากถึง 73.5% เกินกว่าครึ่งหนึ่งของการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดของคนต่างชาติทั่วประเทศ 2.จังหวัดชลบุรี มีสัดส่วนจำนวนยูนิต  24.9% แต่มีสัดส่วนมูลค่า 14.2 3.จังหวัดภูเก็ต มีสัดส่วนจำนวนยูนิตเพียง  4.7% แต่มีสัดส่วนมูลค่า  4.6%   จังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมากที่สุด 10 ลำดับแรก (เรียงตามจำนวนยูนิตปี 2563) ที่มา : กรมที่ดิน รวบรวมประมวลผลโดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ชาวจีนครองแชมป์สัดส่วนโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด สัญชาติของคนต่างชาติที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมากที่สุด 10 อันดับแรก ในปี 2563 เปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งสัญชาติของคนต่างชาติของทั้งสองปีมีรายชื่อ 10 ประเทศที่เหมือนกัน โดยอันดับแรก เป็นชาวจีน ซึ่งเป็นคนต่างชาติที่มีการรับโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมากที่สุด โดยในปี 2562 มีสัดส่วนการโอน 59.6% ของจำนวนยูนิต และเพิ่มสัดส่วนเป็น 63.4% ในปี 2563 อันดับสอง เป็นชาวรัสเซีย มีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ปี 2563 4.7% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด แต่ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วน 6.2% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด อันดับสาม เป็นชาวฝรั่งเศส สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ปี 2563  3.4% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วน  3.1% อันดับสี่ เป็นชาวสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ปี 2563  3.1% ของจำนวนยูนิต สัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วน 3.0% อันดับห้า เป็นชาวเยอรมัน สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ปี 2563  2.5% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วน  2.2% ตารางแสดงสัญชาติคนต่างชาติที่มีการรับโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมากที่สุดในปี 2562 - 2563 ที่มา : กรมที่ดิน รวบรวมประมวลผลโดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์    
ตรวจชีพจร ธุรกิจก่อสร้าง และ  โอกาสทางธุรกิจใน New Normal

ตรวจชีพจร ธุรกิจก่อสร้าง และ โอกาสทางธุรกิจใน New Normal

ภาคการก่อสร้างมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และครัวเรือน​โดยใน ปี 2563 การลงทุนภาคก่อสร้างมีมูลค่า 1.32 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนใน GDP สูงถึง 8.4% การเปลี่ยนแปลงในเซ็กเมนต์ต่าง ๆ ทั้งงานโยธา งานอาคาร และงานเฉพาะด้าน กระทบกับห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ทั้งธุรกิจเหมืองแร่ งานออกแบบ การจัดหาแรงงาน/การจ้างงาน การผลิต/จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเฟอรน์นิเจอร์ รวมถึงสถาบันการเงิน เป็นต้น   ขณะเดียวกัน ยังเป็นเครื่องมือ สำคัญของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2563) ธุรกิจก่อสร้างมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 2.4% ต่อปี แม้ในปี 2563 ธุรกิจได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ภาพรวมขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจ ท่ามกลางภาวะะถดถอยทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการก่อสร้างภาครัฐยังคงเพิ่มขึ้น ต่อเนื่อง แต่ในส่วนของการก่อสร้างภาคเอกชนกลับหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแตปี 2558 ภาพรวมธุกิจปี 2563 การลงทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น 2.2% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการก่อสร้างภาครัฐที่ยังสามารถเติบโตได้ที่ระดับ 5.7% ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชน หดตัว 2.2% ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2558 โดยเฉพาะงานก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย (Dwellings) ที่มีสัดส่วน 52% ของมูลค่างานก่อสร้างภาคเอกชน หดตัวมากถึง 6.7% ภาวะซบเซาของภาคอสังหาฯ ส่งผลให้งานก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยภาคเอกชนหดตัว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในปี 2564 การลงทุนก่อสร้างมีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 4.1% เร่งตัวขึ้นจาก 2.2% ในปี 2563 ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยเพิ่มขึ้นจากการ ก่อสร้างภาครัฐซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่อเนื่องในพื้นที่ EEC รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในภูมิภาค และงานก่อสร้าง ภาคเอกชนบางส่วนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบเนื่องจาก Developer ส่วนใหญ่หันไปพัฒนาบ้านจัดสรรกันมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มี ข้อจำกัดด้านพื้นที่และราคาที่ดินไม่มากเท่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งโครงการ คอนโดมิเนียมบริเวณแนวสถานีรถไฟฟ้าบางส่วนที่ Developer เลื่อนการก่อสร้าง มาจากปี 2563   -งานก่อสร้างภาครัฐยังเป็นเป้าหมายหลักของผู้รับเหมา เนื่องจากยังมีแนวโน้มเติบโตตามการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายลงทุนของงบประมาณประจำปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนให้การลงทุนก่อสร้างภาครัฐเพิ่มขึ้น 4.9% อย่างไร ก็ดี เซ็กเมนต์นี้ อาจจะต้องมองหาล่ทูางเพื่ออกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพา งานก่อสร้างภาครัฐเพียงด้านเดียว เพราะงานภาครัฐก็มีความเสี่ยงจากความ ล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับกระแสเงินสด   -งานก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเปราะบาง  ประมาณ 3.0%ในปี 2564 แต่ยังมีมูลค่าต่ำเมื่อเทียบกับปี 2561-2562 เพราะธุรกิจที่อยู่อาศัย ภาคเอกชนซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อน (driver) หลักต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว รวมถึงการ ก่อสร้างในกล่มุธุรกิจโรงแรมใหม่ ๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งจำเป็นต้องรอแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐที่จะช่วยฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่หดตัวรุนแรง ต่อเนื่องทุกไตรมาส ทั้งอาคารที่อยู่อาศัย และไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ดังนั้น  เซ็กเมนต์​นี้ อาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่า ปี 2565 ที่จะกลับไปอยู่ในระดับที่ ใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ผลประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง นอกจากภาวะซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ที่กดดันผลประกอบการ ผู้รบัเหมาก่อสร้างงานอาคารภาคเอกชนแล้วผู้รบัเหมางานก่อสร้างภาครัฐยังได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของการอนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจาปี 2563-2564 จนมีการเลื่อนประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ รวมถึงปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณในการก่อสร้าง ส่งผลต่อการดำเนินงานของผู้รับเหมาก่อสร้าง ทั้งระบบ   -หากพิจารณาผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 35 ราย (แบ่งเป็น จดทะเบียนใน SET 26 ราย และ mai 9 ราย) พบว่าในปี 2563 มีรายได้รวม 206,236 ล้านบาท ลดลง 6.6%(YoY) ผู้ประกอบการ 74% ประสบปัญหาใน การดำเนินธุรกิจ สะท้อนจากรายได้ที่ลดง ผลกำไร/อัตรากำไรสุทธิที่ลดลง หรือผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จดทะเบียนใน mai ทุกราย ประสบปัญหาด้านผลการดำเนินงาน โดยรวมแล้ว ผู้ประกอบการ ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนมีสัดส่วนสูงถึง 37% เพิ่มขึ้นจาก 35% ในปี 2562 และความสามารถในการทำกำไร (วัดจากอัตรากำไรสุทธิ) ส่วนใหญ่แนวโน้มลดลง ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่ผลกระทบของ โควิด-19 เกิดขึ้นในวงกว้าง จึงคาดว่าผลการดำเนินงานของกล่มุผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็คงประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน   -แต่สิ่งที่น่ากังวลมากไปกว่าน้ัน คือ ผลการดำเนินงานและความสามารถในการ ทำกำไรของผู้ประกอบการที่ลดลง ได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ และทาให้คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในธุรกิจก่อสร้าง ด้อยลงตามไปด้วย ผลประกอบการจำแนกตามขนาดรายได้ เมื่อจำแนกผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามขนาดรายได้ จะพบว่า ในปี 2563 ทุกกลุ่มประสบปัญหาด้านรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ < 1,000 ล้านบาท ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ทั้งด้านรายได้ ความสามารถในการทำกำไร และ ความสามารถในการชำระหนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม > 1,000 ล้านบาท แม้รายได้ ลดลง แต่เนื่องจากส่วนใหญ่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งด้านความชำนาญ ด้านชื่อเสียง และด้านต้นทุน เนื่องจากมีอายุกิจการยาวนานกว่า ทำให้มีความสามารถ ในการทำกำไรสูงกว่าภาพรวม และในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา กลุ่ม 1,000-5,000 ล้านบาท ยังคงมีความโดดเด่นด้านความสามารถในการทำกำไร และความสามารถในการชำระหนี้ อย่างต่อเนื่อง สถานการณ์สินเชื่อและคุณภาพหนี้ธุรกิจก่อสร้าง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คุณภาพสินเชื่อธุรกิจก่อสร้าง​โดยรวมเริ่มด้อยลง โดยเฉพาะ ในกลุ่มงานโยธาซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างภาครัฐ มีสัดส่วน Non-Performing Ratio เร่งตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับกลุ่มงานก่อสร้างเฉพาะด้าน ขณะที่คุณภาพสินเชื่อผู้รับเหมางานอาคารทรงตัวอยู่ในระดับสูง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย NonPerforming Ratio ของสินเชื่อธุรกิจในระบบธนาคารพาณิชย์   คุณภาพสินเชื่อธุรกิจก่อสร้าง: ณ สิ้นไตรมาส 4/2563 ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจก่อสร้างในระบบธนาคารพาณิชย์มีมูลค่ารวม 280,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% (YoY) โดยเพิ่มขึ้นในกลุ่มงานโยธา (Civil engineering) และกลุ่มงานก่อสร้างเฉพาะด้าน (Specialized construction) ขณะที่กลุ่มงานก่อสร้างงาน อาคาร (Construction of buildings) หดตัวลงตามภาวะซบเซาของธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเมื่อพิจารณาด้านคุณภาพสินเชื่อ พบว่า ธุรกิจก่อร้างมีสัดส่วน Non-Performing Ratio ณ สิ้นไตรมาส 4/2563 อยู่ที่ระดับ 7.7% สูงกว่าค่าเฉลี่ย Non-Performing Ratio ของสินเชื่อธุรกิจโดยรวม (ไม่รวมสินเชื่ออุปโภคบริโภค ส่วนบุคคล & กิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย) ในช่วง 7 ปี (ปี 2557-2563) ที่ระดับ 4.0% คุณภาพหนี้สินเชื่อธุรกิจก่อสร้างโดยด้อยกว่าคุณภาพหนี้สินเชื่อธุรกิจโดยรวม และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วน Non-Performing Ratio เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 6.9% และ 7.7% ในไตรมาส 4/2562 และ ไตรมาส 4/2563 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อผู้รับเหมางานอาคารและงานเฉพาะด้านที่เร่งตัวขึ้นโดยเฉพาะ กลุ่มผู้รับเหมางานอาคารที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงที่สุดในกลุ่ม จากภาวะตลาดที่หดตัวต่อเนื่องในช่วง 2 ปี ที่ ผ่านมา ขณะเดียวกัน ในปี 2563 NonPerforming Ratio สินเชื่องานโยธาก็เร่งตัวขึ้นสูง (เฉลี่ย 7.1%) ใกล้เคียงงานเฉพาะด้าน เทียบกับช่วงก่อนหน้า (ปี 2557-2561) ที่มีค่าฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% และต่ำที่สุดในกลุ่มก่อสร้าง New Normal ของธุรกิจก่อสร้าง ในช่วงก่อนหน้านี้ เราเห็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่หลายรายหันไปสร้างโอกาส ในธุรกิจอื่น เช่นเดียวกับผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่อยู่ในธุรกิจพลังงาน ธุรกิจ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาหาร อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการเงิน ตัวอย่างของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ได้แก่ บมจ.ช.การช่าง (CK) ลงทุนผ่าน บริษัทลูกในธุรกิจทางด่วนและรถไฟฟ้า ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ธุรกิจผลิต จำหน่ายน้าประปา และบริหารจัดการน้าเสีย บมจ.พรีบิลท์ (PREB) ลุงทุนครบวงจร จากงานรับเหมาก่อสร้างสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผลิตภัณฑ์สิ่งก่อสร้าง และวัตถุดิบขั้นต้น เป็นต้น จากนี้ไป แรงกดดันจากภาวะซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ วิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย และแนวโน้มข้อจำกัด/ความล่าช้าด้านงบประมาณภาครัฐ จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายกลางปรบั ตัวและหันไปหาโอกาสใน ธุรกิจอื่นกันมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ในส่วนของธุรกิจเดิม จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจน เกิดโอกาสใหม่ที่เป็น New Normal ของธุรกิจ ก่อสร้าง ใน Segment ที่สามารถตอบสนอง Green Economy, Health/Aging Society และ วิถีWFH กระแส Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy เป็นเป้าหมายของทั่วโลกรวมถึง ประเทศไทย ที่บรรจุอยู่ในโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-CircularGreen Economy: BCG) ดังนั้นงานก่อสร้างภาครัฐและเอกชน ที่สามารถ สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นที่ต้องการในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง ด้านพลังงานที่ไม่ใช้ฟอสซิล เช่น งานออกแบบ/ติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้าจาก แสงอาทิตย์ของภาคครัวเรือน (Solar Rooftop) และงานก่อสร้างภาครัฐที่ เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)/การสนับสนุนให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ งานออกแบบ/ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย/ขยะ และรวมไปถึงการผลิต/ใช้วัสดุก่อสร้างที่ประหยัดพลังงาน หรือเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม Health/Aging Society จากข้อมูลของกรมการปกครองพบว่า ณ สิ้นธันวาคม 2563 ประเทศไทยมี สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 18% ของจำนวนประชากร โดยรวม นอกจากนั้น หลายองค์กรประเมินว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเกิน 20% ในปี 2564 นี้ ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ขณะเดียวกันสภาพัฒน์ ประเมินว่า สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุของไทยในอีก 20 ปี ข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 31% นั่นหมายถึงโอกาสทางธุรกิจเพื่อรองรับความต้อง สินค้า/บริการของประชากรกลุ่มนี้ ดังนั้น การก่อสร้างหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ เกี่ยวข้องกับ Health/Aging Society จะเป็นที่สนใจของ Developer และ ครัวเรือนมากขึ้น เช่น การสร้าง/ปรับปรุงอาคารที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ วัสดุ/อุปกรณ์ก่อสร้าง และระบบ Automation ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแล สุขภาพ/การป้องกันเชื้อโรค และรวมไปถึงงานออกแบบ ที่สามารถตอบโจทย์การ เพิ่มขึ้นของคนกลุ่มนี้ เป็นต้น วิถี WFH บทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา องค์กรที่ยังอยู่รอดส่วนใหญ่ พบว่า Work from Home (WFH) นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายสำนักงานได้ระดับหนึ่งแล้ว บางองค์กรยังสามารถเพิ่ม Productivity ได้ด้วย และหลาย หน่วยงานได้ปรับปรุงสถานที่ลดความสำคัญของการทำงานที่ Office ลง ดังนั้น นอกจากงานปรับปรุงอาคารสำนักงานแล้ว งานปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็น Home Office เพื่อรองรับวิถี WFM ก็จะตามมามากขึ้น ซึ่งอาจเป็นโอกาสของ ผู้รับเหมารายย่อยที่ค่อนข้างเสียเปรียบในการเข้าไปรับงานในโครงการขนาด ใหญ่ รวมทั้งงานก่อสร้าง/ตกแต่งอาคารประเภท ประเภท Co-Working Space ที่สามารถตอบโจทย์ในยุคปัจจุบัน   งานก่อสร้างในภูมิภาค/ต่างประเทศ ที่ผ่านมาการแข่งขันในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่มีความ รุนแรง ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ใช้ความได้เปรียบด้านความชำนาญ ด้านชื่อเสียง และด้านต้นทุน เข้าไปรับงานในภูมิภาค ซึ่งแนวโน้มงานที่อยู่อาศัยใน ต่างจังหวัดโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวราบยังมีโอกาสขยายตัว เนื่องจากยังมี ปัจจัยหนุนด้านราคาที่ดิน และแนวโน้มมการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ที่ได้แรงหนุนจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ตลอดจนการออกไปรับงานในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่ไม่มีประเด็นด้าน การเมือง เนื่องจากผู้รับเหมาของไทยส่วนใหญ่ดำเนินกิจการมาแล้วมากกว่า 10 ปี มีความชำนาญด้านการก่อสร้างเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะงานด้านก่อสร้างระบบ สาธารณูปโภคและด้านพลังงาน Our View: ชีพจรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทั้งภาวะซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์วิกฤต โควิด -19 และแนวโน้มข้อจำกัดด้านการคลังแล้ว ผู้รับเหมายังต้องแข่งขัน กันเองเพื่อให้ได้งานขนาดใหญ่ภายในประเทศ ได้ปรากฎผ่านเครื่องตรวจวัดด้าน ผลการดำเนินงาน และคุณภาพหนี้ ทำให้พบว่าการพึ่งพาธุรกิจเพียงด้านเดียว อาจไม่สามารถสร้างผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีประสบการณ์ที่ยาวนาน โดยเฉพาะการพึ่งพาเฉพาะโครงการภาครัฐ หรือ Focus เฉพาะพื้นที่ หรือการรับงาน/ ใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ๆ โดยไม่ปรับตัวให้สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหรือ ความต้องการในอนาคต   -ด้านการตลาด จากนี้ไปผู้รับเหมาต้องเพิ่มศักยภาพเพื่อไปรับงานต่างพื้นที่ หรือต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการใช้วัสดุก่อสร้าง ให้สอดรับกับความต้องการใหม่ ๆ ทั้งนี้ งานก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว หรือรอมาตรการภาครัฐที่จะช่วยฟื้นฟู ภาค อสังหาริมทรัพย์ แต่จะมีงานใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนอง Green Economy, Health/Aging Society และ Work from Home เพิ่มเข้ามามากขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายของผู้รับเหมาก่อสร้างในยุค New Normal   -ในส่วนขององค์กร เนื่องจากธุรกิจก่อสร้างเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมมาก ทั้งในส่วนของการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศ เสียง ฝุ่น ขยะ/สิ่งของที่เกิดการการก่อสร้าง ดังนั้น เพื่อตอบสนองความ ต้องการของลูกค้า นอกเหนือจากสามารถส่งมอบงานตรงเวลา ตรงตาม spec และเป็นไปตามระเบียบของทางการแล้ว ยังต้องครอบคลุมไปถึงความรับผิดชอบ ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม(Environment) ด้าน สุขภาพ(Health) ความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน (work-site safety) รวมไปถึงบรรษัทภิบาล เพื่อให้องค์กรเป็นที่ยอมรับของสังคม   บทความโดย  : นายไตรวุฒิ นพรัตน์ นักวิเคราะห์ KrungthaiCompass  
ORIGIN NEXT LEVEL การเดินหน้าสู่ Top5 ผู้นำในทุกธุรกิจ

ORIGIN NEXT LEVEL การเดินหน้าสู่ Top5 ผู้นำในทุกธุรกิจ

เพียงระยะเวลา 10 กว่าปี บริษัทเล็ก ๆ อย่างบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท ในปี 2552 ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดอสังหาริมทรัพย์ ติดอันดับ Top 10 ด้วยขนาดสินทรัพย์เมื่อสิ้นปี 2563 ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 33,693 ล้านบาท   มีมูลค่าโครงการที่พัฒนาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 125,278 ล้านบาท ถือเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการเติบโตเร็วมาก เมื่อเทียบกับบรรดารุ่นพี่ในวงการ ซึ่งหลายแห่ง มีอายุการดำเนินธุรกิจที่มากกว่า 10 ปี แต่ยังไม่สามารถสร้างขนาดองค์กร และพัฒนาโครงการได้มากเท่ากับออริจิ้นแห่งนี้   ความสำเร็จของ ออริจิ้น เกิดขึ้นจากฝีมือการบริหารงานของ “พีระพงศ์ จรูญเอก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่สามารถนำกลยุทธ์การบริหารธุรกิจต่าง ๆ มาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ ให้สามารถก้ามข้ามภาวะการแข่งขัน ปัจจัยลบ และความเสี่ยงทางธุรกิจต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างดี เห็นได้จากตัวเลขของปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ภาวะตลาดอสังหาฯ ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่หลายคนมองว่าเป็นผลกระทบที่รุนแรงมากที่สุด นับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมาตลอดหลายปี แต่ออริจิ้นยังคงเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัท ที่สามารถสร้างผลงาน ทั้งด้านรายได้และกำไรเติบโต โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา ออริจิ้น สามารถทำรายได้รวม 11,114 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มโครงการคอนโดมิเนียม 7,100 ล้านบาท และบ้านแนวราบ 6,200 ล้านบาท  มียอดโอนรวม 15,086 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นยอดโอนจากโครงการร่วมทุน 5,216 ล้านบาท ขณะที่ปีที่ผ่านมามียอดขาย 25,774 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 120% โดยผลประกอบการปี 2563 มีกำไรสุทธิ 2,662 ล้านบาท วางเป้าทุกธุรกิจติด Top5 จากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ทำให้ ออริจิ้น ยังคงเดินหน้าลงทุนและพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อการก้าวสู่ความเป็นผู้นำตลาดอสังหาฯ ที่ไม่ใช่แค่ติดอันดับ Top10 แต่เป้าหมายคือการก้าวสู่ผู้นำ Top5 ในแต่ละกลุ่มธุรกิจของบริษัท ที่ปัจจุบันมีหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม คอนโด โรงแรม และธุรกิจบริการ ซึ่งปีนี้และในอนาคต ยังได้วางแผนขยายไปยังธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ต่อยอดและเชื่อมโยงเกื้อหนุนกัน เพื่อสร้างรายได้และทำกำไรกลับคืนมาในอนาคตอีกด้วย   นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เปิดเผยว่า บริษัทใช้เวลาประมาณ 10 ปีก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดคอนโด ติดอันดับ Top 3 ขณะที่บ้านเดี่ยวได้ใช้เวลา 3 ปีในการเป็นผู้นำตลาด ซึ่งปีนี้เปิดโครงการมูลค่าประมาณ​ 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการก้าวสู่ผู้นำตลาด Top5 ในด้านการเปิดโครงการ และคาดว่าในระยะเวลา 2-3 ปีนับจากนี้ ออริจิ้นน่าจะเป็น Top5 ในด้านยอดขายและยอดโอนในกลุ่มธุรกิจบ้านจัดสรร เราทำ Business Expansion มันเกินกว่าคำว่า Diversify เราจะโฟกัสแต่ละธุรกิจ สร้างให้แต่ละผลิตภัณฑ์ติดอันดับ Top5 หรือ Top10  2 กลยุทธ์ “ORIGIN NEXT LEVEL” หลังจากปีที่ผ่านมา ออริจิ้น สามารถสร้างรายได้และกำไรเติบโตจนเป็นที่น่าพอใจ ในปี 2564 จึงได้วางนโยบายการดำเนินธุรกิจให้มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง  ซึ่งในปีนี้​ ออริจิ้น ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด “ORIGIN NEXT LEVEL” ด้วยการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าแบบครบวงจรในทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยการนำความรู้ที่ได้รับตลอดปี 2563 มาใช้ภายใต้ 2 แกนหลัก ได้แก่ 1.Next Level of Business Expansion ขยายธุรกิจทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกด้วยทำเลใหม่ (New Location) แบรนด์ใหม่ (New Brand) กลุ่มธุรกิจใหม่ (New Business) ความร่วมมือใหม่ (New Collaboration) เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายใหม่ (New Target Segmentation) 2.Next Level of Living Solutions การสร้างสรรค์ทั้งฟังก์ชั่นใหม่ (New Function) และบริการใหม่ (New Services) ในบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนยุค Now Normal ไปจนถึง Next Normal วันนี้เราไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่ผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย เรามองตัวเองสู่การเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีสินค้าและบริการต่อยอดไปได้อย่างต่อเนื่อง หรือ Beyond Property เพื่อตอบโจทย์คนทุกเจเนอเรชั่นตลอดช่วงชีวิตของเขา เพิ่ม 3 ธุรกิจใหม่จับทุกโอกาสทางการตลาด ปัจจุบัน ออริจิ้น มี 4 ธุรกิจหลักที่บริหารอยู่ ประกอบด้วย ธุรกิจคอนโด บ้านจัดสรร โรงแรม และธุรกิจบริการ ในปีนี้ เพื่อต่อยอดและสร้างระบบนิเวศ เชื่อมโยงกันทั้งหมด และสร้างรายได้เพิ่ม จึงได้ขยายไปยังธุรกิจใหม่อีก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพ (Healthcare) โดยในปีนี้ได้จัดตั้งบริษัท ออริจิ้น เฮลท์แคร์ จำกัด ซึ่ง ออริจิ้น ถือหุ้น 76% และพันธมิตรที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพถือหุ้น 24% เพื่อดำเนินธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม โดยมีแผนเปิดคลินิคเสริมความงาม ภายใต้แบรนด์ “Cheva Plus” สาขาเมอคิวรี่ พื้นที่ 200 ตารางเมตร โดยตั้งเป้าจะขยายครบ 10 สาขาภายในปี 2566 อีกทั้งยังมีแผนเปิดให้บริการศูนย์สุขภาพ 2 แห่ง ในทำเลรามอินทรา ขนาด 240 เตียง มูลค่าการลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งคาดจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 และทำเลบางนา คาดจะเปิดให้บริการปี 2565 รวมถึงยังขยายตลาดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลุ่มธุรกิจเสริมความงาม กลุ่มศูนย์บริการสุขภาพ กลุ่มแพลทฟอร์มให้บริการสุขภาพออนไลน์และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับพันธมิตรด้านเฮลท์แคร์ต่าง ๆ เพื่อเสริมบริการ  อาทิ โรงพยาบาลสมิติเวช ที่เข้ามาเป็นพันธมิตรด้านโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual Hospital) และมอบบัตร Origin Samitivej Club เข้ามาบริการตรวจสุขภาพ ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการบำบัด วิทยาศาสตร์การกีฬา ในโครงการที่อยู่อาศัย หรือเป็น Hospital at Home อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน ยังคงจับมือกับโรงพยาบาลใกล้เคียงแต่ละโครงการ (Local Hospital) เช่น โรงพยาบาลสินแพทย์ อำนวยความสะดวกอีกทางหนึ่งให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงมี Let’s Relax เข้ามาให้บริการสปาผ่อนคลายสุขภาพ   บริษัทยังได้จับมือกับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบ สภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน และสวางคนิเวศ เพื่อดำเนินการ Senior Living Lab ศึกษาวิจัยสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน และยกระดับการออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับคนกลุ่มดังกล่าว 2.กลุ่มธุรกิจศูนย์โลจิสติกส์ (Logistic Center) ดำเนินกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์ ภายใต้การร่วมทุนกับบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD คาดว่าจะเปิดเผยแผนธุรกิจร่วมกันได้ในวันที่ 21 เมษายน 2564 ซึ่งเบื้องต้นจะเริ่มก่อสร้างคลังสินค้าในอีก 1-2 เดือนจากนี้ บนทำเลบางนา กม. 22 ขนาด 62,000 ตารางเมตร มูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านบาท คาดจะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงกลางปี 2565 เป็นต้นไป 3.กลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Company หรือ AMC) นำรากฐานองค์ความรู้และความพร้อมในเครือบริษัท มาต่อยอดสู่การดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์อย่างเข้มแข็งและครบวงจร ร่วมกันบริหารทรัพย์สินรอการขาย (NPA) และสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ โควิด-19 โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้บริโภค การคัดกรองทรัพย์ การพัฒนาโครงการ การรีโนเวท การขาย การตลาด มาเพิ่มมิติในการดูแลผู้บริโภคและมิติการเติบโตสู่อีกระดับของเครือ คาดว่าจะเปิดเผยแผนธุรกิจและพันธมิตรได้เร็วๆ นี้ เปิดตัว 4 คอนโดแบรนด์ใหม่ ครบทุกเซ็กเมนต์ ในจำนวนโครงการคอนโดที่ได้วางแผนเปิดตัวในปีนี้ ออริจิ้น มีแผนเปิดโครงการแบรนด์ 4 แบรนด์ เพื่อขยายตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ ให้ครอบคลุมทุกเจเนอเรชั่น  ได้แก่ 1.ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ (Origin Plug & Play) เจาะตลาดกลุ่ม Gen Y และ Gen Z โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำสตาร์ทอัพของตัวเอง โดยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะกับคนกลุ่มดังกล่าว 2.บริกซ์ตัน (Brixton) แบรนด์ราคาเข้าถึงง่าย สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม (Affordable Niche) คอนเซ็ปต์แต่ละโครงการ อาจเจาะลูกค้าแตกต่างกันไป เช่น เจาะกลุ่มนักศึกษา-คนทำงานใกล้มหาวิทยาลัย (Campus) เจาะกลุ่มคนรักสัตว์ (Pet Lover) 3.แฮมป์ตัน (Hampton) แบรนด์คอนโดเจาะตลาดนักลงทุนโดยเฉพาะ โดยมีสิทธิพิเศษและการันตีผลตอบแทนแก่ผู้ซื้อ นำร่องในศรีราชาและระยอง 4.ออริจินอล (Original) คอนโดสำหรับเจาะตลาดผู้สูงอายุ (Silver Age) ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงเดินหน้าในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ โดยในปีนี้จะพัฒนาโครงการวัน ออริจิ้น สนามเป้า (One Origin Sanampao) เป็นโครงการอาคารสำนักงาน ขนาดพื้นที่กว่า 56,100 ตารางเมตร ติด BTS สนามเป้า ซึ่งพร้อมตอบโจทย์ความต้องการอาคารสำนักงานในฝั่งกรุงเทพฯ ตอนเหนือที่ยังคงขยายตัวได้ดี เชื่อมั่นว่าสินค้าและบริการของเครือออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จะตอบโจทย์คนทุกเจเนอเรชั่นในทุกช่วงเวลาของการใช้ชีวิต สรุปไฮไลท์ทางการเงิน ออริจิ้น ปี 2564 -เปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ 20 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแนวราบ มูลค่า 10,400 ล้านบาท และคอนโด 9,600 ล้านบาท -วางเป้าหมายสร้างยอดโอน 12,800 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 4,000 ล้านบาท และคอนโด 8,800 ล้านบาท -เป้าพรีเซล 29,000 ล้านบาท -เป้าหมายรายได้ 14,000 ล้านบาท เติบโต 26% จากปี 2563 -ยอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่า 35,834 ล้านบาท รับรู้ต่อเนื่องถึงปี 2567 รับรู้ในปีนี้ 14,410 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงร่วมทุนมูลค่า 5,000 ล้านบาท และเฉพาะของออริจิ้น 9,410 ล้านบาท ​ -วางงบลงทุนรวม 10,000 ล้านบาท สำหรับการขยายธุรกิจอสังหาฯ เพื่อขาย 8,000 ล้านบาท และขยายธุรกิจใหม่ ๆ อีก 2,000 ล้านบาท  
ซื้อบ้าน-คอนโด ในปี 64 อย่างไรเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

ซื้อบ้าน-คอนโด ในปี 64 อย่างไรเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ทั้งการลดจำนวนการเปิดตัวโครงการใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดมิเนียม และหันมาเร่งระบายสต็อก รวมถึงการใช้กลยุทธ์โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม มาช่วยกระตุ้นตลาดและยอดขาย โดยเฉพาะกลยุทธ์ด้านการลดราคา รวมถึงการอยู่ฟรี เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่มั่นใจต่อสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต ทำให้ต่างชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ออกไป   นอกจากบรรดาดีเวลลอปเปอร์จะพยายามกระตุ้นตลาดด้วยตัวเองแล้ว ภาครัฐเองก็มองเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องมีมาตรการออกมาช่วยธุรกิจ ให้สามารถดำเนินต่อไปได้ จึงออกมาตรการในส่วนของการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง ให้เหลือในอัตรา 0.01% ซึ่งเดิมกำหนดสิ้นสุดในช่วงปลายปี 2563 แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระรอกใหม่ ทำให้ภาครัฐจึงต้องนำเอามาตรการดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้ง และมีการขยายกรอบเวลาไปจนถึงสิ้นปี 2564 นี้ มาตรการรัฐปี 64 ตัวช่วยทำให้เรามีบ้าน เป็นของตนเองง่ายขึ้น ในการจะเป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโดนั้น นอกจาก “ราคาขาย” ที่ต้องจ่ายแล้วก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อยู่อีกหลายส่วนที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่ง​ 2 ค่าใช้จ่ายที่ถือว่าไม่น้อยเลยก็คือ “ค่าโอนกรรมสิทธิ์” และ “ค่าจดจำนอง” ​ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อราคาบ้านหรือคอนโดสูงขึ้นเท่าไร ก็จะเป็นต้องจ่ายค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองมากยิ่งขึ้นเท่านั้น และด้วยเหตุ นี้เองจึงทำให้ มาตรการรัฐมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เราเป็นเจ้าของ บ้านหรือคอนโดได้ง่ายมากขึ้น เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายใน 2 ส่วนนี้ลงไปได้มาก โดยมีรายละเอียดในการลดหย่อน ดังนี้ 1.ลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ เหลือเพียง 0.01% โดยปกติแล้วในการซื้อบ้านหรือคอนโด เราจะต้องเสียค่า “โอนกรรมสิทธิ์” เป็นจำนวน 2% ของราคาประเมินหรือราคาขาย ซึ่งต้องชำระให้กับกรมที่ดิน แต่ด้วยมาตรการรัฐเพื่อที่อยู่อาศัยปี 2564  จึงทำให้เราชำระค่าโอนกรรมสิทธิ์เหลือเพียง 0.01% เท่านั้น ซึ่งถือว่าช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก ทำให้เราเหลือเงินเพิ่มมากขึ้น สำหรับนำไปใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต ​เพราะหากบ้านหรือคอนโดราคา หลังละ 3,00,000 บาท จากเดิมที่ต้องชำระค่าโอนกรรมสิทธิ์สูงถึง 60,000 บาท แต่ผลจากมาตรการรัฐจะทำให้เหลือต้องชำระเพียงแค่ 300 บาทเท่านั้น 2.ลดค่าจดจำนอง​เหลือเพียง 0.01% ค่าจดจำนอง คือ อีกหนึ่งค่าธรรมเนียมที่จำเป็นจะต้องชำระให้กับกรมที่ดิน ​ในการซื้อบ้านหรือคอนโดเช่นเดียวกับค่าโอนกรรมสิทธิ์ โดยมีการขอสินเชื่อหรือใช้บริการเงินกู้กับธนาคาร ซึ่งปกติจะคิดอยู่ที่ 1% ของวงเงินจำนอง หรือยอดเงินกู้ในกรณีที่ขอสินเชื่อกับธนาคารมาซื้อ  มาตรการรัฐเพื่อที่อยู่อาศัยปี 2564 จะทำให้เราจ่ายค่าจดจำนอง น้อยลงกว่าเดิม เหลือเพียง 0.01% โดยหากบ้านหรือคอนโดหลังละ 3,000,000 บาท จากที่ต้องชำระค่าจดจำนอง 30,000 บาท ก็จะเหลือชำระเพียงแค่ 300 บาทเท่านั้น   ทั้งนี้ ในการกระบวนการซื้อขายบ้านหรือคอนโด เราจะต้อง ชำระค่าโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนอง พร้อมกันซึ่ง​พอรวมกันแล้ว จะทำให้กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก อย่างในกรณีบ้านหรือคอนโดราคา 3,000,000 บาท ก็ต้องชำระค่าใช้จ่ายสูงถึง 90,000 บาทเลยทีเดียว แต่ผลจากมาตรการรัฐปี 2564 ทำให้เราเหลือชำระเพียงแค่ 600 บาท เท่านั้น หลักเกณฑ์และเงื่อนไข การใช้มาตรการรัฐ เพื่อที่อยู่อาศัยปี 64 มาตรการรัฐเพื่อที่อยู่อาศัยปี 2564 สามารถช่วยให้ความฝัน ของคนที่อยากมีบ้านหรือคอนโดเป็นของตัวเอง สำเร็จเป็นจริงได้ง่าย มากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ น้อยลง แต่ทั้งนี้ การจะได้สิทธิ์และ เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขที่ได้รับการลดหย่อนค่าโอนและค่าจดจำนองนั้น ก็มีรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติให้ได้ตามเงื่อนไขเช่นกัน ดังต่อไปนี้ Check List ที่ต้องใส่ใจ ซื้อบ้าน-คอนโด แบบไหน ถึงใช้มาตรการรัฐได้ -ผู้ซื้อจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาและเป็นคนไทยเท่านั้น -ต้องเป็นการซื้อบ้านหรือคอนโดที่เป็นที่อยู่อาศัยใหม่ บ้านหรือคอนโดมือสอง รวมถึงบ้านสร้างเอง จะไม่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนตามเงื่อนไข -ต้องเป็นการซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดจากโครงการที่ได้รับอนุญาตให้จัดสร้างถูกต้องตามกฎหมาย -ต้องเป็นบ้านหรือคอนโดที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาทเท่านั้น -ต้องเป็นการโอนจากการซื้อ-ขายเท่านั้น และเป็นการโอนจากการซื้อ-ขายพร้อมจดจำนองในคราวเดียวกัน -ใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์–31ธันวาคม2564 หากเป็นการโอนและจดจำนองหลังจากนี้ อาจไม่ได้สิทธิ์ลดหย่อน ดังกล่าว ขึ้นอยู่กับการต่อระยะเวลาของ มาตรการในอนาคต ตารางแสดง การลดค่าใช้จ่าย จากการใช้มาตรการรัฐ ตามเงื่อนไขของการลดหย่อนค่าโอนและจดจำนอง ของมาตรการรัฐเพื่อที่อยู่อาศัยปี 2564 ที่กำหนดราคาบ้านและคอนโดไว้ ไม่เกิน 3,000,000 บาท เพื่อให้มองเห็นภาพของการแบ่งเบาภาระ ค่าใช้จ่ายได้ชัดเจนมากขึ้น สามารถพิจารณาจำนวนเงินที่ประหยัด ไปได้ดังนี้ สรุปเพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น คือ ทุก ๆ 1 ล้านบาทของราคาบ้านหรือคอนโดที่เราซื้อ ​จะเสียค่าโอนและจดจำนองเพียงแค่ 200 บาทเท่านั้น จากเดิมที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง ล้านละ 30,000 บาท เตรียมตัวอย่างไรดี ให้ปีนี้ มีบ้าน เป็นของตนเอง ได้สำเร็จ จากมาตรการรัฐ ปี 2564 นี้ ถือว่ามีส่วนช่วยให้การ ซื้อบ้านหรือคอนโดที่อยู่อาศัยแห่งแรกได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้  เพื่อความมั่นคงและให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ก็ควรต้องมีการเตรียมตัวและให้รอบครอบ โดยสิ่งที่จำเป็นต้องใส่ใจในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยใช้มาตรการรัฐสำหรับปีนี้ ได้แก่ ​ 1.ตรวจสอบความต้องการ ที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตาม เงื่อนไขมาตรการรัฐ เงื่อนไขสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นอันดับแรกสุดเลย คือ เราต้องถามตัวเองให้แน่ใจว่า เราต้องการบ้านหรือว่าคอนโดกันแน่ ซึ่งควรพิจารณาแบบวางแผนระยะยาว เช่น เลือกทำเลให้เหมาะกับสถานที่ทำงาน หรือ เลือกจากขนาดของครอบครัว โดยหากอยู่คนเดียว ก็อาจเลือกซื้อเป็นคอนโด  แต่หากวางแผนจะแต่งงาน หรือเป็นครอบครัวที่มีสมาชิกมากกว่า 3 คนขึ้นไป การเลือกซื้อบ้านก็จะตอบโจทย์มากกว่า ซึ่งเมื่อตั้งเป้าหมายได้แล้ว ลำดับต่อมาก็ต้องไม่ลืมว่า การจะได้สิทธิ์ลดหย่อนตามมาตรการรัฐนั้น จะต้องเป็นบ้านหรือคอนโดใหม่ ที่มี​มูลค่า ไม่เกิน 3 ล้านบาท 2.เลือกซื้อบ้านหรือคอนโด ที่พร้อมโอนและเข้าอยู่ได้ทันที สิทธิ์ลดหย่อนค่าโอนและค่าจดจำนองตามมาตรการรัฐ จะใช้ได้ถึงภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ดังนั้น ในการเลือกซื้อบ้าน หรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัย จึงควรเลือกซื้อบ้านหรือคอนโดที่สร้างเสร็จแล้ว พร้อมโอนและเข้าอยู่ได้เลยทันทีภายในสิ้นปีนี้ หรือหากเป็น คอนโดหรือบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ก็จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า จะดำเนินการก่อสร้างและโอนได้ภายในปีนี้ เพราะหากยืดระยะเวลาการโอนออกไป ก็จะไม่ได้สิทธิ์ลดหย่อนตามมาตรการ และทำให้เราต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ​​ 3.ตรวจสอบสถานะการเงิน และเอกสารในการขอสินเชื่อ ให้พร้อม แม้จะได้สิทธิ์ลดหย่อนค่าโอนและค่าจดจำนองก็จริง แต่เราจะสามารถซื้อบ้านหรือคอนโดได้จริงหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า สถานะการเงินของเราผ่านพิจารณาตามเงื่อนไขของธนาคารหรือไม่ด้วย​ ซึ่งหากต้องการยื่นขอสินเชื่อให้อนุมัติ เราควรมีภาระผ่อนหนี้รวมกัน ต่อเดือนไม่เกิน 40% เช่นถ้ามีรายได้เดือนละ 40,000 บาท ก็ควรมี หนี้ผ่อนบ้านและอื่น ๆ รวมกันไม่เกิน​ 16,000 บาท ถ้ามากกว่านั้น ธนาคารก็อาจไม่พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้ เพราะเมื่อต้องรับภาระ ผ่อนบ้านอาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายได้   นอกจากนั้นแล้ว เราก็ควรมีเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ด้วยก้อนหนึ่ง เพราะต้องไม่ลืมว่าเราจะเป็นต้องมีเงินก้อนประมาณ 20-30% ของค่าบ้านเตรียมไว้ด้วยก้อนหนึ่ง เนื่องจากธนาคารอาจไม่อนุมัติสินเชื่อให้ 100% เต็ม ทั้งนี้ เอกสาร สำคัญในการอนุมัติขอสินเชื่อจากธนาคารที่ต้องเตรียมให้พร้อม เพื่อ ไม่ให้เป็นการเสียเวลา และอาจทำให้สูญเสียโอกาสในการใช้สิทธิ์ ตามมาตรการรัฐ ได้แก่ -หลักฐานเอกสารประจำตัว ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนสมรส สำเนาเอกสารการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี) -หลักฐานเอกสารเกี่ยวกับการแสดงรายได้ ในกรณีของผู้มีรายได้ประจำสิ่งที่ต้องเตรียม ได้แก่ ใบรับรองเงินเดือน หรือหลักฐานการรับ/จ่ายเงินเดือนจากนายจ้าง สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร กรณีผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ต้องเตรียมสำเนาทะเบียน การค้า หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และบัญชีเงินฝาก พร้อมหลักฐานแสดงการเดินบัญชีย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งนอกจากนี้แล้วหากมีเอกสารรายได้หรือทรัพย์สินอื่น ๆ อีก ก็จะยิ่ง ทำให้การรับพิจารณาอนุมัติสำเร็จได้ง่ายมากขึ้น -หลักฐานเกี่ยวกับหลักทรัพย์และการซื้อขาย ได้แก่​ สำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด แผนที่แสดงทำเลที่ตั้งของที่ดินหลักประกัน สำเนาสัญญา จะซื้อจะขายหรือสัญญามัดจำเป็น ถ้าเป็นกรณีการซื้อห้องชุด ต้องมีสำเนาหนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด รวมถึงรายละเอียดทรัพย์ส่วนบุคคล และทรัพย์ส่วนกลาง ​ -กรณีมีผู้กู้ร่วม จะต้องมีหลักฐานส่วนตัว และเอกสารหลักฐานแสดงรายได้ของผู้กู้ร่วมยื่นประกอบการพิจารณาคำร้องของสินเชื่อด้วย 4.ซื้อบ้านหรือคอนโดกับใคร ต้องแน่ใจว่าน่าเชื่อถือ การจะได้สิทธิ์ลดหย่อนค่าโอนและค่าจดจำนองจาก มาตรการรัฐปี 2564 นั้น จะต้องเป็นบ้านหรือคอนโดที่ขายโดยผู้ประกอบการที่ได้สิทธิ์ดำเนินการโครงการตามกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น ​เราจึงจำเป็นจะต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของโครงการบ้านหรือ คอนโดก่อนซื้อให้ดี ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เราได้สิทธิ์ตามมาตรการรัฐ แล้ว ก็ยังทำให้เราได้บ้านหรือคอนโดที่มีคุณภาพคุ้มค่ากับราคาที่จ่าย ไปด้วย   แม้ปี 2564 นี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงไม่หายไป แต่ท่ามกลางวิกฤตก็ยังมีโอกาสสำหรับคนไทยที่ฝันอยากมีบ้านหลังแรกเป็นของตัวเองอยู่จากมาตรการรัฐเพื่อที่อยู่อาศัย​  ซึ่งหากเราวางแผนเตรียมความพร้อม และเตรียมตัวเป็นอย่างดี ตามเงื่อนไขแล้วล่ะก็ จะสามารถซื้อบ้านหรือ คอนโดได้อย่างคุ้มค่าและลดค่าใช้จ่ายลงได้เป็นจำนวนมาก อันจะส่งผลให้เรามีเงินเหลือเก็บไว้ ใช้เพิ่มมากขึ้น มีบ้านเป็นของตัวเอง และดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมี ความสุขและราบรื่นแม้จะอยู่ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน   ที่มา-ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส.
REIC มองตลาดอสังหาฯ 64 เปิดตัวใหม่เพิ่มแต่การโอนยังลด

REIC มองตลาดอสังหาฯ 64 เปิดตัวใหม่เพิ่มแต่การโอนยังลด

จากภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP มีการปรับลดลง 6.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 22 ปี   ภาพรวมดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  โดยจากการจัดเก็บข้อมูลตลอดปี 2563 ที่ผ่านมาของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC พบความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ รวมถึงแนวโน้มของตลาดอสังหาฯ ที่จะเกิดขึ้นในรอบปี 2564 ปี 64 หลายปัจจัยบวกและลบ แม้ว่าความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของไทย จะทำได้ดีกว่าในหลายประเทศทั่วโลก แต่ยังถือว่ามีความล่าช้า โดยเฉพาะยังมีความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีน และยังมีการล็อกดาวน์ในธุรกิจบางประเภทด้วย จึงถือว่าเป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้  ส่งผลต่อตลาดคอนโดมิเนียมอย่างชัดเจน   แต่อย่างไรก็ตาม ในหลากหลายปัจจัยลบต่าง ๆ ยังคงพอมีมุมมองในเชิงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียม จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอีก 1 ปี การลดภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสิ่งสร้างเหลือ 10% การเลื่อนประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ไปในปี 2565 การเริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในหลาย ๆ ประเทศ ราคาอสังหาฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เพราะผู้ประกอบการยังคงจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง เปิดตัวใหม่เริ่มฟื้นตัวแต่การโอนยังลด ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 ว่า พบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปรับตัวของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯ ​โดยมีการลดจำนวนโครงการใหม่เข้าสู่ตลาด  เพื่อให้ที่อยู่อาศัยที่เปิดการขายก่อนหน้านี้ ได้ถูกดูดซับออกไปจากระบบ คาดว่าปี 2564 จะมีการเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯ​ และปริมณฑล จำนวน 82,594 ยูนิต เพิ่มขึ้น 32.7% จากปี 2563 ที่เปิดตัว 62,227 ยูนิต โดยการเปิดตัวใหม่จะเห็นชัดเจนได้ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2564 และคาดว่าผู้ประกอบการยังจะลงทุนในบ้านจัดสรรมากกว่าคอนโด  ซึ่งคาดว่าบ้านจัดสรรจะเปิดตัวใหม่ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 22.5% จากปี 2563 หรือมีจำนวนยูนิตประมาณ 43,732 ยูนิต ส่วนโครงการคอนโดเปิดตัวใหม่ ปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 46.5% จากปี 2563  สัดส่วนอาจจะดูเพิ่มขึ้นมากแต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากจากปี 2563 หรือมีจำนวนยูนิตประมาณ 38,862 ยูนิต   สถานการณ์ที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ ปี 2563 ถือว่าผู้ประกอบการเปิดตัวอยู่อาศัยใหม่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยสัดส่วนการเปิดตัวใหม่เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมที่คอนโดจะมากกว่าบ้านจัดสรร แต่ในปี 2563 สัดส่วนเปิดตัวใหม่บ้านจัดรรมากกว่าคอนโด เท่ากับ 57.4 ต่อ 42.6 ด้านการเปิดตัวโครงการใหม่จากการสำรวจพบว่า จำนวนยูนิตที่เปิดขายใหม่ (ไม่นับรวมบ้านมือสอง) เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 2563 ลดลง 36.7% จากปี 2562  โดยมีการเปิดตัวใหม่ จำนวน 62,227 ยูนิต ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรเปิดตัวใหม่ 35,702 ยูนิต ลดลง 17.9% จากปี 2562  และโครงการคอนโดเปิดตัวใหม่ 26,525 ยูนิต ลดลง 51.6% จากปี 2562 โอนบ้าน-คอนโด ยังลดลงต่อเนื่อง REIC ประเมินสถานการณ์โดยรวมว่าปี 2564 จากการเกิดขึ้นของโควิด-19 ระรอกใหม่ ทำให้มียูนิตโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 353,236 ยูนิต จะลดลง 1.5% จากปี 2563  ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะลดลงเพียงเล็กน้อยหรือประมาณ 0.1% ในขณะที่คอนโดจะลดลง 4.2% ปี 2563 ที่ผ่านมาการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีจำนวน 358,496 ยูนิตลดลง 8.5% จากปี 2562  เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ยู่อาศัยแนวราบจำนวน 236,158 ยูนิต ลดลง 10.0% จากปี 2562 และเป็นการโอนกรรมสิทธิ์โครงการคอนโด 122,338 ยูนิต ลดลง 5.5% จากปี 2562   ด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คาดว่าปี 2564 จะมีมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 876,121 ล้านบาท ลดลง 5.6% จากปี 2563  โดยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบจะลดลง 7.7% ขณะที่คาดว่ามูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดจะลดลง 1.4%   ส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2563 มีมูลค่า 928,376 ล้านบาท ลดลง 0.3% จากปี 2562  โดยเป็นการลดลงของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด 4.7% ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยแนวราบมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2.2% หวังเศรษฐกิจฟื้นดันยอดสินเชื่อโต 7% ขณะที่สถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 595,141 ล้านบาท ลดลงต่อเนื่อง 2.8% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่หากสถานการเศรษฐกิจในปีนี้กลับมาฟื้นตัวได้ในภายหลัง อาจจะทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่กลับมาเติบโตเพิ่มขึ้น 7.0% หรือมียอดสินเชื่อ 654,655 ล้านบาท โดยในปี 2563 มูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ มีมูลค่า  612,084 ล้านบาท ลดลง 4.4% จากปี 2562 ซึ่งเป็นผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ระรอกแรก ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 และต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 2 แม้ว่าช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 สถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น และมีมาตรการออกมากระตุ้น แต่ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ส่งผลในวงกว้างทำให้ในภาพรวมของปี 2563 การปล่อยสินเชื่อยังลดลง ใช้มาตการรัฐกระตุ้นตลาดบ้าน3-7ล. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯ ยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ จึงเห็นว่าภาครัฐควรกระตุ้นตลาด ด้วยการขยายเพดานาราคาของที่อยู่อาศัย ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการภาครัฐที่ออกมาก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มตลาดบ้านระดับราคา 3-7 ล้านบาท เพราะเป็นตลาดหลักและครอบคลุมตลาดอสังหาฯ ได้มากถึง 80% เมื่อรวมกับกลุ่มบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่ภาครัฐได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือก่อนหน้านี้แล้ว   นอกจากนี้ เห็นว่ามาตรการที่จะให้สิทธิประโยชน์กับกลุ่มบ้านมือ 2 ด้วย เพราะปัจจุบันมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมที่ออกมา บ้านใหม่เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ การให้สิทธิประโยชน์กับกลุ่มบ้านมือ 2 จะส่งผลดีที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งระบบ เพราะเจ้าของบ้านที่ขายบ้านเก่าไปแล้ว ก็จะต้องหาซื้อบ้านใหม่ที่ใหญ่ขึ้น หรือในทำเลใหม่ ทำให้เกิดสภาพคล่องของตลาดอสังหาฯ
ตลาดคอนโดภูเก็ตโดนซึมยาว คาดดีมานด์ฟื้นตัวหลังปี 65

ตลาดคอนโดภูเก็ตโดนซึมยาว คาดดีมานด์ฟื้นตัวหลังปี 65

ในบรรดาเมืองท่องเที่ยวของไทย ที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก ในการเป็นจุดหมายปลายทาง ของชาวต่างชาติสำหรับการเดินทางมาพักผ่อนหรือพักอาศัยระยะยาว หนึ่งในนั้นคือ จังหวัดภูเก็ต   เพราะถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความครบถ้วน ทั้งด้านแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะการมีสนามบินนานาชาติ ทำให้ภูเก็ตได้รับความสนใจจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆออกมารองรับจำนวนมาก ที่ผ่านมาตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดภูเก็ตจึงมีระดับราคาสูงติดอันดับต้น ๆ ของไทย   แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ตลาดอสังหาฯ ในจังหวัดภูเก็ตได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะพึงพากลุ่มชาวต่างชาติเป็นหลัก จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้  ตลาดอสังหาฯ ในภูเก็ตจึงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงปัจจุบัน ที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระรอกใหม่ ซึ่งผลกระทบได้ซ้ำเติมตลาดอสังหาฯ ภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น แต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้น ทางไนท์แฟรงค์ ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ตลาดอสังหาฯ ในส่วนของตลาดคอนโดมิเนียมในภูเก็ต ปี 2563 ผ่านมา และมองถึงแนวโน้มปี 2564 ว่าจะมีทิศทางใด   นายณัฎฐา คหาปนะ รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสำนักงานไนท์แฟรงค์ ภูเก็ต บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภูเก็ตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่สุดแห่งจุดหมายปลายทางแห่งเอเชีย มีศักยภาพพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวและการลงทุน จากการที่นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในแต่ละปีส่งผลให้ธุรกิจอสังหาฯ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เริ่มมองหาคอนโดเพื่อซื้อเก็บไว้พักผ่อนในช่วงที่เดินทางมาท่องเที่ยว และบางรายลงทุนหารายได้โดยการปล่อยเช่าในช่วงที่ไม่ได้เข้าพัก   ด้วยเหตุนี้ธุรกิจอสังหาฯ ในภูเก็ตจึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะมองว่ากำลังซื้อหลักคือกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และนอกจากนี้ก็ยังมีนักลงทุนชาวไทยให้ความสนใจเช่นกัน โครงการคอนโดที่เปิดขายในภูเก็ต จะเปิดขายในลักษณะการให้อัตราผลตอบแทนค่าเช่า โดยโครงการจะมีการนำเชนโรงแรมต่าง ๆ มาบริหารโครงการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับโครงการ และจากอัตราผลตอบแทนค่าเช่าที่ได้รับ ทำให้ภูเก็ตเป็นสถานที่น่าสนใจในการซื้อคอนโดเพื่อการลงทุน หากแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ ทำให้เศรษฐกิจของภูเก็ตหยุดชะงักและซบเซา เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจของภูเก็ตขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงส่งผลให้ธุรกิจอสังหาฯ ในภูเก็ตได้รับผลกระทบโดยตรง ถึงแม้ว่ายังมีคนไทยเข้ามาท่องเที่ยวแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจในภูเก็ตกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีคอนโดที่เปิดขายใหม่โดยผู้ประกอบการเชื่อว่านักท่องเที่ยวและนักลงทุนยังคงมีความต้องการคอนโดอยู่มาก หากสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ โปรเจ็กต์เปิดใหม่เหลือแค่ 1,862 ยูนิต ช่วงปลายปี 2563 จำนวนคอนโดในภูเก็ตมีจำนวนทั้งสิ้น 26,096 ยูนิต มีจำนวนเปิดขายใหม่เพียง 1,862 ยูนิต จากโครงการคอนโดทั้งหมด 7 โครงการ ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนเปิดขายใหม่ในช่วงก่อนปี 2559 ซึ่งเปิดขายเฉลี่ยต่อปี  1,700-2,000 ยูนิต และจะเห็นว่าจำนวนเปิดขายในปีนี้ลดลงจากปี 2562 ถึง  65.97% จากที่เปิดขายจำนวน 5,471 ยูนิต  ลดลงเหลือเพียง 1,862 ยูนิต ในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มีผลต่อความต้องการซื้อที่ลดลง  ผู้ประกอบการจึงชะลอการเปิดตัวโครงการ อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เริ่มกังวลในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ทำให้มีการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อในการพัฒนาโครงการ  ในสถานการณ์นี้ ผู้พัฒนาโครงการจึงระงับการเปิดขายโครงการไปก่อน   จำนวนคอนโดที่เปิดขายใหม่ในปี 2563 โดยส่วนใหญ่เปิดขายใหม่ในบริเวณหาดลายันถึง 59% รองลงมาได้แก่ บริเวณหาดป่าตอง 22% และหาดในทอน 13%  และบริเวณหาดไม้ขาว เป็นหาดที่มีคอนโดเปิดขายใหม่จำนวนน้อยที่สุดเพียง  6% ของจำนวนทั้งหมด หาดไม้ขาวเป็นพื้นที่ทางตอนเหนือของภูเก็ตที่ยังไม่เป็นที่นิยมกันมาก เนื่องจากไกลจากสิ่งอำนวยความสะดวกหากเทียบกับหาดอื่น ๆ ส่งผลให้หาดไม้ขาวยังมีพื้นที่เหลืออีกค่อนข้างมาก ดึงเชนบริหารโครงการสร้างดีมานด์ ในปี 2563 มีจำนวนคอนโดที่ขายได้แล้วทั้งสิ้น 19,761 ยูนิต จากจำนวนทั้งหมด 26,096 ยูนิต คิดเป็นอัตราการขายได้ ​75.7% อัตราการขายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 73.4% มีจำนวนยูนิตขายเหลือทั้งหมดประมาณ 6,335 ยูนิต จำนวนยูนิตคอนโด ที่ขายได้ใหม่ในปี 2563 มีจำนวนยูนิตขายเพียง 1,966 ยูนิต ซึ่งจำนวนยูนิตขายลดลงจากปี 2562 ที่มีจำนวนยูนิตขายอยู่ที่ 4,036 ยูนิต ซึ่งหากพิจารณาจะเห็นว่าจำนวนยูนิตขายลดลงจากปีก่อนหน้า อันเนื่องมาจากขาดกำลังซื้อของชาวต่างชาติที่เป็นกำลังซื้อหลักเพราะไม่สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศได้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปเกือบทั้งหมด ส่งผลให้ภูเก็ตได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นด้านท่องเที่ยว แรงงาน หรือแม้กระทั่งธุรกิจอสังหาฯ ก็ซบเซาไปด้วย และมีโครงการคอนโดบางโครงการที่ต้องหยุดการขายหรือมีจำนวนยูนิตขายที่ต่ำ และไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถานบันการเงินได้   ขณะนี้สถาบันการเงินยังค่อนข้างที่จะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในการพัฒนาโครงการคอนโด  และมีบางโครงการที่ได้ทำการหยุดการขายเพื่อรอดูสถานการณ์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคือกลุ่มลูกค้าหลักที่ซื้อคอนโดในภูเก็ต ในอดีตกลุ่มผู้ซื้อคอนโดเกือบ 100% เป็นนักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด  แต่ในปัจจุบันกลุ่มผู้ซื้อคอนโดในภูเก็ตมีความหลากหลายมากขึ้น โดยกลุ่มผู้ซื้อ 90% ส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวต่างชาติ และมีนักลงทุนคนไทยมองเห็นช่องทางในการลงทุนในด้านอสังหาฯ จึงมีกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นคนไทยเพิ่มมา 10% ซึ่งชาวต่างชาติที่ซื้อคอนโดในภูเก็ต ส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซีย จีน ฮ่องกง และสิงค์โปร์ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ซื้อสัญชาติอื่น ๆ อีก ได้แก่ ชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน แคนนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา ชาวยุโรปและชาวตะวันออกกลาง โครงการคอนโดที่ยังมียอดขายต่อเนื่องส่วนใหญ่ จะมีมาตรฐานของคอนโด ที่เทียบเท่าได้กับโรงแรม 4-5 ดาว การนำเชนโรงแรมมาบริหารเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ซื้อ โดยให้ผลตอบแทนกับผู้ซื้อในระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่งเป็นสิ่งจูงใจให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนสนใจที่จะซื้อคอนโด  เพราะนอกจากจะมีรายได้จากการปล่อยเช่าแล้วยังสามารถเข้าพักได้ถึง 30-45 วัน ต่อปีอีกด้วย คอนโดลดราคากระตุ้นยอดขาย ราคาเสนอขายเฉลี่ยของคอนโดในภูเก็ต ช่วงปลายปี 2563 คอนโดที่เห็นวิวทะเลมีระดับราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 192,758 บาทต่อตารางเมตร ราคาขายปรับตัวลดลงจากปี 2562 ในอัตรา 0.4% โดยในปี 2562 ราคาเสนอขายคอนโดที่เห็นวิวทะเล มีราคาเสนอขายเฉลี่ยอยู่ที่ 193,590 บาทต่อตารางเมตร ส่วนราคาเสนอขายคอนโดที่เห็นวิวทะเลบางส่วนปี 2563 มีระดับราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 99,745 บาทต่อตารางเมตร ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ในอัตรา 6.8% ซึ่งมีราคาเสนอขายเฉลี่ยปี 2562 อยู่ที่ 107,000 บาทต่อตารางเมตร และคอนโดที่ไม่เห็นวิวทะเลมีระดับราคาเสนอขายในปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 76,184 บาทต่อตารางเมตร ปรับตัวลดลงในอัตรา 3.9% จากปี 2562 ซึ่งราคาเสนอขายคอนโดที่ไม่เห็นวิวทะเลมีราคาเสนอขายเฉลี่ยอยู่ที่ 79,300 บาทต่อตารางเมตร   จะเห็นได้ว่าราคาขายปรับตัวลดลงจากปี 2562 อันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเกือบทั้งหมดไม่สามารถเดินทางมาได้ เป็นผลทำให้ยอดขายคอนโดลดลงไปมาก ผู้ประกอบการจึงยอมปรับลดราคาลงเพื่อดึงดูดผู้ซื้อหรือนักลงทุนให้กลับมาลงทุน และใช้วิธีการขายผ่านทางออนไลน์หรือตัวแทนขาย (Agency) ในต่างประเทศช่วยเป็นตัวโปรโมทโครงการ เพื่อผลักดันให้ยอดขายไปต่อได้ ทำให้การซื้อ-ขายคอนโดในส่วนต่างประเทศยังคงมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากนัก โดยผู้ซื้อจะเป็นชาวต่างชาติที่เคยมาท่องเที่ยวในภูเก็ต พอมีการปรับราคาลงจึงได้ตัดสินใจซื้อ คอนโดในภูเก็ตฟื้นตัวหลังปี 2565 ตลาดคอนโดในภูเก็ตปี 2564 คาดว่ายังคงชะลอตัวและได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาเที่ยวได้ ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ขยับตัว เพราะภูเก็ตไม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลัก โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ผู้ประกอบการยังคงชะลอการเปิดโครงการออกไปก่อนในช่วงนี้ และรอดูสถานการณ์การเปิดโครงการในช่วงครึ่งปีหลังอีกครั้ง แนวโน้มของการลงทุนจะเป็นโครงการขนาดเล็ก และอาจจะเป็นการร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นในภูเก็ต โดยคาดว่าเศรษฐกิจภูเก็ตในปี 2564 ยังคงซบเซายาวไปถึงต้นปี 2565 ซึ่งเศรษฐกิจภูเก็ตอาจจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี และการฟื้นตัวน่าจะกลับมาเพียง 50% ของนักท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะชาวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ทั้งหมด   กลุ่มผู้ซื้อหลักที่คาดการณ์จากนี้น่าจะเป็นกลุ่มชาวจีน และรัสเซีย แต่ยุโรปอาจจะต้องรอไปอีกสักระยะจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลาย ซึ่งคอนโดที่ชาวต่างชาติกลุ่มนี้จะซื้อนั้น จะเป็นอสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัยเป็นบ้านหลังที่สองมากกว่าการลงทุน เพราะมองว่าประเทศไทยเป็นเมืองที่ปลอดภัย น่าอยู่ มีมาตรฐานระบบการดูแลรักษาพยาบาลการควบคุมโรคระบาดที่ดี ในส่วนของนักลงทุนคนไทยยังชะลอการลงทุนในด้านอสังหาฯ ในภูเก็ต เนื่องจากรอให้ชาวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาเที่ยว จึงจะเริ่มลงทุน โดยภาพรวมอสังหาฯ ในภูเก็ตจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งหลังปี 2565 ตามแนวโน้มของการฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ          
New Normal ตลาดออฟฟิศให้เช่า ใช้พื้นที่น้อยแต่ยืดหยุ่นสูง

New Normal ตลาดออฟฟิศให้เช่า ใช้พื้นที่น้อยแต่ยืดหยุ่นสูง

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการทำงานที่หันมาใช้วิธีทำงานจากที่บ้าน (work from home) กันมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายรูปแบบต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือในการทำงาน เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม และลดการได้รับเชื้อโรค ทั้งจากการเดินทางและการพบปะผู้คน   คำถามที่เกิดขึ้น คือ เมื่อสถานการณ์และรูปแบบการทำงานเป็นแบบนี้ แล้วพื้นที่สำนักงานยังมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เพราะทุกคนสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา และก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจให้บริการพื้นที่สำนักงานให้เช่า ก็มีทิศทางเติบโตที่ดี มีผู้ประกอบการจำนวนมาก หันมาพัฒนาพื้นที่เพื่อเตรียมรองรับกับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต โควิด-19 พ่นพิษ ความต้องการใช้ออฟฟิศลดลง ล่าสุด นายภัทรพล ยุทธศักดิ์นุกูล นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้นำเสนอรายงานเรื่อง New Normal ของตลาดสำนักงานให้เช่า จากผลกระทบของโควิด-19 เพื่อให้เห็นภาพรวมของตลาดสำนักงาน ที่มีปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตและเทรนด์ในอนาคต โดยรายงานของ EIC ระบุว่า โควิด-19 ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการพื้นที่สำนักงานเปลี่ยนแปลงไปในมิติสำคัญ 2 ด้าน คือ 1.ความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าที่ลดลง สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ ความต้องการ (Demand) พื้นที่สำนักงานให้เช่าลดลงนั้น เกิดจากจำนวนบริษัทที่ลดลง เพราะมีการปิดกิจการที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ การเปิดธุรกิจใหม่ก็มีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน และหลายบริษัทมีนโยบาย work from home ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานลดลง และอาจกลายเป็น new normal ของหลายบริษัทในอนาคต 2.ความต้องการพื้นที่สำนักงานรูปแบบใหม่ ความต้องการพื้นที่สำนักงานจะปรับเปลี่ยนไปสู่สำนักงานรูปแบบใหม่อย่างเช่น flexible space ที่ต้องตอบสนอง เทรนด์การทำงานแบบใหม่ที่ต้องการความคล่องตัวและมีความยืดหยุ่นทำให้สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้สอยได้ตามความต้องการ ธุรกิจไปต่อไม่ไหว ปิดกิจการพุ่งกว่า 2 หมื่นราย​ โควิด-19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำนวนมากประสบปัญหาจนมีแนวโน้มการปิดกิจการเพิ่มขึ้น ขณะที่การเปิดกิจการใหม่มีแนวโน้มลดลง นำไปสู่การชะลอตัวของอุปสงค์ต่อพื้นที่สำนักงาน   วิกฤติ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 บริษัทต่าง ๆ เริ่มกลับไปดำเนินงานที่สำนักงานภายหลังคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่ในช่วงปลายปี 2563 ได้มีการระบาดรอบใหม่ส่งผลให้หลายบริษัทจำเป็นต้องกลับไปอยู่ในภาวะใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์อีกครั้ง   ทั้งนี้ สภาพเศรษฐกิจที่หดตัวลงอย่างมากส่งผลให้หลายธุรกิจประสบปัญหา จนต้องมีการปรับลดต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการดำเนินงาน ปรับลดจำนวนพนักงาน ปรับลดพื้นที่เช่า ตลอดจนปิดกิจการในท้ายที่สุด ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากและเป็นผู้เช่าสำคัญของธุรกิจสำนักงาน คือ ธุรกิจในภาคบริการ ซึ่งเป็นสัดส่วนราว 85% ของธุรกิจทั้งหมดในไทย   จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (รูปที่ 1) พบว่า จำนวนบริษัทในภาคบริการที่ปิดกิจการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากข้อมูลล่าสุดในปี 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ​มาอยู่ที่ 21,440 ราย ขณะที่จำนวนธุรกิจบริการที่เริ่มกิจการใหม่ กลับหดตัวลดลง 12% จากปีก่อนหน้า ​จากระดับเฉลี่ยที่มีการเพิ่มขึ้นราว 4% ต่อปีในช่วงปี 2557-2562 ส่งผลให้จำนวนบริษัทที่ดำเนินการอยู่โดยรวม มีแนวโน้มลดลงและนำไปสู่การชะลอตัวของความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่า   ไม่เพียงแค่ภาคธุรกิจในประเทศเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันความต้องการจากบริษัทต่างชาติก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน สะท้อนจากจำนวนชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน (aliens work permit) ในกรุงเทพฯ ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงประมาณ ​9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ​ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอตัวของการลงทุนของบริษัทต่างชาติ ที่เป็นหนึ่งในผู้เช่าหลักของพื้นที่สำนักงานโดยเฉพาะพื้นที่เกรด A   นอกจากนี้  จากบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการคาดการณ์แนวโน้ม การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของทั้งโลก (Global foreign direct investment) ของ UNCTAD คาดว่าในปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของทั้งโลกอาจลดลงประมาณ​ 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ​และในปี 2564 จะลดลงต่อเนื่องราว 5-10% จากปีก่อนหน้า​และเริ่มกลับมาฟื้นตัวในปี 2565 หลังล็อกดาวน์ หลายธุรกิจให้ work from home ต่อ นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังส่งผลให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาสู่การ work from home ซึ่งบางบริษัทมีการปรับใช้รูปแบบการทำงานที่บ้านอย่างต่อเนื่องในระยะยาว   ในการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2563 ส่งผลให้หลายบริษัทจำเป็นที่จะต้องกลับไปใช้นโยบายในการ work from home อีกครั้ง ส่งผลให้การเดินทางไปทำงานเริ่มหดตัวอีกครั้งหนึ่ง เห็นได้จาก Google mobility index ของไทย (รูปที่ 2) ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดง traffic ของการเดินทางไปยังสถานที่ประเภทต่าง ๆ ของผู้ใช้บริการ Google พบว่า ในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ การเดินทางไปที่ทำงานลดลงอย่างมาก แม้ว่าภายหลังคลายล็อกดาวน์ จะมีแนวโน้มที่ traffic ของการไปทำงานจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังคงน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19  โดยลดน้อยลงประมาณ 10%-20% จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุดปีใหม่ ส่งผลให้แนวโน้มที่กำลังฟื้นตัวขึ้น เริ่มกลับไปหดตัวอีกครั้ง   ทั้งนี้ ในระยะต่อไป บริษัทหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบาย work from home ต่อในระยะยาว หรือมีการปรับตัวโดยการลดวัน/เวลาในการเข้าทำงานในแต่ละสัปดาห์ลง เนื่องจากสามารถลดต้นทุนดำเนินธุรกิจได้ดี อีกทั้ง พนักงานยังได้รับความสะดวกมากขึ้นจากการลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น จากผลสำรวจของ Gartner เกี่ยวกับการรับมือกับ โควิด-19 ของ CFO (CFO Actions in Response to covid-19) จากผู้บริหารมากกว่า 15,000 บริษัททั่วโลกรวมถึงไทย (รูปที่ 3) พบว่า ภายหลังจากสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย บริษัททั่วโลกราว 74% ยังคงมีนโยบายให้พนักงานอย่างน้อย 5% สามารถที่จะทำงานจากที่บ้านได้ต่อไป  ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานมีแนวโน้มชะลอลง อนาคตพื้นที่ออฟฟิศต้องการ flexible space แม้ว่าพนักงานบริษัทมีความต้องการที่จะใช้เวลาทำงาน จากทั้งออฟฟิศและบ้าน แต่พื้นที่สำนักงานยังคงจำเป็นต่อการทำงาน แต่รูปแบบของสำนักงานอาจต้องปรับเปลี่ยนไป โดย flexible space เป็นรูปแบบหนึ่งที่ตอบสนองเทรนด์การทำงานในอนาคต   จากผลสำรวจของ CBRE เกี่ยวกับรูปแบบสำนักงานในอนาคต (The Future of the Office Survey) จากพนักงานออฟฟิศ 10,000 คน จากหลายประเทศทั่วโลก  ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป อินเดีย และเอเชียตะวันออก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย พบว่า ภายหลังจากเหตุการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย 28% ของพนักงานออฟฟิศต้องการทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลา ขณะที่ 67% ของพนักงานออฟฟิศต้องการใช้เวลาทำงานจากทั้งออฟฟิศและบ้าน ส่งผลให้พื้นที่สำนักงานยังมีความจำเป็นอยู่บางส่วน แต่รูปแบบของพื้นที่สำนักงานจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไป เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการทำงานในอนาคต   โดยบริษัทส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับพื้นที่สำนักงานเพื่อตอบโจทย์องค์กร 3 ด้านคือ 1.การสร้างความร่วมมือ นวัตกรรม และประสิทธิภาพในการทำงาน 2.ความสามารถในการสะท้อนภาพลักษณ์และวัฒนธรรมขององค์กร 3.สถานที่สำหรับพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์   ดังนั้น รูปแบบการใช้งานของพื้นที่สำนักงานอาจเปลี่ยนไป พนักงานทุกคนอาจไม่ต้องการโต๊ะทำงานประจำอีกต่อไป อาจต้องการเพียงพื้นที่นั่งทำงานร่วมกันเป็นทีมหรือมุมทำงานส่วนตัว ห้องประชุมอาจต้องมีเทคโนโลยีที่สามารถรองรับได้ทั้งพนักงานที่เข้าประชุมที่สำนักงานและผ่านทางช่องทางออนไลน์   จากผลสำรวจของ CBRE ยังพบว่า 56% ของบริษัทที่มีการสำรวจจะใช้พื้นที่สำนักงานที่เป็นรูปแบบ flexible space ในอนาคต เนื่องจากเป็นรูปแบบที่มีความคล่องตัวสูงและพื้นที่ใช้งานค่อนข้างหลากหลาย โดยอาจมีทั้งพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการทำงานเป็นทีม หรือพื้นที่ส่วนตัวสำหรับผู้ที่ต้องการสมาธิ   ทั้งนี้ ความหมายโดยกว้างของ flexible space คือ พื้นที่สำนักงานที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้สอยได้ตามความต้องการในการใช้งาน โดย flexible space มักประกอบไปด้วยพื้นที่ทำงาน อุปกรณ์สำนักงาน สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ อีกทั้ง ระยะเวลาในการทำสัญญายังสั้นกว่าสำนักงานทั่วไป   flexible space จะครอบคลุมรูปแบบพื้นที่สำนักงาน ดังนี้ 1.สำนักงานสำเร็จรูป (serviced offices) คือพื้นที่สำนักงานให้เช่าพร้อมเฟอร์นิเจอร์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยผู้เช่ามักเป็นองค์กรหรือธุรกิจที่เริ่มตั้งใหม่หรืออยู่ในช่วงขยายกิจการ เนื่องจากสำนักงานลักษณะนี้มีเงื่อนไขและสัญญาเช่าที่ยืดหยุ่นมากกว่าพื้นที่สำนักงานให้เช่าทั่วไป 2.Co-working spaces เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถเข้าใช้บริการได้ทั้งแบบส่วนบุคคลและแบบกลุ่ม และใช้พื้นที่ร่วมกันได้หลายกลุ่มในเวลาเดียวกัน พื้นที่นี้จะเน้นการแบ่งปันและสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เช่าผ่านการจัดกิจกรรมของ community manager ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและตอบสนองความต้องการของผู้เข้าใช้บริการพื้นที่ ส่งผลให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วนกว่าสำนักงานสำเร็จรูป ตลาดออฟฟิศ 64 ซึมต่อเนื่อง แนวโน้มการชะลอตัวของภาคธุรกิจและเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ ส่งผลให้ตลาดสำนักงานให้เช่าในกรุงเทพฯ ปี 2564 มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องอีกเล็กน้อยจากในปี 2563   เนื่องจากผลจากการระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19 โดย EIC คาดว่าการชะลอตัวของตลาดในปี 2564 มาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.พื้นที่ให้เช่าได้ ในกรุงเทพฯ ลดลง 0.5% -1.0% พื้นที่สำนักงานให้เช่าได้ (occupied space) ในกรุงเทพฯ ในปี 2564 มีแนวโน้มชะลอตัวลงอีกเล็กน้อย โดยพื้นที่ที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พื้นที่แถบนอกศูนย์กลางทางธุรกิจ (Non CBD) ทั้งนี้ผลจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้แผนการขยายหรืออัปเกรดพื้นที่สำนักงานต่าง ๆ ในปี 2563 ถูกเลื่อนออกไป   สำหรับแนวโน้มในปี 2564 ภาพรวมของพื้นที่ให้เช่าได้จะชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะลดลง 0.5% -1.0% (รูปที่ 4) โดยความต้องการพื้นที่เช่าจะลดลงจากการปิดกิจการหรือลดพื้นที่เช่า  อย่างไรก็ดี พื้นที่เช่าส่วนหนึ่งจะถูกชดเชยด้วยความต้องการพื้นที่เช่า จากในบางกลุ่มธุรกิจที่ยังมีความต้องการขยายพื้นที่ ได้แก่ ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ   นอกจากนี้ หลายโครงการที่จะเปิดตัวในปี 2564 มีกลุ่มผู้เช่าแล้วบางส่วนจากที่มีทำสัญญาไว้ล่วงหน้า ประกอบกับเจ้าของโครงการมีแนวโน้มที่จะตั้งราคาค่าเช่าให้ต่ำลง เพื่อดึงดูดผู้เช่าเข้าสู่โครงการ อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และยังมีความเปราะบางทำให้หลายภาคธุรกิจยังต้องระมัดระวังในการขยายกิจการ ส่งผลให้อัตราเติบโตของความต้องการต่อพื้นที่สำนักงานต่ำกว่าในอดีต   โดยพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พื้นที่แถบย่านนอกศูนย์กลางทางธุรกิจ (Non CBD) ที่มีบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นผู้เช่าอยู่เป็นสัดส่วนมากกว่าย่านศูนย์กลางทางธุรกิจ (CBD) เนื่องจากธุรกิจกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่  ส่งผลให้ต้องปรับตัวมากเพื่อให้สามารถอยู่รอดในภาวะวิกฤติ โดยหลายบริษัทต้องมีการลดจำนวนพนักงานหรือบางกิจการอาจต้องปิดดำเนินการส่งผลให้ความต้องการปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก 2.อัตราค่าเช่า ต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิด โควิด-19 อัตราค่าเช่าปี 2564 มีแนวโน้มปรับลดลงอีกเล็กน้อย และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงก่อนเกิด โควิด-19 จากความต้องการที่ชะลอตัว ในขณะเดียวกันกับที่มีจำนวนพื้นที่ใหม่เข้ามาในตลาดซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการปรับขึ้นของค่าเช่า   ในช่วงที่ 4-5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสำนักงานให้เช่ายังมีรายได้เติบโตดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราค่าเช่า ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.5% ต่อปีในช่วงปี 2558-2562 จากอัตราการเช่าที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจาก โควิด-19 ทำให้ความต้องการมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงมาก   โดยอัตราค่าเช่าเฉลี่ยในกรุงเทพฯ ในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว โดยจะเห็นผลกระทบค่อนข้างชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2 จากนโยบายล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งผู้ประกอบการให้เช่าสำนักงานหลายแห่ง  ได้ลดหย่อนค่าเช่าเพื่อช่วยเหลือผู้เช่าในโครงการที่ได้รับผลกระทบ​  และหลายรายยังคงลดหย่อนค่าเช่า​ต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายปี 2563   สำหรับปี 2564 คาดว่าอัตราค่าเช่าจะลดลงอีกเล็กน้อย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกครั้ง  จากการระบาดรอบใหม่  ขณะที่จำนวนในพื้นที่ให้เช่ายังมีแนวโน้มชะลอตัว  จากจำนวนพื้นที่ให้เช่าใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นถึงราว 334,000 ตารางเมตรในปี 2564 (รูปที่ 5) ส่งผลให้ค่าเช่าไม่สามารถเติบโตได้ดีนัก   ในระยะกลาง จำนวนพื้นที่สำนักงานแห่งใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก จะกดดันให้เกิดภาวะจำนวนพื้นที่ส่วนเกิน ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราการเช่าปรับตัวลดลง พื้นที่ใหม่เข้าตลาดอีกกว่า 4.58 แสนตร.ม. เนื่องจากในช่วงปี 2565-2566  จำนวนพื้นที่สำนักงานใหม่ ที่เข้าสู่ตลาดจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 458,000 ตารางเมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2558-2562  ถึงประมาณ​ 3 เท่า (รูปที่ 5) โดยเฉพาะสำนักงานเกรด A ในพื้นที่ CBD ที่มีสัดส่วนของพื้นที่ใหม่ถึง 55% ของพื้นที่ใหม่ทั้งหมด   สำหรับสำนักงานเกรด B แม้ว่าจะมีพื้นที่ใหม่ไม่มากนัก แต่คาดว่าสำนักงานเกรด B จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับสำนักงานเกรด A เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้หลายโครงการมีพื้นที่ว่างมากขึ้น ทำให้เจ้าของพื้นที่มีแนวโน้มปรับลดค่าเช่าลง เพื่อดึงดูดผู้เช่าใหม่ให้เข้าสู่โครงการ และลดภาระการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น   โดยเฉพาะโครงการที่เปิดให้บริการมานานหรืออยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในทำเลทอง (prime location) ขณะที่ความต้องการในระยะกลางแม้ว่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่คาดว่าความต้องการในพื้นที่ให้เช่ายังคงเติบโตไม่ทันกับจำนวนพื้นที่ที่เข้ามาใหม่ ส่งผลให้อัตราการให้เช่า (occupancy rate) โดยรวม  มีแนวโน้มปรับลดลงจนอาจต่ำกว่าระดับ 85% ในช่วงปี 2565-2566 และจะเป็นปัจจัยกดดันการปรับค่าเช่าในระยะต่อไป แนวโน้มความต้องการพื้นที่สำนักงานที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจสำนักงานให้เช่าต้องปรับตัว อย่างเช่น การปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สำนักงานให้เหมาะสมกับผู้เช่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานพื้นที่ รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน   แนวโน้มพื้นที่สำนักงานที่จะตอบโจทย์หลัง โควิด-19 นอกเหนือจาก  ต้องมีมาตรการเพื่อรักษาความสะอาดและความปลอดภัยแล้ว การให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนและออกแบบพื้นที่สำนักงาน ให้ตอบโจทย์ความต้องการ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการพื้นที่ให้เช่าต้องปรับตัว โดยเจ้าของพื้นที่อาจมีการสำรวจความต้องการของผู้เช่า และพิจารณาปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งาน  ตลอดจนการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน เทรนด์อนาคตพื้นที่ออฟฟิศต้องยืดหยุ่น จากผลสำรวจของ CBRE เกี่ยวกับลักษณะของพื้นที่สำนักงานในอนาคต ที่พนักงานองค์กรต้องการจากหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย (รูปที่ 6) พบว่า  ปัจจัยสำคัญที่พนักงานส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการใช้งานพื้นที่สำนักงาน 3 อันดับแรกคือ 1.พื้นที่สำนักงานที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน 2.การมีห้องประชุมส่วนกลาง (shared meeting space) 3.คุณภาพของอากาศภายในอาคาร   จากผลสำรวจของ CBRE ยังพบว่า ในอนาคตสัดส่วนของสำนักงานที่มีที่นั่งประจำเป็นหลักมีแนวโน้มลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น (จาก 57% ก่อนเกิด โควิด-19) ส่วนอีก 90% ที่เหลือมีการใช้พื้นที่แบบยืดหยุ่น  (รูปที่ 7) สะท้อนถึงความต้องการพื้นที่สำนักงานในรูปแบบ flexible space มากขึ้น นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ภายในพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในอาคารยังเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ตัวอย่างของเทคโนโลยีหรือแอปพลิเคชัน ที่มีการนำเอามาใช้ในพื้นที่สำนักงานมากขึ้น ได้แก่ แอปพลิเคชันสำหรับยืนยันตัวตนผู้เช่าใช้บริการ เทคโนโลยี touchless ต่าง ๆ ตั้งแต่การเข้า-ออกอาคารไปจนถึงภายในสำนักงาน การจองห้องประชุมผ่านมือถือ การสั่งงานอุปกรณ์ด้วยเสียง ตลอดจนอุปกรณ์ทำความสะอาดอัตโนมัติ หรือเครื่องมือช่วยในการติดต่อทางไกล (รูปที่ 8)   นอกจากนี้ การออกแบบพื้นที่ทำงานและพื้นที่รองรับการให้บริการต่าง ๆ ภายในโครงการอย่างครบวงจร จะช่วยตอบโจทย์เทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ แม้ว่าการระบาดของ โควิด-19 ในระยะต่อไป จะปรับตัวดีขึ้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ แต่รูปแบบการทำงานที่รักษาระยะห่างระหว่างบุคคลยังน่าจะเป็นเทรนด์ที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ให้ความสำคัญมากขึ้น ส่งผลให้ในอนาคตการวางแผนผัง (layout) ของออฟฟิศจะต้องมีการออกแบบ และปรับปรุงเพื่อลดความหนาแน่นของพนักงาน รวมถึงจุดที่มีโอกาสหนาแน่นสูง อาทิ ล็อบบี้ ลิฟต์ ห้องน้ำ   นอกจากนี้ อาจปรับปรุงพื้นที่สำนักงานในโครงการ เพื่อรองรับการให้บริการ flexible space ไม่ว่าจะเป็น serviced office หรือ co-working space ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวสามารถตอบสนองรูปแบบการทำงานในอนาคต ที่พนักงานบริษัทเริ่มใช้เวลาที่สำนักงานน้อยลงได้ดี อีกทั้ง การออกแบบพื้นที่ใช้ประโยชน์ภายในโครงการ  จะต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของพนักงาน นอกเหนือจากการออกแบบพื้นที่สำหรับการทำงานที่ตอบโจทย์เทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ โดยอาจเน้นเพิ่มพื้นที่สนับสนุนต่าง ๆ อย่างครบวงจร อาทิ การเพิ่มพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย หรือการจัดหาร้านอาหารเพื่อสุขภาพไว้ในโครงการ นับเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้เช่ามีความต้องการเช่าพื้นที่มากขึ้น    
4 มุมคิดชาว Millennials ต่อตลาดอสังหาฯ ไทยในช่วงโควิด-19

4 มุมคิดชาว Millennials ต่อตลาดอสังหาฯ ไทยในช่วงโควิด-19

เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19  จึงทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก หรือไม่ก็ต้องปรับแผนรับมือ งัดสารพัดกลยุทธ์ออกมา เพื่อสร้างยอดขายและการเติบโต ตลาดบ้านและคอนโดมิเนียมก็เช่นเดียวกัน จากที่ยอดขายดี ๆ ก็ต้องสะดุดลง เพราะคนไม่มั่นใจว่า จะมีเงินมาจ่ายค่าผ่อนหนี้ธนาคารหรือไม่ เพราะการงานและอาชีพของตนจะไม่รู้จะยังมั่นคงนานแค่ไหน แม้ว่าความต้องการซื้อบ้านหรือคอนโดจะยังมีอยู่มากก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่ม Millennials  หรือ Gen Y (ผู้ที่เกิดช่วงปี พ.ศ. 2527 – 2539) ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน หรือเริ่มต้นสร้างครอบครัว   ผู้บริโภคกลุ่ม Millennials นับว่ามีความสำคัญ และได้กลายมาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในศตวรรษที่ 21 ด้วยพื้นฐานการเติบโตมากับโลกดิจิทัลจึงเรียนรู้และรับเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว และนำมาพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ตลอดเวลา นอกจากนั้นยังตัดสินใจรวดเร็ว จึงทำให้คนกลุ่มนี้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ หรือการดำเนินชีวิต อีกทั้งยังเป็นวัยที่เต็มไปด้วยไฟในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในชีวิตและอยู่ในช่วงสร้างฐานะให้มั่นคง จึงทำให้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการใช้จ่ายสูงและคาดว่าจะเป็นกำลังซื้อสำคัญในอนาคตไปอีกหลายปี จากข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 (ฉบับปรับปรุง) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ในปีนี้ประชากรไทยในช่วงอายุ 25-39 ปี จะมีจำนวนถึง 13.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 31.53% ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมด (ช่วงอายุ 15-59 ปี) กว่า 43 ล้านคน จึงทำให้หลายธุรกิจจับตามองและช่วงชิงกำลังซื้อจากคนกลุ่มนี้มากขึ้น   แน่นอนว่าเมื่อชาว Millennials เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในสายตาของหลากหลายธุรกิจ ย่อมถูกดึงดูดให้ใช้จ่ายสนองความต้องการด้านต่าง ๆ เสมอ และกลายเป็นอีกช่วงวัยที่เริ่มมีภาระหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สินที่มีราคาสูงโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยเมื่อเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย ภาคธุรกิจและผู้บริโภคต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม รวมทั้งกลุ่ม Millennials ด้วยเช่นกัน   บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ได้เปิดเผยข้อมูลอัปเดต ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย พบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มีการสร้างหนี้มากที่สุด คือ กลุ่ม Millennials  หรือ Gen Y โดยมีหนี้สินรวมกันถึง 4 ล้านล้านบาท คิดเป็นหนี้เสีย (NPL) คงค้าง 270,000 ล้านบาท เมื่อพิจารณาเรื่องสินเชื่อบ้านที่อนุมัติใหม่ในช่วงเวลานั้นจำนวน 80,494 สัญญา พบว่าเป็นของกลุ่ม Millennials หรือ Gen Y มากที่สุดถึง 64% และเป็นที่น่ากังวลในเรื่องปัญหาค้างชำระในอนาคต สะท้อนให้เห็นถึงสภาพคล่องในการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ และเริ่มส่งสัญญาณเตือนให้เห็นปัญหาการวางแผนด้านการเงิน แม้จะมีกำลังซื้อสูงก็ตาม   ข้อมูลจากดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) ยังรายงานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ฉบับล่าสุด เจาะลึกมุมมองด้านการวางแผนการใช้จ่ายของกลุ่ม Millennials และความต้องการด้านที่อยู่อาศัยท่ามกลางความท้าทายทั้งด้านการเงินและการงานจากสภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางและสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ว่าส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของชาว Millennials ในตลาดอสังหาฯ มากน้อยเพียงใด 4 มุมคิด มนุษย์กลุ่ม Millennials โดยผลสำรวจพบ 4 มุมมองซึ่งประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.อยากใช้จ่ายหลากหลาย แต่ครอบครัวต้องมาก่อน เมื่อพูดถึงการวางแผนการใช้จ่ายใน 1 ปีข้างหน้าของผู้บริโภคกลุ่ม Millennials นั้น ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญไปที่การใช้จ่ายภายในครอบครัวถึง 74% สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้และดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัวของคนวัยนี้ อย่างไรก็ตาม ชาว Millennials ยังคงมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองอยู่ไม่น้อยแม้จะยังไม่มีความพร้อมด้านการเงินในตอนนี้ โดย 59% เผยว่ามีความตั้งใจออมเงินเพื่อวางแผนซื้อบ้านในอนาคต ในขณะที่ 46% ระบุว่าอยากออกไปท่องเที่ยวในวันหยุด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ปัจจุบันทำให้ทุกคนจำเป็นต้องเก็บตัวอยู่บ้าน และชะลอแผนท่องเที่ยวออกไป เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และหยุดการแพร่ระบาดในประเทศ 2.เตรียมความพร้อม หวังซื้อบ้านหลังแรกตอน 31 ปี เมื่อพิจารณาในด้านการครอบครองอสังหาฯ ในปัจจุบัน พบว่ายังมีสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน โดยผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่ม Millennials มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองแล้วถึง 57% ในขณะที่อีก 43% ยังไม่ได้เป็นเจ้าของอสังหาฯ ใด ๆ ซึ่ง 2 ใน 3 ของผู้บริโภคกลุ่มนี้ (66%) เผยว่า พวกเขาได้วางแผนที่จะซื้อบ้านหลังแรกเมื่ออายุ 31 ปีขึ้นไป ซึ่งน่าจะเป็นช่วงวัยที่มีความพร้อมมากพอทั้งด้านหน้าที่การงานที่มั่นคงและสถานะทางการเงินที่เหมาะสมเมื่อต้องเป็นหนี้ก้อนใหญ่มากกว่าตอนนี้ 3.สถานะทางการเงินสั่นคลอน อุปสรรคหลักของการมีบ้าน กลุ่ม Millennials ยอมรับว่าปัญหาทางการเงินจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในตอนนี้ถือเป็นอุปสรรคหลัก ๆ ที่ทำให้พวกเขายังไม่มีแผนย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ โดย 1 ใน 2 ของกลุ่มนี้ (50%) เผยว่า ยังไม่มีเงินออมมากพอที่จะไปเช่าหรือซื้อบ้านเป็นของตนเอง ในขณะที่ 41% ต้องการที่จะอยู่บ้านเดิมเพื่อดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิด ตามมาด้วยกลุ่มที่ไม่คิดจะย้ายออกเพราะยังไม่ได้แต่งงาน 33% และตั้งใจจะรับช่วงต่อบ้านเดิมจากพ่อแม่อยู่แล้ว 33% จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้ออสังหาฯ เป็นของตัวเองในตอนนี้ 4.การเช่าโดนใจ ตอบโจทย์ที่อยู่อาศัยแบบไร้ข้อผูกมัดระยะยาว ด้วยข้อจำกัดทางการเงินจากปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้ชาว Millennials  94% ตัดสินใจเช่าแทนการซื้อที่อยู่อาศัยในตอนนี้ เนื่องจากมองว่าการเช่าบ้าน/คอนโดฯ จะมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการซื้ออสังหาฯ ซึ่งต้องมีความพร้อมทางการเงินในระดับหนึ่งจึงจะได้รับการอนุมัติสินเชื่อ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงเลือกเก็บเงินก้อนที่มีสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉินและหันไปเลือกเช่าอสังหาฯ ในรูปแบบที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยแทน นอกจากนี้การมีสถานภาพโสดอยู่ตัวคนเดียวก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้การเช่าที่อยู่อาศัยได้รับความนิยมมากกว่าการซื้อเช่นกัน แม้ผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากหลายปัจจัยในตอนนี้ จะทำให้แผนบริหารจัดการเงินของชาว Millennials ต้องสะดุดลงหรือชะลอการใช้จ่ายในเรื่องที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วนออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังคงเป็นกำลังซื้อที่สำคัญในหลายอุตสาหกรรมในระยะยาว เพียงแต่รอดูสัญญาณบวกของสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อหาเวลาที่เหมาะสมในการออกมาใช้จ่ายแทน   ดังจะเห็นได้จากการวางแผนใช้จ่ายในอนาคตที่ผู้บริโภคกลุ่ม Millennials  ยังคงให้ความสำคัญไปยังสิ่งที่จำเป็นมาก่อนความต้องการส่วนตัว ด้วยการวางแผนบริหารจัดการการเงินที่รอบคอบนี้เชื่อว่าจะช่วยให้กลุ่ม Millennials สามารถปรับพฤติกรรมและปรับเปลี่ยนแผนการใช้จ่ายที่มีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที และกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในอนาคตแน่นอน    
“Affordable Housing” คำตอบของคนกรุง​ ในวันที่เงินเดือนโตไม่ทันราคาอสังหาฯ ​

“Affordable Housing” คำตอบของคนกรุง​ ในวันที่เงินเดือนโตไม่ทันราคาอสังหาฯ ​

หลายคนคงเคยตั้งเป้าหมายว่าในวันนึง เมื่อมีรายได้สูงมากพอ จะหาซื้อคอนโดมิเนียม หรือบ้านใจกลางเมืองที่ตนเองใฝ่ฝัน เพื่อจะได้อยู่ใกล้เมืองมากขึ้น เพื่อให้เดินทางได้สะดวกสบาย และใกล้แหล่งความเจริญต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ธนาคาร โรงพยาบาล หรือโรงเรียนที่มีคุณภาพ เพื่อความสะดวกของคนในครอบครัว แต่ความเป็นจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อระดับเงินเดือนของคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่นั้น เพิ่มขึ้นไม่ทันกับราคาที่พักอาศัยในเมือง ที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งพวกเค้าวาดฝันว่าอยากจะมีโอกาศอยู่อาศัยได้ในระยะยาว   ทางออกในการอยากเป็นเจ้าของที่พักอาศัยของตัวเองนั้น ก็ต้องเลือกโครงการที่ห่างไกลออกจากตัวเมือง เมื่อมีความต้องการที่พักอาศัยในลักษณะแบบนี้มากขึ้น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เลือกที่จะตั้งโครงการแบบกระจัดกระจาย และห่างไกลจากระบบขนส่งสาธารณะหลัก เพื่อให้คนกลุ่มนี้ซื้อที่พักอาศัยในราคาย่อมเยาว์ขึ้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเมืองกระจัดกระจาย (Urban sprawl) เพิ่มมากขึ้นตาม รวมทั้งยังทำให้ต้นทุนค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าเดินทาง สูงขึ้นมากในคนกลุ่มนี้ คนกรุงเทพฯไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองได้ ในปัจจุบัน “คนกรุงเทพส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองได้” จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและการเคหะแห่งชาติ ในปี 2563 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของคนกรุงเทพฯ นั้นอยู่ที่ 37,750 บาทต่อเดือน โดยหากคิดตามความสามารถในการกู้คนกลุ่มนี้จะสามารถกู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท (คิดเทียบเงินเดือนกับวงเงินที่จะสามารถกู้ได้ โดยคิดที่ 40% ระยะสัญญา 30 ปี และไม่มีภาระทางการเงินอื่น ๆ) ซึ่ง งบประมาณดังกล่าว คนกลุ่มนี้จะสามารถซื้อคอนโดในเขตปทุมวันได้เพียงแค่ 8 ตารางเมตร จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกรุงเทพฯ กว่า 50% ไม่มีกรรมสิทธิในที่อยู่อาศัย และมีแนวโน้มที่จำนวนจะสูงขึ้นต่อเนื่องในทุกปี เพราะ “ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตเร็วกว่ารายได้ต่อครัวเรือน”   ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบกับคนกรุงเทพฯ ในทุกระดับรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่มีความมั่นคงและความแน่นอนในอาชีพการงานและรายได้ และส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บสำรองไว้ในยามฉุกเฉิน ในหลายๆ ประเทศ จึงมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เพื่อให้อัตราการถือครองที่อยู่อาศัยสูงขึ้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งสะท้อนการลดปัญหาสังคมในเรื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัยได้   สำหรับประเทศไทยนั้น ภาครัฐได้เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว ด้วยการออกนโยบายเพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนหันมาลงทุน พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น ด้วยการเพิ่มสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อลดภาระให้กับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษี การให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือมาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio Bonus :FAR Bonus) ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556   แต่อย่างไรก็ตาม มาตราการดังกล่าว ยังไม่สามารถดึงดูดภาคเอกชนให้ร่วมลงทุนได้มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการได้ โดยเฉพาะมาตรการการจัดให้มีหรือพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยภายในพื้นที่โครงการ (Affordable Housing) จนถึงปัจจุบัน โครงการที่เข้าร่วมมาตรการ FAR Bonus เลือกทำเพียงมาตรการเดียวเท่านั้น ที่มีต้นทุนน้อยที่สุดและไม่ส่งผลกระทบกับโครงการ นั่นคือ มาตรการการจัดให้มีพื้นที่รับน้ำในแปลงที่ดิน ทั้งหมดนี้ทำให้โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก สวนทางกับความต้องการของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องการอยู่อาศัยในเขตเมืองกันมากขึ้น “วัฒนา-จตุจักร” ควรเพิ่ม Affordable Housing มากขึ้น ที่มา: ข้อมูลจากการเคหะแห่งชาติและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563   จากข้อมูลรายงาน การคาดประมาณความต้องการของที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ที่จัดทำโดยการเคหะแห่งชาติ มีการคาดประมาณว่าเฉพาะในปี 2564 ความต้องการที่อยู่อาศัยของจำนวนครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,972 ครัวเรือน โดยเขตที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยของครัวเรือนของคนกลุ่มดังกล่าวมากที่สุดคือ เขตจตุจักร จำนวน 166 ครัวเรือน รองลงมา คือ เขตบางเขน จำนวน 166 ครับเรือน และเขตบางกะปิ จำนวน 163 ครัวเรือน ตามลำดับ   เมื่อเปรียบเทียบข้อมูล ระหว่างระดับความต้องการที่อยู่อาศัย ของจำนวนครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย (Real demand) กับความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย ของครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (Affordability) พบว่า เขตวัฒนา​และเขตจตุจักร เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการ Affordable Housing มากที่สุด ทั้งในด้านอุปสงค์ (Demand) และด้านการเพิ่มโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมือง ที่มีราคาตลาดสูงกว่าความสามารถในการซื้อของคนกลุ่มดังกล่าว นอกจากนั้น โครงการในเขตเมืองเหล่านี้ ยังสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็น -การเข้าถึงบริการสาธารณะได้ง่ายขึ้น -ลดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง -เพิ่มความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เป็นต้น ถ้าภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาโครงการ (Joint development) หรือสนับสนุนให้ภาคเอกชนพัฒนาโครงการที่พักอาศัยสำหรับคนทุกระดับรายได้ (Affordable housing) มากขึ้น ภายใต้แผนพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสอยู่อาศัยภายในเมือง จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ รวมทั้งช่วยเพิ่มอัตราการถือครองกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ สูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนแนวความคิดการพัฒนาเมืองสมัยใหม่อย่างยั่งยืน ที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Development)”       บทความโดย -นายภาวิน ศิริพงษ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – MRE (รุ่น 19) -ดร.พรรัตน์ พงษ์ประเสริฐ อาจารย์ประจำ ภาควิชาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์      
ทำความรู้จัก 4 เทรนด์ที่อยู่อาศัยปี 2021

ทำความรู้จัก 4 เทรนด์ที่อยู่อาศัยปี 2021

นับตั้งแต่เกิดโรคระบาด “ไวรัสโควิด-19” วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ รวมถึงการทำงาน การดำเนินธุรกิจของคนยุคปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไป ต่างต้องอยู่ภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ หรือ New Normal ซึ่งต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และอยู่ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข ที่เน้นความสะอาดปลอดภัย จากการได้รับเชื้อโรค ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การลดการสัมผัส และการล้างมือให้สะอาดหลังการสัมผัสกับสิ่งของ   ไม่เพียงแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งสร้างผลกระทบในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้วิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก่อนหน้าแล้ว จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของคน แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือ Digital Disruption   จากการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ส่งผลทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวให้ทัน และต้องสนองตอบความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ก็ไม่ได้แตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ ต้องมีการปรับตัวเช่นเดียวกัน  ​เพราะไลฟ์สไตล์ ความต้องการ และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม 4 เทรนด์ที่อยู่อาศัยปี 2021  การจะพัฒนาสินค้าและบริการ ออกมารองรับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป นักการตลาดหรือดีเวลลอปเปอร์ คงต้องวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น  เทรนด์การอยู่อาศัย รวมถึงการก่อสร้างในปี 2021 คงจะแตกต่างจากอดีต ซึ่ง SCG ได้วิเคราะห์เทรนด์การก่อสร้างและที่อยู่อาศัย 2021 ซึ่งพบว่ามี 4 เรื่องที่จะเข้ามามีอิทธิพล และเกิดการเปลี่ยนแปลง 1.Digital Transformation คือการนำเอาดิจิทัล เทคโนโลยี มาปรับใช้กับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นหนึ่งตัวแปรการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากคนส่วนใหญ่ได้ให้เวลาและเรียนรู้การใช้งานเครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ (New Normal) ที่ทุกคนต้องทำไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันโปรแกรมการประชุมออนไลน์ เข้ามาอำนวยความสะดวกแทนการเดินทางมาประชุมในรูปแบบเก่า หรือ การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ  เป็นต้น ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย และง่าย แบบ Anywhere Anytime ของคนทุกเพศ ทุกวัย 2.การใส่ใจกับพื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น ผู้คนหันมาให้ความสำคัญ ใส่ใจกับพื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น  เทรนด์นี้เกิดขึ้นจากช่วงล็อคดาวน์ เมื่อคนอยู่บ้านกันมากกว่าที่เคย จะเห็นได้ว่า มีการปรับปรุงตกแต่งบ้านให้น่าอยู่และรองรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ว่าโลกจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด “ที่อยู่อาศัย” ก็ยังคงเป็นปัจจัยพื้นฐานสําคัญ และเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด 3.Well-Being เทรนด์สุขอนามัยที่ขาดไม่ได้ เทรนด์การอยู่อาศัยซึ่งเป็นตัวแปรที่สาม คือ  Well-Being โลกกำลังตื่นตัวในเรื่องของสุขอนามัยกันมากขึ้น เทรนด์ที่กําลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทุกเพศทุกวัย และเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง จากวิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ทำให้มองเห็นการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นเรื่องที่สำคัญและให้ความสนใจกับสิ่งรอบตัว ไปพร้อม ๆ กับการที่มีบ้านที่ดี มีความปลอดภัย   ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังต้องปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) สอดคล้องกับพฤติกรรมการเลือกและใส่ใจกับความปลอดภัยเป็นเรื่องแรก ทั้งการอาศัยอยู่ภายในบ้าน รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมตัวเอง และสมาชิกในบ้าน สู่การเป็นผู้สูงวัยในอนาคต 4.Circular Economy และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม จากสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างรับมือกับการสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของโลกเรา ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงานกันมากขึ้น หรือแม้แต่เรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นสิ่งที่มนุษย์เราเริ่มหันมามองสิ่งรอบตัว จนเกิดคำถามที่ว่า เมื่อโลกเปลี่ยน ถึงเวลาที่ต้องหันกลับมามองที่ตัวเราเอง ว่าที่ผ่านมาดูแลโลกนี้ดีเพียงพอหรือยัง? นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ธุรกิจ เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง แสดงความเห็นว่า  เมื่อเกิดไวรัสโควิด-19 แล้ว เกิดคำถามขึ้นมากมายตามมาว่า ที่ผ่านมาเราดูแลโลกนี้ดีเพียงพอไหม เพราะต้องยอมรับหลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้น ก็เกิดจากผลกระทบของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป คนจะกลับมาตระหนักเหมือนกันว่าเราดูแลตัวเราเองแล้ว เราดูแลโลกไปด้วยไหม ซึ่งจริง ๆ แล้ว เรื่องเทรนด์ กระแสนิยม รวมถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้น อาทิ การดูแลสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน การใส่ใจด้านสุขอนามัย คงต้องมองย้อนกลับมามองถึงการใช้ชีวิต และ รอบ ๆ ตัว ว่าเราจะดูแลต่อจากนี้อย่างไร สำหรับผมมองว่าทั้ง 4 ข้อข้างต้นก็เป็นเทรนด์ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในก่อนหน้านี้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันช่วยให้มันชัดเจนขึ้น และช่วยเร่งความเร็วมากขึ้น Smart Living ตอบโจทย์ การอยู่อาศัยปี 2021 นอกจากนี้  ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนผ่าน ได้ยกระดับความต้องการพื้นฐานทางกายภาพของมนุษย์สู่ความเป็นดิจิทัล โดยการผนวกเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกสบายในทุกมิติ ส่งผลให้ภาพของ Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ ชัดเจนมากขึ้น นำไปสู่การใช้ชีวิตในรูปแบบ Smart Living ที่เชื่อมต่อทุกประสบการณ์ด้วยเทคโนโลยี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ในฐานะองค์กรต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มที่เกิดขึ้น ทั้งด้านพฤติกรรม ความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต สุขอนามัย   ขณะที่นายชูโชค ศิวะคุณากร Managing Director บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่าง คือการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในสายงานก่อสร้าง และขาดแคลนในเชิงของคุณภาพและทักษะของงานก่อสร้างที่มีความหลากหลาย ซึ่งต้องเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาต้าควบคู่ อย่างเช่นการพัฒนาแรงงานฝีมือช่าง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอีกด้านหนึ่ง โดยเมื่อก่อนนี้นึกถึงแค่งานโครงสร้าง อาคาร แต่ปัจจุบันมันต้องมองทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ปัญหาเรื่องฝุ่นละออง เรื่องการจัดการน้ำ ซึ่งมันจะเชื่อมโยงในภาคการอุปโภค บริโภค ทั้งในเชิงของการเกษตร และอุตสาหกรรม   “ตัวกำหนดทิศทางสำคัญในการขับเคลื่อนแวดวงการก่อสร้าง คือความเบ็ดเสร็จ ครบวงจรและรวดเร็ว ทั้งรูปแบบของการใช้งานตัวอาคาร และโครงสร้าง ทั้งการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานบนโครงสร้างเดิมให้มีความหลากหลาย หรือเป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการใช้งานโครงสร้างเดิมให้ต่างออกไป รวมถึงการรีโนเวทปรับปรุงอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ไปสู่การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเพื่อตอบโจทย์สูงสุด” จากความต้องการความเบ็ดเสร็จและรวดเร็ว ทำให้เกิดแนวทางการก่อสร้างแนวใหม่ คือ Smart Construction ซึ่งจะช่วยจัดการกับการออกแบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่ล้าสมัย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังปรับให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ให้มีความเป็น Smart Building มากยิ่งขึ้น   นายชูโชค ศิวะคุณากร ทิ้งท้ายว่า ความน่าสนใจอีกข้อที่ก่อตัวขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง คือ Networking การสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลร่วมกัน แชร์ Resource หรือแม้แต่ Knowledge แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทั้งกลุ่มเจ้าของโครงการและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในแวดวงการก่อสร้าง ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจและภาพรวม เพิ่มทักษะงานก่อสร้าง ภายใต้ Ecosystem เดียวกัน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น  
อสังหาปี 64  ไปต่ออย่างไร ? ในวิกฤติไวรัสโควิด-19

อสังหาปี 64  ไปต่ออย่างไร ? ในวิกฤติไวรัสโควิด-19

สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่ค่อนข้างเหน็ดเหนื่อย สำหรับผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องเผชิญกับปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ช่วงครึ่งปีหลังส่งสัญญาณดี จากการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างได้ผล แต่สถานการณ์กลับมารุนแรงอีกครั้งช่วงปลายปี และลุกลามมาถึงปี 2564 ซึ่งสถานการณ์รุนแรงกว่าครั้งแรกด้วยซ้ำ   ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจต้องอยู่ในภาวะชะลอตัวอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นปัจจัยลบอย่างหนักในทุกธุรกิจ รวมถึงธุรกิจอสังหาฯ ด้วย ความหวังสำคัญของการฟื้นเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ คงขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาด และการนำเอาวัคซีนมาใช้ได้อย่างเป็นผล หลังจากนั้นรัฐบาลคงต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ภาพรวมเศรษฐกิจคงเริ่มฟื้นตัวตาม   ในส่วนของธุรกิจอสังหาฯ ปี 2564 จะมีทิศทางเป็นอย่างไร ท่ามกลางปัจจัยลบสำคัญเช่นนี้ แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ทำบทวิเคราะห์คาดการณ์ภาพรวมธุรกิจในปี 2564 และมองย้อนกลับไปในปี 2563 ว่ามีสถานการณ์ภาพรวมตลาดเป็นอย่างไรบ้าง แนวโน้มตลาดคอนโดปี ​2564 -คาดว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกที่จะเลื่อนการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ออกไป  เน้นการพัฒนาโครงการแนวราบทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดยุทธศาสตร์ที่ยังคงมีกำลังซื้อ แต่อาจมีผู้ประกอบการรายใหญ่บางราย เปิดตัวโครงการใหม่บ้างในบางทำเล -คาดการณ์ปี 2564 จะมีจำนวนเปิดตัวคอนโดใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่เกิน 20,000 ยูนิตเท่านั้น หรือปรับตัวลดลง 7.6% จากปีก่อนหน้า   -ในปี 2564 คาดว่าจะมีคอนโดที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและจดทะเบียนอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกกว่า 35,000 ยูนิต ในส่วนนี้จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการ  หากเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเรียกลูกค้าเข้ามาโอนกรรมสิทธิ์จะเกิดยูนิตหลุดโอนมากน้อยเพียงใด และหากยูนิตเหล่านี้มีการทิ้งโอนกันเป็นจำนวนมากในภาวะที่ตลาดชะลอตัว จะเป็นอีกปัญหาที่สำคัญที่ผู้พัฒนาจะต้องนำยูนิตเหล่านี้กลับมาขายใหม่ในตลาดอีกครั้ง หรืออย่างที่เราเห็นผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะนำยูนิตเหล่านี้กลับมาขายใหม่ในการลดราคาขายลงถูกว่าในช่วง Pre-sale ก่อนหน้าด้วยซ้ำ เพื่อกระตุ้นความสนใจของกลุ่มลูกให้เพิ่มขึ้น และกระตุ้นยอดโอนกรรมสิทธิ์เพื่อการรับรู้รายได้และดึงเงินเข้ามาในบริษัทให้มากที่สุดซึ่งจะส่งผลให้เราจะเห็นสงครามราคาในตลาดคอนโดมิเนียมอย่างต่อเนื่องในปี 2564   -ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกพัฒนาโครงการคอนโดในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นนอกมากขึ้น หรือในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเฉพาะช่วงรามคำแหง – ลำสาลี  รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยเฉพาะบริเวณถนนลาดพร้าวและศรีนครินทร์ และรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยเฉพาะถนนรามอินทรา หรือแม้กระทั้งแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง จะเป็นพื้นที่ที่คาดการณ์จะมีการเปิดตัวโครงการคอนโดคึกคักขึ้นในปี 2564   -ผู้ประกอบการพัฒนาคอนโดในพื้นที่ใจกลางเมืองน้อยลง เนื่องจากยังมีจำนวนคอนโดรอการขายในตลาดจำนวนมาก  จากการเปิดตัวอย่างคึกคักในช่วง 4-5 ปีก่อนหน้า บวกกับราคาที่ดินที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง -ราคาคอนโด 50,001 - 100,000 บาทต่อตารางเมตร เป็นเซกต์เมนต์ ที่น่าจับตามองในปี 2564 เนื่องจากเป็นราคาที่เข้าถึงได้ง่าย ในภาวะที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ตามมาด้วยราคา 100,001 - 150,000 บาทต่อตารางเมตร และระดับราคาต่ำกว่า 50,000 บาทต่อตารางเมตร   -ผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์บางราย ยังคงมีแผนพัฒนาโครงการคอนโดในช่วงราคาขายเฉลี่ยต่ำกว่า 50,000 บาทต่อตารางเมตร ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมฯ และปริมณฑล เพื่อดึงดูดกำลังซื้อในกลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์ และกลุ่มนักลงทุนที่เน้นการซื้อเพื่อการปล่อยเช่าในปี 2564   -โครงการคอนโดที่มีราคา มากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตรขึ้นไป จะมีการพัฒนาน้อยลง เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกลุ่มลูกค้าจำกัด และกำลังซื้อต่างชาติยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ผู้ประกอบการจะเลือกพัฒนาเฉพาะในทำเลที่มั่นใจว่ามีกำลังซื้อเท่านั้น เช่น ย่านทองหล่อ แนวโน้มตลาดบ้านแนวราบปี 2564 -ตลาดแนวราบ คาดว่าจะยังคงเป็นตลาดดาวเด่นของภาคอสังหาฯ ในปี 2564 ที่ผู้พัฒนาจะยังคงเดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดยุทศาสตร์สำคัญ ​ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ที่อยู่อาศัยยังคงเป็นปัจจัย 4 ที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ​คาดว่ายอดขายตลาดแนวราบในปี 2564 ​​ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ -ทำเลเด่นในการพัฒนาโครงการแนวราบ คือ พื้นที่ในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก โดยเฉพาะย่านบางนา  วงแหวนกาญจนาภิเษก ร่มกล้า กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ รวมทั้งจังหวัดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ประเด็นจับตาท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 -กำลังซื้อต่างชาติในภาคอสังหาฯ คาดการณ์ว่าจะยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2564 เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้มองว่าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับการก่อหนี้ก้อนใหญ่ แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ​ทั้งจากภาครัฐและเอกชนก็ตาม   -การขายอสังหาฯในปี 2564 อุปสรรคที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นในเรื่องของกำลังซื้อที่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เรียกหลายฝ่ายมองว่าอยู่ในช่วงขาลงทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก  กำลังซื้อในช่วงวัยทำงาน หรือวัยกลางคนที่เคยเป็นกำลังซื้อหลักของภาคอสังหาฯ รู้สึกไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังคงกลัวการถูกเลิกจ้าง ตกงาน หรือแม้กระทั้งการปรับลดเงินเดือนลง ส่งผลให้ไม่อยากสร้างหนี้ก้อนใหญ่และภาวะผูกพันระยะยาวในช่วงนี้ จึงเลือกที่จะชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาฯออกไป   -ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลที่สุดยังคงเป็น ความกังวลในเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 2  ที่จะส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศล็อกดาวน์ประเทศอีกรอบ เหมือนกับประเทศในกลุ่มยุโรปและอเมริกาที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้งเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19   -ส่วนปัจจัยบวกที่สำคัญที่สุดสำหรับภาคอสังหาฯ คือวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จะพร้อมใช้งานได้เมื่อใด ซึ่งหากวัคซีนดังกล่าวสามารถใช้งานได้จริงภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่สุด นอกเหนือจากมาตรากระตุ้นอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทางรอดอสังหาฯ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 -ผู้พัฒนาควรหันมาเน้นจับกลุ่มลูกค้าภายในประเทศ เพื่อดึงดูดกำลังซื้อในกลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์ และกลุ่มนักลงทุนที่เน้นการซื้อเพื่อการปล่อยเช่าในช่วงระดับราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ในภาวะที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวในปี 2564   -ส่วนลูกค้าต่างชาติควรเพิ่มช่องทางการขาย ผ่านแพลตฟอร์มเอเจนท์ต่าง ๆ หรือช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสการขายอีกช่องทางในภาวะที่กำลังซื้อต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้   -ผู้ประกอบการควรระมัดระวังในการกำหนดราคาขาย ซึ่งหากเปิดตัวโครงการขายใหม่ราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าราคาตลาด อาจส่งผลให้โครงการไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อเท่าที่ควร   การกำหนดราคาขายที่น่าสนใจ นักลงทุนยังทำกำไรได้ และผู้ซื้อสามารถเข้าถึงได้ คาดว่าผู้ประกอบการหลายรายยังคงเลือกใช้เป็น Key Success Factor  เพื่อกระตุ้นความสนใจ และตัดสินใจซื้อได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว  ในภาวะที่ตลาดชะลอตัว และกำลังซื้อส่วนใหญ่ยังคงให้ความสนใจกับโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จที่นำมาลดราคา   เนื่องจากราคาที่น่าสนใจ และเป็นโครงการที่ลูกค้าสามารถเห็นห้องจริงที่จะซื้อ รวมถึงมีโปรโมชั่นอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการนำมาดึงดูดความสนใจ ซึ่งถือว่าโปรโมชั่นเหล่านี้สามารถดึงดูดใจให้ผู้ซื้อเกิดความสนใจกันเป็นจำนวนมาก ส่งอาจส่งผลให้หลายโครงการที่ก่อสร้างเสร็จสามารถปิดการขายลงได้ 100% ในปีนี้   -ผู้พัฒนาควรปรับลดแผนการเปิดตัวโครงการคอนโดลง เพื่อใช้เวลานี้ในการระบายสต็อกที่ยังคงค้างในตลาดก่อน เพื่อให้ตลาดกลับสู่ภาวะสมดุลเร็วขึ้น เน้นหาพื้นที่ใหม่ ๆ ในการพัฒนาโครงการแนวราบเพื่อจับกลุ่มกำลังซื้อเรียลดีมานด์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดยุทธศาสตร์อื่น ๆ ที่สำคัญ