แก้กระเบื้องปูพื้นหลุดล่อน ทำอย่างไร

แก้กระเบื้องปูพื้นหลุดล่อน ทำอย่างไร

Categories : Infographic
Tags : , , ,


กระเบื้องปูพื้นหลุด ล่อนเป็นแผ่นๆ เป็นเรื่องที่มีหลายคน หลายกระทู้โพสต์ถามกันไว้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ กระเบื้องล่อนแผ่นเดียวจะแก้ยังไง อยากปูกระเบื้องใหม่แต่ไม่อยากทุบ ปูทับได้มั้ย ฯลฯ วันนี้จะได้รู้คำตอบกัน

สาเหตส่วนใหญ่ที่พื้นกระเบื้องของคุณล่อนออกมา มาจาก หนึ่ง กระเบื้องโดนแรงอัด แรงกระแทกอย่างแรงจนแตก ร้าว แล้วก็หลุดร่อนในภายหลัง  สอง ความชื้นจากพื้นคอนกรีตใต้แผ่นกระเบื้อง   ความชื้นจากใต้ดิน หรือปัญหารั่วซึมจากผนังซึมไปถึงพื้น หรือปัญหาจากคราบสกปรกต่างๆ ที่สะสมมาเป็นเวลานานจนทำให้ยาแนวกระเบื้องหลุดลอก จากนั้นคราบสกปรกก็ฝังตามขอบกระเบื้อง เกิดเป็นเชื้อราดำๆ

จริงๆ แล้วถ้าเป็นปัญหาจากความชื้น สามารถป้องกันตั้งแต่ตอนสร้างหรือก่อนปูกระเบื้อง ทาน้ำยากันซึมพื้นคอนกรีตกันน้ำ กันความชื้นไม่ให้ขึ้นมาบนพื้นคอนกรีตที่อยู่ใต้แผ่นกระเบื้อง ก่อนที่จะปูกระเบื้องทับลงไป

แต่ถ้าไม่ได้เตรียมกันป้องกันไว้ตั้งแต่ต้น ก็มีวิธีแก้ไขปัญหากระเบื้องหลุด กระเบื้องล่อนให้เลือกอยู่ 2 แบบ

แก้ไขแบบแรก ปูทับกระเบื้องเดิมไปเลย

ถ้าพื้นเดิมไม่มีปัญหาเรื่องรั่วซึม ความชื้น (อาจจะมีการทาน้ำยากันซึมตั้งแต่ตอนสร้างแล้ว แต่เพราะโดนของหนักกระแทกจนกระเบื้องร้าว แตก) ไม่อยากเสียเวลาทุบออก ก็สามารถปูกระเบื้องทับของเดิมได้เลย ก่อนจะปู ต้องมีการทำความสะอาด ขัดพื้นให้สะอาดเสียก่อน กวาดไล่น้ำไม่ให้ขังอยู่ รอจนพื้นไม่มีความชื้นแล้วเลาะกระเบื้องที่แตก ร้าว ล่อนออกแล้วเอากระเบื้องแผ่นใหม่ฉาบด้านหลังด้วยกาวซีเมนต์ชนิดที่ระบุว่าใช้ปูทับกระเบื้องเดิม(แต่ราคาก็จะแพงกว่ากาวซีเมนต์รุ่นทั่วไป 4-5เท่าตัว) ปูทับที่เดิมได้เลย ลงยาแนวให้ครบทั้งสีด้าน เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

วิธีนี้ ทำงานเร็ว ใช้เวลาน้อย ไม่ต้องขนเศษกระเบื้องไปทิ้ง ไม่เกิดเสียงดัง แต่สิ้นเปลืองหน่อย น่าจะเหมาะกับคนที่ไม่สามาถหากระเบื้องลายเดิมได้อีกแล้วเพราะโรงงานเลิกผลิตกระเบื้องรุ่นนั้นไปแล้ว หรือคนที่อยู่ตามคอนโดฯ ที่เสียงการทุบกระเบื้องอาจจะไปรบกวนห้องข้างเคียงได้  

วิธีแก้ไขแบบที่สอง ปูเฉพาะบางแผ่นที่มีปัญหา

ถ้ากระเบื้องลายนั้นยังพอหาสำรองได้ ก็อาจจะเลือกเปลี่ยนเฉพาะแผ่นที่แตก ร้าว มีปัญหาเท่านั้น สกัดเอาแต่แผ่นที่แตก ร้าวออกแล้วปูกระเบื้องแผ่นใหม่ลงไปแทนของเดิม วิธีนี้ จะใช้เวลาซ่อมนานกว่าวิธีแรก เพราะต้องค่อยๆ สกัดเอากระเบื้องที่มีปัญหาออกให้หมด ถึงจะปูกระเบื้อแผ่นใหมได้ ขั้นตอนเยอะกว่า และเหมาะกับกระเบื้องที่ยังพอหากระเบื้องสำรองได้อยู่ ที่สำคัญเกิดเศษกระเบื้องที่ต้องหาที่จัดการ

มาดูขั้นตอนการซ่อมแซมกระเบื้องแบบบางแผ่นที่ช่างกระเบื้องทำกัน

เริ่มจาก ช่างจะขูดปูนยาแนวรอบขอบกระเบื้องที่แตกร้าว ออกก่อน จากนั้นจะใช้เครื่องเจียร์(ใส่ใบตัดกระเบื้อง) ตัดกระเบื้องให้ขาดเป็นแนวรอบ ห่างจากขอบกระเบื้องประมาณ 1 นิ้ว เพื่อไม่ให้เครื่องมือสกัดไปกระแทกโดนแผ่นอื่น และให้การสกัดง่ายยิ่งขึ้น
จากนั้นใช้ค้อน เหล็กสกัด ค่อยๆ สกัดแผ่นกระเบื้องออกจนหมด แล้วสกัดพื้นเดิมให้ลึกประมาณ 2 มม.  สำหรับให้กาวซีเมนต์ยึดเกาะได้ จากนั้น ทำความสะอาดพื้นผิวที่จะติดกระเบื้องให้สะอาด

ทำความสะอาดเสร็จแล้ว ใช้กาวซีเมนต์สำหรับติดกระเบื้อง ทาไปบริเวณด้านหลังแผ่นกระเบื้องจนเต็ม แล้วปูกระเบื้องแผ่นใหม่กลับเข้าที่เดิม ออกแรงกดเล็กน้อย เพื่อให้กระเบื้องยึดเกาะแน่นๆ จากนั้นตรวจดู วัดระดับพื้น ให้แนวขอบกระเบื้องเท่ากับแผ่นอื่นๆ

แต่ถ้ากระเบื้องแผ่นใหม่ปูไม่ได้ระดับ อาจจะสูงกว่าของเดิมก็ใหใช้ค้อนยางตอกเบาๆ  และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผิวหน้ากระเบื้องเป็นรอยระหว่างที่ตอกอยู่ อาจจหาผ้าหนาๆ มารองอีกชั้นหนึ่ง เพื่อช่วยป้องกันแผ่นกระเบื้องแตกร้าว หากมีกาวส่วนเกินไหลออกมาก็เช็ดออกด้วยผ้าสะอาด

จากนั้นรอจนกาวซีเมนต์ที่อยู่หลังแผ่นกระเบื้องแห้งสนิทดีแล้วค่อยลงมือยาแนวกระเบื้องกัน เวลาลงยาแนวก็จะต้องแน่ใจว่ายาแนวลงไปตามร่องกระเบื้องจนครบทั้งสี่ด้าน และลงไปจนสุด เพื่อให้การยึดเกาะตัวกระเบื้องแข็งแรงดี แล้วทิ้งไว้อีก 10-15นาที แล้วค่อยใช้ฟองน้ำชุบน้ำหมาดๆ เช็ดคราบยาแนวที่เกินออกมาจากร่องกระเบื้องอีกครั้ง แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดซ้ำอีกครั้งเป็นการเก็บความสวยงาม

ยาแนวลอก ล่อน สกปรก แก้ยังไงดี 

ยาแนวกระเบื้องพอใช้ไปในนานๆ จะมีสิ่งสกปรก ฝุ่น คราบสกปรกลงไปอุด ฝังอยู่ที่ร่องยาแนว หรืออาจจะเกิดอาการยาแนวหลุด ล่อน  แต่ไม่ต้องตกใจไป มีวิธีแก้ไขง่ายๆ ไม่ยุ่งยากมาก คนทีชอบ DIY  ซ่อมแซมของเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านเอง น่าจะเอาไปจัดการยาแนวไม่รักดี ชอบหลุด ล่อนได้ด้วยตัวเอง

เริ่มจากขูดยาแนวเดิมออกก่อน ตอนขูดเพื่อไม่ให้ขอบกระเบื้องเสียหายจากการขูดยาแนว ให้ใช้เครื่องขูดร่องยาแนวที่ทำออกมาเฉพาะงานขูดยาแนวที่มีปัญหา ราดำ แตกลายหรือหลุดล่อน พยายามขูดเนื้อยาแนวให้ออกให้หมด (เพราะถ้าขูดยาแนวเก่าไม่หมด ยาแนวใหม่ที่ยาลงไปยึดเกาะพื้นที่ได้ไม่ดี แล้วก็หลุดล่อนออกมาอีกอยู่ดี) หลังจากที่ขูดยาแนวเดิมออกจนหมดแล้ว ให้ทำความสะอาดร่องยาแนวให้สะอาดก่อนแล้วค่อยยาแนวใหม่ เดี๋ยวนี้ หลายคนไม่อยากต้องมายาแนวกันบ่อยๆ ก็จะเลือกผลิตภัณฑ์ยาแนวแบบถาวร ที่มีส่วนผสมของอีพอกซี่ เนื้อยาแนวสูตรถาวรนี้จะให้เนื้อยาแนวแกร่ง ทนกรดทนด่าง ทนสารเคมีได้ดี ยึดเกาะดี แต่ไม่ปล่อยให้สิ่งสกปรก คราบต่างๆ แทรกตัวลงไปฝังอยู่ในแนวยาแนว

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  community.akanek.com

บทความ Infographic ล่าสุด