เทคนิคเลือกทำเลบ้านเพื่อเลี่ยงน้ำท่วม

Male Tourist Videoing Houses From Longtail Boat On Klong Bangkok Noi


ปัญหาอุทกภัยไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ก็สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ผู้คนและอาคารบ้านเรือน ทำให้บ้านถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการพิจารณาเลือก “ทำเล” ซึ่งเป็นปัจจัยแรกๆ ของการพิจารณาเลือกซื้อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว ยิ่งต้องเพิ่มความสำคัญในการพิจารณาปัจจัยด้านนี้ให้ละเอียดมากขึ้นอีก โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “ทำเลนี้น้ำท่วมหรือเปล่า”

การเลือกทำเลที่อยู่อาศัยมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาดังนี้

  • *การเดินทาง หมายถึง ถนน ทางด่วน ทางลัด เส้นทางรถไฟฟ้า บริการด้านการขนส่ง
  • *สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ อาทิ น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ รวมไปถึงสถานบริการ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ เป็นต้น
  • *แนวเวนคืนที่ดิน คือการตรวจสอบแนวเส้นทางโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคของรัฐ เช่น ถนน ทางด่วน สะพาน ฯลฯ
  • *ผังเมือง หมายถึง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจากรัฐ ซึ่งระบุพื้นที่เป็นสีต่างๆ เช่น สีแดง กำหนดเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม, สีม่วงเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม, สีเหลืองเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ฯลฯ
  • *ลักษณะพื้นที่ หมายถึง ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ เช่น ที่ลุ่มต่ำหรือที่สูง

หากวัตถุประสงค์ในการเลือกทำเลคือการเลี่ยงน้ำท่วม ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่  การพิจารณาผังเมือง ซึ่งทำเลที่อยู่อาศัยควรสอดคล้องกับข้อกำหนดผังเมือง เช่น ถ้าต้องการปลูกสร้างบ้านที่อยู่อาศัยควรเลือกทำเลในเขตสีเหลือง เพราะหากไปปลูกบ้านในพื้นที่สีม่วง แม้จะไม่มีข้อห้าม แต่วันดีคืนดีอาจมีโรงงานโผล่มาใกล้บ้านๆ ก็ได้

หรือการปลูกสร้างบ้านไม่ควรไปอยู่ในพื้นที่เขียวลาย หรือพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม  เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มักเป็นที่ลุ่มหรือทางผ่านของน้ำ มีโอกาสสูงที่จะถูกน้ำท่วม

ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องดูลักษณะทางกายภาพของพื้นที่และแปลงที่ดิน เช่น ไม่เป็นที่ลุ่มต่ำ หรือต่ำกว่าระดับถนน เพราะจะมีโอกาสถูกน้ำท่วมขังได้ง่าย โดยทั่วไปแปลงที่ดินที่จะปลูกสร้างบ้านมักถมสูงกว่าถนนประมาณ 30 เซนติเมตร แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ความสูงระดับนี้อาจไม่เพียงพอแล้วก็ได้

นอกจากประเด็นที่พิจารณาเพื่อเลี่ยงน้ำท่วมแล้ว อีกสิ่งที่ต้องพิจารณาคือที่ดินอยู่ในแนวเวนคืนของราชการหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้สามารถตรวจสอบกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เช่น สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร, กรมทางหลวงชนบท, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ทำเลที่เหมาะสมต้องสามารถเดินทางได้สะดวก เช่น มีถนนหลายสาย มีทางด่วนหรือทางลัดที่จะเป็นทางเลือกในการเดินทาง มีบริการด้านการขนส่งเพียงพอ เช่น รถเมล์ รถตู้ หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  เป็นต้น รวมถึงมีบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบถ้วน มีศักยภาพและแนวโน้มเจริญเติบโตสูง เพราะนั่นหมายความว่าผลดีจะตกแก่ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของเราด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  home.co.th

บทความ Infographic ล่าสุด