Tag : News

2376 ผลลัพธ์
ชาญอิสสระ  แตกไลน์ 2 ธุรกิจ “เวลเนส-คริปโตฯ”  พร้อมขนบ้าน-คอนโดหั่นราคา 50%

ชาญอิสสระ แตกไลน์ 2 ธุรกิจ “เวลเนส-คริปโตฯ” พร้อมขนบ้าน-คอนโดหั่นราคา 50%

ชาญอิสสระ วาง 3 แนวทางรับมือโควิด-19 ทั้งการรัดเข็มขัด จัดทีมให้มีประสิทธิภาพ และพัฒนาโครงการคุณภาพ รับเรียลดีมานด์คนต้องการซื้อบ้าน พร้อมแตกไลน์สู่ธุรกิจใหม่ “เวลเนส” ขน 40-50 ยูนิตโปรเจ็กต์บลูไดมอนด์นำร่อง เล็งศึกษาธุรกิจ “คริปโตเคอเรสซี” เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ลุยตลาดอสังหาฯ ต่อ ขนบ้าน-คอนโด ลดราคา 50%   นายสงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายใต้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องใช้บริหารจัดการธุรกิจด้วยนโยบายสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ 2.การสร้างทีมในการบริหารธุรกิจแต่ละฝ่ายให้มีประสิทธิภาพและไม่มีขนาดที่ใหญ่เกินไป รวมถึงการนำระบบหรือเครื่องมือที่สามารถช่วยการบริหารและดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมาใช้ และ 3.การพัฒนาโครงการให้มีคุณภาพ ในระดับราคาที่เหมาะสม การทำบ้านดีมีคุณภาพที่ดี อย่างไรก็ขายได้ ที่ผ่านมาบริษัทพัฒนาโครงการที่มีคุณภาพ ซึ่งลูกค้ามีความต้องการบ้านที่มีคุณภาพในราคาที่ยุติธรรม ขยายธุรกิจเวลเนส-คริปโตเคอเรนซี สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจหลัก ในด้านการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งรูปแบบคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว และโรงแรมแล้ว ในปีนี้บริษัทยังมองหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ ซึ่งสามารถเสริมกับธุรกิจหลักได้ด้วย  โดยจะเริ่มทดลองทำการตลาดธุรกิจเวลเนส (Wellness) ด้วยรูปแบบ Wellness Serviced Condo ซึ่งเป็นบริการเสริมให้กับลูกค้าที่ซื้อห้องของโครงการบลูไดมอนด์ ที่อยู่ภายในโครงการทิวทะเลเวิลด์ ชะอำ-หัวหิน ซึ่งลูกค้าจะได้รับบริการพิเศษด้านสุขภาพ (Wellness Service Package) จากโรงแรมศรีพันวา อาทิ การตรวจสุขภาพประจำปีฟรี 2 ปี การประสานงานกับโรงพยาบาล การให้บริการห้องพยาบาลส่วนกลาง  บริการรองรับและช่วยเหลือเบื้องต้น เป็นต้น เบื้องต้นจะนำคอนโดมาทดลอง 40-50 ยูนิต หากประสบความสำเร็จ อาจจะขยายการให้บริการด้านสุขภาพไปในโครงการอื่น ๆ บริษัท รวมถึงการเพิ่มรูปแบบและการให้บริการด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย ​   นอกจากนี้ ยังมองโอกาสในการขยายธุรกิจคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency) ​หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะนำเอาโครงการของบริษัท 1-2 โครงการ เข้ามาดำเนินการซื้อขาย หรือมาผสมผสานการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และโอกาสในการเข้าไปดำเนินการ คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนได้ในอีก 4-5 เดือนข้างหน้านี้   สำหรับปีนี้บริษัทยังไม่มีแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ แต่จะทำการตลาดและขายโครงการที่เปิดดำเนินการมาก่อนหน้า อาทิ โครงการบ้านเดี่ยวระดับซูเปอร์ลักชัวรี่  โครงการอิสสระ เรสซิเดนซ์ พระราม 9 (Issara Residence Rama 9) ,โครงการบ้านอิสสระ บางนา (Baan Issara Bangna) ปัจจุบันโครการอิสสระ เรสซิเดนซ์ พระราม 9 มียอดขายไปแล้วกว่า 70% จากจำนวนบ้านสร้างเสร็จทั้งโครงการ 20 ยูนิต  และโครงการบ้านอิสสระ บางนา มียอดขายกว่า 60% ของเฟสที่เปิดขาย จำนวน 25 ยูนิต ดึงดีมานด์ต่างชาติกระตุ้นตลาด นายสงกรานต์ กล่าวว่า ภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ว่าถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการทั้งในแง่การขาย การตลาด จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดอสังหาฯ แนวราบอย่างบ้านเดี่ยว ผู้อยู่อาศัยที่มีกำลังซื้อจะมองหาบ้านเดี่ยวที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต มากกว่าการเลือกซื้อคอนโด​ ซึ่งถือเป็นโอกาสให้ดีเวลอปเปอร์ที่มีสินค้าพร้อมขายอยู่ในมือได้รับอานิสงค์เพิ่มขึ้น   ทั้งนี้ จะเห็นว่าแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเข้ามากระทบต่อตลาดอสังหาฯ โดยจะ กระทบหนักในส่วนของตลาดระดับกลางลงไป เพราะกำลังซื้อถดถอยอย่างมาก แต่หากภาครัฐมีการ  แก้มาตรการทางกฎหมายในการเปิดทางให้ชาวต่างชาติ  สามารถซื้ออสังหาฯ บ้านแนวราบระดับราคา 10 – 15 ล้านบาทขึ้นไป พร้อมขยายสัดส่วนการซื้อคอนโดเป็น  70 – 80 % ของโครงการ รวมถึงขยายสิทธิการเช่าจาก 30 ปี เป็น 40-50 ปี ก็ถือเป็นอีกโอกาสสำคัญที่จะช่วยดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาฟื้นตัวได้เร็วต่อไป   นายสงกรานต์ กล่าวอีกว่า ​ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบนี้นับว่าเป็นรอบที่รุนแรงมาก ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทุก ๆ ภาคธุรกิจ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อไหร่ จากรอบแรกที่ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีเยี่ยมเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่ก็ยังต้องกลับมาเผชิญอีกครั้ง ดังนั้นภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัว และควรดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ต่างชาติสามารถเข้ามาซื้ออสังหาฯ ไทยได้มากขึ้น เพราะกำลังซื้อของคนไทยลดลง จึงต้องอาศัยกำลังซื้อจากต่างชาติ เพื่อกระตุ้นตลาด​ มองว่าประเทศไทยต้องเร่งนำวัคซีนเข้ามาเพื่อฉีดให้ประชาชนให้มากที่สุด แม้วัคซีนอาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ 100% แต่ก็สามารถช่วยสร้างความมั่นใจพลิกฟื้นความเชื่อมั่น หนุนการบริโภค การลงทุน ภาคท่องเที่ยวและบริการกลับมาเป็นบวก จะช่วยพลิกเศรษฐกิจประเทศฟื้นคืนกลับมาได้ ขนบ้าน-คอนโด หั่นราคา 50% ในช่วงกลางปีนี้ ชาญอิสระ เตรียมกลยุทธ์กระตุ้นยอดขายในช่วงกลางปี ด้วยการจัด​แคมเปญใหญ่ “Mid Year Sale ทุกโครงการลด 50%” ทั้งบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม โรงแรม เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพ ในราคาและเงื่อนไขที่จับต้องได้ อีกทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งแต่ละโครงการได้นำเสนอโปรโมชั่น ​ อาทิ โครงการดิ อิสสระ เชียงใหม่ จัดโปรฯ มอบส่วนลด 50% 1 ห้องนอน 35 ตร.ม. โครงการ บลูไดมอนด์ ชะอำ-หัวหิน ลดทันที 50% หรือจะเป็นคอนโดฯ ใจกลางเมือง โครงการ ดิ อิสสระ สาทร จัดโปรฯ ลดเงินดาวน์ 50%โครงการ อิสสระ เรสซิเดนส์ พระราม 9 ​เมื่อซื้อบ้านหลังแรก หลังที่สองลดราคา 50%” ซึ่งแคมเปญจะเริ่มในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 นี้   โดยภาพรวมผลประกอบการในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะเติบโตด้วยดีทั้งด้านยอดขายและรายได้ เนื่องจากโครงการต่าง ๆ ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้า มียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะทำผลประกอบการได้มากกว่าปีที่ผ่านมาเป็นเท่าตัว แม้ว่าธุรกิจโรงแรมจะได้รับผลกระทบบ้างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่จากการฉีดวัคซีนที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ตซึ่งมีโครงการแซนบ็อกซ์ ที่มีเป้าหมายจะฉีดวัคซีนให้ได้ 80% ของจำนวนประชากรในจังหวัด เพื่อเปิดให้มีการท่องเที่ยวได้ จังคาดว่าจะส่งผลทำให้โรงแรมของบริษัทมีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นได้ถึง 50-60% และตลาดท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ด้วย   ในส่วนของภาคธุรกิจโรงแรมนั้น ยอมรับว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมารอบแรก จนถึง ปัจจุบัน ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมได้รับผลกระทบหนักสุด ที่ผ่านมาโรงแรมหลายแห่งได้ประกาศหยุด  ดำเนินการไปบ้างแล้ว  โดยในส่วนของโรงแรมในเครือของบริษัทฯ ทั้งโรงแรมศรีพันวา ภูเก็ต โรงแรม บาบาบีช    คลับ นาใต้ และโรงแรมบาบาบีช คลับ หัวหิน ต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ และปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางภาครัฐอย่างเคร่งครัด โดยในส่วนของภูเก็ตเองขณะนี้พนักงานได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเชื่อว่าหากเร่งการ วัคซีนให้ดำเนินการอย่างทั่วถึง และภูเก็ตมีการออกมาตรการคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดอย่างเคร่งครัด  เน้นสร้างความเป็นเมืองสะอาดและปลอดภัย ก็จะเริ่มเห็นภาคการท่องเที่ยวในส่วนของภูเก็ตกลับมาฟื้นตัวได้  ภายในปลายปีนี้ทั้งในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ      
มั่นคง เคหะการ  เจอพิษโควิดทำขาดทุนกว่า 102 ล้าน เตรียมเปิด 3 โปรเจ็กต์-ขยายคลังสินค้าสร้างรายได้

มั่นคง เคหะการ เจอพิษโควิดทำขาดทุนกว่า 102 ล้าน เตรียมเปิด 3 โปรเจ็กต์-ขยายคลังสินค้าสร้างรายได้

มั่นคงฯ เจอพิษโควิด-19 ไตรมาสแรกยังขาดทุน รอความหวังการฉีดวัคซีนคนไทยให้ได้กว่า 50% ช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ยันเดินหน้าเปิดโปรเจ็กต์ใหม่แนวราบอีก 3 โครงการ รวม 2,347 ล้าน พร้อมขยายธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าอีก 120,000 ตารางเมตร   บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้นจำนวน 594.63 ล้านบาท ลดลง 10.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 666.27 ล้านบาท มีรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 448.0 ล้านบาท ลดลง 9.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้ 496.92 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจให้เช่าและบริการ มีรายได้ 74.44 ล้านบาท ลดลง 29.81% จากช่วงเดียวกันที่มีรายได้ 106.05 ล้านบาท มีรายได้จากธุรกิจสนามกอล์ฟและบริหารอสังหาริมทรัพย์ 44.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 37.79 ล้านบาท   ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ ขาดทุนจำนวน 102.41 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขาดทุน 71.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 59.74 ล้านบาท ซึ่งเป็นกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19   นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2564ว่า ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ มีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 27.25% มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2563 ที่มี 24.4% ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีในการดำเนินธุรกิจ ส่วนธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการที่ลดลง เป็นผลจากในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ขายทรัพย์สินประมาณ 45% ของโครงการทั้งหมดเข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล (กองทรัสต์)   ในส่วนธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการ (Recurring Income) มีรายได้จำนวน 74.44 ล้านบาท เป็นรายได้จากโครงการ “บางกอกฟรีเทรดโซน” (Bangkok Free Trade Zone : BFTZ) 57.44 ล้านบาท โดยมีอัตราการเช่า (Occupancy rate) สูงถึง 93% ขณะที่ธุรกิจสนามกอล์ฟ และธุรกิจบริหารอสังหาริมทรัพย์ มีรายได้จำนวน 44.61 ล้านบาท ซึ่งถือว่าธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการแทบไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด   แต่หากเปรียบเทียบรายได้ภายหลังการขายทรัพย์สินบางส่วน บริษัทย่อยได้กลับมามีรายได้เพิ่มขึ้น 13% จากจำนวน 51 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน จากการพัฒนาพื้นที่ในโครงการที่เหลืออยู่และสามารถเริ่มเปิดให้เช่าพื้นที่เพิ่มเติมโดยมีอัตราการเช่า (Occupancy rate) ณ สิ้นไตรมาสสูงถึง 93% ทำให้รายได้จากการให้เช่าและบริการมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องตามแผนธุรกิจที่วางไว้ ซึ่ง​บริษัท พรอสเพค​ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ที่จะกลับมามีมูลค่าทรัพย์สินเท่าเดิมก่อนขายเข้าให้กองทรัสต์ฯ   ส่วนธุรกิจสนามกอล์ฟ และธุรกิจบริการอสังหาริมทรัพย์ ยังคงสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจบริหารอสังหาริมทรัพย์ ที่มียอดรับรู้รายได้ จำนวน 16.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80.69% โดยรายได้ ที่เพิ่มขึ้นมาจากการบริหารทรัพย์สินในกองทรัสต์ของ “บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด” และรายได้จากการจัดการกองทุนทรัสต์ของ “บริษัท พรอสเพค รีท แมเนจเมนท์ จำกัด” ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นของธุรกิจบริหารอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 6.27 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 179.93% ด้านธุรกิจเพื่อสุขภาพโครงการรักษ (RAKxa) ที่ได้เปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 นั้น แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อตัวโครงการ เพราะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาใช้บริการในประเทศได้ ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้มีการปรับกลยุทธ์เชิงรุก สร้างการรับรู้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าภายในประเทศมากยิ่งขึ้น และเน้นขาย Membership โดยปัจจุบันมีค่าสมาชิกมากกว่า 50 ล้านบาท   ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในแต่ละธุรกิจหลักนั้น มีผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เนื่องจากแผนธุรกิจ 5 ปี ที่มุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนกำไร ในกลุ่มธุรกิจเพื่อเช่าและเพื่อการบริการ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถช่วยลดผลกระทบ  จากปัจจัยลบของสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ ยังมีการจัดการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภาพรวมธุรกิจตั้งแต่ต้นปี ที่ค่อนข้างได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วจากโควิด-19 ระลอกใหม่  ถ้าสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้ 50% ของจำนวนประชากรทั้งหมด คาดจะเป็นตัวแปรสำคัญ  ที่ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมค่อยๆ กลับคืนมาอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 สำหรับ การเตรียมความพร้อมของบริษัทฯ ​ได้มีการเตรียมความพร้อมทุกช่องทาง และยังคงเดินหน้าดำเนินงานตามแผนที่ได้วางเอาไว้ คือ เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่จำนวน  3 โครงการ มูลค่ารวม 2,347 ล้านบาท และขยายธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า “โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน”  เพิ่มอีก 2 แห่ง จำนวน 120,000 ตารางเมตร  
แสนสิริ  โชว์ผลงาน Q1 รายได้-กำไรโต  เดินหน้าต่อสู่เป้ายอดขาย-โอน 31,000 ล้าน

แสนสิริ โชว์ผลงาน Q1 รายได้-กำไรโต เดินหน้าต่อสู่เป้ายอดขาย-โอน 31,000 ล้าน

กลยุทธ์ Speed to Market  ดันผลงาน “แสนสิริ” ไตรมาสแรก ทำรายได้รวมโต 5% และทำกำไรได้กว่า 384 ล้าน ไตรมาส 2 เดินหน้าสร้างรายได้ต่อเนื่อง สู่เป้าหมายยอดขายและยอดโอนใหม่ทั้งปีหลังปรับเป็น 31,000 ล้าน   แสนสิริ รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกที่ผ่านมาว่า มีรายได้รวมทั้งสิ้น 6,827 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 6,527 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีจำนวน 6,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%  จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีจำนวน 5,383 ล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าที่ส่งผลให้รายได้จากการขายอสังหาฯ เติบโต  คือ รายได้จากการขายโครงการมิกซ์โปรดักส์ จำนวน 621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 274% และโครงการบ้านเดี่ยวจำนวน 3,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36%   แต่ขณะเดียวกันรายได้จากการขายโครงการทาวน์โฮม ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีจำนวน 493 ล้านบาท ลดลง18% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และโครงการคอนโดมิเนียม จำนวน 1,659 ล้านบาท ลดลง 25% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  ส่วนช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ​แสนสิริและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 384 ล้านบาท เติบโต 521% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 62 ล้านบาท นางสาววรางคณา อัครสถาพร ประธานผู้บริหารสายงานการเงิน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) เปิดเผยว่า ด้วยกลยุทธ์ Speed to Market ส่งผลให้แสนสิริมีผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกที่ดี  ภายใต้สถานการณ์โควิด-19  ขณะที่แผนการดำเนินธุรกิจในไตรมาสที่ 2 เตรียมโอนโครงการ XT ห้วยขวาง มูลค่า 7,000 ล้านบาท ที่มียอดขายแล้วกว่า 60% โดยกลุ่มลูกค้าต่างชาติมีการโอนล่วงหน้าแล้วถึง 60% โดยจะเริ่มเปิดการโอนในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้แสนสิริมีรายได้จากการโอนในมือเพิ่มและสร้างยอดโอนได้ตามเป้าหมาย 31,000 ล้านบาท   ขณะที่ยอดโอนในช่วง​ 4 เดือนแรกของปีมีจำนวน​ 9,400 ล้านบาท และมียอดขาย 12,500 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มเป้ายอดขายและยอดโอนทั้งปีเป็น 31,000 ล้านบาท   นอกจากนี้ แสนสิริยังได้ประกาศการลงทุนใน บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XSpring Capital Public Company Limited (XPG) กลุ่มธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจรที่เชื่อมโลกการเงินปัจจุบันและโลกบริการทางการเงินดิจิทัลหรือ Digital Financial Service ไว้ด้วยกัน โดยแสนสิริเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งในสัดส่วน 15% ด้วยเงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่ง​ XSpring มีใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจ Digital Financial Service ในด้าน “บริการซื้อขายโทเคนดิจิทัลเต็มรูปแบบ” ผ่านบริษัท SE Digital (เอสอี ดิจิทัล) ในฐานะ ICO Portal ที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลให้แก่นักลงทุน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว
‘สิงห์ เอสเตท’  รายได้รวมลด 40% หลังขาย NVD  แต่ใช้เงินยังทำกำไร 70 ล้าน

‘สิงห์ เอสเตท’ รายได้รวมลด 40% หลังขาย NVD แต่ใช้เงินยังทำกำไร 70 ล้าน

สิงห์ เอสเตท ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 มีรายได้รวม 1,306 ล้าน ลดลง 40%  สาเหตุตัด “เนอวานา” ออกจากงบการเงินรวม และธุรกิจโรงแรมยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19  แต่ยังมีกำไรสุทธิ 70 ล้าน จากการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ได้ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจร่วมทุน   บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S รายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 มีรายได้รวม 1,306 ล้านบาท ลดลง  40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้รายได้รวมดังกล่าวแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจที่พักอาศัย (Residential development)  486 ล้านบาท, ธุรกิจอาคารสำนักงาน (Commercial) 249 ล้านบาท, ธุรกิจโรงแรม (Hospitality) 544 ล้านบาท, และธุรกิจอื่น ๆ 27 ล้านบาท   อนึ่ง การลดลงของรายได้รวม 40% มีสาเหตุหลักจากธุรกิจโรงแรมที่ยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด และการตัดบริษัท เนอวานา ไดอิ จำกัด (มหาชน) (“NVD”) ออกจากงบการเงินรวมของสิงห์ เอสเตท หลังจากธุรกรรมการขายเงินลงทุนใน NVD แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 อย่างไรก็ดี ปัจจัยหน่วงทั้งสองรายการถูกชดเชยบางส่วนด้วยรายได้จากโครงการ สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส มูลค่าราว 360 ล้านบาท และรายได้เดือนมีนาคม 2564 ของ FS JV Co., Ltd. (“FS JV”) ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมในสหราชอาณาจักรจำนวน 26 แห่ง ห้องพักรวม 2,886 ห้อง ภายใต้แฟรนไชส์แบรนด์ Mercure นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.​สิงห์ เอสเตท​ เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ผลประกอบการธุรกิจที่พักอาศัยยังคงเป็นไปด้วยดี การรับรู้รายได้และยอดโอนกรรมสิทธิ์เป็นไปตามคาดการณ์ โดยรายได้กว่า 74% มาจากโครงการ สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส สำหรับโครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 36 ยังคงมีการส่งมอบห้องชุดต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างสิงห์ เอสเตท กับฮ่องกง แลนด์ จึงทำให้รับรู้ผลประกอบการของโครงการภายใต้ส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าจำนวน 99 ล้านบาท ในส่วนของธุรกิจอาคารสำนักงาน สิงห์ เอสเตท สามารถปล่อยเช่าพื้นที่และต่อสัญญากับผู้เช่าเดิมที่สัญญาเช่าหมดอายุได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราปล่อยเช่าเฉลี่ยโดยรวมขยับขึ้นสู่ระดับ 90% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ยังคงกดดันผลประกอบการของธุรกิจโรงแรม แต่สิงห์ เอสเตท ตระหนักถึงโอกาสในการลงทุน เพื่อต่อยอดธุรกิจและลดผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ในเวลาเดียวกัน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มสิงห์ เอสเตท ได้เพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวใน FS JV ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมในสหราชอาณาจักรจำนวน 26 แห่ง ห้องพักรวม 2,886 ห้อง ภายใต้แฟรนไชส์แบรนด์ Mercure ที่ผ่านมา FS JV สามารถสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ และช่วยจัดพอร์ตโรงแรมให้สมดุลขึ้นโดยการลดผลกระทบด้านฤดูกาล เนื่องจากมีฤดูกาลท่องเที่ยวที่แตกต่างจากโรงแรมส่วนใหญ่ของกลุ่มสิงห์ เอสเตท นอกจากนี้ การที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเปิดให้เดินทางภายในประเทศได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทั้งหมดในเดือนมิถุนายน ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้ FS JV ซึ่งมีฐานลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ ฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป “ด้วยศักยภาพโรงแรมส่วนใหญ่ในพอร์ตของ FS JV ผนวกกับมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของรัฐบาลท้องถิ่นที่จะบังคับใช้ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้การเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มเติมใน FS JV ที่มูลค่ารายการ 13.75 ล้านปอนด์ในครั้งนี้ มีความเหมาะสมทั้งในด้านทรัพย์สิน เงื่อนเวลา และราคาที่เข้าลงทุน นอกจากนี้สิงห์ เอสเตท เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า FS JV จะเป็นทรัพย์สินชิ้นสำคัญที่ไม่ได้เป็นแค่แหล่งรายได้ใหม่เพื่อชดเชยรายได้จาก NVD ที่หายไปเท่านั้น แต่จะสามารถสร้างการเติบโตในระยะยาวได้อย่างมั่นคง”     อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้า 99 ล้านบาท จากการส่งมอบห้องชุดโครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 36 ตลอดจนรายการทางบัญชีอื่นๆ ที่ถูกบันทึกตามมาตรฐานการบัญชี สามารถชดเชยผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ สิงห์ เอสเตท พลิกรายงานกำไรสุทธิ 70 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ซึ่งเป็นการรายงานกำไรครั้งแรกหลังจากรายงานผลขาดทุนสุทธิ 3 ไตรมาสต่อเนื่อง
ให้ต่างชาติซื้อบ้านอย่างไร ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ไทย

ให้ต่างชาติซื้อบ้านอย่างไร ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ไทย

นับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว ที่รัฐบาลมีนโยบายการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น “บ้านหลังที่สอง” ของชาวต่างชาติ  ด้วยการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ของไทย (Freehold) และ/หรือเช่าระยะยาว (Leasehold) ให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งกลุ่มที่ต้องการเข้ามาซื้อเพื่อเป็นทรัพย์สิน กลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศ หรือแม้แต่กลุ่มผู้เกษียณอายุแล้ว ให้เข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังในการใช้จ่ายเงินสูงจากเงินบำนาญ มีเงินเก็บออม และมีประกันสุขภาพจากรัฐสวัสดิการ   โดยรัฐบาลจะมีการแก้กฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คนต่างชาติมาซื้อ และ/หรือเช่าระยะยาวอสังหาฯ  ได้สะดวกขึ้น ผ่านแนวทางเชิงนโยบาย 3 เรื่องหลัก ๆ คือ 1.ขยายเพดานสัดส่วนกรรมสิทธิ์ซื้อห้องชุด เป็น 70-80% จากปัจจุบัน 49% 2.ปลดล็อกต่างชาติซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ระดับราคา 10-15 ล้านบาทขึ้นไป   3.กำหนดให้นักลงทุนต่างชาติทำสัญญาเช่าได้สูงสุด 30 ปี จะมีการขยายเพิ่มเป็น 50 ปี และต่อได้อีก 40 ปี ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นยูนิตงานกลางข้อมูลด้านอสังหาฯของประเทศไทย ที่มีฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยมากที่สุดและน่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบัน ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่สะท้อนภาวะของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของคนต่างชาติ (Freehold) และข้อมูลการเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาวของคนต่างชาติ (Leasehold) มาสรุปภาวะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นเงื่อนไขสิ่งที่เกิดขึ้น ให้ต่างชาติซื้อคอนโดสัดส่วน 80% จำเป็นในบางพื้นที่ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ​จากข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด (คอนโดมิเนียม) ทั่วประเทศ พบว่า ในช่วงปี 2561 – 2563 มีชาวต่างชาติ​โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด 3 ปีสะสมรวมประมาณ 34,651 ยูนิต  มูลค่า 145,577 ล้านบาท​ หรือเฉลี่ยมียอดโอนกรรมสิทธิ์ปีละ 11,550 ยูนิต  มูลค่า 48,526 ล้านบาท ​​   โดยยังพบว่า ทำเลที่ชาวต่างชาติมียูนิตโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด อยู่ใน 5 จังหวัด ดังนี้ คือ จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ซึ่งทั้ง 5 จังหวัด มีสัดส่วนคอนโดที่โอนกรรมสิทธิ์รวมกันถึง 96.2% ยูนิตโอนกรรมสิทธิ์คอนโด​ของคนต่างชาติทั้งประเทศ  จังหวัดชลบุรีที่มีสัดส่วนโอนกรรมสิทธิ์คอนโดสูงสุด 30.3% รองลงมาคือ เชียงใหม่ 18.5%,  ภูเก็ต 17.0%, กรุงเทพฯ 7.8% และสมุทรปราการ 6.3% สำหรับจังหวัดอื่นที่ไม่ได้ยกขึ้นมาแสดง มีสัดส่วนในยูนิตกรรมสิทธิ์ห้องชุดน้อยมากอย่างไม่มีนัยสำคัญ แต่ในภาพรวมสัดส่วนในยูนิตกรรมสิทธิ์คอนโดของคนต่างชาติทั้งประเทศ ในช่วงปี 2561 – 2563 มีเพียง 9.0% หรือมีสัดส่วนมูลค่าเท่ากับ 14.7%​ เท่านั้น ขณะเดียวกันหากมองในด้านราคาคอนโดที่ต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์  จะพบว่า  ราคาคอนโดที่คนต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด จะมีระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยมีสัดส่วน 77.6%  แต่สัดส่วนในการเป็นเจ้าของคอนโดมีเพียง 7.7% เท่านั้น  แต่ขณะที่คอนโดในราคาเกินกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งมียูนิตที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รวมกันเพียง 22.4% กลับมีสัดส่วนการเป็นเจ้าของในยูนิตคอนโดนสูงกว่า โดยมีประมาณ 20.0% ข้อมูลข้างต้นได้สะท้อนประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นสำคัญ คือ   1.ในช่วงที่ผ่านมาชาวต่างชาติมีความสนใจที่จะซื้อห้องชุดในบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองศูนย์กลางทางภูมิภาค เมืองขนาดใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว   2.ในภาพรวมอัตราส่วนยูนิตที่เป็นเจ้าของคอนโด​ ของคนต่างชาติน่าจะยังต่ำกว่า 49% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่อาจมีคอนโดในบางพื้นที่ อาจเป็นที่ต้องการของคนต่างชาติมาก จึงทำให้มีความต้องการเป็นเจ้าของคอนโดมากกว่า 49% ตามที่กฎหมายกำหนด ​   3.คอนโดที่คนต่างชาติซื้อส่วนใหญ่ซื้อในระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นระดับที่สอดคล้องกับกำลังซื้อของคนไทยส่วนใหญ่ แต่ด้วยคอนโดประเภทนี้ มีจำนวนมากในตลาด จึงทำให้สัดส่วนยูนิตที่ต่างชาติเป็นเจ้าของมีไม่ถึง 10% ขณะที่ระดับราคาเกินกว่า 5 ล้านบาท มีสัดส่วนประมาณ 20% ส่งผลให้ในโดยภาพรวมทุกระดับราคาของคอนโด  ชาวต่างชาติยังเป็นเจ้าของคอนโดในสัดส่วนยังต่ำกว่า 49% ตามที่กฎหมายกำหนด จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เห็นข้อสังเกตได้ว่า การขยายสัดส่วนในยูนิตกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับคนต่างชาติ ให้สามารถมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ได้มากกว่า 49% นั้น อาจจะมีความจำเป็นเพียงในบางพื้นที่เท่านั้น และระดับราคาที่ควรส่งเสริมให้เพิ่มสัดส่วนให้สูงขึ้นควรเป็นห้องชุดระดับราคามากกว่า 5 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้ห้องชุดระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทถูกซื้อไปโดยคนต่างชาติมากเกินควร นอกจากนี้ หากมีการเพิ่มสัดส่วนในกรรมสิทธิ์คอนโดสำหรับคนต่างชาติให้มากกว่า 49% แล้ว ควรคำนึงถึงการใช้ชีวิตของคนไทยในคอนโด​ ให้สอดคล้องตามบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของไทย โดยผ่านการกำหนดสิทธิในการโหวต (Voting Right) ในนิติบุคคลคอนโดของเจ้าของร่วม ที่ควรให้ชาวต่างชาติมีสิทธิในการโหวตน้อยกว่าเจ้าของร่วมที่เป็นคนไทย แนะให้สิทธิ์ต่างชาติซื้อบ้าน-ที่ดินเกิน 15 ล้าน สำหรับแนวทางเชิงนโยบายในเรื่องการเปิดให้คนต่างชาติ สามารถซื้อและมีกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินนั้น ในปัจจุบันยังไม่ปรากฏข้อมูลที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากกฎหมายยังคงจำกัดสิทธิของคนต่างชาติในการถือครองกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินอย่างมาก แต่ยังมีข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการว่า คนต่างชาติบางรายมีการใช้ตัวแทน (Nominee) ในการถือครองกรรมสิทธิ์แทน หรือ อาจถือในนามนิติบุคคลที่มีชาวต่างชาติถือหุ้นอยู่   ดังนั้น หากประเทศไทยเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามามีกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินแล้ว ก็คาดว่าน่าจะมีคนต่างชาติที่ต้องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพอสมควร เนื่องจากราคาบ้านและที่ดินในประเทศไทยยังคงมีราคาต่ำกว่าในหลายประเทศมาก และบางประเทศกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของรัฐ   ทั้งนี้ อาจต้องพิจารณากำหนดให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินในบ้านที่มีราคาสูงกว่า 15 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากในปัจจุบันผู้ซื้อชาวไทยส่วนใหญ่ประมาณ 90% เป็นบ้านจัดสรรในระดับราคาไม่เกิน 15 ล้านบาท ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในเรื่องของราคาบ้านปรับตัวขึ้นเร็วเกินไป ขยายระยะเวลาเช่า 90 ปีดึงชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ควรการกำหนดสิทธิในการโหวต ของคนต่างชาติในนิติบุคคลบ้านจัดสรร ให้มีได้ไม่เกิน 49% เพื่อให้เจ้าของร่วมที่เป็นคนไทย สามารถมีสิทธิในการกำหนดกฎระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในชุมชนให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมตามบริบทของสังคมไทย   อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาคนต่างชาติ ยังมีรูปแบบการครอบครองที่อยู่อาศัย ทั้งคอนโด​ บ้านและที่ดินในประเทศไทย ด้วยการมีสิทธิ์ในการครอบครองที่อยู่อาศัย แบบการทำสัญญาเช่าระยะยาว หรือ  Leasehold ซึ่งตามกฎหมายที่ดินปัจจุบันกำหนดให้สามารถเช่าได้ไม่เกิน 30 ปี และสามารถต่ออายุได้รอบละ 30 ปี แต่ในทางปฏิบัติมักมีการทำสัญญาต่ออายุไว้เลยอีก 2 รอบ รวมเป็น 90 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีคนต่างชาติที่ให้ความสนใจในรูปแบบนี้มีจำนวนไม่มากนัก ดังจะเห็นได้ว่าชาวต่างชาติที่มีการทำสัญญาเช่าระยะยาวในระหว่างปี 2561 – 2563 สะสมรวมทั้งหมด 1,483 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 5,390 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 494 ยูนิต มูลค่า 1,797 ล้านบาท   โดยแบ่งเป็นคอนโดจำนวน 1,280 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 4,503 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 427 ยูนิต มูลค่า 1,501 ล้านบาท บ้านและที่ดิน 203 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 888 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 68 ยูนิต มูลค่า 296 ล้านบาท ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ตลาดการเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาวในช่วงที่ผ่านมาจึงมีขนาดเล็กมาก ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 93.4% อยู่ในเมืองท่องเที่ยว คือ ภูเก็ต 78.8% ชลบุรี 10.3% และเชียงใหม่ 6.3%   ขณะที่สัญชาติของคนต่างชาติที่เข้ามาเช่าระยะยาว ที่โดดเด่นมี 2 สัญชาติ คือ รัสเซีย ที่มีสัดส่วนการเช่าถึง 43.2% ของการเช่าทั้งหมด และ จีน มีสัดส่วนการเช่าถึง 23.5% ของการเช่าของคนต่างชาติทั้งหมด ซึ่งนิยมเช่าคอนโดมากกว่าประเภทแนวราบ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ตลาดการเช่าระยะยาวปัจจุบันยังมีขนาดเล็กมาก ซึ่งอาจเป็นผลจากระยะเวลาในการให้เช่ามีเพียง 30 ปี และสามารถต่อคราวละ 30 ปี อาจยังไม่จูงใจให้คนต่างชาติเข้ามาเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาวในประเทศไทย ดังนั้น หากขยายเวลาเช่าระยะยาวออกเป็น 50 ปี และต่อได้อีก 40 ปี ก็น่าจะสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจของต่างชาติมากขึ้น และถือเป็น Lifetime Tenant หรือ สิทธิ์ในการอยู่อาศัยต้นในชั่วชีวิตของคนเช่า เพราะชาวต่างชาติอาจกังวลว่าการต่อสัญญาอาจมีความไม่แน่นอนในการปรับราคาขึ้นของที่ดิน หรือ การเปลี่ยนแปลเงื่อนไขการเช่า หรือ เจ้าของต้องการใช้ที่ดินในลักษณะอื่น เป็นต้น ฉะนั้น ถ้าชาวต่างชาติสามารถเช่าได้ถึง 90 ปี ด้วยการการทำสัญญา 2 ครั้ง แทนที่จะเป็น 3 ครั้ง เท่ากับสามารถลดความเสี่ยงไปได้ 1 ใน 3 เร่งแก้โควิด-19 กระตุ้นตลาดต่างชาติ จากข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้น ถ้านโยบายเหล่านี้สามารถทำได้จริง ก็จะเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมาก เพราะเป็นนโยบายที่สามารถสร้างความต้องการ (Demand) ใหม่ ๆ จากต่างประเทศ แต่เนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต่างชาติในปัจจุบัน ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเพียงประมาณ 10% ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทั้งหมด และยังมีอุปสรรคในการขยายฐานจำนวนลูกค้ากลุ่มนี้ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ชาวต่างชาติอาจขาดแรงจูงใจในการซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งคาดว่านโยบายนี้จะช่วยสร้างแรงซื้อที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ ซึ่งเป็นเหมือนนโยบายเสริมในการช่วยฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยนโยบายเหล่านี้อาจไม่ได้ส่งผลบวกอย่างเป็นรูปธรรมทันที แต่น่าจะส่งผลในเชิง Sentiment และการวางแผนทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในอนาคตได้อย่างดี   การดำเนินนโยบายเหล่านี้จะต้องชัดเจนในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะแก้ไขด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมถึงการกำหนดไทม์ไลน์สำหรับดำเนินการให้ชัดเจน โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในความสำเร็จของนโยบายนี้คือ การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสามารถเร่งเปิดประเทศเพื่อรับชาวต่างชาติเข้าประเทศให้เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจการค้า การประชุมสัมมนา การจัดนิทรรศการ และการท่องเที่ยว เพื่อให้อสังหาริมทรัพย์ของไทยได้รับสนใจคนต่างชาติดังเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของสิ่งเหล่านี้ในภูมิภาคอาเซียนนี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนไทยยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอยู่มาก การขยายสิทธิ์ในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยให้แก่คนต่างชาติ ทั้งการเพิ่มอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดให้กับคนต่างชาติ หรือ การอนุญาตให้คนต่างชาติสามารถมีกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดิน หรือ การขยายเวลาเช่าระยะยาวออกเป็น 50 ปี และต่อ 40 ปี นั้น จึงควรจะต้องพิจารณาในจุดที่มีความเหมาะสม โดยอาจพิจารณากำหนดให้มีการขยายสิทธิ์ในการครอบครองที่อยู่อาศัยให้แก่คนต่างชาติในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ศูนย์กลางธุรกิจและพาณิชยกรรม เช่น กรุงเทพฯ EEC เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น และ ที่อยู่อาศัยในระดับราคา เกินกว่า 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่มีกระทบน้อยมากต่อผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย          
เอสซี แอสเสท  ลุย Q2 เปิดบ้านแนวราบ 1,145 ล้าน  เดินหน้ารักษาแชมป์บ้านเดี่ยว

เอสซี แอสเสท ลุย Q2 เปิดบ้านแนวราบ 1,145 ล้าน เดินหน้ารักษาแชมป์บ้านเดี่ยว

เอสซี แอสเสท  ทำผลงานไตรมาสแรก เติบโตทั้งรายได้และกำไร พร้อมรักษาแชมป์ตลาดบ้านเดี่ยว ครองส่วนแบ่ง 15% ลุยต่อไตรมาส 2 เปิดโปรเจ็กต์ใหม่ 1,145 ล้าน   นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมาบริษัทสามารถทำรายได้​รวม 3,955.66 ล้านบาท  เติบโต 20.16% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมาจากรายได้จากการดำเนินงานแบ่งเป็นรายได้จากการขาย 95%  และรายได้จากการเช่าและบริการ 5% พร้อมกำไรสุทธิ  416.81 ล้านบาท เติบโต 39% จากปีที่ผ่านมามีกำไร 300.61 ล้านบาท   โดยรายได้จากการขายทั้งหมดมีจำนวน 3.738.84 ล้านบาท ​แบ่งเป็นรายได้จากโครงการแนวราบ จำนวน 3,237.03 ล้านบาท เติบโต 77% และโครงการคอนโดมิเนียม 501.81 ล้านบาท ลดลง 59.62% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีรายได้ค่าเช่าและบริการ คิดเป็นจำนวน 198.96 ล้านบาท ลดลง 1.33% และรายได้จากค่าที่ปรึกษาและการจัดการ จำนวน 17.86 ล้านบาท ลดลง 5.45% ขณะที่ไตรมาสแรกมียอดขายรวม 5,700 ล้านบาท เติบโต 188% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย ยอดขายแนวราบ 4,606 ล้านบาท เติบโต 123% และยอดขายคอนโดฯ 1,094 ล้านบาท เติบโต 1381% โดยในส่วนการเติบโตของยอดขายคอนโดมาจาก ​โครงการระดับ Luxury segment ราคามากกว่า 300,000 บาทต่อตร.ม. ของบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 26% และเป็นอันดับ 1 ของตลาด  พร้อมกับโครงการคอนโดเปิดใหม่ สโคป พร้อมศรี บนทำเลสุขุมวิท 49 มียอดจองแล้ว 45 %   ส่วนตลาดบ้านเดี่ยว ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทยังคงรักษาความเป็นผู้นำตลาด ด้วยส่วนแบ่งตลาด 15% จากข้อมูลตลาดบ้านเดี่ยวในกรุงเทพ-ปริมณฑลของ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA ​โดยเป็นผลจากบ้านการเติบโตของยอดขายบ้านเดี่ยวใน 3 กลุ่มหลัก คือ   1.บ้านราคามากกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นพอร์ตหลักของบริษัท ที่มีอัตราเติบโตประมาณ 4 เท่า หรือเติบโต268% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.บ้านระดับราคา 5-20 ล้านบาท​ มีการเติบโตประมาณ 2 เท่า หรือเติบโต 113% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.บ้านระดับราคาน้อยกว่า 5 ล้านบาท เติบโต 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน บ้านเดี่ยวของเราเติบโตทุกราคาและทำให้บริษัทเติบโตทั้งยอดขาย รายได้ และกำไรสุทธิ   ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของการประกาศแผนธุรกิจและการรุกสู่แบรนด์บ้านเดี่ยวอันดับ 1 จากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์และหนี้สินรวม 44,846 ล้านบาท และ 25,744 ล้านบาทตามลำดับ โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุน 1.35 และมีสภาพคล่องแข็งแกร่งปัจจุบันมีเงินสดพร้อมวงเงินพร้อมเบิกมากกว่า 10,000 ล้านบาท เตรียมจ่ายปันผล 0.18 บาท/หุ้น ในวันที่ 20 พ.ค. นี้   สำหรับความคืบหน้าของแผนเปิดแนวราบ  จำนวน  8 โครงการ มูลค่าโครงการ  9,000 ล้านบาท ไตรมาส 2 นี้พร้อมเปิดจอง 2 โครงการใหม่ มูลค่ารวม  1,145 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการบางกอก บูเลอวาร์ด  ซิกเนเจอร์  เพชรเกษม-ปิ่นเกล้า บ้านหรูบนที่ดินขนาดใหญ่ 100 ตร.ว.ขึ้นไป ราคา​ 20-30 ล้านบาท  ทำเลอยู่ใกล้เดอะมอลล์บางแค 2.โครงการเวิร์คเพลส สายไหม-พหลโยธิน ราคา 7-20 ล้านบาท ทำเลใกล้ทางด่วนจตุโชติ และทางด่วนฉลองรัช   โดยในไตรมาส 2 บริษัทมีโครงการที่เปิดขายทั้งหมด จำนวน 57 โครงการ มูลค่าคงเหลือเพื่อขายรวมกว่า40,560 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 47 โครงการ และคอนโด 10 โครงการ              
“เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์”  เตรียมปลดล็อกคนอยากมีบ้าน  เดินหน้าธุรกิจใหม่ Healthscape เพิ่มรายได้

“เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์” เตรียมปลดล็อกคนอยากมีบ้าน เดินหน้าธุรกิจใหม่ Healthscape เพิ่มรายได้

“เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์” โชว์ผลงานไตรมาสแรกกวาดรายได้กว่า 1,254 ล้านบาท แต่ทนพิษโควิด-19 ไม่ไหวส่งผลให้การดำเนินงานขาดทุน 27.88 ล้าน  เดินหน้าลุยธุรกิจไตรมาส 2 เตรียมมาตรการด้านการเงิน ปลดล็อกช่วยคนอยากมีบ้าน หวังสร้างรายได้ต่อเนื่อง พร้อมขยายธุรกิจใหม่​ Healthscape รับรู้รายได้ปลายปี   นางสาวเพชรลดา พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ MJD เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทมีรายได้รวมทุกประเภทธุรกิจอยู่ที่ 1,254 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากยอดโอนกรรมสิทธิ์ในโครงการที่อยู่อาศัยกว่า 92%  ซึ่งเป็นโครงการที่ทยอยโอนอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา อาทิ โครงการเมทริส พระราม 9-รามคำแหง, เมทริส ลาดพร้าว, มารุ เอกมัย 2 และมารุ ลาดพร้าว 15 ช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายของทุกบริษัทอีกครั้ง กับการเผชิญกับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ระลอก 2 โดยเฉพาะในช่วงต้นไตรมาส เราถือเป็นบริษัทแรกๆ ที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงโครงการที่อยู่อาศัยได้สะดวก ผ่านช่องทางออนไลน์ ประกอบกับการรักษากระแสเงินสดของบริษัทให้พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ 5 ปัจจัยทุบเมเจอร์ฯ ขาดทุน สำหรับรายได้รวมในไตรมาสแรกของปีนี้ หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถือว่ามีรายได้ลดลง 36.90% ซึ่งช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 1,987.74  ล้านบาท ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกปีนี้บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 27.88 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 198.43 ล้านบาท ซึ่งผลประกอบการ ในไตรมาส 1/2564 ขาดทุนมาจากปัจจัยหลักดังนี้ ​ 1.รายได้การขายลดลง 36.46% รายได้จากการขายในไตรมาส 1/2564 จำนวน 1,159.37 ล้านบาท ลดลง 665.37 ล้านบาท หรือลดลง 36.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 1,824.74 ล้านบาท ลดลง ​การโอนกรรมสิทธิ์ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในไตรมาส 1/2564 ไม่มีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในขณะที่ไตรมาส1/2563 มีการเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ของโครงการเมทริส พระรามเก้า - รามคาแหง ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2.รายได้กิจการโรงแรมลดลง 74.54% รายได้จากกิจการโรงแรมในไตรมาส1/2564 จำนวน​ 16.15 ล้านบาท ลดลง 47.29 ล้านบาท หรือลดลง 74.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 63.44 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 3.รายได้ค่าเช่าลด 9.23% รายได้ค่าเช่าในไตรมาส 1/2564 จำนวน 22.22 ล้านบาท ลดลง 2.26 ล้านบนาท หรือลดลง 9.23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ค่าเช่า จานวน 24.48 ล้านบาท เนื่องจากจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 4.ขาดทุนจากโครงการร่วมทุน ในไตรมาส 1/2564 มีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า จำนวน 10.24 ล้านบาท เปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2563 ที่มีส่วนแบ่งกาไรจากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า จำนวน 30.57 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้การโอนกรรมสิทธิ์​ในโครงการร่วมทุน ลดลง โดยในไตรมาส 1/2564 มีการโอนกรรมสิทธิ์จานวน 118 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาส 1/2563 มีการโอนกรรมสิทธิ์ 282 ล้าน บาท 5.ต้นทุนการเงินเพิ่ม ต้นทุนทางการเงินในไตรมาส1/2564 เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงิน 171.67 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 ที่มีต้นทุนทางการเงิน 121.14 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 50.53 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น ​41.71% จากการรับรู้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ในโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจะมีการบริหารจัดการในด้านอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ไม่เพียงพอต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้รายได้ลดลงได้ ไม่ว่าจะเป็น   -รายได้จากค่าบริหารจัดการ จากการรับบริหารงานนิติบุคคล แก่​บุคคลภายนอก ที่ในไตรมาส 1/2564 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 25.59 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2563 ที่มีรายได้ค่าบริหารจัดการ จำนวน 20.98 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอัตรา​ 21.97%   -การบริหารต้นทุนขายในไตรมาส 1/2564 ให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยปีนี้มีต้นทุนขายจำนวน 711.97 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 61.41% ของรายได้จากการขาย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 ที่มีต้นทุน 1,108.50 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 60.75% ของรายได้จากการขาย จาก โปรโมชั่น การลดราคา และการส่งเสริมการขายในโครงการพร้อมอยู่   - ต้นทุนจากกิจการโรงแรมในไตรมาส 1/2564 จำนวน 29.12 ล้านบาท เปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2563 ที่มีต้นทุน 48.93 ล้านบาท ลดลง 19.81 ล้านบาท หรือลดลง 40.49% ตามยอดรายได้ที่ลดลง   - ค่าใช้จ่ายในการขายในไตรมาส 1/2564 จำนวน 182.99 ล้านบาท เปรียบเทียบไตรมาส 1/2563 ที่มีค่าใช้จ่ายในการขาย 281.28 ล้านบาท ลดลง 98.29 ล้านบาท หรือลดลง 34.94% จากการลดลงของการโอนกรรมสิทธิ์   - ค่าใช้จ่ายในการบริหารในไตรมาส 1/2564 จำนวน 131.74 ล้านบาท เปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2563 ที่มีค่าใช้จ่ายใน การบริหาร จานวน 192.91 ล้านบาท ลดลง 61.17 ล้านบาท หรือลดลง 31.71% ส่วนใหญ่ลดลงจากค่าใช้จ่ายพนักงาน เตรียมมาตรการปลดล็อกคนอยากมีบ้าน สำหรับสถานการณ์ในไตรมาส 2 ปี 2564 ตลาดยังคงเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกที่ 3 และอาจเกิดภาวะผิดปกติครั้งใหม่ หรือ New Abnormal คล้ายคลึงกับสถานการณ์ช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ที่เกิดสงครามราคามากกว่าระดับปกติ (Abnormal Price War) และเป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคใช้เวลาพิจารณาตัดสินใจซื้อมากกว่าปกติ ผู้พัฒนาโครงการจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภคที่ไม่ใช่ราคาที่ถูกที่สุด แต่เป็นราคาและมาตรการช่วยเหลือที่เข้าใจผู้บริโภคที่สุด เพื่อให้กระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้อย่างตรงจุด สร้างยอดขายและยอดโอนกรรมสิทธิ์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทได้เจรจาร่วมกับพันธมิตรทางการเงินในการออกมาตรการปลดล็อค เพื่อคนอยากมีบ้าน ประกอบด้วย การให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงินสำหรับการกู้ซื้อบ้าน, ช่วยลดภาระการผ่อนชำระนานสูงสุด 2 ปี, โปรแกรมเช่าพร้อมเข้าอยู่ก่อนโอนในโครงการเมเจอร์ฯ เป็นระยะเวลา 2 ปี, พร้อมรับฟรีความคุ้มครองที่ครอบคลุมจากทิพยประกันภัย เมื่อซื้อโครงการจากเมเจอร์ฯ และรับสิทธิ์ผ่อน 0% สำหรับเงินจองและเงินทำสัญญา นาน 6 เดือน เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวได้ในช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้   ทั้งนี้ บริษัทมียอดรอรับรู้รายได้ (Backlog) ที่จะทยอยรับรู้ตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้ เป็นต้นไป มูลค่า 5,463 บาท พร้อมทั้งยังมีโครงการสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ ในเดือนพฤษภาคมนี้ คือ โครงการเมทริส พัฒนาการ-เอกมัย สูง 29 ชั้น จำนวน 341 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,350 ล้านบาท   นอกจากการทำกลยุทธ์ด้านการตลาดแล้ว เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ยังคงเดินหน้าสู่การเป็นผู้พัฒนารูปแบบการใช้ชีวิต (Lifescape Developer) และขยายพอร์ตสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ (Business Diversification) คือกลุ่ม Healthscape  อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ และก้าวเข้าสู่ธุรกิจที่จะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในระยะยาว โดยคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มธุรกิจใหม่ในช่วงปลายปี 2564 พร้อมกับการเปิดตัวโครงการใหม่ตามแผนทั้ง 5 โครงการ มูลค่ารวม 11,300 ล้านบาท นำร่องด้วยโครงการบ้านเดี่ยว Malton Gates กรุงเทพกรีฑา มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท
วิลล่า คุณาลัย  เปิดโปรเจ็กต์โซนใหม่​  จับตลาดเรียลดีมานด์ หนุนรายได้โต10-15 %

วิลล่า คุณาลัย เปิดโปรเจ็กต์โซนใหม่​ จับตลาดเรียลดีมานด์ หนุนรายได้โต10-15 %

วิลล่า คุณาลัย โชว์ผลงาน สร้างรายได้โตและกำไรเติบโต หลังตลาดบ้าน 2-5 ล้าน ยังมีดีมานด์ เตรียมจ่ายปันผลให้นักลงทุน 0.08 บาทต่อหุ้น เดินหน้าเปิดโครงการใหม่โซนทิศใต้ของกรุงเทพฯ หนุนรายได้ทั้งปีโตประมาณ 10-15 %   นางประวีรัตน์ เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ KUN  เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2564 ที่ผ่านมา​ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 189.74  ล้านบาท และกำไรสุทธิ 27.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 137.76% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเติบโตสวนกระแสเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 161.85 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 11.51 ล้านบาท   ทั้งนี้เนื่องจากการรับรู้รายได้จากการโอนโครงการของบริษัทฯ จำนวน  4 โครงการ ที่อยู่ระหว่างการขาย ประกอบด้วย โซนนนทบุรี 3 โครงการคือ 1.โครงการ คุณาลัย จอย 2. โครงการ คุณาลัย พรีม 3.โครงการ คุณาลัย บีกินส์ 2 และโซนฉะเชิงเทรา 1 โครงการคือ โครงการ คุณาลัย จอย ออน 314 ส่งผลให้สิ้นไตรมาส 1/2564 มี  Backlog ในมือรวมมูลค่าประมาณ 360 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงไตรมาส 2-3/2564 อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีอัตรากำไรสุทธิขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 55.58% ของรายได้รวม เนื่องจากรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นตามยอดโอนกรรมสิทธิ์ และต้นทุนการขายเมื่อเทียบสัดส่วนต่อรายได้จากการขายที่ลดลง จากการโอนกรรมสิทธิ์บ้านที่มีต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำกว่าปีก่อน ๆ และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเทียบสัดส่วนต่อรายได้จากการขายที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ   “ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกที่เติบโต มาจากความต้องการที่อยู่อาศัยประเภทโครงการแนวราบในระดับราคาที่จับต้องได้ ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ระดับราคา 2-5 ล้านบาทซึ่ง KUN เป็นบริษัทพัฒนาหมู่บ้านจัดสรรในเขตปริมณฑลที่ชำนาญในสินค้าประเภทนี้เป็นหลักและเน้นการขายให้กับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้มาโดยตลอด จึงตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดี”   นอกจากนี้บริษัทฯ เตรียมจ่ายปันผลงวดครึ่งปีหลัง 2563 ในอัตรา 0.08 บาทต่อหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ ​​เป็นการตอกย้ำความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทฯ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้นได้เป็นอย่างดี   สำหรับในช่วงไตรมาส 2/2564 บริษัทฯ เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ จำนวน 1 โครงการ คือโครงการ คุณาลัย พาร์โก้ เป็นโครงการบ้านเดี่ยวระดับราคาเริ่มต้น 4.49 ล้านบาทต่อยูนิต รวมจำนวน 96 ยูนิต มูลค่าโครงการประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนนี้  โดยจะเป็นโครงการที่จะสร้างรายได้ให้บริษัทในช่วงปลายปี 2564 โดยโครงการดังกล่าว จะพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าครอบครัวใหญ่ที่อยู่อาศัยรวมกัน 3 เจเนอเรชั่น (Gen) ในบ้านหลังเดียว และลูกค้าที่ต้องการบ้านที่ให้เนื้อที่รอบบ้านและพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น มั่นใจว่าจะได้รับความสนใจและกระแสตอบรับที่ดีอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากสินค้าขายดีของบริษัทที่เพิ่งปิดโครงการไปแล้ว   ส่วนแผนการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบในทิศที่ 3  ล่าสุดมีความชัดเจนในการลงทุนมากขึ้น โดยจะลงทุนในโซนทิศใต้ของกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการต่างๆ เบื้องต้นคาดว่าสามารถเปิดขายโครงการได้ในช่วงไตรมาส 4/2564 หรือไตรมาส 1/2565 โดยโครงการดังกล่าวจะรับรู้รายได้ในปี 2565   อย่างไรก็ตาม บริษัทฯมั่นใจภาพรวมผลประกอบการในปี 2564 จะเป็นอีกปีที่ดีของ KUN เนื่องจาก บริษัทฯ มีความพร้อม และความหลากหลาย ทางด้านสินค้าและยังมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมการอยู่อาศัยที่จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และมีกลุ่มลูกค้าเดิมเป็นจำนวนมากที่ช่วยแนะนำบอกต่อเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญ โดยปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายที่ 1,500 ล้านบาท และรายได้ทั้งปีโตประมาณ 10-15 % เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 799.64 ล้านบาท
อนันดาฯ เผยผลงาน Q1/64  ทำยอดขายกว่า 3,979 ล้านบาท  แต่กำไรธุรกิจหลักเหลือ 38.8 ล้าน

อนันดาฯ เผยผลงาน Q1/64 ทำยอดขายกว่า 3,979 ล้านบาท แต่กำไรธุรกิจหลักเหลือ 38.8 ล้าน

อนันดา เผยยอดขายไตรมาสแรก ปี 2564 สูงกว่าเป้าหมาย 17% อยู่ที่ 3,979 ล้าน ขณะที่ทำกำไรจากธุรกิจหลักได้ 38.8 ล้าน ​ส่วนรายได้รวมทำได้กว่า 1,046 ล้าน ลดลงกว่า 31% แต่ยังคงมั่นใจทำยอดโอนทั้งปีได้ตามเป้ากว่า 16,000 ล้าน   นายเสริมศักดิ์ ขวัญพ่วง ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรก ปี 2564 มียอดโอนทั้งหมด 3,059 ล้านบาท และมีสัดส่วนยอดโอนจากลูกค้าชาวต่างประเทศใกล้เคียงจากปีก่อนที่ระดับ 21% ขณะที่มียอดขายรวม 3,979 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเป้าหมาย 17% ที่ระดับ 3,393 ล้านบาท จากโครงการพร้อมอยู่ที่ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์มีอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม แม้ว่าช่วงเดือนมกราคม และมีนาคมที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศในวงกว้าง แต่บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานในส่วนยอดขาย และยอดโอนเป็นที่น่าพึงพอใจ พร้อมปิดการขาย 100% ในโครงการไอดีโอ โมบิ อโศก มูลค่าโครงการกว่า 3,200 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร จำนวน 381 ล้านบาท ลดลงถึง 17% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ในไตรมาสแรกนี้ บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา หรือ EBITDA จากการดำเนินงานของธุรกิจหลัก กว่า 225 ล้านบาท กำไรธุรกิจหลักทำได้แค่ 38.8 ล้าน อย่างไรก็ตาม จากการชี้แจงผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาสแรก ปี 2564 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสำหรับปีจากการดำเนินงานในธุรกิจหลัก เป็นจำนวน 38.8 ล้านบาท ลดลงเป็นจำนวน 336.2 ล้านบาท หรือ 89.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากไตรมาสแรกของปี 2563 มีการบันทึกกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท พีระ เซอร์กิต วัน จำกัด และบริษัท พรีระ คาร์ท จำกัด จำนวน 356.5 ล้านบาท สอดคล้องกับเป้าหมายในการลดสัดส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก และเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจหลักของบริษัท ซึ่งในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทมีกำไรที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นจำนวน 5.5 ล้านบาท   ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า มีจำวน 155.3 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันนของปีก่อนหน้าเป็นจำนวน 4.2 ล้านบาท หรือ 2.6%  โดยปีที่ผ่านมาได้เริ่มมีการโอนโครงการคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จใหม่ 7 โครงการ ได้แก่ โครงการเอลลิโอ เดล เนสท์, ไอดีโอ คิว วิคตอรี่,​แอชตัน อโศก-พระราม 9, ไอดีโอ คิว สุขุมวิท 36, ไอดีโอ โมบิ สุขุมวิท อีสต์พอยท์, ไอดีโอ รัชดา-สุทธิสาร และเอลลิโอ สาทร-วุฒากาศ รายได้รวม Q1 ลดลง เหลือกว่า 1,046.5 ล้าน นอกจากนี้ ในส่วนของรายได้รวมไตรมาสแรก บริษัทมีจำนวน 1,046.5 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 475.2 ล้านบาท หรือลดลง 31.2% โดยมีสาเหตุหลักมาจากในไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา มีการบันทึกกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท พีระ เซอร์กิจ วัน จำกัด และบริษัท พีระ คาร์ท จำกัด จำนวน 356.5 ล้านบาท และในปัจจุบันบริษัทมีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ ผ่านการร่วมทุนในกิจการร่วมค้า ซึ่งมีการรับรู้เป็นส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า   นายเสริมศักดิ์  กล่าวอีกว่า ในปี 2564 นี้ถือเป็นอีกปีที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรับมือกับความเสี่ยง และความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยที่วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จะเป็นความหวังของชาวไทย และต่างประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวและกำลังซื้อจากลูกค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะลูกค้าชาวจีนที่มีความต้องการซื้อสูง จะเป็นตัวช่วยให้แนวโน้มและความมั่นใจกลับมาดีขึ้น และเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงทุกอย่างก็จะกลับสู่ภาวะปกติ ยืนเป้าโอนทั้งปีกว่า 1.6 หมื่นล้าน สำหรับแผนธุรกิจในปี 2564 บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าหมายยอดโอน 16,008 ล้านบาท และยอดขาย 18,570 ล้านบาท พร้อมเตรียมเปิด 5 โครงการใหม่ มูลค่าโครงการรวมกว่า 24,422 ล้านบาท บนทำเลศักยภาพ ใกล้รถไฟฟ้า ได้แก่ ทำเลทองหล่อ สุรวงศ์ สะพานควาย สุขุมวิท 38 และลำสาลี พร้อมแนวคิดใหม่ ดีไซน์การออกแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์วิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ และในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทฯประกาศความร่วมมือกับ Bitkub  เพื่อการนำคริปโทเคอร์เรนซี่ มาใช้สำหรับการซื้อบ้านและคอนโดจากอนันดา ซึ่งอนันดาเป็นบริษัทในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายแรกในประเทศไทย ที่อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในการซื้อเพิ่มมากขึ้นในการนำคริปโทเคอร์เรนซี่มาใช้ด้านการชำระเงิน   ณ สิ้นไตรมาส 1 บริษัทฯ ยังคงรักษาเงินสดรวมโครงการร่วมทุนเกินกว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งยังได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งและต่อเนื่องจากสถาบันการเงินชั้นนำ และมีทางเลือกในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่หลากหลายสามารถเลือกใช้ได้ตามสถานการณ์ และมีเป้าหมายในการรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนไว้ภายใต้เป้าหมายระยะยาวที่ 1:1 สำหรับในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน มูลค่ารวม 1,000 ล้านบาท เพื่อชำระคืนตามสิทธิหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ครั้งที่ 1/2559
เอพี ไทยแลนด์  เดินหน้าทำรายได้-กำไร Q1/64 โต  ได้แรงส่งบ้านพร้อมขาย-การจัดการเงิน​สด           

เอพี ไทยแลนด์ เดินหน้าทำรายได้-กำไร Q1/64 โต ได้แรงส่งบ้านพร้อมขาย-การจัดการเงิน​สด           

เอพี ไทยแลนด์  เผยตัวเลขไตรมาสแรกปี 64 ทำรายได้รวมกว่า 10,770 ล้านบาท มีกำไรสุทธิกว่า 1,400 ล้านบาท ด้วยแรงส่งจากสินค้าบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมพร้อมขายในทุกทำเล ขณะที่มีแบ็คล็อกเตรียสร้างรายได้รวม 33,700 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าเปิดตัว 3 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 1,650 ล้านเดือนมิถุนายนนี้​   นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท  เอพี ไทยแลนด์ จำกัด​ (มหาชน) หรือ AP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถสร้างรายได้รวมสูงถึง 10,770 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า   ที่มีรายได้รวมเท่ากับ 6,820 ล้านบาท  และมีกำไรสุทธิกว่า 1,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 618 ล้านบาท ทั้งนี้ วิกฤตการแพร่ระบาดยังคงสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจอย่างไม่สิ้นสุด หลายคนมองว่าปีที่ผ่านมาดำเนินธุรกิจด้วยความยากลำบากแล้ว แต่จากสถานการณ์ระบาดรอบใหม่นี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนถึงความยากลำบากและความท้าทายที่รออยู่อีกมาก   สำหรับทางรอดของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  นอกจากการบริหารจัดการความพร้อมภายในองค์กรรวมถึงงบกระแสเงินสดแล้ว การมีสินค้าพร้อมขายกระจายไปในหลายทำเล คืออีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ผลักดันให้เอพีประสบความสำเร็จด้วยการขยายโอกาสที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มแนวราบที่ยังคงเป็นซูเปอร์สตาร์ โดยบริษัทฯ มีรายได้รวมจากสินค้าแนวราบที่เติบโตสูงขึ้นในทุกไตรมาส สะท้อนถึงความแข็งแกร่งที่เกิดขึ้นจากภายใน ในการพร้อมรับมือกับกฎกติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในปี 2564 นี้บริษัทฯ ตั้งเป้าจะพัฒนาโครงการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ  โดยมีโครงการพร้อมขายกว่า 144 โครงการ มูลค่ากว่า 115,480 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา​ บริษัทฯ มีสินค้ารอรับรู้รายได้ (Backlog) 33,700 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้รวม (รวม 100% JV) ได้ตามเป้าหมาย 43,100 ล้านบาท โดย่ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ บริษัทฯ เตรียมเปิดตัว 3 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 1,760 ล้านบาท ได้แก่ บ้านเดี่ยว 2 โครงการ มูลค่ารวม 1,650 ล้านบาท ประกอบไปด้วย CENTRO ราชพฤกษ์-สวนผัก 3 CENTRO พหลฯ-วิภาวดี 2 และโฮมออฟฟิศ District รามอินทรา-จตุโชติ มูลค่า 110 ล้านบาท  ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังเตรียมรับรู้รายได้ จากการโอนกรรมสิทธิ์ 2 คอนโดใหม่ LIFE ลาดพร้าว แวลลีย์ และ LIFE อโศก ไฮป์  มูลค่ารวม 12,300 ล้านบาท   บริษัทฯ ยังคงดำเนินแผนธุรกิจด้วยความรัดกุม ควบคู่ไปกับความพร้อมที่จะปรับตัวอย่างรวดเร็ว ด้วย การบริหารจัดการกระแสเงินสด ภายใต้พันธกิจใหญ่ขององค์กร “EMPOWER LIVING” ที่พร้อมส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีที่ลูกค้าสามารถเลือกได้ ด้วยนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีคุณค่าและมีความหมาย  
อัลติจูด จับมือแลนด์ลอร์ด​ปั้นโปรเจ็กต์​ ชูกลยุทธ์ “เทิร์นคีย์” สู้พิษเศรษฐกิจ-โควิด

อัลติจูด จับมือแลนด์ลอร์ด​ปั้นโปรเจ็กต์​ ชูกลยุทธ์ “เทิร์นคีย์” สู้พิษเศรษฐกิจ-โควิด

อัลติจูด ชูกลยุทธ์ “เทิร์นคีย์” ดึงเจ้าของที่ดิน ปั้นโครงการสร้างรายได้ หลังธุรกิจอสังหาฯ เจอมรสุมเศรษฐกิจ พิษโควิด-19 หวังเติมรายได้และยอดขายกว่า 2,400 ล้าน   นายชยพล หรรรุ่งโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายใต้แบรนด์ ALTITUDE (อัลติจูด)​ เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทต้องทำการทบทวนแผนธุรกิจทุก ๆ 3 เดือน เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่ผ่านมาได้เลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ 2 โครงการ จากเดิมจะเปิดตัวในไตรมาส 2 ไปเปิดตัวในช่วงไตรมาส 3 แทน โดยทั้ง 2 โครงการ เป็นการพัฒนาโครงการในเซกเมนต์ใหม่ ได้แก่ โครงการอัลติจูด ฟอเรสต์ รัชดา พรีเมียมทาวน์โฮม จำนวน 39 ยูนิต มูลค่าเริ่มต้น 15 ล้านบาท และ อัลติจูด ฟอเรสต์ อารีย์-โมนูเมนต์ บ้านเดี่ยวระดับลักชัวรี่ เพียง 10 ยูนิต มูลค่าเริ่มต้น 28 ล้านบาท บนทำเลอารีย์ และเป็นโครงการใหม่บนทำเลศักยภาพใจกลางเมือง รวมมูลค่าทั้ง 2 โครงการ 998 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังได้ใช้กลยุทธ์เทิร์นคีย์ (Turnkey Asset Management) หรือการร่วมทุนกับพันธมิตร ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินทำเลศักยภาพและต้องการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทมีโมเดลการร่วมทุน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.เจ้าของที่ดินลงทุนเฉพาะที่ดิน เป็นรูปแบบการลงทุนที่เจ้าของลงทุนเฉพาะที่ดินเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่าย  ค่าดำเนินการ และการพัฒนาโครงการทางบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบ 2.เจ้าของที่ดิน ลงทุนตามสัดส่วนการลงทุน เป็นรูปแบบการร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ โดยพิจารณาตามสัดส่วนที่เจ้าของที่ดินต้องการร่วมลงทุน ซึ่งจะมีการประเมินราคาที่ดินเป็นมูลค่าออกมาเพื่อใช้ในการร่วมทุน 3.บริษัทรับจ้างพัฒนาโครงการ เป็นรูปแบบการลงทุน ที่เจ้าของที่ดินต้องการพัฒนาโครงการ แต่ไม่ต้องการร่วมหุ้นกับบริษัท โดยให้บริษัทเป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการทั้งหมด ซึ่งรูปแบบนี้บริษัทจะรายได้ จากค่าบริหารจัดการโครงการ (Management Free) สำหรับโครงการที่พัฒนาภายใต้กลยุทธ์เทิร์นคีย์ จะต้องมีมูลค่าเริ่มต้นประมาณ 300 ล้านบาท หรือมีมูลค่าที่ดินประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นขนาดที่เหมาะสม หากขนาดที่ดินหรือมูลค่าน้อยกว่า 300 ล้านบาท ถือว่ามีขนาดโครงการที่เล็กเกินไป ปัจจุบันมีเจ้าของที่ดินจำนวนมากที่เข้ามาติดต่อเพื่อพัฒนาโครงการร่วมกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้   ส่วนรูปแบบโครงการที่เจ้าของที่ดินนำมาร่วมลงทุน ภายใต้กลยุทธ์เทิร์นคีย์  มีรูปแบบการพัฒนาโครงการเพื่อจับกลุ่มตลาดได้เช่นเดียวกับบริษัท ซึ่งมี 6 เซ็กเมนต์ ได้แก่ 1.คอนโดมิเนียม ตลาดระดับกลาง แบรนด์อัลติจูด ยูนิคอร์น (ALLTITUDE UNICORN)  2.คอนโดระดับลักชัวรี่ แบรนด์อัลติจูด ซิมโฟนี่ (ALLTITUDE SYMPHONY) 3.โฮมออฟฟิศ ระดับราคา 15-90 ล้าน 4. บ้านหรูทำเลใจกลางเมือง ระดับราคา 30 ล้านบาท 5.บ้านพรีเมียมใจกลางเมืองระดับ 20 ล้านบาท  และ 6.บ้านทาวน์โฮม ราคา 3 ล้านบาท     มีคนส่งที่ดินเข้ามาให้ศึกษาจำนวนมาก และเป็นทำเลที่น่าสนใจ นี่จะเป็นหนึ่งกลยุทธ์สร้างการเติบโตของอัลติจูด ถ้าเราสามารถร่วมทุนกับเจ้าของที่ดิน​และเป็นที่ดินมีศักยภาพ ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนหนึ่งให้เราเติบโตไปข้างหน้า สำหรับที่ดินที่นำเสนอเข้ามามีจำนวนมาก แต่บริษัทจะพิจารณาทำเลที่เหมาะสม และจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการพัฒนาโครงการ รวมถึงจะต้องพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับแบรนด์ต่าง ๆ ของบริษัท โดยทั้งสองฝ่ายต้องสามารถตกลงร่วมกันได้ ภายใต้มาตรฐานที่บริษัทกำหนดไว้   ด้านนายขวัญชัย เจริญยิ่งถาวรชัย กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า การที่บริษัทได้นำกลยุทธ์เทิร์นคีย์มาใช้ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งธุรกิจอสังหาฯ ได้รับผลกระทบอย่างมากรองจากธุรกิจการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังพบว่า สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ เพื่อนำเงินมาพัฒนาโครงการ โดยเฉพาะดีเวลลอปเปอร์รายใหม่หรือรายเล็ก  และยังมีการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วย จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายในการทำธุรกิจอย่างมาก ​ซึ่งการที่เจ้าของที่ดินเลือกเข้ามาร่วมทุนกับบริษัท จะช่วยทำให้มีโอกาสในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้ เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา อัลติจูดได้ปรับกลยุทธ์การขายวิถีใหม่ ‘REAL LIVE 720 DEGREE’ หรือ นวัตกรรมเรียลไลฟ์ 720 องศา ภายใต้แนวคิด ANYONE CAN BUY ANYWHERE & ANYTIME ซึ่งเป็นนวัตกรรมเยี่ยมชมโครงการที่สามารถสัมผัสประสบการณ์เสมือนจริง 720 องศา ทั้งการชมบ้านตัวอย่าง ชมส่วนกลางเสมือนจริงได้รอบทิศทาง และสามารถทำ POP UP SPACE ออกแบบบ้านตามไลฟ์สไตล์ที่ชอบด้วยตัวเอง นับเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของรูปแบบการขายให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ที่เหนือกว่าของการซื้อที่อยู่อาศัย   โดยนำร่องนวัตกรรมชมบ้านแบบเรียลไลฟ์ 720 องศา กับแบรนด์น้องใหม่ ‘อัลติจูด คราฟ บางนา (PREMUIM AFFORDABLE TOWNHOME)  ซึ่งเปิดตัวเมื่อช่วงปลายปี 2563 ถือว่าประสบความสำเร็จในการขายก่อนเปิดโครงการจริง (EARLY BIRD) ด้วยยอดขายต่อเนื่องถึงปัจจุบันกว่า 540 ล้านบาท พร้อม SOLD OUT จำนวน 125 ยูนิต ซึ่งเป็นการขายคละแบบบ้าน 3 แบบ จากทั้งหมด 402  ยูนิต ในโครงการ โดยมีมูลค่าโครงการรวม 1,469 ล้านบาท และเตรียมนำนวัตกรรมนี้ไปใช้กับทุกโครงการที่จะเปิดใหม่   นายขวัญชัย กล่าวอีกว่า ทิศทางธุรกิจอสังหาฯ ในปี 2564 คาดว่าจะเติบโตในอัตราเลขตัวเดียว หรือไม่เกิน 10% โดยมีปัจจัยบวกจาก การส่งเสริมให้กลุ่มชาวต่างชาติสามารถซื้ออสังหาฯ ในไทย ส่วนบริษัทปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้ 2,400 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามียอดขาย 1,900 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาสแรกมียอดขาย 200 ล้านบาท ปัจจุบันมียอดขายรอรับรู้รายได้ประมาณ 2,900-3,000 ล้านบาท
ALLY REIT ขยายพอร์ตศูนย์การค้า ลงทุน 670 ล้าน “เดอะคริสตัล ชัยพฤกษ์-กาดฝรั่ง วิลเลจ”

ALLY REIT ขยายพอร์ตศูนย์การค้า ลงทุน 670 ล้าน “เดอะคริสตัล ชัยพฤกษ์-กาดฝรั่ง วิลเลจ”

ผู้ถือหน่วยกองทรัสต์ ALLY โหวตอนุมัติให้เข้าลงทุนเพิ่มในโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ "เดอะคริสตัล ชัยพฤกษ์" และรับทราบการเข้าลงทุนใน "กาดฝรั่ง วิลเลจ" มูลค่ารวมไม่เกิน 670 ล้าน  พร้อมเดินหน้าหาแหล่งรายได้เพิ่ม ทั้งโครงการออฟฟิศ ตลาด โกดัง และพื้นที่พาณิชย์อื่น ๆ นายกวินทร์  เอี่ยมสกุลรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.อี.รีท แมเนจเมนท์ จำกัด (ในเครือ เคอี กรุ๊ป) ในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์อัลไล (ALLY) เปิดเผยผลการประชุมสามัญผู้ถือหน่วยทรัสต์ ประจำปี 2564 ว่าที่ประชุมมีมติอนุมัติการเข้าลงทุนทรัพย์สินเพิ่มเติมในโครงการเดอะคริสตัล ชัยพฤกษ์ มูลค่าการลงทุนไม่เกิน 280 ล้านบาท และรับทราบการเข้าลงทุนในโครงการกาดฝรั่ง วิลเลจ มูลค่าลงทุนไม่เกิน 390 ล้านบาท ซึ่งเข้าลงทุนแล้วเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยหลังจากเข้าลงทุนเพิ่มเติม 2 โครงการนี้แล้ว ALLY จะกลายเป็นเจ้าของพอร์ตศูนย์การค้าประเภทคอมมูนิตี้มอลล์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ วัดจากมูลค่าทรัพย์สินรวมที่ประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งหมด 12 โครงการ และพื้นที่ขายกว่า 156,000 ตารางเมตร เรายังคงมุ่งมั่นสร้างการเติบโตและหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการต่างๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหน่วยทรัสต์  โครงการเดอะคริสตัล ชัยพฤกษ์ และโครงการกาดฝรั่ง วิลเลจ ทำให้เราได้ขยายไปยังทำเลใหม่ที่มีศักยภาพ ย่านชัยพฤกษ์ในจังหวัดนนทบุรี และอำเภอหางดงในจังหวัดเชียงใหม่ สำหรับทั้ง 2 โครงการถือว่ามีอัตราการเช่าพื้นที่เติบโตด้านอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีอัตราเช่าพื้นที่ 85% และ 88% แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีโรคระบาดโควิด -19  ก็ตาม และยังสามารถเพิ่มร้านค้าใหม่ ๆ เข้ามาได้อีกด้วย โดยที่ปรึกษาการเงินอิสระได้ประเมินว่า กองทรัสต์ ALLY จะมี EBITDA เพิ่มขึ้น 2.9% ในปีแรก หลังจากการเข้าลงทุนใน 2 โครงการนี้   นอกเหนือจากนี้ กองทรัสต์ ALLY ยังมีแผนที่จะขยายพอร์ตอย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำกัดการลงทุนเพียงทรัพย์สินประเภทศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์เท่านั้น แต่เล็งหาโครงการออฟฟิศ ตลาด โกดัง และพื้นที่พาณิชย์อื่น ๆ ที่มีศักยภาพ และสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ โดยตอนนี้ได้รับความสนใจจากเจ้าของทรัพย์สินที่อยากนำโครงการของตนเองเข้ามาระดมทุนผ่านกองทรัสต์นี้ นายกวินทร์ กล่าวอีกว่า จุดแข็งของ ALLY เมื่อเทียบกับกองทรัสต์อื่น คือการมีทีมผู้บริหารโครงการในเครือ (Property Manager) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแพลตฟอร์มระดับสากล ซึ่งนำมาใช้ในการบริหารงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน โดยที่ผ่านมา 4 โครงการ ก็สามารถเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายหลังจากที่ ALLY ได้เข้าไปลงทุนแล้ว   สำหรับผลดำเนินงานปี 2563 กองทรัสต์ ALLY มีรายได้ทั้งหมด 1,132.52 ล้านบาท กำไรจากการลงทุนสุทธิอยู่ที่ 434.43 ล้านบาท และมีอัตราการจ่ายประโยชน์ตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 0.4350 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ประมาณ 7.3% (อ้างอิงราคาตลาด ณ สิ้นปี 2563) ซึ่งสูงกว่ากองทรัสต์อื่น ๆ ที่ลงทุนในทรัพย์สินประเภทศูนย์การค้ากองทรัสต์ ALLY บริหารอยู่ภายใต้เครือของ เคอี กรุ๊ป    
ยูนิเวนเจอร์ โดนโควิด-19 ยอดขายอสังหาฯ ลด  แต่ยังทำกำไร 6 เดือนแรกโต 50%

ยูนิเวนเจอร์ โดนโควิด-19 ยอดขายอสังหาฯ ลด แต่ยังทำกำไร 6 เดือนแรกโต 50%

ยูนิเวนเจอร์  เผยผลประกอบการ 6 เดือนแรกปี​ 2564 ผลกำไรโตกว่า 50% แต่รายได้หลักลดลง  16% เหตุเจอสถานการณ์โควิด-19 รายได้จากการขายอสังหาฯ ชะลอตัว ลูกค้าไม่มั่นใจ การปฏิเสธสินเชื่อจากแบงก์   นายกำพล ปุญโสณี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ UV เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (1 ตุลาคม 2563 – 31 มีนาคม 2564) สามารถทำรายได้รวม 1,913.8 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย 913.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48% ของรายได้รวม รายได้จากธุรกิจสังกะสีออกไซด์ 681.3 ล้านบาท คิดเป็น 36% ของรายได้รวม รายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาฯ ​และรายได้อื่นประมาณ 319.2 ล้านบาท คิดเป็น 16% ของรายได้รวม และ​มีกำไรเติบโตกว่า 50%   โดยในปีนี้ บริษัทยังคงมุ่งเน้นในการจัดหา การลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพ ทั้งการลงทุนโดยบริษัท เอง และการร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในดำเนินธุรกิจ ซึ่งการลงทุนจะดำเนินภายใต้กลยุทธ์องค์กรทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดหาการลงทุนเพื่อสร้างความสมดุลของ Investment Portfolio ของบริษัท (ENABLE) 2.การพัฒนาความเชี่ยวชาญและเพิ่มมูลค่าของธุรกิจที่ลงทุนเพื่อก่อให้เกิดรายได้และผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง (COMMIT) และ 3.การสร้างความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจในระยะยาว (ACCOMPLISH)   ทั้งนี้ บริษัทมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแรง และพร้อมที่จะปรับสมดุลในการลงทุนของบริษัทเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกลยุทธ์องค์กรดังกล่าวได้ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) ที่จะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2564-2565 ประมาณ 3,000 ล้านบาท   สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ (ม.ค.-มี.ค.2564) บริษัทีรายได้รวม 1,001.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีรายได้รวม 996.7 ล้านบาท โดยรายได้ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นรายได้จากการขาย บริการ และให้เช่า จำนวน 932.9 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจอสังหาฯ 501.5 ล้านบาท จากธุรกิจการขายและบริการ 425.8 ล้านบาท จากธุรกิจอสังหาฯ เพื่อเช่า 4 ล้านบาท และจากค่าการจัดการ 1.6 ล้านบาท ​   ส่วนรายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 1,913.8 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีรายได้รวม 2,130.1 ล้านบาท ซึ่งรายได้หลักในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 มีจำนวน 1,716.2 ล้านบาท มาจากธุรกิจอสังหาฯ เพื่อขาย 913.3 ล้านบาท ​​จากธุรกิจการขายและการให้บริการ​ 788.1 ล้านบาท ​จากธุรกิจอสังหาฯ เพื่อเช่า​ 8.0 ล้านบาท และจากค่าการจัดการ 6.8 ล้านบาท โดยรายได้หลักสำหรับงวด 6 เดือนปี 2564 ลดลง​ 16% เปรียบเทียบกับ​งวด 6 เดือนของปีก่อน รายได้หลักที่ลดลงส่วนใหญ่มาจาก รายได้ที่ลดลงจากธุรกิจอสังหาฯ เพื่อขายเนื่องจากลูกค้าชะลอการตัดสินใจซื้อ  และชะลอการโอนกรรมสิทธิ์โครงการอสังหาฯ ​​จากการระบาดของโควิด -19  ผลกระทบจากการ ปฏิเสธสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกลุ่มลูกค้าที่ประกอบอาชีพหรือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดโควิด-19 และรายได้จากการให้เช่าและบริการที่ลดลงไป หลังการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS16 ​  
Zara Home เปิดตัวช้อปปิ้งออนไลน์ครั้งแรกในไทย  เอาใจคนชอบการแต่งบ้านช่วง WORK FROM HOME

Zara Home เปิดตัวช้อปปิ้งออนไลน์ครั้งแรกในไทย เอาใจคนชอบการแต่งบ้านช่วง WORK FROM HOME

ถ้าใครที่ชื่นชอบแฟชั่น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มฟาสต์แฟชั่น  ต้องรู้จักแบนด์ซาร่า (Zara) จากประเทศสเปน ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งแบรนด์ซาร่า ถือเป็นในสินค้าแฟชั่นของ Inditex Group ที่ยังมีแบรนด์สินค้าแฟชั่นอื่น ๆ อีกหลายแบรนด์ อาทิ PULL&BEAR, Massimo Dutti และ Bershka เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เป็นสินค้าแฟชั่นประเภทเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย แต่ภายใต้ Inditex Group ไม่ได้มีเฉพาะแบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายเท่านั้น ยังมีสินค้าประเภทของแต่งบ้านต่าง ๆ​ อุปกรณ์บนโต๊ะ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กและขนาดกลาง และอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่ใช้ในบ้านหรือสำนักงาน ภายใต้แบรนด์ ซาร่า โฮม (Zara Home) ซึ่งเริ่มก่อตั้งแบรนด์ในปี 2003 ปัจจุบัน Zara Home ดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั้ง 4 ทวีป ใน 71 ประเทศ มีร้านค้ามากกว่า 533 สาขาทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งได้เข้ามาเปิดสาขาแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2556   ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งมีผลการใช้ชีวิตของผู้คนยุคปัจจุบัน และยิ่งปัจจุบันโลกมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น จึงทำให้การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันไปแล้ว แบรนด์ซาร่า โฮม จึงวางแผนเปิดตัวร้านค้าออนไลน์ zarahome.com/th อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ตั้งแต่ 11 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป ซึ่งในต่างประเทศแบรนด์ซาร่า โฮมได้เริ่มให้บริการแบบออนไลน์ บนเว็บไซต์มาแล้วตั้งแต่ปี  2562 โดย zarahome.com/th จะให้บริการสินค้าหลากหลายที่ครอบคลุมทุกความต้องการภายในบ้าน ทั้งสิ่งทอสำหรับใช้ในห้องนอน ห้องน้ำ เฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ชุดอุปกรณ์ช้อนส้อมมีด และแอคเซสซอรีสำหรับตกแต่งบ้านอื่น ๆ รวมถึงชุดอยู่บ้านและชุดนอน และไอเทมส์สำหรับมอบเป็นของขวัญให้คนพิเศษ  เพื่อให้ผู้ชื่นชอบการตกแต่งบ้านได้สนุกไปกับการช้อปปิ้งอย่างปลอดภัยไร้กังวลในช่วง Work From Home และเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม  นอกจากการช้อปปิ้งผ่านเว็บไซต์แล้ว แบรนด์ซาร่า โฮม ยังสามารถช้อปผ่านแอปพลิเคชันได้ ทั้งบนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android อีกด้วย   ​  
สิงห์ เอสเตท ซื้อ“เวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ฯ” ทุ่ม 2,421 ล้าน ลุยธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

สิงห์ เอสเตท ซื้อ“เวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ฯ” ทุ่ม 2,421 ล้าน ลุยธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม

สิงห์ เอสเตท ซื้อ“เวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ฯ” 1,790 ไร่ จากบุญรอดบริวเวอรี่ พร้อมทุ่มงบรวม 2,421  ล้าน ลุยธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม หวังต่อยอดเป้าหมายสร้างรายได้ปีละ 20,000 ล้านในระยะเวลา​3 ปี​​​   รายงานข่าวจากบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) (S) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ได้​ลงนามในข้อตกลงเข้าซื้อหุ้น 100%  ของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด โดยบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ซึ่งมีเนื้อที่ 1,790 ไร่ ตั้งอยู่ใน จ.อ่างทอง   สำหรับการโอนหุ้นระหว่างกันคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 นี้ ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,421 ล้านบาท โดย 510 ล้านบาทเป็นเงินที่จ่ายเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรีในราคาพาร์ ส่วนอีก 1,726 ล้านบาท เป็นเงินที่จะใช้ในการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บริษัท  สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า การซื้อนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงไฟฟ้า​ 3 แห่งที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอสมควร ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ที่จะสร้างจุดแข็งที่ให้กับธุรกิจ จากการส่งเสริมระหว่างกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่หลากหลายของสิงห์ เอสเตท เพื่อทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งในการแข่งขัน และทำให้ธุรกิจมีความเป็น Resilient Business   ด้านนางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท กล่าวว่า  การผสานธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจของบริษัท ทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงาน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว นิคมอุตสาหกรรมคือหนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ การดำเนินกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งของบริษัท   และการที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ เน้นสินค้าอาหารโดยเฉพาะ ทำให้มีความต้องการใช้ไอน้ำจากผู้ประกอบการแปรรูปอาหารต่าง ๆ ในนิคมฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าของบริษัท ก็เป็นผู้ผลิตไอน้ำที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย   นอกจากนั้น กิจการโรงไฟฟ้ายังช่วยให้บริษัทมีรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจากการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ​ ขณะเดียวกัน บริษัทยังมองเห็นอนาคตที่สดใสของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยด้วย โดยอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของทั้งประเทศนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80% ณ ช่วงสิ้นปีของปีที่แล้ว ในขณะที่ ภาคกลางของประเทศไทย มีอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในระดับสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 89%   นางฐิติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ยังมีความสำคัญตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศที่มุ่งยกระดับประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก โดยทำเลที่ตั้งของนิคมฯ แห่งนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารและวัตถุดิบของประเทศ ทั้งแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนม และสัตว์ปีก นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา   นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งกำหนดเป็นนโยบายระยะยาว โดยข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พบว่า อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในอัตราที่เติบโตรวดเร็วที่สุด โดยภาคกลางของประเทศไทยมีสัดส่วนของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนประมาณครึ่งหนึ่งของการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดในปี 2563 มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการความเข้มงวดในการเดินทางหลังการคลี่คลายของวิกฤตโควิด-19 ทั้งนี้ บมจ. สิงห์ เอสเตท ได้จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายน ซึ่งในการประชุมดังกล่าว   ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติแผนการซื้อหุ้น 30% ในโรงไฟฟ้า 3 แห่งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ โดยคิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท  โดยโรงไฟฟ้าแห่งแรกเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วขนาด 123 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 และแห่งที่ 3 เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง  โดยมีกำหนดจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566 มีกำลังการผลิตแห่งละ 140 เมกะวัตต์   อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตท ได้ประกาศเป้าหมายดันรายได้ต่อปี ให้เพิ่มขึ้น 3 เท่า กลายเป็นประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี และมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา3 ปี โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะสร้างการเติบโตตามเป้าหมายดังกล่าว คือ การขยายการลงทุนใหม่ และธุรกิจใหม่    
REIC เปิด 5 ทำเลราคาที่ดินยังพุ่งสูง​​ ท่ามกลางโควิด-19 ระรอกใหม่

REIC เปิด 5 ทำเลราคาที่ดินยังพุ่งสูง​​ ท่ามกลางโควิด-19 ระรอกใหม่

รอบปีที่ผ่านมา ดีเวลลอปเปอร์อสังหาริมทรัพย์ มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก เพราะความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การซื้อที่ดินใหม่เพื่อนำมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยลดลงตามไปด้วย รวมถึงชะลอแผนการสะสมที่ดินเพื่อเตรียมไว้พัฒนาโครงการในอนาคต  โดยหันมาพัฒนาโครงการบนที่ดินเดิมที่ซื้อไว้ก่อนแล้ว ​   เมื่อความต้องการซื้อที่ดินชะลอตัวลง ทำให้ประเมินกันว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินอาจจะมีการปรับลดราคาลง ตามหลักดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งพบว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในช่วงไตรมาส 3 หลังเกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 จนนำมาสู่การล็อกดาวน์ประเทศในช่วงไตรมาส 2 นั้น พบว่าดัชนีราคาที่ดินเปล่ามีการขยายตัวเพียง 0.7% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวถึง 5.2% และขยายตัวในอัตรา 21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน   อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในไตรมาส 4 มีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะสถาการณ์แพร่ระบาดเริ่มปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าจะยังต่ำกว่าช่วงที่ผ่านมาในอดีตก็ตาม โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเป็น 7.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 แต่มีค่าดัชนีลดลงเท่ากับ 17.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาที่ดินลดต่ำลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี​ สำหรับปี 2564 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง ได้ส่งผลกระทบทำให้ค่าดัชนีราคาที่ดินได้รับผลกระทบ และมีอัตราการขยายตัวต่ำสุด นับตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2559 โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานว่า ค่าดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี 2564 มีค่าดัชนีเท่ากับ 326.2 จุด หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ยังเพิ่มขึ้นเพียง 11.2% แต่เริ่มเห็นสัญญาณราคาที่ดินเริ่มลดลง ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2559 – 2563) ที่มีค่าดัชนี 17.7% ต่อไตรมาส   นอกจากนี้  เมื่อเปรียบเทียบกับค่าดัชนีราคาที่ดินในไตรมาสก่อนหน้า  พบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2564 มีค่าดัชนีลดลงติดลบ 2.2% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรก ตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำดัชนีราคาที่ดินเปล่าของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2555 ด้วย   ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ​ ศูนย์ข้อมูลฯ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ได้เห็นภาวการณ์ชะลอตัว และการปรับลดลงของราคาที่ดิน เป็นไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ภาวการณ์ลดลงของดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ยังถูกสะท้อนถึงความต้องการซื้อขายที่ดินเปล่าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ที่มีจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงถึง 13.3% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้มีการปรับตัว โดยอาจมีการซื้อที่ดินสะสมไว้น้อยลง และมีการซื้อที่ดินใหม่เมื่อต้องใช้ในการพัฒนา ​มากกว่าที่จะซื้อมาเก็บไว้รอการพัฒนาในอนาคต 5 ทำเลราคาดินปรับตัวสูง แต่อย่างไรก็ตาม  ยังพบว่า มีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาเพิ่มขึ้นมากในไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นที่ดินในทำเลตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า โดยพบ 5 ทำเลแนวรถไฟฟ้าที่ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ 1.แนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทำเลที่มีการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดของดัชนีราคาที่ดินก่อนการพัฒนา คือ ที่ดินในทำเลแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑล สาย 4) ที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น  38.3% เป็นที่ดินโซนตะวันตกของกรุงเทพฯ  ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) ที่เปิดให้บริการแล้ว 2.แนวรถไฟฟ้าสายสีทอง-น้ำเงิน-ส้ม  ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) ที่เพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อเดือนธันวาคม 2563 และสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) และ สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) ที่เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต  โดยทั้ง 3 โครงการมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น  35.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) 3.แนวรถไฟฟ้าสีส้ม ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่มีความคืบหน้าการก่อสร้างโดยรวมอยู่ที่ 79.44% (ณ มีนาคม 2564) มีอัตราขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 35.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ดัชนีราคานี้ทำให้เห็นว่าราคาที่ดินโซนตะวันตก และโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ มีราคาเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสนี้ 4.แนว MRT ที่ดินตามแนว MRT ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว และ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต โดยทั้ง 2 โครงการ มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) 5.แนว BTS สายสุขุมวิท  ทำเลที่ดิน BTS สายสุขุมวิท ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 34.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)    
เปิดขายบ้าน-คอนโดใน “เดอะ ฟอเรสเทียส์”  MQDC เคาะราคาสูงสุด 250 ล้าน

เปิดขายบ้าน-คอนโดใน “เดอะ ฟอเรสเทียส์” MQDC เคาะราคาสูงสุด 250 ล้าน

MQDC พร้อมเปิดขาย 3 โครงการที่อยู่อาศัย ในเมกะโปรเจ็กต์ “เดอะฟอเรสเทียส์” วันที่ 8  พ.ค. นี้ ราคาตั้งแต่ 5.14-250 ล้าน  พร้อมจัดให้ชม  11 ห้องตัวอย่างจาก 3 แบรนด์ที่อยู่อาศัย ​   ในที่สุดโครงการเมกะโปรเจกต์เมกะโปรเจกต์ มูลค่า 125,000 ล้านบาท ของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) อย่างโครงการเดอะฟอเรสเทียส์ (THE FORESTIAS)​ ได้ฤกษ์เปิดการขายโครงการที่พักอาศัยต่าง ๆ ใ​นเดอะฟอเรสเทียส์ อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ด้วยราคาที่พักอาศัยตั้งแต่ห้องละ 5.14 ล้านบาท ไปจนถึง 250 ล้านบาท   โดยจะมีการจัดแสดงห้องตัวอย่าง 11 ห้อง จาก 3 โครงการที่พักอาศัยในเมกะโปรเจ็กต์ดังกล่าว ในอาคาร “ฟอเรสต์ พาวิลเลียน” อาคารศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ ขนาด 398 ไร่ นอกจากห้องตัวอย่างทั้ง 11 ห้อง ยังมีการจัดแสดงวิสัยทัศน์ตลอดจนแนวคิดสำคัญในการพัฒนาโครงการผ่าน Immersive Experience ล้ำสมัย ที่ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ experience ระดับโลก   นายกิตติพันธุ์ อุยยามะพันธุ์ ผู้อำนวยการโครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ โดย MQDC เปิดเผยว่า  MQDC ได้พัฒนา “เดอะ ฟอเรสเทียส์” ให้เป็นโครงการต้นแบบแห่งใหม่ของโลก ในการพัฒนาเมืองที่ทุกมิติได้รับการออกแบบอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อวัตถุประสงค์สำคัญคือการส่งเสริมให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดียิ่งขึ้น และมีความสุขมากขึ้น ด้วยแนวคิดการสร้างสรรค์ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมในเรื่องสุขภาพและความสุข ทั้งเรื่องของความปลอดภัย การได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ การผสานธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวัน การออกแบบจัดการคุณภาพอากาศ แสง และการเลือกใช้วัสดุต่าง ๆ ทั้งภายในที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมในโครงการ รวมไปถึงการจัดวางผังองค์ประกอบต่าง ๆ ในโครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ ได้รับการตอบรับอย่างดี และได้รับความสนใจและมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้คนเข้าใจและให้ความสำคัญกับการเลือกที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมที่จะส่งเสริมการใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดีอย่างแท้จริง สำหรับเดอะ ฟอเรสเทียส์ ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด กม. 7 ซึ่งเป็นประตูสู่ความเจริญภาคตะวันออก ประกอบด้วยโครงการที่พักอาศัยหลากหลายรูปแบบ พื้นที่เชิงธุรกิจสำหรับสำนักงาน สปอร์ตคอมเพล็กซ์ กิจกรรมไลฟ์สไตล์  ร้านค้าปลีก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม พื้นที่ Family Center สำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์ของครอบครัว และพื้นที่ Town Center สำหรับกิจกรรมชุมชนและกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ โรงละคร อีเว้นต์ฮอลล์ ตลาด   โครงการที่พักอาศัยใน เดอะ ฟอเรสเทียส์  ประกอบด้วย คอนโดมิเนียมแบรนด์วิสซ์ดอม  แบบ high-rise จำนวน 3 อาคารที่มุ่งตอบโจทย์คนวัยเริ่มต้นทำงาน วัยสร้างครอบครัว ครอบครัวใหม่ และคนรักสัตว์เลี้ยง โดยมีห้อง 7 แบบ ขนาดตั้งแต่ประมาณ 35 ไปจนถึง 205 ตารางเมตร คอนโดแบรนด์มัลเบอร์รี โกรฟ คอนโดมิเนียมแบบ low-rise ที่มุ่งตอบโจทย์ที่ไลฟ์สไตล์ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จำนวน 6 อาคาร โดยมีห้อง 16 แบบ ขนาดตั้งแต่ 63 ตารางเมตร ไปจนถึง 1,027 ตารางเมตร และที่อยู่อาศัยแบรนด์มัลเบอร์รี โกรฟ บ้านสไลต์คลัสเตอร์โฮม ที่มุ่งตอบโจทย์ครอบครัวใหญ่หลากหลายเจนเนเรชั่น จำนวน 37 หลัง 3 ขนาด ตั้งแต่ 4-6 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอยเริ่มต้นประมาณ 1,000 ตารางเมตร ถึง 1,600 ตารางเมตร   ที่อยู่อาศัยแบรนด์ดิ แอสเพน ทรี โครงการที่พักอาศัยพร้อมมอบบริการดูแลตลอดชีวิต สำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนการใช้ชีวิตในระยะยาว ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีทั้งแบบ Active Living Condominiums และ Sky Villa Residences เพรียบพร้อมทั้งที่พักอาศัย สิ่งอำนวยความสะดวก การบริการอย่างครบครัน และการดูแลด้านสุขภาพจากผู้เชี่ยวชาญอย่างครบวงจร ใน เดอะ ฟอเรสเทียส์ ยังมีป่าขนาดใหญ่พื้นที่ 30 ไร่ ที่เริ่มปลูกมาตั้งแต่เป็นเมล็ดและต้นกล้า ครอบคลุมพื้นที่ใจกลางของโครงการ นอกจากนั้น ยังมีทางเดินยกระดับความยาวกว่า 1.6 กิโลเมตร ซึ่งรวมทางเดินที่เชื่อมโยงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และทางเดินที่ทอดตัวอยู่เหนือผืนป่าซึ่งอยู่บริเวณใจกลางโครงการ มอบเป็นเส้นทางเดินเท้าท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยความเชื่อที่ว่า การได้อยู่ใกล้ชิดกับความมหัศจรรย์อันหลากหลายของธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ส่งมอบความสุขให้กับผู้คน   ทั้งนี้ MQDC กำหนดเปิดขายโครงการที่พักอาศัยต่างๆ ในเดอะ ฟอเรสเทียส์ อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป โดยผู้สนใจเข้าชมโครงการ สามารถนัดหมายล่วงหน้าเพื่อเข้าชมแบบส่วนตัว โดยลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ ที่ Call Center 1265 หรือ www.MQDC.com ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศของทางราชการในเรื่องการดำเนินการในสถานการณ์โควิด-19  
ธุรกิจค้าปลีกมีความเชื่อมั่นแค่ไหน ? ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ระรอก ใหม่

ธุรกิจค้าปลีกมีความเชื่อมั่นแค่ไหน ? ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ระรอก ใหม่

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนเมษายน  ลดลงกว่า 43% ยอดขายหดตัว 15-40 %  วอนรัฐเร่งช่วยเหลือ เยียวยา เสนอ 4  มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายอย่างต่อเนื่องโดยเร็ว   สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด นับว่ารุนแรงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละวันพุ่งสูงหลักพันคน แถมอัตราการเสียชีวิตก็มีมากกว่าทุกครั้ง หลายฝ่ายต่างมีความกังวลและเป็นห่วงว่าเหตุการณ์จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น หากแผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้า และวัคซีนมีไม่เพียงพอ รวมถึงอาจจะมีประสิทธิภาพไม่มากพอ   หนึ่งในธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก คือ ธุรกิจค้าปลีก​  เพราะต้องปรับเวลาเปิด-ปิดให้บริการเหลือจำนวนชั่วโมงน้อยลง ขณะที่ร้านอาหารต่าง ๆ ก็ต้องงดการให้บริการรูปแบบนั่งรับประทานในร้าน และให้ซื้อกลับไปบริโภคที่บ้านแทน เพื่อลดอัตราเสี่ยงของการแพร่เชื้อโรค ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลต่อยอดขายและรายได้ของผู้ประกอบการ ไม่เพียงแต่ผลการดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีกที่ลดลง แต่เรื่องของความเชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของธุรกิจค้าปลีกก็ลดลงด้วยเช่นกัน เห็นได้จากผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทย ในทุกภาคส่วนของ ทั้งค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้ทำการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทย ซึ่งได้ดำเนินเป็นประจำทุกเดือน ความเชื่อมั่นธุรกิจค้าปลีกลดหนัก โดยในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ดำเนินการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 16-24 เมษายน 2564 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วย ร้านค้าปลีกสินค้าทั่วประเทศ ซึ่งมีช่องทางจำหน่ายรวมกันกว่า 23,000 แห่ง และร้านค้าปลีกบริการภัตตาคารร้านอาหาร ที่มีช่องทางบริการกว่า 6,000 แห่ง โดยมี 8 ข้อสรุปสำคัญ  ดังนี้ 1.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก ลดลงกว่า 43% ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก  (Retail Sentiment Index) เดือนเมษายน ปรับลดลงกว่า 43% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมโดยดัชนีปรับลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อย่างชัดเจน ใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเดือนเมษายน 2563 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ลดลง หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3ในเดือนเมษายน กระจายเป็นวงกว้างกว่าที่ผ่านมา ประกอบกับกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้าเป็นปัจจัยที่เพิ่มความกังวลให้แก่ผู้ประกอบการ 2.อีก 3 เดือนข้างหน้าความเชื่อมั่น ยังลดต่ำ ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า เปรียบเทียบระหว่างดัชนีในเดือนมกราคม 2564 และดัชนีในเดือนเมษายน 2564 จะพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ในเดือนเมษายน 2564 ลดต่ำกว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ในเดือนมกราคม 2564 สะท้อนถึงความไม่มั่นใจถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้วยข้อกังวลถึงความรุนแรงของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ค่อนข้างสูง และความวิตกกังวลถึงความไม่ชัดเจนของแนวทางการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐนำเสนอ 3.ยอดขายสาขาเดิมลด 40% ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิมเดือนเมษายน same store sale growth (SSSG) เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม (Month on Month) มีทิศทางที่ลดลงกว่า 40% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม สะท้อนให้เห็นว่ายอดขายสาขาเดิมเดือนเมษายนลดลงจากเดือนมีนาคมเกือบครึ่ง ซึ่งเป็นการลดลงทั้งยอดซื้อต่อบิล (Spending per Bill or Basket Size)) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency of Shopping) 4.ยอดขายในภูมิภาคยังต่ำ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาคปรับลดลงจากเดือนเมษายนในทุกภาค สะท้อนถึงสภาวะความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่กระจายทุกภูมิภาค โดยเฉพาะดัชนีที่ลดลงชัดเจน กรุงเทพปริมณฑล และภาคใต้ ที่เป็น Super Spread หลัก 5.ร้านค้าปลีกความเชื่อมั่นลดต่ำ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ เมื่อจำแนกตามประเภทความร้านค้าปลีก เปรียบเทียบระหว่างเดือนเมษายนและเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ลดลงอย่างชัดเจนและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ในทุกประเภทร้านค้าปลีก ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนทรงตัวเท่าเดิม สะท้อนถึงผู้ประกอบการร้านค้าปลีกไม่มีความหวังและความมั่นใจในมาตรการภาครัฐที่จะฟื้นกำลังซื้อกลับมาได้เร็ว 6.คนไทยยังช้อปปิ้งวัสดุก่อสร้าง ยกเว้นร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่งและซ่อมบำรุง ที่ปรับลดต่ำกว่าเดือนมีนาคมเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่เหนือค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ทั้งนี้จากราคาเหล็กที่เป็นปัจจัยพื้นที่ในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นและช่วยให้ราคาวัสดุก่อสร้างอื่นปรับตัวขึ้นตาม ประกอบกับ ร้านค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง ยังคงได้รับแรงหนุนจากวิถี New Normal ทำงานที่บ้าน WFH ทำให้มีความนิยมในการปรับภูมิทัศน์ภายในที่อยู่อาศัย 7.ยอดขายเม.ย.หาย15-40% จากประเด็นคำถามพิเศษประจำเดือน ให้ผู้ประกอบการประเมินผลกระทบ ต่อยอดขายและกำลังซื้อ และผลกระทบต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ผลการสำรวจผู้ประกอบการที่บริหารร้านค้าปลีกกว่า 29,000 แห่ง พบว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณปรับตัวแย่กว่าเดือนมีนาคมมากกว่า 25% ผลจากผลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เดือนเมษายน และประเมินว่ายอดขายจะได้ผลกระทบมากกว่า 15-40% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 8.วอนรัฐเร่งมาตรการเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรง 50% ผู้ประกอบการยังมีความกังวล ถึงการจ้างงานที่จะลดลง จากยอดขายที่หดหายไป  ผู้ประกอบมีข้อเสนอให้ภาครัฐ ควรมีมาตรการเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% รวมถึงควรหาแหล่ง Soft Loan ที่เข้าถึงง่ายให้กับผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ   นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า โควิดระลอกใหม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว โควิดระลอกใหม่ เพียงแค่เขตการควบคุมพิเศษและเข้มงวดสีแดงเข้ม 6 จังหวัด จะกระทบถึง 22% ต่อ GPP รวมของประเทศ ซึ่งมีการจ้างงานภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว กว่า 3.12 ล้านคน สมาคมฯ วิตกถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายใกล้เคียงกับการ Lockdown เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ร้านค้าแม้ไม่ถูกปิดแต่ก็ไม่มีลูกค้า ภัตตาคาร ร้านอาหารไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้าน ธุรกิจที่ผ่านมาก็ได้ปิดกิจการเป็นจำนวนมาก การเลิกจ้าง การว่างงานมีมาอย่างต่อเนื่อง สต็อกสินค้าล้นเนื่องจากไม่มีการขาย ธุรกิจขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ยื่น 4 ข้อเสนอให้รัฐช่วยผู้ประกอบการ สมาคมฯใคร่ขอตอกย้ำและกระตุ้นภาครัฐ ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีก ศูนย์การค้า และร้านอาหาร ดังนี้ 1.สนับสนุนค่าจ้างพนักงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงานหรือเลิกจ้าง 2.สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่ของผู้ประกอบการค้าปลีกจะสามารถดำเนินธุรกิจได้เพียง 3-6 เดือน 3.ประกาศการจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน 4.เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว ครอบคลุม และทั่วถึง  
4 เทรนด์ที่อยู่อาศัยมาแรง ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย

4 เทรนด์ที่อยู่อาศัยมาแรง ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย

ในปี 2564 นี้ ถือว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) แล้ว เพราะข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ  ระบุว่า​ ประเทศไทยมีจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ ​(United Nations:UN) ที่ได้แบ่งระดับ​การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่   1.ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า  10% ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ   2.ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์   3.ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า  20% ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่  โดยประเทศไทยคาดว่าจะเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ ในปี ​2574   ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมผู้สูงอายุ ในไทยมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ คงเป็นเพราะปัจจุบันรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้อยู่ภายใต้บริบทและปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น หรือมีบุตรลดลง เปลี่ยนรูปแบบจากครอบครัวขยายในอดีตเป็นครอบครัวเดี่ยวอย่างชัดเจน   การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของสังคมผู้สูงอายุได้ทำให้เกิดโอกาสทางการตลาด  สำหรับการเจาะกลุ่มผู้บริโภคสูงวัย (Silver Age) เหล่านี้  ด้วยกำลังซื้อที่มีสูง  เพราะเป็นผลมาจากการบริหารจัดการรายได้ ตลอดชีวิตการทำงานผ่านการออมทรัพย์และลงทุนต่าง ๆ ประกอบกับแนวคิดการใช้ชีวิตที่มีความทันสมัย และรู้จักใช้เทคโนโลยีเป็นประจำ ไม่ลังเลที่จะใช้เงินเก็บมาซื้อความสุขและดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์ต่าง ๆ ไม่แพ้วัยรุ่นเช่นกัน จนทำให้หลายธุรกิจหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์เพื่อดึงดูดกำลังซื้อของคนสูงวัยมากขึ้น เทรนด์ที่อยู่อาศัยมาแรง ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย ไม่เพียงแต่สินค้าและบริการ ที่เป็นของใช้ในการดำรงชีวิต หรือสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปเท่านั้น สินค้าที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าสูง ซึ่งตลอดทั้งชีวิตอาจจะซื้อได้เพียง 1 ครั้ง หรืออย่างมากแค่ 2 ครั้งเท่านั้น สำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือแม้แต่ห้องชุดคอนโดมิเนียม ต่างก็มองว่า กลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ คือ กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดสำคัญที่คือโอกาสทางการตลาด สร้างรายได้และเม็ดเงินมหาศาล จึงหันมาจับตลาดกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ ด้วยการพัฒนารูปแบบของบ้าน หรือห้อง รวมถึงโครงการ ที่ให้การใช้ชีวิตและการอยู่อาศัยภายในบ้านของผู้สูงอายุ พักอาศัยได้อย่างมีความสุข สุขภาพดี และปลอดภัย โดยข้อมูลจากดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้รายงานถึงเทรนด์ที่อยู่อาศัยที่น่าสนใจ และเป็นที่น่าจับตามองสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการคนวัยนี้ ที่ไม่ได้มองหาบ้านเพื่ออยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรองรับการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างครบครัน ว่ามี 4 เทรนด์สำคัญ 1.เทรนด์สุขภาพมาแรง สุขภาพกายที่ดีต้องมาพร้อมความสบายใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เห็นคุณค่าของการมีสุขภาพดีมาเป็นอันดับต้น ๆ แน่นอนว่านอกจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการออกกำลังกายจะเป็นปัจจัยสำคัญแล้ว ที่อยู่อาศัยก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่มีบทบาทในการสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีให้ผู้สูงอายุเช่นกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาอยู่ด้วยในแต่ละวันมากที่สุด   ดังนั้นการเลือกโครงการฯ ที่มีการออกแบบภายใต้แนวคิด สร้างสรรค์สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้ผู้อยู่อาศัย (Health & wellness residence) คำนึงถึงการใช้งานจริง ทั้งการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในให้รองรับผู้สูงอายุที่ต้องการเดินออกกำลังกายภายในบริเวณบ้านของตน มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับออกกำลังกายและพื้นที่สีเขียวที่มอบความร่มรื่นพร้อมรองรับการทำกิจกรรมด้านสุขภาพอื่น ๆ ในชุมชน   นอกจากนี้ปัจจุบันผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้หันมาร่วมมือกับโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสุขภาพเพื่อเพิ่มบริการดูแลสุขภาพหรือบริการทางการแพทย์ไว้ในโครงการฯ ด้วย เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์การสร้างสรรค์สุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีได้อย่างน่าสนใจ และเป็นตัวเลือกที่ควรพิจารณาสำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ 2.Home Solutions เพื่อการอยู่อาศัยที่สะดวก-ปลอดภัย แนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการฯ หันมาให้ความสนใจและพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น มีโครงการฯ ที่ออกแบบให้เป็นบ้านสำหรับผู้สูงอายุด้วยความเข้าใจที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบห้องนอนผู้สูงอายุให้มีความเป็นส่วนตัวและอากาศถ่ายเทสะดวก หรือนำนวัตกรรม Home Solutions ต่าง ๆ มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในบ้านได้ราบรื่น และช่วยป้องกันอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน เช่น ปูพื้นด้วยวัสดุลดแรงกระแทก (Shock Absorption Floor) เพื่อช่วยลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุหกล้ม   การออกแบบราวจับในห้องน้ำ ราวบันไดทั้งสองข้าง หรือพื้นต่างระดับในบ้านเพื่อทรงตัวและเดินได้มั่นคงขึ้น ทำทางลาดสำหรับรถเข็นในการเข้าสู่ตัวบ้าน หรือออกแบบให้ประตูห้องน้ำเปิดออกมาด้านนอก ในกรณีที่มีคนล้มขวางประตูด้านใน ซึ่งรายละเอียดในการออกแบบที่มีพื้นฐานเพื่อตอบโจทย์ผู้อาศัยอย่างแท้จริงนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างมั่นใจและสบายใจมากขึ้นแล้ว แน่นอนว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวก็จะสามารถใช้ชีวิตในบ้านนี้อย่างปลอดภัยเช่นกัน 3.ระบบบ้านอัจฉริยะ ปลอดภัยด้วยเทคโนโลยี นอกจากเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคนยุคนี้ในหลากหลายด้านแล้ว ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยอีกด้วย เห็นได้จากการเติบโตของเทรนด์บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยสามารถควบคุมการทำงานระบบต่าง ๆ ของบ้านผ่านการสั่งงานด้วยเสียงหรือจากแอปพลิเคชั่น ซึ่งยกระดับความปลอดภัยให้ที่อยู่อาศัย เช่น กลอนประตูดิจิทัล (Digital Door Lock) หรือการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่รองรับการรับชมภาพออนไลน์และดูย้อนหลังได้ผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยให้ผู้สูงอายุที่ห่วงใยในทรัพย์สินและติดบ้านคลายความกังวลเมื่อต้องห่างจากบ้านได้   นอกจากนี้ระบบบ้านอัจฉริยะยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักมีอาการหลงลืมก็สามารถเลือกควบคุมการเปิด-ปิดไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน/คอนโดฯ ผ่านสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา แม้ทำธุระอยู่ข้างนอกก็สามารถกดเช็กดูระบบไฟเพื่อความชัวร์ได้ทันที 4.เป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย ต่อยอดการลงทุนได้ในอนาคต ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุไม่ได้เน้นไปที่การอยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไม่ใช่การมีบ้านหลังแรก แต่มีการวางแผนระยะยาวด้วยการมองหาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของครอบครัว พร้อมทั้งมีศักยภาพที่ต่อยอดไปสู่การลงทุนได้ในอนาคต เนื่องจากที่อยู่อาศัยถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีความต้องการในตลาดไม่น้อย ข้อมูลจากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study เผยว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผู้สูงอายุในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจากบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นจะสนใจที่ชื่อเสียงของบริษัทมาเป็นอันดับแรก 58% ตามมาด้วยผลงานของผู้พัฒนาฯ ในโครงการที่ผ่านมา 56% และคุณภาพของงานตกแต่งภายในที่ผู้พัฒนาฯ มอบให้ 55% ซึ่งชื่อเสียงที่ดีของผู้พัฒนาฯ ย่อมส่งผลด้านบวกที่ช่วยให้การประกาศขาย/เช่าในอนาคตง่ายขึ้น ต่างจากกรณีของผู้บริโภคที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเป็นหลักจึงพิจารณาจากคุณภาพของงานตกแต่งภายในที่ได้จากผู้พัฒนาฯ มาเป็นอันดับแรก (68%) อย่างไรก็ดี แม้ไม่ใช่เพื่อการขาย ผู้สูงอายุก็ยังมีทางเลือกในการปล่อยเช่าบ้าน/คอนโดฯ เพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องแทน   ปัจจุบันเทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุแพร่หลายมากขึ้น ทั้งการเปิดตัวโครงการอสังหาฯ ที่เจาะกลุ่มนี้โดยเฉพาะ หรือการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ให้เลือกนำไปปรับใช้กับบ้านเดิมที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ธนาคารได้มีการนำเสนอ “Reverse mortgage หรือสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นของตนเองแต่ไม่ต้องการขายบ้านทันที เพราะยังต้องใช้อยู่อาศัยและต้องการมีรายได้รายเดือนเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน   หลักการทำงานจะมีรูปแบบเหมือนการทยอยขายบ้านให้กับธนาคาร ซึ่งธนาคารจะตีมูลค่าบ้านพร้อมกับประเมินอายุเฉลี่ยของผู้กู้แล้วจะทยอยจ่ายเงินค่าบ้านให้เป็นรายเดือน โดยผู้กู้ก็ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังนั้นและยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้จนกระทั่งผู้กู้นั้นเสียชีวิตหรือตัดสินใจขายบ้านไปก่อน ซึ่งหลังครบกำหนดตามสัญญา บ้านก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ตอบโจทย์ความต้องการมีบ้านของผู้สูงอายุพร้อมทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี 5 เหตุผลผู้สูงอายุ ซื้อบ้านใหม่ ผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อจำนวนมาก ต้องการมีชีวิตในช่วงเวลาที่เหลืออย่างมีคุณภาพ จึงเลือกที่หาสิ่งที่ดีและทำให้ชีวิตตนเองมีความสุข ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีภาระจากบุตรหลาน หรือเพื่อต้องการให้รางวัลกับชีวิตของตนเอง หลังจากใช้เวลาทำงานและสะสมรายได้จนมีกำลังจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับความเจริญของเมืองที่มีมากขึ้น ระบบการคมนาคมขนส่ง ซึ่งถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเกิดขึ้นของระบบรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ล้วนเป็นปัจจัยทำให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุง่ายมากขึ้น และสะดวกสบายมากกว่าในอดีต การเลือกซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือการเปลี่ยนบ้านหลังใหม่ในช่วงวัยผู้สูงอายุ จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ยิ่งปัจจุบันสถาบันการเงินบางแห่งมีแคมเปญการปล่อยกู้สำหรับผู้สูงอายุ ยิ่งทำให้การซื้อบ้านในวัยหลังเกษียณเป็นเรื่องง่าย   อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อบ้านหลังใหม่ ของผู้บริโภคชาวไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คงเกิดจากหลายเหตุผลและหลายปัจจัย  ซึ่งข้อมูลจากผลสำรวจพบว่ามี 5 เหตุผลที่ผู้สูงอายุให้ความสำคัญและใช้เป็นเกณฑ์ในการติดสินใจเลือกซื้อที่อยู่ใหม่ ได้แก่   1.ความต้องการพื้นที่ส่วนตัว สัดส่วนมากถึง 44% 2.ความต้องการไปอยู่อาศัยในทำเล หรือบรรยากาศใหม่ 31% 3.ต้องการความสะดวกที่มากขึ้น เช่น อยู่ใกล้โรงพยาบาล ที่ทำงาน โรงเรียน ฯลฯ  26% 4.ซื้อเพื่อลงทุน 26% เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีประสบการณ์และวางแผนการเงินและการใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ จึงให้ความสำคัญในเรื่องการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนระยะยาวมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ 5.เป็นการซื้อบ้านเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับสมาชิกในครอบครัว 15% นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการใช้พิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย คือ การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ และความปลอดภัยของทำเล โดยมีสัดส่วนที่เท่ากันอยู่ที่ 53% ตามมาด้วยทำเลที่ตั้ง 49% และโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรอบทำเลที่ 49% เท่ากัน   เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเน้นมองหาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น โดยไม่ละเลยความปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันตามไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างและการอยู่อาศัยได้อย่างสบายใจด้วยตนเอง ไม่เป็นภาระผู้อื่น   หลายคนอาจมีภาพจำว่าคนสูงวัยไม่คุ้นเคยกับการท่องโลกออนไลน์เท่าวัยอื่นในยุคดิจิทัล แต่ที่จริงแล้วผู้สูงอายุเรียนรู้ในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เห็นได้ชัดเจนจากพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจเรื่องซื้อที่อยู่อาศัย โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางยอดนิยมในการค้นหาข้อมูลในประชากรกลุุ่มนี้ถึง 62% ตามมาด้วยเว็บไซต์ของโครงการ 56% และเว็บพอร์ทัลด้านอสังหาฯ 47% เนื่องจากเป็นช่องทางที่สะดวก ช่วยให้ค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็วและหลากหลายมากพอที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาภายใต้การใช้วิจารณญาณและกรอบประสบการณ์ที่มี โดยมีเพียง 16% เท่านั้นที่จะเลือกปรึกษาและหาข้อมูลเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง และครอบครัว
แกรนด์ แอสเสท  อ้อนรัฐเร่งรัดฉีดวัคซีน ห่วงเศรษฐกิจพังลายแสนล้าน​

แกรนด์ แอสเสท อ้อนรัฐเร่งรัดฉีดวัคซีน ห่วงเศรษฐกิจพังลายแสนล้าน​

“แกรนด์ แอสเสท” วอนให้รัฐบาลเร่งรัดจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูง ราคาไม่แพงให้เพียงพอ พร้อมจัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร่งด่วน ห่วงความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างชาติ และเศรษฐกิจเสียหายหลายแสนล้านบาท   นายวิทวัส วิภากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อยากให้รัฐาลเร่งจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูง ราคาไม่แพงมาให้บริการอย่างเพียงพอ และบริหารจัดการฉีดวัคซีนโดยเร่งด่วน เพราะการฉีดวัคซีนที่เพียงพอและรวดเร็วเท่านั้นที่จะลดจำนวนและควบคุมการแพร่ระบาดได้ นอกจากนี้ ยังมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย  เพราะล่าสุด มีความกังวลมากขึ้น จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นทะลุหลักพันรายต่อวัน  เป็นระยะเวลาต่อเนื่องเกินครึ่งเดือนแล้ว สถานการณ์ของภาคธุรกิจในขณะนี้ คงต้องฝากความหวังไว้กับความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งธุรกิจโรงแรมของบริษัท ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลังสำหรับบริษัทมีการร่วมทุนกับนักธุรกิจต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ซึ่งต้องการขยายการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทย แต่ยังคงมองถึงความพร้อมในการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ให้ได้ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นสำคัญ แต่ปัจจุบันยังมีความล่าช้าและมีจำนวนไม่เพียงพอ โดยขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดหาวัคซีนครอบคลุมเพียง 45% ของจำนวนประชากรเท่านั้น  ​หากภาครัฐมีการฉีดวัคซีนล่าช้า จะส่งผลอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายหลายแสนล้านบาท รัฐบาลจึงควรมีการบริหารจัดการให้ดีขึ้น เร่งรัดการจัดซื้อและอนุญาตนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงราคาไม่แพงให้เพียงพอ รวมทั้งเร่งรัดระยะเวลาในการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นด้วย นายวิทวัส กล่าวอีกว่า ​ภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่องกับการจ้างงานสูงถึงกว่า 4  ล้านคน โดยการว่างงานจะเป็นปัญหาระยะยาวต่อเศรษฐกิจของประเทศ การฉีดวัคซีนได้มากและเร็ว จะช่วยให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วขึ้น มีตัวอย่าง เช่น ประเทศอิสราเอล ที่ควบคุมการแพร่ระบาดดีขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้เกือบ 100% ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน  ทำให้ผู้ป่วยใหม่ลดลงรวดเร็ว และสามารถยกเลิกสวมหน้ากากอนามัยได้   ขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค สามารถเดินทางระหว่างกันแบบไม่ต้องกักตัวในรูปแบบ ทราเวล บับเบิลได้แล้ว และพบว่ามีการจองเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงฮ่องกงและสิงคโปร์  ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างกันในเดือนพฤษภาคมนี้  ซึ่งประเทศไทยควรเร่งดำเนินการในเรื่องวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจ และทำให้สามารถเปิดเดินทางระหว่างประเทศได้เช่นกัน   ส่วนความคืบหน้าของธุรกิจผลิตและส่งออกถุงมือยาง ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานผลิตแรก ซึ่งคืบหน้าไปอย่างมาก และมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ตามแผนที่วางไว้  โดยบริษัทยังมีออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง​​ จึงถือว่าเป็นการปรับตัวทางธุรกิจ เพื่อรับกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้บริษัทมากขึ้น
แสนสิริ ปรับเป้าเพิ่มยอดขาย-โอน 31,000 ล้าน พร้อมเปิดขายคอนโดใหม่ “เดอะมูฟ”

แสนสิริ ปรับเป้าเพิ่มยอดขาย-โอน 31,000 ล้าน พร้อมเปิดขายคอนโดใหม่ “เดอะมูฟ”

แสนสิริ ประกาศปรับเป้ายอดโอน-ยอดขาย เพิ่มเป็น 31,000 ล้าน หลัง 4 เดือนแรก ทำยอดขาย​-ยอดโอนได้เป็นที่น่พอใจ เตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดแบรนด์เดอะมูฟ ใน 4 ทำเล จับตลาดคนรุ่นใหม่นักศึกษา- First Jobber   นายอุทัย  อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า ได้ปรับเป้าหมารับเป้ายอดขายและยอดโอนปี 64 จากเป้ายอดขายเดิม 26,000 ล้านบาท เป็น 31,000 ล้านบาท และเป้ายอดโอนจาก 27,000 ล้านบาท เป็น 31,000 ล้านบาท หลังจากการดำเนินธุรกิจในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมา เห็นสัญญาณ​ถึงดีมานต์ที่อยู่อาศัยที่ตลาดต้องการและทิศทางตลาดอสังหาฯ ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยในราคาเข้าถึงได้ ทั้งในช่วงโควิดและหลังตลาดฟื้นตัว   โดยล่าสุด แสนสิริมียอดขาย​ 12,500 ล้านบาท และมียอดโอนอยู่ที่ 8,100 ล้านบาท ถือว่าทำผลงานในระดับที่ดี ใน 4 เดือนแรกของปี ภายใต้การดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง ในสภาวะตลาดที่ยังผันผวนสูง ในสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด จากการมองตลาดเร็วและพร้อมปรับตัวเร็วรองรับทุกสถานการณ์  แสนสิริจึงพร้อม Speed to Market ด้วยการปรับเป้าหมายยอดขายและยอดโอนรองรับการกลับมาของตลาด ก่อนเปิดประเทศและเศรษฐกิจฟื้น สำหรับในไตรมาส 2 แสนสิริ มีแผนการเปิดตัว 7 โครงการใหม่ รวมมูลค่า  4,300 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเล็งปรับแผนเปิดตัวคอนโดมิเนียมในปีนี้ หลังมองเห็นตลาดที่มีศักยภาพ ในกลุ่มคอนโดพร้อมอยู่ ตอบโจทย์ New Normal ในราคาที่ต้องเข้าถึงได้ในทำเลที่ดี จึงวางแผนเปิดการขายโครงการคอนโด แบรนด์ The Muve (เดอะ มูฟ)  ใน 4 ทำเลย่าน “เกษตร-รัชดา-ราม-บางนา” ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และมิถุนายนของปีนี้ ซึ่งเป็นคอนโดราคาเริ่มต้นที่ 1.29 ล้านบาท เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ทั้งกลุ่มนักศึกษาและ First Jobber ที่มีการวางแผนชีวิตเพื่อพุ่งไปสู่เป้าหมายและไลฟ์สไตล์ที่ไม่หยุดนิ่ง   สำหรับกลยุทธ์การตลาดในช่วงโควิด ทุกโครงการของแสนสิริ ยังพร้อมเปิดให้ลูกค้าเข้าเยี่ยมชมโครงการในรูปแบบ Private Tour ซึ่งมีความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวสูง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยสูงสุดในช่วงโควิด เพียงลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ก่อนเข้าเยี่ยมชมโครงการแบบ Appointment Only เพื่อความมั่นใจของลูกค้าที่จะเข้าเยี่ยมชมโครงการ และเป็นเจ้าของบ้านแสนสิริได้ง่าย  ด้วยการซื้อขายครบทุกช่องทาง ตั้งแต่เลือกซื้อไปจนถึงจอง ด้วย Sansiri Multi-Channel เลือกซื้อและเยี่ยมชมโครงการด้วย Sansiri Virtual Sales Gallery เยี่ยมชมโครงการเสมือนจริงบน www.sansiri.com, แสนสิริ ไลน์ ออฟฟิเชียล นอกจากนี้ แสนสิริใช้กลยุทธ์ ​ Cash flow Strategy จากการบริหารจัดการสต็อคที่อยู่อาศัยที่ดี ทำให้บริษัทมีสต็อกบ้านเดี่ยวเพียงพออีกประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งหากสถานการณ์กลับมาฟื้นตัว แสนสิริจะมีที่อยู่อาศัยพร้อมรองรับความต้องการจากลูกค้าได้มากที่สุด แสนสิริยังมียอดขายรอโอน (รวมโครงการร่วมทุน) รองรับการเติบโตระยะยาวในอีก 3 ปี อีกถึง 31,380 ล้านบาท พร้อมสภาพคล่องในมือีกกว่า 15,000 ล้านบาท  สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงิน แสนสิริมองแง่บวกถึงทิศทางข้างหน้า และต้องปรับตัวให้เร็ว รองรับความต้องการลูกค้าและการกลับมาของตลาด ก่อนเปิดประเทศและเศรษฐกิจเริ่มฟื้น เพื่อพร้อมวิ่งก่อนใคร  
การเคหะฯ ออก 3 มาตรการช่วยลูกค้าเก่า-ใหม่  จัดโปรฯ ลดดอกเบี้ย-ค่างวด ปรับโครงสร้างหนี้

การเคหะฯ ออก 3 มาตรการช่วยลูกค้าเก่า-ใหม่ จัดโปรฯ ลดดอกเบี้ย-ค่างวด ปรับโครงสร้างหนี้

การเคหะแห่งชาติ ออก 3 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าเช่าซื้อปัจจุบันและลูกค้าใหม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 พร้อมจัดโปรฯ กระตุ้นยอดขาย ทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน   นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid - 19) ในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายครอบครัวได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและประสบปัญหารายรับไม่พอกับรายจ่าย โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีความห่วงใยประชาชนท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว จึงมอบหมายให้การเคหะแห่งชาติหาแนวทางลดภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าเช่าซื้อปัจจุบันและลูกค้าใหม่ของการเคหะแห่งชาติ ด้วยการจัด 3 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าเช่าซื้อปัจจุบัน 3 มาตรการช่วยลูกค้า สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเช่าซื้อปัจจุบัน มี 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการที่ 1​ ลดอัตราดอกเบี้ย การเคหะฯ​ ลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าเช่าซื้อและขยายระยะเวลาผ่อนชำระ มีหลักเกณฑ์เงื่อนไข ดังนี้ 1.ลูกค้าสัญญาเช่าซื้อที่ไม่มีหนี้ค้างชำระ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อคงเหลือ 6.50% ทุกประเภทสัญญา (สัญญาเช่าซื้อ ประนอมหนี้ ที่ดินส่วนเกินฯ) กรณีสัญญาแนบที่มีอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 6.50% ใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม 2.ขยายระยะเวลาสัญญาเช่าซื้อรวมที่ผ่อนมาแล้วเป็นไม่เกิน 30 ปี เมื่อรวมกับอายุผู้เช่าซื้อไม่เกิน 70 ปี กรณีอายุเกิน 70 ปี ให้ใช้ระยะเวลาตามสัญญาเดิม ลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนชำระสั้นกว่าเกณฑ์ที่กำหนดได้ มาตรการที่ 2 ปรับโครงสร้างหนี้ การเคหะฯ ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าเช่าซื้อ ที่มีหนี้ค้างชำระทุกอัตราดอกเบี้ย มีหลักเกณฑ์เงื่อนไข ดังนี้ 1.ลูกค้าที่มีหนี้ค้างชำระที่การเคหะแห่งชาติได้บอกเลิกสัญญาแล้วหรือยังไม่บอกเลิกสัญญา 2.ปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อคงเหลือ  6.50% ทุกประเภทสัญญา (สัญญาเช่าซื้อ ประนอมหนี้ ที่ดินส่วนเกินฯ) กรณีสัญญามีอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 6.50% ใช้อัตราดอกเบี้ยเดิม 3.ขยายระยะเวลาสัญญารวมที่ผ่อนมาแล้วเป็นไม่เกิน 30 ปี เมื่อรวมกับอายุผู้เช่าซื้อไม่เกิน 70 ปี กรณีอายุเกิน 70 ปี ให้ใช้ระยะเวลาตามสัญญาเดิม ลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนชำระสั้นกว่าเกณฑ์ที่กำหนดได้ มาตรการที่ 3  ให้ส่วนลดค่างวดเช่าซื้อ การเคหะฯ ได้ให้ส่วนลดค่างวดเช่าซื้อ จำนวน 1,000 บาท โดยมีหลักเกณฑ์เงื่อนไข ได้แก่ ให้ส่วนลดลูกค้าเช่าซื้อที่มีอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 6.50% และเป็นลูกค้าเช่าซื้อที่ทำสัญญาเช่าซื้อก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และต้องชำระค่าเช่าซื้อให้เป็นปัจจุบันโดยไม่มีหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 โดยจะได้รับส่วนลดค่าเช่าซื้อจำนวน 1,000 บาท เพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ การเคหะฯ​​ จะให้ส่วนลดโดยอัตโนมัติในเดือนกรกฎาคม 2564 กรณีค่างวดเช่าซื้อต่ำกว่า 1,000 บาท ให้ส่วนลดเท่ากับค่างวดเดือนกรกฎาคม 2564 สำหรับวิธีการขอรับสิทธิตามมาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกค้าเช่าซื้อปัจจุบัน  เพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามนโยบายของรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) การเคหะฯ ​จึงจัดให้มีการลงทะเบียนนัดหมาย วันทำสัญญาเช่าซื้อผ่าน Website ของการเคหะฯ ​ www.nha.co.th หรือลงทะเบียนผ่าน Application บน Smart Phone   ทั้งนี้ลูกค้าที่ไม่มี Smart Phone สามารถติดต่อ Call Center 1615 หรือสำนักงานเคหะนครหลวง หรือสำนักงานเคหะจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ทำการลงทะเบียนนัดหมายแทน สำหรับระยะเวลาลงทะเบียนเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 30 พฤศจิกายน 2564  โดยการเคหะฯ จะส่งข้อความ (SMS) แจ้งผลให้ลูกค้าทราบผลการลงทะเบียนนัดหมาย และจะเรียกมาทำสัญญาเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม - 30 ธันวาคม 2564 วันจันทร์ - วันเสาร์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะนัดหมายทำสัญญา รอบเช้าตั้งแต่เวลา 09.00 - 12.00 น. จำนวน 10 ราย และรอบบ่าย เวลา 13.00 - 16.00 น. จำนวน 10 ราย ต่อสำนักงานเคหะนครหลวง สำนักงานเคหะจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ จัด 3 โปรโมชั่น ลูกค้าใหม่ ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าใหม่ การเคหะฯ ​ได้กําหนดโปรโมชัน 3 รูปแบบ โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2564 ได้แก่ 1.โปรโมชันดอกเบี้ยเช่าซื้อ 0 % ในปีที่ 1สําหรับลูกค้าที่สถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ วางเงินจองเริ่มต้น 99 บาท เฉพาะโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้แล้วเสร็จ พร้อมส่งมอบภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 2.โปรโมชัน  ลดราคา (Shock Price) เฉพาะโครงการบ้านเอื้ออาทร 56 โครงการ ให้ส่วนลดพิเศษประมาณ  5 - 20% ของราคาขายเงินสดเดิม ราคาเริ่มต้น 250,000 - 520,000 บาท จองเพียง 99 บาท 3.โปรโมชันบ้านเช่าราคาพิเศษ สำหรับโครงการบ้านเอื้ออาทรและเคหะชุมชน จำนวน 84 โครงการ โดยมีอัตราค่าเช่าในปีแรก ดังนี้ -บ้านพร้อมที่ดินอัตราค่าเช่า 1,200 บาท/เดือน -ห้องชุดขนาด 30 - 40 ตารางเมตร ชั้น 1-2 อัตราค่าเช่า 1,200 บาท/เดือน ส่วน ชั้น 3 - 5 อัตราค่าเช่า 999 บาท/เดือน -ห้องชุดขนาด 24 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 599 บาท/เดือน   โดยการเคหะฯ ​เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมิเตอร์ น้ำ - ไฟ และค่าส่วนกลางในปีแรก ทั้งลูกค้าเช่าซื้อปัจจุบันและลูกค้าใหม่สามารถสอบถามรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวได้ที่ Call Center 1615 หรือสำนักงานเคหะนครหลวง สำนักงานเคหะจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ
ASW เทรดวันแรกเปิดราคาพุ่งเหนือจอง 20.16%  วางเป้ามาร์เก็ตแคปติดท็อป 10 กลุ่มอสังหาฯ

ASW เทรดวันแรกเปิดราคาพุ่งเหนือจอง 20.16% วางเป้ามาร์เก็ตแคปติดท็อป 10 กลุ่มอสังหาฯ

หุ้น ASW ของ​แอสเซทไวส์ เทรดวันแรก เปิดราคา 11.80 บาท บวกเพิ่มขึ้น 20.16% เทียบราคาไอพีโอ 9.82 บาท/หุ้น บิ๊กบอส "กรมเชษฐ์” พร้อมเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ตามแผนปีละ 5-7 โครงการ ปั้นผลงานเติบโตต่อเนื่องปีละกว่า 20% หนุนผลงานสร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง หวังติดท็อป 10 มาร์เก็ตแคปติดของกลุ่มอสังหาฯ   นายกรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์  จำกัด (มหาชน) (ASW) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (วันที่ 28 เมษายน 2564 ) หุ้น ASW ของบริษัทได้ทำการเปิดการซื้อขาย​ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรก ปรากฏว่าสามารถเปิดตลาดยืนเหนือราคาจองซื้อที่ราคา 11.80 บาท เพิ่มขึ้น หรือ 20.16 % เทียบราคาไอพีโอ 9.82 บาท/หุ้น  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัทฯ ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างแข็งแกร่ง มีอัตราการทำกำไรขั้นต้น (ย้อนหลัง 3 ปี ) อยู่ในระดับสูง 30.7- 44.2%  จากควบคุมต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การบริหารงานของทีมงานที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 16 ปี ทำให้มีความเข้าใจในตลาดและออกโปรดักส์ได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในทุกเซกเมนต์   โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทเตรียมนำไปใช้สำหรับพัฒนาโครงการระหว่างปี 2564-2567 รวมไปถึงคืนเงินกู้สถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ บริษัทมีโครงการในอนาคตพร้อมพัฒนาและขายใน 4-5 ปีข้างหน้าจำนวน 11 โครงการมูลค่า 21,202 ล้านบาท โดยในปีนี้มีแผนเปิดตัว 6 โครงการมูลค่า 10,850 ล้านบาท ซึ่งแต่ละปีวางแผนจะเปิดโครงการใหม่ประมาณ 5-7 โครงการ ในทำเลกรุงเทพฯ เป็นหลัก สำหรับแนวโน้มการเติบโต บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา บริษัทสามารถดำเนินงานเติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 20% จึงวางเป้าหมายการเติบโตในอนาคตไม่ต่ำกว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ด้วยกลยุทธ์การดำเนินงานเน้นใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การบริหารงานที่มีความยืดหยุ่น (Dynamic) 2.การมีแบรนด์สินค้าหลากหลาย จับกลุ่มเป้หมายหลายกลุ่ม และหลายระดับราคา และ 3.การกระจายทำเลไปยังหลายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เช่น จังหวัดชลบุรี รวมถึงการพัฒนาสินค้าหลายรูปแบบ ทั้งโครงการคอนโดไฮไลส์ คอนโดโรว์ไรส์  และโครงการแนวราบ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงอย่างหนึ่ง   โดยปัจจุบันบริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) 5,302 ล้านบาท และปีนี้จะมีโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จอีกกว่า 6,000 ล้านบาท ปัจจุบันยังมีโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและเปิดการขายรวม 8 โครงการ มูลค่า 11,377 ล้านบาท และโครงการในอนาคตอีก 11 โครงการ มูลค่า 21,202 ล้านบาท   อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน บริษัทได้หันมาทำการตลาดและการขาย  ด้วยการเน้นช่องทางออนไลน์ ซึ่งได้ปรับตัวมาตั้งแต่การแพร่ระบาดในรอบแรก ซึ่งแนวทางการทำตลาดและการขายในปีนี้ บริษัทเน้นการจัดทำโปรโมชั่น และรายการส่งเสริมการขาย ทั้งในส่วนของแพ็กเกจห้องพักตกแต่งพร้อมเข้าอยู่ การได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ รวมถึงการพัฒนาโครงการในระดับราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ยังมีความต้องการ นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคโควิด-19 ด้วย ​ นายกรมเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันคาดหวังให้รัฐบาล มีมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การขยายฐานกลุ่มราคาที่อยู่อาศัยในระดับราคา 5-10 ล้านบาท จากปัจจุบันที่อยู่อาศัยที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐ คือ ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และ 2.อยากให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเงินสนับสนุนการพัฒนาโครงการ สำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก โดยผ่านสถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเล็ก มีความสามารถทางด้านการแข่งขัน และพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับกลไกลตลาดอสังหาฯ ได้เพิ่มมากขึ้น   ในอนาคต ASW มีเป้าหมายสู่การเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคป ติดอันดับ 1 ใน 10 ของหุ้นกลุ่มอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้านนางศิริพร เหล่ารัตนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ  บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินกล่าวว่า การเข้าเทรดในวันแรกได้รับการตอบรับอย่างคึกคัก ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพื้นฐานที่มีความแข็งแกร่งของบริษัทฯ และการกำหนดราคาขายหุ้นไอพีโอที่มีความเหมาะสม ซึ่งในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน มีความภูมิใจอย่างยิ่ง และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของบริษัทฯ ที่จะสามารถนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนในครั้งนี้ไปต่อยอดธุรกิจ สร้างความแข็งแกร่งพร้อมทั้งผลักดันการเติบโตให้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ รวมทั้งเชื่อว่า ASW จะเป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจ และจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้ในอนาคต
“เซ็นทรัลพัฒนา” เสนอตัว ใช้ 23 ศูนย์การค้าเป็นพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 

“เซ็นทรัลพัฒนา” เสนอตัว ใช้ 23 ศูนย์การค้าเป็นพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 

เซ็นทรัลพรัฒา เสนอตัวใช้ 23 ศูนย์การค้าทั่วประเทศ เป็นพื้นที่จัดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19  หลังใช้​ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ระยอง เป็นต้นแบบการฉีดวัคซีนก่อนหน้า  พร้อม 3 แนวทางโรดแมปกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อ​   นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN) เปิดเผยว่า ได้เสนอให้ใช้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเป็นพื้นที่สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เนื่องจากซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ บริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรการสะอาดปลอดภัย ไม่แออัด สะดวก และกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเห็นว่า​การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้กลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนในการหาแนวทางเพื่อจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานของบริษัทและร้านค้า ที่ต้องให้บริการใกล้ชิดกับลูกค้าอย่างเร่งด่วน และสนับสนุนโครงการจัดหาวัคซีนของภาคเอกชน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยไปสู่จุดที่เกิด ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) สร้างสุขอนามัยและความแข็งแรงให้กับประชาชนทั่วประเทศต่อไปโดยเร็วที่สุด”   นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  กล่าวว่า บริษัทฯ จึงได้วางแผนโรดแมปในการช่วยลดภาระภาครัฐในด้านสุขภาพของคนไทย พร้อมช่วยเหลือธุรกิจต่าง ๆ และฟื้นฟูความเชื่อมั่น เดินหน้าเศรษฐกิจของประเทศต่อไปเพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.แนวทางเร่งด่วนเพื่อรอดพ้นในระยะยาว สนับสนุนพื้นที่ศูนย์การค้าเพื่อเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตปกติ และฟื้นเศรษฐกิจในระยะยาวได้ 1.1ใช้เซ็นทรัล 23 สาขา เป็นพื้นที่ฉีดวัคซีน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลได้มีการศึกษาและมีความพร้อมเต็มที่ในการเสนอให้ใช้พื้นที่ศูนย์การค้าของเรารวม 23 สาขา (จาก 33 สาขาทั่วประเทศ) ที่มีศักยภาพในการให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ เพื่ออำนวยความสะดวกและเร่งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทุกภูมิภาคอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเรามีต้นแบบการใช้ศูนย์การค้าเป็นพื้นที่ฉีดวัคซีนเป็นแห่งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 ที่ เซ็นทรัล ระยอง โดยร่วมกับโรงพยาบาลระยอง ได้รับผลตอบรับที่ดีและมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ 1.2มีแผนในการสนับสนุนการฉีดวัคซีน ให้กับพนักงานบริษัทและร้านค้าในศูนย์การค้าอย่างเร่งด่วน โดยเราได้นำร่องฉีดวัคซีนให้พนักงานที่ให้บริการลูกค้าของเซ็นทรัล ภูเก็ต ไปแล้ว ซึ่ง 85% ของพนักงานจะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ภายในกลางเดือน พ.ค. 64 นี้ นับเป็นอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่มากกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่กำหนดไว้ที่ 70% เพื่อเตรียมเป็นศูนย์การค้าแรกของไทยที่พนักงานให้บริการลูกค้าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมทั้งร่วมมือกับจังหวัดภูเก็ต เป็น Role Model ในการเร่งฟื้นภาคค้าปลีกและการท่องเที่ยวต่อไปหลังสถานการณ์คลี่คลาย 2.แนวทางประคับประคองคนไทย ช่วยเหลือธุรกิจต่าง ๆ ในระหว่างที่สถานการณ์ยังวิกฤต 2.1กลุ่มคู่ค้าร้านค้าของศูนย์การค้าที่มีกว่า 15,000 รายทั่วประเทศ ช่วยเหลือดูแลค่าเช่าตามความเหมาะสมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 และเปิดโอกาสให้เข้าถึงช่องทางการขายแบบ Omnichannel เช่น Chat & Shop, Drive-Thru และ Take Away Delivery และแคมเปญกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง 2.2กลุ่มผู้ประกอบการ เปิดพื้นที่การขายแก่ผู้ได้รับผลกระทบฟรีกว่า 40,000 ตร.ม.เพื่อช่วยเหลือ SMEs, เกษตรกร, และอาชีพต่างๆ ด้วยการจัดงาน ตลาดผลไม้รวมใจ, Revival Market อย่างต่อเนื่อง 3.แนวทางฟื้นฟูความเชื่อมั่น สร้างพลังบวก และกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังคลี่คลาย 3.1กระตุ้นเงินสะพัดภายในประเทศ ด้วยการลดค่าครองชีพผู้บริโภค ผลักดันแคมเปญใหญ่ทั่วประเทศ "ไทยช่วยไทย รวมใจช้อป" ส่งเสริมการจับจ่ายในประเทศ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล 33 สาขาทั่วประเทศ พร้อมผนึกพันธมิตรทุกฝ่าย ทั้งธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ร้านค้า และพาร์ทเนอร์ชั้นนำระดับประเทศ อีกทั้งวางแผนการตลาดแบบ omnichannel ต่อเนื่องอีกกว่า 100 แคมเปญครอบคลุมตลอด 3 ไตรมาส ถึงสิ้นปี 2564 3.2จับมือธุรกิจแบบ Cross-Value Chain เร่งฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว โรงแรมและการบริการทั้งระบบ โดยมี Success story จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2564 ในการวางกลยุทธ์สนับสนุน ไทยเที่ยวไทย ในจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่, ภูเก็ต, พัทยา, สมุย ซึ่งช่วยสร้างเงินสะพัด และกระตุ้นเศรษฐกิจระดับมหภาคต่อเนื่องในธุรกิจต่างๆ ที่เกื้อหนุนกัน ในเวลาวิกฤตการณ์สำคัญเช่นนี้ เราคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยของทุกคนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องสร้างความสมดุลให้ความช่วยเหลือดูแลประคับประคอง และสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งเติบโตต่อเนื่อง