City Of Future

5 โซลูชั่น “S-E-N-S-E” การออกแบบการพัฒนาเมือง กับวิถีชีวิต The Next Normal

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นปรากฎการณ์ ของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโลก เพราะมีการแพร่กระจายออกไปทั่วทุกมุมโลก ซึ่งส่งผลทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน ต้องปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลงไปในหลายเรื่อง เพื่อที่จะป้องกันตนเองไม่ให้ได้รับเชื้อโรค ซึ่งภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยุติลง  เชื่อว่า วิถีชีวิตของคนนับจากนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นวิถีชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal หรืออีกคำที่มักมีการพูดถึง คือ The Next Normal ซึ่งมีความหมายไม่แตกต่างกันมากนัก

 

ไม่เพียงแต่วิถีชีวิตประจำวันที่จะเป็นรูปแบบใหม่ และกลายเป็นวิถีชีวิตปกติของคนเราเท่านั้น  แต่วิถีชีวิตของคนในสายงานและสายอาชีพต่างๆ รวมถึงแวดวงธุรกิจ ก็มีทิศทางเปลี่ยนไปแบบใหม่เช่นกัน อย่างในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มเห็นความชัดเจน จากการที่ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนวิธีการขาย ด้วยการใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เข้ามาเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงผู้บริโภค โดยลดการสัมผัสหรือมีการเว้นระยะห่างกันให้มากที่สุด เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้ คงจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่องแน่นอน

 

ด้านการออกแบบและการพัฒนาเมืองในอนาคต ก็คงจะไม่แตกต่างกันเท่าไร เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ ปัจจัย 4 ที่มนุษย์ทุกคนต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง และอยู่ร่วมกันแบบสัตว์สังคม ซึ่งตามมุมมองของ นายรติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ สถาปนิก ผู้ก่อตั้ง OPENBOX GROUP บริษัทสถาปนิกที่มีผลงานการออกแบบตึกสูง โรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมถึงที่อยู่อาศัยประเภท Complex Residence ชื่อดังทั้งในและต่างประเทศ ได้อธิบาย The Next Normal ที่อาจจะเกิดขึ้นกับเมืองและชีวิตผู้คน ที่จะมุ่งสู่โซลูชั่นของการพัฒนาเมืองแห่งอนาคต (City of Future) ไว้อย่างน่าสนใจ

The Next Normal ของการพัฒนาเมือง

โดย โซลูชั่น City of Future นี่เอง จะเป็นเหมือนสูตรสำเร็จ ของการออกแบบการพัฒนาเมืองที่สอดรับกับ The Next Normal ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคโควิด-19  ที่จะอยู่กับโลกใบนี้ไปอีกนานเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์วิถีการดำเนินชีวิตใหม่ ซึ่งถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Digital Disruption) และสอดคล้องกับแนวคิดในกระแสโลกยุคใหม่ คือการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

 

“เมืองที่มีความคิดสร้างสรรค์การออกแบบในด้านต่าง ๆ รวมเข้ามาประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ, การออกแบบอาคาร สถานที่ หรือเมืองให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย, การให้ความสำคัญกับธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว และการใช้พลังงานร่วมกันอย่างประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ปัจจัยที่จะเข้ามาเติมเต็มทำให้เมืองมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก็คือ การขนส่ง และนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย”

“S-E-N-S-E”  สำหรับเมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน 

นายรติวัฒน์  ได้เสนอแนวคิดการออกแบบการพัฒนาเมือง  ภายใต้แนวคิด “S-E-N-S-E” ที่รวม 5 โซลูชั่น สำหรับ City of the Future เมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน ที่ประกอบไปด้วย

S – Space Efficiency

City Of0future Green 4 City Of Future 1

การจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (Space Efficiency) เป็นแนวคิดการจัดการพื้นที่ที่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยรูปแบบใหม่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมให้แก่ผู้อยู่อาศัย โดยหนึ่งในโซลูชั่นที่จะเข้ามาตอบโจทย์แนวคิดนี้ก็คือ อาคารสูง เช่น คอนโดมิเนียม ซึ่งเชื่อว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาการใช้พื้นที่และทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพ กล่าวคือหากเปลี่ยนการใช้พื้นที่ในแนวราบแบบกระจายตัวมารวบเป็นอาคารสูง จะทำให้มีพื้นที่เหลือในการใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะการมีพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน อาคารสูงยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคโควิดที่ผู้อยู่อาศัยจะแยกกันอยู่คนละชั้น ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ และไม่มีปัญหาเรื่องการใช้อากาศร่วมกัน ให้ความรู้สึกปลอดภัยห่างไกลโควิดได้มากกว่าบ้านที่เป็นแนวราบ

E-Energy Sharing

 City Of Future Solar Cell

การออกแบบเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Sharing)  โดยปัจจุบันจะพบว่า คอนโดมิเนียม จะมีการใช้พลังงานสูงสุดในช่วงเวลากลางคืน แต่ช่วงกลางวันการใช้พลังงานจะลดลงไป ขณะที่อาคารสำนักงาน จะใช้พลังงานสูงสุดในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น แต่จะลดการใช้ลงในช่วงกลางคืน ซึ่งแต่ละอาคารเหล่านั้นจะติดตั้งอุปกรณ์การจัดการพลังงานของตนเอง

City Of Future Solar Cell 2

อุปกรณ์เหล่านั้นจึงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มีพลังงานเหลือเกินความต้องการ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Energy Blockchain หรือ Digital Energy กรณีมีพลังงานเหลือก็จะนำไปขายให้แก่ตึกที่อยู่ใกล้เคียงและใช้ในแบบเหลื่อมเวลากัน หรืออีกแนวคิดที่เรียกว่า District Cooling ระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์ โดยสามารถส่งความเย็นไปยังสถานที่อื่น ๆ ใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคารสำนักงาน  ห้าง และ คอนโดมิเนียม ถือเป็นแนวคิดการลดใช้พลังงาน ลดการใช้อุปกรณ์ที่เกินความจำเป็น

N – Nature & Green

 City Of Future Green

การให้ความสำคัญกับธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว (Nature & Green) เช่น แนวคิดการขยายพื้นที่สวนสาธารณะขนาดย่อม (pocket park) ให้กระจายตัวมากขึ้นในเขตเมือง และให้เพียงพอกับระยะคนเดิน ซึ่งประเทศญี่ปุ่นถือเป็นเจ้าแห่ง pocket park แห่งหนึ่งของโลก หรือในประเทศสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ที่นอกจากจะมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่แล้วยังมี pocket park อีกหลายแห่ง ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ park network สวนสาธารณะหลาย ๆ แห่งที่ผู้คนสามารถเดิน วิ่ง หรือขี่จักรยาน เชื่อมถึงกันได้โดยไม่ต้องผ่านหรือใช้ถนน ซึ่งแนวคิดเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการออกแบบทั้งสิ้น

S – Synchronization of Multi-Functions

การออกแบบอาคาร สถานที่ หรือเมือง ให้สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย (Synchronization of Multi-Functions)  สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของเมืองในซีกโลกตะวันออกที่เป็นแบบผสมสาน (Mixed-use) โดยออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนโหมดของอาคาร สถานที่ หรือเมืองได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆอย่างเช่น คอนโดมิเนียมในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด จะเห็นได้ว่าหลายแห่งจะกำหนดการใช้ลิฟท์แบบจำกัด หรือจำกัดจำนวนของคนใช้ลิฟท์ ซึ่งในอนาคตการออกแบบจะสามารถเข้ามาเพิ่มเติมฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้ทุกชีวิตในยุคโควิดมีความสบายใจมากขึ้น อาทิ ล็อกเกอร์รับ-ส่งอาหาร หรือสิ่งของต่าง ๆ

 City Of Future Green1

โดยผู้รับและผู้ส่งไม่ต้องเจอหน้ากัน และการออกแบบพื้นที่แบบ space in space ภายในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางโดยใช้อุปกรณ์เพื่อแยกความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้อยู่อาศัยมากขึ้น เพื่อไม่เกิดความระแวงในการใช้พื้นที่ส่วนรวม ส่วนในระดับเมือง อาจจะนึกถึงประเทศโมนาโค หรือสิงคโปร์ ที่จะมีการจัดโหมดเมืองสำหรับการแข่งรถ สร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกมาก ขณะที่ประเทศไทยเอง มีโหมดเรื่องการป้องกันน้ำท่วม แต่ยังสามารถออกแบบเมืองให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามโหมดอื่น ๆ เช่น โหมดการเฝ้าระวังเชื้อโควิด หรือโหมดการจัดบิ๊กอีเว้นท์ เช่นวันสงกรานต์ เป็นต้น

E – Explorations of Innovations

การคิดค้น พัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมการอยู่อาศัยที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน (Explorations of Innovations) โดยการออกแบบบ้าน คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน สามารถดึงนวัตกรรมเหล่านี้เข้ามาเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยตอบโจทย์กับชีวิต New Normal อย่างเช่น ลิฟท์ ปัจจุบันคอนโดมิเนียมหลายแห่งใช้โถงลิฟท์ (private lift) ส่วนตัวเข้ามาใช้มากขึ้น

City Of Future 5

นอกจากจะเป็นโซลูชั่นด้านความปลอดภัยในยุคโควิดแล้ว ยังตอบโจทย์การซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนได้ เพราะลิฟท์ที่แยกออกมาต่างหากนั้น จะไม่เป็นการรบกวนกับเจ้าของห้องจริงที่เป็นผู้อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมนั้น ๆ เลย ปัจจุบันยังพบด้วยว่ามีการคิดค้นลิฟท์ในรูปแบบต่าง ๆ ไว้มากมาย เพื่อรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลาย เช่น ลิฟท์ที่เคลื่อนตัวในแนวราบ (double deck lift) เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ในยุคโควิดได้เป็นอย่างดี อาทิ ประตูสองชั้น ที่ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการคัดกรองคนเข้าออก และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ, การออกแบบพื้นที่ในสำนักงาน หรือ โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ที่ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรค และ Smog-eating surface สีหรือพื้นผิวที่สามารถดูดซับเชื้อโรค ฝุ่นละลองพิษต่าง ๆ เป็นต้นรวมถึงนวัตกรรมด้าน Transportation หรือการขนส่ง โดยเมืองแห่งอนาคตจะสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นหากมีการจัดการด้านการขนส่งอย่างเหมาะสม ซึ่งการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนั้น ผู้คนยังต้องเดินทาง ต้องติดต่อสื่อสาร และรับ-ส่งสิ่งของระหว่างกัน การออกแบบเมืองจึงสามารถออกแบบให้รองรับกับแนวคิดการขนส่งในรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น Hyperloop, drone transportเป็นต้น

City Of Future 6

ทั้งหมดนี้ คือโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์สถานการณ์ในปัจจุบัน และเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่อนาคตนั่นเอง

 

แนวคิดเหล่านี้เป็นแนวคิดการออกแบบโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นโซลูชั่นที่ต้องการเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน เป็นคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ และสำคัญที่สุดคือ เมืองแห่งอนาคตนั้นจะต้องสามารถตอบโจทย์ได้ครบถ้วนทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นเมืองที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด