วิธีแก้ปัญหา ผ่อนบ้านไม่ไหว

ผ่อนบ้านไม่ไหว ทำไงดี!

Categories : Infographic
Tags : , ,

หากบ้านคือความฝันของทุกคน คงไม่มีใครอยากปล่อยให้หลุดลอยไปกับมือตัวเองหรอกจริงไหมครับ? แต่ถ้าเกิดภาวะทางการเงินของเราฝืดเคืองจริง ๆ จนไม่สามารถผ่อนต่อไหว จะปล่อยบ้านให้ถูกยึดไปก็คงไม่มีใครอยากให้เป็นอย่างนั้นแน่ แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอครับ เมื่อไรก็ตามที่เริ่มมีสัญญาณบอกว่าเริ่มผ่อนบ้านไม่ไหว เรามีทางออกมาแนะนำ ดังนี้ครับ

 ผ่อนบ้านไม่ไหว ทำไงดี!

เจรจาประนอมหนี้ ในกรณีที่ผ่อนบ้านไม่ไหว

เป็นสิ่งที่ควรทำคือ ปรึกษาและหาทางแก้ไขร่วมกับทางธนาคาร ซึ่งมักจะมีทางออกให้เราอยู่หลายหนทางทีเดียว ดีกว่าเงียบหายไปจนถูกธนาคารฟ้องร้อง ซึ่งธนาคารมักมีข้อเสนอ คือ

  • ผ่อนผันชำระหนี้ค้าง

เป็นการขอเลื่อนเวลาชำระหนี้ที่ค้างออกไปก่อนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยสามารถเจราจายืดเวลาได้นานสูงสุดถึง 36 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้วจึงกลับมาชำระเงินที่ค้างไว้ ซึ่งมีหลายวิธี อาทิ กลับมาผ่อนชำระทุกเดือนตามปกติ ชำระเป็นเงินก้อนโดยแบ่งเป็นงวด ๆ และชำระเงินคงค้างทั้งหมดภายในระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น

  • ขยายเวลากู้

วิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่ยังพอมีกำลังผ่อนไหว แต่อาจจะมีกำลังต่อเดือนน้อยลง เพราะปกติแล้วถ้าเราเลือกระยะเวลาผ่อนสั้นไม่กี่ปี ก็เท่ากับว่าเงินผ่อนแต่ละงวดจะสูง หากเจรจาขอขยายระยะเวลากู้ ก็จะทำให้เงินผ่อนแต่ละเดือนน้อยลงไปด้วย แต่ธนาคารจะดูสัญญากู้ซื้อบ้านที่เราถือเอาไว้ด้วยว่า ต้องมีระยะเวลากู้เดิมไม่ถึง 30 ปี และเมื่อขยายเวลาให้แล้ว ผู้กู้จะต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี

  • ชำระต่ำกว่าเงินงวดปกติ

การขอใช้วิธีนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อยอดชำระต่อเดือนสูงกว่ายอดดอกเบี้ยต่อเดือนอย่างน้อย 500 บาท โดยธนาคารจะพิจารณาวิธีนี้ให้กับผู้ที่ยังมีรายได้ประจำ และมีประวัติการผ่อนชำระดี ซึ่งธนาคารมักยอมให้ใช้วิธีนี้ได้ไม่เกิน 2 ปี และดำเนินการลักษณะนี้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

  • ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ

วิธีนี้จะมองที่อัตราดอกเบี้ยตอนแรกเริ่มกู้เทียบกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน หากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันสูงกว่าตอนเริ่มกู้ จะสามารถเจรจาขอใช้วิธีนี้ได้ ทั้งนี้มีรายละเอียดเงื่อนไขจากธนาคารแตกต่างกันออกไป

  • ชำระแต่ดอกเบี้ยประจำเดือน

เจรจาขอชำระเฉพาะดอกเบี้ยในแต่ละเดือนเท่านั้น แต่วิธีนี้ธนาคารมักยอมให้ทำได้ไม่เกิน 12 เดือน และพิจารณาให้เฉพาะลูกหนี้มีประวัติการผ่อนชำระดีเท่านั้น

  • โอนบ้านให้กับธนาคารชั่วคราว

ธนาคารจะรับโอนบ้านเป็นหลักประกันไว้ก่อน โดยเมื่อหักลบกลบหนี้แล้วต้องอยู่ในวงเงินไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกัน ในระหว่างนี้ธนาคารจะเปลี่ยนจากสัญญากู้ซื้อเป็นสัญญาเช่ารายปีไปก่อน โดยจะคิดค่าเช่าในอัตราเดือนละ 0.4 – 0.6% ของมูลค่าหลักประกัน เมื่อเรากลับมามีสภาพทางการเงินพร้อมจึงซื้อคืนกับธนาคารภายหลัง

ผ่อนบ้านไม่ไหว ให้หาผู้กู้ร่วม

หากเจรจาประนอมหนี้กับธนาคารตามข้อด้านบนแล้ว ยังมีจำนวนการผ่อนชำระต่อเดือนที่มากเกินกำลังอยู่ ให้ลองหา “ผู้กู้ร่วม” แต่การมีผู้กู้ร่วมจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคารด้วย อาทิ ต้องมีความสามารถในการชำระหนี้ และมีความเกี่ยวข้องกันทางเครือญาติ อาจะเป็นลูก สามี ภรรยา ฯลฯ ซึ่งสามารถเพิ่มชื่อได้อีก 2 คน รวมกับผู้กู้หลักเป็น 3 คนในการช่วยกันผ่อนชำระงวด

เมื่อผ่อนบ้านไม่ไหวจริงๆ ก็ขายบ้าน

หากท้ายที่สุดแล้วยังผ่อนบ้านต่อไม่ไหว แนะนำว่าให้รีบขายก่อนจะถูกธนาคารยึด ถึงแม้ว่ายังอยู่ในสถานะกำลังผ่อนงวดก็สามารถขายให้กับใครก็ได้ แล้วนำเงินมาผ่อนชำระในส่วนที่ค้างกับธนาคารให้ครบ

 

อีกกรณีคือ ขายคืนธนาคาร อย่างน้อยก็ไม่ทำให้เราเสียเครดิตไปมากนัก ทั้งนี้ธนาคารต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายอย่าง จึงจะตัดสินใจรับซื้อคืน ดังนั้นใช่ว่าธนาคารจะรับซื้อคืนทุกหลังครับ

 

สิ่งสำคัญ คือ พยายามผ่อนเท่าที่กำลังเราจะไหว และเข้าไปปรึกษากับทางธนาคารครับ อย่าเงียบหายไปเลย เพราะอาจเกิดการฟ้องร้อง เพื่อยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ยิ่งไปกว่านั้นหากยึดทรัพย์สินแล้วยังจ่ายหนี้ไม่พอ จะกลายเป็นถูกฟ้องล้มละลายตามไปด้วย กระทบถึงอนาคตหากต้องการทำธุรกรรมทางการเงินก็จะยิ่งเป็นเรื่องยากเข้าไปอีก และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่เกิดขึ้นทำให้สถานะทางการเงินของเราย่ำแย่ไปด้วย แต่สิ่งสำคัญคือบ้านของเราและครอบครัวจะต้องไปหลุดลอยไปไหน ขอให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีนะครับ

Infographic ที่น่าสนใจอื่นๆ

บทความ Infographic ล่าสุด